Sun, 2010-07-11 05:44
ทีมข่าวต่างประเทศ – วัฒนธรรม
ทั้ง ๆ ที่ประวัติศาสตร์ในตำราอาจบิดเบือน ทั้ง ๆ ที่คำว่า ‘พี่-น้อง’ ที่เราใช้เรียกประเทศเพื่อนบ้านมันอาจมีความหมายมากกว่าการทะนงตนว่าเป็น ‘พี่ใหญ่’ ทั้ง ๆ ที่คนที่อยู่ห่างกันเพียงข้ามเส้นเขตแดนก็มีความเป็นมนุษย์ทัดเทียมเรา แล้วจริงหรือที่เราจะเข้าใจกันไม่ได้....
เมื่อพูดถึง ‘ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ’ ก็ย่อมยากจะหลีกเลี่ยงการพูดถึงเรื่องการเมือง และในระดับรัฐแล้ว การเลือกผูกมิตรหรือสร้างศัตรูกับประเทศหนึ่ง ๆ ย่อมมีการหวังผลทางการเมือง แต่ต้องไม่ลืมว่า ไม่ว่าเกมการต่างประเทศจะดำเนินไปอย่างไร ประชาชนในประเทศนั้น ๆ ก็เป็นผู้ได้รับผลกระทบ
ในเมื่อแต่ละชาติล้วนมีแบบเรียนของตนเอง ล้วนมีเรื่องเล่า ‘ชนชาติอื่น’ ในแบบของตนเอง การปลูกฝังเรื่องความเป็นศัตรูต่อชาติก็เป็นเรื่องง่าย และถูกหยิบยืมไปใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองได้ (บางประเทศนำเครื่องมือสร้างความเป็นศัตรูชุดนี้มาใช้กับคนในประเทศตัวเอง ด้วยซ้ำ)
ทั้งๆ ที่ประวัติศาสตร์ในตำราอาจบิดเบือน ทั้งๆ ที่คำว่า ‘พี่-น้อง’ ที่เราใช้เรียกประเทศเพื่อนบ้านมันอาจมีความหมายมากกว่าการทะนงตนว่าเป็น ‘พี่ใหญ่’ ทั้งๆ ที่คนที่อยู่ห่างกันเพียงข้ามเส้นเขตแดนก็มีความเป็นมนุษย์ทัดเทียมเรา
แล้วจริงหรือที่เราจะเข้าใจกันไม่ได้....
000
ไทย - กัมพูชา
เมื่อปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา มูลนิธิศักยภาพชุมชนจัดโครงการแลกเปลี่ยนภาคประชาชน เขมร-ไทย เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างปรองดอง โดยมีการจัดกิจกรรมเยี่ยมเยียนระหว่างชุมชนของภาคประชาชนกัมพูชาและไทย รวมถึงมีการจัดเวทีอภิปรายที่มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ และที่วัดอินทรโกศา เมืองเสียมเรียบ ประเทศกัมพูชา
ที่มาของโครงการนี้มาจากเหตุการณ์หลังวันที่ 28 ส.ค. 2552 ที่มีกลุ่มภาคประชาชนของกัมพูชาราว 110 คนที่เสนอแผนเรียกร้องให้รัฐบาลของทั้ง 2 ประเทศแก้ไขปัญหาโดยสันติวิธี ทันทีที่มีการเผชิญหน้ากันระหว่างกองทัพไทยและกัมพูชา และหลังการประชุมอาเซียนภาคประชาชนมูลนิธิศักยภาพชุมชนก็สรุปว่า กรณีความบาดหมางของไทยและกัมพูชาในปัจจุบัน ส่วนหนึ่งมีรากฐานมาจากประวัติศาสตร์ของทั้ง 2 ประเทศ จึงจัดโครงการนี้ขึ้นเพื่อเสริมความสัมพันธ์และความเข้าใจ เชื่อใจกันระหว่างประชาชนไทยกับกัมพูชา เพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ความเข้าใจพื้นฐานทางประวัติศาสตร์ของทั้ง 2 ประเทศ และเพื่อร่วมสร้างสันติภาพของภาคประชาชนทั้ง 2 ประเทศในระยะยาว
สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี ผู้สื่อข่าว The Nation ให้ความเห็นไว้ว่า สิ่งที่เป็นแรงบันดาลใจให้มีโครงการเช่นนี้ขึ้นมา ไม่ใช่เพราะประชาชนทั้ง 2 ฝ่ายทะเลาะกัน แต่มาจากเรื่องความขัดแย้งของฝ่ายรัฐบาลและจากประชาชนจำนวนไม่มากที่ทะเลาะ กัน และส่วนหนึ่งก็เป็นประชาชนไทยด้วยกันด้วย
กรุงเทพฯ – อำเภอกันทรลักษ์
กลุ่มผู้เข้าร่วมเดินทางโดยรถโดยสารจากกรุงเทพฯ ในคืนวันที่ 24 มิ.ย. และทานอาหารเช้ากันที่หมู่บ้านภูมิซรอล ซึ่งตั้งอยู่ในเขตอำเภอกันทรลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ โดยก่อนหน้านี้มีการหยุดพักที่ตลาดสดช่วงเช้า ซึ่งเดินดูแล้วก็ไม่ต่างจากตลาดสดอื่น ๆ มากนัก แต่สิ่งที่ได้รับรู้จากการเห็นเมืองรอบ ๆ พบว่าที่นี่เจริญกว่าที่คิดไว้ อย่างน้อยอาคารบ้านเรือนและกิจการบางอย่างก็บ่งบอกถึงความมีอันจะกิน
ร้านอาหารในภูมิซรอลที่เราหยุดพักนั้นดูคล้ายร้านอาหาร ริมทางขายคนผ่านทาง เช่น คนขับรถขนส่งสินค้า ขณะเดียวกันก็พร้อมที่จะปรับตัวเป็นร้านสุรายามค่ำคืน ถนนหน้าร้านในช่วงเช้า-สาย ดูเงียบสงบ ขณะเดียวกันมันก็อาจสะท้อนความเซื่องซึม ซึ่งยังมองไม่ออกว่าชีวิตของคนที่ค้าขายอยู่ในพื้นที่นี่จะดำเนินต่อไปอย่าง ไร
“พวกเขาแค่อยากสร้างเรื่องให้เป็นข่าว” เจ้าของร้านอาหารในภูมิซรอลพูดถึงเรื่องที่มีกลุ่มพันธมืตรประชาชนเพื่อ ประชาธิปไตย ที่เคยเดินทางมาเพื่อพยายามทวง ‘อธิปไตย’ กรณีปราสาทเขาพระวิหาร จนเป็นเหตุให้มีการปะทะกับชาวบ้าน
“พอฝ่ายนั้นเขามาตี ชาวบ้านก็ตีคืนไปหน่อยเท่านั้น ไม่ได้มีอะไรรุนแรงกว่านั้น” เจ้าของร้านอาหารยังคงกล่าวถึงเรื่องเดิม
จุดผ่านแดนถาวรช่องสะงำ – เสียมเรียบ
ที่จุดผ่านแดนถาวรช่องสะงำ มีสภาพเป็นถนนดินที่ดูร้อนแล้ง มีคนรับจ้างขนสัมภาระด้วยรถลากไปพร้อมกับคณะเดินทาง เมื่อเดินทางมาถึงอีกฝั่งหนึ่งก็มีคนของทางกัมพูชาเตรียมดอกไม้มาต้อนรับ พร้อมน้ำดื่มใส่ขวดแจกให้ทุกคน
จุดหมายของการเดินทางออยู่ที่เมืองเสียมเรียบ เมืองที่ท่องเที่ยวอันดับ 2 ของกัมพูชารองจากพนมเปญ ที่มีแหล่งท่องเที่ยวมรดกโลกขึ้นชื่ออย่าง นครวัด-นครธม
ระหว่างทางซึ่งต้องนั่งรถต่อจากชายแดนฝั่งกัมพูชา มีคนนำทางชาวกัมพูชาที่สามารถพูดสื่อสารด้วยภาษาไทยได้ ภาพชนบทที่เต็มไปด้วยต้นไม้และทุ่งเขียวขจีข้างทางแฝงเรื่องเล่าซ่อนความ เจ็บปวดไว้
“ต้นไม้เหล่านี้เขาห้ามประชาชนตัด มีแต่ตำรวจเท่านั้นที่มาตัดได้” ผู้บรรยายชาวกัมพูชาเล่าสลับกับการแนะนำชื่อหมู่บ้านต่าง ๆ ที่รถแล่นผ่าน ซึ่งส่วนใหญ่มีสภาพเป็นบ้านไม้ กระท่อมหลังเล็ก ๆ แซมอยู่กับบ้านหลังใหญ่ที่ไม่แน่ใจว่าจะมีคนอยู่หรือไม่ ผู้บรรยายเล่าให้ฟังว่าชาวกัมพูชาจะนิยมสร้างบ้านให้สูงๆ
เมืองเสียมเรียบเท่าที่ได้สัมผัสมามีทั้งสถาปัตย์กรรม สมัยใหม่ที่บ่งบอกถึงความเป็นเมือง มีอาคารแบบโคโลเนียล (Colonial) มีสวนสาธารณะและพื้นที่สีเขียวโดยรอบ ขณะที่ในเขตใกล้กับวัดอินทรโกศา เป็นเขตที่เป็นชานเมือง มีอาคารบางแห่งที่ดูเหมือนทิ้งร้าง มีบ้านไม้สร้างอยู่ริมคลอง ส่วนใหญ่ขายของเล็ก ๆ น้อย ๆ บ้างก็เป็นร้านตัดผม ร้านกาแฟ
ในเวทีอภิปรายที่วัดอินทรโกศา โซธา รอส ตัวแทนของกัมพูชากล่าวว่าประเทศกัมพูชายังมีปัญหาเรื่องช่องว่างระหว่างคน รวยกับคนจน ขณะเดียวกันในวงอภิปรายก็มีการพูดถึงความสำคัญของพุทธศาสนา ศาสนาพุทธเป็นสิ่งที่มีบทบาททางการเมืองและมีอิทธิพลต่อวิถีวีชิตของชาว กัมพูชาค่อนข้างมาก จากการสังเกตของผู้สื่อข่าว เห็นว่าชาวกัมพูชาที่เข้าร่วมจะก้มลงกราบเพื่อสักการะทุกครั้งที่เขาเห็นพระ พุทธรูป ไม่ว่าจะในฝั่งกัมพูชาหรือฝั่งไทย
สงครามกลางเมืองสิ้นสุดลงในเดือนเมษายน ค.ศ.1975 ด้วยชัยชนะของเขมรแดง รัฐบาลเขมรแดงปกครองประเทศอย่างเข้มงวด และเปลี่ยนแปลงสังคมกัมพูชาอย่างถึงรากถึงโคน รัฐธรรมนูญคอมมิวนิสต์ได้ถูกประกาศใช้โดยกล่าวถึงเสรีภาพทางศาสนาในมาตรา 20 ว่า "พลเมืองกัมพูชาทุกคนมีสิทธิที่จะนับถือศาสนาหรือไม่นับถือศาสนาก็ได้ ศาสนาปฏิกิริยาซึ่งขัดขวางกัมพูชาประชาธิปไตยและประชาชนเป็นสิ่งต้องห้าม"
ภายใต้รัฐบาลเขมรแดง พุทธศาสนาต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวงทั้งในด้านคำสอน คณะสงฆ์ และวัด พระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าถูกตีความให้รับใช้การปฏิวัติ พระสงฆ์ต้องเข้ารับการศึกษาใหม่ และต้องใช้แรงงานเช่นเดียวกับฆราวาสทั้งในท้องนา การก่อสร้างถนนและเขื่อน มีการทำลายวัดวาอารามและพระพุทธรูป มีการเผาคัมภีร์และตำราทางศาสนา ภายในระยะเวลาเพียงสี่ปีพุทธศาสนาเกือบสูญสิ้นไปจากประเทศ [1]
การยึดครองกรุงพนมเปญของกองทัพเวียดนามเมื่อวันที่ 7 มกราคม ค.ศ.1979 ทำให้การปกครองของเขมรแดงสิ้นสุดลง ระบอบเฮงสัมริน (Heng Samrin) ได้ถูกสถาปนาขึ้นภายใต้การควบคุมของเวียดนาม รัฐบาลใหม่ได้ฟื้นฟูพุทธศาสนาในระดับหนึ่ง โดยซ่อมแซมวัดและพระพุทธรูปจำนวนหนึ่ง รวมทั้งอนุญาตให้ผู้ชายที่มีอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไปบวชเป็นพระภิกษุได้ แทนที่จะตำหนิพุทธศาสนาว่าเป็นฝิ่นของประชาชนดังเช่นเขมรแดง เฮงสัมริน กลับยกย่องพุทธศาสนาว่าเป็นพลังทางศีลธรรมที่สำคัญในการสร้างสังคมใหม่ [2]
ภายใต้รัฐบาลปัจจุบันของสมเด็จฮุนเซน (Hun Sen) สถาบันพระมหากษัตริย์ได้รับการฟื้นฟูขึ้นมาใหม่ โดยเจ้านโรดม สีหมุนี (พระโอรสของเจ้านโรดมสีหนุ) ทรงเป็นกษัตริย์องค์ปัจจุบัน พุทธศาสนาและขนบธรรมเนียมประเพณีได้รับการส่งเสริมสนับสนุน พร้อมกับระบอบประชาธิปไตยที่มีพรรคการเมืองหลายพรรค สำหรับชาวกัมพูชาแล้วพุทธศาสนาและเอกลักษณ์ความเป็นกัมพูชาคือสิ่งเดียวกัน [3]
สงครามกลางเมืองของกัมพูชาในช่วงราว 40 ปีที่ผ่านมา ทำให้ศาสนาพุทธถูกปราบปรามโดยกลุ่มเขมรแดง และชีวิตของของประชาชนชาวกัมพูชาจำนวนมากต้องสูญเสียไปทั้งจากฝ่ายเขมรแดง และจากการทิ้งระเบิดของกองทัพสหรัฐฯ [4]
อาจารย์
ประวัติศาสตร์ที่เพิ่งสร้าง - เส้นเขตแดนที่เพิ่งขีด
ประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับกัมพูชาที่นำ เสนอในแบบเรียนดูไม่น่าพิศมัย ปลูกฝังความรู้สึกเกลียดชัง ดูแคลน และไม่เป็นมิตร ไม่นับการขีดเส้นแบ่งเขตแดนที่เพิ่งจะเกิดขึ้นหลังจากการทำสนธิสัญญากับ ประเทศตะวันตกในช่วงยุคล่าอาณานิคม
“เมื่อก่อนชาวบ้านแถวนั้นก็ค้าขายไปมาหาสู่กัน” เสียงสะท้อนจากผู้ที่อยู่ในอำเภอติดชายแดนเอ่ยขึ้นช่วงที่กำลังเดินไปตาม เมืองเสียมเรียบ
“เจ้าอาณานิคมก็ออกไปตั้งนานแล้ว ทำไมยังไม่หันหน้ามาคุยกันล่ะ” อ.อัครพงษ์ กล่าวในช่วงที่มีการนำเสนอข้อมูลด้านประวัติศาสตร์ให้กับทั้งชาวไทยและชาว กัมพูชาฟัง “คนที่สร้างปัญหาคือคนในกรุงเทพฯ แต่คนที่มีปัญหาคือคนในพื้นที่” อ.อัครพงษ์กล่าวถึงการที่คนบางกลุ่มพยายามแย่งชิงความเป็นเจ้าของปราสาทเขา พระวิหารจนเกิดความขัดแย้งทั้งกับฝ่ายกัมพูชาและกับชาวบ้านในพื้นที่ที่ต้อง การความสงบ
ศาสนา – ภาษา – อาหาร
ความสงบศานติจากข้างในจิตใจตามแนวทางของพุทธศาสนา เป็นเรื่องที่ผู้เข้าร่วมหลายคนในโครงการนี้ทั้งชาวไทยและชาวกัมพูชาเห็นว่า มีความสำคัญ และในขณะเดียวกันก็มีบางคนมองว่าพุทธศาสนาเป็นสิ่งที่ไทยและกัมพูชามีร่วม กันในด้านความเชื่อ จารีต ประเพณี
ไม่เพียงแค่ศาสนาเท่านั้น แต่ในเรื่องวัฒนธรรมทั้งทางด้านอาหารการกิน วิถีชีวิตในบางมุม ตัวเลข-ตัว อักษร รวมถึงคำศัพท์อีกหลายคำก็เป็นสิ่งที่กัมพูชาและไทยมีความคล้ายคลึง กัน ซึ่งบางอย่างก็อาจเป็นสิ่งที่คนในท้องถื่นไทย-กัมพูชาแลกเปลี่ยนไปมาหา สู่กันในสมัยที่ยังไม่มีการ ‘สร้างรัฐชาติ’ ก่อนจะถูกรัฐส่วนกลางของไทยมาหยิบยืมไปและบอกว่าเป็นของตนเอง
อ.อัครพงษ์กล่าวถึงประเด็นนี้ว่า ก่อนหน้านี้ไทยยังไม่มีขอบเขตอำนาจที่ชัดเจน จนกระทั่งในยุคอาณานิคมได้ทำสนธิสัญญาบาวริ่งกับอังกฤษซึ่งสั่งให้จัด ระเบียบหลายจังหวัดในภาคอิสานให้มาขึ้นตรงกับกรุงเทพฯ และเริ่มตีเส้นแบ่งขอบเขตอำนาจรัฐชัดเจน ขณะเดียวกันมีอะไรหลายอย่างที่ไทยนำมาจากกัมพูชา แต่ในยุคนั้นกัมพูชาตกอยู่ใต้อาณานิคมของฝรั่งเศสทำให้ไม่มีโอกาสหรือ ศักยภาพในการแสดงอัตลักษณ์ของตน ขณะที่รัฐไทยก็เอาแต่ฝันไปเองว่าสิ่งที่นำมานั้นเป็นของตนเอง
‘หนมปันจ๊ก’ มีลักษณะคล้าย ‘ขนมจีน’ แต่มีรสชาดต่างกัน
ฉะนั้นจึงไม่แปลกที่ที่เราจะได้เห็นหน้าตาอาหารหลาย อย่างคล้ายไทย เพียงแต่ชาวกัมพูชานิยมกินรสหวาน และไม่ค่อยกินเผ็ด ขณะเดียวกันในด้านภาษา กัมพูชาก็มีความพยายามพัฒนาให้สามารถติดต่อกับผู้คนต่างประเทศได้ และหนึ่งในนั้นคือประเทศไทย
ที่วัดอินทรโกศา ซึ่งนอกจากจะมีพระในวัดอาศัยอยู่แล้ว ยังมีประชาชนบางส่วนมาอาศัยอยู่เช่น คนที่ขับขี่มอเตอร์ไซค์รับจ้าง ในวัดนี้มีการเรียนการสอนภาษาไทย ซึ่งมีทั้งพระสงฆ์และบุคคลทั่วไปมาเรียน ในร้านค้า ร้านกาแฟละแวกนั้นก็มีชาวกัมพูชาที่เข้าใจภาษาไทยหรือภาษาอังกฤษอยู่บ้าง ขณะที่ชาวไทยส่วนใหญ่ต้องอาศัยล่ามเพื่อที่จะเข้าใจภาษากัมพูชา
มีหลายครั้งที่ผู้สื่อข่าวต้องอาศัยเพื่อนชาวกัมพูชาที่ เข้าร่วมโครงการอย่าง ดานี ในการสื่อสารกับผู้ที่ใช้ภาษากัมพูชา เธอสามารถที่พูดคุยภาษาอังกฤษได้ดีมาก พูดภาษาไทยได้เล็กน้อยแล้วก็ดูกระตือรือร้นในการเรียนภาษาไทย ผู้เข้าร่วมชาวไทยตั้งข้อสังเกตว่า แม้ชาวกัมพูชาหลายคนอาจจะยังสื่อสารด้วยภาษาไทยได้ไม่เต็มที่แต่ก็ดูพยายาม เข้าหาคนไทย
“ปล่อยให้อดีตเป็นอดีต”
ในขณะที่บทเรียนประวัติศาสตร์แบบชาตินิยมสอนว่ากัมพูชา เป็นประเทศที่เข้ามารุกรานไทย เข้ามาลอบโจมตีอยุธยาในช่วงที่อาณาจักรอ่อนแอ และคนไทยหลายคนก็มองภาพกัมพูชาในปัจจุบันว่าเป็นประเทศล้าหลัง ไม่พัฒนา
แต่กัมพูชาในยุคปัจจุบันกำลังพยายามพัฒนาตัวเองอย่างมาก หลังเปิดประเทศและไทยก็ถือเป็นคู่ค้ารายสำคัญ จากการสำรวจในปี 2551 พบว่ากัมพูชานำเข้าสินค้าจากประเทศไทยมากที่สุด รองลงมาคือเวียดนาม [5]
ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจนอกจากเรื่องการค้าขายแล้ว ยังมีเรื่องของการแลกเปลี่ยนแรงงาน มีแรงงานชาวกัมพูชาจำนวนมากเข้ามาทำงานในประเทศไทย ทั้งอย่างถูกกฏหมายและไม่ถูกกฏหมาย แต่ก็ยังมีการกดขี่เอารัดเอาเปรียบ การถูกบีบบังคับจากมาตรการของรัฐ รวมถึงไม่ได้รับการคุ้มครองสิทธิ
หลายสิ่งหลายอย่างเหล่านี้ถูกสะท้อนออกมาในเวทีสรุปความ รู้สึกร่วมกันของชาวไทยและชาวกัมพูชาที่เข้าร่วมโครงการในวันสุดท้าย
แล้วจะทำอย่างไรเพื่อช่วยให้ความสัมพันธ์ระหว่าง ไทย-กัมพูชาดีขึ้น ในเรื่องนี้ฝ่ายไทยเสนอว่าควรมีการชำระประวัติศาสตร์ที่ไม่ถูกต้องให้เกิด ความเข้าใจที่ดีต่อกัน มีการเปิดเสรีการค้าของทั้ง 2 ประเทศ มีการสนับสนุนการท่องเที่ยวระหว่างไทย-กัมพูชาให้ดีขึ้น
ทางฝ่ายกัมพูชาเสนอในเวทีสรุปความรู้สึกว่า สิ่งดี ๆ ที่พวกเขาเคยได้รับจากไทยคือการก่อสร้างสะพาน/โรงเรียน การให้นักศึกษากัมพูชาเข้ามาเรียนในไทย โดยยังเสนออีกว่าอยากให้ไทยทำสิ่งดี ๆ เหล่านี้ต่อไปและอยากให้รัฐบาลไทยรักษาความสามัคคีระหว่างไทย-กัมพูชา ไว้
ประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาอาจสะท้อนเรื่องของความขัดแย้งใน ระดับรัฐ และการที่ประเทศไทยเคยมีส่วนที่ทำร้ายและเอาเปรียบกัมพูชา ตัวแทนของฝ่ายไทยที่นำเสนอเรื่องนี้ก็แสดงความเสียใจและกล่าวขอโทษแทนประเทศ ไทย ขณะที่ทางฝั่งกัมพูชากล่าวในเวทีว่า ไม่อยากให้คิดมากกับเรื่องในอดีต เพราะในปัจจุบันเราถือเป็น ‘พี่น้อง’ กันแล้ว
“เรามีอะไรที่คล้ายกันอย่างมาก ทำไมเราถึงเข้ากันไม่ได้” โซธา รอส ตัวแทนจากเขมรกล่าวบนเวที “เราไม่ควรจะรบกันเอง เราเป็นคนมีความรู้ มีปัญญา การจะรบกันมันเป็นเรื่องในอดีตไปแล้ว ตอนนี้เป็นยุคใหม่แล้ว”
“ตอนนี้เป็นยุคใหม่แล้ว”
สิ่งที่เป็นความหวังอีกอย่างหนึ่งของไทยกับกัมพูชาคือ การสร้างความเข้าใจโดยเฉพาะกับคนรุ่นใหม่ ดานี หนึ่งในผู้เข้าร่วมชาวกัมพูชาบอกว่าตอนที่เธอจะเข้าร่วมโครงการนี้ ครอบครัวของเธอแสดงความเป็นห่วงต่อการพบปะกับคนไทย และตัวเธอเองก็มีความลังเลว่าจะไม่สามารถเข้ากับคนไทยได้ดีเท่าที่ควร เพราะไม่เคยเจอคนไทยมาก่อน
“พอได้เจอคนไทยแล้วพวกเขาใจดีมาก คนไทยส่วนใหญ่คอยให้ความช่วยเหลือฉัน” ดานีกล่าว
“มีบางคนที่ซื้อของขวัญให้ฉัน ฉันแปลกใจที่ได้พบว่าคนไทยทำสิ่งดี ๆ ให้ เพราะในมุมมองของฉันแล้ว ฉันออกจะกลัวคนไทยจากการที่แม่และเพื่อนของฉันพูดถึงคนไทย รวมถึงจากที่ฉันเรียนรู้มาในวิชาประวัติศาสตร์ แต่พอได้มาเจอคนไทยจริง ๆ แล้วก็ไม่ได้มีอะไรเลวร้ายขนาดนั้น ฉันเข้ากับคนไทยได้ดีมาก”
มีอยู่ช่วงหนึ่งในกิจกรรมที่ชาวบ้านภูมิซรอลบางส่วน บอกอยากไปเที่ยวชมนครวัด และออกปากขอให้ดานีเป็นคนนำทาง ในตอนก่อนกลับประเทศไทย พวกเขาก็ซื้อเสื้อผ้าให้ดานีเป็นการขอบคุณ
สุนีย์ กรุมรัมย์ นักศึกษาไทยที่เข้าร่วมโครงการนี้ มีความสามารถสื่อสารภาษากัมพูชาได้ เนื่องจากบ้านเกิดของเธอที่บุรีรัมย์ก็มีการสื่อสารกันด้วยภาษากัมพูชา
“ก็อยากไปดูว่า ชีวิตสภาพความเป็นอยู่ของพวกเขาเป็นอย่างไร” สุนีย์กล่าวถึงสาเหตุที่เข้าร่วมโครงการ เธอบอกอีกว่าแม้จะไม่ได้รับสิ่งที่คาดหวังไว้เต็มที่แต่ก็ได้พบปะพูดคุยกับ ชาวกัมพูชา และรู้สึกว่าเข้ากับพวกเขาได้ดี
“รู้สึกว่าพวกเขาเป็นคนมีจิตใจดี ดูคล้ายคนชนบทแถวบ้านเรา” สุนีย์พูดถึงชาวกัมพูชา “ความเป็นอยู่ของเขาอาจจะไม่ดีเท่าบ้านเรา แต่เขาก็อยู่ได้ สภาพชนบทของเขาใกล้ ๆ กับบ้านเรา”
ก่อนกลับประเทศไทยมีชาวกัมพูชาคนหนึ่งซึ่งเป็นคนเฝ้าวัด มาส่งสุนีย์ถึงที่รถโดยสาร และเขียนข้อความลงบนพื้นทราย ชาวกัมพูชาผู้นี้บอกว่าตัวเขาเองวันหนึ่งก็อยากไปเที่ยวประเทศไทยบ้าง
เมื่อถามถึงแนวทางที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคต สุนีย์บอกว่าแม้เรื่องการปรองดองกันของไทย-กัมพูชา จะดูเป็นเรื่องยาก แต่การเข้าร่วมโครงการนี้ทำให้ได้พูดคุยแลกเปลี่ยนกับชาวกัมพูชา คิดว่าปัญหาความขัดแย้งควรแก้ไขด้วยการเปิดอกพูดคุยกัน
“อาจไม่ใช่ว่ามันจะสำเร็จได้เลย แต่แนวทางหนึ่งที่จะช่วยแก้ปัญหาได้คือการคุยกัน” สุนีย์กล่าว
กัมพูชา – ไทย
เกี่ยวกับเรื่องอนาคตของความสัมพันธ์ไทย-กัมพูชา ในเวทีก็มีการเสนอแนะแนวทางกิจกรรมด้านความสัมพันธ์ เน้นสร้างความสัมพันธ์เชิงบอกกับทั้ง 2 ชาติ โดยมีคำขวัญอย่าง “การอยู่ร่วมกันบนพื้นฐานขความหลากหลายที่ยั่งยืนไร้พรมแดน” และ “เข้าใจ ใส่ใจ เห็นใจ” , การจัดคอนเสิร์ทสันติภาพไทย-กัมพูชา โดยมีการแลกเปลี่ยนศิลปินกัน และการจัดเสวนาในประเด็นกลุ่มย่อยต่าง ๆ เช่น เรื่องสื่อ, เรื่องการค้ามนุษย์, แรงงานข้ามชาติ เป็นต้น
โดยในเวทีวันสุดท้ายก็มีมติว่าทั้ง 2 ฝ่ายจะตั้งคณะกรรมการในระดับของภาคประชาชนจากหน่วยงานหลาย ๆ ด้าน ทั้งจาก เกษตรกร, แรงงาน, ศาสนา, สื่อ, ประชาชน
สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี ได้เสนอความเห็นเกี่ยวกับการจัดตั้งคณะกรรมการในครั้งนี้ว่า คณะกรรมการที่ตั้งขึ้นมาควรจะเน้นไปที่ปัญหาอย่างใดอย่างหนึ่งชัดเจนมากกว่า ปัญหากว้าง ๆ
“คณะกรรมการควรพูดเรื่องที่สัมผัสได้ในชีวิตประจำวัน มากกว่านี้ เช่น ปัญหาจากการซื้อขายแลกเปลี่ยนชายแดน หรือการทำการเกษตร” สุภลักษณ์กล่าว
โดยในกิจกรรมยังมีชาวไทยและชาวกัมพูชาร่วมลงชื่อใน แถลงการณ์ กล่าวถึงการที่ประชาชนชาวไทยและกัมพูชาได้ร่วมกระชับความสัมพันธ์กัน และเรียกร้องให้รัฐบาลกัมพูชาและไทยทำงานร่วมกันในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง ระหว่างประเทศ เนื้อหาของแถลงการณ์มีดังนี้
“ประชาชนชาวกัมพูชา-ไทย ที่เข้าร่วมในโครงการฯ องค์กรพุทธศาสนาของกัมพูชา มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ และชุมชนหมู่บ้านภูมิซรอล มีความเห็นร่วมกัน ว่าจะร่วมกันสานสัมพันธ์ที่ดี ที่สร้างสรรค์ ใกล้ชิดระหว่างประชาชนไทย-กัมพูชา และเราต้องการให้รัฐบาลทั้ง 2 ประเทศ ทำงานร่วมกันเพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งด้วยวิถีทางการทูต เพื่อคงไว้ซึ่งความสัมพันธ์อันดีกันระหว่างทั้ง 2 ประชาชาติ”
ยังมีอีกหลายมุมมองที่เรายังไม่ได้เรียนรู้จากกัมพูชา ประเทศที่เราเรียกว่าประเทศเพื่อนบ้าน และไม่รู้อีกว่านานเท่าไหร่ที่เราจะสามารถเรียนรู้เพื่อนบ้านของเราด้วยความ เข้าใจ ไม่ใช่เพียงจากแบบเรียนประวัติศาสตร์และชาตินิยมที่มืดบอด
ข้อมูลอ้างอิง เพิ่มเติม
[1][2][3] ดร.ทวีวัฒน์ ปุณฑริกวิวัฒน์ ,คอลัมน์ "หน้าต่างความจริง" หนังสือพิมพ์มติชนรายวันฉบับประจำวันอาทิตย์ที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2549 ปีที่ ๒๙ ฉบับที่ ๑๐๔๗๓. คอลัมน์หน้าต่างความจริง, หน้า ๖.
[4] Buddhism in
[5] Cambodia Trade, Exports and Imports, Economy Watch, http://www.economywatch.com/world_economy/cambodia/export-import.html
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น