Posted by คมชัดลึก
กลายเป็นประเด็นร้อนฉ่าขึ้นมาทันทีทันใด เมื่อจู่ๆ ก็ปรากฏภาพของเครื่องบินเจ็ตขนาด 75 ที่นั่งของสหรัฐเข้ามาจอดที่กองบิน 6 (บน.6) ของกองทัพอากาศโดยมีหน่วยคอมมานโดกองปราบปรามอาวุธครบมือไปรักษาความปลอดภัย บริเวณจุดจอดเครื่องบิน ราวกับกำลังเกิดเหตุจี้เครื่องบินและจับตัวประกันเหมือนในอดีต หรือกำลังถ่ายทำหนังแอ็กชั่นของฮอลลีวู้ดก็ไม่ปาน
แต่ เมื่อเรื่องกลับโอละพ่อว่าแท้ที่จริงสหรัฐได้ส่งเครื่องบินเจ็ตมารับตัวนาย วิคเตอร์ บูท อดีตเคจีบีเก่าและพ่อค้าอาวุธสงครามชาวรัสเซียกลับไปดำเนินคดีในประเทศทันที ที่ไทยส่งตัวให้ในฐานะผู้ร้ายข้ามแดน ประเด็นก็ยิ่งร้อนฉ่ามากขึ้นว่าสหรัฐจงใจกดดันไทยสุดฤทธิ์ ทั้งๆ ที่อาจจะตระหนักว่าการกระทำเช่นนี้กำลังหมิ่นเหม่กับเรื่องสุดแสนอ่อนไหวถึง 2 ประการนั่นก็คือ
-กำลังละเมิดอำนาจศาลไทยหรือไม่ ในเมื่อศาลยังไม่ได้สั่งให้ส่งตัวนายบูทให้สหรัฐในทันที เนื่องจากยังติดคดีอีก 2 คดีจากสหรัฐเพิ่งส่งฟ้องเพิ่มเติมนั่นก็คือข้อหาฟอกเงินและฉ้อโกง อิเล็กทรอนิกส์
-เป็นการละเมิดอธิปไตยไทยหรือไม่
จากคำถาม ทั้ง 2 คำถามนี้ยิ่งตอกย้ำว่าแดนดินถิ่นเจ้าพระยาได้กลายเป็นสนามประลองกำลังของ 2 ประเทศมหาอำนาจ ซึ่งต่างก็มีความสัมพันธ์อันดีกับไทย แต่ต่างก็พยายามกดดันไทยทุกวิถีทางเพื่อให้บรรลุความต้องการของตัวเองเป็น สำคัญ โดยไม่สนใจว่านี่เป็นการแทรกแซงกระบวนการยุติธรรมของไทย ซึ่งเป็นอิสระจากฝ่ายบริหาร
ในเมื่อทั้ง 2 ประเทศต่างรู้ดีว่าการเมือง-การทูตระหว่างประเทศของไทยกำลังเปราะบางเต็มทน จากสารพัดปัญหารุมเร้าจนต้องพยายามวิ่งหามิตรประเทศโดยเฉพาะมหาอำนาจให้มา ช่วยสนับสนุน ไม่ว่าจะกรณีกลุ่มเสื้อแดงยังคงวิ่งเต้นฟ้องชาวโลกว่ารัฐบาลฆ่าประชาชน ระหว่างการกระชับวงล้อมที่ราชประสงค์ หรือกรณีปราสาทพระวิหารที่ไทยค่อนข้างจะตกเป็นฝ่ายรองบ่อนกัมพูชา
อย่าง ไรก็ดี เป็นเรื่องที่เข้าใจกันได้ดีว่า เหตุใดทั้งสหรัฐและรัสเซียจึงต้องกดดันไทยสุดฤทธิ์เช่นนี้ ในเมื่อต่างมุ่งรักษาผลประโยชน์ของตัวเป็นสำคัญทั้งในส่วนของการเมืองและ ความมั่นคง
ฝ่ายสหรัฐนั้น ก็เตรียมรีดความลับทุกอย่างจากปากของนายบูท ไม่เฉพาะเรื่องเส้นทางค้าอาวุธเถื่อน แต่อาจจะรวมไปถึงความลับในหน่วยสืบราชการลับเคจีบี ที่นายบูทเคยทำงานมาก่อน ตลอดจนเส้นสนกลในของเจ้าหน้าที่หลายระดับของรัสเซียที่เชื่อว่ามีส่วนรู้ เห็นกับขบวนการค้าอาวุธนี้
ขณะที่รัสเซียก็ค้านหัวชนฝาเพราะต้องการปกปิดความลับทั้งหลายทั้งปวงตลอดไป
ใน เมื่อต่างฝ่ายต่างเล็งผลประโยชน์จากนายบูท ไทยจึงเหมือนกับอยู่หว่างเขาควายที่กำลังชนกัน สหรัฐตั้งแต่ประธานาธิบดีบารัก โอบามา รวมทั้งสมาชิกรัฐสภาต่างช่วยกันกดดันไทยราวกับเป็นลูกไก่ในกำมือ ตั้งแต่เรียกตัวนายดอน ปรมัติวินัย เอกอัครราชทูตไทยประจำวอชิงตันไปพบ หรือการใช้ถ้อยคำในเชิงข่มขู่ต่างๆ นานา เรื่องของความสัมพันธ์ระดับพิเศษยิ่งในฐานะพันธมิตรนอกกลุ่มนาโต การยอมถอนฟ้องในคดีฟอกเงิน หรือย้ำว่านายบูท เกี่ยวพันกับการก่อการร้ายและเป็น “อาชญากรข้ามชาติ”
เช่นเดียวกับ รัสเซีย ก็พยายามดึงทุกฝ่ายเข้ามาเกี่ยวข้อง ทั้งอ้างความสัมพันธ์อันลึกซึ้ง หรือการอ้างว่านายบูท เป็นเหยื่อของการเมืองระหว่างประเทศ
ทางเลือกที่ “อภิสิทธิ์” ควรตัดสินใจคือยึดตามคำตัดสินของศาลสถานเดียว และยืนยันตัวของ “วิคเตอร์ บูท” ก็ไม่ได้มีอิทธิพลอะไรมาก เป็นแค่นักโทษคดีอาญาเท่านั้น
เพราะ มองในแง่ด้านการทหารก็ไม่ค่อยมีผลกระทบ เพราะไม่เกี่ยวข้องกับด้านการทหาร แม้ว่ากระแสข่าวการส่งตัว “วิคเตอร์ บูท” ให้ทางการสหรัฐอเมริกา เพื่อแลกในการจัดซื้อเครื่องบิน “แบล็กฮอว์ก” ของกองทัพบก อาจจะจริงหรือไม่ คงไม่ใช่สาระสำคัญ เพราะโครงการนี้คือโครงการต่อเนื่องจากสายสัมพันธ์ระหว่างกองทัพสหรัฐกับกอง ทัพบกไทย การจัดซื้อครั้งนี้ไม่ต้องผ่านสภาคองเกรสของสหรัฐเสียด้วยซ้ำ
แต่ ถ้าหากมองในแง่ผลประโยชน์ระหว่างประเทศ อาจจะทำให้ประเทศไทยสามารถฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างไทย-สหรัฐอเมริกา ได้เร็วกว่าที่เป็นอยู่ หลังจากที่สหรัฐอเมริกามึนตึงกับประเทศไทยมาตั้งแต่ช่วงการปฏิวัติรัฐประหาร เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 โดยเฉพาะการปฏิเสธการซื้อขายอาวุธยุทโธปกรณ์ให้กองทัพไทยทั้งหมด แต่การส่งตัว “วิคเตอร์ บูท” อาจจะทำให้ประเทศไทยได้รับสิทธิพิเศษมากขึ้น
ประกอบ กับสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างไทย-กัมพูชา กรณีปมปัญหาปราสาทพระวิหาร ที่ขณะนี้ยังไม่สามารถตกลงกันได้ แม้ว่าผู้นำรัฐบาลของทั้งประเทศ แบะท่าว่าจะใช้ช่องทางในการประชุมอาเซม เพื่อเจรจาหาข้อยุติกับปัญหา
เพราะ การที่มีสหรัฐอเมริกา ซึ่งถือว่าเป็นประเทศมหาอำนาจอันดับหนึ่งของโลก ถ้าหากคอยเป็นแบ็กให้ประเทศไทยการเจรจาเรื่องปราสาทพระวิหารอาจจะมีทิศทาง ที่ดีขึ้นมากกว่าที่เป็นอยู่ แต่ก็อย่ามองข้ามรัสเซีย ที่เป็นอีกหนึ่งประเทศมหาอำนาจที่ไม่ได้เป็นที่สองรองใคร และไทยก็มองว่าอนาคตจะเป็นคู่ค้าที่สำคัญ
ประเทศไทยจึงเหมือนถูกบีบ จากประเทศมหาอำนาจทั้งสอง แม้หน้าฉากไทยคือมหามิตร ดังนั้นการตัดสินใจก็จะต้องอยู่บนพื้นฐานความเป็นธรรม และยึดหลักคำตัดสินของศาล ขณะเดียวกันก็ชัดเจนว่า ไทยมีข้อตกลงด้านกฎหมายในการส่งผู้ร้ายข้ามแดนกับสหรัฐ
“หน่วยงาน ด้านความมั่นคงก็มีการพูดคุยในเรื่องนี้ เพราะไม่อยากนำเรื่องการส่งตัว “วิคเตอร์ บูท” มาเป็นประเด็นให้เกิดปัญหาระหว่างสหรัฐอเมริกากับรัสเซีย โดยเฉพาะประเทศไทยที่นั่งอยู่ตรงกลางของทั้งสองประเทศ ซึ่งนายอภิสิทธิ์ ได้เรียกสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดูรายละเอียดเกี่ยวข้องกฎหมายในภาพรวมระหว่าง ประเทศด้วย”
แต่ไม่ว่าจะถูกกดดันมากแค่ไหน ทั้งรัฐบาลและกระบวนการยุติธรรมของไทยจะต้องยืนหยัดในความเป็นอิสระและใน หลักการที่ถูกต้อง โดยจะต้องไม่หวั่นไหวกับแรงกดดันสารพัดด้าน ถ้าทำได้เช่นนี้ ความน่าเชื่อถือในกระบวนการยุติธรรมของไทยก็จะได้รับการยอมรับในที่สุด
บุญรัตน์ อภิชาติไตรสรณ์/ทีมข่าวความมั่นคง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น