แดงเชียงใหม่

กราบสวัสดี พี่น้องทุกๆท่านที่เข้ามาเยี่ยมเยือน Blog นปช.แดงเชียงใหม่ ขอเรียนชี้แจงสักนิดว่า เรา ”แดงเจียงใหม่” เป็นกลุ่มคนชาวเจียงใหม่ที่เคารพรัก กติกาประชาธิปไตย ต่อสู้และต่อต้านเผด็จการทุกรูปแบบ อยากเห็นประเทศชาติภายภาคหน้า มีความเจริญ ประชาชน รุ่นลูกหลานของเราอยู่อาศัยอย่างร่มเย็นเป็นสุขในประเทศของพวกเราเอง ไม่มีกลุ่มอภิสิทธิ์ชนกลุ่มใดมาสูบเลือดเนื้อ แอบอ้างบุญคุณเฉกเช่นในยุคนี้ที่พวกเราเห็น การที่จะได้รับในสิ่งที่มุ่งหวังก็ต้องมีการต่อสู้แสดงกำลังให้สังคมได้รับรู้ และเพื่อที่จะให้กลุ่มบุคคลที่มีอำนาจในปัจจุบันได้เข้าใจในสังคมที่ก้าวหน้าเปลี่ยนแปลงไป ไม่อาจฝืนต่อกระแสการพัฒนาของโลก การต่อสู้ร่วมกับผองชนทั่วประเทศในครั้งนี้ เรา " แดงเจียงใหม่ " ได้ร่วมต่อสู้ทุกรูปแบบ และ ในรูปแบบที่ท่านได้เข้ามาร่วมอยู่นี้ คือการเผยแพร่ข่าวสารต่อสังคม

เรา " แดงเจียงใหม่ " ขอเชิญชวนร่วมกันสร้างขวัญ และกำลังใจให้เพื่อนพ้องน้องพี่ร่วมกัน


"อันประชาสามัคคีมีจัดตั้ง
เป็นพลังแกร่งกล้ามหาศาล
แสนอาวุธแสนศัตรูหมู่อันธพาล
ไม่อาจต้านมวลมหาประชาชน"

.

วันอาทิตย์ที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2556

“แนวร่วม 29 มกรา ปลดปล่อยนักโทษการเมือง” นัดหมายกดดันรัฐบาล 29 ม.ค.นี้

http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1359263437&grpid=&catid=01&subcatid=0100

วันที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2556 เวลา 13:07:48 น.
 

วันนี้ (27 ม.ค.) “แนวร่วม 29 มกรา ปลดปล่อยนักโทษการเมือง” นำโดยนักวิชาการ อาทิ  พวงทอง ภวัครพันธุ์ , กฤตยา อาชวนิจกุล, ยุกติ มุกดาวิจิตร และ เวียงรัฐ เนติโพธิ์ ได้เผยแพร่ แถลงการณ์ชี้แจงความจำเป็นของการปลดปล่อยนักโทษการเมือง และนัดหมายรวมตัวกันที่ หมุดคณะราษฎร บริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า ในวันที่ 29 ม.ค. ก่อนจะยื่นหนังสือให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่ทำเนียบรัฐบาล

------------------------------------------

แถลงการณ์ศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุมเมษา-พฤษภา 2553 (ศปช.) และเครือข่ายสันติประชาธรรม

สนับสนุนการแก้ไข รธน. เพื่อนิรโทษกรรมนักโทษการเมืองของ
 “แนวร่วม 29 มกรา ปลดปล่อยนักโทษการเมือง”


นับ เป็นเวลา 2 ปี 8 เดือน นับตั้งแต่รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะได้ใช้กำลังทหารเข้าสลายการชุมนุมของคนเสื้อแดง จนนำไปสู่การเสียชีวิตและบาดเจ็บของประชาชนจำนวนมาก และนับแต่รัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ขึ้นบริหารประเทศ กระบวนการเยียวยาให้แก่ครอบครัวของผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บในรูปของเงินชดเชย รวมทั้งการดำเนินคดีอาญากับผู้ที่เกี่ยวข้องก็ได้เริ่มไปบ้างแล้ว แต่ปรากฏว่าผู้ชุมนุมที่ถูกดำเนินคดีอย่างไม่เป็นธรรมจำนวนมาก กลับไม่ได้รับการเหลียวแลใด ๆ จากรัฐบาลพรรคเพื่อไทยอย่างจริงจังเลย

ศปช. และเครือข่ายสันติประชาธรรมขอเตือนความจำทรงจำของรัฐบาล พรรคเพื่อไทย พรรคร่วมรัฐบาล ด้วยข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นกับประชาชนที่ถูกจับกุมคุมขังหลังเหตุการณ์ เมษายน-พฤษภาคม 2553 ดังต่อไปนี้

• เจ้าหน้าที่ใช้อำนาจเกินขอบเขตเข้าจับกุมและคุมขังตามอำเภอใจ ตั้งข้อหาร้ายแรงเกินจริง เป็นการจับกุมแบบเหวี่ยงแห ขาดหลักฐาน หลายกรณีมีเพียงภาพถ่ายผู้เข้าร่วมชุมนุมเป็นหลักฐานเท่านั้น
• มีการซ้อมและทรมานผู้ต้องขัง หลายรายเป็นเยาวชน
• ผู้ต้องขังส่วนใหญ่ไม่ได้รับสิทธิการประกันตัว อันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญ หลายคนเป็นผู้สูงอายุมีปัญหาสุขภาพ และเยาวชนที่ยังศึกษาอยู่
• ช่วงแรกของการจับกุม ผู้ต้องขังส่วนใหญ่ไม่มีโอกาสเข้าถึงทนายความเพราะเจ้าหน้าที่ตัดการสื่อสาร จำนวนมากถูกจับกุมด้วยข้อหาละเมิดพ.ร.ก.ฉุกเฉิน และศาลพิพากษาตัดสินอย่างรวดเร็วโดยใช้เวลาแค่ 15 นาที
 • ส่วนใหญ่ไม่มีทนายความเพราะฐานะยากจน ถูกเจ้าหน้าที่บังคับหรือเกลี้ยกล่อมให้รับสารภาพโดยทำให้หลงเชื่อว่าจะได้ รับการบรรเทาโทษ แต่เมื่อรับสารภาพ พวกเขากลับถูกลงโทษอย่างรุนแรง โดยไม่มีโอกาสนำพยานหลักฐานฝ่ายตนเข้าต่อสู้คดี
• มีการใช้ข้อหาก่อการร้ายต่อผู้ต้องขัง 44 รายในลัษณะครอบจักรวาล โดยไม่มีนิยามและขอบเขตของคำว่าก่อการร้ายที่ชัดเจน
• ผู้ชุมนุมจำนวนมากถูกคุมขังเกินกว่าคำพิพากษา จำนวนมากถูกขังฟรีเป็นเวลาปีกว่าหลังจากศาลเห็นว่า เห็นว่าหลักฐานไม่เพียงพอและพิพากษายกฟ้อง
• ผู้ชุมนุมจำนวน 22 คนยังถูกคุมขังอยู่ ณ เรือนจำชั่วคราว รร.พลตำรวจ บางเขน

ข้อ เท็จจริงดังกล่าวข้างต้นชี้ให้เห็นว่าคนเสื้อแดงถูกปฏิบัติประหนึ่งศัตรูของ ชาติหรืออาชญากรร้ายแรง ทั้ง ๆ ที่การชุมนุมของคนเสื้อแดงมีสาเหตุมาจากความคิดเห็นทางการเมืองที่แตกต่าง ที่เริ่มก่อตัวขึ้นนับแต่การรัฐประหารปี 2549 พวกเขามุ่งต่อต้านอำนาจฉ้อฉลที่สนับสนุนและมาพร้อมกับการรัฐประหาร และเรียกร้องให้สังคมเคารพในสิทธิการเมืองตามแนวทางประชาธิปไตยของพวกเขา

นอกจากนี้ หลังรัฐประหาร 2549 จำนวนนักโทษการเมืองจากกฎหมายอาญามาตรา 112 หรือคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ก็เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเช่นกัน มาตรา 112 ถูกใช้เป็นเครื่องมือเพื่อสร้างความหวาดกลัวมากกว่าเพื่อสร้างความยุติธรรม ในสังคม ผู้ถูกกล่าวหามีแนวโน้มจะถูกลงโทษรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ ราวกับว่าพวกเขาเป็นฆาตกรอำมหิต ขณะเดียวกัน มันได้ตอกลิ่มความแตกแยกและความเกลียดชังในสังคมให้รุนแรงมากขึ้น และไม่สามารถสร้างความมั่นคงให้กับสถาบันกษัตริย์ได้เลย กรณีนายอำพล ตั้งนพคุณ (อากง) และล่าสุด นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข ได้ทำให้ชื่อเสียของประเทศไทยฉาวโฉ่ไปทั่วโลกอีกครั้งหนึ่ง แต่ผู้มีอำนาจในสังคม รวมทั้งรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ พรรคเพื่อไทย ประธานรัฐสภา และแกนนำ นปช. กลับเมินเฉยต่อปัญหานี้อย่างเลือดเย็น เพียงเพื่อรักษาสถานะอำนาจทางการเมืองของตนไว้เท่านั้น นับเป็นสิ่งที่น่าละอายและหยามเหยียดอย่างยิ่ง ทั้งที่ภาระกิจสำคัญที่คนเหล่านี้รับปากกับประชาชนของตนก่อนเลือกตั้งว่า จะผลักดันให้ระบอบประชาธิปไตยเข้มแข็ง

แต่เมื่อคนเหล่านี้ได้เข้ามามีอำนาจ กลับไม่ได้มีความพยายามอย่างจริงจัง ที่จะคืนความยุติธรรมให้กับนักโทษการเมืองเลย ทั้ง ๆ ที่อำนาจที่พวกท่านยึดครองอยู่ในขณะนี้ เป็นผลโดยตรงจากการต่อสู้ของประชาชนเสื้อแดงโดยแท้
บัดนี้ กลุ่มองค์กรประชาชนต่าง ๆ ในนามของ “แนวร่วม 29 มกรา ปลดปล่อยนักโทษการเมือง” ภายใต้การนำของ “กลุ่มปฏิญญาหน้าศาล” เห็นความสำคัญที่จะต้องผลักดันให้มีการนิรโทษกรรมให้แก่นักโทษการเมืองอย่าง เร่งด่วน
ศปช. และเครือข่ายสันติประชาธรรมจึงขอประกาศสนับสนุนต่อการรณรงค์ของ “แนวร่วม 29 มกรา ปลดปล่อยนักโทษการเมือง” ที่จะนัดชุมนุม “หมื่นปลดปล่อย” ในวันที่ 29 มกราคม ณ หมุดคณะราษฎร ลานพระบรมรูปรัชกาลที่ 5 เพื่อคืนสิทธิและเสรีภาพให้แก่นักโทษการเมือง ตาม “ร่างรัฐธรรมนูญว่าด้วยนิรโทษกรรมและการขจัดความขัดแย้ง” ของคณะนิติราษฎร์

 เราขอเรียกร้องให้รัฐบาล น.ส. ยิ่งลักษณ์ พรรคเพื่อไทย และนปช. ถือเป็นภาระกิจเร่งด่วนของตนที่จะต้องคืนความยุติธรรม ให้แก่นักโทษการเมืองทุกกลุ่ม



ลงนาม

พวงทอง ภวัครพันธุ์
กฤตยา อาชวนิจกุล
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เวียงรัฐ เนติโพธิ์
เกษม เพ็ญภินันท์
ชัยธวัช ตุลาธน
ขวัญระวี วังอุดม
บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ
นีรนุช เนียมทรัพย์
เสาวลักษณ์ โพธิ์งาม
อนุสรณ์ อุณโณ
 

“11 ปี สมยศ” ขัดต่อคุณธรรมของกษัตริย์และหลักการประชาธิปไตย



สุรพศ ทวีศักดิ์
กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร

แด่ สมยศ พฤกษาเกษมสุข 
และผองเพื่อนผู้ตกเป็นเหยื่อ ม.112 ทุกคน
ที่ยืนหยัดต่อสู้เพื่อ ‘ความเป็นคน’
ของประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจที่แท้จริง
 
รัฐธรรมนูญแห่ง ‘ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข’ ของไทยบัญญัติว่า ‘พระมหากษัตริย์ทรงเป็นพุทธมามกะ’ และตามจารีตประเพณีที่มีมานานพระมหากษัตริย์ก็ครองราชย์ภายใต้ ‘ความชอบธรรม’ ตามพระบรมราชโองการของรัชกาลปัจจุบันที่ว่า “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรมเพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม” ซึ่งคำว่า “โดยธรรม” นั้น ก็เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปทั้งจากการเทศนาของพระสงฆ์ในวัดต่างๆ ทั่วประเทศ การศึกษาในระบบทุกระดับ การประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อทุกรูปแบบว่า หมายถึง “ทศพิธราชธรรม” อันเป็นหนึ่งใน “ชุดคุณธรรมของผู้ปกครอง” ตามคำสอนของพุทธศาสนา 
 
แสดงให้เห็นว่า แม้สังคมไทยจะเปลี่ยนการปกครองจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นประชาธิปไตยที่ มีสถาบันกษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญในปี 2475 แต่ “ความชอบธรรม” ของสถาบันกษัตริย์ยังอ้างอิงชุดคุณธรรมของผู้ปกครองตามคำสอนของพุทธศาสนา อยู่เช่นเดิม
 
คำถามจึงมีว่า ชุดคุณธรรมของผู้ปกครองตามคำสอนของพุทธศาสนาดังกล่าวสอดคล้อง หรือไปด้วยกันได้กับหลักเสรีภาพ ความเสมอภาคตามระบอบประชาธิปไตยหรือไม่? ขอให้ลองพิจารณาเนื้อหาของชุดคุณธรรมของผู้ปกครองตามคำสอนของพุทธศาสนา ดังต่อไปนี้ (คัด/ตัดทอนบางส่วน จากพจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของ ป.อ.ปยุตฺโต)
 
ราชสังคหวัตถุ : หลักการสงเคราะห์ประชาชนของนักปกครอง
1) สัสสเมธะ ความฉลาดในการบำรุงพืชพันธุ์ธัญญาหาร ส่งเสริมการเกษตร       
2) ปุริสเมธะ ความฉลาดในการบำรุงข้าราชการ รู้จักส่งเสริมคนดีมีความสามารถ       
3) สัมมาปาสะ ความรู้จักผูกผสานรวมใจประชาชนด้วยการส่งเสริมอาชีพ เช่น ให้คนจนกู้ยืมทุนไปสร้างตัวในพาณิชยกรรม เป็นต้น       
4) วาชเปยะ หรือ วาจาเปยยะ ความมีวาจาอันดูดดื่มน้ำใจ น้ำคำควรดื่ม คือ รู้จักพูด รู้จักปราศรัย ไพเราะ สุภาพนุ่มนวล ประกอบด้วยเหตุผล มีประโยชน์เป็นทางแห่งสามัคคี ทำให้เกิดความเข้าในอันดี และความนิยมเชื่อถือ
 
ทศพิธราชธรรม : คุณธรรมของผู้ปกครองบ้านเมือง
1) ทาน การให้ คือ สละทรัพย์สิ่งของ บำรุงเลี้ยง ช่วยเหลือประชาราษฎร์ และบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ 
2) ศีล ความประพฤติดีงาม คือ สำรวมกายและวจีทวาร ประกอบแต่การสุจริต รักษากิตติคุณ ให้ควรเป็นตัวอย่าง และเป็นที่เคารพนับถือของประชาราษฎร์ มิให้มีข้อที่ใครจะดูแคลน 
3) ปริจจาคะ การบริจาค คือ เสียสละความสุขสำราญ เป็นต้น ตลอดจนชีวิตของตน เพื่อประโยชน์สุขของประชาชน และความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง 
4) อาชชวะ ความซื่อตรง คือ ซื่อตรงทรงสัตย์ไร้มารยา ปฏิบัติภารกิจโดยสุจริต มีความจริงใจ ไม่หลอกลวงประชาชน 
5) มัททวะ ความอ่อนโยน คือ มีอัธยาศัย ไม่เย่อหยิ่งหยาบคายกระด้างถือองค์ มีความงามสง่าเกิดแต่ท่วงทีกิริยาสุภาพนุ่มนวล ละมุนละไม ให้ได้ความรักภักดี แต่มิขาดยำเกรง       

6) ตปะ ความทรงเดช คือ แผดเผากิเลสตัณหา มิให้เข้ามาครอบงำย่ำยีจิต ระงับยับยั้งข่มใจได้ ไม่ยอมให้หลงใหลหมกมุ่นในความสุขสำราญและความปรนเปรอ มีความเป็นอยู่สม่ำเสมอ หรืออย่างสามัญ มุ่งมั่นแต่จะบำเพ็ญเพียร ทำกิจให้บริบูรณ์ 
7) อักโกธะ ความไม่โกรธ คือ ไม่กริ้วกราด ลุอำนาจความโกรธ จนเป็นเหตุให้วินิจฉัยความและกระทำกรรมต่างๆ ผิดพลาดเสียธรรม มีเมตตาประจำใจไว้ระงับความเคืองขุ่น วินิจฉัยความและกระทำการด้วยจิตอันราบเรียบเป็นตัวของตนเอง
8) อวิหิงสา ความไม่เบียดเบียน คือ ไม่บีบคั้นกดขี่ เช่น เก็บภาษีขูดรีด หรือ เกณฑ์แรงงานเกินขนาด ไม่หลงระเริงอำนาจ ขาดความกรุณา หาเหตุเบียดเบียนลงโทษอาชญาแก่ประชาราษฎร์ผู้ใด เพราะอาศัยความอาฆาตเกลียดชัง 
9) ขันติ ความอดทน คือ อดทนต่องานที่ตรากตรำ ถึงจะลำบากกายน่าเหนื่อยหน่ายเพียงไร ก็ไม่ท้อถอย ถึงจะถูกยั่วถูกหยันด้วยคำเสียดสีถากถางอย่างใด ก็ไม่หมดกำลังใจ ไม่ยอมละทิ้งกรณีย์ที่บำเพ็ญโดยชอบธรรม 
10) อวิโรธนะ ความไม่คลาดธรรม คือ วางองค์เป็นหลักหนักแน่นในธรรม คงที่ ไม่มีความเอนเอียงหวั่นไหวเพราะถ้อยคำที่ดีร้าย ลาภสักการะ หรืออิฏฐารมณ์ อนิฏฐารมณ์ใดๆ สติมั่นในธรรม ทั้งส่วนยุติธรรม คื ความเที่ยงธรรม ก้ดี นิติธรรม คือ ระเบียบแบบแผนหลักการปกครอง ตลอดจนขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงาม ก็ดี ไม่ประพฤติให้เคลื่อนคลาดวิบัติไป 
 
จักรวรรดิวัตร : หน้าที่ของนักปกครองผู้ยิ่งใหญ่
1) ธรรมาธิปไตย ถือธรรมเป็นใหญ่ เคารพนับถือบูชายำเกรงธรรม ยึดธรรมเป็นหลัก เป็นธงชัย เป็นธรรมาธิปไตย
2) ธรรมิการักขา จัดการรักษาป้องกันและคุ้มครองอันชอบธรรมและเป็นธรรม 
       ก. อันโตชน แก่ชนภายใน ตั้งแต่พระมเหสี โอรส ธิดา จนถึงผู้ปฏิบัติราชการในพระองค์ทั้งหมด คือ คนในปกครองส่วนตัว ตั้งแต่บุตรธิดาเป็นต้นไป ด้วยให้การบำรุงเลี้ยงอบรมสั่งสอนเป็นต้น ให้อยู่โดยเรียบร้อยสงบสุข และมีความเคารพนับถือกัน 
       ข. พลกาย แก่กองทัพ คือ ปวงเสนาข้าทหาร, ข้าราชการฝ่ายทหาร 
       ค. ขัต ติยะ แก่กษัตริย์ทั้งหลายผู้อยู่ในพระบรมเดชานุภาพ, เจ้าเมืองขึ้น, ปัจจุบันสงเคราะห์ชนชั้นปกครองและนักบริหารชั้นผู้ใหญ่ทั้งหลาย, ข้าราชการฝ่ายปกครอง 
       ง. อนุยนต์ แก่ผู้ตามเสด็จ คือ ราชบริพารทั้งหลาย, ปัจจุบันควรสงเคราะห์ข้าราชการฝ่ายพลเรือนเข้าทั้งหมด 
       จ. พรา หมณคฤหบดี แก่ชนเจ้าพิธี เจ้าตำรา พ่อค้า เจ้าไร่เจ้านา คือ ครูบาอาจารย์ นักวิชาการ หมอ พ่อค้า ผู้ประกอบอาชีพวิชพต่างๆ และเกษตรกร ด้วยช่วยจัดหาทุนและอุปกรณ์เป็นต้น 
       ฉ. เนคมชานบท แก่ชาวนิคมชนบท คือ ราษฎรทั้งปวงทุกท้องถิ่นตลอดถึงชายแดนทั่วไปไม่ทอดทิ้ง 
       ช. สมณพราหมณ์ แก่พระสงฆ์และบรรพชิตผู้ทรงศีลทรงคุณธรรม 
       ญ. มิคปักษี แก่มฤคและปักษี คือ สัตว์อันควรสงวนทั้งหลาย 
3) อธรรมการนิเสธนา ห้ามกั้น มิให้มีการอันอธรรมเกิดขึ้นในพระราชอาณาเขต คือ จัดการป้องกัน แก้ไข มิให้มีการกระทำความผิดความชั่วร้ายเดือดร้อนเกิดขึ้นในบ้านเมือง       
4) ธนานุประทาน ปันทรัพย์เฉลี่ยให้แก่ชนผู้ไร้ทรัพย์ มิให้มีคนขัดสนยากไร้ในแว่นแคว้น       
5) ปริปุจฉา ปรึกษาสอบถามปัญหากับสมณพราหมณ์ ผู้ประพฤติดี ปฏิบัติชอบ ผู้ไม่ประมาทมัวเมา อยู่เสมอตามกาลอันควร เพื่อให้รู้ชัดการอันดีชั่ว ควรประกอบหรือไม่ เป็นไปเพื่อประโยชน์สุขหรือไม่ แล้วประพฤติปฏิบัติให้เป็นไปโดยถูกต้อง ข้อนี้ปัจจุบันสงเคราะห์นักปราชญ์นักวิชาการผู้ทรงคุณธรรมเข้าด้วย 
       
จักรวรรดิวัตรนี้ มาใน จักกวัตติสูตร แต่ใน อรรถกถาแห่งพระสูตรนี้เอง (ที.อ. 3/46) ท่านจัดต่างออกไปดังนี้
           1) อนฺโตชนสฺมึ พลกายสฺมึ สงเคราะห์ชนภายใน และพลกายกองทหาร
           2) ขตฺติเยสุ สงเคราะห์กษัตริย์เมืองขึ้นทั้งหลาย
           3) อนุยนฺเตสุ สงเคราะห์เหล่าเชื้อพระวงศ์ ผู้ตามเสด็จเป็นราชบริพาร
           4) พฺราหฺมณคหปติเกสุ คุ้มครองพราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย
           5) เนคมชานปเทสุ คุ้มครองชาวราษฎรพื้นเมืองทั้งหลาย
           6) สมณพฺราหฺมเณสุ คุ้มครองเหล่าสมณพราหมณ์
           7) มิคปกฺขีสุ คุ้มครองเนื้อนกที่เอาไว้สืบพันธุ์
           8) อธมฺมการปฏิกฺเขโป ห้ามปรามมิให้มีการประพฤติการอันผิดธรรม
           9) อธนานํ ธนานุปฺปทานํ ทำนุบำรุงผู้ขัดสนไร้ทรัพย์
           10) สมณพฺราหฺมเณ อุปสงฺกมิตฺวา ปญฺหาปุจฺฉนํ เข้าไปหาและสอบถามปัญหากะสมณพราหมณ์
           11) อธมฺมราคสฺส ปหานํ เว้นความกำหนัดในกามโดยอาการไม่เป็นธรรม
           12) วิสมโลภสฺส ปหานํ เว้นโลภกล้า ไม่เลือกควรไม่ควร
 
เมื่อพิจารณาชุดคุณธรรมของผู้ปกครองตามที่ยกมา จะพบว่าไม่มีเนื้อหาส่วนไหนเลยที่สนับสนุนสถานะความเป็นอภิสิทธิชนเหนือการ ถูกวิจารณ์ตรวจสอบของผู้ปกครอง ทั้งราชสังคหวัตถุ ทศพิธราชธรรม และจักรวรรดิวัตรล้วนแต่มีสาระสำคัญยืนยันอย่างสอดคล้องต้องกันว่า ‘ผู้ปกครองมีหน้าที่รับใช้ราษฎร’ โดยต้องมีศีลธรรม มีความซื่อสัตย์ เสียสละ อ่อมน้อมถ่อมตนต่อราษฎร มีความยุติธรรม รับผิชอบ มีความรู้ความสามารถในการปกครองให้ราษฎรอยู่ดีกินดี บ้านเมืองสงบสุข เป็นต้น
 
ฉะนั้น หากสังคมไทยยืนยันว่าความชอบธรรมของสถานะสถาบันกษัตริย์ คือการครองแผ่นดินโดยธรรม หรือโดยชุดคุณธรรมของผู้ปกครองตามคำสอนพุทธศาสนา ก็ย่อมหมายความว่า กษัตริย์ไทยมีหน้าที่รับใช้ราษฎร อ่อนน้อมถ่อมตนต่อราษฎร ไม่มีอภิสิทธิ์เหนือราษฎรโดยเด็ดขาด เพราะตามหลักการพุทธศาสนาในอัคคัญญสูตรนั้น กษัตริย์เป็น ‘สมมติราช’ ไม่ใช่ ‘สมมติเทพ’ กษัตริย์จึงมีความเป็นมนุษย์เท่ากับราษฎร ชุดคุณธรรมของผู้ปกครองตามคำสอนของพุทธศาสนา จึงไม่ได้มีเนื้อหาขัดแย้งกับหลักเสรีภาพและความเสมอภาคแต่อย่างใด
 
แต่กรณีที่ศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุกคุณสมยศ พฤกษาเกษมสุข 11 ปี เนื่องจากศาลพิจารณาเห็นว่า 
 
บทความคมความคิด ในนิตยสารเสียงทักษิณ (ที่คุณสมยศเป็น บก.) ทั้งสองฉบับ มีเนื้อหาที่ไม่ได้กล่าวถึงชื่อบุคคล แต่เขียนโดยมีเจตนาเชื่อมโยงเหตุการณ์ในอดีต เมื่อนำเหตุการณ์ในอดีตมาเชื่อมโยงแล้วสามารถระบุได้ว่าหมายถึงพระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เนื้อหาของบทความเป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น และแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อพระมหากษัตริย์ การที่จำเลยนำบทความไปจัดพิมพ์ จัดจำหน่าย และเผยแพร่ จึงมีเจตนาหมิ่นประมาท ดูหมิ่น และแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อพระมหากษัตริย์ และเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112...(ประชาไท)
 
การลงโทษจำคุกถึง 11 ปี โดยการตีความ ‘ข้อความ’ เพื่อสรุป ‘เจตนา’ ในใจของราษฎรว่าหมิ่นประมาท อาฆาตมาดร้ายประมุขของรัฐ ย่อมขัดต่อชุดคุณธรรมของผู้ปกครองตามคำสอนพุทธศาสนาอย่างสิ้นเชิง เพราะตามหลักการของพุทธศาสนาหากคำพูดหรือข้อความใดๆ ที่มีคนกล่าวหา ใส่ความ ด่า และฯลฯ ไม่เป็นความจริง สิ่งที่เราควรทำก็คือแสดงข้อมูลตรงข้ามมาหักล้าง แต่หากเป็นความจริงตามที่เขาว่ามาก็ต้องรับมาแก้ไขปรับปรุงตัวเอง ไม่มีเหตุผลที่ต้องลงโทษถึงขั้นต้องจำคุกใครๆ เพราะข้ออ้างที่ว่าเขาทำผิดด้วย ‘ข้อความ’ หรือ ‘คำพูด’ ในประวัติศาสตร์พุทธศาสนาจึงไม่เคยมี ‘ศาลไต่สวนศรัทธา’ (Inquisition) เพราะพุทธศาสนามีมุมมองเช่นเดียวกับวลีทองที่ว่า ‘เห็นต่างไม่ใช่อาชญากร’
 
ส่วนในสังคมประชาธิปไตย การทำผิดต่อประมุขของรัฐที่มีความหมายเป็นการหมิ่นประมาทด้วยข้อความหรือคำ พูดก็ควรมีโทษทางกฎหมายเท่ากับการหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดา เพราะตามหลักเสรีภาพและความเสมอภาคประมุขของรัฐก็คือ ‘คนธรรมดา’ เหมือนกับประชาชนทุกคน
 
การปกครองระบอบประชาธิปไตยที่สถาบันกษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ และยึดประเพณีว่าสถานะของสถาบันกษัตริย์มีความชอบธรรมตามหลักคุณธรรมของผู้ ปกครองในคำสอนของพุทธศาสนา จึงไม่ควรจะมี ม.112 หรือกฎหมายใดๆ ที่ยกสถานะของกษัตริย์ให้เป็นอภิสิทธิชนเหนือการวิจารณ์ตรวจสอบ
 
ฉะนั้น การมีกฎหมายอย่าง ม.112 และการใช้กฎหมายเช่นนี้ลงโทษจำคุกราษฎร ย่อมขัดต่อทั้งหลักคุณธรรมของกษัตริย์ตามคำสอนของพุทธศาสนา และขัดต่อหลักเสรีภาพ ความเสมอภาคของสังคมประชาธิปไตยอย่างสิ้นเชิง 
 
สรุปว่า “11 ปี สมยศ”  ไม่ขัดแย้งเฉพาะหลักการสากลคือหลักประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนเท่านั้น แต่ขัดแย้งทั้งหลักการเฉพาะของวัฒนธรรมการปกครองของไทยคือ หลักคุณธรรมของกษัตริย์หรือผู้ปกครองตามคำสอนของพุทธศาสนา
 
คำถามคือ ระบบยุติธรรมไทยจะจองจำ “ความเป็นคน” ที่มีเหตุผลและเสรีภาพของประชาชนเพื่อปกป้องอะไร เพื่อปกป้อง “ความยุติธรรม” หรือครับ แล้วความยุติธรรมต้องยึดโยงอยู่กับหลักการประชาธิปไตยและคุณธรรมของกษัตริย์ หรือไม่ ในที่สุดแล้วสังคมจะได้อะไร และใครคือผู้ที่มีความสามารถพอจะรับผิดชอบต่อการขัดขวางกระแสความก้าวหน้า ของประชาธิปไตยที่ไม่มีวันจะหยุดนิ่ง หรือถูกตรึงอยู่กับความทรงจำของอดีตที่ชนชั้นปกครองยุคเก่าสร้างขึ้น


"วันพิพากษา คดี คุณสมยศ พฤกษาเกษมสุข"

http://forum.banrasdr.com/showthread.php?tid=20054

** คดีตัดสินพี่สมยศเมื่อวาน บอกอะไรเราได้บ้างฮะ?? **
ผมขออนุญาตมิตรสหายนะคับ
ขอใช้พื้นที่ บอกเล่าเรื่องราวผ่านมุมมองของผม เกี่ยวกับเหตุการณ์เมื่อวาน

"วันพิพากษา คดี คุณสมยศ พฤกษาเกษมสุข"

วัน พุธ ที่ 23 มกราคม  2556

[ภาพ: 407248_480770011974943_2032589701_n.jpg]


หลายท่านคงได้อ่านคำพิพากษาฉบับย่อไปแล้ว และคงได้รู้แล้วว่า ไอ้ 10 +1 ที่พี่สมยศได้มานั้น มันมีที่มาที่ไปเป็นอย่างไร
ซึ่งรวมถึง หลายท่านอาจจะตามไปหาอ่านแล้ว ว่าบทความเจ้าปัญหาของ "จิตร พลจันทร์" มีเนื้อหาใจความอย่างไร

ผมขอละเว้นไว้ในส่วนนั้น .......

------------------------------------------------------------
ผมได้ไปที่นั่นโดยบังเอิญ เพราะภารกิจงานประจำ เลยไม่ได้คาดการณ์ไว้ล่วงหน้า ว่าต้องเอากล้องไปด้วย ไปถึงเกือบเที่ยง พบช่างภาพ นักข่าว และมวลชนบางส่วนนั่งรออยู่หน้าศาล ป่วยการที่จะเข้าไปฟังคำพิพากษาในห้อง ...เพราะคนล้นห้องพิจารณาจนเจ้าหน้าที่ศาลต้องไล่ออกมาเพื่อลดความแออัดจอแจ

ผมนั่งรอข้างหน้า ด้วยใจจดจ่อ เพราะเคารพพี่ยศเป็นการส่วนตัวมาเป็นระยะเวลาหนึ่ง แกมักบอกกับผมเสมอว่าแกเป็นแค่กรรมกรแรงงาน ไม่ใช่นักเคลื่อนไหว แต่สำหรับผม แกเป็นนักคิดคนสำคัญ ที่รู้ช่วง รู้ระยะ รู้จังหวะเวลาในการเคลื่อนไหว และถ่อมตัว ติดดินเสมอๆ
(เวลานี้ ผมจุกอกขึ้นมา เมื่ออยู่ๆ ก็นึกถึงแคมเปญที่แกเคยรณรงค์เพื่อให้ปลดปล่อยนักโทษการเมือง ปลดปล่อยแกนนำ.... แคมเปญที่แกลงทุนใส่ชุดนักโทษ ตีตรวนตัวเอง และยืนหลังกรงขัง..... มาในวันนี้ ..... ภาพเหล่านี้ กับสิ่งที่เกิดขึ้นจริงในตอนนี้ ผมไม่สามารถหาอัำำกขระใดๆ มาบรรยายความรู้สึกได้ถูก)

แกมักสอนผมเสมอๆ ว่าคนเรา หากจะเคลื่อนไหวอะไร ให้มองฝั่งที่คิดต่างว่าเขาก็เป็นคน เหมือนๆ กับเรา เรื่องบางเรื่องหากเป็นเรา อยู่ในสถานะเดียวกับเขา เราก็คงทำ ..... ให้ิวิพากษ์ที่เนื้อหา อย่านินทาเรื่องส่วนตัวเขา มันไม่เกี่ยวกัน

ผมจดจำใส่ใจ เป็นครู มาเสมอ...

-------------------------------------------------

เกือบเที่ยง นักข่าว Voice วิ่งออกมาจากตัวอาคาร แจ้งว่า โดน 11 ปี .... บรรดาคนที่นั่งอยู่ข้างหน้า ต่างหน้าถอดสี บางคนร้องไห้ ... นักข่าวเริ่มรุกฮือเข้ารุมล้อมสัมภาษณ์ทนายคารม และทนายประจำของพี่ยศ ...

ผมถ่ายภาพ และโพสต์ส่งข่าวหน้าบอร์ดแบบมือไม้สั่น

[ภาพ: 550030_496623670389577_95840902_n.jpg]

มีพี่น้องหลายคน เริ่มแสดงการไม่ยอมรับ และไม่เข้าใจเหตุผลในคำวินิจฉัยของศาลในครั้งนี้ โดยการแสดงออกด้วยสันติวิธี อย่างที่เห็น

[ภาพ: 76908_496622723723005_835015159_n.jpg]

ระหว่างนั้น พี่จุ๊บ ภรรยาพี่ยศ ถูกนักข่าวรอขอสัมภาษณ์..... เธอเข้มแข็ง แต่แววตาปวดร้าวเหลือเกิน...ผมบอกไม่ได้ ว่าเธอคาดเดามาแล้วหรือไม่ ว่าต้องเผื่อใจที่จะเจอกับอะไร

และผมก็บอกไม่ได้ ว่าครอบครัวของนักต่อสู้ฝั่งประชาธิปไตย ต้องใช้ความกล้าหาญและเข้มแข็งเด็ดเดี่ยวมากเพียงไหน ถึงจะข้ามผ่านเรื่องราวเหล่านี้ไปได้....

[ภาพ: 554493_496650070386937_1431637589_n.jpg]

จากนั้น พี่น้องจึงย้ายออกไปทำกิจกรรมกันบริเวณป้ายหน้าศาลอาญา (บริเวณเดียวกันกับกิจกรรมปฏิญญาหน้าศาล) ด้วยการจุดเทียนดำไว้อาลัยให้แก่ความยุติธรรมไทย และส่งเสียงแสดงพลัง "ปลดปล่อยนักโทษการเมือง"

[ภาพ: 64280_496650060386938_1346800440_n.jpg]

[ภาพ: 304186_496650220386922_154771794_n.jpg]

คุณลูกตาล Suwanna Tallek เพื่อนร่วมอุดมการณ์ กลุ่ม 24 มิถุนา ร้องไห้โฮอย่างหนัก

[ภาพ: 269276_496650217053589_2056424214_n.jpg]

[ภาพ: 601261_496650270386917_1487168947_n.jpg]

[ภาพ: 36523_496650413720236_1342524619_n.jpg]

"น้องไท" ลูกชายของพี่ยศ ..... ขณะพูดคุยกับมิตรสหายของพ่อ.... ผมนับถือความเข้มแข็งเด็ดเดี่ยวของครอบครัวนี้จริงๆ เมื่อมิตรสหายถามไถ่ ว่าจะอย่างไรต่อไป? พ่อว่ายังไงบ้าง? แกตอบด้วยรอยยิ้มน้อยๆ เสมือนปลอบใจคนรอบข้างว่า "สู้ครับ.... ยังไงก็จะสู้ต่อ"

[ภาพ: 544027_496650753720202_1802788288_n.jpg]

--------------------------------------------------------------------------

หลายเหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่ผ่านมาของฝ่ายประชาธิปไตย ....ฝ่ายที่มองเห็นคุณค่าของความเท่าเทียมและชีวิตมนุษย์เป็นเป้าหมายใหญ่

เราผ่านทั้งการสูญเสียชีวิต ร่างกาย และอิสรภาพมานับครั้งไม่ถ้วน
เราผ่านทั้งความสมหวัง ผิดหวัง หมดหวัง และท้อแท้มาไม่รู้ตั้งเท่าไหร่

ผมคิดว่า ในวันนี้ ไม่ว่าจะเป็นใคร ก็ไม่ควรจะต้องสูญเสียใน 3 สิ่งที่สำคัญนี้ไปอีก

ในขณะที่คนอย่างเราๆ มองนาฬิกาที่เข็มยาว และเข็มสั้น ผมเชื่อเหลือเกินว่าผู้สูญเสียและครอบครัวของเขา มองเวลา เป็นเข็มวินาที....

ผู้ที่สูญเสียคนที่รัก.... จะต้องจดจำฝังใจในสถานที่ และช่วงเวลาหนึ่งของทุกๆ ปี ว่าวันๆนี้ ที่ตรงนี้ ...เขาได้สูญเสียคนที่เขารักไป

ผู้ที่สูญเสียร่างกาย จะมีแต่ความเสียใจและหม่นหมองในทุกลมหายใจ ว่าเมื่อไหร่ตนจะตาย จะได้ไม่ต้องเป็นภาระให้คนรอบข้าง

ผู้ที่สูญเสียอิสรภาพ หากมีนาฬิกา คงนั่งมองเข็มวินาทีเดินไปอย่างช้าๆ เนิ่นนาน.......... ราวกับมันไม่มีวันจบสิ้น.....

สำหรับผม การเป็นส่วนหนึ่งของแรงขับเคลื่อนที่ยิ่งใหญ่ ผลักดันสิ่งใดก็ตาม เพื่อให้การสูญเสียนี้สิ้นสุดลง จะถือเป็นเกียรติในชีวิตที่ยิ่งใหญ่

เมื่อเวลาผ่านไป บันทึกเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ทำได้เพียงบันทึกชื่อเขาเหล่านั้นอยู่บนหน้า กระดาษ แต่ไม่อาจบันทึกความทรงจำและความเจ็บปวดที่เขาเหล่านั้นและครอบครัวได้ รับ.........


............พบกัน วันอังคารที่ 29 มกราคม 2556 นี้นะคับ......................

ปลดปล่อย เพื่อนเรา สู่อิสรภาพ


เปิดเส้นทางชีวิต ‘สมยศ พฤกษาเกษมสุข’


           สมยศ พฤกษาเกษมสุข ถูกควบคุมตัวในเรือนจำมา 1 ปี 8 เดือน ในข้อหาหมิ่นพระประมาทกษัตริย์ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 โดยถูกจับที่ด่านตรวจคนเข้าเมืองอรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว ขณะพาลูกทัวร์ของบริษัททัวร์ของเขาเข้ายื่นเอกสารเข้าไปยังประเทศกัมพูชา

ทนายความได้ยื่นประกันตัวแล้วกว่า 10 ครั้งแต่ศาลปฏิเสธคำร้อง

ความคืบหน้าล่าสุด วันพุธที่ 19 ธันวาคมนี้ ศาลนัดพร้อมอีกครั้ง ก่อนจะมีคำพิพากษา

          เขาโดนจับวันที่ 30 เมษายน 2554 จากกรณีที่เป็นบรรณาธิการนิตยสาร Voice of Taksin ซึ่งตีพิมพ์บทความ 2 ชิ้นในเดือนกุมภาพันธ์และมีนาคม 2553 โดยผู้ใช้นามแฝงว่า จิตร พลจันทร์ ซึ่งสมยศเบิกความในศาลว่า คือ นายจักรภพ เพ็ญแข บทความนั้นชื่อ แผนนองเลือดกับยิงข้ามรุ่น และ 6 ตุลา แห่ง พ.ศ.2553

          สุวิทย์ หอมหวล ทนายจำเลย กล่าวว่า การนัดพร้อมครั้งนี้เลื่อนมาจากนัดที่แล้ว (19 ก.ย.55) และจะเป็นการดูกระบวนการต่างๆ ที่ยังเหลือ รวมทั้งจะมีการอ่านคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญหลังจากที่ทางจำเลยยื่นไปว่า มาตรา 112 ขัดกับรัฐธรรมนูญ แต่ผลนั้นทราบก่อนแล้วจากเว็บไซต์ศาลรัฐธรรมนูญว่าศาลวินิจฉัยแล้วไม่ขัด จากนั้นน่าจะมีการนัดฟังคำพิพากษา แต่เชื่อว่าจะไม่อ่านคำพิพากษาเลยในวันที่ 19 ธ.ค.นี้ เนื่องจากโดยปกติแล้วต้องมีการนัดหมายล่วงหน้า

           ทนายจำเลยยังกล่าวสรุปถึงข้อต่อสู้ ในคดีว่า ประการแรก มีการสู้ในเรื่องเนื้อหา โดยชี้ว่า บทความนี้ไม่เป็นการหมิ่นสถาบัน ไม่เข้าองค์ประกอบของกฎหมาย เพราะไม่ได้หมายความไปถึงสถาบันกษัตริย์ แต่โจทก์เพียงนำคนไม่กี่คนมาอ่านแล้วตีความว่าเป็นการเขียนถึงกษัตริย์

           ประการที่สอง สมยศไม่ใช่คนเขียน ดังนั้นไม่ต้องรับผิดชอบตามกฎหมาย เป็นไปตาม พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ.2550 ซึ่งมีการแก้ไขใหม่จากเดิมที่บรรณาธิการต้องรับผิด            ชอบด้วย นอกจากนี้สมยศยังไม่ใช่บรรณาธิการตามกฎหมายด้วย แต่เจ้าหน้าที่อ้างว่าสมยศเป็นบรรณาธิการโดยพฤตินัย

           ประการที่สาม การยื่นเรื่องมาตรา 112 ขัดรัฐธรรมนูญ แต่เรื่องนี้ทราบผลวินิจฉัยแล้ว
           “เรื่องนี้เป็นเรื่องทางการเมือง เพราะสมยศเขาเคลื่อนไหวแรง ไม่ได้แรงโดยแอคชั่น แต่แรงโดยเนื้อหา สุเทพ (เทือกสุบรรณ) เคยขู่ออกทีวีเลยว่าจะต้องเอาเข้าคุกให้ได้พวกที่อยู่ในผังล้มเจ้า ซึ่งชื่อสมยศก็ถูกใส่ไว้ด้วย” สุวิทย์กล่าว

           ผังล้มเจ้าถูกยอมรับไปแล้วว่าไม่มีมูล ทั้งจาก พ.อ.สรรเสริญแก้วกำเนิด โฆษก ศอฉ.เอง หรือ สำนวนการสอบสวนและความเห็นของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ส่งถึงอธิบดีอัยการฝ่ายคดีพิเศษ เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2555

           "จากข้อเท็จจริงและพยานหลักฐาน จึงยังไม่สามารถยืนยันได้ว่าบุคคลตามผัง...จะได้ร่วมกันในลักษณะเป็นขบวนการหรือองค์กร เพื่อกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ประกอบมาตรา 83"

 แต่เรื่องราวต่อเนื่องจากนั้นก็ยังไม่จบ

           สมยศ เป็นหนึ่งในจำเลยไม่กี่คนที่ต่อสู้ คดี และยืนยันว่าเนื้อหาไม่ผิด (ไม่เกี่ยวกับสถาบัน) ชื่อของเขาถูกพูดถึงบ่อย แต่อาจยังไม่มีใครรู้จักเขานัก โดยเฉพาะบทบาทอื่นๆ นอกเหนือจากการเมือง

           ในช่วงไม่กี่ปีของความขัดแย้งทางการเมือง สมยศ เป็นที่รู้จักดีในนามแกนนำกลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย เขาเริ่มออกมาเคลื่อนไหวตั้งแต่หลังรัฐประหารใหม่ๆ ก่อนจะมีขบวนการคนเสื้อแดงอย่างเป็น เรื่องเป็นราว เขาร่วมกับสมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บก.ลายขุด จรัล ดิษฐาอภิชัย หมอเหวง โตจิราการ หมอสันต์ หัตถีรัตน์ ครูประทีบ อึ้งทรงธรรม จัดตั้งกลุ่มเคลื่อนไหวขึ้นซึ่งนับก้าวแรก ก่อนจะไปสู่แนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการหรือ นปก. ซึ่งเขาเป็นแกนนำรุ่น 2 จนกระทั่งมีการขยับขยายกลายเป็นแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช. ในปัจจุบัน


          นอกเหนือจากบทบาททางการเมือง อาจมีไม่กี่คนที่รู้ว่าเส้นทางชีวิตส่วนใหญ่ของสมยศนั้นอยู่บน ‘ถนนสายแรงงาน’ ประวัติศาสตร์การต่อสู้เด่นๆ ของแรงงาน หลายกรณีมีชื่อของเขาร่วมส่วนอยู่ด้วยไม่มากก็น้อย เช่น กรณีการต่อสู้เรียกร้องค่าชดเชยคนงานเคเดอร์ โรงงานตุ๊กตาที่ถูกไฟไหม้ ปี 2536

          สุวรรณา ตาลเหล็ก แห่งกลุ่ม 24 มิถุนาฯ ทีมงานคนสนิทของสมยศ เล่าให้ฟังว่า เธอร่วมงานกับเขามาตั้งแต่ปี 2540 ที่ ศูนย์บริการข้อมูลและฝึกอบรมแรงงาน (ศบร.) ซึ่งสมยศก่อตั้งมาตั้งแต่หลังการรัฐประหารปี 2534
 
           อย่างไรก็ตาม สมยศเริ่มทำงานด้านสิทธิแรงงานมาก่อนหน้านั้นแล้ว โดยเฉพาะย่างก้าวสำคัญอย่างการร่วมกันกับขบวนการแรงงาน นักศึกษา นักกิจกรรม ผลักดันเรื่องระบบประกันสังคมจนกระทั่งประสบความสำเร็จในยุครัฐบาลชาติชาย ชุณหะวัณ

           ศูนย์นี้มีบทบาทในการให้การศึกษา ฝึกอบรมด้านกฎหมายคุ้มครองแรงงาน กฎหมายแรงงานสัมพันธ์ให้กับคนงาน เคลื่อนไหวเรียกร้องการเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ ยกเลิกระบบเหมาช่วง ส่งเสริมการรวมตัวของคนงาน การจัดตั้งสหภาพ ฯลฯ เรียกได้ว่า ช่วยให้คนงานได้มีความเข้มแข็งในการต่อรองกับนายจ้างและสร้างความเป็นธรรมขึ้นในระบบการจ้างงาน

           “เขามีบทบาทในการนำคนงานยื่นข้อเรียกร้อง เจรจานายจ้าง เรื่องที่ร่วมกันกับองค์กร แรงงานต่างๆ ผลักดันจนสำเร็จก็มีเรื่อง สิทธิในการลาคลอด การประกันการว่างงาน ซึ่งเขาบทบาทเด่น เพราะการตามติดแบบไม่มีทิ้ง” สุวรรณากล่าว

           เยาวภา ดอนสี เจ้าหน้าที่สหพันธ์แรงงานฯ ซึ่งทำงานกับเครือข่ายช่วยเหลือสิทธิคนงานไก่ เป็นแรงงานอีกคนที่รู้จักสมยศมาตั้งแต่เธอยังเป็นคนงานในโรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าในเครืออีเดนกรุ๊ป ช่วงนั้นสมยศเข้าไปจัดการศึกษาเรื่องความสำคัญของสหภาพแรงงาน แต่ไม่ทันไรพวกเขาก็ได้มีประสบการณ์ตรงเมื่อโรงงานมีการเลิกจ้างและปิดโรงงานในช่วงปี 2538-2539 ในขณะที่สหภาพของคนงานไม่เข้มแข็ง กลุ่มของสมยศได้ช่วยรณรงค์ในทางสากล และประสานงานกับภาคส่วนต่างๆ ให้ร่วมกดดัน จนกระทั่งมีการทำบันทึกเรื่องการจ่ายค่าชดเชยที่มากกว่ามาตรฐานโดยทั่วไปในขณะนั้นที่จะจ่ายค่าชดเชย 6 เดือน กลายเป็น 10 เดือน ซึ่งกลายมาเป็นมาตรฐานจนกระทั่งปัจจุบัน

           “คนข้างนอกมองว่าแกเป็นแบดแมนในวงการแรงงาน แต่ตลอดเวลาที่เห็นมาแกไม่เคยรับเงิน นายจ้าง คนชอบว่าแกได้เงินเยอะ แต่เคสที่เกิดขึ้นกับเรา เราเป็นคนดูเรื่องเงิน แกไม่เคยได้ พอคนงานได้ค่าชดเชย คนงานจะซื้อทองให้บาทนึง ก็ยังไม่รับ” เยาวภากล่าว

           “เขามีบทบาทสูงมากในการสร้างแนวคิดเรื่องสหภาพแรงงาน และย้ำตลอดว่าเราไม่ควรต่อสู้เฉพาะเรื่องแรงงาน ควรต่อสู้ทางสังคมในเรื่องอื่นๆ ที่กระทบกับประชาชนโดยรวมด้วย เพื่อให้สังคมมันดีขึ้น” เยาวภากล่าว

           สุวรรณา ช่วยยืนยันถึงความใส่ใจในประเด็นปากท้องคนงานของสมยศ ว่า แม้เมื่อมาเคลื่อนไหวทางการเมืองในช่วงที่เป็นแกนนำ นปก.รุ่นสอง เขาก็ไม่ลืมที่จะผลักดันให้มีการบรรจุเรื่อง การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำลงไปในข้อเรียกร้องทางการเมืองของกลุ่มด้วย

           “มันเป็นข้อเรียกร้องทางการเมือง แต่ก็มีเรื่องค่าแรงขั้นต่ำด้วย คนฟังอาจจะงงว่ามายังไง แต่พี่ยศก็ไฟท์จนคนอื่นยอมรับว่าเรื่องเศรษฐกิจ เรื่องปากท้องของคนชั้นล่างเป็นเรื่องสำคัญ”

            เมื่อถามว่าสุวรรณาเข้ามาสู่การต่อสู้ทางการเมืองจนกระทั่งมี การก่อตัวกลุ่ม 24 มิถุนาฯ ได้อย่างไร เธอเล่าว่า หลังการรัฐประหาร 19 ก.ย.49 สมยศได้ชักชวนเพื่อนๆ บางส่วนไปที่สนามหลวงซึ่งขณะนั้นยังมีประชาชนกลุ่มย่อยๆ ออกมาใช้พื้นนั้นต่อต้านการรัฐประหารกันเอง

           ส่วนกลุ่ม 24 มิถุนาฯ นั้นเกิดขึ้นเมื่อราวปี 2552 จากการหารือกันของคอการเมืองซึ่งเป็นนักธุรกิจชั้นกลาง หรือเอสเอ็มอี นักศึกษา นักกิจกรรม กรรมกรว่า น่าจะมีกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองเรื่องประชาธิปไตยจริงๆ จังๆ โดยสมยศเห็นว่าการมีกลุ่มย่อยหลายๆ กลุ่มนั้นเป็นเรื่องที่ดี ไม่ว่าจะเป็นกลุ่ม 19 กันยาต้านรัฐประหาร กลุ่มคนวันเสาร์ไม่เอาเผด็จการ ฯ




            “ช่วงที่ตั้งกลุ่มพอดีมันใกล้วันเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนา ปีนั้นครบรอบ 77 ปี แล้วเราก็ทำกิจกรรมในเชิงสัญลักษณ์กันเยอะ เราเลยเอาวันนี้มาตั้งชื่อกลุ่ม โดยประกาศว่าจะสืบทอดเจตนารมณ์ของคณะราษฎร์” สุวรรณากล่าวและยกตัวอย่างกิจก รรมของกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็น กิจกรรมเปิดตูดคว่ำรัฐธรรมนูญ 2550, ยิงธนูยกเลิกกฎอัยการศึก, ปลาร้าปาร์ตี้, ฉีกสมุดบัญชีธนาคารที่สนับสนุนกลุ่มพันธมิตรและรัฐประหาร, กิจกรรมกรีดเลือด เป็นต้น

           ด้วยความที่สมยศเชื่อใน ‘การจัดกลุ่มศึกษา’ มาตั้งแต่สมัยทำงานด้านแรงงาน เขาจึงจัดกลุ่มลงพื้นที่ ใต้ อีสาน กลาง เหนือ เพื่อจัดการศึกษาเรื่องประชาธิปไตยในหมู่บ้าน

          “จริงๆ พวกเรานี่ตะลอนไปทั่วอยู่ก่อนแล้ว พวกสมยศ วิภูแถลง จรัล ตั้งแต่ยังไม่มีคนเสื้อแดงเลยด้วยซ้ำ เราไปจัดสัมมนากันครึ่งวัน เงินก็ออกกันเอง สมยศกดบัตรเครดิตออกไปก่อน ช่วงนั้นไม่มีใครสนับสนุนใครได้

           “ตอนนั้นคนอยากรู้ มีคำถาม แต่ยังไม่ตื่นตัวเหมือนเดี๋ยวนี้ เรื่องประชาธิปไตย เรื่องบทบาทสถาบันนี้ตื่นตัวระยะหลังปี 52 มากที่สุดก็ตอนงานศพน้องโบว์ มวลชนในพื้นที่เริ่มถามเรื่องระบอบ เรื่องความเหลื่อมล้ำ พวกนี้เป็นคำถามที่ถูกถามบ่อยขึ้น คือ มองข้ามทักษิณไปเลย” สุวรรณากล่าว




           เขาทำเช่นนั้นมาโดยตลอดจนกระทั่งถูกจับกุม ก่อนหน้าถูกจับ 5 วัน เขาประกาศล่ารายชื่อประชาชนเพื่อเสนอยกเลิกกฎหมายมาตรา 112

           “เขาเชื่อมั่นว่าทำได้ภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญ เป็นสิทธิการแสดงออกขั้นพื้นฐาน”สุวรรณาระบุเหตุผลเบื้องหลังกิจกรรมนี้

           สุวรรณาเล่าว่า ก่อนจะมีการประกาศขับเคลื่อนเรื่องนี้ก็มีการประชุมและประเมินเรื่องนี้กันอยู่เป็นระยะ เนื่องจากเห็นว่ามาตรานี้ถูกนำมาใช้ในทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นกรณีจักรภพ เพ็ญแข กรณีดา ตอร์ปิดโด กรณีแม่หมอ หรือบุญยืน ประเสริฐยิ่ง

           หลังจากประกาศเดินหน้าเรื่องนี้ 5 วัน เขาก็ถูกจับกุม โดยตำรวจแจ้งข้อหาเกี่ยวกับบทความที่ลงไปตั้งแต่ปีที่แล้ว (2553) ในนิตยสาร Voice of Taksin
 
           อันที่จริง นิตยสารต่างๆ ของคนเสื้อแดงเริ่มเบ่งบานมาตั้งแต่ปี 2552 โดยเฉพาะหลังการสลายการชุมนุมเดือนเมษายน เราจะพบหนังสือหลากหลายหัว รายปักษ์ รายเดือน รายสามเดือน เต็มแผงเมื่อมีการชุมนุมที่ท้องสนามหลวง แต่เมื่อเวลาผ่านไปก็มีไม่กี่หัวที่ยังเหลือรอด หนึ่งในนั้นคือหนังสือที่สมยศทำด้วย

           “ตอนแรกเป็น Voice of Taksin แล้วก็โดน ศอฉ.ปิด หลังจากนั้นเขาถูกจับไปค่ายอดิศร 21 วัน พอทหารปล่อยออกมาเขาก็ประกาศเปิดเป็น Red Power” สุวรรณากล่าว และอธิบายถึงเบื้องหลังแนวคิดการเปิดตัวนิตยสารการเมืองของสมยศว่าเป็นเพราะเขาเห็นว่า เสื้อแดงยังไม่ค่อยมีสื่อของตัวเอง จึงอยากทำสื่อนี้ขึ้นมา

           เมื่อถามว่า ตกลงชื่อนิตยสารหมายถึงอะไรกันแน่ สุวรรณาหัวเราะก่อนตอบว่า “เท่าที่รู้มันเป็นการตลาด จะอ่านทักษิณก็ได้ ตากสินก็ได้ หรือจะหมายถึงทักษิณที่แปลว่าใต้ก็ได้ แต่ที่รู้ๆ คือชื่อนี้ขายดีแน่” เธอกล่าว และว่าแต่ในขณะเดียวกันก็ทำให้คนไม่สนับสนุนด้านการบริจาคเพราะคิดว่าได้รับเงินจากทักษิณแล้ว ทั้งที่ไม่เคยได้รับการสนับสนุนใดๆ จากอดีตนายกรัฐมนตรี

           นี่คือคำบอกจากเล่าจากอดีตแรงงานซึ่งทำงานร่วมกับสมยศตั้งแต่อยู่บนถนนสายแรงง เพื่อให้เห็นภาพคร่าวๆ ของ ผู้ต้องขังคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพคนนี้ และเป็นคดีที่กำลังจะมีคำพิพากษาเร็วๆ นี้


ประวัติสมยศ พฤกษาเกษมสุข

          สมยศ พฤกษาเกษมสุข เกิดเมื่อวันที่ 20 กันยายน 2504 ในครอบครัวคนจีนย่านฝั่งธนบุรี มีพี่น้องด้วยกัน 7 คน
สมยศมีความสนใจด้านการเมืองตั้งแต่ยังเยาว์วัย สมัยที่ยังนุ่งขาสั้นนักเรียนมัธยมต้นเขาตามพี่ชายไปร่วมชุมนุมในเหตุการณ์ 14 ตุลา 16 ในยุคประชาธิปไตยเบ่งบานได้ทำให้เด็กหนุ่มชื่อสมยศ ซึมซับกับความเป็นประชาธิปไตย และหากเห็นความไม่ชอบธรรมเขามักเข้าร่วมเรียกร้องความยุติธรรมเสมอ 

          ในช่วงเหตุการณ์ 6 ตุลา 19 สมยศได้เข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองอย่างเต็มตัวกับเพื่อน ๆ ในวัยเดียวกันในนามเด็กอาชีวะจากเทพศิรินทร์ซึ่งเขากำลังศึกษาอยู่ในขณะนั้น หลังเรียนจบที่โรงเรียนเทพศิรินทร์ ก็เข้ามาเป็นนักศึกษาที่มหาลัยรามคำแหง ในปี 2524 ได้เริ่มทำกิจกรรม ในกลุ่มศูนย์นักศึกษารามคำแหงศึกษาปัญหาแรงงาน  และระหว่างที่ศึกษาอยู่ในมหาวิทยาลัยรามคำแหง เขาเป็นนักกิจกรรมตัวยงคนหนึ่งที่อุทิศตนต่อการต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนและความชอบธรรมทั้งหลายโดยเข้าร่วมกับกลุ่มเสรีธรรม (ในสมัยนั้น) ในการทำกิจกรรมกับกรรมกรในโรงงานและชาวบ้านในชุมชน เพื่อสร้างความตื่นตัวในการรับรู้เรื่องสิทธิเสรีภาพของพลเมืองและแนวคิดการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ควบคู่ไปกับการเขียนหนังสือ บทความที่เขาชื่นชอบและถนัดในงานเขียนกิจกรรมกลุ่ม จัดตั้งสหภาพแรงงาน จัดทำอบรมให้ความรู้ทางด้านกฎหมาย จัดค่ายกรรมกรกับนักศึกษา สนับสนุนการนัดหยุดงาน การชุมนุมเดินขบวน เรียกร้องต่อรัฐบาล อย่างแข็งขัน
พื้นที่สหภาพแรงงานย่านสหภาพ แรงงานพระประแดง สมุทรปราการ เช่นสหภาพแรงงานอาภรณ์ไทย สหภาพแรงงานส่งเสริมการทอ สหภาพแรงงานไทยเกรียง สหภาพแรงงานพิพัฒน์สัมพันธ์ สหภาพแรงงานเซ็นจูรี่ สหภาพแรงงาน เมโทร ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในอุตสาหกรรมสิ่งทอฯ และสหภาพแรงงานเหล็กและโลหะแห่งประเทศ


             ในปี พ.ศ. 2527 ได้เข้ามาทำงานใน ในสมาคมสิทธิเสรีภาพประชาชน(สสส) ในตำแหน่งเจ้าหน้าที่และอาสาสมัครฝ่ายส่งเสริมสิทธิกรรมกร  ในปี 2527 (สสส.)กำหนดให้พื้นที่อ้อมน้อย-อ้อมใหญ่เป็นกลุ่มเป้าหมายหลัก นำไปสู่การจัดกิจกรรมอบรมกฎหมายแรงงาน กิจกรรมคลีนิกแรงงานกิจกรรมสนับสนุนการรวมกลุ่มและช่วยเหลือจัดตั้งสหภาพแรงงาน เพราะเห็นว่าเป็นพื้นที่คนงานได้รับค่าจ้างและสวัสดิการน้อยกว่าพื้นที่อื่น
 
             ในปี 2529 ได้เข้าทำงานในกลุ่มเยาวชนคนงานสากล Young Christain Worker (YCW) ในตำแหน่งเจ้าหน้าที่ประจำเป็นองค์กรพัฒนาเอกชนที่มีบทบาทในการรวมกลุ่มคนงานระดับเยาวชน เพื่อการเรียนรู้ในการใช้ชีวิตในสถานะคนงาน การร่วมกันคิด เพื่อพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เป็นองค์กรที่มีเครือข่ายที่มีเครือข่ายในระดับสากล ทั้งภูมิภาคเอเชีย และยุโรปและอเมริกา เป็นต้น มีสมาชิกจากคนงานในโรงงานในแถบพระประแดง บางพลี จ.สมุทรปราการ รังสิต จ.ปมุมธานี การผลักดันกฎหมายประกันสังคม มีบทบาทสนับสนุนการรวมกลุ่มและให้การศึกษาแก่สมาชิกที่อยู่ในสหภาพแรงงานร่วมมือในการผลักดันผู้มีบทบาทสำคัญในการผลักดันกฎหมายประกันสังคมในช่วงนั้น คือคุณสมยศ พฤกษาเกษมสุข ผู้ประสานงานและเจ้าหน้าที่
 
               ในปี 2534 พฤษภาคม ปี2534 หลังการรัฐประหารยึดอำนาจจาก พล.อ ชาติชาย ชุณหะวัณ โดยคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) สมยศได้ร่วมกับเพื่อนจัดตั้งโครงการบริการข้อมูลและฝึกอบรมแรงงาน โดยได้รับการสนับสนุนจากเพื่อน ๆ นักกิจกรรมทางสังคมทั้งในและต่างประเทศ และพัฒนามาเป็นศูนย์บริการข้อมูลและฝึกอบรมแรงงาน (ศบร.) ในเวลาต่อมา โดยมีความมุ่งหวังเพื่อ

  1. ให้การศึกษาอบรมอบรมแก่คนงานให้ตระหนักรู้ในสิทธิของตนเอง
  2. ส่งเสริมการรวมกลุ่มของคนงานในรูปองค์กรเพื่อเป็นเครื่องมือในการต่อสู้ยกสถานภาพของผู้ใช้แรงงานและปรับปรุงสภาพแวดล้อมในการทำงานและคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น
  3. ส่งเสริม สนับสนุนการสร้างสหภาพแรงงานแนวประชาธิปไตย
  4. ส่งเสริมการรวมกลุ่มคนงานหญิงและสร้างแกนนำแรงงานหญิงในองค์กร
  5. รณรงค์ให้มีการแก้ไขกฎหมายแรงงานเพื่อให้สามารถปกป้องสิทธิและผลประโยชน์ของผู้ใช้แรงงานได้ดีขึ้น และเพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ใช้แรงงานหากมีการปฏิเสธไม่ยอมรับ หรือละเมิดสิทธิของผู้ใช้แรงงาน
  6. เพื่อจัดการฝึกอบรมและกิจกรรมที่ให้ความรู้อื่น ๆ เพื่อให้ผู้ใช้แรงงานมีความรู้และตระหนักถึงสิทธิของตน
  7. เพื่อส่งเสริมให้ผู้ใช้แรงงานรวมกลุ่มขึ้นเป็นองค์กร เพื่อเป็นเครื่องมือในการต่อสู้เพื่อยกสถานภาพของผู้ใช้แรงงานและปรับปรุง สภาพแวดล้อมในการทำงานและคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น
  8. เพื่อรณรงค์ให้มีการแก้ไขกฎหมายแรงงานเพื่อให้สามารถปกป้องสิทธิและผล ประโยชน์ของผู้ใช้แรงงานได้ดีขึ้น และเพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ใช้แรงงานหากมีการปฏิเสธไม่ยอมรับ หรือละเมิดสิทธิของผู้ใช้แรงงาน
กิจกรรม
  • จัดการฝึกอบรม
  • ส่งเสริมให้ผู้ใช้แรงงานรวมกลุ่มขึ้นเป็นองค์กร
  • ให้การสนับสนุนนโยบาย
  • ให้ความช่วยเหลือด้านกฎหมาย
  • ออกจดหมายข่าวผู้ใช้แรงงาน (ซึ่งคุณสมยศพฤกษาเกษมสุข เป็นบรรณาธิการ)
  •  
           ตลอดระยะเวลากว่าสิบปีที่ศูนย์บริการข้อมูลและฝึกอบรมแรงงาน (Center for Labour Information Service and Training; CLIST) ได้ร่วมต่อสู้ร่วมกับคนงานและขบวนการแรงงานมาโดยตลอดจนข้อเรียกร้องเหล่านั้นประสบ ความสำเร็จในปัจจุบัน เช่น กฎหมายประกันสังคม การลาคลอด 90 วัน การเพิ่มเงินสงเคราะห์บุตร การประกันการว่างงาน การให้ความช่วยเหลือและสนับสนุนการต่อสู้ของคนงาน เช่นกรณีคนงานเคเดอร์ คนงานไทยเบลเยี่ยม คนงานเครืออีเด็นกรุ๊ฟ ซึ่งสามารถเรียกค้าชดเชยได้สูงกว่ากฎหมาย เป็นต้น นอกจากนั้น ศูนย์บริการข้อมูลและฝึกอบรมแรงงาน (ภายใต้การบริหารของสมยศ) ยังให้การสนับสนุนการจัดตั้งองค์กรการจัดตั้งกลุ่มคนงานสตรีสู่เสรีภาพ การจัดตั้งกลุ่มสหภาพแรงงานเคมีภัณฑ์ และสนับสนุนการจัดตั้งพันธมิตรสหภาพแรงงานประชาธิปไตย จนกระทั่งศูนย์บริการข้อมูลและฝึกอบรมแรงงานปิดตัวลงเมื่อเดือน พฤษภาคม 2550 ด้วยเหตุผลด้านงบประมาณ โดยมีสมยศ เป็นผู้อำนวยการตั้งแต่ปี 2534 – 2550 รวมระยะเวลา 16 ปี

มีผลงานในทางวิชาการที่ตีพิมพ์เป็นหนังสือที่เกี่ยวข้องทางการเมืองและกรรมกร
  • ประกันสังคมประกันการว่างงาน ความหวังของผู้ใช้แรงงานและคนว่างงาน
  • คุณค่า ความหมาย ของสหภาพแรงงาน
  • เทคนิคการเจรจาต่อรองในการยื่นข้อเรียกร้อง
  • กระเทาะเปลือกทักษิณ
  • เหี้ยครองเมือง

             แรงบันดาลใจในการทำงานกรรมกรเพราะเคยไปทำงานในโรงงานผลิตรถยนต์วอลโว่ เพื่อศึกษาวิถีชีวิตของกรรมกรในช่วงระยะเวลาสั้นๆเพื่อได้เห็นสภาพความยากลำบากของกรรมกร และได้จัดทำคู่มือเกี่ยวกับการยื่นข้อเรียกร้องที่ทำให้กรรมกรเห็นถึงการกดขี่ ขูดรีด มูลค่าส่วนเกินที่ทำให้คนเข้าใจได้ง่าย

           ภายหลังการปิดตัวของ ศบร. สมยศ ได้หันไปทำงานด้านสื่อสารมวลชนที่คนตนเองถนัดและชื่นชอบโดยจัดพิมพ์และเป็นบรรณาธิการหนังสือสยามปริทัศน์ และบทบาทหลังรัฐประหาร 19 กันยา 49 สมยศได้เข้าร่วมขับไล่รัฐบาลรัฐประหาร หรือที่เราเรียกกันว่ารัฐบาล คมช. ในนามแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ(นปก.) หรือแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) โดยเป็นแกนนำรุ่นสอง
 
           ในขณะเดียวกัน สมยศร่วมกับเพื่อนๆ และประชาชนที่รักประชาธิปไตยที่ออกมาเคลื่อนไหวต่อต้าน “รัฐประหาร 19 กันยา 49” ได้ร่วมกันจัดตั้งกลุ่ม “24 มิถุนาประชาธิปไตย” ขึ้น ในต้นเดือนมิถุนายน 2550 ซึ่งจะครบวาระการสถาปนาระบอบประชาธิปไตยครบรอบ 75 ปี ในวันที่ 24 มิถุนายน 2550 โดยมีวัตถุประสงค์ 1)ให้การศึกษาเผยแพร่ข่าวสาร ข้อมูลเพื่อปลูกฝังจิตสำนึกประชาธิปไตยให้กับประชาชนและสาธารณชน 2)รวมกลุ่มประชาชนทุกสาขาอาชีพในการเข้าร่วมและสนับสนุนการเคลื่อนไหวต่อต้านเผด็จการทุกรูปแบบ 3)ประสานความร่วมมือกับกลุ่มองค์กรประชาชนทั้งในประเทศและต่างประเทศเพื่อสร้างสังคมประชาธิปไตย ความเป็นธรรม สิทธิเสรีภาพ ความเสมอภาคเท่าเทียมในสังคม

อย่างไรก็ตามแม้สมยศจะเคยเป็นแกนนำ นปช.รุ่นสองมาก่อน แต่ก็ได้ยุติบทบาทและออกจากการเป็นแกนนำ นปช.ไม่ได้เกี่ยวข้องใดๆ กับแกนนำและกิจกรรมอื่นๆ ของ นปช. ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2550

            เมื่อวันที่ 24 พ.ค. 2553 ได้ถูกพนักงานควบคุมตัวในขณะเข้ามอบ ตัวตามหมายจับ ที่กองบังคับการปราบปราม (บก.ป.) พร้อมกับผศ.ดร.สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ระดับ 8 ของ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในขณะเดินทางเข้ามอบตัวกับ พล.ต.ท.ไถง ปราศจากศัตรู ผบช.ก. พล.ต.ต.จักรทิพย์ ชัยจินดา รอง ผบช.น. และ พ.ต.อ.สุพิศาล ภักดีนฤนาถ รรท.ผบก.ป. ในฐานะผู้ต้องหาตามหมายจับ ในความผิดตาม พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 มาตรา 11 (1) ประกาศให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจจับกุมและควบคุมตัวบุคคลที่สงสัยว่าจะ เป็นผู้ร่วมกระทำการให้เกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือเป็นผู้ใช้ ผู้โฆษณา ผู้สนับสนุนการกระทำเช่นว่านั้น หรือปกปิดข้อมูลเกี่ยวกับการกระทำให้เกิดสถานการณ์ฉุกเฉินถูก จับกุมตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน สมยศเป็นบรรณาธิการหนังสือ “Voice of Taksin” หรือ “เสียงชาวใต้” ซึ่งหมายถึงเสียงของคนชั้นล่าง เสียงของผู้ไร้สิทธิไร้เสียงในสังคม เพื่อจะเป็นกระบอกเสียงให้กับคนชั้นล่างของสังคม ในการถ่ายทอดความรู้สึก ความต้องการ ของพวกเขาเหล่านั้นผ่านงานเขียนทางหนังสือ เพื่อสะท้อนปัญหา เศรษฐกิจ สังคม การเมืองอย่างตรงไปตรงมา อย่างต่อเนื่อง
 
ใน วันที่ 12 มิถุนายน 2553 ศาลยกคำร้อง ศอฉ.กรณีขอคุมตัว “สมยศ พฤกษาเกษมสุข” ต่อครั้งที่ 3 ชี้ ไม่มีความจำเป็น เหตุความวุ่นวายสิ้นสุดแล้วจึงปล่อยตัว

*ข้อมูลจากกลุ่มเคลื่อนไหว FREE SOMYOS

ผู้ให้ข้อมูลร่วมกัน