แดงเชียงใหม่

กราบสวัสดี พี่น้องทุกๆท่านที่เข้ามาเยี่ยมเยือน Blog นปช.แดงเชียงใหม่ ขอเรียนชี้แจงสักนิดว่า เรา ”แดงเจียงใหม่” เป็นกลุ่มคนชาวเจียงใหม่ที่เคารพรัก กติกาประชาธิปไตย ต่อสู้และต่อต้านเผด็จการทุกรูปแบบ อยากเห็นประเทศชาติภายภาคหน้า มีความเจริญ ประชาชน รุ่นลูกหลานของเราอยู่อาศัยอย่างร่มเย็นเป็นสุขในประเทศของพวกเราเอง ไม่มีกลุ่มอภิสิทธิ์ชนกลุ่มใดมาสูบเลือดเนื้อ แอบอ้างบุญคุณเฉกเช่นในยุคนี้ที่พวกเราเห็น การที่จะได้รับในสิ่งที่มุ่งหวังก็ต้องมีการต่อสู้แสดงกำลังให้สังคมได้รับรู้ และเพื่อที่จะให้กลุ่มบุคคลที่มีอำนาจในปัจจุบันได้เข้าใจในสังคมที่ก้าวหน้าเปลี่ยนแปลงไป ไม่อาจฝืนต่อกระแสการพัฒนาของโลก การต่อสู้ร่วมกับผองชนทั่วประเทศในครั้งนี้ เรา " แดงเจียงใหม่ " ได้ร่วมต่อสู้ทุกรูปแบบ และ ในรูปแบบที่ท่านได้เข้ามาร่วมอยู่นี้ คือการเผยแพร่ข่าวสารต่อสังคม

เรา " แดงเจียงใหม่ " ขอเชิญชวนร่วมกันสร้างขวัญ และกำลังใจให้เพื่อนพ้องน้องพี่ร่วมกัน


"อันประชาสามัคคีมีจัดตั้ง
เป็นพลังแกร่งกล้ามหาศาล
แสนอาวุธแสนศัตรูหมู่อันธพาล
ไม่อาจต้านมวลมหาประชาชน"

.

วันพุธที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2553

พวงทอง ภวัครพันธุ์: ปราสาทพระวิหาร เอ็มโอยู 2543 และแผนที่



แผนที่แสดงพื้นที่ที่มีการปักหลักเขตแดนไทย-กัมพูชา
Tue, 2010-08-03 14:07
พวงทอง ภวัครพันธุ์

สถานการณ์ร้อนแรงระหว่างไทย-กัมพูชาลดระดับลงไป เมื่อคณะกรรมการมรดกโลกตัดสินใจเลื่อนพิจารณาแผนบริหารจัดการพื้นที่มรดกโลก ปราสาทพระวิหารของกัมพูชาออกไปเป็นปีหน้า แน่นอนว่านี่เป็นการผัดผ่อนปัญหาไปชั่วคราวเท่านั้น เรื่องนี้ยังไม่จบง่าย ๆ อย่างไรก็ตาม จากการประท้วงของกลุ่มชาตินิยมครั้งล่าสุดนี้ มีประเด็นสำคัญที่ผู้เขียนต้องการถกเถียงในที่นี้ คือ กรณี MOU ปี 2543 และคำอธิบายของกลุ่มชาตินิยมที่มีต่อแผนที่เจ้าปัญหา
ควรยกเลิก MOU 2543 จริงหรือ?
หนึ่งในข้อเรียกร้องของกลุ่มชาตินิยมคือ ให้รัฐบาลอภิสิทธิ์ประกาศยกเลิกบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาล กัมพูชา ว่าด้วยการจัดทำหลักเขตแดนทางบก ปี 2543 (MOU 2543) ที่ลงนามโดย ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ บริพัตร รมช. กต.ในขณะนั้น และนายวาร์ คิม ฮง ที่ปรึกษาฝ่ายกิจการชายแดนของกัมพูชา เหตุผลที่ต้องยกเลิกก็เพราะ MOU 2543 ระบุว่า หนึ่งในเอกสารที่ต้องใช้ในการปักปันเขตแดนทางบก คือ แผนที่ที่ จัดทำขึ้นตามผลงานการปักปันเขตแดนของคณะกรรมการปักปันเขตแดนระหว่างสยามกับ ฝรั่งเศสตามอนุสัญญาปี ค.ศ.1904 และสนธิสัญญาปี ค.ศ. 1907 ซึ่งมีความหมายรวมถึง แผนที่ที่ทำให้ไทยแพ้คดีปราสาทพระวิหารในปี 2505 หรือที่ฝ่ายไทยชอบเรียกว่า แผนที่ 1: 200000 แต่ในที่นี้จะเรียกว่า แผนที่ตอนเขาดงรัก
เรื่องนี้ดูจะสร้างความตระหนกให้แก่กลุ่มชาตินิยมไม่น้อย เพราะพวกเขายืนยันมาโดยตลอดว่า ไทยไม่เคยยอมรับแผนที่ฉบับนี้ (ฉะนั้น ไทยจึงไม่ต้องยอมรับคำตัดสินของศาลโลกที่ยกปราสาทพระวิหารให้กัมพูชา) แต่ปรากฏว่าพวกเขาได้ค้นพบว่า รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ที่พวกเขาช่วยกันอุ้มชู กลับเป็นผู้ไปทำ MOU ที่แสดงการยอมรับแผนที่เจ้าปัญหาเสียเอง ฉะนั้น รัฐบาลอภิสิทธิ์จะต้องเลิก MOU โดยด่วนที่สุด!
คำถามที่จะต้องถามคือ 1. ไทยจะอ้างเหตุผลอะไรเพื่อยกเลิก MOU 2543 2. การยกเลิกจะทำให้ประเทศไทยได้และเสียอะไรบ้าง

ตอบคำถามแรก: MOU 2543 ไม่มีส่วนใดที่ระบุว่าคู่สัญญาสามารถบอกเลิกหรือเพิกถอนได้แต่โดยลำพัง ทั้งนี้ อนุสัญญากรุงเวียนนา ค.ศ.1969 ได้กำหนดว่าในกรณีหนังสือสัญญาไม่ได้ระบุเรื่องการบอกเลิกหรือเพิกถอน ก็จะกระทำไม่ได้ ยกเว้นมีการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมขั้นพื้นฐานของสนธิสัญญาดังกล่าว ในกรณีนี้ ไทยจะใช้เหตุผลอะไรเพื่อขอยกเลิก MOU การมาค้นพบภายหลังว่าแผนที่ที่ใช้ปักปันเขตแดนมีปัญหา ย่อมไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมขั้นพื้นฐาน
ตอบคำถามที่สอง: หากรัฐบาลอภิสิทธิ์เต้นไปตามแรงกดดันชาตินิยม และตัดสินใจเลิก MOUนี้ สิ่งที่ประเทศไทยจะได้ก็คือ นายกฯ ที่มีคะแนนนิยมที่เพิ่มสูงขึ้น แต่ก็คงชั่วครู่ชั่วคราวเท่านั้น โชคดีที่ครั้งนี้ นายอภิสิทธิ์ไม่ใจร้อนเหมือนปีที่แล้ว ที่ด่วนบอกเลิก MOU การปักปันพื้นที่ไหล่ทวีป กับการให้ความช่วยเหลือสร้างถนนแก่กัมพูชา
การจะตอบคำถามว่าการยกเลิก MOU 2543 จะทำให้ไทยเสียอะไรบ้าง จะต้องกลับไปทำความเข้าใจเกี่ยวกับแผนที่เจ้าปัญหาชุดนี้เสียก่อน กล่าวคือ
แผนที่ที่จัดทำขึ้นตามผลงานการปักปันเขตแดนของคณะกรรมการปักปันเขตแดน ระหว่างสยามกับฝรั่งเศสชุดนี้มีทั้งหมด 11 ตอน (ระวาง) ครอบคลุมเขตแดนทางบกด้านตะวันออกของไทย ตั้งแต่ลาวลงมาถึงกัมพูชา (ตอนเขาดงรัก หรือบริเวณปราสาทพระวิหาร เป็น 1 ใน 11 ตอน) ฉะนั้น แผนที่ชุดนี้จึงไม่ได้ถูกใช้เป็นเอกสารในการปักปันเขตแดนระหว่างไทย-กัมพูชาเท่านั้น แต่ยังถูกใช้ในการปักปันเขตแดนระหว่างไทย-ลาวด้วย
หากฝ่ายไทยขอยกเลิก MOU 2543 กับกัมพูชา ด้วยเหตุผลว่าไทยไม่ยอมรับแผนที่ชุดนี้ ก็อาจกระทบต่อการปักปันเขตแดนที่กระทำร่วมกับลาวด้วย เพราะหากไทยไม่ยอมรับสถานะของแผนที่ชุดนี้ในความสัมพันธ์กับกัมพูชา แต่หันไปบอกกับลาวว่า ไม่เป็นไร ไทยยินดีใช้แผนที่ชุดนี้เพราะมันเป็นหลักฐานที่ทำให้ไทยได้เปรียบกรณีพิพาท บ้านร่มเกล้า... เหตุผลเช่นนี้ก็คงพิลึกดี
สิ่งที่สังคมไทยควรรับทราบไว้ก็คือ ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา นับแต่ไทยสามารถทำข้อตกลงเพื่อปักปันเขตแดนกับลาวและกัมพูชาได้ กระบวนการปักปันเขตแดนด้านตะวันออกได้ก้าวหน้าไปอย่างมีนัยสำคัญ กล่าวคือ ข้อมูล กต. ระบุว่าเส้นเขตแดนไทย-กัมพูชาที่มีความยาวทั้งสิ้น 798 กม. ได้ปักหลักเขตแดนไปแล้ว 603 กม. คือตั้งแต่ช่องสะงำ จ.ศรีษะเกษ–บ้านหาดเล็ก จ.ตราด ส่วนที่ยังไม่ได้ปักหลักมีระยะทาง 195 กม. ซึ่งก็คือตอนเขาดงรัก ที่ตั้งของปราสาทพระวิหารและพื้นที่ทับซ้อน 4.6 ตร.กม. นั่นเอง
ในส่วนของพรมแดนไทย-ลาว การปักหมุดเขตแดนทางบกสามารถดำเนินไปได้ถึงร้อยละ 96 หรือเท่ากับ 676 กม.จากพื้นที่ทั้งหมด 702 กม. ส่วนที่ไม่ค่อยคืบหน้าก็คือ บริเวณแม่น้ำโขงและแม่น้ำเหือง (บริเวรบ้านร่มเกล้า) (ดูเว็บ กต. www.mfa.go.th/laos/laos.php)
หากมีการยกเลิก MOU ความพยายามที่เจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายช่วยกันผลักดันเพื่อยุติ-ป้องกันความขัด แย้งเหนือดินแดนในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ย่อมหยุดชะงักลงทันที
อย่างไรก็ตาม คำอธิบายเพียงแค่นี้อาจยังไม่เป็นที่พอใจของกลุ่มชาตินิยม ที่มักเชื่อว่าเจ้าหน้าที่ไทยที่เกี่ยวข้อง โง่ ไม่ทำการบ้าน แต่ในกรณี MOU 2543 เป็นเช่นนั้นจริงหรือ?
สิ่งที่กลุ่มชาตินิยมไม่ได้อ้างถึงก็คือ MOU 2543 ยังระบุถึงเอกสารอีกชุดหนึ่ง ที่ต้องใช้ประกอบการสำรวจและปักหลักเขตแดน นั่นก็คือ อนุสัญญาระหว่างสยามกับฝรั่งเศสลงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1904 และสนธิสัญญาระหว่างสยามกับฝรั่งเศส ลงวันที่ 23 มีนาคม ค.ศ.1907 เอกสารทั้งสองนี้ระบุว่า การปักปันเขตแดนบริเวณเขาดงรัก ให้ยึดเส้นสันปันน้ำ อันเป็นหลักการที่ไทยยืนยันมาโดยตลอด
ในแง่นี้ MOU 2543 จึงประกอบด้วยเอกสารที่ถ่วงดุลอำนาจในการ ต่อรองและผลประโยชน์ของคู่เจรจาทั้งสองฝ่าย ซึ่งนี่ไม่ใช่เรื่องผิดปกติในการเจรจาต่อรองระหว่างประเทศ เพราะหากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งยืนยันให้ใช้แต่เฉพาะเอกสารที่ให้ประโยชน์กับฝ่ายตน เท่านั้น การเจรจาก็ไม่มีทางคืบหน้าไปได้
นอกจากนี้ มันยังหมายความต่ออีกว่า เจ้าหน้าที่ไทยที่เกี่ยวข้องก็เห็นประโยชน์จากแผนที่ชุดนี้เช่นกัน เพราะในจำนวน 11 ตอน มีเฉพาะตอนเขาดงรักเท่านั้นที่ฝ่ายไทยไม่ยอมรับ แต่อีก 10 ตอนที่เหลือ จะช่วยให้ไทยแก้ปัญหาเรื่องดินแดนกับเพื่อนบ้านได้
ไทยไม่เคยยอมรับแผนที่จริงหรือ?
เหตุผลที่ฝ่ายชาตินิยมตอกย้ำ และนายกฯอภิสิทธิ์รับมาเป็นจุดยืนของตนด้วยก็คือ ไทยไม่มีภาระผูกพันต่อแผนที่ตอนเขาดงรัก และไม่เคยยอมรับ เพราะเส้นเขตแดนที่ปรากฏในแผนที่ไม่ได้ลากตามเส้นสันปันน้ำดังที่กำหนดไว้ใน สนธิสัญญา, ฝรั่งเศสกระทำขึ้นแต่ฝ่ายเดียว คณะกรรมการปักปันเขตแดนของไทยไม่ได้เข้าร่วมด้วย, ไทยไม่เคยให้สัตยาบันรับรองแผนที่นี้, ไทยถูกฝรั่งเศส ซึ่งเป็นประเทศใหญ่กว่า กดดันรังแกให้ต้องยอมรับแผนที่ และในขณะนั้น ไทยไม่มีความรู้เรื่องการทำแผน จึงรับแผนที่มาโดยไม่รู้ว่าเส้นเขตแดนไม่ตรงกับเส้นสันปันน้ำ ที่ (แม้ว่าสยามได้ก่อตั้งกรมแผนที่ขึ้นมาแล้วในสมัยรัชกาลที่ 5 ในปี พ.ศ.2428 ก็ตาม)
อันที่จริงทีมงานกฎหมายที่นำโดย ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ก็ใช้เหตุผลเหล่านี้เพื่อต่อสู้คดีปราสาทพระวิหารในศาลโลก และทำให้ไทยแพ้มาแล้ว และศาลโลกก็ได้โต้แย้งเหตุผลไปแล้วด้วย โดยศาลโลกยืนยันว่าไทยมีภาระผูกพันต่อแผนที่ตอนเขาดงรัก เพราะมีหลักฐานว่าไทยได้เคยตีพิมพ์ เผยแพร่ และจัดส่งแผนที่ทั้ง 11 ตอนหลายครั้งหลายครา ซึ่ง “เพียงพอที่จะก่อให้เกิดผลทางกฎหมายได้” โดยสรุปได้ดังนี้ (ดูคำพิพากษาศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ คดีปราสาทพระวิหาร)
1. เมื่อสถานทูตไทย ณ กรุงปารีส ได้รับแผนที่ทั้ง 11 ตอน อัครราชทูตไทยได้มีหนังสือไปยังกระทรวงการต่างประเทศในกรุงเทพฯ มีข้อความตอนหนึ่งว่า “ในเรื่องที่คณะกรรมการปักปันเขตแดนผสม ตามคำร้องขอของกรรมการฝ่ายสยามให้กรรมการฝ่ายฝรั่งเศสช่วยจัดทำแผนที่เขตแดนต่าง ๆ ขึ้นนั้น บัด นี้ คณะกรรมการฝ่ายฝรั่งเศสได้ปฏิบัติงานเสร็จเรียบร้อยแล้ว” อัครราชทูตไทยคนดังกล่าวยังระบุว่า ตนได้รับแผนที่จำนวน 50 ชุด และจะได้ส่งแผนที่อย่างละชุดไปยังสถานทูตไทยในยุโรปและอเมริกา นอกจากนี้ สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสนาบดี มหาดไทยยังได้ขอบคุณอัครราชทูตฝรั่งเศส ณ กรุงเทพฯ สำหรับแผนที่เหล่านั้น และได้ทรงขอแผนที่จากฝรั่งเศสอีกอย่างละ 15 ชุดเพื่อส่งไปให้ผู้ว่าราชการจังหวัดต่าง ๆ ของสยาม
ศาลโลกเห็นว่าข้อความในหนังสือดังกล่าวชี้ว่า เจ้าหน้าที่สยามรับรู้ว่าแผนที่ที่ตนได้รับนั้นคือ ผลงานปักปันเขตแดน ที่รัฐบาลสยามได้ “ร้องขอ” ให้ฝ่ายฝรั่งเศสจัดทำให้ตนนั่นเอง นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่สยามได้ยอมรับแผนที่ โดยมิได้มีการตรวจสอบโดยตนเอง “จึงไม่อาจที่จะอ้างในเวลานี้ได้ว่ามีข้อผิดพลาดอันเป็นการลบล้างความยินยอม ที่แท้จริงได้”
2. เหตุการณ์ในยุคหลัง ร.5 ยังชี้ว่าสยามได้ยอมรับแผนที่ภาคผนวก 1 ในทางพฤตินัยและไม่ได้สนใจที่จะคัดค้านแผนที่นี้ แม้ว่าจะมีโอกาสหลายครั้งก็ตาม กล่าวคือ ในช่วงปี พ.ศ. 2477-2478 ไทยได้ทำการสำรวจบริเวณนี้ด้วยตนเอง แล้วพบว่าเส้นสันปันน้ำกับเส้นบนแผนที่ไม่ตรงกัน และฝ่ายไทยได้จัดทำแผนที่ขึ้นมาเอง โดยแสดงว่าปราสาทพระวิหารอยู่ในเขตไทย แต่ประเทศไทยก็ยังคงใช้แผนที่ที่จัดทำโดยฝรั่งเศสตลอดมา
และที่น่าประหลาดใจยิ่งขึ้นก็คือ ในปี พ.ศ. 2480 ในการลงนามในสนธิสัญญากับฝรั่งเศสเพื่อยืนยันเส้นเขตแดนร่วมที่มีอยู่แล้ว อีกครั้งหนึ่ง “กรมแผนที่ของสยามก็ยังคงพิมพ์แผนที่แสดงว่าพระวิหารอยู่ในเขตของกัมพูชาอยู่อีก”
ประเทศไทยมีโอกาสขอแก้ไขเส้นเขตแดนที่ผิดพลาดอีกครั้งหนึ่งในปี พ.ศ. 2490 หรือหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ไทยต้องคืนดินแดนพระตะบอง เสียมราฐ และจำปาสักให้แก่ฝรั่งเศส ได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการประนอมฝรั่งเศส-ไทยขึ้น โดยภาระหน้าที่ประการหนึ่งคือตรวจแก้ไขเส้นเขตแดนซึ่งไทยอาจยกขึ้นมา ซึ่งไทยได้ยื่นคำร้องเกี่ยวกับเส้นเขตแดนในหลายบริเวณด้วยกัน แต่กลับไม่เคยร้องเกี่ยวกับปราสาทพระวิหารเลย แต่กลับยื่นแผนที่ฉบับหนึ่งต่อคณะกรรมการซึ่งแสดงว่าพระวิหารอยู่ในกัมพูชา
ข้อมูลเหล่านี้ชี้ให้เห็นถึงการปฏิบัติหลายครั้งหลายหนของฝ่ายไทยที่แสดงการยอมรับแผนที่ตอนเขาดงรัก ศาลโลกจึงมีข้อวินิจฉัยว่า “ประเทศไทยได้ยอมรับเส้นเขตแดนตรงจุดนี้ดังที่ลากไว้บนแผนที่โดยไม่คำนึงว่าจะตรงกันกับเส้นสันปันน้ำหรือไม่”
ถึงแม้ว่าศาลโลกจะไม่ได้ตัดสินให้ตามคำขอของกัมพูชาที่ว่า แผนที่ตอนเขาดงรักมีสถานะเท่ากับสนธิสัญญา และเส้นเขตแดนที่ปรากฏในแผนที่เป็นเส้นเขตแดนไทย-กัมพูชา แต่ไทยก็ต้องตระหนักว่าศาลโลกมีความเห็นว่า
“ประเทศไทยใน ค.ศ. 1908-09 ได้ยอมรับแผนที่ในภาคผนวก 1 ว่าเป็นผลงานของการปักปันเขตแดน และด้วยเหตุนี้ จึงได้รับรองเส้นบนแผนที่ว่าเป็นเส้นเขตแดน อันเป็นผลให้พระวิหารตกอยู่ในดินแดนกัมพูชา ศาลมีความเห็นต่อไปว่า เมื่อพิจารณาโดยทั่ว ๆ ไป การกระทำต่อ ๆ มาของไทยมีแต่ยืนยัน และชี้ให้เห็นชัดถึงการยอมรับแต่แรกนั้น และว่าการกระทำของไทยในเขตท้องที่ก็ไม่พอเพียงที่จะลบล้างข้อนี้ได้ คู่ กรณีทั้งสองฝ่าย โดยการประพฤติปฏิบัติของตนเองได้รับรองเส้นแผนที่นี้ และดังนั้นจึงถือได้ว่าเป็นการตกลงให้ถือว่าเส้นนี้เป็นเส้นเขตแดน”
ไทยต้องตระหนักว่ารัฐบาลกัมพูชามีสิทธิ์ร้องขอโดยลำพังให้ศาลโลกตีความคำ พิพากษาปี 2505 ได้ เพื่อชี้ขาดว่าเส้นเขตแดนในบริเวณพิพาทคือเส้นเขตแดนตามที่ปรากฏในแผนที่ เจ้าปัญหาหรือไม่ ผู้เขียนเชื่อว่า หากความสัมพันธ์ระหว่างไทย-กัมพูชาเลวร้ายลงเรื่อย ๆ กัมพูชาจะเลือกใช้หนทางนี้เพื่อยุติปัญหาที่ยืดเยื้อมานานเสียที
ปัญหาคือ หากศาลชี้ขาดให้เป็นคุณกับฝ่ายกัมพูชา สังคมไทยจะมีปฏิกิริยาต่อเรื่องนี้อย่างไร ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบต่อการสูญเสียพื้นที่ 4.6 ตร.กม. ใครบ้างจะต้องกลายเป็นแพะรับบาป ความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศจะเลวร้ายลงไปอีกเพียงใด ไม่มีใครรับประกันได้
บางทีการกลับไปอ่านเอกสารหลักฐานเก่าบ้าง อาจช่วยทำให้ผู้นำไทยมีสติมากขึ้น ไม่ต้องวนเวียนกับคำอธิบายเก่า ๆ ที่เคยถูกตีตกไปแล้ว ประการสำคัญ อาจทำให้เราพยายามคิดหาหนทางใหม่ ๆ ในการแก้ไขข้อพิพาทกับประเทศเพื่อนบ้านโดยไม่ต้องอิงกับกระแสชาตินิยมมากจน เกินไป

หมายเหตุ: เผยแพร่ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์ มติชน ฉบับวันที่ 3 สิงหาคม 2553

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ผู้ให้ข้อมูลร่วมกัน