Fri, 2010-07-09 19:17
พิภพ อุดมอิทธิพงศ์
พลันเมื่อได้รับแต่งตั้งจากรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ให้ทำหน้าที่ประธานกรรมการ สมัชชาปฏิรูป (คสป.) สื่อมวลชนรายงานว่า นพ. ประเวศ วะสี ประธาน คสป. กล่าวว่า “คณะกรรมการชุดนี้ไม่ใช่คณะกรรมการปรองดอง เพราะปรองดองเป็นเรื่องของอดีต มีโจทก์และจำเลย แต่การปฏิรูปเป็นการมองไปข้างหน้า ไม่ใช่แก้ปัญหา แต่จะเป็นการทำสิ่งใหม่เพื่อสร้างอนาคตประเทศไทย” (8 กรกฎาคม 2553 มติชนออนไลน์)
ออกจะเป็นเรื่องแปลกที่คน “องค์รวม” อย่างหมอประเวศจะพูดว่าเราควรเดินหน้าต่อไป โดยมองข้ามอดีต และที่น่าสนใจก็คือทำไมคุณหมอถึงบอกให้มองข้ามอดีตทั้ง ๆ ที่เป็นเหตุการณ์สำคัญและมีความเชื่อมโยงกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต และตามเนื้อทฤษฎีที่คุณหมอมักกล่าวอ้าง แทบไม่มีครั้งใดเลยที่คุณหมอจะไม่พูดเชื่อมโยงอดีต ปัจจุบัน และอนาคตเข้าด้วยกัน อย่างเช่น
“เมื่อเราเกิดปัญญาแล้วจะสามารถเชื่อมโยงอดีต ปัจจุบัน อนาคต ทำให้เห็นอนาคตและกลับไปพิจารณาอดีตปัจจุบันด้วยกระบวนการทางปัญญา” (การจัดการความรู้ ศ.นพ. ประเวศ วะสี ปาฐกถาพิเศษ ในงานมหกรรมการจัดการความรู้แห่งชาติ ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2548)
เมื่อเห็นรายชื่อกรรมการหลายคน โดยส่วนตัวผู้เขียนเชื่อมั่นในพลังทางศีลธรรมและเจตนารมณ์ที่ดีของท่านทั้ง หลาย แต่อย่างที่กล่าวข้างต้น ความคิดที่จะมุ่งปฏิรูปอนาคตโดยไม่สนใจใยดีต่ออดีต และอันที่จริงอดีตก็ไม่ใช่เรื่องของเฉพาะโจทก์และจำเลย แต่เป็นเรื่องของความผิดพลาดที่เกิดขึ้นของหลายฝ่าย ทั้งฝ่ายรัฐและผู้ชุมนุม แต่เป็นเรื่องของการสูญเสียที่ร้าวลึกของหลายฝ่าย แต่เป็นเรื่องของบาดแผลในจิตใจมนุษย์ที่คงใช้เวลาอีกนานกว่าจะเยียวยา ทั้งยังเป็นบาดแผลต่อจิตวิญญาณของชนชาติไทย แต่ทำไมประธานกรรมการท่านนี้จึงเริ่มจากการบอกให้มองข้ามอดีต
ทำไมท่านประธานฯ ถึงบอกว่าอดีตเป็นแค่เรื่องระหว่าง “โจทก์และจำเลย” ความคิดเช่นนี้ไม่ใช่หรือที่เรียกว่าเป็นความคิดแบบคู่ตรงข้าม ที่ตัวท่านประธานฯ เองเสนอหลายครั้งหลายคราให้เรามองข้ามคู่ความคิดที่ตรงข้ามเช่นนี้
อดีตที่เพิ่งผ่านมาเพียงสองสามเดือน หรือจะย้อนหลังไปจนตั้งแต่ช่วงมีการรัฐประหารเมื่อปี 2549 ไม่ใช่สิ่งที่เรามองข้ามถ้าเราต้องการก้าวเดินต่อไปข้างหน้า อย่างน้อยที่สุด กรรมการชุดนี้ควรมีสำเหนียกและสำนึกถึงความรู้สึกเจ็บปวดที่เกิดขึ้น ซึ่งอันที่จริงก็เกิดขึ้นกับบรรดา “คนเล็กคนน้อย คนยากคนจน” ที่ ท่านประธานฯ เรียกร้องให้มีการเคารพศักดิ์ศรีทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน โดยท่านประธานฯ เองก็มองว่า “ศีลธรรมพื้นฐานคือการเคารพศักดิ์ศรีความ เป็นคน” (ปาฐกถาเดียวกัน)
คนที่ตายเกือบร้อยชีวิต คนที่เจ็บกว่าสองพัน เขามีศักดิ์ศรีหรือไม่ ท่านประธานฯ และกรรมการทั้งหลายพอจะมีเวลาและพร้อมจะสงบนิ่งไว้อาลัยให้กับเขาสักหนึ่ง นาทีก่อนจะเริ่ม “ปฏิรูปอนาคต” ของประเทศที่ผู้สูญเสียเหล่านี้รัก ท่านพร้อมจะไว้อาลัยให้กับประชาธิปไตยที่คนเหล่านี้เอาชีวิตเข้าแลกได้หรือ ไม่
ในเมื่อยังไม่มีการสำเหนียกและสำนึกซึ่งความเจ็บปวด ไม่พักต้องพูดถึงความจริงที่ต้องคลี่คลาย ทั้งการเสียชีวิตของเจ้าหน้าที่และราษฎร ซึ่งในฝ่ายแรกก็ยังไม่ชัดเจนว่า เป็นความขัดแย้งกันเองในกองทัพหรือไม่ ในฝ่ายหลังมีหลักฐานประจักษ์ชัดมากทีเดียวว่ารัฐมีการกระทำที่น่าจะพิจารณา ว่าเกินกว่าเหตุ ไม่นับคนอีกหลายร้อยคนที่ถูกจองจำเพียงเพราะความเชื่อทางการเมืองของตน
เขาเหล่านั้นยังมีครอบครัว ญาติมิตร ลูกหลาน หลายคนเป็นคนหาเช้ากินค่ำ ที่อุบลราชธานี แม่คนหนึ่งถูกยิงขาทะลุและถูกจับ ศาลปฏิเสธไม่ปล่อยตัวชั่วคราวตั้งแต่พฤษภาคม ถูกต้องข้อหาอาญา เพียงเพราะเข้าร่วมการชุมนุม ปล่อยลูกสามคนที่แคระแกรนเพราะขาดสารอาหารอยู่กับยายอายุ 84 ปีเพียงลำพัง ยายมีรายได้เพียง 500 บาทต่อเดือน (เบี้ยยังชีพ)
และยังอีกหลายร้อยคนที่ถูกเจ้าหน้าที่ของรัฐตามล่าหาตัว กล่าวหาว่าเขาเป็นผู้ยุยงส่งเสริมให้เกิดการชุมนุมประท้วง
การเข้าร่วมการประท้วงจึงกลายเป็นความผิดทางอาญาไปสำหรับรัฐบาลที่อ้างว่า เป็นประชาธิปไตยแค่ปาก
ท่านประธานฯ และกรรมการทั้งหลายจะปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างไรในเมื่อความจริงเหล่านี้ยัง ไม่คลี่คลาย อาจเป็นไปได้ว่าเมื่อคณะกรรมการอีกชุดหนึ่งซึ่งตั้งโดยรัฐบาลนี้สอบสวนและพบ ว่าเจ้าพนักงานของรัฐมีส่วนเกี่ยวข้องกับการละเมิดสิทธิเหล่านี้ การทำหน้าที่ที่อ้างว่าเป็น “การปฏิรูปอนาคต” ของท่าน จะไม่ได้เป็นเพียงการสร้างความชอบธรรมให้กับรัฐที่ขาดความชอบธรรมไปนานแล้ว หรือ
ผู้เขียนเชื่อมั่นในพลังทางศีลธรรมของกรรมการทั้งหลาย ผู้เขียนเชื่อมั่นว่าทุกท่านมีเจตนาดี ด้วยความคุ้นเคยและด้วยความเคารพต่อกรรมการบางท่าน ผู้เขียนอยากขอให้ท่านทั้งหลายยืนนิ่งไว้อาลัยอย่างน้อยสักหนึ่งนาทีก่อนจะ เริ่มปฏิบัติงานทุกครั้ง การไว้อาลัยเช่นนี้แล เชื่อได้ว่าจะทำให้ท่านสามารถ “พิจารณาอย่างลึกซึ้ง มีสติ ก็จะทำให้ปัญญาเกิดขึ้น ซึ่งเป็นวิธีการทางบวกที่เรามองความสำเร็จ ทำให้เกิดพลังเพิ่มขึ้น” ซึ่งเป็นคำพูดของท่านประธานฯ เคยกล่าวไว้เอง
ในระหว่างความเงียบงันระหว่างสงบนิ่งนั้น ขอให้ท่านกรรมการสัมผัสอย่างลึกซึ้งถึงอดีตอันเจ็บปวดเพราะ
“คำว่าปรองดอง มันพูดง่าย แต่ถ้ามันไม่ได้เป็นอย่างนั้น อย่างนั้นก็ไม่ต้องพูด ถ้าเห็นใจก็คือ คุณรู้สึกจริงๆ รู้สึกเจ็บปวดร่วมกับคนเหล่านั้นจริงๆ ถึงขั้นที่พูดออกมาเป็นคำไม่ได้” และ “การให้อภัยดูจะเป็นหนทางหนึ่งในการคืนศักดิ์ศรีให้กับตัวเราเองด้วย ไม่กลัวที่จะยอมรับบทเรียนอันเจ็บปวดที่เกิดขึ้น และไม่กลัวที่จะเผชิญปัญหาต่อไป หรือแม้แต่จะต่อสู้ทางการเมืองต่อไป การให้อภัยได้เป็นการเปิดพื้นที่ให้กับพลังทางสติปัญญาเข้ามามีบทบาทแทนที่ ความโกรธเกลียดได้”
("ทุกข์ร่วมจึงร่วม ทุกข์ สัมภาษณ์ อ.ประมวล เพ็งจันทร์ (ตอนที่ 1) วิจักขณ์ พานิช http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1278076278&catid=02)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น