แดงเชียงใหม่

กราบสวัสดี พี่น้องทุกๆท่านที่เข้ามาเยี่ยมเยือน Blog นปช.แดงเชียงใหม่ ขอเรียนชี้แจงสักนิดว่า เรา ”แดงเจียงใหม่” เป็นกลุ่มคนชาวเจียงใหม่ที่เคารพรัก กติกาประชาธิปไตย ต่อสู้และต่อต้านเผด็จการทุกรูปแบบ อยากเห็นประเทศชาติภายภาคหน้า มีความเจริญ ประชาชน รุ่นลูกหลานของเราอยู่อาศัยอย่างร่มเย็นเป็นสุขในประเทศของพวกเราเอง ไม่มีกลุ่มอภิสิทธิ์ชนกลุ่มใดมาสูบเลือดเนื้อ แอบอ้างบุญคุณเฉกเช่นในยุคนี้ที่พวกเราเห็น การที่จะได้รับในสิ่งที่มุ่งหวังก็ต้องมีการต่อสู้แสดงกำลังให้สังคมได้รับรู้ และเพื่อที่จะให้กลุ่มบุคคลที่มีอำนาจในปัจจุบันได้เข้าใจในสังคมที่ก้าวหน้าเปลี่ยนแปลงไป ไม่อาจฝืนต่อกระแสการพัฒนาของโลก การต่อสู้ร่วมกับผองชนทั่วประเทศในครั้งนี้ เรา " แดงเจียงใหม่ " ได้ร่วมต่อสู้ทุกรูปแบบ และ ในรูปแบบที่ท่านได้เข้ามาร่วมอยู่นี้ คือการเผยแพร่ข่าวสารต่อสังคม

เรา " แดงเจียงใหม่ " ขอเชิญชวนร่วมกันสร้างขวัญ และกำลังใจให้เพื่อนพ้องน้องพี่ร่วมกัน


"อันประชาสามัคคีมีจัดตั้ง
เป็นพลังแกร่งกล้ามหาศาล
แสนอาวุธแสนศัตรูหมู่อันธพาล
ไม่อาจต้านมวลมหาประชาชน"

.

วันจันทร์ที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

บทความ พิเศษ โดย ดร.วีรพงษ์ รามางกูร : ทฤษฎีกำเนิด“ขบวนการประชาชน” ขั้นตอน สู่การปฏิวัติ(Revolution)


Fri, 07/09/2010 - 22:22 | by lovethai | Vote to close topic

ทฤษฎีกำเนิดขบวนการประชาชน

คอลัมน์ คนเดินตรอก

ดร.วีรพงษ์ รามางกูร


ในฉบับก่อนเล่าถึงทฤษฎีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอย่างรุนแรง จากเค้าโครงตำราเรียนของ ดร.เครน บรินตัน ถึงอาการป่วยเบื้องต้นทางการเมืองของสังคมที่จะพัฒนาไปสู่ความรุนแรงทางการ เมืองต่อไป

อาการเบื้องต้นของการป่วยของสังคมที่ว่า ได้แก่ 1.การเกิดความรู้สึกทางชนชั้นของสังคมเป็นคนชั้นสูงและคนชั้นล่าง แล้วก็เกิดความรู้สึกต่อต้านซึ่งกันและกัน หรือ Class Antagonism 2.รัฐบาลบริหารราชการแผ่นดินไม่ได้ อาจจะเป็นเพราะความสามารถของรัฐบาลเอง หรือกลไกของรัฐบาลไม่ทำงาน หรือ Government Inefficiency 3.มีผู้นำที่ซื่อบื้อ ซุ่มซ่าม งี่เง่า เต่าล้านปี ไม่ทันสถานการณ์ หรือที่ ดร.บรินตันใช้คำว่า Inept Ruler 4.ปัญญาชนซึ่งเคยเป็นคนชั้นสูงย้ายข้างจากที่เคยอยู่ฝ่ายชนชั้นสูงเข้า มาสนับสนุนและเห็นใจคนชั้นล่าง Intellectual Transfer of Loyalty และ 5.ประการสุดท้ายของอาการไข้เบื้องต้นคือความล้มเหลวในการใช้วาจาขู่ว่าจะใช้ กำลังบังคับ หรือมีการใช้กำลังแล้วคนไม่กลัว การต่อต้านยังคงมีต่อไป หรือ Failure of Force

เมื่ออาการไข้ดังกล่าว ปรอทได้สูงขึ้นกว่า 100 องศาฟาห์เรนไฮต์ สังคมที่มีไข้ขึ้นสูงดังกล่าว สังคมนั้นก็จะเคลื่อนจากอาการตัวร้อนเป็นไข้ไปเข้าสู่การป่วยที่แท้จริง

ช่วงที่อาการจากการเป็นไข้กลายเป็นอาการป่วยอย่างที่แท้จริงขบวนการประชาชนหรือ People Movement ก็จะก่อตัวขึ้น พัฒนาตัวเองให้เข้มแข็งจนกลายเป็นขบวนการที่ถาวร

ขบวนการดังกล่าว ถ้ามีองค์ประกอบครบ 7 ประการ ก็จะเป็นขบวนการประชาชนที่ถาวรยั่งยืน องค์ประกอบ 7 ประการดังกล่าว ประกอบด้วย 1.อุดมการณ์ร่วมกัน หรือ Common Idealogy อุดมการณ์อาจจะเป็นอุดมการณ์ทางการเมือง เช่น อุดมการณ์ประชาธิปไตยพรรคเดียวหรือหลายพรรค อุดมการณ์ความเสมอภาค อุดมการณ์เรื่องความเป็นธรรม การปฏิบัติอย่างเท่าเทียม อุดมการณ์เรื่องความเท่าเทียมกัน หรืออุดมการณ์ทางเศรษฐกิจสังคมนิยม อุดมการณ์เศรษฐกิจเสรีนิยม อุดมการณ์ชาตินิยมทางการเมือง หรืออุดมการณ์ชาตินิยมทางเศรษฐกิจ อุดมการณ์ทางศาสนาจะเคร่งหรือไม่เคร่ง รัฐศาสนา รัฐที่ไม่ใช่รัฐศาสนา เป็นต้น อุดมการณ์เหล่านี้ ถ้ามีการหยิบยกขึ้นมาเป็นอุดมการณ์ทางการเมือง และสามารถทำให้มีผู้คนมาร่วมอุดมการณ์ได้มากขึ้นทุกปี ก็สามารถก่อกำเนิดเป็นขบวนการประชาชนได้

2.หัวหน้า หรือ Leaders ขบวนการทุกขบวนการย่อมมีหัวหน้าที่ใช้เป็นสัญลักษณ์ที่เป็นรูปธรรม เพราะอุดมการณ์ร่วมกันที่ใช้นำมาเป็นเครื่องมือปลุกระดมนั้นเป็น นามธรรมŽ ส่วนที่เป็นรูปธรรมจับต้องได้ เห็นได้ทั้งภาพและเสียงที่ได้ยินได้

หัวหน้าอาจจะมีหลายระดับ อาจจะมีหัวหน้าใหญ่ รองลงมาเป็นผู้นำ หรือสมัยนี้ชอบเรียกกันว่าเป็น แกนนำจำนวนไม่มาก แล้วก็อาจจะมีกลุ่มแกนนำรุ่นที่ 2 หรือรุ่นที่ 3 ต่อไป ซึ่งอาจจะมีบางส่วนเปิดตัวหรือบางส่วนไม่เปิดตัว ในสมัยสงครามเย็น การมีหัวหน้าที่เป็นรูปธรรมที่ชัดเจนเป็นส่วนหนึ่งของความสำเร็จ เช่น รัสเซีย จีน คิวบา เวียดนาม ส่วนพรรคที่ไม่สามารถเปิดเผยหัวหน้าที่เป็นรูปธรรมได้ จึงไม่ประสบความสำเร็จและล้มเหลวในที่สุด
การที่ขบวนการสามารถเปิดเผยชื่อ หัวหน้าหรือกลุ่มหัวหน้าได้อย่างเปิดเผยได้อย่างเป็นรูปธรรม จึงมีส่วนสำคัญของระดับการพัฒนาของขบวนการ

ถ้ายังไม่สามารถเปิดเผยชื่อหัวหน้าหรือคณะบุคคลที่เป็นหัวหน้าได้ ก็ยังต้องพัฒนาตัวเองต่อไปจนกว่าจะหาหัวหน้าได้ เพราะมันสมองย่อมต้องมาจากกลุ่มผู้นำเหล่านี้

3.มีการจัดตั้ง หรือ Organization มีองค์กรที่เป็นศูนย์กลาง และมีสาขาเครือข่ายขยายตัวจากส่วนกลางกระจายไปยังส่วนภูมิภาค มีสายการบังคับบัญชาสั่งการเป็นเครือข่าย มีศูนย์กลางอยู่ในเมืองหลวงและในภูมิภาค มีการจัดตั้งศูนย์ฝึกอบรม โรงเรียนฝ่ายโฆษณาการ โรงเรียนฝ่ายปฏิบัติการ ถ้าพัฒนาไปถึงกองกำลังติดอาวุธ ก็จะมีสายการบังคับบัญชาการที่ชัดเจนแน่นอน อาจจะเปิดเผยหรือปิดลับ

4.ทรัพยากร หรือ Resources ที่จะใช้ในการปฏิบัติการทั้งในด้านการโฆษณา การหาแนวร่วม การปฏิบัติการในกิจกรรมทางการเมือง ทรัพยากรที่สำคัญคือทรัพยากรทางการเงิน ซึ่งอาจจะได้จากการบริจาคหรือการหารายได้จากแหล่งต่าง ๆ อาจจะเป็นทรัพยากรอื่น ๆ ที่องค์กรกลางหรือสาขาจะระดมมาได้จากแหล่งอื่น ๆ ทรัพยากรต่าง ๆ เหล่านี้อาจจะระดมมาได้หลายทาง และก็เป็นของจำเป็น

5.ผู้ปฏิบัติงานในภาคสนาม หรือ Cadre เป็นสิ่งสำคัญในการดำเนินกิจกรรมในด้านต่าง ๆ เช่น เมื่อมีการจัดตั้งศูนย์ฝึกอบรมและโรงเรียนปฏิบัติการ ผู้ที่ผ่านการฝึกอบรมผ่านการปฏิบัติงานก็จะได้รับการยกฐานะขึ้นเป็น แกนนำแกนนำก็จะทำหน้าที่ให้การอบรมสำหรับอาสาสมัครที่รับหน้าที่เป็นผู้ปฏิบัติ งานของรุ่นต่อ ๆ ไป

6.สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือการได้รับการสนับสนุนจากประชาชน หรือ Popular Support ขบวนการที่จะเติบใหญ่ได้ ต้องมีแรงสนับสนุนจากประชาชน การจะได้รับการสนับสนุนได้ ก็คงต้องทำให้ประชาชนเห็นด้วยกับอุดมการณ์ ได้รับการสนับสนุน เลื่อมใสศรัทธาในตัวผู้นำของขบวนการ

เมื่อองค์กรนำของขบวนการเข้มแข็ง มีประชาชนผู้มีอารมณ์ร่วมในความคิดเห็นที่เป็นอุดมการณ์ ขบวนการดังกล่าวได้รับการสนับสนุนจากประชาชนมากขึ้น จำนวนคนเข้าร่วมขบวนการก็จะเติบใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ ตามกระแสที่ได้ปลุกระดมขึ้นให้รุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ

7.สิ่งสุดท้ายของขบวนการประชาชนก็คือการมีเป้าหมาย หรือ Goal and Target ที่ชัดเจนมากขึ้นตามลำดับ
เมื่อเกิดขบวนการประชาชนและกระแสอารมณ์ทางการเมืองถูกระดมให้รุนแรงมากขึ้น ดร.บรินตันได้กล่าวต่อไปถึงสถานการณ์ขั้นต่อไปของทฤษฎีการเปลี่ยนแปลงการ เมืองครั้งใหญ่

สถานการณ์ขั้นแรกของการปฏิวัติ ก็คือ

1.การประท้วงต่อต้านรัฐบาล มีความรุนแรงเพิ่มขึ้น หรือ Government Protests Increase เมื่อขบวนการจุดไฟติด มีผู้เข้าร่วมขบวนการมากขึ้นทุกที มีองค์กรจัดตั้ง มีทรัพยากรทางการเงิน มีผู้ปฏิบัติงาน ก็จะมีการจัดให้มีการประท้วงต่อต้านรัฐบาล แต่ละครั้งในการประท้วงต่อต้านก็จะมีความรุนแรงมากขึ้น ทั้งในแง่จำนวนคนที่เข้าร่วมประท้วงและต่อต้าน และจำนวนความถี่ในการต่อต้าน การชุมนุมต่อต้านก็จะบ่อยมากขึ้น

ถ้ารัฐบาลใช้กำลังเข้าปราบปราม มีคนล้มตาย ก็จะเป็นรูปธรรมของความรุนแรงที่จะใช้ในการปลุกระดมต่อต้านมากยิ่งขึ้น ความโกรธแค้นชิงชังอีกฝ่ายหนึ่งก็จะถูกใช้ เพื่อเป็นการสร้างกระแสคัดค้านต่อต้านฝ่ายรัฐบาลมากยิ่งขึ้น
ครั้นรัฐบาลไม่ใช้กำลังรุนแรงเข้าปราบปราม ขบวนการดังกล่าวก็จะขยายตัวยิ่งขึ้น ทำให้ประสิทธิภาพในการบริหารราชการของรัฐบาลเสื่อมลง ความมั่นใจในความคงอยู่ของรัฐบาลก็จะเสื่อมลง ทำให้การบังคับใช้กฎหมายไม่ประสบความสำเร็จ

เมื่อการประท้วงต่อต้านรัฐบาลพัฒนามาถึงขึ้นที่มีมวลชนจำนวนมากเข้าร่วม การประท้วงต่อต้าน มีขบวนการประชาชนเข้ามาร่วมสนับสนุน ทั้งที่มีการแสดงออกและไม่ได้แสดงออก โดยที่ฝ่ายอำนาจรัฐมักจะเชื่อว่าฝ่ายที่ไม่แสดงออก หรือที่รัฐบาลทุกแห่งมักจะเรียกว่า ′silent majority′ นั้นจะมีจำนวนผู้คนที่มากกว่า และจริง ๆ แล้วผู้คนที่อยู่เงียบ ๆ นั้นก็ไม่มีใครรู้แน่ว่าเป็นฝ่ายรัฐบาลหรือฝ่ายต่อต้านรัฐบาล

การประท้วงต่อต้านรัฐบาลที่ขยายจำนวนและแผ่กระจายไปในวงกว้างในท้องที่ นอกเมืองหลวง รวมทั้งความบ่อยของการจัดการประท้วงต่อต้านจะนำไปสู่การปราบปรามอย่างรุนแรง มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนมาก

เมื่อมีการปราบปรามผู้ที่แสดงออกผู้ประท้วงต่อต้านจนถึงขั้นรุนแรง หรือถ้าไม่มีการปราบปราม ความเชื่อมั่นในตัวผู้นำและต่อรัฐบาลเองก็เสื่อมลงอย่างมาก จนทำให้เกิดความล้มเหลวในการใช้กำลัง หรือ Failure of Forces กลายเป็นความล้มเหลวในการใช้อำนาจอธิปไตยของรัฐ สถานการณ์ก็กลายเป็นสถานการณ์ของรัฐที่กำลังล้มเหลว หรือ Failing State

ประการต่อไปก็คือการมีเหตุการณ์รุนแรง หรือเหตุการณ์ทางการเมืองเกิดขึ้นบ่อย ๆ หรือตำราเขาเรียกว่า dramatic events เช่น มีการก่อวินาศกรรมที่นั่นที่นี่ มีเหตุการณ์ทางการเมืองที่คาดไม่ถึงทั้งในวงการรัฐบาล วงการฝ่ายค้าน หรือรัฐสภา เกิดขึ้นเป็นข่าวใหญ่ทั้งในและต่างประเทศ เช่น มีการฆาตกรรมผู้นำฝ่ายนั้นหรือฆาตกรรมฝ่ายนี้ รัฐสภาเกิดอลเวงมีการย้ายข้างของสมาชิกรัฐสภา สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้จะทำให้เกิดสถานการณ์ อนาธิปไตยขึ้นโดยทั่วไป

เมื่อเกิดสถานการณ์อย่างนี้ก็กระทบต่อการดำเนินการทางธุรกิจ การค้าขาย การลงทุน การบริโภค สิ่งที่ตามมาก็คือภาวะเศรษฐกิจและการเงินล้มเหลว หรือ ′Economic and Financial Breakdown′ ความล้มเหลวทางเศรษฐกิจทำให้ธุรกิจต้องปิดตัวเองลง ต้องลอยแพคนงาน การว่างงานเพิ่มขึ้น ความเสี่ยงทางการเมืองทำให้ไม่มีการลงทุน

ถ้าสถานการณ์เลวร้ายลงไปอีกก็จะเกิดภาวะเงินตราต่างประเทศไหลออกไปนอก ประเทศ ค่าเงินตกลงอย่างรุนแรง การที่ค่าเงินตกลงอย่างรุนแรงทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อ รายได้ของรัฐบาลลดลง รายจ่ายมีมากขึ้น ทำให้ฐานะทางการคลังเลวลง หลายประเทศที่ ดร.เครน บรินตัน ทำการศึกษา ก่อนจะเกิด สงครามกลางเมืองหรือ ′civil war′ ฐานะทางการเงินของรัฐบาลอยู่ในฐานะล้มละลาย รัฐบาลต้องชดเชยการขาดดุลงบประมาณโดยการกู้เงินจากธนาคารกลางจำนวนมาก ทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้ออย่างรุนแรง

หลังจากเกิดภาวะ อนาธิปไตยเศรษฐกิจและการเงินของประเทศล้มเหลว ก็จะมีการเรียกร้องให้มีคนกลางมาเข้ามาเป็นรัฐบาล หรือที่บรินตันเรียกว่า ′Moderates Attain Power′ รัฐบาลคนกลางส่วนมากมักจะเป็น รัฐบาลมะเขือเผาอย่างที่มีเสียงเรียกร้องให้ตั้ง รัฐบาลแห่งชาติเมื่อตั้งมาแล้วก็แก้ไขอะไรไม่ได้ ปัญหาหลักไม่ได้รับการแก้ไข เหตุการณ์ก็เลวร้ายลงไปเรื่อย ๆ

กระนั้นก็ตาม คนก็พอใจระยะหนึ่ง กลายเป็น ′Honeymoon Period′ ก่อนที่จะมีการรัฐประหาร และผู้นำหัวรุนแรงก็จะเข้าสู่อำนาจ เช่นเดียวกับเยอรมนีและอิตาลี หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 หรือเป็นช่วง ′Redicals Take Control′ แล้วก็เกิดสงครามกลางเมือง กลายเป็นรัฐบาลล้มเหลว หรือ Fail State

อ่านตำราฝรั่งแล้ว หวังว่าจะไม่เห็นในบ้านเรา

(ที่มา ประชาชาติธุรกิจ , 8 พฤษภาคม 2553)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ผู้ให้ข้อมูลร่วมกัน