แดงเชียงใหม่

กราบสวัสดี พี่น้องทุกๆท่านที่เข้ามาเยี่ยมเยือน Blog นปช.แดงเชียงใหม่ ขอเรียนชี้แจงสักนิดว่า เรา ”แดงเจียงใหม่” เป็นกลุ่มคนชาวเจียงใหม่ที่เคารพรัก กติกาประชาธิปไตย ต่อสู้และต่อต้านเผด็จการทุกรูปแบบ อยากเห็นประเทศชาติภายภาคหน้า มีความเจริญ ประชาชน รุ่นลูกหลานของเราอยู่อาศัยอย่างร่มเย็นเป็นสุขในประเทศของพวกเราเอง ไม่มีกลุ่มอภิสิทธิ์ชนกลุ่มใดมาสูบเลือดเนื้อ แอบอ้างบุญคุณเฉกเช่นในยุคนี้ที่พวกเราเห็น การที่จะได้รับในสิ่งที่มุ่งหวังก็ต้องมีการต่อสู้แสดงกำลังให้สังคมได้รับรู้ และเพื่อที่จะให้กลุ่มบุคคลที่มีอำนาจในปัจจุบันได้เข้าใจในสังคมที่ก้าวหน้าเปลี่ยนแปลงไป ไม่อาจฝืนต่อกระแสการพัฒนาของโลก การต่อสู้ร่วมกับผองชนทั่วประเทศในครั้งนี้ เรา " แดงเจียงใหม่ " ได้ร่วมต่อสู้ทุกรูปแบบ และ ในรูปแบบที่ท่านได้เข้ามาร่วมอยู่นี้ คือการเผยแพร่ข่าวสารต่อสังคม

เรา " แดงเจียงใหม่ " ขอเชิญชวนร่วมกันสร้างขวัญ และกำลังใจให้เพื่อนพ้องน้องพี่ร่วมกัน


"อันประชาสามัคคีมีจัดตั้ง
เป็นพลังแกร่งกล้ามหาศาล
แสนอาวุธแสนศัตรูหมู่อันธพาล
ไม่อาจต้านมวลมหาประชาชน"

.

วันจันทร์ที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

นักปรัชญาชายขอบ: ประวัติศาสตร์ของ พ.ศ.

Sat, 2010-07-10 01:48
นักปรัชญาชายขอบ
ผมเคยเขียนโต้แย้ง ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ ประธานคณะกรรมการแก้ไขรัฐธรรมนูญ (ตามแผนปรองดอง) ในประเด็นที่ว่า การตัดสินใจ ทางการเมืองของคนชั้นกลางที่มีการศึกษาเป็นการตัดสินใจที่มีคุณภาพมากกว่า การตัดสินใจทางการเมืองของคนชั้นล่างที่มีการศึกษาต่ำ โดยชี้ว่า ความเห็นของ ดร.สมบัติอาจไม่จริงเสมอไป เพราะประวัติศาสตร์การเมืองเวลานี้ชี้ชัดว่าคนชั้นกลางที่มีการศึกษาดีกว่า เลือกสนับสนุน หรือยอมรับรัฐประหาร และกระบวนการสืบเนื่องจากรัฐประหาร ขณะที่คนชั้นล่างที่มีการศึกษาต่ำกว่าออกมาต่อต้านรัฐประหาร หรือปฏิเสธรัฐประหาร และกระบวนการที่สืบเนื่องจากรัฐประหาร (โปรดดูhttp:/www.prachatai3.info/journal/2010/06/29980)แม้เราอาจถกเถียงกันได้ว่า การที่คนชั้นล่างออกมาต่อต้านรัฐประหารนั้นอาจเป็นเรื่องของศรัทธาในตัว บุคคลหรือศรัทธาในระบอบประชาธิปไตย? แต่การที่คนชั้นกลางมีการศึกษาดีสนับสนุน หรือยอมรับรัฐประหารนั้น เป็นหลักฐานที่ยืนยันได้ว่า การมีการศึกษาไม่ได้สร้างหลักประกันการตัดสินใจทางการเมืองที่มีคุณภาพ (ในความหมายว่ายึดหลักการประชาธิปไตย) เสมอไป
ฉะนั้น สิ่งที่น่าตั้งคำถามคือ การศึกษาของบ้านเราเป็นอะไรไป ทำไมคนที่มีการศึกษาดี เช่น อาจารย์มหาวิทยาลัย หรือกระทั่งอธิการบดีของมหาวิทยาลัยชั้นนำ จึงเลือกที่จะอยู่ข้างรัฐประหาร แสดงความเห็นสนับสนุน หรือตัดสินใจเข้าร่วมวงไพบูลย์กับรัฐบาลที่มาจากรัฐประหาร?
เป็นความจริงหรือไม่ว่า “การศึกษาแบบ ทางการ” ในบ้านเราแทบไม่ได้ใส่ใจกับการสร้างอุดมการณ์หรือจิตวิญญาณประชาธิปไตยเลย ยิ่งหนังสือเรียนวิชาประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะประวัติศาสตร์การเมืองการปกครอง มีลักษณะเป็น “ประวัติศาสตร์ของ พ.ศ.” ที่มี “เนื้อหาสำคัญ” ประมาณว่า “ในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2475 มีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้น” นักเรียนที่เรียนประวัติศาสตร์แบบนี้อาจทำข้อสอบได้เกรด A หากเขากากบาทถูกว่า พ.ศ.ใดมีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นบ้าง
นักเรียนที่ได้เกรด A ไม่จำเป็น ต้องเข้าใจบริบททางสังคม เศรษฐกิจ การเมือง โครงสร้างอำนาจ ความคิด และบทบาทของคนชั้นนำในเวลานั้น ความเป็นอยู่ สิทธิอำนาจของประชาชนทั่วไป ไม่ต้องเข้าใจการก่อตัวของแนวความคิด เหตุผล อุดมการณ์ที่นำมาสู่การเกิดเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ เช่น การเปลี่ยนแปลงการปกครองในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2475 เป็นต้น
ทั้งนี้เพราะ “แบบเรียน วิชาประวัติศาสตร์” คือแบบเรียนที่ตัดตอน ลดทอนความจริงบางแง่บางด้านออกไป เช่น เมื่อเรียนประวิศาสตร์ พ.ศ.2475 นักเรียนไม่มีโอกาสจะได้อ่านประกาศคณะราษฎรฉบับเต็มที่วิพากษ์วิจารณ์ความ ฟอนเฟะของระบบกษัตริย์ในขณะนั้น การปกครองที่กดขี่ ความอยุติธรรมต่างๆ เป็นต้น อันเป็นเหตุผลสำคัญที่จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงการปกครอง
วิชาประวัติศาสตร์ไม่มีเนื้อหา หรือ “เวที” ให้กับการวิเคราะห์ ประเมินค่าอุดมการณ์ และอื่นๆ ที่อาจทำให้ผู้เรียนเกิดมโนสำนึกว่า อุดมการณ์ และการเสียสละของผู้สร้างการเปลี่ยนแปลง “มี ความหมาย” (meaningful) ต่อสภาพสังคมและวิถีชีวิตในยุคเราอย่างไร และหรือมี “คุณค่า” เป็นบทเรียนต่อการเปลี่ยนแปลงสังคมให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้นอย่างไร
ฉะนั้น เมื่อเรียนประวัติศาสตร์ของ พ.ศ.2475 นักเรียนอาจรู้สึกซาบซึ้ง และสำนึกในบุญคุณของผู้ที่ถูกยึดอำนาจมากว่าที่จะเห็น “คุณค่า” ของ “คณะราษฎร” ผู้ก่อการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครอง หรือผู้แรกเริ่มสร้างประวัติศาสตร์การปกครองระบอบประชาธิปไตยขึ้นในประเทศ ของเรา
เช่นเดียวกัน เมื่อเรียนประวัติศาสตร์ 14 ตุลา 16 ประวัติศาสตร์ 6 ตุลา 19 พฤษภา 35 และต่อไปคือ ประวัติศาสตร์ 10 เมษา-พฤษภา 53 นักเรียนที่กากบาทถูกว่ามีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นบ้าง ก็คงได้เกรด A เขาเป็นนักเรียนที่ได้ “คะแนนดีมาก” เพียงเพราะว่าเขาท่องจำ “ประวัติ ศาสตร์ของ พ.ศ.” ได้ดี เขาไม่จำเป็นต้องซึมซับ “ความเจ็บปวดทางประวัติศาสตร์” ไม่จำเป็นต้องซาบซึ้งใน “อุดมการณ์” หรือจิตวิญญาณรักประชาธิปไตยของบรรพชนผู้เสียสละเพื่อประชาธิปไตย ไม่ต้องรับรู้หรือเกลียดชังความอำมหิตของผู้ที่ใช้อำนาจรัฐ ฯลฯ
ด้วยเหตุนี้เขาจึงเป็นนักเรียนวิชาประวัติศาสตร์ที่ได้คะแนนดีแต่ ไร้หัวใจที่จะเห็นคุณค่าของอุดมการณ์และความเสียสละของผู้รักประชาธิปไตย จึงไม่แปลกที่สังคมวันนี้จะเต็มไปด้วยผู้มีการศึกษาดีแต่ไร้หัวใจ ประณามชาวบ้านที่ออกมาต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยด้วยทัศนะที่ตื้นเขิน ฉาบฉวย กระทั่งหยาบคาย จนถึงดูหมิ่น เกลียดชัง ขยะแขยง!
แน่นอนว่า การศึกษาเรื่องประชาธิปไตย (democratic education) และการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร เป็นเงื่อนไขสำคัญ (precondition) ที่จะทำให้การมีส่วนร่วมทางการ เมือง หรือการตัดสินใจทางการเมืองของประชาชนมีความหมายต่อการพัฒนาประชาธิปไตย แต่เป็นเรื่องน่าเศร้าที่ความเป็นจริงของสังคมไทยวันนี้ คนที่มีการศึกษา (กระทั่งคนที่อยู่ในภาคการศึกษา) กลายเป็นคนส่วนน้อยที่มีจิตสำนึกและออกมาต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย
คนเหล่านี้ไม่ทุกข์ร้อนกับการที่รัฐละเมิดเสรีภาพขั้นพื้นฐานของ ฝ่ายที่คิดต่างทางการเมือง ด้วยการปิดสื่อ การคง พรก.ฉุกเฉิน (ใช้อำนาจเหนือรัฐธรรมนูญ) การอ้างนิติรัฐ (rule of law) แต่ไม่มีกระบวนการสอบสวนที่เที่ยงธรรม (fair trial) ไล่จับกุมฝ่ายตรงข้าม/กักขังโดยไม่ตั้งข้อหา ละเมิดสิทธิที่จะได้รับการปฏิบัติอย่างเสมอภาคในทางกฎหมาย สองมาตรฐาน ฯลฯ
คนเหล่านี้ (ที่เป็นเจ้าของสื่อ และสามารถส่งเสียงผ่านสื่อได้มากกว่า) ไม่ได้ใส่ใจว่า ประชาธิปไตยต้องสัมพันธ์อย่างแยกไม่ออกกับหลักสิทธิมนุษยชนที่ทำหน้าที่ (function) เคารพและปกป้องความสง่างามของมนุษย์ (human dignity) ฉะนั้น รัฐบาลที่ลุแก่อำนาจจึงละเมิดสิทธิมนุษยชนได้อย่างสะดวกดาย
จึงเป็นเรื่องที่ยากอย่างยิ่งที่ประเทศกึ่งดิบกึ่งดีทาง เสรีภาพ (partly free) อย่างบ้านเราจะเปลี่ยนแปลงไปสู่ความเป็นประเทศที่มีเสรีภาพอย่าง สมบูรณ์ เนื่องจากบรรดาผู้ที่มีการศึกษา (ที่ผ่านระบบการศึกษาอันบิดเบี้ยว ไม่สร้างอุดุมการณ์ และจิตวิญญาณประชาธิปไตย) นั่นเองคือ “อุปสรรค” ของการเปลี่ยนแปลง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ผู้ให้ข้อมูลร่วมกัน