พี่ คนึงมาร่วมชุมนุมกับคนเสื้อแดงครั้งแรกที่สนามศุภชลาศัยเมื่อปีที่แล้ว เหตุผลง่ายๆ ก็คือ มันใกล้จุฬาฯ และด้วยเหตุผลเดียวกันประกอบกับหน้าที่ที่จะต้องหาข่าวให้ผู้บริหารจุฬาฯ อยู่แล้ว พี่คนึงจึงไปชุมนุมที่ราชประสงค์อยู่เสมอ แต่ไม่เคยไปร่วมชุมนุม ณ เวทีคนเสื้อแดงที่ผ่านฟ้ามาก่อนเลย..ครั้งแรกและครั้งเดียวที่พี่คนึงไป ชุมนุมที่ผ่านฟ้า คือเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2553
โดย ชัยธวัช ตุลาฑล
ที่มา เฟซ บุ๊ค
หมายเหตุ:นี่เป็นบันทึกที่ผม ปรับปรุงจากโน้ตที่เขียนขึ้นอย่างรวดเร็วเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคมที่ผ่านมา เพื่อนำไปพูดในวันเดียวกันนั้น ในงานรำลึกครบรอบ 1 เดือน เหตุการณ์ 10 เมษายน 2553 ณ ลานหน้าคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ วันนั้นทางนิสิตที่จัดงานเชิญผมไปพูดในฐานะ บก. ฟ้าเดียวกัน และผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์วันที่ 10 เมษาด้วย แต่ผมขอพูดในฐานะอดีตนิสิตจุฬาคนหนึ่ง เนื่องจากว่า เรื่องที่ผมจะพูดนั้น คือเรื่องของคุณ
พี่คนึงอายุ 50 ปี เกิดวันที่ 27 มีนาคม ใน อ.ภาชี จ.อยุธยา เข้าทำงานเป็นลูกจ้างเงินงบประมาณแผ่นดินที่จุฬาตั้งแต่ พ.ศ. 2527
เริ่ม จากเป็นเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของมหาวิทยาลัย จนล่าสุดทำงานเป็นสายตรวจนอกเครื่องแบบ พี่คนึงและครอบครัวพักอาศัยอยู่บนแฟลตเจ้าหน้าที่ในจุฬา ภรรยาทำงานมีฐานะเป็นแค่ลูกจ้างชั่วคราว มีลูกชายหนึ่งคน อายุ 13 ปี กำลังเรียนอยู่ชั้น ม. 2
พี่คนึงมีบุคลิกคล่องแคล่วรวดเร็ว สนุกสนาน คุยเก่ง ไม่ชอบทะเลาะกับใคร เป็นคนเรียบร้อย รับผิดชอบทำงานบ้านและทำอาหารแทนภรรยา เวลาตั้งวงสุรา เขามักจะเป็นคนผูกขาดเข้าครัวทำกับแกล้มให้เพื่อนๆ รวมทั้งคอยบริการเติมเครื่องดื่มไม่ให้พร่องแก้ว จนเพื่อนๆ ตั้งให้เป็น “ขุนระริน”
พี่คนึงเสียชีวิตจากการพยายามเข้าสลายการชุมนุมของคน เสื้อแดงตรงบริเวณสี่แยกคอกวัว เมื่อวันที่ 10 เมษายนที่ผ่านมา ทีแรกหมอโรงพยาบาลวชิระบอกว่า พี่คนึงน่าจะเสียชีวิตเพราะหัวใจวาย แต่สุดท้ายผลการชันสูตรศพพบว่า พี่คนึงเสียชีวิตจากการถูกยิง กระสุนเข้าซี่โครงด้านขวา แล้วไประเบิดที่ปอดก่อนกระจายไปที่ไขสันหลัง เลือดคลั่งในช่องอก ปอดฉีกขาด
จากรายงานของสื่อมวลชน ตอนแรกที่ญาติๆ พี่คนึงได้ยินข่าวประกาศชื่อผู้เสียชีวิตนั้น ยังไม่มั่นใจว่าจะใช่หรือเปล่า เพราะปกตินายคนึงเป็นคนใจดี แต่เมื่อตรวจสอบแล้วว่าใช่ รู้สึกเสียใจมาก
ด้านลูกชายพี่คนึงบอก ว่า เมื่อรู้ข่าวก็เสียใจมาก ร้องไห้อยู่พักใหญ่ จนน้าสาวบอกว่าต้องเข็มแข็ง เขาจึงต้องพยายามทำใจ ที่ผ่านมาพ่อของเขาชอบเรื่องการเมือง แต่ก็ไม่เคยเข้าร่วมเหตุการณ์ใดๆ จนมาครั้งนี้ แต่ถึงเสียใจก็ต้องพยายามเข้มแข็ง เพราะยังมีแม่ที่ต้องคอยดูแล และเมื่อโตขึ้นนั้น เขาก็ยังตั้งมั่นว่า อยากจะเป็นทหาร ได้รับใช้ชาติ
เมื่อสิ้นคู่ชีวิตไปแล้ว มาถึงตอนนี้ ภรรยาของพี่คนึงยังตกอยู่ในภาวะกดดันจากหลายเรื่อง รวมทั้งภาระค่าใช้จ่ายและหนี้สินของครอบครัวที่ต้องแบกรับ ในวันเผาศพสามี พี่ชายของเธอคนหนึ่งซึ่งก็เคยรู้จักรักใคร่กันดีกับพี่คนึงมาก่อน ไม่ยอมมาร่วมงาน ด้วยเหตุผลว่า พวกมันเป็น “คอมมิวนิสต์”
ด้าน เพื่อนของพี่คนึงก็เสียใจต่อสิ่งที่เกิดขึ้น พวกเขาคิดว่ามันไม่ใช่สิ่งที่น่าจะเกิดขึ้น ทำไมรัฐบาลต้องเอาปืนมายิงใส่ประชาชนที่ไม่มีอาวุธ ตามคำบอกเล่าของเจ้าหน้าที่ รปภ. จุฬาอีก 2 คนที่ไปอยู่ตรงบริเวณแยกคอกวัวด้วยในวันนั้น เพื่อนของพี่คนึงยืนยันว่า ทหารยิงใส่ผู้ชุมนุมจริง
หลังเหตุการณ์ 10 เมษา แม้ว่ารัฐบาลและสื่อมวลชนจะออกข่าวว่าเสื้อแดงก่อความรุนแรง และมีผู้ก่อการร้ายแฝงตัวอยู่ เพื่อห้ามปรามไม่ให้ประชาชนเข้าร่วมการชุมนุมอีก ทว่าเพื่อนพี่คนึงไม่กลัวและยังไปร่วมชุมนุมที่ราชประสงค์อยู่เสมอหลังเลิก งาน พวกเขาให้เหตุผลว่า สิ่งที่รัฐบาลบอก ต่างกับสิ่งที่พวกเขาเห็นจริง ถ้าหากเกิดอะไรขึ้นกับผู้ชุมนุมพวกเขาก็อยากไปเสริมกำลัง ไปช่วยกันหลายๆ คน ไม่ใช่ว่ารัฐบาลบอกอะไรแล้วเราต้องเชื่อ
พี่คนึงไม่เคยเข้าร่วมการ เคลื่อนไหวทางการเมืองใดๆ มาก่อน เขาคงไม่ได้เป็น active citizen หรือพลเมืองที่กระตือรือร้นในนิยามของภาคประชาชน
ใน แง่ของคนเสื้อแดงแล้ว อาจกล่าวได้ว่า พี่คนึงเป็น “แดงตู้เย็น” เสียเป็นส่วนใหญ่
ด้วยภาระหน้าที่การงานและภาระในครอบครัว พี่คนึงไม่เคยออกมาชุมนุมต่อต้านรัฐประหาร 19 กันยา ไม่เคยออกมาเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐธรรมนูญฉบับปี 50 และไม่ได้ไปร่วมชุมนุมคนเสื้อแดงในยุคแรกๆ
เท่าที่ทราบ พี่คนึงมาร่วมชุมนุมกับคนเสื้อแดงครั้งแรกที่สนามศุภชลาศัยเมื่อปีที่แล้ว เหตุผลง่ายๆ ก็คือ มันใกล้จุฬา และด้วยเหตุผลเดียวกันประกอบกับหน้าที่ที่จะต้องหาข่าวให้ผู้บริหารจุฬาอยู่ แล้ว พี่คนึงจึงไปชุมนุมที่ราชประสงค์อยู่เสมอ แต่พี่คนึงไม่เคยไปร่วมชุมนุม ณ เวทีคนเสื้อแดงที่ผ่านฟ้ามาก่อนเลย
ครั้ง แรกและครั้งเดียวที่พี่คนึงไปชุมนุมที่ผ่านฟ้า คือเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2553
เย็นวันนั้น เดิมทีพี่คนึงตั้งใจจะไปร่วมชุมนุมที่ราชประสงค์ แต่พอเห็นรถกระบะของการ์ดคนเสื้อแดงที่เรียกระดมคนให้ไปช่วยพี่น้องที่ผ่าน ฟ้า พี่คนึงก็กระโดดขึ้นรถไปด้วย โดยจอดรถตนเองทิ้งไว้ที่สี่แยกปทุมวัน
ตาม คำบอกเล่าของเพื่อนร่วมงาน พี่คนึงจะพูดอยู่เสมอว่าไม่ชอบการบริหารของพรรคประชาธิปัตย์มาแต่ไหนแต่ไร ตรงกันข้าม เขาชื่นชอบนโยบายและการบริหารงานของพรรคไทยรักไทยเช่นเดียวกับเพื่อนๆ ของเขาส่วนใหญ่ และถึงแม้คนอย่างพี่คนึงจะได้รับสวัสดิการของมหาวิทยาลัยอยู่แล้ว ทำให้ไม่ได้ประโยชน์อะไรเพิ่มจากนโยบายบางอย่างของไทยรักไทย เช่น 30 บาทรักษาทุกโรค แต่พวกเขาก็ยังชอบมัน เพราะอย่างไรญาติพี่น้องของพวกเขาในต่างจังหวัดก็ได้รับสิทธิประโยชน์ด้วย
เมื่อ ถูกถามเชิงสัพยอกจากเพื่อนๆ ว่าไอ้คนึงมึงไปทำไมเนี่ย ไปร่วมกับเสื้อแดงทำไม คุณแดงจริงหรือเปล่า พี่คนึงก็ตอบว่า ผมแดงจริง ผมไปเพราะไม่ชอบ 2 มาตรฐาน มันเป็นความเหลื่อมล้ำกันในสังคม พี่คนึงบ่นไม่พอใจบ่อยถึงความไม่เท่าเทียมเป็นธรรมในการดำเนินคดีระหว่าง กรณีคนเสื้อแดงกับคนเสื้อเหลือง รวมทั้งกรณียุบพรรคไทยรักไทยและพลังประชาชน กรณีสมัครต้องหลุดจากตำแหน่งนายกเพราะทำกับข้าว พี่คนึงไม่ชอบรัฐธรรมนูญฉบับปี 50 ด้วย
เจ้าหน้าที่ระดับ ล่างของจุฬาส่วนใหญ่เป็นเสื้อแดง เพื่อนพี่คนึงประเมินให้ผมฟังอย่างนั้น เฉพาะในส่วนที่เป็น รปภ. ราว 280 คน จาก 300 คน เป็นคนเสื้อแดง
พวก เขามักจะดูทีวีเสื้อแดงด้วยกันบนแฟลต เวลาไปเข้าร่วมชุมนุม มักจะแยกกันไปส่วนตัวหรือไปกับครอบครัวตนเอง ต่างคนต่างไป เมื่อเสร็จสิ้นเวลางานก็จะถอดเครื่องแบบ แล้วแปลงร่างเป็นคนเสื้อแดง หากเห็นกันในที่ชุมนุมก็จะไม่ทักทายกัน ต่างคนต่างเดิน แต่พอเช้าวันรุ่งขึ้นถึงจะค่อยมาคุยกันว่าไปชุมนุมอยู่ตรงจุดไหนกันบ้าง
อย่าง ไรก็ดี เพื่อนของพี่คนึงเล่าว่า พวกเขาบอกกันอยู่เสมอว่าเราอย่าเอาเรื่องการเมืองมาขัดแย้งกันนะ เพื่อนฝูงก็คือเพื่อนฝูง
ภายใต้สภาพแวดล้อมทางวัฒนธรรมแบบ จุฬาๆ โดยปกติคนอย่างพี่คนึงไม่ค่อยจะได้รับเกียรติอยู่แล้ว เพื่อนของพี่คนึงระบายให้ฟังว่า พวกเขาต้องรองรับอารมณ์จากอาจารย์เสมอ อาจารย์ในมหาวิทยาลัยมักจะใช้อารมณ์ โวยวาย ต่อว่า เจ้าหน้าที่ รปภ. อยู่เสมอเมื่อเกิดเหตุให้หงุดหงิด ไม่สะดวก ไม่พอใจ
ในทาง การเมือง เมื่ออยู่ในจุฬา คนอย่างพี่คนึงหรือแดงจุฬาที่เป็นเจ้าหน้าที่ระดับล่างต้องเจียมเนื้อเจียม ตัวในการแสดงออกซึ่งความคิดทางการเมืองของตัว เมื่อเกิดกรณีที่มีคนเอาสติ๊กเกอร์ยุบสภาไปติดรถที่จะใช้ปฏิบัติงาน อาจารย์หรือเจ้าหน้าที่ระดับผู้บริหารก็โวยวายจนต้องเอาออกด้วยเหตุผลว่า “กำลังอยู่ในเวลางาน” หรือเป็น “รถหลวง” ซ้ำยังถูกกำชับมาด้วยว่า หากเห็นสติ๊กเกอร์ยุบสภาตามป้อมยามและประตูให้เอาออกด้วย
มีบ้าง เหมือนกันที่พวกเขาโดนกรีดรถส่วนตัวเพราะติดสติ๊กเกอร์เสื้อแดง กระทั่งมีข่าวลือกระจายออกไปว่า หากไม่เอาออกจะมีโทษ เมื่อมีนักข่าวมาติดต่อขอสัมภาษณ์เพื่อนร่วมงานหรือญาติของพี่คนึงในจุฬา พวกเขาก็ต้องปฏิเสธเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหากับมหาวิทยาลัย
ชีวิต ของคนอย่างพี่คนึงมีค่าแค่ไหน พวกเขาจะคิดหรือไม่ว่าตนเองเป็นแค่เบี้ยหมากในเกมการเมืองที่ผู้มีอำนาจ ต่อสู้กัน? พี่คนึงคงไม่มีโอกาสจะตอบคำถามนี้ แต่เพื่อนแดงจุฬาของเขาบอกว่า พวกเขาไม่คิดแบบนั้น พวกเขาไปชุมนุมด้วยความเต็มใจ และถึงแม้เราไม่ไปต่อสู้ คนอื่นก็ไป เพื่อให้ภารกิจสำเร็จ เพื่อให้เกิดสิ่งที่ดีขึ้น
เมื่อการชุมนุมคราวนี้ นปช. ชูคำขวัญว่าด้วยการต่อสู้ระหว่างไพร่กับอำมาตย์ นักวิชาการดาหน้าออกมาอธิบายกันใหญ่ว่าสังคมไทยไม่มีไพร่แล้ว และสังคมไทยก็ไม่มีการต่อสู้ทางชนชั้นด้วย ทว่าสำหรับพี่คะนึงกับเพื่อน พวกเขาพูดหยอกล้อกันว่ากูนี่แหละไพร่ คนอย่างพี่คนึงยินดีที่จะนิยามตัวเองว่าไพร่ พวกเขาเห็นว่าคำนี้ยังใช้ได้อยู่
เช่นเดียวกับคำว่าอำมาตย์ ซึ่งเพื่อนพี่คนึงบอกผมว่าเราเห็นตัวอำมาตย์อยู่ ตัวนี้มันชอบไปล้วงลูกอยู่เบื้องหลังตลอด แต่ด้วยความเกรงใจ ผมไม่ได้ซักต่อว่าเขาเห็นตัวไหน?
ในเช้าวันที่ผมไปคุยกับ เพื่อนพี่คนึงนั้น ระหว่างเดินทางผมได้ยินรายการวิทยุสัมภาษณ์ท่าน ส.ว. หญิงของกรุงเทพฯ ซึ่งยกย่องกันว่ามาจาก “ภาคประชาชน” เธอแสดงตนว่าห่วงใยและเข้าใจปัญหาของคนจนอย่างน่าชื่นชม เธอยอมรับด้วยนะว่าปัญหาการชุมนุมของคนเสื้อแดงนั้นเป็นผลมาจากปัญหาความ เหลื่อมล้ำทางสังคม ชั่วแต่ว่า นักการเมืองและผู้มีอำนาจกลับฉวยใช้ความยากจนความเหลื่อมล้ำนี้ไปปลุกระดม ให้มวลชนออกมาชุมนุมต่อสู้เพื่อผลประโยชน์ของตัว กล่าวอย่างรวบรัดก็คือ ยุบสภาไม่ใช่ทางออกที่แท้จริงสำหรับคนยากคนจน คำตอบสุดยอดคือการปฏิรูปประเทศไทย แล้วเราจะมีประชาธิปไตยที่แท้จริง
ผม เล่าความเห็นของท่าน ส.ว. ให้เพื่อนพี่คนึงฟัง แต่พวกเขายืนกรานว่าปฏิรูปประเทศไม่เอา เพราะไม่เชื่อว่ารัฐบาลอย่างที่เป็นอยู่นี้จะปฏิรูปได้ ดังนั้นต้องยุบสภาอย่างเดียว แล้วจัดการเลือกตั้งให้เสียงประชาชนตัดสินอนาคตประเทศ พวกพี่เขาแสดงความมุ่งมั่นขนาดที่ว่า แม้จะต้องเหมารถไปเลือกตั้ง เขาก็จะไป
ผมไม่แน่ใจว่าตนเองกำลังทำเรื่องพี่คนึงให้โรแมนติกดั่งวีรชนหาญ กล้าในวรรณกรรมเพื่อชีวิตดาษๆ หรือเปล่า
ผมไม่แน่ใจว่าตนเองกำลังนำ ความตายของพี่คนึงไปรับใช้ความคิดและการต่อสู้ทางการเมืองของตนเองหรือเปล่า
สิ่ง ที่ยืนยันอย่างซื่อสัตย์ได้ก็คือว่า เรื่องที่เล่ามาทั้งหมดนี้ มาจากบทสนทนากับเพื่อนพี่คนึง 2 ท่าน และอาจารย์จากคณะอักษรฯอีกท่านหนึ่ง เราพูดคุยกันเกือบ 2 ชั่วโมง ตรงม้าหินอ่อนหน้าศาลาพระเกี้ยวในช่วงเที่ยงของวันเสาร์
ด้านหนึ่ง เรื่องที่เล่ามาทั้งหมดก็คงไม่ได้มีอะไรพิสดาร แดงจุฬาในเรื่องเล่านี้ก็คงไม่ได้มีความคิดความอ่านทางการเมืองกระจ่างลึก ซึ้งเหมือนนิสิตและนักวิชาการในจุฬา คนอย่างพี่คนึงอาจไม่เข้าใจหรอกว่าประชาธิปไตยที่แท้จริง ซึ่งไม่ใช่แค่การเลือกตั้งอย่างที่ปัญญาชนเขาพูดๆ กันนั้น หน้าตาเป็นอย่างไร และใครจะเป็นผู้ชี้ทิศนำทางไป
รปภ. ไพร่-แดง-จุฬา คนหนึ่ง คิดและพูดกับผมได้แต่ประโยคง่ายๆ ว่า "ประชาธิปไตยตัวจริง มันต้องให้ประชาชนเป็นผู้เลือก เป็นผู้ตัดสิน"
ถ้า เราเชื่อว่า “คำอธิบาย” ปรากฏการณ์ที่ต่างกัน ย่อมนำไปสู่ “ทางเลือกทางการเมือง” ที่ต่างกันด้วย การไม่ยอมให้สังคมถูกครอบงำด้วยคำอธิบายชุดเดียวจึงมีความจำเป็น เราน่าจะช่วยกันเล่าเรื่องคนอย่างพี่คนึงเพื่อประกอบสร้างเป็นคำอธิบาย ปรากฏการณ์คนเสื้อแดงและเหตุการณ์ 10 เมษา หลายๆ ชุด และไม่อนุญาตให้รัฐบาล นักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญ ราษฎรอาวุโส ภาคประชาชน ภาคประชาสังคม นักพัฒนา นักต่อสู้เพื่อนคนจน สื่อมวลชน นักสันติวิธี ฯลฯ หน้าไหน ผูกขาดทางเลือกทางการเมืองนับจากนี้ต่อไป
เราควรต้องต่อสู้กับการมอง เห็นผู้คนที่ผิดแปลกไปจากเรา “เป็นอื่น” ไปจากผู้คนปกติทั่วไปในสังคม จนนำไปสู่การอนุญาตให้ใช้ความรุนแรงต่อกัน เราควรช่วยกันทำให้ผู้คนที่มีความคิดทางการเมืองต่างไปจากคนอย่างพี่คนึง สามารถคิดถึงหัวอกของคนอย่างพี่คนึงได้
ฉันมนุษย์ปกติที่ ยังจะใช้ชีวิตร่วมกันต่อไปในชีวิตประจำวัน
Posted by นักข่าวชาวรากหญ้า at 5/12/2010 09:36:00 หลังเที่ยง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น