แดงเชียงใหม่

กราบสวัสดี พี่น้องทุกๆท่านที่เข้ามาเยี่ยมเยือน Blog นปช.แดงเชียงใหม่ ขอเรียนชี้แจงสักนิดว่า เรา ”แดงเจียงใหม่” เป็นกลุ่มคนชาวเจียงใหม่ที่เคารพรัก กติกาประชาธิปไตย ต่อสู้และต่อต้านเผด็จการทุกรูปแบบ อยากเห็นประเทศชาติภายภาคหน้า มีความเจริญ ประชาชน รุ่นลูกหลานของเราอยู่อาศัยอย่างร่มเย็นเป็นสุขในประเทศของพวกเราเอง ไม่มีกลุ่มอภิสิทธิ์ชนกลุ่มใดมาสูบเลือดเนื้อ แอบอ้างบุญคุณเฉกเช่นในยุคนี้ที่พวกเราเห็น การที่จะได้รับในสิ่งที่มุ่งหวังก็ต้องมีการต่อสู้แสดงกำลังให้สังคมได้รับรู้ และเพื่อที่จะให้กลุ่มบุคคลที่มีอำนาจในปัจจุบันได้เข้าใจในสังคมที่ก้าวหน้าเปลี่ยนแปลงไป ไม่อาจฝืนต่อกระแสการพัฒนาของโลก การต่อสู้ร่วมกับผองชนทั่วประเทศในครั้งนี้ เรา " แดงเจียงใหม่ " ได้ร่วมต่อสู้ทุกรูปแบบ และ ในรูปแบบที่ท่านได้เข้ามาร่วมอยู่นี้ คือการเผยแพร่ข่าวสารต่อสังคม

เรา " แดงเจียงใหม่ " ขอเชิญชวนร่วมกันสร้างขวัญ และกำลังใจให้เพื่อนพ้องน้องพี่ร่วมกัน


"อันประชาสามัคคีมีจัดตั้ง
เป็นพลังแกร่งกล้ามหาศาล
แสนอาวุธแสนศัตรูหมู่อันธพาล
ไม่อาจต้านมวลมหาประชาชน"

.

วันอังคารที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2556

"ข้อเสนอต่อประเทศไทย"(ตอนที่ 7) : เราจะออกจากกับดักความขัดแย้ง แล้วเดินหน้าต่อกันอย่างไร

"ข้อเสนอต่อประเทศไทย"(ตอนที่ 7) : เราจะออกจากกับดักความขัดแย้ง แล้วเดินหน้าต่อกันอย่างไร

“ข้อเสนอต่อประเทศไทย” โดย “บรรยง พงษ์พานิช” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร ซึ่งเขียนเป็นซีรีส์ 7 ตอนในเฟซบุ๊ก “Banyong Pongpanich”


ทั้ง 6 ตอนที่ผ่านมา ผมพยายามเรียบเรียงที่มา พัฒนาการของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น ตลอดสิบสองปีที่ผ่านมา จนกระทั่งนำมาสู่ความขัดแย้งรุนแรง การแตกแยกเป็นสองขั้วอย่างชัดแจ้ง ด้วยความหวังว่า ความเข้าอกเข้าใจถึงรากฐานปัญหา โดยเฉพาะเข้าใจถึงความคิดของฝั่งตรงข้าม จะช่วยนำมาซึ่งกระบวนการแก้ปัญหาที่ถาวรอย่างสงบสุข

ความ รู้ ความเข้าใจของผมอาจจะไม่ครบถ้วน อาจจะไม่รอบด้าน หรือแม้อาจไม่เป็นกลาง แต่เป็นการพยายามมองปัญหาอย่างไร้อคติ ไร้เจตนาร้ายต่อสังคมฝ่ายใด (อย่างน้อยก็ในความคิดของผม)

ถึงวันนี้ถึงนาทีนี้ ผมคิดว่าเรายังไร้ทางออกที่สงบสุขแท้จริง ความขัดแย้งยังคงอยู่ และถ้ากระบวนการแก้ไขไม่ราบรื่น ย่อมสุ่มเสี่ยงที่จะเกิดความรุนแรงได้ทุก เมื่อ หรือแม้ถ้าฝ่ายรัฐบาลจะยอมถอยสุดซอย คือยอมลาออก ไม่รักษาการณ์ ให้ตั้งรัฐบาลรักษาการม.7 แต่สุดท้ายก็ยังต้องมีการเลือกตั้ง (ถ้าตามรธน.ก็ใน 60 วัน) หรือไม่ก็ยังอาจมีมวลชนของอีกฝ่ายลุกมาขับไล่ รัฐ ม.7 ได้ทุกเมื่อ

ผมไม่มีข้อเสนอทางออกในระยะสั้นหรอกครับ ไม่มีความรู้ความสามารถเพียงพอ ...ที่จะเสนอ เป็นเรื่องการแก้ไขโครงสร้างในระยะยาว เป็นเรื่องที่จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อความสงบสุขกลับคืนมาเสียก่อน ไม่ว่าฝ่ายไหนจะได้เป็นผู้บริหารประเทศ ก็น่าจะเริ่มกระบวนการได้อย่างจริงจัง ถ้ามีความจริงใจในการแก้ปัญหาประเทศไทย

มีคำสำคัญอยู่ 5 คำ 1. ความเหลื่อมลำ้. 2. พรรคพวกนิยม. 3. คอร์รัปชั่น 4. ผลิตภาพที่แท้จริง 5.บทบาทอำนาจรัฐ เป้าหมายของข้อเสนอผมมีง่ายๆครับ ข้อ1. ข้อ2. ข้อ3. จะต้องลดต้องขจัดให้ลดน้อย จนถึงหมดไป(ข้อ3.) ให้ได้ ส่วนข้อ4. จะต้องหาทางเพิ่มให้ได้ ส่วนข้อ 5. นั้นจะต้องปรับให้เหมาะสม เพิ่มบางเรื่อง ลดบางเรื่อง กระจายเสียให้มาก หาสมดุลให้ได้

ฟัง ดูเหมือนง่ายๆ แต่ทั้งห้าเรื่อง มีเงื่อนไข มีพัฒนาการ มีความเชื่อมโยงเกี่ยวพันกันอย่างลึกซึ้ง ไม่สามารถแก้เรื่องใดเรื่องหนึ่งโดยละเลยด้านอื่นๆ เหมือนที่ผมคิดว่าคุณทักษิณ อาจมีเจตนาดี ต้องการแก้เรื่องความเหลื่อมลำ้ แต่ดันใช้ระบบพรรคพวกนิยม ยอมให้มีโกงกิน และมุ่งแต่จะใช้อำนาจรัฐ ทรัพยากรรัฐ ละเลย ไม่ได้ทุ่มเทที่จะปรับปรุงผลิตภาพที่แท้จริง ก็เลยมาสะดุด

แล้ว เราจะไปถึงจุดนั้น จุดที่สังคมสงบสุข มีพัฒนาการอย่างยั่งยืน มีการกระจายที่ดีตามควร อยู่ร่วมกันได้ มีความเป็นธรรมสูง เป็นสังคมอารยะ ได้อย่างไร

มันไม่มีทางเลือกหรอกครับ เราต้องเริ่มจากจุดที่เป็นอยู่จริง ...มันไม่มีทางลัดหรอกครับ มันต้องใช้เวลา ใช้ความอดทน...มันไม่มีทางมีอัศวินคนเดียวกลุ่มเดียว ขี่ม้าขาวมาบันดาลให้หรอกครับ มันต้องมาจากความร่วมมือร่วมใจของทุกภาคส่วน อย่างน้อยก็จากคนส่วนใหญ่ของประเทศ ....มันไม่มีทางได้มาจากชัยชนะในการต่อสู้ของสองฝ่ายหรอกครับ มันต้องมาจากการทำความเข้าใจในความต้องการของอีกฝ่าย แล้วปรับเข้าหากัน ....มันไม่มีทางสำเร็จได้ด้วยความเกลียดชังหรอกครับ มันต้องมาจากความรัก ความเข้าใจในเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน

จุดเริ่มต้น....สังคมจะ ต้องรับรู้ถึงปัญหาว่ามันคืออะไรกันแน่ อย่าเริ่มที่อคติความเกลียดชัง ในที่นี้ผมขอเสนอว่า รากฐานของปัญหาที่ลึกที่สุดคือ "ความเหลื่อมลำ้" และ ระบบศก.โดยรวมมีผลิตภาพตำ่

...ขั้นที่สอง มาหาสาเหตุที่มาของของปัญหา ซึ่งในทางศก. ก็ย่อมได้แก่ ไม่มีการปรับปรุงผลิตภาพ แถมมีภาคส่วนที่เอารัดเอาเปรียบ ไม่มีการกระจายทรัพยากร กระจายโอกาส ทั้งนี้มีระบบพรรคพวกนิยม กับการคอร์รัปชั่น เป็นแกนของความบิดเบือนทั้งมวล

...ขั้นที่สาม มาสรุปแนวทางหลัก ที่จะใช้ในการแก้ปัญหา ซึ่งต้องมาวิเคราะห์ว่า แนวเดิมที่เคยใช้ ไม่ว่าในระบอบทักษิณ ระบอบ Buffet Cabinet มันไม่ดี ไม่ work ยังไง การเพิ่มบทบาทอำนาจรัฐ ไม่น่าจะตอบโจทย์ได้ ประชานิยมที่ไม่ช่วยเพิ่มผลิตภาพก็ช่วยไม่ได้ แถมสิ้นเปลืองบิดเบือน จนนำไปสู่หายนะในอนาคต และแน่นอน การทำลาย การสร้างกลไกไม่ให้ พรรคพวกนิยม ไม่ให้คอร์รัปชั่น ดำรงอยู่ได้ เป็นวาระสำคัญ เร่งด่วนที่สุด

...ขั้น ที่สี่ ถึงจะมาวางกลยุทธรายละเอียด ในแต่ละเรื่อง ว่าการลดการปราบโกงจะทำอย่างไร การไม่ให้คนชั้นบนเอาเปรียบทำอย่างไร การกระจายอำนาจ การกระจายทรัพยากร การกระจายบริการพื้นฐานนั้นทำอย่างไร เวลาเราพูดถึงคำว่ากระจาย ก็แปลตรงๆอยู่แล้วว่า เอาของกลุ่มหนึ่งไปให้อีกกลุ่มหนึ่ง (Redistribution) ดังนั้น แผนการต้องดี ชัดเจน ค่อยเป็นค่อยไป ทำให้ฝ่ายที่ต้องให้เข้าใจและรับได้ แผนต้องสอดคล้องบูรณาการกัน

ที่จริง ขั้นตอนที่ผมนำเสนอ ก็แค่เป็นการน้อมนำแนวทาง "อริยะสัจ 4" ของพระพุทธองค์มาเป็นหลัก ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่อะไร

และ แน่นอนครับ... ที่ผมวิเคราะห์ นำเสนอ ย่อมยังไม่ครบ ไม่รอบด้านทุกอย่าง มันเป็นเพียงแนวที่จะดำเนินการ โดยมุ่งเน้นในเรื่องเป็นไปได้ และไม่ทำให้เกิดความวุ่นวาย จนเกิดการหยุดชะงัก เสียหายหลายสิบปี ยังต้องมีกระบวนการศึกษา กระบวนการวางแผน กระบวนการดำเนินการอีกมากมาย

ใน ความเห็นของผม... ทั้งหมดนี่ ถ้าจะให้ดี มันต้องเริ่มที่ "มวลมหาประชาชน"นี่เองแหละครับ พวกเราต้องสำนึกก่อนว่า เราเป็นกลุ่มคนที่โชคดี ได้โอกาสที่ดี เริ่มตั้งแต่ ได้เกิดมา ได้เติบโตในสภาพแวดล้อมที่ดี ได้โอกาสรับการศึกษาที่ดี อยู่ในสังคมที่ดี ได้เข้าถึงทรัพยากร ได้มีชีวิตที่ดี (ผมค่อนข้างแน่ใจ ว่าคนที่ชั่วโดยสันดาน คนขี้ฉ้อขี้โกง ไม่มี หรือมีอยู่น้อย ในกลุ่มผู้ที่ออกไปอยู่บนท้องถนนนะครับ)

ที่สำคัญ...เรา ต้องมองเห็นผู้ที่ด้อยโอกาสกว่าเรา อย่างเข้าอกเข้าใจ อย่างเห็นใจ ถึงแม้เขาจะไม่ชอบ จะเกลียดชังเรา เราก็ต้องรู้จักอภัย และเราต้องมีความคาดหวังให้เขาดีขึ้น ต้องยอมให้มีการกระจายทรัพยากร กระจายความมั่งคั่งให้เขา ถ้าไม่อย่างนั้น เขาก็จะถูกพวกที่ไม่ได้หวังดีจริง ไปหลอกไปลวง ด้วยอกุศโลบาย และอามิสต่างๆ จนพวกเราเองเดือดร้อนในที่สุด

ในข้อเสนอบนเวที ผมเห็นด้วยหลายอย่าง เช่น การกระจายอำนาจ ทั้งผู้ว่าฯ ตำรวจ การปราบโกง ซึ่งผมเชื่อว่าต้องเกิดต่อไปอย่างแน่นอน (ความจริงในข้อเสนอของ กก.ปฏิรูป ชุดท่านอานันท์ ยังมีที่ดีอีกหลายข้อ ค่อยๆนำมาปฏิบัติได้

ส่วน ในระยะสั้น ...ถามว่า ผมมีข้อเสนออะไร ที่เราจะออกจากวิกฤติครั้งนี้ ผมยอมรับว่า ไม่มีแนวคิดวิเศษอะไรหรอกครับ เพียงแต่อยากบอกว่า ถึงแม้จะต้องมีการเลือกตั้งตามกำหนด ถึงแม้พรรคเดิมจะได้เป็นรัฐบาล แต่ประเทศเราจะไม่มีทางเหมือนเดิมอีกแล้ว ไม่มีทางที่ใครจะทำอะไรตามใจโดยไร้หลักการ ไร้เหตุผล ไร้คุณธรรมได้เหมือนเดิมอีกแล้ว กระบวนการปฏิรูปโดยประชาชนได้เริ่มขึ้นแล้ว และจะไม่หยุด (ไม่ได้หมายถึง และไม่เคยเห็นด้วยกับคณะคุณบรรหารนะครับ คณะนั้นควรยุบถาวร)

เรามาจัดตั้งกระบวนการปฏิรูปคู่ขนาน ที่คอยกระทุ้ง คอยกำกับ คอยเป่านกหวีด ให้ใครก็ตามที่ได้รับเลือกมาบริหารประเทศต้องอยู่ในกรอบ ที่จะต้องทำให้ ทุกอย่างดำเนินไปสู่ประโยชน์สุขอย่างทั่วถึง อย่างยั่งยืน ไม่ดีกว่าหรือครับ ยังมีกลไกอื่นๆ ที่ถึงแม้ไม่ได้ระบุกำหนดอยู่ในรัฐธรรมนูญ หรือกฎหมายใดๆ แต่สามารถมีพลังร่วมสร้างสรรค์สังคมได้โดยไม่ต้องมีความรุนแรง (เช่น สถาบันวิจัยสร้างสรรค์และตรวจสอบนโยบายสาธารณะ สื่อมวลชนที่ดีมีคุณภาพ ภาคประชาสังคม) มาร่วมทำร่วมสร้างสิ่งเหล่านี้ให้เกิด ดีกว่าจะมารบกันเยอะครับ

ผมพยายามวิเคราะห์ปัญหาโดย ละเอียด พยายามเสนอทางออกอย่างเต็มที่ เท่าที่ความรู้ความสามารถของผมจะทำได้ เพียงหวังว่าจะเป็นประโยชน์บ้าง ไม่อยากได้ชื่อว่าเป็นเพียง"ไทยเฉย" เพราะออกไปเป่านกหวีดแค่สองครั้ง ไปอนุสาวรีย์แค่ 2 ครั้ง ตั้งแต่ก่อนที่เขาจะเลิก พรบ.เหมาเข่ง พอเขาเลิก ก็ไม่ไปอีกเลย

ขอจบบทความเรื่องนี้แค่นี้นะครับ และหวังว่าเหตุการณ์ทุกอย่างจะจบลงด้วยดี

%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%


“ข้อเสนอต่อประเทศไทย” (ตอนที่ 6) เจาะวิเคราะห์"ระบอบทักษิณ" ...ข้อดี..ข้อด้อย..จุดรุ่งเรือง..จุดเสื่อมถอย..จุดตกต่ำ


“ข้อเสนอต่อประเทศไทย” (ตอนที่ 6) เจาะวิเคราะห์"ระบอบทักษิณ" ...ข้อดี..ข้อด้อย..จุดรุ่งเรือง..จุดเสื่อมถอย..จุดตกต่ำ

“ข้อเสนอต่อประเทศไทย” (ตอนที่ 6) เจาะวิเคราะห์"ระบอบทักษิณ" ...ข้อดี..ข้อด้อย..จุดรุ่งเรือง..จุดเสื่อมถอย..จุดตกต่ำ

 

 “ข้อเสนอต่อประเทศไทย” โดย “บรรยง พงษ์พานิช” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร ซึ่งเขียนเป็นซีรีส์ 7 ตอนในเฟซบุ๊ก “Banyong Pongpanich”

 


ผมปูพื้นมาเยอะ(ตั้ง 5 ตอนยาวๆ) จะขอวิเคราะห์จับประเด็น"ระบอบทักษิณ" (Thaksinocracy) เป็นข้อๆ นะครับ

1. ถ้ามองเจตนา (อย่างน้อยที่ประกาศออกมา) ในทางการบริหารเศรษฐกิจในภาพรวมของคุณทักษิณ ก็คือ จะเร่งสร้างการเติบโต และทำให้มีการกระจายลงสู่ชนชั้นรากหญ้า ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีทั้งคู่ แต่อย่าลืมว่า ในความเป็นจริงจะต้องมีสมดุลในทุกมิติตลอดเวลา เพื่อหลีกเลี่ยงความขัดแย้ง เพราะทรัพยากรที่จะกระจายมีจำกัด ถ้าโตน้อย แต่กระจายเร็วไป ก็ต้องมีคนเดือดร้อน หรือถ้าจะไปเอาทรัพยากรอนาคตมากระจาย(ผ่านหนี้สาธารณะ) ก็จะเป็นภาระลูกหลาน และมีขีดจำกัดอยู่ดี การเติบโตที่ถาวรยั่งยืนมีทางเดียว คือต้องเพิ่มผลิตภาพ(Productivity) โดนรวม ของระบบศก.ให้ได้ แต่ที่ผ่านมามีเรื่องพวกนี้น้อย มีเพียงการใช้เทคนิคการบริหาร ยักย้ายถ่ายเท ลูบหน้าปะจมูก ซึ่งจะได้ผลก็แต่ระยะต้นเท่านั้น

2. การใช้ระบบ "พรรคพวกนิยม"อย่างเข้มข้น ในที่สุดจะเป็น"จุดตาย"ของระบอบเอง ลองนึกดูว่า ต้องการให้รากหญ้า ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ดีขึ้น ลืมตาอ้าปากได้ แต่ใช้"พรรคพวกนิยม"คือ ถ้าใครเป็นพรรคพวก ก็ต้องได้ดีต้องได้เปรียบ ต้องรำ่รวยสุดๆ เท่ากับว่า ใช้สองระบบปนกัน พวกบนสุดใช้Crony Capitalism เต็มที่ ส่วนข้างล่าง ใช้"กึ่งสังคมนิยม" สองอย่างมันสุดขั้วกัน "เข้ากันไม่ได้" เดินไปเรื่อยๆ "ข้างบนที่ไม่ใช่พวก" กับ "ตรงกลาง" ย่อมลำบาก ย่อมตายเกลี้ยง และถึงจะรวมแล้วไม่ได้เป็น"เสียงข้างมาก" แต่ถ้า"ถูกต้อน"ให้รวมตัวกันได้ ย่อมมีพลังมหาศาล เพียงพอที่จะทำให้เกิดความวุ่นวาย หรืออย่างน้อยก็ทำให้รัฐอยู่ในภาวะ"พิการ" ไม่สามารถบริหารได้ (ผมอยากจะพูดว่า"มวลมหาประชาชน"ทุกวันนี้ ไม่ได้ถูกจัดตั้งโดยท่านกำนัน หรือเกิดเพราะ พรบ.เหมาเข่ง หรอกครับ แต่"ระบอบทักษิณ"ต่างหาก สร้างเงื่อนไขจนสุกงอม กำนันไม่ทำก็จะเกิดขึ้นเองสักวันอยู่แล้ว)

คุณ ทักษิณเคยพูดว่า "จะไปยากอะไร อยากรุ่งเรืองก็มาเป็นพวกผม" แต่เชื่อเถอะครับ นั่นขัดกับหลักการ"พรรคพวกนิยม"อย่างมาก อย่างที่ผมเคยบอก ถ้าทุกคนเป็น"พวก" ก็ช่วยใครไม่ได้ อำนาจก็ไม่มีประโยชน์ Cronyism จะต้องพยายามให้มีสมาชิกน้อย จะได้เอาเปรียบได้มาก การเข้า"วงใน"เป็นเรื่องไม่ง่าย ไหนจะต้องแก่งแย่งเอาหน้า ไหนจะถูกกีดกัน กระบวนการใส่ร้ายป้ายสีเต็มไปหมด ยิ่งอำนาจรวมศูนย์ยิ่งยากเย็นทวีคูณ คนดีๆเค้าไม่สามารถกระเสือกกระสนได้ขนาดนั้น แมวขาวย่อมถูกกำจัดไม่ก็กลายพันธุ์ไป (ผมไม่ได้กำลังกล่าวหาว่าคนแวดล้อมท่านทุกคนเป็นคนไม่ดีนะครับ ...แต่ก็กล้าพูดว่า..มีไม่น้อย)

3. การ"คอร์รัปชั่น" ย่อมเบ่งบานตาม"พรรคพวกนิยม".. คุณทักษิณ เคยยืนยันว่า ท่านมั่งมีเหลือล้น แถมไม่ใช่คนฟุ่มเฟือย อย่างมากก็ชอบนาฬิกาดี กับไวน์ดีๆ มันไม่กี่ตังค์ จะเข้ามากอบมาโกยอีกทำไม ผมค่อนข้างเชื่อครับ(เชื่อคนง่ายน่ะ) ตอนแรกเจตนาดีมากจริง อย่างมากก็เพื่อปกป้องอาณาจักรธุรกิจ ...แต่พอตัดสินใจใช้ระบบ"พรรคพวกนิยม" พอตัดสินใจยอมใช้แมวดำ ก็หนีไม่พ้นต้องยอมให้มีการคอร์รัปชั่นบ้าง ไม่งั้นไม่มีทางเป็นที่นิยมของ"พรรคพวก"ไปได้

แถมการ เมืองแบบที่ท่านใช้ หนีไม่พ้นต้องใช้ทุนมหาศาล(อย่างน้อยตอนเริ่มต้น) คุณทักษิณเคยพูดว่า"การเมือง...ใช้เงินน้อยกว่าที่เคยคิด"(ท่านว่า...เตรียม ที่จะเสียสละน่ะ) นั่นก็เป็นเพราะ คนอื่นเค้าจ่ายแทนน่ะครับ แต่เชื่อเถอะครับ ..เรื่องอย่างนี้ ไม่มีการลงขันการกุศล คนจ่ายเพื่อหาทั้งนั้น แล้วมีหรือที่จะไม่ค้ากำไร ทุกคนเอากำไร สิบเท่าร้อยเท่าทั้งนั้น ความคิดที่ว่า"จะควบคุมให้โกงกินได้ตามสมควรเท่านั้น" เป็นเรื่องเพ้อเจ้อ ไม่มีทางสร้าง"ดุลยภาพ แห่งคอร์รัปชั่น"ขึ้นมาได้

ดัง นั้น ต่อให้ท่านไม่โกง ก็ต้องยอมให้คนอื่นโกง (ผมมั่นใจพันเปอร์เซ็น ว่าท่านก็รู้) ทีนี้ คำว่า"คนอื่น"มันมีแวดวงแค่ไหน ใกล้ไกลตัวขนาดไหน เป็นเรื่องที่ยากกำหนด ผมไม่แน่ใจว่า คุณทักษิณมีแผนอะไรที่จะลดจะกำจัด"การโกง"ในกระบวนการคัดพันธ์ุแมวของท่าน ถ้าไม่มี ระบอบนี้ก็จะต้องกินตัวเองจนล้มอยู่แล้วในที่สุด (ประเทศอาจล้มไปด้วยอย่างที่คุณ Marcos เคยทำ...ที่น่ากลัวมากคือ พรรคพวกเก่าของคุณmarcosดันไม่ล้มไปด้วย ยังมั่งคั่งมหาศาลจนทุกวันนี้)

ผม ไม่ได้บอกว่า ถ้าคุณทักษิณไม่ขึ้นมา จะไม่มีการโกงนะครับ แต่ในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมา มีการโกงกิน มากขึ้นเยอะ อย่างที่ไม่มีใครปฏิเสธได้

4. ความเป็นนักบริหารแบบ CEO ซึ่งหมายความว่า ต้องการควบคุมปัจจัยทุกอย่างให้มากที่สุด ต้องการให้มีความไม่แน่นอนตำ่ที่สุด บวกกับความเก่ง ความมีประสิทธิผล(Effectiveness) ทำให้คุณทักษิณพยายามเข้าครอบงำองค์กรและกลไกคานอำนาจอิสสระที่ถูกออกแบบไว้ ในรัฐธรรมนูญ 2540 และก็ทำได้ไม่น้อย วุฒิสภาแทบตกอยู่ในอาณัติ ทำให้องค์กรที่ตั้งโดยวุฒิสภาแทบจะถูก"สั่งได้"หมด (เหลือเพียงด้านศาล ที่มีคนบอกว่า ถ้าให้เวลาอีกสักพัก ท่านน่าจะ"เอาอยู่"ิ) ...นี่แหละครับ สุดยอด CEO ตัวจริง

แต่อย่างสุภาษิตที่Baron Acton ว่าไว้ตั้งแต่ปี1887 แล้วว่า ""Power tends to corrupt, and absolute power corrupts absolutely. Great men are almost always bad men." อำนาจนั้นทำลายคนเสมอ เริ่มตั้งใจไว้ดีอย่างไร พอเดินไป อำนาจเข้ามาเกี่ยว ก็เบี่ยงเบนไปหมด

5. จริงๆแล้ว ผมเห็นว่า"พรรคการเมือง"ภายใต้คุณทักษิณ เป็นแค่การปรับจากระบบเดิม ที่รัฐบาลผสมมาจาก "พรรคร่วม"ต่างๆ เพียงแต่คุณทักษิณรวบเอาพรรค เอามุ้งต่างๆมารวมไว้ที่เดียว แล้วเริ่มบั่นทอนความสำคัญของหัวหน้ามุ้ง หัวหน้าก๊วน ให้มารวมศูนย์ที่ตน ยามตนแข็งแรง มุ้ง ก๊วน ต่างๆก็ศิโรราบ พออ่อนแอก็มีการแข็งเมืองบ้าง (ตอนปฏิวัติก็หายไปกลุ่มใหญ่ ตอนคุณสมชายโดนโละก็ไปอีกพวก) แต่ด้วยความเก่ง ก็ได้พิสูจน์ให้เห็นถึงความยิ่งใหญ่ ...อย่างคนที่เคยพูดว่า "มันจบแล้วนาย" มาวันนี้ท่านก็พิสูจน์แล้วว่า "มึงน่ะสิจบ..ไปทำทีมบอลไป๊"

เผด็จ การรวมศูนย์ในพรรคอย่างนี้ ยิ่งกว่าระบบ Authoritarian ของพรรคคอมมิวนิสต์จีนเสียอีก ระบบแบบนี้ คนที่นั่งอยู่บนยอดปิรามิด ต้องเป็นสุดยอดอัจฉริยะ ซึ่งย่อมแน่นอนว่า หาตัวแทนไม่ได้ ระบบถูกออกแบบไว้สำหรับคนๆเดียว ไม่มีทางถ่ายทอดให้รุ่นต่อไปได้ (ลองนึกภาพ คุณโอ้คมานั่งบริหารแทนสิครับ หรือแม้จะเอาสุดยอดฉลาดอย่างคุณโพคินก็ไม่น่าจะได้) เป็นระบบที่ไม่มีทางจะดำรงอยู่ได้นานอยู่แล้ว

6. ในตอนท้ายของรัฐบาลทักษิณ ตั้งแต่ต้นปี 2549 ถึงแม้จะมีเสียงในสภาท่วมท้น แต่การบริหารเริ่มยุ่งยาก มีการต่อต้าน จลาจลวุ่นวาย ต้องยุบสภา เลือกใหม่ก็ถูกboycott จนเป็นโมฆะ ผมคิดว่าคุณทักษิณก็รู้ตัวแล้ว ว่าจะต้องปรับเปลี่ยนครั้งใหญ่ (ที่ผมห่วงอย่างหนึ่งคือ บอกว่าจะไม่เป็นรัฐบาลพรรคเดียวแล้ว ต้องแบ่งให้ท่านสุพรรณบ้าง ท่านโคราชบ้าง เดี๋ยวถูกรุม) ถึงกับให้สัญญาณว่า จะถอยไม่เป็นนายกฯ แต่ยังไม่ได้ทันทำอะไรก็ถูกปฏิวัติเสียก่อน และน่าแปลก ที่โพล 84% (สวนดุสิต)ออกมาว่าปชช.ยอมรับการปฏิวัติ (สงสัยเป็นโพลเสื้อเหลือง)

ผม คิดว่า การปฏิวัติ 2549 เป็นเรื่องแย่มาก ทำให้กระบวนการเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิด จะพัฒนาขึ้นต้องหยุดชะงัก คณะปฏิวัติ และรัฐบาล ก็ไม่ได้ทำอะไรเรื่องโครงสร้างใหญ่แต่อย่างใด สนช.ที่แต่งตั้งโดยคมช. ถึงจะเร่งออกกฎหมายเยอะแยะ แต่ก็ไม่มีเรื่องการปรับโครงสร้างใหญ่แต่อย่างใด ส่วนใหญ่เป็นเรื่องสนอง Wish List ของชนชั้นบน กับมีเรื่องรากหญ้าบ้างก็เป็นภาคสวัสดิการประชาสังคมของรองนายกไพบูลย์ วัฒนศิริธรรมเท่านั้น

ในแง่ของคุณทักษิณ ที่ถูกดำเนินคดี ย่อมคิดว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม ความเห็นผมเองก็เห็นใจไม่น้อย อย่างเรื่องคดีที่ดินรัชดาที่ถูกจำคุก ความจริงเป็นการซื้อการประมูลอย่างเปิดเผย ที่มีเรื่องเทคนิค ก็เป็นเรื่องธรรมดาที่ผู้ซื้อจะขอความร่วมมือกับผู้ขาย ทีผู้ขาย(ธนาคารแห่งประเทศไทย) ทำไมไม่มีความผิด ทั้งๆที่รู้ทุกอย่าง ร่วมดำเนินการทุกอย่างตั้งแต่ต้น

คดียึดทรัพย์เพราะเหตุรำ ่รวยจากกรณีภาษีสรรพสามิตก็เหมือนกัน ไปตีความว่าลดส่วนแบ่งรายได้ให้ ทั้งๆที่คนจ่ายจ่ายเท่าเดิม แล้วไปเทียบมูลค่าหุ้นก่อนเข้าเป็นนายก กับตอนขาย ยึดทรัพย์ไป 46,000 ล้านบาท ผมยิ่งว่าทะแม่ง เพราะตอนแรกเข้า SET Index แค่ 300 แต่ตอนขายหุ้นให้ TAMASEK ดัชนีปาเข้าไปเกือบ 800 ถ้าเรื่องนี้ได้ประโยชน์มิชอบ ทำไมไม่ยึดของผู้ถือหุ้นอื่น อย่างDTAC หรือ TRUE ด้วย (ผมก็ตะแบงเหมือนกัน)

7. พอหลังปฏิวัติ ระบอบทักษิณ ก็เปลี่ยนไปอย่างมาก ความเป็นนักสู้กับความเก่งอย่างเหลือเชื่อของคุณทักษิณ ทำให้ยังกุมอำนาจอยู่ได้ จะถูกยุบพรรคกี่ครั้ง ก็ยังกุมอำนาจรัฐกุมหัวใจชาวรากหญ้า และ organize พรรคพวกเดิมอยู่ได้

แต่เชื่อเถอะครับ การบริหารประเทศ การบริหารพรรคพวกจะยากลำบากขึ้นเรื่อยๆ จนถึงทางตันในที่สุด
การ"บริหาร ทางไกล"ในเรื่องที่ละเอียดลึกซึ้ง กับเรื่องที่มีพลวัตอยู่ตลอดเวลา เป็นเรื่องที่"เป็นไปไม่ได้" ข้อมูลข่าวสารที่ได้ ยากที่จะครบถ้วน ยากที่จะถูกต้อง ยากที่จะทันเวลา คนที่ตะเกียกตะกายไปหา ไปรายงานก็ย่อมเป็นพวกที่มี Agenda ทั้งนั้น ทุกเรื่องมีวาระแฝง มีโอกาสถูกบิดเบือนได้สูง

ทั้ง 7 ข้อ เป็นการพยายามเรียบเรียง พยายามวิเคราะห์ เพื่อเข้าใจคำว่า"ระบอบทักษิณ" โดยพยายามมองจากมุมที่เป็นกลาง ไม่ได้ตั้งอยู่บนอคติใดๆ ทั้งนี้เป็นไปตามข้อจำกัดความรู้ความเข้าใจของผมนะครับ

ถึง ตอนนี้...ผมขอสรุปว่า "ระบอบทักษิณ" หาได้เป็นลัทธิใดๆไม่ เป็นเพียงกระบวนการที่สร้างขึ้นมาเพื่อบริหารการเมือง และก็เปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ และผมก็เชื่อว่า มาถึงจุดปัจจุบัน ก็ไม่สามารถเดินต่อแบบเดิมได้อีก ถ้าจะดันทุรังไป ถึงจะมีชัยชนะได้ ก็จะเป็นเพียงระยะสั้นเท่านั้น มีความสุ่มเสี่ยงมากว่าจะนำไปสู่ความวุ่นวายใหญ่หลวง

ใคร ก็ตามที่มีส่วนร่วมอยู่ในระบอบนี้ โดยที่มีเจตนาดี ต่อบ้านเมือง ต่อรากหญ้าแท้จริง น่าจะตระหนักในความจริงนี้ และพร้อมที่จะปรับ จะหันมาร่วมมือกับภาคส่วนอื่นๆ ทิ้งให้พวกที่เข้ามาสู่ระบอบนี้เพื่อประโยชน์ส่วนตัวอันมิชอบต้องถูกโดด เดี่ยวเถอะครับ (แต่ตามข้อเท็จจริง พวกหลังมักจะชิ่งก่อนได้ทุกที)

ใคร ก็ตามที่ต่อต้านระบบนี้ ก็ขอให้ต้านด้วยความเข้าใจ อย่าเพียงต้านด้วยอคติท่าเดียว อย่าลืมว่ามีคนหลายสิบล้านที่ยังชื่นชม จะต้องประสานกันเท่านั้นจึงจะสู่เป้าหมายโดยสงบสุขได้

ส่วน ข้อเสนอของผมว่า ควรจะทำอย่างไร จะอยู่ในตอนต่อไปนะครับ ซึ่งอาจจะไม่ใช่ข้อเสนอที่เฉียบคมอะไร ไม่ใช่กระบวนการวิเศษที่จะแก้ปัญหาได้ทันใด ไม่ใช่แก้ได้วันนี้พรุ่งนี้ ไม่ถึงกับพูดได้ว่า เบ็ดเสร็จเป็นบูรณาการ แถมอาจไม่ถูกต้องใช้ได้ไปทั้งหมด แต่ผมก็หวังว่า จะมีส่วนที่เป็นประโยชน์บ้างแม้เล็กน้อยสำหรับอนาคต แค่นั้นก็ภูมิใจสุดๆแล้วครับ

แล้วก็ไม่ต้องกลัวว่า จะเป็นข้อเสนอที่กลับไปสู่สังคมเอาเปรียบ ไม่เห็นใจชาวรากหญ้า กลับไปสู่สังคมอำมาตย์ กลับไปสู่ระบบ Buffet Cabinet ที่คุ้นเคย

และก็ไม่ต้องกลัวว่าจะไม่ทันการด้วยครับ เพราะพรุ่งนี้ ไม่ว่าจะเกิดอะไร ใครชนะ เรื่องนี้ยังไม่จบแน่นอน ยังต้องฟัดกันอีกนานหลายยก

นอกจากจะเกิดสงครามกลางเมือง....ซึ่งถ้าเป็นอย่างนั้น ข้อเสนอใดๆก็ไม่มีประโยชน์แล้วครับ

....................................................


“ข้อเสนอต่อประเทศไทย” ตอนที่ 5: สี่เท้ายังรู้พลาด คนฉลาดย่อมรู้พลั้ง (2)

"ข้อเสนอต่อประเทศไทย"(ตอนที่ 7) : เราจะออกจากกับดักความขัดแย้ง แล้วเดินหน้าต่อกันอย่างไร





“ข้อเสนอต่อประเทศไทย” ตอนที่ 5: สี่เท้ายังรู้พลาด คนฉลาดย่อมรู้พลั้ง (2)

“ข้อเสนอต่อประเทศไทย” ตอนที่ 5: สี่เท้ายังรู้พลาด คนฉลาดย่อมรู้พลั้ง (2)

 ที่มา: ไทยพับลิก้า

“ข้อเสนอต่อประเทศไทย” โดย “บรรยง พงษ์พานิช” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร ซึ่งเขียนเป็นซีรีส์ 7 ตอนในเฟซบุ๊ก “Banyong Pongpanich”

ในตอนที่4 ได้วิเคราะห์ข้อผิด ข้อพลาด ต้นทุน ผลกระทบทางลบ ที่มาจากสิ่งที่เรียกว่า “ระบอบทักษิณ (Thaksinocracy)”

ในตอนที่5 วิเคราะห์”ระบอบทักษิณ”คืออะไร…มีจริงหรือไม่…พัฒนามาอย่างไร

คุณนพดล ปัทมะ นักกฎหมายทุนอานันท์ฯ ที่ได้เนติบัณฑิตอังกฤษ บอกว่า “ระบอบทักษิณ” ไม่มีจริง…ถ้าอย่างนั้น “มวลมหาประชาชน” ก็คงกำลังต่อสู้อยู่กับลม กับเงา กับ Image Illusion อยู่น่ะสิครับ
อ.เกษียร เตชะพีระ เคยให้นิยาม “ระบอบทักษิณ” ว่าเป็น “อาญาสิทธิ์ทุนนิยมจากการเลือกตั้ง” ( Elected Capitalist Absolutism) และมีนิยามอื่นๆ อีกมาก ซึ่งนับเป็นเรื่องใหม่ในสังคมประชาธิปไตยไทย เพราะเป็นครั้งแรกที่มีพรรคการเมือง (ที่ไม่อิงกับอำนาจเผด็จการ) ชนะเลือกตั้งได้เสียงข้างมากเด็ดขาด กำหนดนโยบายได้เต็มที่ และที่สำคัญ เป็นพรรคที่มีคนคนเดียว กุมอำนาจอย่างค่อนข้างเบ็ดเสร็จ และอันว่าอำนาจนั้น ย่อมเหมือนกันหมด เมื่อมีมากเกินไปไม่มีการถ่วงดุล ย่อมนำไปสู่การใช้จนเกินเลยได้ง่ายๆ ไม่ว่าจะตั้งใจดีเพียงใด

สำหรับผม “ระบอบทักษิณ” เป็นแค่วิธีการ เป็นแค่กระบวนการ ที่คุณทักษิณใช้ในการบริหารประเทศ ในการบริหารการเมือง และไม่ได้มีระบอบ ไม่มีทฤษฎีที่ตายตัว ไม่มีแม้แต่ปรัชญาที่เป็นแก่นเสียด้วยซ้ำ ทุกอย่างถูกปรับเปลี่ยนไปตามบริบท ตามสภาพสิ่งแวดล้อม ตามอำนาจต่อรองของฝ่ายต่างๆ ตลอดจนตามพลวัตรของโลก

แกนหลักของ “กลไกทักษิณ” ก็ผูกโยงอยู่กับ อำนาจ-การได้มาซึ่งอำนาจ-พรรคพวกนิยม-การกระจายรายได้สู่รากหญ้า-การชนะ เลือกตั้ง-อำนาจ วนเวียนอยู่อย่างนี้ โดยเจตนาดีที่อาจมีก็คือ ใช้ทุนนิยมโลกาภิวัตน์เข้ามากระตุ้น หวังให้เกิดความเจริญพัฒนาของประเทศตามนิยามสากล

ผมจะลองไล่ที่มา และพัฒนาการของสิ่งที่ผมจะขอเรียกว่า “กลไกแบบทักษิณ” ตามความเข้าใจของผมนะครับ

พ.ต.ท. ดร.ทักษิณ ชินวัตร นับเป็นนักธุรกิจที่ประสพความสำเร็จสูงมาก ความจริงท่านก่อร่างสร้างตัวมาจากระบบ “พรรคพวกนิยม” ล้วนๆ คือเริ่มต้นจาก บริษัทชินวัตรคอมพิวเตอร์ ซึ่ง เป็นตัวกลางขาย IBM ให้กับหน่วยงานรัฐ (IBM ไม่ขายตรงให้รัฐ ต้องมีคนกลางมาประสานงาน จัดการตรงกลาง…ไม่รู้เพราะว่าเจ้าหน้าที่รัฐพูดปะกิดไม่ได้หรือไร) ต่อมาก็เริ่มได้สัมปทาน เช่น เพจเจอร์ติดตามตัวก่อน ตามมาด้วยโทรมือถือ เคเบิลทีวี (จากน้าเหลิม) ดาวเทียม สายการบิน ฯลฯ จะเห็นได้ว่า ธุรกิจหลักที่สำเร็จยิ่งยวดจะมาจากสองปัจจัย คือ เกี่ยวข้องกับอำนาจรัฐ สัมปทานรัฐ ใบอนุญาตพิเศษจากรัฐ (ซึ่งก็คือการซื้อ การเช่า Monopoly หรือ Oligopoly นั่นเอง) กับมักจะเป็นเรื่องก้าวหน้า เป็นเรื่องวิสัยทัศน์อนาคต เป็นของใหม่ เทคโนโลยีใหม่สำหรับไทย (ข้อนี้เป็นคุณสมบัติดีของคุณทักษิณ ซึ่งภายหลังก็ได้นำมาใช้ในทางการเมืองเยอะ กล้าคิด กล้าทำ กล้า create สิ่งใหม่)

ที่มาภาพ :http://i.telegraph.co.uk
ที่มาภาพ :http://i.telegraph.co.uk

ถึงแม้ธุรกิจทุกอย่างจะเป็นเรื่องสัมปทาน เป็นเรื่อง “พรรคพวกนิยม” แต่คุณทักษิณ ไม่ได้แค่่ใช้ความได้เปรียบที่ซื้อหามาเท่านั้น ยังให้ความสำคัญกับประสิทธิภาพ ผลิตภาพ องค์กรธุรกิจของท่านทุกอันมีการบริหารสมัยใหม่ มีการพัฒนาคุณภาพตลอดเวลา ถือว่าเป็นองค์กรมาตรฐานสากล เทียบชั้นโลกาภิวัตน์ได้ทีเดียว พอนำบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์ในปี 2533 ก็นับเป็นมหาเศรษฐีไทยคนหนึ่งตลอดมา
คุณทักษิณเริ่มเข้าสู่การเมืองในปี 2537 โดยเป็น รมต.ต่างประเทศ สังกัดพรรคพลังธรรม ในสมัยรัฐบาลชวน 1 (ชวน หลีกภัย) แล้วก็มาเป็นรองนายกฯ สมัยคุณบรรหาร ศิลปอาชา กับมาเป็นรองนายกฯ ช่วงสั้นๆ ท้ายสมัย พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ หลังวิกฤติเศรษฐกิจ 2540

ผมเดาว่า แรกเริ่ม คุณทักษิณอาจแค่ต้องการทำการเมือง เพื่อพิทักษ์ เพื่อขยายอาณาจักรธุรกิจ เพราะทุกอย่างที่ต้องอาศัยอำนาจรัฐย่อมหนีไม่พ้นที่จะต้องต่อรองกับการเมือง การเข้ากุมอำนาจรัฐเสียเอง ย่อมทำให้ปลอดภัยไร้กังวล

ในช่วงที่เข้าเป็นรองนายกฯ ในรัฐบาลของ พล.อ.ชวลิต หลังวิกฤติ (15 ส.ค. – 6 พ.ย. 2540) ผมได้มีโอกาสเจอ คุณทักษิณบ่นมาก ค่อนข้างหงุดหงิดกับวิธีแก้ปัญหาที่เชื่องช้า ไม่มียุทธศาสตร์ ท่านบ่นกับผมว่า “ถ้าให้ผมแก้ ใช้วิธี CEO พักเดียวก็จะดีขึ้นได้” ดังนั้น เมื่อ พล.อ.ชวลิตลาออก รัฐบาลชวน 2 เข้ามาแก้ปัญหา รัฐธรรมนูญ 2540 มีผลใช้บังคับ พอกลางปี 2541 คุณทักษิณก็ตั้งพรรค “ไทยรักไทย” เพื่อเตรียมลงเลือกตั้ง

เคยมีผู้ใหญ่ที่ร่วมก่อตั้งพรรคเล่าให้ฟังว่า ตอนเริ่มต้น คุณทักษิณตั้งใจจะตั้ง “พรรคการเมืองคุณภาพ” โดยใช้พื้นฐาน”พรรคพลังธรรม” ที่ได้รับมรดกจากมหาจำลอง (พล.ต.จำลอง ศรีเมือง) ร่วมกับคณะ “คนดี” ที่เคยยอมเสียสละเข้าป่าเพื่อพัฒนาชาติไทย (หลายท่านยังช่วยอยู่จนทุกวันนี้) แต่หลังจากประเมินดูแล้ว ทำอย่างนั้นคงไม่มีโอกาสได้บริหารประเทศแน่ หรือไม่ก็ต้องใช้เวลานานมาก ก็เลยเปลี่ยนวิธี หันไปใช้กลยุทธของท่าน เติ้ง เสี่ยว ผิง ที่ว่า “แมวขาว แมวดำ ไม่เป็นไร เอาไว้ก่อน เอาไว้จับหนู เสร็จแล้วค่อยคัดพันธุ์ ค่อยๆ กลายให้ขาวทีหลัง” (การกลายกลับเป็นว่า แมวขาวตายเกือบเกลี้ยง)
จะสังเกตได้ว่า ครม. ชุดแรกๆ ยังมีสมาชิกที่สังคมชื่นชมว่า “เป็นคนดี” อยู่ไม่น้อย แต่หลายท่านก็ค่อยๆ ทยอยจากไป เช่น ศ.นพ.เกษม วัฒนชัย, รตอ.ปุระชัย เปี่ยมสมบูรณ์, ศ.นพ.กระแส ชนะวงศ์ ฯลฯ คุณทักษิณเองก็เคยบ่นว่า พวกคนดีมักเปราะ นิดหน่อยก็ไม่อดทน สู้นักการเมืองอาชีพไม่ได้ อดทนได้ทุกอย่าง จะย้าย จะลดตำแหน่ง ลดบทบาท ก็ยังทนได้เสมอ อันนี้ตรงกับสุภาษิตจีนโบราณที่ว่า “พอมีอำนาจ คนดีมักจะถอยห่าง คนชั่วเข้าประชิด เพื่อเกาะกินอำนาจอันหอมหวานนั้น”

 ที่มาภาพ : http://thaingo.org/ 
ที่มาภาพ : http://thaingo.org/


ช่วงปี 2542-2543 พรรคไทยรักไทยสามารถรวบรวม ส.ส. แชมป์เก่า จากพรรคต่างๆ ได้ถึงกว่า 130 คน พอเลือกตั้งต้นปี 2544 เลยชนะถล่มทลาย ได้ ส.ส. ถึง 256 คน แถมตั้งรัฐบาล 324 เสียง ฝ่ายค้านพิการ อภิปรายไม่ไว้วางใจยังไม่ได้เลย

พอเป็นรัฐบาล คุณทักษิณก็ใช้ฝีมือในการบริหาร มีการกระจายทรัพยากรได้ดี ประชานิยมที่ดี ที่เฉยๆ และที่ห่วย ระดม ทยอยกันออกมา มีฝีมือ ขยายระบบนอกงบประมาณ ทำให้เงินสะพัด แปรรูป ปตท. ตลาดทุนเลยคึก เศรษฐียาจก happy ถ้วนหน้า ความหวังเบ่งบานทั้งสังคม (รายละเอียดอธิบายในตอนก่อนๆ แล้วครับ)

หลังครบสี่ปี เลือกตั้งใหม่ 2548 “ไทยรักไทย” ยิ่งชนะถล่มทะลาย ได้ ส.ส. 376 คน (ปชป. ได้แค่ 96) แม้ในกรุงเทพฯ ยังกวาดเกือบเกลี้ยง เลยตั้งรัฐบาลพรรคเดียวได้เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ แต่ไม่ราบรื่นอย่างที่คิด โดนประท้วงมากในเรื่องคอร์รัปชัน เรื่องรวบอำนาจ เรื่องทำลายองค์กรอิสระ รวมไปถึงความไม่จงรักภักดี แล้วเลยต้องยุบสภา พอเลือกตั้ง เม.ย. 2549 เลยถูกบอยคอต ไม่มีใครลงสมัคร แล้วก็เลยเป็นโมฆะ แก้เกมไม่ทันเสร็จ 19 กันยายน 2549 ก็ถูกปฏิวัติ แล้วก็เลยโดนคดีเป็นพรวน ถึงแม้พรรคที่ตั้งใหม่ยังชนะเลือกตั้งได้ทุกครั้ง แต่ก็ไม่สามารถบริหารประเทศได้ราบรื่น จนกระทั่งถึงทุกวันนี้
นั่นเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เป็นที่รับรู้ทั่วไป ผมนำมาเรียบเรียงใหม่เพียงเพื่อประกอบการวิเคราะห์ พัฒนาการของ “ระบอบทักษิณ” ซึ่งผมจะขอยกยอดไปเริ่มในตอนต่อไปนะครับ

  ....................................

 

“ข้อเสนอต่อประเทศไทย” (ตอนที่ 4): สี่เท้ายังรู้พลาด คนฉลาดย่อมมีพลั้ง (1)

“ข้อเสนอต่อประเทศไทย” (ตอนที่ 6) เจาะวิเคราะห์"ระบอบทักษิณ" ...ข้อดี..ข้อด้อย..จุดรุ่งเรือง..จุดเสื่อมถอย..จุดตกต่ำ

 

 

 

 

“ข้อเสนอต่อประเทศไทย” (ตอนที่ 4): สี่เท้ายังรู้พลาด คนฉลาดย่อมมีพลั้ง (1)

“ข้อเสนอต่อประเทศไทย” (ตอนที่ 4): สี่เท้ายังรู้พลาด คนฉลาดย่อมมีพลั้ง (1)

ที่มา: ไทยพับลิก้า

“ข้อเสนอต่อประเทศไทย” โดย “บรรยง พงษ์พานิช” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร ซึ่งเขียนเป็นซีรีส์ 7 ตอนในเฟซบุ๊ก “Banyong Pongpanich”

วิเคราะห์ข้อผิด ข้อพลาด ต้นทุน ผลกระทบทางลบ ที่มาจากสิ่งที่เรียกว่า “ระบอบทักษิณ (Thaksinocracy)” ต้องออกตัวไว้ก่อนว่า ผมคิดหนักก่อนที่จะเขียนบทความนี้ ในตอนที่1 ผมก็ได้เกริ่นไว้ว่า “น่าจะขาดทุนเป็นแน่” ผิดวิสัยนักธุรกิจ ที่ทำอะไรต้องคำนวณผลได้ผลเสียที่จะตกแก่ตน

ความจริงผมและพรรคพวกที่ “ภัทร” เป็นมิตรกับทุกคนทุกฝ่ายมาตลอด ผมเป็นมิตรกับ ดร.ทักษิณ ชินวัตร และคณะมานาน เพราะเราได้โอกาสให้บริการทางธุรกิจมาตั้งแต่กว่า 25 ปีก่อน พอๆ กับที่เป็นมิตรกับคุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ คุณกรณ์ จาติกวณิชย์ และคณะ

พวกเราไม่มีฝักมีฝ่าย เราพยายามสร้างประโยชน์ตลอดมา เราถือคติที่ว่า “ใครก็ตาม ถ้าจะทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ ที่เราเห็นด้วย และมีศักยภาพที่จะช่วยได้ เราจะรับใช้ทั้งนั้น” เรา ไม่สนใจด้วยซ้ำว่าโดยรวม คนคนนั้น คณะนั้นๆ เป็นคนดีหรือไม่ ขอให้สิ่งที่ทำเป็นสิ่งที่เรามั่นใจว่าดี เป็นประโยชน์ชาติ เราถือคติว่า “เราอาจจะเปลี่ยนแปลงโลกไม่ได้ทั้งหมด แต่เราทำให้มันดีขึ้นได้” ถ้า เป็นกิจกรรมด้านเศรษฐกิจหรือตลาดทุน เรารับใช้รับงานมาทุกรัฐบาล ทั้งที่ได้รับและไม่ได้รับค่าจ้าง และเราก็มั่นใจว่า เราได้งานด้วยความสามารถ ไม่ใช่ด้วยเส้นสาย งานที่เราทำมีประโยชน์ต่อชาติ และที่สำคัญ เราไม่เคยต้อง “ทอนเงิน” ให้ใครเลยสักบาท

ที่เกริ่นมายืดยาว ไม่ใช่ว่าจะกลัวอำนาจ หรือกลัวผู้มีอำนาจ แต่เนื่องด้วยเราทำตัวเป็น “กัลยาณมิตร” กับทุกฝ่ายตลอดมา เมื่อใดที่เราคิดว่ามีข้อบกพร่อง มีข้อกังวล เกี่ยวกับนโยบายใด เราจะเข้าไปเตือน ไปแสดงความคิดเห็นโดยตรง (และแน่นอน ที่ไม่มีใครเชื่อ หรือทำตามเราทุกครั้ง…หลายครั้ง แม้จะเห็นด้วย แต่ก็มีข้อจำกัดอื่นๆ ที่ทำให้ทำไม่ได้ คนทำกับคนแค่พูด…มันไม่เหมือนกันครับ) เราไม่ได้เอาแต่ประจบสอพลอ ไม่ได้เข้าไปเยินยอใดๆ แต่เรามักไม่มาวิพากษ์วิจารณ์ในที่สาธารณะนอกจากเหลืออดจริงๆ (เช่น จ.น.ข.)

ที่ครั้งนี้ ผมต้องมานั่งวิเคราะห์อย่างค่อนข้างเปิดเผยต่อสาธารณะ ก็เป็นเพราะ ผม คิดว่าอาจเป็นประโยชน์ ให้ผู้ที่แตกแยกทั้งสองฝ่าย ให้ผู้ที่เกี่ยวข้อง ให้สาธารณะ เข้าใจถึงรากแก่นของปัญหา เผื่อจะช่วยบรรเทาความโกรธเกรี้ยวเข้าใส่กัน และนำไปสู่ “ทางออกประเทศไทย” ในที่สุด (ก็หวังเพ้อเจ้อไปก่อนน่ะ)

ที่ต้องมีการออกตัวยืดยาวนี้ เพราะผมกลัวว่าจะเป็นเรื่องเสียมารยาทที่มาวิจารณ์ “มิตร” ในที่แจ้งเท่านั้นครับ ไม่ใช่กลัวภัยอื่น ถ้าล่วงเกินก็ต้องขอโทษมิตรทั้งหลายด้วยนะครับ
ขอเข้าเรื่องเสียที เลียบค่ายอยู่ตั้งนาน…

ในตอนที่ 2 กับ ตอนที่ 3 ผมพยายามอธิบายสิ่งที่ทำให้คนกลุ่มใหญ่ โดยเฉพาะ “ชาวรากหญ้า” ชื่นชมได้ประโยชน์ในช่วงรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ในตอนนี้จะพยายามอธิบายถึงอีกกลุ่มหนึ่งที่เกลียดชัง “ระบอบทักษิณ” บ้าง โดยจะแยกเป็นข้อๆ นะครับ

1. เป็นเรื่องการกระจายรายได้อีกแหละครับ คือ ในด้านของ Income Side ของ GDP ซึ่งประกอบด้วย เงินเดือนค่าจ้าง (wages) ดอกเบี้ย (interest) ค่าเช่า (rental) กำไรบริษัท (corporate profit ) และ กำไรรายได้ผู้ประกอบการย่อยซึ่งรวมนอกระบบด้วย (Proprietor’s Income)

อย่างที่บอกแล้ว ในช่วงหลังวิกฤติ เกษตรกรดีขึ้น คนทำงานทักษะสูงดีขึ้น ข้าราชการ ครู ดีขึ้น แต่ที่ดีมากที่สุดคือ ธุรกิจเอกชน corporate profit เฉลี่ยเติบโตกว่า 20% ต่อปีตลอดมาหลังวิกฤติ จนทำให้สัดส่วนสูงขึ้นมาก จากไม่ถึง 20% ของ GDP เป็นกว่า 30% และแน่นอน ย่อมกินส่วนจากภาคส่วนอื่นๆ ไม่น้อย (ส่วนนี้ตกเป็นของคนจำนวนไม่เกิน 1% ของประชากร กับพวกนักลงทุนต่างชาติ) แต่ถ้าไปดูรายละเอียดจะพบว่า พวกที่กำไรเพิ่มมากจะเป็นบรรษัทใหญ่ๆ บรรษัทต่างชาติ บรรษัทที่มีการคุ้มครอง เช่น ได้สัมปทาน พวกสถาบันการเงิน ฯลฯ พวกที่ทำธุรกิจ Non-tradables (เพราะกระตุ้นการบริโภค) กับพวกที่เข้าถึงระบบ “พรรคพวกนิยม” ของผู้มีอำนาจ ส่วนพวกอื่นๆ โดยเฉพาะพวกที่ทำ Tradables ช่วงแรกดีเพราะค่าเงินอ่อน แต่ต่อมาค่าเงินแข็งขึ้น การปรับปรุงผลิตภาพ (TFP) มีไม่พอ ค่อนข้างลำบากกันทั่ว โดยเฉพาะมาขึ้นค่าแรงพรวดพราด เจ๊งระนาว

ไม่มีอะไรหล่นลงมาจากฟ้า…เศรษฐกิจรวมโตแค่ 5% เลยมีคนได้และมีคนเสีย ที่เสียแน่คือพวกที่มีรายได้จากเงินออม เพราะดอกเบี้ยและค่าเช่าต่ำเตี้ย ดอกเบี้ยแท้จริงติดลบด้วยซ้ำ (เงินเฟ้อสูงกว่า) สำหรับคนทำงานทักษะกลางๆ (พวกชั้นกลางระดับล่าง) พวกนี้ไม่ดีขึ้น ทรงตัวหรือแย่ลง 

ความจริงพวกแรงงานทักษะต่ำและนอกระบบ ดีขึ้นระยะต้นเท่านั้น รายได้แท้จริงไม่เพิ่มเท่าไหร่ เพราะผลิตภาพไม่ได้เพิ่ม แต่ที่รู้สึกดี เพราะการเกื้อหนุนจากครอบครัวเกษตร และจากประชานิยม อย่างตอนหลังปฏิวัติ 2549 รัฐบาลสุรยุทธ์ดันปิดก๊อกประชานิยม แถมราคาสินค้าเกษตรไม่ดี คนกลุ่มนี้เลยยิ่งคิดถึง “ท่านทักษิณ” เข้าไปใหญ่ พอเลือกตั้ง ก็อย่างที่เห็นแหละครับ ขนาดหาเสียงอยู่ดูไบ พรรคพลังประชาชนยังชนะถล่มทลาย

(การวิเคราะห์ในข้อนี้ หลายส่วนมาจากการสังเกตคาดคะเนนะครับ หวังว่าจะมีการศึกษาต่อ การวิจัยเรื่องความเหลื่อมล้ำในไทยยังต้องทำอีกเยอะ อย่างงานศึกษาของ ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล จาก MIT ที่เสนอใน BOT Symposium ก็น่าขยายผลลงลึกไปอีก)

2. เรื่องของ “พรรคพวกนิยม” แบบไทยๆ …เราเป็นระบบ “ทุนนิยมพรรคพวก” (Crony Capitalism) มาแต่ไหนแต่ไร และก็เหมือนกับเรื่องอื่นๆ ที่มีพัฒนาการต่อเนื่อง จากระบบเจ้านายกับขุนนาง มาเป็นพรรคพวกคณะราษฎร มาเป็นพวกเผด็จการ กึ่งเผด็จการ จนมาเป็นพรรคพวกแบบนักการเมืองอาชีพแบบ Buffet Cabinet จนมาเป็นระบบอาญาสิทธิ์ทุนนิยม (Elected Capitalist Absolutism)ในปัจจุบัน ตามนิยามของ อ.เกษียร เตชะพีระ หรือก็คือ “ระบอบทักษิณ” (Thaksinocracy)

ลองมาดูพัฒนาการของ “พรรคพวกนิยมไทย” ใน 25 ปีหลังบ้าง ก่อนหน้านั้น เราเป็นประชาธิปไตยครึ่งใบ อำนาจยังอยู่ในมือขุนศึก ที่ให้เทคโนเครตบริหารเศรษฐกิจ (ถ้าสังเกตให้ดี เมื่อยี่สิบปีก่อน ธนาคาร บรรษัทใหญ่ๆ รัฐวิสาหกิจสำคัญ จะต้องมีประธาน มีกรรมการติดยศพลเอกนั่งอยู่แทบทุกแห่ง) รัฐบาลผสมนั้นมักจะสลับสับเปลี่ยนกันอยู่ไปมา ไม่มีใครได้คุมอะไรถาวร

พอมาปี 2531 ป๋าเปรม(พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์)วางมือ น้าชาติ พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ ขึ้นนายกฯ (ความจริงท่านเลิกเป็นทหารมานานแล้ว ยศสุดท้ายพลจัตวาเอง มาเป็นนักการเมืองอาชีพ แต่พอเป็นใหญ่พวกสอพลอก็ขอยศให้) ท่านเลิกใช้พวกเทคโนแครต คุณประมวล สภาวสุ เป็นนักการเมืองอาชีพคนแรกที่เป็น รมต.คลัง ต่อด้วยคุณบรรหาร ศิลปอาชา นักการเมืองเข้าคุมสมบูรณ์ขึ้น แต่ยังไงก็เป็นรัฐบาลผสม ต่อรองย้ายแยกกันคุมกระทรวงสำคัญผลัดกันไปมา เป็นอย่างนี้ 12 ปี เรียกได้ว่าเป็นระบบ Buffet Cabinet ถึงจะมีท่านอานันท์มาสลับสองช่วงสั้นๆ ก็เป็นแค่พักยก กินของหวานกาแฟ ไม่มีการเปลี่ยนด้านโครงสร้างมากนัก

ด้านนักธุรกิจ โดยเฉพาะพวกที่ค้าขายกับรัฐ รัฐวิสาหกิจ และพวกที่ต้องใช้อำนาจรัฐ (เช่น ที่ต้องใช้สัมปทาน ใช้ใบอนุญาตต่างๆ ) ก็ต้องปรับตัวพัฒนาตามการเปลี่ยนลักษณะอำนาจและขั้วอำนาจ เมื่อห้าสิบปีก่อน การลงทุนต่างๆ จะเกิดกับผู้ที่ใกล้ชิดเผด็จการ และผู้ที่เข้าถึงอำนาจเงิน ซึ่งก็คือนายธนาคารเท่านั้น จะเห็นได้ว่า ก่อนปี 2530 การลงทุนใหญ่ๆ ทำได้อยู่ไม่กี่ตระกูล หรือไม่ก็ต้องรอฝรั่ง รอญี่ปุ่น รอ FDI (Foreign Direct Investment)

พอมาเป็นระบบ Buffet Cabinet ข้อดีก็คือ “ระบบพรรคพวก” ไม่ถูกผูกขาดอีกต่อไป มีพ่อค้านักธุรกิจจำนวนมากขึ้นที่เข้าถึงอำนาจรัฐ อำนาจรัฐหาซื้อได้ง่ายขึ้น ประกอบกับตลาดทุนคึกคัก บริษัทเงินทุนก็เติบโต ไม่ต้องพึ่งแต่เงินนายแบงก์ที่มีไม่กี่แห่งอีกต่อไป ช่วงสิบปีก่อนเกิดวิกฤติ มีการลงทุนโดยนักธุรกิจใหม่ๆ เยอะ ทุกหน่วยราชการเร่งออกสัมปทาน เช่น โทรคมนาคม (ที่มีคุณทักษิณเป็นเจ้าใหญ่สุด) คุณเฉลิม อยู่บำรุง ได้ดูแลกรมประชาสัมพันธ์ ดูแล อสมท. ก็ออกสัมปทานเคเบิลทีวี (ก็ได้คุณทักษิณอีกแหละ) ทั้ง ทศท. กสท. ก็เร่งใหญ่ออกใบ monopoly ไปแบ่งขายกันเบิกบาน (จนตอนหลังตัวเองเจ๊ง เพราะห่วยเกินจะแข่ง) ส่วนรัฐวิสาหกิจทั้งหลายก็ขยายตัวกันสุดชีวิต เพราะเศรษฐกิจขยายตัวดีกว่าปีละ 10% ต้องขยายสาธารณูปโภครองรับ พ่อค้าทั้งหลายก็ happy เข้าช่องเข้าหาศูนย์อำนาจที่ดูแล ซื้อใบเบิกทาง เป็นที่สำราญเบ่งบาน

พอคึกคะนองมากๆ หาเงินได้ง่าย ลงทุนเกินตัว ก็เลยมี “วิกฤติต้มยำกุ้ง” ในปี 2540 วุ่นวายแก้ไขกันอยู่พักใหญ่ จนเลือกตั้งต้นปี 2544 “ไทยรักไทย” ชนะขาด และอยู่ยืนกว่าห้าปี ด้วยความที่มีความเชี่ยวชาญการบริหาร ก็เลยมีการ organize ระบบพรรคพวกนิยมใหม่ ไม่ใช่ระบบ mini auction แบบแต่ก่อน เพราะทำอย่างนั้น ประโยชน์ที่เกิดมันไปตกกับพ่อค้ามากไป ไม่มีประสิทธิภาพพอ เลยกลายเป็นมีลักษณะสองอย่าง อย่างหนึ่งคือ เกิดมีระบบสมาชิกถาวรระยะยาวใหม่ (เพราะมีอำนาจต่อเนื่อง) และ เป็นระบบที่ systemic มากขึ้น ไม่มั่วซั่วเวลามีการเปลี่ยนขั้วเปลี่ยนคนเหมือนอย่างแต่ก่อน
ดร.ทักษิณเป็นคนที่เข้าใจระบบ “พรรคพวกนิยม” อย่างลึกซึ้ง เพราะเติบโตมาด้วยระบบนั้น และเป็นคนที่รักพรรค รักพวก สามารถบริหารจัดการนักการเมืองทุกๆ กลุ่ม ทุกๆ แบบ ได้ดีอย่างน่าอัศจรรย์ (นักการเมืองล้วนเป็นสุดยอดมนุษย์กันทั้งนั้นครับ) และเป็นคนที่ใช้ระบบนี้ได้เก่งที่สุด

ปัญหามันคือ อันว่า “พรรคพวกนิยม” นั้น มีนิยามความหมายว่า “ใช้อำนาจช่วยให้พรรคพวกเราได้เปรียบเหนือคนที่ไม่ได้เป็นพวก” ซึ่งแน่นอนว่านานเข้าจะมีศัตรูมากกว่ามิตร เพราะถ้าทุกคนเป็นพวกก็ไม่สามารถเอื้อประโยชน์ใดให้ได้ (จะไปเอาเปรียบใครล่ะครับ) หรือแม้มีมิตรมากกว่าศัตรู พรรคพวกก็จะได้ประโยชน์คนละน้อย ไม่หนำใจ ไม่คุ้มเป็นพวก จะให้ได้ประโยชน์มากต้องให้มีพวกน้อยราย และใช้อำนาจมากๆ เอาเปรียบคนอื่นๆ ให้แรงๆ พอทำอย่างนี้นานเข้า คนที่ถูกเอาเปรียบเลยมีจำนวนมากกว่าคนที่ได้เปรียบเยอะ พ่อค้าที่ทนไม่ไหว เลยมีมากกว่าพ่อค้าที่เทิดทูน (ก็เวลาช่วย พวกท่านก็ไม่ได้ให้เปล่านี่ครับ แถมราคาแพงขึ้นเรื่อยๆ) ยิ่งข้าราชการ ยิ่งมีคนที่ถูกเอาเปรียบ ถูกข้ามอย่างไม่เป็นธรรม (เพราะถ้าเป็นธรรมก็ไม่ได้ใช้อำนาจช่วยใคร) เยอะแยะมาก แถมคนที่เป็นพวก หากจะได้รับเกื้อหนุน ส่วนใหญ่ก็ต้อง “จ่ายราคา” ด้วยกันทั้งนั้น

สรุปว่า “พรรคพวกนิยม” นั้น ในที่สุดก็สร้างศัตรูจำนวนมากกว่าสร้างมิตร เห็นจำนวนพ่อค้า จำนวนข้าราชการที่ไปเป็น “มวลมหาประชาชน” ไหมครับ

3. เรื่องของ “คอร์รัปชัน” ซึ่งแน่นอนว่าเป็นของคู่กันกับ “พรรคพวกนิยม” การโกงไม่ได้เพิ่งเกิดเพิ่งมี มันน่าจะเริ่มตั้งแต่เรามีประเทศเลยก็ว่าได้ แต่รูปแบบ ความกว้าง ความรุนแรงมันพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ และก็เช่นกันครับ พัฒนาการมันย่อมเป็นไปตามบริบทที่เปลี่ยนไป อย่างยุคแรกของการโกง ก็มักจะเอาจากทรัพย์สินจากภาษีรัฐโดยตรง หรือไม่ก็โกงจากเงินช่วยเหลือจากต่างประเทศ หรือไม่ก็ออกกฎออกระเบียบให้การบริการประชาชนไม่สะดวกไม่คล่องตัว เปิดให้มีการใช้ดุลพินิจ จนคนต้องจ่ายเงินหล่อลื่นเพื่อซื้อความสะดวก ต่อมาก็ไปช่วยเอกชนให้ไม่ต้องแข่งขัน (เช่น ล็อกเสป็กให้ จัดซื้อพิเศษ ฯลฯ) พอวิวัฒนาการมากขึ้นอีกก็เป็นเรื่องขายความได้เปรียบระยะยาว เช่น พวกสัมปทาน Monopoly หรือ Oligopoly ต่างๆ (หลายครั้งถูกเรียกว่า คอร์รัปชันทางนโยบาย)

ถ้าจะเอาให้แฟร์ ความจริงคอร์รัปชันมันมีวิวัฒนาการของมัน และเบ่งบานเพิ่มขึ้น นวัตกรรมมากขึ้นตลอดมา แม้ในยุคที่ คุณอภิสิทธิ์แห่ง ปชป. เป็นนายกฯ ก็ไม่เห็นจะลดลง (อาจจะโทษพรรคร่วม แต่เอ๊ะ เรื่องโรงพัก เรื่องถุงยังชีพ มันพรรคท่านเองนี่นา) แม้ยุค พล. อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ก็ยังมีโกงกันไม่น้อย ถึงแม้คนใน ครม. ส่วนใหญ่อาจจะไม่ได้ยุ่งเกี่ยวก็ตาม

แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า คอร์รัปชันในยุคของระบอบทักษิณ ถือว่าเบ่งบาน เป็นปัญหาใหญ่หลวงขึ้นทุกที จนกระทั่งประเทศไทยถอยหลัง จากอันดับ 60 ของประเทศที่ดีที่สุดในปี 2000 มาเป็นอันดับ 102 ในปี 2013 ใน Corruption Perception Index ที่เพิ่งประกาศไปไม่กี่วันนี้ มันน่าเอาปี๊บคลุมหัวด้วยความอับอาย และพรรคของท่านก็บริหารประเทศถึงร่วมสิบปีในช่วงเวลานี้ ซึ่งถ้าพวกท่านไม่ทำเอง ก็ต้องโดนข้อหาว่าปล่อยให้มีการโกงกินมโหฬารในทุกด้าน และไม่เคยตั้งใจดำเนินการให้จริงจังได้ผลเลย ทั้งในด้านการปราบปราม และการป้องกัน

คอร์รัปชันทุกวันนี้ ลุกลามกว้างขวาง และพัฒนาการลึกซึ้งขึ้นทุกที เรียกว่าเป็น Systemic Corruption กันไปทั่ว บางอุตสาหกรรม เรียกได้ว่าเป็นระบบจนเรียกได้ว่าไม่เหลือธุรกิจดีอยู่เลยก็ว่าได้ เช่น การก่อสร้างภาครัฐ มีคนบอกว่า โครงการ IT ภาครัฐ ก็เป็นเช่นเดียวกัน แถมมีเปอร์เซ็นต์สูงลิ่วกว่าสามสิบทั้งนั้น ซึ่งผมยังไม่ค่อยเชื่อเท่าไหร่ เพราะระบบพวกนี้ต้องใช้ระบบหลักจากบริษัท IT ชั้นนำของอเมริกาทั้งนั้น ซึ่งเขามีกฎหมาย Foreign Corrupt Practices Act ซึ่งลงโทษรุนแรง ถึงแม้ร่วมมือเพียงเล็กน้อย (น่าเรียกร้องให้ Department of Justice ของไอ้กันมาสอบสวนดูนะครับ)

เมื่อก่อน เวลาเปลี่ยนขั้วอำนาจการเมือง มักจะต้องลงไปรื้อไปโยกย้ายข้าราชการเพื่อให้ “เข้าขา” แต่เดี๋ยวนี้แทบไม่ต้องเลยครับ ทุกอย่างเป็นระบบ มีวิธีการ มีกลไก มีนวัตกรรมไว้พร้อม ใครเข้ามาก็แค่กดสวิทช์แล้วรอรับ ยกตัวอย่าง ปลัดกระทรวงใหญ่แห่งหนึ่ง ขุนสร้างมาโดยท่านจากสุพรรณ แต่งตั้งโดยท่านจากบุรีรัมย์ เปลี่ยนขั้วไป ท่านจากดอนเมืองก็ยังใช้บริการ ความมาแตกเอาตอนโจรขึ้นบ้าน แล้วตู้เสื้อผ้าแตก โจรตกตะลึง บอกว่ามีเป็นพันล้าน ขนไม่ไหว (แต่ท่านบอกมีแค่สิบ โจรน่าจะโกหกเวอร์)
เรื่องคอร์รัปชันนี้ หนีไม่พ้นที่จะถูกโจมตีว่าเป็นจุดอ่อนใหญ่ของ “ระบอบทักษิณ” ถ้าจะบริหารประเทศต่อ มีทางเดียวต้องแก้จุดนี้ให้ได้ ต้องแสดงความจริงใจอย่างไม่มีเงื่อนไข ต้องเริ่มทำให้เห็นเป็นรูปธรรมให้ได้

ความจริงยังมีเรื่อง มีเหตุการณ์อีกหลายอย่าง ที่ทำให้ความแตกแยกลุกลาม ต้องขอยกไปตอนหน้าอีกสักตอนนะครับ ผมอยากวิเคาะห์ทุกอย่างให้ละเอียด ก่อนที่จะเสนอแนวคิด ว่าเราควรจะเดินยังไงต่อไป

วันนี้ (เขียนเมื่อ 2 ธ.ค. 2556) เขียนยาวที่สุดเป็นประวัติการ พบกันตอนหน้าครับ
 .....................................................

“ข้อเสนอต่อประเทศไทย” ตอนที่ 3: สภาพสังคม-เศรษฐกินที่เปลี้ยนไป๋ 

“ข้อเสนอต่อประเทศไทย” ตอนที่ 5: สี่เท้ายังรู้พลาด คนฉลาดย่อมรู้พลั้ง (2)

 

“ข้อเสนอต่อประเทศไทย” ตอนที่ 3: สภาพสังคม-เศรษฐกินที่เปลี้ยนไป๋

“ข้อเสนอต่อประเทศไทย” ตอนที่ 3: สภาพสังคม-เศรษฐกินที่เปลี้ยนไป๋

  ที่มา: ไทยพับลิก้า

“ข้อเสนอต่อประเทศไทย” โดย “บรรยง พงษ์พานิช” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร ซึ่งเขียนเป็นซีรีส์ 7 ตอนในเฟซบุ๊ก “Banyong Pongpanich”

ในตอน 2 ผมพยายามสรุปว่า ทำไมคนกลุ่มใหญ่ หรือก็คือรากหญ้า ถึงได้ชื่นชม “ระบอบทักษิณ” ทั้ง เรื่องที่คุณทักษิณทำ และเรื่องที่เกิดเองโดยกระบวนการ หลายเรื่องก็เกี่ยวพันกัน เช่น โครงการ 30 บาทฯ ที่ทำให้คนจนลดห่วงเรื่องสุขภาพ ประกอบกับรายได้ดีขึ้น สามารถทุ่มทรัพยากรทั้งหลายไปให้กับการศึกษาบุตรธิดา คนจนชนบทส่งลูกหลานเข้าเรียนในเมือง เสร็จแล้วเยาวชนเหล่านี้ก็ไม่ค่อยจะยอมกลับบ้าน (อาจจะติดแสงสีเสียง หรือความสนุก ความสะดวกของเมือง) แต่แปรสภาพเป็น “คนจนเมือง”

เมื่อสองเดือนก่อน ผมได้ไปนั่งฟังการเสนองานวิจัยของโรเบิร์ต ทาวน์เซนด์ (Robert Townsend) แห่ง MIT (เป็นนักเศรษฐศาสตร์ชนบท ที่มีชื่อเสียงมากของโลก มาทำวิจัยในชนบทไทยกว่า 15 ปี…แต่แปลกใจมาก ที่วันที่ผมไปฟังที่จุฬาฯ มีคนฟัง 10 กว่าคนเอง) ผลที่ได้ทำให้ผมแปลกใจ นั่นคือ เกษตรกรไทยมีรายได้ดีขึ้นมาตลอด มีทุนและความมั่งคั่งสะสมดีทีเดียว มีระบบการเงินแบบไม่เป็นทางการ (informal) ที่ค่อนข้างดี สรุปว่า ดีขึ้นตลอด เรียกได้ว่า “คนจนชนบท” แทบจะหมดไป

เรื่องนี้ ถ้าพิจารณาจากผลิตผลเกษตรที่เพิ่มขึ้นตลอดมา ราคาที่ดีขึ้น ทั้งราคาตลาดโลก ทั้งจากการแทรกแซงของรัฐ ขณะที่จำนวนแรงงานในภาคเกษตรที่คงที่ที่ 14.5 ล้านคนมาร่วม 15 ปี ย่อมแปลได้ว่าผลิตภาพดีขึ้น รายได้ดีขึ้น (นี่เป็นเพียงข้อสังเกตของผม อยากให้มีการวิจัยละเอียดเยอะๆครับ)

ทีนี้ แรงงานที่เพิ่มเกือบ 9 ล้านคน ในช่วง 15 ปีนี้ไปไหน ทำอะไร เป็นอยู่อย่างไร แถมมีแรงงานทะลักเข้าจากเพื่อนบ้านอีก (ประมาณว่ากว่า 4 ล้าน) คำตอบง่ายๆ คือ เข้าเมือง และส่วนใหญ่แปรสภาพเป็น “คนจนเมือง” นั่นคือ มาทำงานที่ไร้ทักษะ เช่น ก่อสร้าง พนักงานขาย งานบริการ ร้านอาหาร โรงแรม หรือโรงงานประเภททักษะต่ำ (labor intensive) และอีกจำนวนมากไปทำงานอิสระนอกระบบ เช่น แผงขายของ หาบเร่ มอเตอร์ไซค์รับจ้าง ฯลฯ …ลองหลับตากลับไปนึกภาพกรุงเทพฯ เมื่อ 20 ปีก่อนดูสิครับ ถ้าอยากซื้อสินค้าแผงราคาถูก ก็ต้องบากบั่นไปซอยละลายทรัพย์ หลังแบงก์กรุงเทพ สีลม เท่านั้น หาบเร่แผงลอยก็มีจำกัด เทศกิจโผล่มาทีก็หอบแผงวิ่งหนีจ้าละหวั่น มาวันนี้ แหล่งแผงขายสินค้าราคาถูกมีเป็นพันแหล่ง หาบเร่มีมากกว่าเจ้าหน้าที่เทศกิจเป็นพันเท่า ถ้าจะจับหาบเร่ รับรองต้องขยายคุกอีก 10 เท่า


หาบเร่แผงลอย ที่มาภาพ : http://board.postjung.com/data
หาบเร่แผงลอย ที่มาภาพ : http://board.postjung.com/data

สรุปง่ายๆ สังคมคนจนได้เปลี่ยนได้ย้ายจาก “จนชนบท” มาเป็น “จนเมือง” แต่พอจะอนุมานได้ว่า ความสัมพันธ์ยังใกล้ชิดกัน การเกื้อหนุนยังสูง (ก็เพิ่งเกิดใน generation นี้) เพียงแต่ค่อนข้างกลับข้าง จากการที่แต่ก่อนคนหนุ่มสาวเข้าเมือง หางานทำเพื่อหาเงิน ส่งกลับไปเจือจุนครอบครัวยากไร้ในชนบท เปลี่ยนเป็นคนหนุ่มสาวเข้าเมืองเพื่อการศึกษา เพื่อสร้างเพื่อหาโอกาสที่ดี (ที่คว้าไม่เจอเสียที) ในระหว่างนั้น ครอบครัวชนบทก็ช่วยลงทุนให้ ช่วยเกื้อหนุนส่วนที่ขาด (ซึ่งรวมไปถึงค่ามือถือ iPhone iPad เที่ยวเตร่ เหล้ายา ตลอดไปจนถึงยาบ้า)

ขณะเดียวกัน การพัฒนาด้านการศึกษาก็ล้มเหลว ไม่ตอบโจทย์ ลงทุนเข้ามาเรียนแสนแพง จบไปไม่ได้คุณภาพ ไม่มีผลิตภาพ ความฝันไปไม่ถึง (แต่อย่างน้อยก็เรียนรู้ที่จะเรียกร้องสิทธิ์ เรียนรู้ที่จะสร้างอำนาจต่อรองสาธารณะ)

ที่แย่กว่านั้น ถ้าไปดูค่าตอบแทน ซึ่งผมใช้ “ค่าแรงขั้นต่ำ” เป็นฐานหลักสำหรับคนจนเมือง เพราะถ้าต่ำเกิน ก็จะขาดแรงงาน ถ้าสูงเกิน พวกนอกระบบก็จะไหลเข้ามาล้นเกิน เกิดว่างงานมาก แต่นี่อัตราว่างงานต่ำ ถือได้ว่าสมดุลมาตลอด ถ้าจะหาปัญหาพื้นฐานจริงๆ ผมว่าเป็นเพราะเราไม่ได้มุ่งพัฒนาผลิตภาพซึ่งเป็นรากฐานที่สำคัญที่สุดในการ พัฒนาผลิตภาพรวม หรือ Total Factor Productivity (TFP) ของเราเพิ่มช้าและน้อยมาก ทำให้ถึงแม้รายได้จะเพิ่ม จึงไม่สามารถไหลลงสู่ชนรากหญ้าได้

ค่าแรงขั้นต่ำตลอด 14 ปีหลังวิกฤติเศรษฐกิจ พ.ศ. 2540 ในอัตราแท้จริง (ปรับเงินเฟ้อ) กลับติดลบถึง 1.4% ขณะที่ GDP แท้จริงโตถึง 73% และ GDP ต่อหัวเพิ่ม 53% แล้วความเติบโตกับความมั่งคั่งมันหายไปไหนหมดล่ะ “คนจนเมือง” ถึงไม่ได้เลย
 
คำตอบง่ายมากครับ ก็พวกเกษตรกรดีขึ้นบ้าง (ตามที่กล่าวแล้ว) ที่เหลือพวกเศรษฐี พวกอำมาตย์ พวกคนชั้นกลาง ได้รับไปแบ่งกัน รายได้ของลูกจ้างทักษะสูง เช่น ทำงานธนาคาร งานการตลาด งานคอมพิวเตอร์ ตลอดไปถึงข้าราชการ ครู มีอัตราเพิ่มที่ดีตลอดมา ส่วนที่เพิ่มมากสุดเป็นกำไรกิจการ (Corporate Profit) ที่เพิ่มถึง 254% (ส่วนนี้ตกเป็นของคนไม่กี่แสนคน ไม่ถึง 1% ของประชากร กับพวกต่างชาติที่มาลงทุน) ส่วนที่คนจนเมืองรู้สึกดีขึ้นบ้าง ก็เพราะได้เกื้อหนุนจากพ่อแม่ในภาคเกษตร และโครงการประชานิยมต่างๆ นี่แหละครับ

สภาพความเป็นมา การเปลี่ยนแปลง อันเริ่มจากการฟื้นตัวหลังวิกฤติ ผลจากรัฐธรรมนูญ การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ และสังคม ทั้งหมดนี้ ผมเคยเขียนไว้ในบทความเรื่อง “ความเหลื่อมล้ำ” เมื่อ 22 มิ.ย. 2556 ไปดูรายละเอียดได้นะครับ
ความจริงการเปลี่ยนแปลงนี้ ผมคิดว่านักวิชาการ นักพัฒนาต่างๆ ก็หลงทางกันเยอะ พอพูดถึง “คนจน” ก็มุ่งไปที่ชนบท ที่เกษตรกรก่อน ช่วงปลายสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผมเคยถูกเรียกเข้าไประดมสมอง ก็เริ่มด้วยการพูดว่า จะแก้ปัญหาความยากจนชนบท ผมเลยเสนอบทวิเคราะห์ที่ว่า และขอให้กลับมาเน้นที่ “คนจนเมือง” ซึ่งถ้าพิจารณา “โครงการประชาภิวัฒน์” ปลายสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ จะเห็นว่ามุ่งตอบโจทย์คนจนเมือง แต่อย่างว่า รู้ช้า ทำได้ช้า ข้อจำกัดเยอะ เลยเข้าทำนอง “ช้าไปต๋อย” พอเลือกตั้งก็เลยแพ้ยับ พรรคเพื่อไทยระดมเสนอโครงการสร้างความหวัง แจกกระจาย เช่น ข้าวตันละหมื่นห้า ค่าแรงพุ่งพรวด ทำได้ไม่ได้ลุยไปก่อน เอาอำนาจมาให้ได้ ฉิบหายระยะยาวช่างมัน พอเลือกตั้งพรรคประชาธิปัตย์ก็เลยแพ้ยับ

เรื่องปัญหา “คนจนเมือง” ต่างจากปัญหา “คนจนชนบท” เยอะ โดยเฉพาะแนวโน้มที่จะทำให้เกิดความรุนแรง ความแตกต่างทางชนชั้นสามารถนำไปสู่สงครามได้ง่าย ทฤษฎีการปฏิวัติชนชั้นของคาร์ล มาร์กซ์ (Karl Marx) ก็มีพื้นฐานมาจาก “คนจนเมือง” นี่แหละครับ จากการวิจัยปัญหาการจลาจลของ “คนดำ” ในเมืองใหญ่ๆ ของสหรัฐฯ ช่วงทศวรรษ 1960 เช่น ในดีทรอยต์, พิตตส์เบิร์ก, ชิคาโก, นิวยอร์ก ต่างก็ระบุชัดว่า เรื่องตัวเลขความแตกต่างของรายได้ไม่ใช่ปัญหาเดียว แต่การมาอยู่ในเมือง มันมีแรงกดดันทางสังคมอื่นๆ ต้องถูกปฏิบัติสองมาตรฐาน ต้องเจอการดูถูกเหยียดหยาม เห็นความแตกต่างของโอกาสอย่างไม่เป็นธรรม ฯลฯ เรื่องเหล่านี้ล้วนเป็นชนวนของความแตกหักทั้งนั้น
จะโดยบังเอิญ หรือโดยตั้งใจก็ตามแต่ นโยบายของพรรคไทยรักไทย ตลอดมาถึงพลังประชาชน จนถึงเพื่อไทย รวมทั้งชั้นเชิงทางการเมือง ทางการประชาสัมพันธ์มวลชน ทำให้คนที่เคยรู้สึกว่าด้อยโอกาส ถูกดูถูกเหยียดหยาม มีความรู้สึกที่ดีขึ้น มีความหวัง ถึงแม้เศรษฐกิจโดยรวมไม่ได้โลดแล่นมาก แต่คนจำนวนมากรู้สึกถึงการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น

แล้วใครเป็นผู้เสียหายล่ะครับ…

ไม่มีอะไรหล่นลงมาจากฟ้า ถ้ามีคนได้ย่อมมีคนเสีย
ความจริงช่วงรัฐบาลทักษิณ 5 ปี เศรษฐกิจเติบโตในอัตราเฉลี่ยแค่ 5.1% ไม่ได้ดีอะไรมาก แต่อย่างที่ผมบอก เศรษฐีก็ดีขึ้น ข้าราชการก็ดีขึ้น คนระดับกลางที่ทำงานใช้ทักษะก็ดีขึ้น เกษตรกรก็ดีขึ้น รากหญ้าแม้ยังไม่ดีมากแต่ก็รู้สึกว่าดีขึ้น (จากของแจกของแถม) 

พวกที่เลวลง ก็คงเป็นพวกที่ทำงานในบางแห่งที่ไม่ได้รับอานิสงส์จากการเปลี่ยนแปลง พวกนักธุรกิจที่ไม่ได้ปรับปรุง TFP ทำให้แข่งขันได้ยากขึ้น พวกนักธุรกิจที่เข้าไม่ถึงอำนาจพรรคพวกนิยม หรือแทงผิดข้าง ข้าราชการที่ไม่ถูกนับเป็นพวก เลยถูกรังแก และพวกกลุ่มใหญ่ที่กินบุญเก่า กินดอกเบี้ย กินบำนาญ ซึ่งดันเจอดอกเบี้ยต่ำ ผลตอบแทนแท้จริงติดลบมานาน พวกนี้เป็นพวกที่เสียโดยตรง แต่ในที่สุดก็จะถูกสมทบด้วยพวกที่แท้จริงแล้ว ไม่ได้รับผลเสียทางเศรษฐกิจ แต่ทนกับความบิดเบือน ความมั่ว ความคดโกงไม่มีที่สิ้นสุด ไร้หลักการไม่ได้ ออกมารวมกันเป็น “มวลมหาประชาชน” ในปัจจุบัน ซึ่งผมจะค่อยๆ วิเคราะห์ในตอนต่อๆ ไป

ความจริงถ้าไม่มีปฏิวัติ 2549 นโยบายแบบเดิมก็จะถึงทางตันเองอยู่แล้ว สุดท้ายต้องหันไปเพิ่ม TFP ในระยะยาวให้ได้เท่านั้นเป็นคำตอบสุดท้าย น่าเสียดายที่เราเกิดการแตกแยกรุนแรงเสียก่อน 7 ปีที่ผ่านมาจึงแทบไม่มีการปรับปรุงเรื่องนี้เท่าไหร่ (เกือบทศวรรษแล้วนะครับที่หายไป)

ตอนที่แล้วผมเกริ่นว่า ตอนนี้จะอธิบายถึงข้อผิด ข้อพลาด ข้อไม่ดีของ “ระบอบทักษิณ” คงต้องยกไปตอนหน้าอีกแล้ว เพราะผมตั้งใจจะอธิบายทุกเรื่องอย่างละเอียดที่สุดในบทความชุดนี้ เรียกว่าเอาความรู้ทั้งชีวิตเกี่ยวกับสังคมมาเรียบเรียงไว้ให้หมด ถึงแม้ว่าอาจจะไม่สามารถช่วยเหตุการณ์ความขัดแย้งที่เป็นอยู่ได้ทัน แต่เชื่อเถอะครับ ไม่ว่าใครจะชนะศึกในรอบนี้ ปัญหายังไม่มีทางจบหรอกครับ ผมได้แต่หวังว่าในอนาคต จะมีคนเข้าใจปัญหาทุกอย่าง ร่วมกันสร้างสรรค์ทางออกที่ยั่งยืนถาวร

อย่างที่บอกแหละครับ ผมไม่ใช่ปราชญ์ ไม่ใช่นักคิด ไม่ใช่นักวิชาการ เป็นแค่คนธรรมดาที่รักสังคม รักชาติ รักเพื่อนมนุษย์ ความรู้ ความเห็น ย่อมไม่ถูกต้อง ไม่ครบถ้วนไปทั้งหมด หวังว่าถ้าเป็นประโยชน์บ้างก็จะภูมิใจแล้วครับ

(หมายเหตุ ข้อเขียนนี้เขียนเมื่อ 3 ธ.ค. 2556)

...............................................

 

“ข้อเสนอต่อประเทศไทย” (ตอนที่ 2) : ขวัญใจรากหญ้า 

“ข้อเสนอต่อประเทศไทย” (ตอนที่ 4): สี่เท้ายังรู้พลาด คนฉลาดย่อมมีพลั้ง (1)

 

 

“ข้อเสนอต่อประเทศไทย” (ตอนที่ 2) : ขวัญใจรากหญ้า

“ข้อเสนอต่อประเทศไทย” (ตอนที่ 2) : ขวัญใจรากหญ้า 

ที่มา: ไทยพับลิก้า

“ข้อเสนอต่อประเทศไทย” โดย “บรรยง พงษ์พานิช” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร ซึ่งเขียนเป็นซีรีส์ 7 ตอนในเฟซบุ๊ก “Banyong Pongpanich”

ในตอนแรก ผมได้ปูพื้นถึงความเหลื่อมล้ำ การเข้าเมือง (Urbanization) และความแตกต่างด้านการศึกษา สามมิติที่เป็นพื้นฐานความแตกต่าง ที่พัฒนาเป็นความแตกแยกในสังคมไทยในปัจจุบัน
จริงๆ แล้ว “ความเหลื่อมล้ำ” เป็นปัญหาที่ฝังรากลึกมานาน การที่คนมีโอกาสต่างกันมหาศาล คนรวยก็รวยล้นเหลือโดยหาได้ง่ายๆ ในขณะที่คนจน ต่อให้ขยัน ทุ่มเทแค่ไหน ก็ยากที่จะมีโอกาสไต่ระดับฐานะ ถึงจะมีได้บ้าง ก็เป็นสัดส่วนต่ำ และมักต้องอาศัยเงื่อนไขเฉพาะ เช่น โชคดีสุดๆ หรือใช้วิชามาร ประกอบอาชีพผิดกฎหมาย หรือไม่ก็อยู่ในเครือข่ายคอร์รัปชัน ในสังคมทุนนิยมที่ดีนั้น โอกาสจะต้องมี ถ้าคนทุ่มเท ตั้งใจ จะต้องได้โอกาส อย่างน้อยโอกาสที่จะได้รับบริการสาธารณะที่เท่าเทียม โอกาสที่จะได้ดูแลสุขภาพ ได้รับการศึกษาคุณภาพ ได้เติบโตมาในสภาพแวดล้อมที่ใกล้เคียง ฯลฯ 

ไม่น่าเป็นไปได้และไม่ควรจะเป็น ที่คน 12 ล้านคนแรก จะเก่งจะดีจะขยันกว่า จนกระทั่งสร้างผลผลิต ได้มากกว่า คน 12 ล้านคนข้างล่าง ถึง 13 เท่าตัวในหนึ่งปี (20% บน/20% ล่าง) อย่างในประเทศเรา มันเป็นเรื่องของความแตกต่างทางโอกาสล้วนๆ ในประเทศทุนนิยมที่พัฒนา ความแตกต่างนี้อยู่ที่ 3-5 เท่า เท่านั้นเอง

ในอดีต แม้ความเหลื่อมล้ำมีมาก แต่ที่ไม่ปะทุเป็นปัญหา ก็เกิดจากสาเหตุหลายประการ
1)ระบบสังคมอุปถัมภ์ แบบดั้งเดิม ทำให้ชาวชนบท ยอมรับความเป็น “เจ้าขุนมูลนาย” ยอมรับความ “เหนือ” กว่าของผู้ที่มีโชค “เกิดถูกครรภ์” โดยดุษณี ประกอบกับการศึกษาที่ไม่กว้าง และไม่ก้าว ทำให้คนยอมรับ “ชะตากรรม” ง่ายๆ

2)ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2505-2540 เศรษฐกิจรวมเติบโตดีมาก (ภายใต้ระบบเผด็จการ และประชาธิปไตยครึ่งใบ ที่พึ่งเทคโนแครตในการบริหารเศรษฐกิจ) ภายใต้แผนพัฒนาฉบับที่ 1-7 เศรษฐกิจเติบโตเฉลี่ยกว่าร้อยละ 10 ต่อปี (nominal rate) ทำให้แม้ความเหลื่อมล้ำไม่ดีขึ้น แต่ทุกคนก็มีรายได้เพิ่มขึ้นดี (2541-2555 เศรษฐกิจโตเฉลี่ยต่ำกว่า 5%)

3)ความสำเร็จในการลดอัตราเร่งของจำนวนประชากร (คุมกำเนิด-เครดิตคุณมีชัย วีระไวทยะ) ช่วยลดแรงกดดันด้านการครองชีพ ให้กับผู้มีรายได้น้อย

4)การขยายตัวทางเศรษฐกิจ และปรับเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรม ทำให้เกิดการจ้างงานเพิ่มมาก คนมีโอกาสที่จะเข้ามาทำงานในเมือง มีรายได้มากขึ้นกว่างานในไร่นามาก (แต่ในระยะหลัง ค่าแรงแท้จริงถูกกดไม่เพิ่มเลยถึง 15 ปี เพราะ Total Factor Productivity ไม่เพิ่ม)

ฯลฯ

ที่มาภาพ : http://img11.imageshack.us/
ที่มาภาพ : http://img11.imageshack.us/

แล้วไงล่ะ…แล้ว พ.ต.ท.ทักษิณ (ชินวัตร) เข้ามาทำอะไร ชาวรากหญ้าถึงได้รักหนักหนา
ก็เกิดการลดความเหลื่อมล้ำอย่างมากในสมัย พ.ต.ท.ทักษิณ ผมขอเริ่มด้วยสองเรื่องที่ พ.ต.ท.ทักษิณไม่ได้ทำอะไร แต่ได้รับผลดีไปเต็มๆ

เรื่องแรก คือผลพวงจากวิกฤติเศรษฐกิจ ทุกครั้งที่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจ เมื่อฟื้นกลับมา สิ่งหนึ่งที่ไม่เหมือนเดิมคือ “การกระจายความมั่งคั่ง” (wealth distribution) เรารู้อยู่ว่า วิกฤติต้มยำกุ้งนั้น เป็นวิกฤติของคนรวย เป็น corporate crisis คนรวยลำบากเยอะ คนจนได้รับผลพวงบ้างก็เป็นระยะสั้น เศรษฐกิจติดลบไป 2 ปี แต่อีก 3 ปีก็กลับมาที่เดิม แต่คนที่ได้มากขึ้นเป็นรากหญ้ามากกว่าคนเคยรวย ลองคิดดูว่า จาก 25 บาท/เหรียญ เป็น 40 บาท/เหรียญ เกษตกรได้เพิ่มเท่าไหร่ เกิด export boom การจ้างงานเพิ่มมาก (ก็เรานิยม labor intensive) แรงงานได้เพิ่มมากในระยะต้น

พรรคประชาธิปัตย์ นั่งแก้ปัญหาอยู่เกือบสามปี ช่วงแรกคนลำบากเยอะ ต้องกัดลูกปืน (bite the bullets) ของท่านIMF ประชาชนไม่พอใจกับความลำบาก มีอภิปรายไม่ไว้วางใจเรื่องแก้ปัญหา และ ส.ส. ลาออกเยอะเพื่อไปร่วมกับพรรคใหม่ นายชวน หลีกภัย เลยต้องยุบสภา เลือกตั้งใหม่ ต้นปี 2544 ทำให้ “ไทยรักไทย” ได้เสียง 250 จาก 500 (ประชาธิปัตย์ได้แค่ 129 เสียง) มาเป็นรัฐบาล “ทักษิณ1″ รับอานิสงส์ไปเต็มๆ

เรื่องที่สอง เกิดจากรัฐธรรมนูญปี 2540 ที่บังคับให้มีการกระจายอำนาจ โดยเฉพาะอำนาจในการจัดการทรัพยากรเองบ้าง แทนที่จะต้องนั่งรอขอ รอเมตตาจากส่วนกลาง หรือรอจนกว่าจะได้ ส.ส. สุดอัจฉริยะไปเบียดบังงบประมาณจากภาคส่วนอื่นๆของประเทศมาเทใส่จังหวัด ใส่ท้องถิ่นตนอย่างเหลือเฟือ (ท่านได้รับอิสระแล้วในวันนี้เอง)การกระจายอำนาจการบริหารจัดการให้องค์กร ปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ตั้งแต่ปี 2544 ตามรัฐธรรมนูญ 2540 มีส่วนมากในการทำให้คนรากหญ้าเข้าถึงและจัดการทรัพยากรส่วนกลางได้มากขึ้น (ซึ่งเรื่องนี้ หลายคนบ่นว่าทำให้เกิดการกระจายการโกงกินไปด้วย แล้วมีผลให้เกิดการเชื่อมโยงแนบแน่นขึ้น ผ่านกระบวนการนักโกงกินระดับชาติ กับนักโกงกินท้องถิ่น)
ทั้งสองเรื่อง เป็นประโยชน์ที่ช่วยให้เกิดการกระจายที่ดีขึ้น โดยรัฐบาลยังไม่ต้องทำอะไร

แล้ว พ.ต.ท.ทักษิณทำอะไรบ้าง คนถึงรักเทิดทูนเหลือเกิน ทั้งๆ ที่ไม่ได้เกิดเป็นเทพซะหน่อย….
ความจริง ในแง่การขยายตัวของเศรษฐกิจโดยรวมในช่วง ห้าปีเศษของรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ (2544-2549) ไม่ได้ดีเด่นอะไร เศรษฐกิจเติบโตในอัตราเฉลี่ยแค่ 5.1% ต่อปี นับว่าค่อนข้างต่ำด้วยซ้ำ ถ้าเปรียบเทียบกับประเทศ Emerging Market ด้วยกัน หรือจะเปรียบเทียบกับช่วงก่อนวิกฤติ หาได้สมกับฉายา Economic Tzar ที่ใครๆ พากันประโคม

แต่มีหลายเรื่อง ที่รัฐบาลภายใต้การนำของ พ.ต.ท.ทักษิณ ทำดีทำเก่ง ทำให้เกิดการกระจาย ทั้งรายได้ ทั้งโอกาส อย่างกว้างขวาง และลึก อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน เข้าสู่กลุ่มที่เราเรียกว่า “รากหญ้า” (ซึ่งหมายถึงกลุ่มที่เคยขาดโอกาส…ไม่ได้มีนัยยะดูถูกแต่ประการใด) และจะขอยกมาตามที่ได้สังเกต
เรื่องแรก เป็นเรื่องประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ ความจริงแล้ว 12 ปี (ตั้งแต่พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นนายกฯ ปี 2531) ประเทศถูกปกครองโดยระบบ Buffet Cabinet โดยนักการเมืองรัฐบาลผสม แบ่งเค้ก ระบบเทคโนแครต กลไกราชการถูกทำลายแทบราบเรียบสิ้นเชิง ระบบและข้าราชการถูกเปลี่ยนให้สนองเป้าหมายทางการเมือง (ทั้งเป้าดี เป้าชั่ว) กลไกเรียกได้ว่าหย่อนประสิทธิภาพมาก นโยบายถึงจะมีดี แต่ยากที่จะถูกนำไปปฏิบัติให้เกิดผล (ถึงตอนนี้ ต้องขอโทษข้าราชการที่ดีที่ยังคงมีอยู่อย่างมากมาย แต่ผมคิดว่าท่านก็น่าจะอึดอัดกับระบบแบบนี้อยู่)

ความที่เป็นนักบริหารและค่อนข้างลงมือปฏิบัติจริง (hands-on) พ.ต.ท.ทักษิณ สามารถผลักดัน สามารถบังคับใช้กฎหมาย (execute) ให้กลไกราชการกลับมามี “ประสิทธิผล” (effective) เพิ่มขึ้น นโยบายมีผลมากขึ้นเยอะ (เรียกว่า แก้จากแย่มาก ให้เป็นแย่น้อยลงได้) การปฏิรูประบบราชการ ก็ช่วยให้มีความคล่องตัวมากขึ้น การตั้ง KPI ให้ข้าราชการเป็นครั้งแรกช่วยกระตุ้นให้อย่างน้อยต้องมีผลงานด้านดีบ้าง (KPI ด้านชั่ว ต้องไปตั้งกันอย่างลับๆ) จำ “อาจสามารถโมเดล” ได้ไหม ความจริงงานทุกอย่างควรถูกจัดทำอยู่แล้วโดยหน่วยราชการทั้งหลาย แต่ทุกหน่วยเฉื่อยแฉะ ไม่ทำอะไร พอท่านลงไปตั้งแคมป์เพื่อโชว์ถ่ายทอดสด real time ชาว อ.อาจสามารถก็เลยเฮง ได้ทุกอย่าง (ที่จริงควรจะได้อยู่แล้ว) เป็นบูรณาการ ต้นน้ำ-กลางน้ำ-ปลายน้ำไป

ที่มาภาพ : http://www.komchadluek.net
ที่มาภาพ : http://www.komchadluek.net

เรื่องที่สอง ข้อเท็จจริงปรากฏว่า ช่วง 5 ปีของรัฐบาลทักษิณ งบประมาณแผ่นดินที่ส่งผลถึงรากหญ้า (จากการรวบรวมแยกแยะใหม่ ของทีมวิเคราะห์เศรษฐกิจ บริษัทหลักทรัพย์ภัทร) จากเดิมที่มีเพียง 16% ของงบประมาณ เพิ่มเป็น 24% ถึงแม้บางส่วนอาจมาจากรัฐธรรมนูญใหม่ แต่ผลก็มาเกิดในช่วงนี้ ลองคิดดู่ว่างบประมาณปีหนึ่งๆ 1.5 – 2 ล้านล้าน 8% ที่มาเพิ่ม ปีละ 1.2-1.6 แสนล้านบาท ที่ตกถึงรากหญ้าเพิ่มขึ้น ถึงจะรั่ว จะไหล ไปบ้าง แต่ที่เหลือก็สร้างความมั่งคั่ง บรรเทาความเดือดร้อนให้พวกเขาได้ไม่น้อย

เรื่องที่สาม คือการใช้เงินนอกระบบงบประมาณ สิ่งที่เพิ่มมากมีอยู่สองอย่าง คือ เงินกู้ต่างๆ ที่อัดให้กับรากหญ้า ผ่านกองทุนรูปแบบต่างๆ เช่น กองทุนหมู่บ้าน กองทุน SML กับผ่านสถาบันการเงินของรัฐ เช่น ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SMEs Bank) บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ปี 2541 สถาบันการเงินพิเศษของรัฐ (SFI) เหล่านี้ มีทรัพย์สินรวมกันแค่ 350,000 ล้านบาท เป็น 12% ของ GDP เวลานั้น ปัจจุบันมีทรัพย์สินรวมกว่า 4,000,000 ล้านบาท คิดเป็น 37% ของ GDP เงินเหล่านี้ ถึงจะไปสู่รายใหญ่ หรือรั่วไปอยู่ในตู้เสื้อผ้าใครบ้าง แต่ส่วนที่ตกถึงมือชาวบ้าน ก็เพียงพอที่จะสร้างความรักเคารพให้อย่างล้นเหลือ

เรื่องที่สี่ เป็นเรื่องที่อาจไม่เกี่ยวกับรากหญ้าโดยตรง แต่ส่งผลให้เกิดการพัฒนาตลาดทุน ซึ่งส่งผลต่อให้มีการระดมทุนภาคเอกชนอีกมาก และการจ้างงานเพิ่มเต็มที่ (ไม่งั้นชะลอกว่านี้อีกเยอะ) คือการนำรัฐวิสาหกิจใหญ่เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ (ผมขอไม่เรียกว่า แปรรูปรัฐวิสาหกิจ เพราะจริงๆแล้วทำแค่ครึ่งเดียวของ Privatization ที่ควรทำ) ซึ่งทำให้ ตลาดทุนที่ซบเซาอย่างมากหลังวิกฤติ (SET INDEX ก่อน เอาบริษัทปตท. เข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ดัชนีแค่ 280) กลับมามีชีวิต คึกคัก ดึงดูดการลงทุนได้มาก ผมขอเดาว่า ถ้าไม่มีการนำ ปตท. เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์และลูกๆ, ทอท., อสมท. การเติบโตทางเศรษฐกิจน่าจะหายไปปีละเกือบ 1% เลยทีเดียว

เรื่องนี้ เป็นเครื่องวัด “ประสิทธิผล” เปรียบเทียบได้ดี เพราะรัฐบาลนายชวน หลีกภัย ก็มีแผนเร่งแปรรูปรัฐวิสาหกิจ แต่สามปีไม่คืบหน้าเลย ขณะที่รัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณทำปีเดียวออกได้เป็นพรวน และผมประทับใจคุณทักษิณมาก ที่กล้าประกาศเลยว่า จะเดินหน้าแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ในการหาเสียง ใครไม่เห็นด้วยก็ไม่ต้องเลือกพรรคไทยรักไทย ไม่เหมือนพรรคอื่นๆ ที่หงอ กลัว NGOs ทั้งๆ ที่รู้ว่าเป็นเรื่องดี เลยไม่กล้า แทนที่จะพยายามอธิบายชี้แจงให้ประชาชนเข้าใจ เป็นที่น่าเสียดายมาก ที่เราไม่มีการแปรรูปอีกเลย ที่ค้างไว้ ที่ทำไปครึ่งเดียว ไม่มีการสานต่อ เลยกลายเป็นแค่ “รัฐวิสาหกิจจดทะเบียน” ที่ยังอยู่ใต้อำนาจ ใต้อุ้งเท้านักการเมือง

เรื่องสุดท้ายที่ผมจะพูดถึง คือ การประชานิยมทั้งหลาย ทุกการประชานิยม จะดีจะเลว อย่างน้อยก็เป็นการ redistribution นั่น คือ การเอาทรัพยากรกลาง (ซึ่งแน่นอนครับ เก็บมาจากภาษี และคนมีมากก็ต้องเสียภาษีมากกว่าอยู่แล้ว ไม่ว่าจะภาษีทางตรง ทางอ้อม เพราะบริโภคมากกว่าอยู่ดี) ไปกระจาย และแน่นอนว่าย่อมกระจายให้กับคนจน คนด้อยโอกาส พวกรากหญ้าได้รับมากกว่า
อันว่าประชานิยมไม่ใช่ว่าจะแย่ไปเสียทั้งหมด อย่าง “หลักประกันสุขภาพทั่วหน้า” นับว่าเป็นนโยบายสาธารณะที่ดีที่สุดในรอบหลายสิบปีก็ว่าได้ หรือ ประชานิยมประเภทที่ทำให้คนได้ทุน ได้รับการศึกษาที่ดี ได้ฝึกอาชีพ ก็คุ้มค่า หรืออย่างนโยบายขึ้นค่าแรง ก็พอรับได้ พวกประชานิยมที่แย่หน่อย ก็พวกแจกเงินแบบ “เอาไปกิน…แล้วก็ถ่าย” ไม่ก่อให้เกิดผลิตภาพใดๆ..แต่ที่แย่สุด ก็คือพวกที่นอกจากไม่เกิดผลิตภาพแล้ว ยังไปบิดเบือนกลไกตลาด ไปครอบงำ และทำลายกลไก ทำลายประสิทธิภาพ ผลิตภาพที่สร้างสมมานาน แถมออกแบบให้รั่วง่าย ไหลง่าย “ประชาชน” ได้รับส่วนน้อย ที่เหลือหายไปกับสายลมหมด

อันหลังนี่ ถามใครก็ตอบได้ สามคำจำง่าย ก็โครงการ “จำนำข้าว” ที่ยังนั่งยันยืนยันว่า “มีประโยชน์” แถมท่าน ส.ส. ผู้ทรงเกียรติอีกสามร้อยกว่าคน ก็ช่วยยกมือยืนยันให้อีก (เฮ้อ…เขาถึงไม่เอายุบสภาไงครับ คงกลัวพวกท่านกลับมายกมือตะบี้ตะบันอีก)

ที่เขียนมายืดยาวในบทนี้ เป็นเหตุผลอธิบายว่า ทำไมคนกลุ่มใหญ่จึงชื่นชมสิ่งที่เรียกว่า “ระบอบทักษิณ” ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องผิดเรื่องโง่อะไร ถ้าผมเกิดมาในนา ไม่ได้โชคดีได้รับโอกาสเล่าเรียนในสถาบันชั้นดี (วชิราวุธ-จุฬาฯ) ไม่ได้โชคดีได้งานดี มั่งคั่งง่ายๆ ผมย่อมชื่นชมกับคนที่หยิบยื่นโอกาสให้ผม คนที่พูดแล้วทำจริง เอามาให้ผมได้รับจริง ไม่เห็นแปลกอะไรที่ผมจะชื่นชมยกย่อง โดยเฉพาะในสังคมที่แต่เดิมคนมีโอกาสเขาไม่เคยแบ่งเคยปัน เอาแต่กอบโกยเสวยสุข แถมยังมีท่าทีดูถูกเหยียดหยาม ไม่เคยเคารพ “ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์” ของคนยากไร้ ด้อยการศึกษา

ถึงตอนนี้…อย่าเพิ่งตราหน้าผมว่าเป็น “พวกเสื้อแดง” นะครับ (ความจริงหลายเรื่องผมก็เป็นเสื้อแดงอยู่นะ) ผมไม่ได้ชื่นชมระบอบ นโยบาย วิธีคิด วิธีทำ ของรัฐบาลทักษิณสักเท่าไหร่ ทุกเรื่องมีต้นทุน มีผลกระทบ มีข้อผิดพลาดรั่วไหล และแม้แต่ทำไปนานๆ แล้วสามารถบิดเบือนไปได้แม้จากเจตนา จากเป้าประสงค์ดั้งเดิม

ตอนหน้า จะมาวิเคราะห์ถึงข้อเสีย ผลกระทบ ตลอดจนปัญหาของสิ่งที่เรียกว่า “ระบอบทักษิณ”
หวังลมๆ แล้งๆ ว่าบทความนี้อาจเป็นประโยชน์บ้าง…แต่…ไม่รู้ว่าทันหรือเปล่า
............................................................


"ข้อเสนอต่อประเทศไทย" (ตอนที่1) : ปูพื้นเรื่องปัญหา  

“ข้อเสนอต่อประเทศไทย” (ตอนที่ 3) : สภาพสังคม-เศรษฐกินที่เปลี้ยนไป๋






ข้อเสนอต่อประเทศไทย (ตอนที่1): ปูพื้นเรื่องปัญหา

ข้อเสนอต่อประเทศไทย (ตอนที่1): ปูพื้นเรื่องปัญหา 

ที่มา : ไทยพับลิก้า

“ข้อเสนอต่อประเทศไทย” โดย “บรรยง พงษ์พานิช” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร ซึ่งเขียนเป็นซีรีส์ 7 ตอนในเฟซบุ๊ก “Banyong Pongpanich”

เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2556 ผมได้รับเชิญให้ไปบันทึกเทปรายการ “ทางออกประเทศไทย” ของสถานี ThaiPBS ซึ่งออกอากาศไปแล้วเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2556

กับคำถามว่า ในฐานะนักธุรกิจ ผมมีข้อเสนอแนะต่อสถานการณ์อย่างไร ผมต้องออกตัวว่า ขอพูดในฐานะประชาชนคนหนึ่ง เพราะสิ่งที่จะพูด นักธุรกิจเขาไม่พูดกัน เนื่องจากคนอาจจะไม่ชอบทั้งสองฝ่าย แถมไม่มีประโยชน์กับผู้พูด เรียกว่า น่าจะขาดทุน ผิดวิสัยนักธุรกิจ

แน่นอนครับ ผมคงไม่เก่งพอที่จะมีข้อเสนอแนะแบบเจ๋งๆ ทำแล้วแก้ปัญหาได้หมดในทันที แต่ผมมีแนวคิดบางอย่างอยากให้พิจารณากัน

ก่อนอื่น ผมขอตั้งคำถามก่อนว่า เรารู้หรือยังว่า พื้นฐานความแตกแยกใหญ่หลวงครั้งนี้คืออะไร มีพัฒนาการความเป็นมาอย่างไร 

ทำไมคนกลุ่มใหญ่กลุ่มหนึ่งหลายล้านคน ถึงลุกขึ้นมารวมตัวกัน มุ่งมั่นต่อต้าน ประกาศก้อง “เราไม่เอาระบอบทักษิณ” ซึ่งคนกลุ่มนี้ส่วนใหญ่ (ตามการสังเกตของผม) ได้แก่ คนที่มีฐานะดี หรือค่อนข้างดี มีการศึกษาตามระบบค่อนข้างสูง (หรืออย่างน้อยก็เข้าใจว่าตนการศึกษาสูง) เป็นคนชั้นบนและชั้นกลางที่เข้าถึงโอกาสทางเศรษฐกิจได้ดี ถ้าเป็นนักวิชาการ ก็เป็นประเภทอนุรักษนิยม ถ้าเป็นข้าราชการก็เป็นพวกที่ไม่ได้รับการนับเข้าเป็นพวก (จากผู้มีอำนาจปัจจุบัน) หรือถูกรังแก ถ้าเป็นนักธุรกิจ ก็เป็นพวกที่ไม่ได้อาศัยอำนาจรัฐ หรือเข้าไม่ถึงอำนาจรัฐ

แต่ขณะเดียวกัน อีกกลุ่มใหญ่ (ที่อาจมีมากกว่าด้วยซ้ำ) กลับยกย่องเทิดทูน แทบจะสละชีพเพื่อปกป้อง ถือว่า ดร.ทักษิณ ชินวัตร เป็นตัวแทนของระบบประชาธิปไตยเลยทีเดียว พวกนี้มักเป็นคนรากหญ้า คนที่ปกติมีโอกาสทางเศรษฐกิจน้อย ถ้าเป็นนักวิชาการก็มักเป็นพวกหัวก้าวหน้า ไม่ชอบความเหลื่อมล้ำ เป็นนักประชาธิปไตย ถ้าเป็นนักการเมือง ข้าราชการ หรือนักธุรกิจ ก็จะเป็นพวกที่ได้รับการนับเป็นพวกจากผู้มีอำนาจ หรือกลุ่มที่ได้ประโยชน์จากระบบ “พรรคพวกนิยม”

ส่วนสาเหตุที่เห็นต่าง หลายคนในกลุ่มแรกคงอยากตอบอย่างมั่นใจด้วยกำปั้นทุบดินเลยว่า ก็เพราะเงิน เพราะโง่ เพราะโดนหลอกนะสิ ขณะที่กลุ่มหลัง ก็มองกลุ่มแรกว่า เพราะผลประโยชน์ เพราะความได้เปรียบอย่างไม่ยุติธรรม จึงพยายามรักษาสถานะ “อำมาตย์” ไว้ มันง่ายๆ อย่างนี้เลยหรือ ประเทศจึงแยกเป็นสองเสี่ยง

ผมไม่ใช่ปราชญ์ ไม่ใช่นักคิด ไม่ใช่นักรัฐศาสตร์ ทั้งไม่ใช่นักวิชาการ แต่จะขอเสนอทฤษฎีความเป็นมาของความขัดแย้งนี้ โดยจะใช้หลักเศรษฐศาสตร์นำการวิเคราะห์ เพื่อหวังว่าถ้ามีการนำไปวิเคราะห์วิจัยต่อ จนเกิดความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง จะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาอย่างถาวรได้

ที่มาภาพ : Reuters
ที่มาภาพ : Reuters
ผมขอมองย้อนหลังไป 13 ปี เมื่อต้นปี 2544 ที่พรรคไทยรักไทยชนะเลือกตั้ง และ พ.ต.ท. ดร.ทักษิณ ชินวัตร ได้เป็นนายกรัฐมนตรี เพื่อดูพัฒนาการของความแตกแยก และพยายามเข้าใจคำว่า “ระบอบทักษิณ”

ก่อนหน้านั้น ความแตกต่าง แตกแยก ย่อมมีอยู่บ้างแล้ว แต่อาจไม่ชัดเจน ไม่เป็นรูปธรรม ไม่รุนแรงพอที่จะเป็นปัญหาใหญ่ ผมขอแบ่งกลุ่มประชาชนออกเป็นกลุ่มตามมิติ 3 ด้าน ดังนี้

1) มิติความเหลื่อมล้ำ คือกลุ่มที่มีรายได้และความมั่งคั่งสูง กับ กลุ่มยากจน ความจริงถ้าวัดตามความยากจน ตลอด 25 ปีที่ผ่านมา คนไทยที่ยังอยู่ภายใต้นิยามยากจนตามสหประชาชาติลดลงอย่างมาก จากกว่าร้อยละ 42 เหลือเพียงร้อยละ 9.6 แต่ด้านความเหลื่อมล้ำ ที่วัดจากค่าสัมประสิทธิ์ Gini ดีขึ้นเพียงเล็กน้อย แต่ความเหลื่อมล้ำที่วัดจากรายได้ของคน ที่รวยร้อยละ 20 บนสุด กับ ร้อยละ 20 ล่างสุด แตกต่างกันถึง 13 เท่า คนร้อยละ 1 แรก มีรายได้ถึง 13% ของรายได้ทั้งหมด ตัวเลขเหล่านี้แสดงความเหลื่อมล้ำที่สูงมาก ถึงแม้จะคงที่ หรือไม่เลวลง แต่เมื่อรวมกับการเปลี่ยนแปลงด้านอื่นๆ แล้วทำให้เกิดปัญหา ดังผมจะวิเคราะห์ต่อไป

2) มิติด้านถิ่นที่อยู่ (Urbanization) ถ้าสังเกตทั่ว ประเทศ จะเห็นการขยายตัวและการอพยพเข้าสู่เขตเมืองอย่างมากในทุกๆ จังหวัดทั่วประเทศ ตามลักษณะเศรษฐกิจที่ปรับตัวจากเกษตรกรรมสู่อุตสาหกรรม การพาณิชย์ และบริการ ต่อเนื่องมาตั้งแต่ก่อนวิกฤติต้มยำกุ้ง เมื่อปี 2540 เรามีแรงงานภาคเกษตรอยู่ 14.5 ล้านคนจาก 30 ล้านคน คิดเป็นเกือบครึ่ง แต่ปัจจุบันเราก็ยังคงมี 14.5 ล้านคน จาก 39 ล้านคน ลดลงเหลือแค่ 37% แถมอายุเฉลี่ยเกษตรกรเพิ่มจาก 42 ปี เป็น 50 ปี ใน 16 ปี ซึ่งหมายถึงว่า คนรุ่นใหม่แทบไม่ได้เป็นเกษตรกรเลย เข้าไปเรียนในเมืองแล้วไม่ยอมกลับชนบท กลายเป็นแรงงานไร้ทักษะ หรือทำงานอิสระนอกระบบอยู่ในเมือง

3) มิติที่สาม คือ มิติด้านการศึกษา ในประเทศเรา ความเหลื่อมล้ำในด้านโอกาสที่จะได้รับการศึกษาในคุณภาพใกล้เคียงกันมีสูงมาก มานานแล้ว จริงอยู่ คนได้รับการศึกษาเป็นจำนวนมากขึ้น อัตราการอ่านออกเขียนได้ (literacy rate) เราสูงถึง 92.6% แต่คุณภาพเป็นอีกเรื่องหนึ่ง เราก็รู้ว่าระบบการศึกษาของเราค่อนข้างล้มเหลว ไม่ตอบโจทย์ เคยมีคนพูดว่า “ในแง่การปกครอง คนได้รับการศึกษาบ้าง สร้างปัญหามากกว่าคนไร้การศึกษา”

ถึงตอนนี้ พอผมแยกคนออกเป็น 3 มิติ มิติละ 2 กลุ่ม ก็คงพอจะมองออกนะครับ ว่าคู่กรณีของเราปัจจุบันนั้น “ไผเป็นไผ” พวกไหนใส่เสื้อสีอะไร ความจริงนั้น ความแตกแยกเริ่มต้นเกิดจากวิวัฒนาการทางเศรษฐกิจและสังคมอยู่แล้ว และเป็นกระบวนการวิวัฒนาการธรรมดาที่เกิดขึ้นทุกแห่งตลอดเวลา มี “ทักษิณหรือไม่มีทักษิณ” ก็ต้องมีการเปลี่ยนแปลงอยู่แล้ว ตามกระบวนการเวทีต่อรองที่จะเกิดขึ้น
แล้ว “ระบอบทักษิณ” คืออะไร มาเกี่ยวข้องกับมิติเหล่านี้ได้อย่างไร ก่อให้เกิดความแตกแยกได้อย่างไร อะไรเป็นผลงาน อะไรเป็นข้อผิดพลาด แล้วเราควรจะปรับ จะรับ จะเดินหน้ากันต่ออย่างไร ไม่ให้เกิดระเบิด เกิดสงครามกลางเมือง เกิดหลายทศวรรษที่หายไปของประเทศ

ผมคงต้องขอยกยอดไปต่อตอนที่ 2 วันนี้คงขอแค่ฉายหนังตัวอย่างไปก่อน เรื่องอย่างนี้ต้องว่ากันอย่างละเอียด

..............................................................

“ข้อเสนอต่อประเทศไทย” (ตอนที่ 2) : ขวัญใจรากหญ้า

วันจันทร์ที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2556

การปฏิวัติประชาชาติประชาธิปไตย สงครามปฏิวัติ ตอนที่ ๒

อย่างที่เกริ่นไว้ในตอนแรก กระผมเป็นเพียงผู้ส่งสารมายังพี่น้องคนไทยที่เห็นว่าประชาชนมีค่าที่สุด ในประเทศนี้ เท่านั้น

ผู้เขียนที่แท้จริง ท่านกรุณาให้ผมนำมาลงให้พี่น้องได้อ่านทบทวนกัน เพื่อเป็นแนวทางการต่อสู้ที่แท้จริงต่อไป ซึ่งอาจจะเป็นประโยชน์บ้างไม่มากก็น้อย ถึงแนวทางที่ท่านผู้เขียนได้เรียบเรียงเอาไว้
เรา ท่าน จะอ่านเพื่อศึกษา อ่านเพื่อรู้ทันคน อ่านเพื่อเป็นแนวทางการปฏิบัติ ทุกอย่างเกิดประโยชน์ทั้งนั้นครับ
ขอเพียงท่านได้อ่านแค่นั้นเองก็พอครับ
ไม่ว่ากันถ้าท่านอาจจะไม่เห็นด้วย
ไม่ว่ากันถ้าท่านคิดว่ามันไม่มีประโยชน์
ไม่ว่ากันถ้าท่านคิดว่าข้อเขียนชั้นนี้ โบราณคร่ำครึ ไม่ทันสมัยกับเหตุการณ์
เพราะเราอยู่ในโลกของประชาธิปไตย ที่ "ความเห็นต่างคือความงดงาม"

กระผม ต้องกราบขอบพระคุณท่านผู้เขียนไว้ณ.ที่นี้ด้วย ครับ

...........................................

ประมวล วงษ์พันธ์

ตอนที่ ๒

การปฏิวัติประชาชาติประชาธิปไตย

สงครามปฏิวัติ

ก่อนอื่นต้องมีความเข้าใจก่อนว่า “สงคราม” ที่จะกล่าวถึงต่อไปนี้ หมายถึง “สงครามปฏิวัติ” และเป็นสงครามแห่ง “การปฏิวัติประชาชาติประชาธิปไตย” หรือ “การปฏิวัติประชาธิปไตยชนชั้นนายทุน” เท่านั้น ที่จะเกิดขึ้นภายใต้เงื่อนไข ๓ ประการคือ

(๑) หลังจากการต่อสู้แบบสันติวิธีของประชาชน ไม่สามารถทำได้อีกต่อไปแล้ว เนื่องจากพวกเผด็จการทำการกวาดล้างทำลายขบวนการประชาชนอย่างรุนแรง จนองค์การนำของฝ่ายประชาชนที่มีมาแต่เดิมก็ถูกทำลายลงสิ้น

(๒) เกิดองค์การนำที่ปฏิวัติขึ้นมา และ

(๓)ในทางสากล ประเทศจักรพรรดินิยมก่อสงครามเย็นครั้งใหม่สำแดงอิทธิพลโดยตรงเข้ามาแทรกแซง สนับสนุนพวกเผด็จการในประเทศไทย

ปัจจุบันเงื่อนไข ๓ ประการนี้ยังไม่มี แม้ว่าในเงื่อนไขประการที่ ๑ ฝ่ายเผด็จการจะได้ทำการปราบปรามฝ่ายประชาชนไปแล้วขั้นหนึ่งแต่ด้วยข้อจำกัด ภายในของตัวพวกเขาเองและแรงกดดันจากภายนอก มันจึงไม่อาจทำการปราบปรามประชาชนรุนแรงต่อไปได้ แม้ว่าพวกเขาต้องการจะทำเช่นนั้นก็ตาม ในประการที่ ๒ องค์การนำที่ปฏิวัติก็ยังไม่ปรากฏตัวขึ้น ส่วนในประการที่ ๓ เกิดวิกฤติเศรษฐกิจในโลกตะวันตก จักรพรรดินิยมไม่อยู่ในฐานะที่จะก่อสงครามใหญ่ขึ้นอีกได้ แม้ว่าจะประกาศจะย้ายจุดเน้นยุทธศาสตร์จากย่านอ่าวเปอร์เซีย มาเป็นย่านเอเชีย-แปซิฟิกก็ตาม แต่ก็ยังไม่มีการปฏิบัติใด ๆ ที่เป็นจริงออกมาอย่างชัดเจน การประกาศเคลื่อนย้ายยุทธศาสตร์ดังกล่าวจึงเป็นแค่ข้ออ้างที่จะปลดภาระที่ ต้องแบกทั้งโลกเอาไว้บนบ่ามาตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ ๒ เท่านั้นเอง กรณีพิพาทเกาะขวังเหยียนระหว่างฟิลิปปินส์กับจีน เป็นการพิสูจน์ศักยภาพและความตั้งใจแท้จริงของสหรัฐอเมริกา

การปฏิวัติ

จะไม่อธิบายให้มากมายเกี่ยวกับคำว่า “ปฏิวัติ” ผู้สนใจต้องไปศึกษาเพิ่มเติมในเรื่อง ปรัชญาวิทยาศาสตร์ (ทฤษฎีวัตถุนิยมวิภาษ) และทฤษฎีวิวัฒนาการสังคม ถ้าไม่มีพื้นฐานใน ๒ เรื่องนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความเข้าใจของผู้อ่านเรื่องวิวัฒนาการสังคม ที่มี “พลังการผลิต” และ “ความสัมพันธ์ทางการผลิต” เป็นตัวผลักดัน ให้สังคมก้าวหน้าไป ตามขั้นการพัฒนาสังคมยุคต่าง ๆ (สังคมชุมชนบุพกาล สังคมทาส สังคมศักดินา สังคมทุน และสังคมชุมชน) การเปลี่ยนแปลงจากยุคหนึ่งไปสู่อีกยุคหนึ่งนั้นเป็นการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ ที่รุนแรง ก็คือ “การปฏิวัติ” จากนั้นผู้ศึกษาจึงจะทำความเข้าใจถึง กลไกที่มนุษย์ทำการกดขี่ขูดรีดเอารัดเอาเปรียบมนุษย์ด้วยกันเองว่ามันเป็น อย่างไร การกระทำขิงกลไกนี้ก็คือ มูลเหตุเพียงประการเดียวของการปฏิวัติเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีกว่าเดิม โดยการปรับโครงสร้างความสัมพันธ์ทางการผลิต (เปลี่ยนระบอบอำนาจรัฐ– จากรวมศูนย์ไปสู่กระจาย, จากเผด็จการไปสู่ประชาธิปไตย) และปลดปล่อยพลังการผลิต (เพิ่มความสามารถทางการผลิตและกระจายโภคทรัพย์ของสังคมที่เกิดขึ้นให้ทั่ว ถึง) การเปลี่ยนแปลงทางสังคมใดที่ไม่ได้มาจากมูลเหตุนี้ ล้วนแล้วแต่ไม่อาจเรียกว่าเป็นการปฏิวัติได้ทั้งนั้น

การปฏิวัติคือการเปลี่ยนแปลงของสังคมที่มีลักษณะ เป็นการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างอย่างฉับพลัน รุนแรง แบบ โค่นเก่าแล้วสร้างใหม่ขึ้นมาแทนทั้งหมด ..... ในที่นี้จะไม่อธิบายให้ยืดยาวไปกว่านี้ ซึ่งผู้ศึกษาจะต้องไปทำความเข้าใจเพิ่มเติมกันเอง และต่อไปนี้ผู้เขียนจะอนุมานว่า ผู้อ่านน่าจะมีความเข้าใจในเรื่องนี้แล้ว

การปฏิวัติประชาชาติประชาธิปไตย

อย่าเพิ่งตกใจกับคำว่า “การปฏิวัติประชาชาติประชาธิปไตย” เป็นคำเดียวกับที่ สนธิ ลิ้มทองกุล พธม. ประกาศออกมา เมื่อไม่นานมานี้ แต่ก็ชี้ให้เห็นชัดว่านายสนธิ ไม่มีความรู้ความเข้าใจในคำนี้แต่อย่างใด เพียงแต่ใช้คำพูดให้ดูขลังไปเท่านั้น

“การปฏิวัติประชาชาติประชาธิปไตย” มีความหมายตรงตัว ก็คือ

“การปฏิวัติประชาชาติ” หมายถึง การปลดแอกประเทศจากการครอบงำครอบครองของต่างชาติ และ “การปฏิวัติประชาธิปไตย” หมายถึง การปฏิวัติโค่นล้มระบอบเผด็จการ (ระบอบอำนาจรวมศูนย์) และสร้างระบอบประชาธิปไตย (อำนาจกระจาย) ขึ้นมา

“การปฏิวัติประชาชาติประชาธิปไตย” เป็นการปฏิวัติของประชาชนผู้รักชาติรักประชาธิปไตย ที่เกิดขึ้นในประเทศกึ่งเมืองขึ้นกึ่งศักดินา เป็นการปฏิวัติของชนชั้นนายทุน โดยเฉพาะ ผู้ประกอบการอิสระทุกชนิด เช่น ผู้ผลิตขนาดกลางขนาดเล็ก พ่อค้าแม่ค้า แรงงานรับจ้างอิสระ แท็กซี่ มอเตอร์ไซค์รับจ้าง ฯลฯ เพื่อปลดแอกการกดขี่ขูดรีดของพวกศักดินานิยมและทุนนิยมขุนนาง ที่ทำมาหากินขูดรีดจากชนชั้นนายทุนน้อยและนายทุนชาติ ผ่าน ค่าเช่า ดอกเบี้ย และตลาดผูกขาด ดังนั้นในการปฏิวัตินี้ ชาวนา และกรรมกรจึงมีส่วนร่วมน้อย เช่นเดียวกับการปฏิวัติอเมริกา การปฏิวัติฝรั่งเศส หรือ การปฏิวัติซินไห้ ของจีน เป็นต้น

ชาวนา แม้จะเป็นชนชั้นที่อยู่ตรงข้ามกับศักดินา แต่ก็เป็นสวยหนึ่งชองระบอบศักดินานิยม ชาวนาจึงมีวิธีคิดและค่านิยมเช่นเดียวกับพวกศักดินา คือยึดมั่นอยู่กับปัจจัยการผลิตดั้งเดิมของพวกตน นั่นคือ “ที่ดิน” “ที่ทำกิน” และด้วยวิธีคิดและระบบคุณค่าศักดินา ที่ตัดสินใจผลิตตามประเพณีและฝากความสำเร็จของการผลิตไว้กับความเมตตากรุณา จากเทพเจ้าและฟ้ากับฝนโดยไม่สนใจเรื่องต้นทุนการผลิต ชาวนาจึงต้องล้มละลายลง จากความล้มเหลวในวิถีการผลิตแบบทุนนิยม ที่ยึดถือวิธีคิด “ต้นทุน-กำไร” ซึ่งนายทุนจะตัดสินใจผลิตตามต้นทุน และภาวะตลาด

ส่วนกรรมกรในระบอบทุนนิยมขุนนาง ไม่มีอิสระและความสามารถในการรวมกำลังกันถูกจำกัดลง กำลังของพวกเขาถูกแยกสลายอยู่ตลอดเวลา บางส่วนก็ยังถูกพวกอำมาตย์นำมาใช้สนับสนุนฐานอำนาจของตน นอกจากนี้ กรรมกรส่วนนี้แม้ว่าจะเป็นชนชั้นร่วมกับนายทุนในระบอบทุนนิยมก็ไม่เห็น ประโยชน์อะไรที่จะได้รับจากการปฏิวัติประชาธิปไตยชนชั้นนายทุน เว้นเสียแต่ว่าฝ่ายปฏิวัติจะสามารถมีข้อเสนอที่สอดคล้องกับความเรียกร้อง ต้องการของพวกเขา

สำหรับประเทศไทยนั้นเข้าสู่ การปฏิวัติประชาชาติประชาธิปไตย หรือการ ปฏิวัติประชาธิปไตยชนชั้นนายทุน มาตั้งนานแล้ว ตั้งแต่ก่อน พ.ศ. ๒๔๗๕ หลังจากนั้น การนำของการปฏิวัติ โลเล แยกมิตรแยกศัตรูไม่ออก ประกอบกับซากเดนลัทธิศักดินานิยมยังคงมีอิทธิพลสูง ปรีดี ผู้นำการปฏิวัติ ก็มีสภาพไม่ต่างอะไรกับ ทักษิณในปัจจุบัน จนกระแสสูงของการปฏิวัตินี้ต้องตกลงไป และพวกศักดินาได้กลับฟื้นขึ้นมามีอำนาจอีกตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๙๐ จนกระทั่งปี พ.ศ. ๒๕๑๖ การปฏิวัติก็มีกระแสสูงขึ้นอีก จนต้องถูกปราบปรามลงในอีก ๓ ปีต่อมา

พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย

สำหรับบทบาทของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) มีส่วนร่วมในกระแสการปฏิวัติประชาชาติประชาธิปไตยมา ตั้งแต่ก่อนปี พ.ศ. ๒๔๗๕ และปฏิบัติงานอย่างเงียบ ๆ เรื่อยมาจนกระทั่งเมื่อเกิดสงครามในอินโดจีนพคท. จึงถูกผลักดันให้ดำเนินการต่อสู้ด้วยอาวุธ ทั้งโดยการปราบปรามรุนแรงของรัฐบาลสฤษฏ์ และกระแสสากลต่อต้านจักรพรรดินิยมในอินโดจีน ทั้ง ๆ ที่สภาพทางอัตวิสัยของตนเองก็ยังไม่พร้อมเต็มที่ จนแตกเสียงปืน (รบครั้งแรก) ใน พ.ศ. ๒๕๐๘ สภาพเช่นนี้ทำให้ พคท. ต้องพึ่งพาการสนับสนุนจากภายนอกเป็นด้านหลักทั้งทางการเมืองและการทหาร เมื่อสงครามในอินโดจีนสิ้นสุดลง การช่วยเหลือจากภายนอกจึงต้องยุติลง ปัญหาความไม่พร้อมทางอัตวิสัยที่มีมาแต่เดิม และการนำที่ถูกครอบงำโดยลัทธิฉวยโอกาสเอียงซ้ายที่หวังแต่การพึ่งพาจีนจึง ส่งผลทำให้ พคท. ต้องยุติการปฏิบัติงานปฏิวัติลงไปในที่สุด เหลือไว้แต่หลักความคิดและจิตใจที่คัดค้านต่อต้านระบอบสังคมแห่งการกดขี่ขูด รีด ผู้มีส่วนร่วมกับ พคท. ก็แปลงสภาพเข้าสู่ความเป็นจริงของกฎวิวัฒนาการสังคม และธาตุแท้ทางชนชั้นของตน บ้างก็กลับไปเป็นชาวนา บ้างก็กลายไปเป็นศักดินา หรืออำมาตย์ในยุคใหม่ บ้างก็กลับไปเป็นนายทุน จึงไม่แปลกอะไรที่ตอนนี้จึงเกิดพวกคอมมิวนิสต์ ร.อ. ขึ้น ซึ่งกลายเป็นเรื่องน่าตลกขบขันทางประวัติศาสตร์อับอายขายหน้าไปทั่วทั้งสากล แต่ถึงอย่างไรเรื่องเหลวไหลเช่นนี้มันก็ได้เกิดขึ้นแล้ว คนเหล่านี้ไม่เข้าใจหรือมีเจตนาจะไม่เข้าใจว่า ระบอบที่กดขี่ขูดรีดและขัดขวางชาวไทยไม่ให้บรรลุการปลดปล่อยประชาธิปไตย ก็ยังเป็น “ขุนเขาสามลูก” อยู่เหมือนเดิม อันได้แก่ จักรพรรดินิยม ศักดินานิยม และทุนนิยมขุนนาง เพียงแต่รูปแบบของมันได้พัฒนาเปลี่ยนแปลงไปบ้างตามยุคสมัย แต่เนื้อแท้ของมันก็ยังคงเหมือนเดิม

คำกล่าวที่ว่า “ทุนสามานย์” แท้จริงแล้ว ทุนนิยมทุกชนิดต่างก็สามานย์ทั้งสิ้นเพราะมันล้วนแล้วแต่ขูดรีดทั้งนั้น จะต่างกันก็ตรงที่อันไหนมันขูดรีดหนักหน่วงกว่ากันเท่านั้น ในบรรดาทุนนิยมทั้งหลาย ทุนจักรพรรดินิยม และทุนนิยมขุนนาง หรือทุนผูกขาดนั้นขูดรีดที่สุด หากการขูดรีดเป็นความสามานย์แล้ว ทุนนิยมขุนนางหรือทุนนิยมผูกขาดก็สามานย์ที่สุด ไม่ใช่ทุนนิยมแข่งขันเสรี ไม่ต้องกล่าวถึง ศักดินานิยมที่กดขี่ขูดรีดทารุณยิ่งกว่า ทุนนิยมใด ๆ มาก เมื่อรวมกันเข้าทั้งจักรพรรดินิยม ศักดินานิยม และทุนนิยมขุนนาง จึงเป็นสุดยอดของความสามานย์ เลยไม่เข้าใจว่า จะมีคอมมิวนิสต์ที่ไหนในโลกจะไปยืนอยู่ข้างและพิทักษ์ปกป้อง ศัตรูร้ายทางชนชั้นเหล่านี้ได้อย่างไร โดยไม่กลัวว่ากงล้อประวัติศาสตร์จะบดทับเอาเข้าสักวันเว้นแต่มันจะเป็น คอมมิวนิสต์ปลอม ที่แผงตัวอยู่ในพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยมาเป็นเวลายาวนาน หรือไม่ก็เป็นผู้ทรยศต่อเจตจำนงของวีรชนปฏิวัติทั้งหลายที่ได้เสียสละไปใน สงครามโค่นล้มระบอบเผด็จการกดขี่ขูดรีด

แม้แต่ประเทศจีน แม้ได้ผ่านการปฏิวัติประชาชนที่นำโดยพรรคคอมมิวนิสต์จีนมาแล้ว ก็ยังไม่อาจก้าวพ้นกฎวิวัฒนาการสังคม ต้องหันมาปฏิรูปปลดปล่อยพลังการผลิตโดยการคลีคลายปัญหาความสัมพันธ์ทางการ ผลิต ขจัดซากเดนศักดินาและปฏิกิริยาในพรรค ได้แก่ ลัทธิการรวมศูนย์ ลัทธิบูชาบุคคล ลัทธิคัมภีร์ ลัทธิจิตนิยม ลัทธิเอียงซ้าย ลัทธิฉวยโอกาสรูปแบบต่าง ๆและต้องแก้ปัญหาสำคัญทางทฤษฎี ที่ว่า “สังคมนิยมไม่ใช่ความยากจน แต่เป็นความมั่งคั่ง” และความคิดว่าด้วยเรื่องตลาด โดยชี้ว่า แท้จริงแล้วตัว ตลาด เองนั้นเป็นกลไกทางเศรษฐกิจ ในการแลกเปลี่ยนโภคทรัพย์ของสังคมมาตั้งแต่ยุคบรรพกาล ตัวของมันเองไม่ใช่เครื่องมือของการขูดรีด แต่การขูดรีดเกิดขึ้นจากการใช้เล่ห์กระเท่ของนายทุนทำการขูดรีดโดยการเข้าไป ควบคุมดัดแปลง อุปาทาน และอุปสงค์ธรรมชาติในตลาดผ่านระบบมูลค่าแลกเปลี่ยนโดยลัทธิมาร์กซชี้ว่าเครื่องมือของการกดขี่ขูดรีดก็คือ ระบอบกรรมสิทธิ์ ซึ่งหมายถึงการเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิตหลักของสังคม ระบอบกรรมสิทธิ์ไม่ว่าจะเป็นเอกชน หรือ สาธารณะ ก็ล้วนแล้วแต่ขูดรีดเอาแรงงานส่วนเกินของผู้ผลิตไปทั้งสิ้น แต่ระบอบกรรมสิทธิ์สาธารณะ มีความโน้มเอียงขูดรีดน้อยกว่า ระบอบกรรมสิทธิ์เอกชน แม้ว่าจะสถาปนาระบอบสังคมนิยมขึ้นมาแล้ว ระบอบกรรมสิทธิ์ก็ยังดำรงอยู่ทั้ง ๒ ด้าน คือ ระบอบกรรมสิทธิ์เอกชนและสาธารณะ แต่ในระบอบสังคมนิยมมีระบอบกรรมสาธารณะเป็นด้านหลัก ทั้งนี้เนื่องมาจากความจำเป็นในการจัดสรรทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดมาสนอง ต่อพลังการผลิตที่ยังไม่ก้าวหน้าพอ จนกระทั่งพลังการผลิตชองมนุษยชาติพัฒนาไปถึงจุด “ทุกคนได้รับตามต้องการ” แล้ว เมื่อนั้นความจำเป็นของระบอบกรรมสิทธิ์ก็จะหมดไป การขูดรีดก็จะหมดไปด้วย นั่นหมายถึงการสิ้นสุดลงของรัฐและสังคมมนุษย์ก็จะก้าวสาสังคมคอมมิวนิสม์ข้อ สรุปนี้เป็นการแก้ปัญหาสำคัญทางทฤษฎีลัทธิมาร์กซ-เลนินโดยรากฐาน เปิดทางให้กับ “เศรษฐกิจแบบตลาด” ขึ้น ประเทศจีนจึงสามารถดำเนินการปฏิรูป แก้ปมเงื่อนในระบอบความสัมพันธ์ทางการผลิต และปลดปล่อยพลังการผลิตทุนนิยมออกมาได้ เกิดการก้าวกระโดดทางเศรษฐกิจของจีนอย่างที่ไม่เคยปรากฏที่ไหนมาก่อนในโลก

ดังนั้นไม่ใช่แต่ระบอบทุนนิยมนั้นขูดรีด ในระบอบสังคมนิยมอันเป็นบั้นปลายของระบอบทุนนิยม การขูดรีดก็ยังมีอยู่ ใครที่เห็นว่า ทุนนิยม นั้นขูดรีด ก็ต้องรู้ว่า ทุนนิยมมันขูดรีดอย่างไร สรรพสิ่งล้วนมี ๒ ด้านตามกฎวิภาษวิธี ทุนนิยมใช่ว่าจะขูดรีดโดยความสัมพันธ์ทางการผลิตเพียงด้านเดียว ในอีกด้านหนึ่ง ทุนนิยม ก็ได้ปลดปล่อยพลังการผลิตให้เป็นอุตสาหกรรม ที่ก้าวหน้า สามารถแบ่งสรรกระจายโภคทรัพย์ของสังคมได้ดีกว่า มากกว่า และกวางขวางกว่าพลังการผลิตเกษตรกรรมของศักดินานิยม ระบอบสังคมนิยมไม่ใช่ความแปลกแยกออกไปต่างหาก แต่เป็นพัฒนาการด้านหนึ่งของลัทธิทุนนิยม ในอีกทางหนึ่งทุนนิยมที่เน้นระบอบกรรมสิทธิ์เอกชนเป็นด้านหลัก ก็จะพัฒนาไปเป็น จักรพรรดินิยม ดังนั้น สังคมนิยม และ จักรพรรดินิยม จึ่งเป็นทางแยก ๒ ทางของพัฒนาการสุดท้ายของระบอบทุนนิยมซึ่งมีปัจจัยชี้ขาดอยู่ที่ ลักษณะทั้ง ๒ ด้านของระบอบกรรมสิทธิ์หลักของสังคมนั้น ๆ

มีคนที่อ้างว่าตนเองเป็น นักลัทธิมาร์กซจำนวนหนึ่ง ไม่ใช้วิภาษวิธี แต่กลับไปใช้อภิปรัชญา มอง ทุนนิยม เห็นแต่ด้านร้ายด้านเดียว ไม่เห็นด้านที่เป็นคุณ นักลัทธิมาร์กซพวกนี้ความจริงแล้วจึงกลายเป็นนักลัทธิอนาธิปไตยไป อันด้วยมาจาก ทรรศนะอภิปรัชญา จิตนิยมของพวกเขานั่นเองพวกเขาแยก สังคมนิยม ออกมาจาก ทุนนิยม และปฏิเสธระบอบกรรมสิทธิ์เอกชน ความจริงแล้ว ภายในระบอบกรรมสิทธิ์ ประกอบด้วย ๒ ด้านที่ตรงกันข้ามกัน คือ เอกชน และสาธารณะ กล่าวคือ กรรมสิทธิ์ของปัจเจกชน กับ กรรมสิทธิ์ของรัฐ ตามปรัชญาวัตถุนิยมวิภาษระบอบกรรมสิทธ์นี้จะดำรงอยู่โดด ๆ ไม่ได้ โดยมีปัจจัยภายในอันเดียว ต้องมีองค์ประกอบภายในเป็น ๒ ด้านที่ตรงกันข้ามกันเสมอ แต่ว่ามันจะเป็นอย่างไรนั้นขึ้นอยู่กับว่าอะไรเป็นด้านหลักของความขัดแย้งใน เวลานั้น โดยจะไม่มีอีกด้านดำรงอยู่ด้วยไม่ได้

อย่างไรก็ตามความเข้าใจผิดเช่นนี้ไม่ได้เกิดเฉพาะในเมืองไทย แต่เกิดขึ้นทั่วโลก ทรรศนะผิดพลาดเช่นนี้นำไปสู่ความล้มเหลวของระบอบสังคมนิยมดั้งเดิม รวมไปถึง การล่มสลายของสหภาพโซเวียต โดยเชื่อไปว่า ไม่มีระบอบกรรมสิทธิ์เอกชนแล้ว ก็จะกลายเป็นสังคมนิยม แต่ความจริงกลับกลายเป็นว่า ระบอบกรรมสิทธิ์ด้านเดียวกลายเป็นอุปสรรคของการกระจายโภคทรัพย์แห่งสังคมให้ ทั่วถึง และไม่ช่วยส่งเสริมการพัฒนาพลังการผลิตที่ล้ำเลิศของสังคมนิยม รัฐทำการขูดรีดแรงงานส่วนเกินของประชาชนไป สนองความต้องการของชนชันปกครองเป็นพิเศษ สร้างกองทัพ และก่อสงคราม ไม่สิ้นสุด

สรุปว่า ณ ระยะประวัติศาสตร์ตอนนี้ ประเทศไทยก็กำลังอยู่ในกระบวนการและกระแสปฏิวัติประชาธิปไตยชนชั้นนายทุน ตราบจนกระทั่งซากเดนลัทธิศักดินานิยมจะต้องถูกขจัดออกไป การปฏิวัติจึงจะบรรลุเป้าหมาย ที่กล่าวมาการปฏิวัติที่เกิดขึ้นบนโลกมิได้เกิดขึ้นจากเจตจำนงเฉพาะของคน กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่แท้จริงแล้วเป็นเจตจำนงร่วมของสังคมแต่ละสังคม และเจตจำนงเฉพาะของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งนั้นไปสอดคล้องกับเจตจำนงใหญ่ของ สังคมนั่นเอง ซึ่งสามารถกล่าวได้อย่างจิตนิยมอีกอย่างหนึ่งว่า “การปฏิวัติเป็นเจตจำนงของสวรรค์” โดยแท้จริง การปฏิวัติประชาชาติประชาธิปไตยไทย ก็เป็นอย่างนี้

อำมาตยาธิปไตย

คำว่าระบอบ “อำมาตยาธิปไตย” (ผู้เขียนเชื่อว่า ผู้นำเสนอคำนี้คนแรก คือ คุณบั๊กบันนี่ ในเว็บฟ้าใหม่ ซึ่งปัจจุบันถูกปิดไปแล้ว) เป็นคำที่ประดิษฐ์ขึ้นหลังรัฐประหาร ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ เป็นคำที่สรุปหมายถึง ซากเดนลัทธิศักดินานิยม ร่วมไปกับทุนนิยมขุนนาง (กลุ่มทุนศักดินาที่แปลงมาเป็นทุนผูกขาด) คำว่า “กึ่งศักดินา” จึงมีความหมาย ในทางรูปธรรมที่ “ศักดินานิยม” พัฒนาไปเป็น “ทุนนิยมขุนนาง” คำว่า “ซากเดนศักดินานิยม” หมายถึงสภาพทางนามธรรม ของระบอบศักดินา ได้แก่ระบบคุณค่า ระบบวิธีคิดความเชื่อ วิถีการดำรงชีวิตแบบเกษตรกรรม และ วัฒนธรรมเจ้าขุนมูลนายฯลฯ กล่าวง่าย ๆ ก็คือ การยึดติดกับ “ที่ดิน” การทำไรทำนา การพออยู่พอกิน ความเชื่อเรื่องบุญกรรม การเวียนว่ายตายเกิด ภพนี้ชาติหน้า เชื่อไสยศาสตร์ปฏิเสธวิทยาศาสตร์เชิดชู“คุณธรรม”มากกว่า “ความสามารถ” นับถือลำดับชั้นทางสังคม ติดระบบอุปถัมภ์ ชื่นชม “ศักดินานิยม”รังเกียจเกลียดชัง “ทุนนิยม” เนื่องจาก ระบอบทุนนิยม เป็นศัตรูตามธรรมชาติที่โค่นทำลายศักดินานิยมพวกศักดินาอำมาตย์จึงสามารถ ประสานเสียงร่วมพวกฝ่ายซ้ายเดิมบางส่วนที่เป็นพวก “ศักดินาแดง” ซึ่งพวกเขายึดติดจุดยืนและวิธีคิดชาวนาไม่ยอมรับความผิดพลาดเอียงซ้ายของพวก เขาที่นำไปสู่การสลายลงของ พคท.แล้วยังหลงไปสามัคคีกับศักดินาศัตรูทางชนชั้นที่แท้จริงของตนอย่างไม่ รู้สึกตะขิดตะขวงใจ อันนี้ชี้ชัดถึงธาตุแท้ทางชนชั้นของพวกเขาถ้าไม่เป็น “ชาวนา” ก็ย่อมต้องเป็น “ศักดินา”

ชาวนา กับ ศักดินา เป็นชนชั้นตรงกันข้ามกันในระบอบศักดินา ทั้ง ๒ ชนชั้น ร่วมกันในการผลิตแต่ขัดกันในการแบ่งผลผลิต เพื่อให้อยู่ร่วมกันได้ทั้งคู่จึงมีทรรศนะและระบบคุณค่าแบบเดียวกัน ทั้งคู่จึงต่างเกลียดชัง “นายทุน” และรังเกียจ “กรรมกร” ซึ่งเป็นชนชั้นตรงข้ามกันในระบอบทุนนิยม ทั้ง ๒ ชนชั้น ร่วมกันในการผลิตแต่ขัดกันในการแบ่งผลผลิต ทั้งคู่จึงมีทรรศนะและระบบคุณค่าเดียวกัน นายทุนมุ่งหากำไร ส่วนกรรมกร มุ่งหาประสิทธิภาพ (เพื่อให้ตนเองเหนื่อยน้อยลง และนายทุนก็มีกำไรเพิ่ม) ในระบอบศักดินาที่มีพลังการผลิตแบบเกษตรกรรม ชนชั้นนายทุน เป็นชนชั้นที่อยู่ นอกความสัมพันธ์ทางการผลิตหลัก ส่วนกรรมกร ก็คือ ชาวนาที่ล้มละลาย สิ้นสภาพเป็นเลกไพร่ สิ้นไร้ไม้ตอกไม่มีพระยาเลี้ยง ต้องไปหันรับใช้นายทุน การมุ่งหากำไรและประสิทธิภาพนี้จึงเป็นตัวขับดันให้มีการพัฒนาพลังการผลิต ทุนนิยม ซึ่งก็คือ การผลิตแบบอุตสาหกรรมนั่นเอง

สำหรับผู้เขียนและผู้อ่านจำนวนมาก ก็มีธาตุแท้ทางชนชั้นดั้งเดิมของตนเอง ร่วมกับ ยอร์จวอชิงตัน,โธมัสเจฟเฟอร์สัน, เบนจามินแฟรงคลิน,แม๊กซิมิเลียนโรบสเปียร์,คาร์ล มาร์กซ, เฟรดริก เองเกลส์,วี.ไอ. เลนิน, เหมาเจ๋อตง,โจวเอินไหล,ฟิเดลคาสโตร, ปรีดี พนมยง, ทักษิณ ชินวัตร ฯลฯ ซึ่งล้วนแล้วแต่กำเนิดในชนชั้นนายทุนทั้งสิ้น ดังนั้นโดยพื้นฐานจึงเป็นศัตรูกับชนชั้นศักดินา แรงขับทางการเมืองพื้นฐานจึงเป็นการปฏิวัติประชาธิปไตยของชนชั้นของเราเอง ส่วนในภายหลังทรรศนะทางชนชั้นจะเปลี่ยนแปลงไปตามสภาพกรรมสิทธิ์ (ผลประโยชน์) ที่แต่ละคนมีอยู่จริง ณ ขณะนั้น ๆ บางคนก็อาจจะกลายไปเป็นศักดินา บางคนก็อาจจะดำรงการเป็นนายทุน หรือบางคนก็อาจกลายเป็นกรรมาชีพ มีคนเป็นจำนวนมากเข้าใจผิดคิดว่า กรรมกร กับ กรรมาชีพ เป็นชนชั้นเดียวกัน แต่ที่จริงนั้นไม่ใช่ ชนชั้นกรรมาชีพ เป็นชนชั้นที่ ๓ ในระบอบทุนนิยม เช่นเดียวกับที่ ชนชั้นศักดินา ก็เป็นชนชั้นที่ ๓ ในระบอบทาส คาร์ล มาร์กซ จึงใช้ คำว่า Proletariat ไม่ใช่ labourerแต่ทั้งสองก็เป็นคนงานเหมือนกัน จึงใช้คำรวม ๆ ว่า worker (proletariat เป็นคนงานที่ใช้ สติปัญญาและเทคโนโลยี เป็นเครื่องในการผลิตเป็นหลัก ส่วน labourerเป็นคนงานที่ใช้แรงกายของตนเป็นเครื่องมือในการผลิตเป็นหลัก proletariat โดยตรงตัวแปลว่า ชนชั้นผู้ไร้สมบัติ แต่ มาร์กซ ได้ให้นิยามเพิ่มว่าเป็นผู้ไร้สมบัติที่อยู่ในวิถีผลิตที่ก้าวหน้าที่สุดของ สังคม (ทุนนิยม) ซึ่งนั่นก็คือ เทคโนโลยี นั่นเอง เมื่อทำการผลิตด้วยเทคโนโลยีจึงต้องใช้สติปัญญาเป็นหลักแรงกายเป็นรอง

การปฏิวัติประชาชาติประชาธิปไตย เป็นการปฏิวัติเปลี่ยนผ่านยุคทางสังคม จากยุคศักดินาไปสู่ยุคทุนนิยม หรือ การเปลี่ยนจากสังคมเกษตรกรรมไปสู่สังคมอุตสาหกรรม อย่างเต็มตัว แต่การปฏิวัตินี้มีลักษณ์พิเศษ ตรงที่เกิดขึ้นในสังคมที่มีลักษณะเรียกว่า สังคมกึ่งเมืองขึ้นกึ่งศักดินา ดังนั้นการปฏิวัติอเมริกา (ค.ศ.๑๗๖๓ –๑๗๗๔) จึงเป็น “การปฏิวัติประชาชาติประชาธิปไตย” ที่เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในโลก การปฏิวัตินี้นำโดยชนชั้นนายทุน เรียกอีกอย่างว่า “เสรีสามัญชน” ปลดแอกอำนาจปกครองเมืองขึ้นที่รวมศูนย์ของอังกฤษ แล้วสร้างระบอบอำนาจรัฐแบบกระจาย ที่เรียกว่า “ประชาธิปไตย” ของชนชั้นนายทุน ขึ้นเป็นครั้งแรกในโลก การปฏิวัติอเมริกัน สร้างแรงบันดาลใจกระตุ้นให้เกิดการปฏิวัติประชาธิปไตยชนชั้นนายทุนของ ฝรั่งเศสขึ้นมาในปี ค.ศ.๑๗๘๙ แต่คนไทยเราจะได้รับรู้เฉพาะเรื่องของการรบในสงครามปฏิวัติอเมริกาบางส่วน บางสนามรบ และความโหดร้ายสยดสยองของการปฏิวัติฝรั่งเศส เท่านั้นโดยจะรู้เกี่ยวกับปรัชญาแนวคิดจิตวิญญาณ และบทเรียนของการปฏิวัตินี้น้อยมาก มองไม่เห็นกระบวนการปฏิวัติทั้งกระบวนเนื่องจากถูกปิดกั้นบิดเบือนจากชนชั้น ปกครองศักดินาไทยมาโดยตลอด

ในที่นี้จะยังไม่กล่าวถึง “การปฏิวัติสังคมนิยม” ที่มีชนชั้นกรรมาชีพเป็นหัวหอก เนื่องจาก ชน ชั้นกรรมาชีพเป็นผลผลิตของสังคมทุนนิยม ถ้าไม่มีสังคมทุนนิยมที่ก้าวหน้าแล้วก็ไม่มีวันที่จะมีชนชั้นกรรมมาชีพเกิด ขึ้นไปขับเคลื่อนการปฏิวัติสังคมนิยม และปลดปล่อยสู่สังคมคอมมิวนิสม์ได้ และต้องเข้าใจก่อนว่าสังคมนิยมเป็นพัฒนาขั้นสุดท้ายของระบอบทุนนิยม ที่มีเป้าหมายในการแบ่งปันโภคทรัพย์แห่งสังคมว่า“ทุกคนได้รับตามความสามารถ” แต่ที่ยังไม่ไปสู่สังคมคอมมิวนิสม์ เนื่องจาก ระบอบกรรมสิทธิ์ยังดำรงอยู่ในโลก ตราบเท่าที่พลังการผลิตของมนุษย์ยังไม่สามารถสนองความต้องการของมนุษย์ได้ใน ระดับ“ทุกคนได้รับตามต้องการ”กระทั่งพลังการผลิตบรรลุสมรรถนะขั้นสูง สุดนี้แล้ว ระบอบกรรมสิทธิ์ก็จะหมดความจำเป็นและสิ้นสลายไป ความขัดแย้งระหว่างมนุษย์โลกก็สิ้นสุดลง และจะพัฒนาเป็นความขัดแย้งรูปแบบใหม่ ย้ายด้านหลักของความขัดแข้งระหว่าง “มนุษย์กับมนุษย์” ไปสู่ความขัดแย้งระหว่าง “มนุษย์กับธรรมชาติ”ผู้อ่านต้องลองไปค้นคว้าเรื่องวิวัฒนาการสังคม และทำความเข้าใจว่าด้วย “ทุน”

ประเทศกึ่งเมืองขึ้น 
 
ประเทศกึ่งเมืองขึ้น คือประเทศที่ดูเหมือนว่าเป็นประเทศที่มีอิสระ มีเอกราช มีอธิปไตย และบูรณภาพเหนือดินแดนโดยสมบูรณ์ แต่แท้จริงแล้วถูกครอบงำโดยอิทธิพลของประเทศจักรพรรดินิยม การดำเนินนโยบายทั้งทางเศรษฐกิจ การเมือง การทหาร และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ของชนชั้นปกครองของประเทศนั้นไม่ได้ขึ้นต่อสิทธิผลประโยชน์ของประชาชนของตน เอง แต่ขึ้นต่อสิทธิผลประโยชน์ของประเทศมหาอำนาจที่ตนฝีกใฝ่ โดยมหาอำนาจก็จะตอบแทนโดยการรับรองค้ำจุนผลประโยชน์และอำนาจการกดขี่ขูดรีด ประชาชนของชนชั้นปกครองประเทศนั้นเป็นการตอบแทน 
 
ประเทศไทยเราดูเหมือนกับจะเป็นประเทศเอกราช และดูเหมือนจะเป็นประเทศประชาธิปไตย แต่แท้จริงแล้ว เรากลับเป็นประเทศที่ถูกครอบงำโดยประเทศสหรัฐอเมริกา หาเป็นประเทศที่มีเอกราชสมบูรณ์ไม่ กองทัพไทยแท้จริงแล้วไม่ได้ขึ้นตรงต่อรัฐบาลไทย แต่ขึ้นตรงรัฐบาลสหรัฐฯ ดังนั้นจึงต้องมีระบบการจัดกำลังและใช้อาวุธตามแบบของกองทัพสหรัฐฯ ทุกประการ ทุก ๆ ปีต้องส่งนายทหารเสนาธิการไปฝึกอบรมที่สหรัฐฯ เพื่อให้คุ้นเคยกับระบบบริหารจัดการของกองทัพสหรัฐฯ เหล่านี้เป็นต้น เผื่อว่าถาจำเป็นกองทัพสหรัฐฯก็สามารถเข้าบังคับบัญชาโดยตรงได้ทันที แต่ที่เลวร้ายกว่าก็คือ ประชาชนไทยต้องเป็นผู้รับผิดชอบเลี้ยงดูกองทัพที่เป็นของตนแต่ชื่อเท่านั้น ตัวอย่างเช่น กองกำลังผาเมือง เป็นหน่วยบัญชาการอิสระ (พิเศษ) ที่อยู่ในกองทัพภาคที่ ๓ รัฐบาลไทยเป็นผู้จ่ายเงินเดือนเบี้ยเลี้ยงและสวัสดิการทุกอย่างรวมทั้งอาวุธ ยุทโธปกรณ์แก่กำลังพล แต่ปฏิบัติการของทหารหน่วยนี้ซึ่งอ้างว่าเป็นปฏิบัติการต่อต้านยาเสพติดตาม แนวชายแดนไทย-พม่า แท้จริงแล้วเป็นปฏิบัติก่อกวนและหาข่าวเพื่อต่อต้านประเทศพม่าและจีน ตามคำสั่งโดยตรงของซีไอเอ ซึ่งกองทัพไทยและรัฐบาลไทยไม่มีอำนาจไปก้าวก่ายแทรกแซงแม้แต่ผู้บัญชาการ ทหารบกไทยก็ยังต้องรายงานตรงต่อวอชิงตัน การรัฐประหารต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในไทยก็ต้องปรึกษาหารือและได้รับการเห็นชอบจากสหรัฐฯ จึงจะประสบความสำเร็จนอกจากกองทัพแล้วก็ยังรวมไปถึงการต่างประเทศ ที่จะต้องเดินตามแนวทางที่สหรัฐฯเห็นด้วย เหล่านี้เป็นต้นอย่างนี้จะเรียกว่า ไทยเป็นประเทศเอกราชได้อย่างไร?นอกจากจะมีสภาพเป็นประเทศกึ่งเมืองขึ้นเท่า นั้น 
 
ประเทศกึ่งศักดินา 
 
ประเทศไทยเราดูเหมือนกับจะเป็นประเทศประชาธิปไตย แต่แท้จริงแล้วประชาชนหาได้มีอำนาจปกครองตนเอง อำนาจรัฐที่แท้จริงกลับไปอยู่ในมือของชนชั้นสูง ชนชั้นสูงเหล่านี้คือใครกัน? การที่จะนิยาม ชนชั้นสูงเหล่านี้ ไม่ใช่แต่เพียง ระบุว่า เป็นพวกหัวเก่านิยมระบบราชการ นิยมเจ้า ฯลฯ คำว่า “อำมาตย์” ที่มีอยู่ทุกวันนี้ มีความเป็นมา ก่อนอื่นต้องเข้าใจพัฒนาการของสังคม เมื่อโลกก้าวเข้ามาสู่ศตวรรษที่ ๒๐ เกิดสงครามโลกครั้งที่ ๑ นั่นคือ จุดอ้างอิงสุดท้ายของสังคมเกษตรกรรม หรือสังคมศักดินา ของโลก (โลกตะวันตก) หลังจากนั้นก็เกิดการปฏิวัติรัสเซีย การล่มสลายของราชวงศ์โฮเฮนโซเลิร์น(Hohenzollern) แห่งเยอรมนี และประเทศสหรัฐอเมริกาตัวแทนที่แท้จริงของระบอบทุนนิยมโลกก้าวขึ้นมามีบทบาทบนโลกเป็นครั้งแรก
 
ในอีกด้านหนึ่ง สภาพประเทศกึ่งศักดินายังหมายถึง สภาพกึ่งทุนนิยม ซึ่งหมายความว่า ระบบกรรมสิทธิ์ที่ดิน และทุน ดำรงอยู่ร่วมกัน “ที่ดิน” ส่วนหนึ่งได้แปรสภาพเป็น “ทุน” พวกเจ้าศักดินาและขุนนางดัดแปลงการทำหากินจาก “ค่าเช่า” เพียงอย่างเดียว มาเป็น “ดอกเบี้ย” และ “ตลาดผูกขาด” โดยให้พวกพ่อค้าใกล้ตัวเป็นผู้ไปหาประโยชน์แทน อย่างเช่น พวกนายอากร ในยุคศักดินานั่นเอง ที่เป็นเช่นนี้ เนื่องจากสภาพทางสากลบังคับให้พวกเขาต้องใช้ “เงินตรา” เป็นสื่อในการแลกเปลี่ยนมาขึ้น มิเช่นนั้นก็ต้องเอาที่ดินที่พวกเขาหวงแหนไปแลก และ “เงินตรา” ยังมีความสามารถในการเพิ่มพูนจำนวนได้มากแทบไร้ขีดจำกัด ซึ่งในทางตรงกันข้าม “ที่ดิน” ที่ตัวของมันเองไม่สามารถเติบโตเพิ่มพูนขึ้นมาได้ อย่างไรก็ตาม แม้ที่ดินจะไม่สามารถขยายขนาดของตัวมันได้ แต่ระบบ “มูลค่าแลกเปลี่ยน” ของทุนนิยมทำให้มูลค่าของที่ดินกลับเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ตลอดเวลา ส่วนนี้เองที่ทำให้พวกเจ้าศักดินาและนายทุนขุนนาง ยังคงรักษาระบบคุณค่าของ “ที่ดิน” เอาไว้ สังคมที่มีระบอบกรรมสิทธิ์คู่ดำรงอยู่เช่นนี้เรียกว่า สังคมกึ่งศักดินา 
 
ลัทธิชาตินิยม 
 
หลังสงครามโลกครั้งที่ ๑ ซากเดนจิตสำนึกศักดินายุโรปยังไม่หมดสิ้นไป ระบบคุณค่าเกี่ยวกับ “ที่ดิน” ยังดำรงอยู่และเปลี่ยนไปเป็น “ลัทธิชาตินิยม” ลัทธิรวมศูนย์อย่าง สมบูรณาญาสิทธิราช เปลี่ยนไปเป็น “ลัทธิเผด็จการ” เกิดการผสมผสานกันของ ลัทธิชาตินิยม กับ ลัทธิเผด็จการ เกิดเป็น ลัทธิฟาสซิสม์ ลัทธินาซี และ ลัทธิบูชาจักรพรรดิญี่ปุ่น ลัทธิชาตินิยมแบบเผด็จการนี้ก็คือ “ลัทธิคลั่งชาติ” ก่อให้เกิดสงครามรุกราน ยึดครองดินแดน ปล้นสะดมทรัพยากรและทำการกดขี่อย่างโหดร้ายทารุณต่อประชาชาติต่าง ๆ ทั่วโลก
 
แต่ในอีกด้านหนึ่ง ลัทธิชาตินิยมแบบคลั่งชาติที่ก่อการรุกรานไปยึดครองแผ่นดินชาติอื่น และทำการกดชี่ทารุณแก่ประชาชาติใต้การยึดครอง ได้ก่อให้เกิด ลัทธิชาตินิยมอีกแบบหนึ่งขึ้น เรียกได้ว่าเป็น “ลัทธิรักชาติ” ไปคัดค้านการรุกรานและการกดขี่ของพวก “ลัทธิคลั่งชาติ” แม้ว่าจะเป็นลัทธิชาติยมเหมือนกัน แต่มีจุดยืนที่ตรงกันข้ามกัน เนื่องจากความจำเป็นที่จะต้องสามัคคีกันของประชาชาติ ลัทธิรักชาติจึงจำต้องยอมรับความคิดเห็น และผลประโยชน์เฉพาะที่แตกต่างของประชาชนส่วนต่าง ๆ จึงต้องใช้ “ลัทธิประชาธิปไตย” ไปสร้างเอกภาพในการต่อสู้กับการรุกรานและการกดขี่ของพวกลัทธิคลั่งชาติที่ เป็นเผด็จการ ลัทธิรักชาติหากกลายเป็นเผด็จการก็จะไม่แตกต่างไปจากพวกลัทธิคลั่งชาติภายใน พวกเขาจะขัดแย้งกันก็คือผลประโยชน์เฉพาะของพวกตนเท่านั้นอย่างเช่น ซิงมันรีของ เกาหลีใต้ที่เป็นผู้คัดค้านญี่ปุ่นแต่ตนเองกลายเป็นเผด็จการ พอญี่ปุ่นยอมแพ้ไป เขาก็กลายมาเป็นพวกคลั่งชาติไปเสีย และเป็นผู้จุดไฟสงครามเกาหลีโดยการเข้าไปก่อกวนเกาหลีเหนือก่อน เกาหลีเหนือจึงตอบโต้แล้วขยายตัวเป็นสงครามเกาหลีในเวลาต่อมา ถึงเวลานั้นซึงมันรีก็เปิดเผยหน้ากากรักชาติของตนออกมาสมคบกับอเมริกาทำ สงครามเข่นฆ่าพี่น้องร่วมชาติเกาหลีของตนเองเพียงเพื่อการมีอำนาจเผด็จการ เหนือหัวประชาชนเกาหลีเท่านั้นเอง ตรงกันข้ามในประเทศจีน ต่อหน้าความเรียกร้องต้องการรักชาติของประชาชนจีนในการต่อต้านการรุกรานของ ญี่ปุ่น ทั้งพรรคคอมมิวนิสต์จีนและพรรคก๊กมิ่นตั๋งจึงต้องสามัคคีกันชั่วคราวเพื่อ ต่อสู้กับศัตรูร่วมกัน เมื่อภัยรุกรานของญี่ปุ่นหมดสิ้นไปแล้งจึงหันมาสู้กันใหม่ จนฝ่ายพรรคคอมมิวนิสต์จีนไดรับชัยชนะเด็ดชาดในปี ค.ศ. ๑๙๔๙

ในประวัติศาสตร์ระยะใกล้ ลัทธิรักชาติเป็นรากฐานสำคัญในการทำสงครามปลดแอก ในประเทศกึ่งเมืองขึ้นกึ่งศักดินาในโลก อย่างไรก็ตาม สงครามปลดแอกแม้ว่าจะบรรลุแล้ว ก็ยังไม่อาจทำลายซากเดนลัทธิศักดินานิยมที่ซ่อนตัวอยู่ในส่วนต่าง ๆ ของสังคม รูปการจิตสำนึกและระบบวิธีคิดของประชาชน ซากเดนทางความคิดเหล่านี้แสดงออกมาในรูปแบบของลัทธิรวมศูนย์ ลัทธิบัญชาจากบนสู่ล่างลัทธิรวมหมู่เกษตรกรรม (รวมหมู่ในทางความคิดและทำกิจกรรมหรือมีพฤติกรรมอย่างเดียวกัน ไม่ยอมรับความแตกต่าง) ลัทธิบูชาบุคคล ลัทธิคัมภีร์ (อ้างแต่ทฤษฎีคำสอนแต่ไม่ลงสู่การปฏิบัติ)และลัทธิฉวยโอกาสเอียงซ้าย (แสร้งทำเป็นซ้ายเสียยิ่งกว่าพวกซ้ายจริง ๆ เพื่อปกปิดความเป็นขวาที่ปฏิกิริยาภายในของตนเอง)ฯลฯ อะไรต่าง ๆ เหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงซากเดนศักดินาหรือระบอบอำมาตย์อย่างชัดเจน ซากเดนเหล่านี้ได้ก่อความทุกข์ยากแก่ประชาชนที่ผ่านการปลดแอกมาแล้วอย่างแสน สาหัส พวกซ้ายที่มักอ้างว่า “ค้านลัทธิทุนนิยม” หรือใช้วาทะกรรม“ทุนนิยมสามานย์” เป็นเพียงการปกปิดซากเดนศักดินาปฏิกิริยาของตนนั่นเอง แต่ไหนแต่ไรมา “ศักดินา” ย่อมต้องคัดค้าน “ทุนนิยม” ที่เป็นศัตรูโดยตรงซึ่งจะมาครอบครองปัจจัยการผลิตหลักของสังคมแทนที่ “ศักดินา” ที่จะต้องตกเวทีประวัติศาสตร์ไป

กระบวนการของการปฏิวัติ

มีคนจำนวนมากที่มีความเห็นว่า สงคราม คือ คำตอบเดียวของการปฏิวัติ ความเข้าใจเช่นนี้เป็นทรรศนะด้านเดียว มองเห็นการปฏิวัติเป็นกระบวนการขั้นเดียว มีสงครามปฏิวัติแล้วการปฏิวัติก็เสร็จสิ้นลง ที่จริงการปฏิวัติเป็นกระบวนการทางประวัติศาสตร์ ที่มีการสั่งสมของเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่ต่อเนื่องกันห่วงโซ่สงคราม เป็นเหตุการณ์หนึ่งในห่วงโซ่เหตุการณ์ซึ่งกระบวนการนี้อาจใช้เวลาหลายสิบ หรืออาจเป็นร้อยปี กว่าการปฏิวัติที่มีลักษณะประวัติศาสตร์นี้จะบรรลุเป้าหมายเป็นกระบวนการ คลี่คลายความขัดแย้งที่พัฒนาขึ้นในสะสมในเชิงปริมาณไปสู่การเปลี่ยนแปลงทาง คุณภาพขั้นต่าง ๆ ดังนั้นในการปฏิวัติจึงมักจะประกอบด้วยสงครามและสันติภาพ หรือการปฏิวัติและการปฏิรูปย่อย ๆ สลับไปสลับมาหลายครั้ง จนกว่าองค์ประกอบต่าง ๆ ที่ขัดแย้งในสังคมจะเข้าสู่ดุลยภาพสุดท้าย ในทันที่ที่การปฏิวัติหนึ่งสิ้นสุดลง ก็จะเป็นจุดเริ่มของกระบวนการปฏิวัติทางประวัติศาสตร์ครั้งใหม่ขึ้น

อย่าง การปฏิวัติรัสเซีย กว่ารัสเซียจะหลุดพ้นจากระบอบศักดินา ก็มีการเคลื่อนไหวจะเปลี่ยนแปลงมาตั้งแต่สมัยซาร์ปีเตอร์(ค.ศ. ๑๖๘๒-๑๗๒๕) ทำการปฏิรูปริเริ่มสร้างเศรษฐกิจอุตสาหกรรมขึ้นในรัสเซีย ชนชั้นนายทุนรัสเซียจึงเริ่มเติบโตขึ้นมาตั้งแต่นั้น ติดตามมาด้วยการกบฏและการปฏิรูปหลายครั้ง จนกระทั่งเกิดสงครามโลกครั้งที่ ๑ ที่ชี้ให้ประชาชนรัสเซียเห็นถึงความล้มเหลวเน่าเฟอะของระบอบซาร์แล้วเกิดการ ปฏิวัติขึ้นใน ค.ศ. ๑๙๑๗ หลังจากนั้นก็ยังมีสงครามกลางเมืองอันขมขื่นต่ออีก ๔ ปี (ค.ศ. ๑๙๑๘-๑๙๒๒) แม้ว่าพรรคบอลเชวิคจะอ้างว่าเป็นการปฏิวัติสังคมนิยม แต่แท้จริงแล้วเป็นเพียงขั้นหนึ่งของการปฏิวัติประชาธิปไตยชนชั้นนายทุน เลนินจึงต้องเร่งรัดให้พัฒนาเศรษฐกิจอุตสาหกรรมขึ้นโดยให้รัฐเป็นผู้ถือ กรรมสิทธิ์ทุนเสียเอง ในระหว่างนั้นซากเดนศักดินายังดำรงอยู่และสำแดงออกเด่นชัดในยุคสตาลินในรูป ของระบบราชการรวมศูนย์และลัทธิบูชาบุคคล อย่างไรก็ดี สตาลินก็สามารถนำสหภาพโซเวียตรบชนะนาซีเยอรมัน และแผ่อิทธิพลไปค่อนทวีปยุโรป แต่ซากเดนศักดินาภายในพรรคคอมมิวนิสต์ก็ผลักดันให้สหภาพโซเวียตกลายเป็น สังคมจักรพรรดินิยมในยุคครุชชอฟและเบรสเนฟอันนำไปสู่การล่มสลายของสหภาพ โซเวียตใน ค.ศ. ๑๙๙๑และการปฏิวัติประชาธิปไตยชนชั้นนายทุนรัสเซียเพิ่งมามาบรรลุถึงจุดหมาย ในสมัยเยลซิน (ค.ศ. ๑๙๓๑-๒๐๐๗) นี่เอง ที่ต้องใช้เวลายาวนานมาเกือบ ๓๐๐ ปีส่วนปูตินเป็นผู้มาปฏิรูปให้ระบอบประชาธิปไตยชนชั้นนายทุนในรัสเซียเข้า รูปเข้ารอยเป็น ประชาธิปไตยชนชั้นนายทุนที่มีลักษณะเฉพาะของรัสเซียที่พัฒนาบนรากฐานระบอบ สังคมนิยมโซเวียตรัสเซีย เตรียมรากฐานที่มั่นให้รัสเซียพัฒนาไปสู่ระบอบสังคมนิยมอีกครั้ง และฟื้นฟูสหภาพโซเวียต (พรรคการเมืองต่าง ๆส่วนใหญ่ ล้วนแต่เป็นส่วนต่าง ๆ ของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งสหภาพโซเวียต ที่แยกกันออกไป และพรรคการเมืองที่ควบคุมเสียงส่วนใหญ่ในสภาดูมาร์ ขณะนี้ก็ยังคงเป็นพรรคคอมมิวนิสต์รัสเซียอยู่) ดังนั้น จึงมีข้อพิสูจน์ว่า สังคมไหนในโลกหลีกพ้นกฎวิวัฒนาการสังคมที่มีขั้นตอนทางประวัติศาสตร์ที่แน่ นอนนี้ไปได้

สงครามอย่างเดียวและครั้งเดียวจึงไม่สามารถทำให้บรรลุขั้นตอนทางประวัติ ศาสตร์ของสังคมได้ แต่เป็นพัฒนาการในเชิงปริมาณเล็ก ๆ อันหนึ่ง ในกระบวนการปฏิวัติสังคมที่มีขนาดใหญ่โตเท่านั้น แต่ผลของสงครามที่มีเป้าหมายปฏิวัติสังคมอย่างชัดเจนก็มีนัยยะสำคัญในการทำ ให้ระยะของการปฏิวัติสังคมสั้นลงได้ อย่างไรก็ตาม สงครามซึ่งเป็นการแก้ไขความขัดแย้งบั้นสูงสุดระหว่างมนุษย์ด้วยกัน ไม่ใช่สิ่งบังเอิญ ไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นง่าย ๆ จากจินตนาการของใคร แต่ต้องอาศัยเงื่อนไขภาวะแวดล้อมและปัจจัยภายในและภายนอกที่รูปธรรมต่าง ๆ มากมาย


ยังมีตอนต่อไปครับ

ผู้ให้ข้อมูลร่วมกัน