ปัญหาของรัฐบาลอภิสิทธิ์: การรักษาความสงบหรือการทำลายศัตรูทางการเมือง?
Wed, 2010-05-26 18:40
http://www.prachatai2.info/journal/2010/05/29765
ท่ามกลางฝุ่นตลบอบอวลที่ยังไม่จางหายไปเสียทีเดียวจากเหตุการณ์พฤษภา อำมหิตที่ผ่านมา สังคมไทยมีการโต้เถียงกันอย่างถึงพริกถึงขิง ฝ่ายหนึ่งก่นด่ารัฐบาลอภิสิทธิ์ ส่วนอีกฝ่ายถามหาความรับผิดชอบต่อความสูญเสียที่เกิดขึ้นกับผู้ไม่รู้อิโหน่ อิเหน่ เช่น เจ้าของร้านค้าและเจ้าของบ้านที่ถูกพระเพลิงผลาญ การต้องสูดดมก๊าซพิษจากการเผายาง การต้องอยู่อย่างไม่มีน้ำไฟใช้เกือบสัปดาห์ ไปจนถึงความพินาศย่อยยับทั้งเศรษฐกิจและภาพพจน์ของประเทศ
แน่นอน ผู้ที่วางเพลิง ผู้ที่ปล้นร้านค้า ผู้ที่สร้างความเสียหาย ย่อมสมควรถูกจับตัวมาดำเนินคดีและลงโทษตามกฎหมาย ในเรื่องนี้มักจะมีผู้โต้แย้งว่า แล้วทีความผิดของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่ไปยึดทำเนียบ รัฐบาลและสนามบิน เหตุใดจึงไม่มีการลงโทษ การที่กฎหมายไม่ศักดิ์สิทธิ์เช่นนี้เอง จึงทำให้มีผู้กระทำผิดตามอย่างซ้ำ ๆ ซาก ๆ จนกลายเป็นปัญหาบานปลายราวกับบ้านเมืองไม่มีขื่อแปหรือกติกาอย่างที่เป็น อยู่
แต่ยกเรื่องนั้นไว้ก่อน ในบทความนี้ ผู้เขียนต้องการวิจารณ์รัฐบาลอภิสิทธิ์เกี่ยวกับวิธีการสลายม็อบ ประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหายามวิกฤต โดยเปรียบเทียบกับหลักปฏิบัติของสากล โดยเฉพาะประเทศทางตะวันตก (แน่นอน จะให้เทียบกับพม่าก็คงคล้ายกันเกินไปจนไม่มีประโยชน์ที่จะเปรียบเทียบ)
ผู้เขียนเคยวิจารณ์รัฐบาลอภิสิทธิ์เกี่ยวกับวิธีการสลายม็อบมาแล้วครั้ง หนึ่งเมื่อเกิดเหตุการณ์เมษายนเลือด พ.ศ. 2552 หลังจากเหตุการณ์ครั้งนั้น ฝ่ายเสื้อแดงก็ประกาศอย่างชัดเจนและรัฐบาลก็แสดงท่าทีรับรู้ว่า ฝ่ายเสื้อแดงจะกลับมาชุมนุมอีกแน่นอน นั่นหมายความว่า รัฐบาลอภิสิทธิ์มีเวลาเตรียมตัวมาตลอด 1 ปีเต็ม ก่อนที่ฝ่ายเสื้อแดงจะกลับมาชุมนุมในปีนี้
ดังที่ผู้เขียนเคยวิจารณ์รัฐบาลอภิสิทธิ์มาแล้วในครั้งนั้นว่า ไม่มีรัฐบาลอารยะประเทศไหนที่สลายม็อบด้วยอาวุธสงคราม (ยกเว้นที่กองกำลังผสมหลายฝ่ายที่สหรัฐอเมริกาเป็นผู้นำกระทำต่อม็อบชาว อิรัก) หากรัฐบาลในประเทศนั้นยังถือว่าผู้ชุมนุมเป็นพลเมืองภายใต้อาณัติของตน รัฐบาลย่อมไม่ปราบปรามผู้ชุมนุมด้วยอาวุธสงคราม แต่จะใช้การปราบปรามจลาจลด้วยโล่ กระบอง ดันม็อบ แยกม็อบเป็นกลุ่มย่อย ๆ ใช้กระบองฟาดหัวร้างข้างแตก จับใส่กุญแจมือ ยัดขึ้นรถ แล้วเอาไปตั้งข้อหา โดยมีเครื่องมือเสริมคือรถฉีดน้ำ แก๊สน้ำตา สเปรย์พริกไทย กระสุนยาง ส่วนเครื่องเสียง LRAD นั้น ยังเป็นที่ถกเถียงกันว่าควรนำมาใช้ปราบจลาจลหรือถือเป็นอาวุธสงครามอย่าง หนึ่ง
นอกจากนี้ หากต้องการให้ความสงบเกิดขึ้นอย่างแท้จริง รัฐบาลย่อมไม่พึงกระทำการใด ๆ ในอันที่จะยั่วยุให้ม็อบอารมณ์เดือดพล่านก้าวร้าวเกินกว่าที่เป็นอยู่ รัฐบาลไม่ควรสร้างปัญหาให้บานปลายมากไปกว่าปัญหาที่ม็อบเรียกร้อง อาทิ หากรัฐบาลสหรัฐฯ จะจัดประชุมองค์การการค้าโลก ก็ต้องมีม็อบที่จะมาชุมนุมคัดค้าน WTO ด้วยเหตุผลต่าง ๆ รัฐบาลสหรัฐฯ อาจออกมาวิจารณ์ม็อบได้ว่าต่อต้านการค้าเสรี ไม่สนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจ แต่ไม่เคยปรากฏว่ารัฐบาลสหรัฐฯ ไปกล่าวหาว่าม็อบจะมาล้มล้างตำแหน่งประธานาธิบดี เป็นต้น
ผู้เขียนขอย้ำอีกครั้งว่า รัฐบาลอภิสิทธิ์มีเวลาหนึ่งปีเต็ม ๆ ในการรับมือกับผู้ชุมนุม นปช. ทั้งยังมีบทเรียนมาแล้วจากการประชุมที่พัทยา ซึ่งม็อบสามารถบุกเข้าไปถึงโรงแรมที่จัดการประชุมได้อย่างเหลือเชื่อ ในปัจจุบันนี้ ผู้นำที่ทันสมัยไม่ตกยุคทุกคนย่อมทราบดีว่า การจัดประชุมระหว่างประเทศเกือบทุกครั้งมักมีการชุมนุมประท้วงเสมอ ยกเว้นในประเทศที่ห้ามการชุมนุมไปเลย เช่น สิงคโปร์
ตามหลักปฏิบัติสากลนั้น ฝ่ายรัฐบาลมักตั้งกองกำลังตำรวจปราบจลาจลไว้รอบสถานที่ประชุม โดยมีการเว้นระยะไม่ให้ม็อบเข้าไปใกล้สถานที่ประชุมเกินกี่ร้อยเมตรก็ว่ากัน ไป แต่รัฐบาลอภิสิทธิ์ในตอนนั้นนำทหารเข้ามาเป็นจำนวนมาก แต่กลับปล่อยให้มีกลุ่มคนชุดน้ำเงินเดินเข้าออกในกลุ่มทหาร (เรื่องนี้มีหลักฐานเป็นภาพถ่ายของผู้สื่อข่าวมากมาย) ปล่อยให้มีการปะทะกันระหว่างคนเสื้อแดงกับคนชุดน้ำเงิน แล้วก็ปล่อยให้ม็อบเข้ามาถึงสถานที่ประชุมได้โดยไม่มีการขัดขวาง เหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร? ไม่แปลกเลยที่ผู้แทนจากต่างประเทศที่เข้าร่วมประชุมด้วยจะกลับไปวิจารณ์การ รักษาความปลอดภัยของรัฐบาลไทยอย่างเสียหาย
หลังจากนั้น รัฐบาลอภิสิทธิ์ก็ใช้วิธีการที่ไม่มีประเทศอารยะประเทศไหนในโลกใช้มาสลาย ม็อบเดือนเมษายนปีที่แล้ว กล่าวคือ ใช้ทหารถือเอ็ม-16 ยิง (ขึ้นฟ้า ตามคำกล่าวของรัฐบาล) และวิ่งดาหน้าใส่ผู้ชุมนุมตอนตีสี่ตีห้า ทำให้ผู้ชุมนุมตกใจจนเกิดความบ้าคลั่งขึ้นมา เกิดเหตุการณ์อกสั่นขวัญแขวนไปทั่วกรุง ไม่ทราบว่ามีใครในรัฐบาล กองทัพและตำรวจ เคยศึกษาจิตวิทยามวลชนมาบ้างหรือไม่? หากไม่เคยมีการศึกษาเรื่องนี้กันเลย ผู้บัญชาการกองทัพและผู้บัญชาการตำรวจก็ควรเร่งให้การศึกษาเรื่องนี้ทั้งต่อ ระดับผู้บังคับบัญชาและผู้ปฏิบัติงานโดยด่วน งบประมาณที่ได้รับเพิ่มขึ้นทุกปีนั้นน่าจะเพียงพอต่อการศึกษาเรื่องสำคัญ ขนาดนี้
ปัญหาการชุมนุมของเสื้อแดงในปีนี้นั้น อันที่จริง รัฐบาลไม่ควรปล่อยให้คนเสื้อแดงตั้งค่ายชุมนุมที่สี่แยกราชประสงค์ด้วยซ้ำ รัฐบาลควรจะมีสายข่าวเข้าไปอยู่ในที่ชุมนุม ไม่ใช่เพื่อปลุกปั่นยุยง แต่เพื่อสืบให้รู้ล่วงหน้าว่าผู้ชุมนุมจะเคลื่อนไหวอย่างไร รัฐบาลจะได้ก้าวล่วงหน้าหนึ่งก้าวเสมอ รัฐบาลไม่ควรปล่อยให้ผู้ชุมนุมปิดเส้นทางจราจรในย่านธุรกิจที่สำคัญขนาดนี้ น่าจะผลักดันและสลายผู้ชุมนุมออกไปตั้งแต่แรก ด้วยการใช้รถฉีดน้ำ แก๊สน้ำตาและตำรวจปราบจลาจล เหมือนดังที่อังกฤษสลายการชุมนุมของผู้ประท้วงการประชุม G20 ในย่านดาวน์ทาวน์เมื่อ ค.ศ. 2009 และเยอรมนีสลายการชุมนุมในวันกรรมกรสากลเมื่อ 1 พฤษภาคมที่ผ่านมา
รัฐบาลอภิสิทธิ์มักจะอ้างว่า กรมตำรวจไม่ให้ความร่วมมือ แต่นี่เป็นปัญหาของใคร? ในเมื่ออภิสิทธิ์กินเงินเดือนนายกรัฐมนตรีจากภาษีประชาชนอยู่ทุกเดือน แต่อ้างว่าทำโน่นทำนี่ไม่ได้ แม้กระทั่งแต่งตั้งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติก็ทำไม่ได้ หรือจะให้ประชาชนออกมาช่วยตั้งให้แทนทำงานให้แทน? การที่กรมตำรวจไม่ให้ความร่วมมือ นั่นคือปัญหาของนายกรัฐมนตรี ถ้าในกองทัพมีทหารแตงโม นั่นคือปัญหาของผู้บัญชาการทหารบก ถ้าในกรมตำรวจมีตำรวจมะเขือเทศ นั่นคือปัญหาของผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ซึ่งบังเอิญไม่มี) ในเมื่อบุคคลเหล่านี้รับเงินเดือนทุกเดือน ก็ต้องแก้ปัญหาให้ได้ จะมาโวยวายไม่รับผิดชอบ แล้วจะให้มันเป็นปัญหาของใคร?
เช่นเดียวกับเมื่อผู้ถือหุ้นบริษัทจ้างซีอีโอมาทำงานบริหาร หากบริษัทเกิดปัญหา ซีอีโอก็ต้องรับผิดชอบ ไม่ใช่อ้างว่าพนักงานบริษัทไม่ให้ความร่วมมือ เพราะการที่พนักงานไม่ให้ความร่วมมือ นั่นแหละคือปัญหาของซีอีโอที่ต้องแก้ไขให้ได้ ถ้าแก้ไขไม่ได้ ก็ต้องลาออกหรือถูกไล่ออกไป จะมาหลอกกินเงินเดือนฟรี ๆ อยู่ได้อย่างไร?
การที่รัฐบาลขาดประสิทธิภาพจนปล่อยให้ผู้ชุมนุมตั้งค่ายชุมนุมอยู่ที่สี่ แยกราชประสงค์ได้ รัฐบาลก็ควรประเมินได้ว่า ยิ่งปล่อยให้เวลาผ่านไปนานเท่าไร ก็ยิ่งสลายการชุมนุมได้ยากเท่านั้น แทนที่รัฐบาลจะมุ่งหน้านำความสงบและระเบียบคืนสู่สังคม รัฐบาลอภิสิทธิ์กลับขยายความขัดแย้งให้บานปลายออกไปอีก โดยดึงประเด็นการก่อการร้ายและการล้มล้างสถาบันเข้ามา
ในขณะที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ของเรามีปัญหาการลอบสังหารเจ้าหน้าที่และ ประชาชน การวางระเบิด ภัยสยองต่าง ๆ รัฐบาลหลายชุดที่ผ่านมาต่างยืนยันที่จะเรียกผู้ก่อปัญหาว่า “ผู้ก่อความไม่สงบ” แต่ยังไม่ทันมีหลักฐานชัดเจน รัฐบาลอภิสิทธิ์ก็เรียกผู้ชุมนุมว่า “ผู้ก่อการร้าย” เสียแล้ว แถมยังสร้างความสับสนให้สังคม วันหนึ่งบอกว่าผู้ชุมนุมเป็นผู้ก่อการร้าย อีกวันหนึ่งบอกว่าผู้ชุมนุมเป็นประชาชนบริสุทธิ์ แต่มีผู้ก่อการร้ายแฝงตัว อีกวันหนึ่งบอกว่า ไม่มีผู้ก่อการร้าย แต่มีกองกำลังติดอาวุธ สรุปว่ารัฐบาลจะเอาอย่างไรกันแน่? สายข่าวของรัฐบาลทำงานอย่างไรและเชื่อถือได้หรือไม่? รัฐบาลควรสืบสวนและตกลงกันให้ดีก่อนว่าเรื่องราวเป็นอย่างไร แล้วค่อยออกมาบอกประชาชนจะดีไหม?
เพราะเรื่องก่อการร้ายไม่ใช่เล่น ๆ เรื่องนี้นอกจากทำลายภาพพจน์ของประเทศไทยแล้ว ยังทำให้ประเทศมีความสั่นคลอนด้านอธิปไตย เนื่องจากอาจกลายเป็นข้ออ้างให้กองกำลังผสมหลายฝ่ายที่มีสหรัฐอเมริกาเป็น ผู้นำหรือกองกำลังรักษาความสงบของสหประชาชาติเข้ามาแทรกแซงภายในประเทศได้
ภายหลังจากสลายการชุมนุมอย่างไม่ถูกต้องตามหลักสากลจนมีผู้เสียชีวิตไป จำนวนมากแล้ว รัฐบาลยังสร้างความงุนงงให้สังคมด้วยการโชว์หลักฐานเป็นอาวุธสงครามจำนวนมาก ซึ่งรัฐบาลอ้างว่าเป็นของผู้ชุมนุม เรื่องนี้เป็นที่น่าสงสัย เพราะหากผู้ชุมนุมมีอาวุธมากมายจริง เหตุใดจึงไม่มีการต่อสู้กับทหารมากกว่านี้? เราจะข้ามประเด็นนี้ไป แต่อยากเรียกร้องต่อรัฐบาลว่า รัฐบาลควรมีการตรวจสอบเส้นทางการซื้อขายอาวุธเหล่านี้ให้ดี อาวุธสงครามแบบนี้หาได้ง่ายในประเทศไทยขนาดนี้เชียวหรือ? นี่ประเทศไทยกลายเป็นประเทศมาเฟียที่หาซื้ออาวุธสงครามได้ง่ายราวกับซื้อตาม ร้านขายของชำไปแล้วหรือ? และหากอาวุธเหล่านี้รั่วไหลมาจากกองทัพจริงอย่างที่บางคนกล่าวอ้าง ผู้บัญชาการกองทัพก็ควรตรวจสอบการเบิกจ่ายอาวุธนี้และค้นหาตัวผู้กระทำผิด ออกมา หากผู้บัญชาการกองทัพไม่จัดการเรื่องนี้ จะให้ใครเข้าไปจัดการ?
ซ้ำร้ายไปกว่านั้น ยังไม่ทันสลายการชุมนุมเป็นที่เรียบร้อย รัฐบาลก็ประกาศแล้วว่า คนเสื้อแดงจะลงใต้ดิน รัฐบาลทราบได้อย่างไร? รัฐบาลคงไม่ได้ถือว่า ข้อเขียนตามผนังห้องน้ำสาธารณะเป็นการประกาศลงใต้ดินของคนเสื้อแดงกระมัง? หรือรัฐบาลรู้สึกว่า เนื่องจากคนเสื้อแดงไม่มีสื่อของตัวเองเหลืออยู่แล้ว ก็เลยช่วยสงเคราะห์ประกาศอย่างเป็นทางการให้แทนเสียเลย?
การที่รัฐบาลปลุกปั่นประเด็นก่อการร้ายขึ้นมาอย่างไม่มีหลักฐานชัดเจน ทำให้ประเทศไทยเสียภาพพจน์ในเวทีต่างประเทศเป็นอย่างยิ่ง อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะจะเดินทางไปประชุมหรือพบปะหารือกับผู้นำประเทศอื่นอย่างมี ศักดิ์ศรีได้อย่างไร หากประเทศของตนมีผู้ก่อการร้ายหรือกองกำลังติดอาวุธเต็มไปหมด (ตามที่รัฐบาลกล่าวอ้าง) ประเทศไทยจะรักษาสถานะการเป็นประเทศที่น่าลงทุนได้อย่างไร? จะรักษาสถานะการเป็นประเทศที่น่าท่องเที่ยวได้อย่างไร? การที่รัฐบาลไม่มีประสิทธิภาพในการจัดการผู้ชุมนุม ไม่มีประสิทธิภาพในการหาตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ (เช่น ผู้ก่อการร้ายที่กล่าวอ้างว่ามี แต่จับไม่ได้สักคน) ไม่มีประสิทธิภาพจัดการกับการซื้อขายอาวุธหรือการรั่วไหลของอาวุธจากกองทัพ นี่หมายความว่ารัฐไทยกลายเป็นรัฐกล้วยหรือรัฐล้มเหลวไปแล้วหรือ? ความล้มเหลวนี้เป็นความล้มเหลวของประเทศหรือของรัฐบาลอภิสิทธิ์กันแน่?
การชุมนุมของคนเสื้อแดงครั้งนี้มีข้อเรียกร้องอย่างชัดเจนยิ่ง นั่นคือ การยุบสภา แต่ไม่ทราบด้วยเหตุใด จู่ ๆ ศอฉ. ภายใต้รัฐบาลนี้ก็จุดประเด็นการล้มล้างสถาบันขึ้นมา ทั้ง ๆ ที่ประเด็นนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อน แต่ ศอฉ. และรัฐบาลกลับไม่สามารถแสดงหลักฐานที่ชัดเจนได้ จนดูเหมือนรัฐบาลอภิสิทธิ์สร้างหลักตรรกะบิดเบือนขึ้นมาว่า ใครวิจารณ์รัฐบาลอภิสิทธิ์ ผู้นั้นต่อต้านสถาบัน ทำให้เกิดคำถามว่า รัฐบาลอภิสิทธิ์กำลังดึงสถาบันอันสูงสุดมาใช้เป็นเครื่องมือทำลายศัตรูทาง การเมืองของตนหรือเปล่า?
ผู้เขียนคิดว่า รากเหง้าในการบริหารงานในภาวะวิกฤตของรัฐบาลอภิสิทธิ์นั้น นอกจากความไม่มีประสิทธิภาพแล้ว รากปัญหาที่สำคัญที่สุดประการหนึ่งคือ ดูเหมือนรัฐบาลอภิสิทธิ์ไม่ได้มุ่งมั่นตั้งใจจะรักษาความสงบและระเบียบใน บ้านเมืองมากเท่ากับตั้งหน้าตั้งตาหาทางทำลายศัตรูทางการเมืองของตน แต่แม้กระทั่งความตั้งใจข้อหลังนี้ รัฐบาลอภิสิทธิ์ก็ทำได้ไม่มีประสิทธิภาพเอาเสียเลย พรรคประชาธิปัตย์อาจได้คะแนนเสียงมากขึ้นเล็กน้อยในกรุงเทพฯและภาคใต้ แต่คงอีกนานหลายสิบปีกว่าพรรคประชาธิปัตย์จะสามารถลงไปเดินได้เต็มเท้าในภาค เหนือและภาคอีสาน นี่ไม่ใช่สิ่งที่ดีเลยในการเล่นการเมืองระยะยาว
อีกทั้งนักการเมืองที่ดูจะมีภาพพจน์ดีที่สุดในพรรค กล่าวคือ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก็กลับกลายเป็นนักการเมืองที่มีภาพพจน์ฉาวโฉ่ที่สุดคนหนึ่งในประวัติศาสตร์ การเมืองไทย เพียงเพราะต้องการจะทำลายศัตรูทางการเมืองของตน ลงท้ายรัฐบาลอภิสิทธิ์ก็ทำลายทั้งพรรคการเมืองของตัวเองและทำลายประเทศไทย ให้แตกเป็นเสี่ยง ๆ ไปพร้อมกันไปติดตามอ่านความคิดเห็นมันส์ๆ จาก "จารย์สมศักดิ์เจียม" กับอีกหลายผู้รู้ ที่นี่
.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น