แดงเชียงใหม่

กราบสวัสดี พี่น้องทุกๆท่านที่เข้ามาเยี่ยมเยือน Blog นปช.แดงเชียงใหม่ ขอเรียนชี้แจงสักนิดว่า เรา ”แดงเจียงใหม่” เป็นกลุ่มคนชาวเจียงใหม่ที่เคารพรัก กติกาประชาธิปไตย ต่อสู้และต่อต้านเผด็จการทุกรูปแบบ อยากเห็นประเทศชาติภายภาคหน้า มีความเจริญ ประชาชน รุ่นลูกหลานของเราอยู่อาศัยอย่างร่มเย็นเป็นสุขในประเทศของพวกเราเอง ไม่มีกลุ่มอภิสิทธิ์ชนกลุ่มใดมาสูบเลือดเนื้อ แอบอ้างบุญคุณเฉกเช่นในยุคนี้ที่พวกเราเห็น การที่จะได้รับในสิ่งที่มุ่งหวังก็ต้องมีการต่อสู้แสดงกำลังให้สังคมได้รับรู้ และเพื่อที่จะให้กลุ่มบุคคลที่มีอำนาจในปัจจุบันได้เข้าใจในสังคมที่ก้าวหน้าเปลี่ยนแปลงไป ไม่อาจฝืนต่อกระแสการพัฒนาของโลก การต่อสู้ร่วมกับผองชนทั่วประเทศในครั้งนี้ เรา " แดงเจียงใหม่ " ได้ร่วมต่อสู้ทุกรูปแบบ และ ในรูปแบบที่ท่านได้เข้ามาร่วมอยู่นี้ คือการเผยแพร่ข่าวสารต่อสังคม

เรา " แดงเจียงใหม่ " ขอเชิญชวนร่วมกันสร้างขวัญ และกำลังใจให้เพื่อนพ้องน้องพี่ร่วมกัน


"อันประชาสามัคคีมีจัดตั้ง
เป็นพลังแกร่งกล้ามหาศาล
แสนอาวุธแสนศัตรูหมู่อันธพาล
ไม่อาจต้านมวลมหาประชาชน"

.

วันเสาร์ที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

ปราสาทเขาพระวิหาร กับคำเตือนของปรีดี พนมยงค์ เรื่องการได้ดินแดนมาด้วยการใช้กำลัง



โดย มติชน วัน อังคาร ที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2551 00:05 น.

โดย ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์

--------------
"ดัง นั้น สถานการณ์ ทวงคืนปราสาทพระวิหาร ที่ปรากฏในสังคมไทย ก็ดูจะมีลักษณะคล้ายคลึงบางประการกับการเรียกร้องดินแดนเพื่อนบ้านเมื่อปี 2483-2484 และจุดจบก็ไม่น่าจะต่างกันมากนักหากมีการใช้กำลัง

แต่ผลนั้นอาจจะสะเทือนต่อเอกราชและเกียรติศักดิ์ของชาติไทยมากยิ่งกว่าครั้งเรียกร้อ
งดินแดนในอดีต

และในครั้งนี้ ไทยเราอาจจะไม่โชคดีเหมือนครั้งยุติสงครามโลกครั้งที่ 2 คือไม่มีใครหรือปัจจัยอื่นใดมาช่วยให้ไทยรอดพ้นจากการตกเป็นผู้ปราศรัยของ ประชาคมโลก
ได้"


--------------------------------
เป็นความจำเป็นและผลประโยชน์ของประเทศไทยและประชาชนชาวไทย ที่จะต้องอยู่ร่วมกับประเทศเพื่อนบ้านโดยสันติ ไม่ควรตกเป็นเหยื่อของสงครามเย็นและสงครามประสาท

แนวความคิดของปรีดี พนมยงค์ จากข้อความข้างต้นนี้ ได้แสดงให้เห็นถึงความเกี่ยวพันของสองเรื่องอย่างแนบแน่น ซึ่งเป็นสิ่งที่มีคุณค่าสูงสุดต่อประเทศไทย นั่นคือ การอยู่ร่วมกับประเทศเพื่อนบ้าน และการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ

แต่การที่ไทยจะดำรงรักษาสองสิ่งที่มีค่าสูงสุดนี้ไว้ได้ ไทยก็จำต้องตระหนักถึงผลเสีย หรือการตกเป็น เหยื่อ ของสงครามทุกรูปแบบ

รวมถึงการตกเป็นเหยื่อของสงครามอารมณ์แบบ คลั่งชาติ (chauvinism) ด้วย

ปรีดี พนมยงค์ (2443-2526) ผู้ได้รับการประกาศตั้งจากรัฐบาล (8 ธันวาคม 2488) ให้เป็น รัฐบุรุษอาวุโส มีหน้าที่ รับปรึกษากิจราชการแผ่นดิน และได้รับประกาศยกย่องให้เป็น บุคคลสำคัญของโลก โดยองค์การยูเนสโกเมื่อปี 2543

ปรีดีเป็นบุคคลที่มีบทบาททางสังคมการเมืองไทยอย่างสำคัญในช่วง 15 ปี ระหว่างปี 2475-2490 โดยปรีดีเปรียบเสมือน มันสมอง ของคณะราษฎร ที่มุ่งก่อร่างสร้างประชาธิปไตย โดยเน้นการสร้างประชาธิปไตยของพลเรือนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย ไม่ใช่ระบอบคณาธิปไตย หรืออำมาตยาธิปไตย ที่นำโดยทหารที่ใช้กองทัพหนุนหลัง

เส้นทางความคิดและพฤติกรรมทางการเมืองของปรีดี ปรากฏความแตกต่างอย่างเด่นชัดกับผู้นำประเทศที่เป็นทหาร คือ จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี ซึ่งดำรงตำแหน่งทั้งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และผู้บัญชาการทหารบก ด้วยนั้น ได้มีเมื่อจอมพล ป. ก้าวเข้าสู่นโยบายการสร้าง มหาอาณาจักรไทย

โดยการใช้ทุกวิธีการเพื่อ เอาดินแดน จากประเทศลาวและกัมพูชาอาณานิคมฝรั่งเศส

สงครามอินโดจีน ที่พัฒนาจากการ ปลุกเร้าอารมณ์ ของคนไทยในประเทศ ในช่วงปี 2482-2483 หรือตั้งแต่ปีแรกของการขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ยกระดับเป็นการ ปะทุ ทางอารมณ์ของคนไทยหลากกลุ่มที่แสดงตนเดินขบวนสนับสนุนรัฐบาล ที่จอมพล ป. ผู้นำฝ่ายทหารได้แปลความว่า การกระทำดังกล่าวมีความหมายเป็น มติมหาชน

และในที่สุดได้ยกระดับเป็นการ ปะทะ ด้วยกำลังอาวุธของสามเหล่าทัพไทยกับกองกำลังเจ้าอาณานิคมฝรั่งเศส

สงครามยึดเอาดินแดนอินโดจีน ครั้งนี้ เป็นสงครามที่ฝ่ายไทยสามารถขยายพื้นที่การครอบครองดินแดนสำเร็จด้วยกำลัง ทหารในปี 2484 โดยเข้าครอบครองแขวงไชยบุรี และแขวงจำปาสักในลาว จังหวัดเสียมเรียบและจังหวัดพระตะบองในกัมพูชา

การเข้าครอบครองดินแดนกัมพูชาด้วยกำลังทหารในครั้งนี้ คือที่มาของการปรากฏตัวอย่างเป็นรูปธรรมแห่งปัญหาคดีเขาพระวิหาร ที่ปัญหานี้ถูกทิ้งค้างไว้จากเกือบ 4 ทศวรรษก่อน หรือกล่าวได้ว่า ทั้งฝรั่งเศสกับไทย ต่างไม่เคยรับรู้กันว่าปราสาทเขาพระวิหาร เป็นปัญหา ในยุคสมัยล่าอาณานิคมแต่อย่างใด

การเข้าครอบครองดินแดนกัมพูชาครั้งนี้ ได้ส่งผลมาเป็นคดีเขาพระวิหารและเป็นคำพิพากษาของศาลโลกในปี 2505 แต่ประเด็นปัญหาเกี่ยวเนื่องถูกทิ้งค้างไว้อีกเกือบ 5 ทศวรรษต่อมา ซึ่งได้กลายเป็นปมปัญหาปราสาทเขาพระวิหารมรดกโลกในปัจจุบัน

การเข้าครอบครองดินแดนของลาวและกัมพูชาดังกล่าว เป็นชัยชนะด้วยความช่วยเหลืออย่างสำคัญของกองทัพประเทศญี่ปุ่น ประเทศผู้ซึ่งกำลังเตรียมแผนการใหญ่ที่มุ่งให้รัฐบาลทหารไทยสนับสนุนตนในการ ทำ สงครามมหาเอเชียบูรพา หรือสงครามโลกครั้งที่ 2 ในซีกเอเชีย อันเป็นสงครามที่คู่ขนานไปกับการทำสงครามของฮิตเลอร์ แห่งเยอรมนี และมุสโสลินี แห่งอิตาลีในซีกโลกตะวันตก

ต่อมาเมื่อนายพลโตโจ ผู้นำรัฐบาลทหารแห่งญี่ปุ่น ต้องการ กระชับมิตรภาพ เพื่อการทำสงครามร่วมกันกับรัฐบาลทหารไทยของจอมพล ป. ฝ่ายญี่ปุ่นซึ่งกำลังยึดครองดินแดนมาเลเซียและพม่าอาณานิคมของอังกฤษ จึงยกดินแดนของประเทศอื่นที่ตนยึดครองอยู่ให้แก่ไทยเพิ่มอีกในกลางปี 2486 คือดินแดน 4 รัฐของมาเลเซีย และสองเขตเมือง คือเมืองพาน และเชียงตุง ในรัฐฉานของพม่า

ในระยะเพียงสองปีครึ่ง รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ก็ขยายดินแดนได้ด้วยกำลังไปในเขตประเทศเพื่อนบ้านทุกประเทศ ทั้งในลาว กัมพูชา พม่า และมาเลเซีย กลายเป็น มหาอาณาจักรไทย ยุคใหม่

นักรัฐศาสตร์ นักการทูต นักการทหาร ย่อมรู้ก่อนที่จะก่อสถานะสงครามขึ้นแล้วว่า การทำสงครามนั้นมิใช่กีฬาธรรมดา หากเอาชาติเป็นเดิมพันในการนั้น ถ้าชนะสงครามก็ได้ประโยชน์เฉพาะหน้าบางประการ ถ้าหากแพ้สงครามก็ทำให้ชาติเสียหายหลายประการ แม้ไม่ต้องเสียดินแดนให้ฝ่ายชนะสงคราม แต่ก็ต้องชำระค่าเสียหายสงคราม ซึ่งเรียกตามกฎหมายระหว่างประเทศว่า ค่าปฏิกรรมสงคราม (ปรีดี อนาคตของเมืองไทยกับสถานการณ์ของประเทศเพื่อนบ้าน 2518)

ไทยเข้าสู่ระเบียบโลกยุคใหม่ในสมัยพระจอมเกล้าฯ รัชกาลที่ 4 และสามารถยกระดับตนเองสู่การเป็นประเทศที่มีสถานะเกือบเท่าเทียมในฝ่าย พันธมิตรโลกตะ
วันตก และได้รับประโยชน์จากการร่วมชนะสงครามโลกครั้งที่ 1 ทั้งนี้ เป็นผลจากการใช้นโยบาย Wait and See ที่รั้งรอดูสถานการณ์ของโลกหลายปีจนมั่นใจแล้วจึงตัดสินใจ

แต่ยุคจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้กลายเป็นว่า ไทยเป็นฝ่ายดำเนินการเริ่มรุกเพื่อนบ้านด้วยกำลัง และได้ครอบครองดินแดนของเพื่อนบ้าน

ซึ่งก็คือคำอธิบายของปรีดีที่ว่า ชนะสงครามก็ได้ประโยชน์เฉพาะหน้าบางประการ แต่หาได้เป็นประโยชน์ถาวรต่อประเทศไทยแต่ประการใด

ในการรณรงค์เรียกร้องดินแดนจากลาวและกัมพูชาปี 2483 นิสิตนักศึกษาของสองสถาบันอุดมศึกษาที่มีอยู่ในขณะนั้น คือ นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ขณะนั้นชื่อ มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ม.ธ.ก.) ต่างก็ตกอยู่ในกระแสการ ปลุกเร้า อารมณ์ รักชาติ กันอย่างถ้วนหน้า และนัดแนะกันที่จะเดินขบวนจากมหาวิทยาลัยของตนเอง คือจากจุฬาฯ และธรรมศาสตร์ มายังกระทรวงกลาโหม เพื่อสนับสนุนให้รัฐบาลดำเนินนโยบาย เรียกร้องดินแดน

ปรีดี พนมยงค์ ซึ่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะที่เป็นผู้ประศาสน์การ หรือผู้บริหารสูงสุดแห่งธรรมศาสตร์ เมื่อทราบข่าวเดินขบวนนี้ ในช่วงเช้า ปรีดีก็รีบเดินทางมาพบนักศึกษาของตนที่ท่าพระจันทร์ และชี้แจงกับนักศึกษา ไม่ได้มาห้ามไม่ให้เดิน การเดินหรือไม่เดินเป็นเรื่องที่พวกคุณจะวินิจฉัย แต่ขอให้คิดให้ดี

ปรีดีให้คำอธิบายแก่นักศึกษาธรรมศาสตร์โดยให้เข้าใจสถานการณ์ของประเทศ ฝรั่งเศสในขณะ
นั้นว่าตกอยู่ในสภาพแพ้สงคราม กล่าวคือ ฝรั่งเศสแพ้ตั้งแต่สองสัปดาห์แรกของการสงคราม ประเทศถูกยึดครองไป โดยกำลังของกองทัพเยอรมัน รัฐบาลฝรั่งเศสเดิมนั้นต้องกลายเป็นรัฐบาลพลัดถิ่น ด้วยเหตุนี้ สถานการณ์ในอาณานิคมอินโดจีน กำลังของฝ่ายฝรั่งเศสย่อมอยู่ในสถานะที่อ่อนแอ ทั้งยังมีกองทัพญี่ปุ่นกดดันอยู่ในเขตทะเลของอ่าวตังเกี๋ย

ปรีดีสรุปว่า การเรียกร้องดินแดนนี้เชื่อว่าฝ่ายไทยได้แน่ เพราะฝรั่งเศสกำลังแย่ แต่ปรีดีเห็นว่า เป็น การที่เราจะไปซ้ำเติมคนที่กำลังแพ้ ไม่ใช่วิสัยที่ดี

แต่ปรีดีก็ทำนายให้เห็นผลในอนาคตด้วยว่า ดินแดนที่ได้คืนมาจะต้องกลับคืนไป และในช่วงชีวิตของนักศึกษาก็ จะต้องได้เห็นอย่างแน่นอน

คำเตือนของปรีดี เรื่อง ผลประโยชน์เฉพาะหน้า หรือ ผลประโยชน์ชั่วคราว ของการได้ดินแดนมาด้วยการใช้กำลัง สามารถยับยั้งการเดินขบวนของนักศึกษาธรรมศาสตร์ได้เพียงไม่กี่ชั่วโมง แต่ในบ่ายวันนั้น นักศึกษาธรรมศาสตร์ก็เดินขบวนอย่างเป็นระเบียบจากท่าพระจันทร์ไปยังกระทรวง กลาโหมที่
อยู่อีกฟากหนึ่งของสนามหลวง ไปสู่ อ้อมกอด ของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่คอยต้อนรับ ส่วนนิสิตจุฬาฯได้เดินขบวนจากสามย่านมายังกระทรวงกลาโหมแล้วตั้งแต่ภาคเช้า

การเดินขบวนสนับสนุนรัฐบาลให้กระทำการเรียกร้องดินแดนอย่างแข็งขันของนิสิต จุฬาฯ และนักศึกษาธรรมศาสตร์ กล่าวได้ว่าเป็นหลักหมายแห่งชัยชนะของนโยบายเรียกร้องดินแดนโดยใช้กำลัง ซึ่งได้รับการโห่ร้องต้อนรับด้วยการสนับสนุนจากกลไกภาครัฐ ที่เหนือกว่านโยบายการใช้กฎหมายและการอยู่ร่วมอย่างสันติกับประเทศเพื่อน บ้าน

ทว่า อีกเพียง 4 ปีถัดมาสถานการณ์ก็พลิกผัน ฝ่ายอักษระปราชัยในทุกสมรภูมิ และถูกยึดครองประเทศโดยกองทัพฝ่ายสัมพันธมิตร แต่ไทยสามารถสร้างสถานภาพที่กำกวมของการ ไม่แพ้สงคราม อันเป็นผลจากขบวนการเสรีไทย คำประกาศสันติภาพ และการสนับสนุนอย่างเข้มแข็งของมหาอำนาจใหม่ของโลกคือ สหรัฐอเมริกา

การได้ดินแดนของประเทศเพื่อนบ้านด้วยการใช้กำลังนั้น ทำให้ไทยต้องรีบประกาศคืนดินแดนในพม่าและมาเลเซียให้กับอังกฤษทันทีเมื่อ ประกาศสันติ
ภาพ 16 สิงหาคม 2488 และต่อมาต้องคืนดินแดนของลาวและกัมพูชาให้กับฝรั่งเศสอย่างไม่มีเงื่อนไข ให้กลับคืนสู่ สถานะเดิม (status quo) ไปยังปีก่อนที่จะมีการทำสงครามเพื่อดินแดนของรัฐบาลไทย ทั้งนี้ เพื่อแลกกับการที่ไทยจะได้ยอมรับให้กลับคืนสู่การเป็นสมาชิกของประชาคมโลก ที่มีองค์การเพื่อจัดระเบียบโลกใหม่ในนาม องค์การสหประชาชาติ

คำเตือนของปรีดีต่อเรื่อง ดินแดนที่ได้คืนมาจะต้องกลับคืนไป อันเป็นการได้ดินแดนมาจากการใช้กำลังแบบ ผลประโยชน์เฉพาะหน้า หรือ ผลประโยชน์ชั่วคราว ได้แสดงข้อจริงให้เห็นเร็วกว่าที่ปรีดีคาดการณ์ไว้อย่างมาก

ดังนั้น สถานการณ์ ทวงคืนปราสาทพระวิหาร ที่ปรากฏในสังคมไทย ก็ดูจะมีลักษณะคล้ายคลึงบางประการกับการเรียกร้องดินแดนเพื่อนบ้านเมื่อปี 2483-2484 และจุดจบก็ไม่น่าจะต่างกันมากนักหากมีการใช้กำลัง

แต่ผลนั้นอาจจะสะเทือนต่อเอกราชและเกียรติศักดิ์ของชาติไทยมากยิ่งกว่าครั้งเรียกร้อ
งดินแดนในอดีต

และในครั้งนี้ ไทยเราอาจจะไม่โชคดีเหมือนครั้งยุติสงครามโลกครั้งที่ 2 คือไม่มีใครหรือปัจจัยอื่นใดมาช่วยให้ไทยรอดพ้นจากการตกเป็นผู้ปราศรัยของ ประชาคมโลก
ได้

คำถามต่อเพื่อนร่วมชาติที่พึงแสวงหาคำตอบร่วมกัน คือ

คำถามข้อแรก เมื่อศาลโลกของสหประชาชาติ พิพากษาให้ปราสาทพระวิหารตกเป็นของกัมพูชา ซึ่งคำพิพากษานี้ เป็นอันเสร็จเด็ดขาด ไม่มีทางจะอุทธรณ์ได้ ตามที่จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ระบุไว้ในคำปราศรัยคดีปราสาทพระวิหาร เมื่อ 4 กรกฎาคม 2505

แต่สถานการณ์ในปัจจุบัน การรณรงค์ในประเด็น ทวงคืนปราสาทพระวิหาร เท่ากับเป็นการปฏิเสธคำพิพากษาของศาลโลกหรือไม่? และจะยกระดับไปสู่การปลุกเร้าและปะทุทางอารมณ์ของคนในประเทศ และปะทะกับเพื่อนบ้านกัมพูชาด้วยกำลังหรือไม่?

คำถามข้อที่สอง หากเสียงปืนนัดแรกดังขึ้น ณ บริเวณเขาพระวิหาร ไม่ว่าจะมาจากฝ่ายไหนหรือจาก มือที่สาม ก็ตาม ข้อเท็จจริงที่พึงคำนึงคือ ไทยจะกลายเป็นชาติแรกในหน้าประวัติศาสตร์โลกยุคสหประชาชาติที่ละเมิดล่วงล้ำ ขัดขืนอำ
นาจของศาลโลก ซึ่งถือว่าเป็นองค์การที่เกิดขึ้นมาเพื่อหาทางแก้ไขปัญหาระหว่างประเทศด้วย วิธีการสันติ แทนการทำสงครามระหว่างกันนั้น ท่านคิดว่าประเทศมหาอำนาจและสมาชิกอื่นในองค์การสหประชาชาติจะดำเนินการ อย่างไรต่อประเทศไทยเพื่อที่จะรักษาระเบียบโลกของสหประชาชาตินี้ไว้?

ทั้งยังต้องรำลึกด้วยว่า ภาพลักษณ์ของไทยในเวทีประชาคมโลกนั้น ไทยจะกลายเป็น หมาป่า ที่หาทางจะขย้ำ ลูกแกะ กัมพูชา ด้วยหรือเปล่า?

คำถามข้อที่สาม หากท่านเป็นผู้สนับสนุนการใช้รัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 นี้ มาตรา 82 เกี่ยวกับนโยบายด้านการต่างประเทศ ได้ระบุว่า รัฐต้องส่งเสริมสัมพันธไมตรีและความร่วมมือกับนานาประเทศ ตลอดจนต้องปฏิบัติตามสนธิสัญญา ... รวมทั้งตามพันธกรณีที่ได้กระทำไว้กับนานาประเทศและองค์การระหว่างประเทศ

ดังนั้น การรณรงค์เพื่อให้รัฐบาลนี้หรือรัฐบาลในอนาคตแสดงการ ทวงคืนปราสาทพระวิหาร คือการสนับสนุนให้รัฐบาลกระทำผิดต่อรัฐธรรมนูญในมาตรานี้หรือไม่?

หากท่านเป็นผู้ไม่สนับสนุนการใช้รัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 โปรดกลับไปอ่านคำถามข้อที่หนึ่งและข้อที่สองอีกครั้งหนึ่ง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ผู้ให้ข้อมูลร่วมกัน