แดงเชียงใหม่

กราบสวัสดี พี่น้องทุกๆท่านที่เข้ามาเยี่ยมเยือน Blog นปช.แดงเชียงใหม่ ขอเรียนชี้แจงสักนิดว่า เรา ”แดงเจียงใหม่” เป็นกลุ่มคนชาวเจียงใหม่ที่เคารพรัก กติกาประชาธิปไตย ต่อสู้และต่อต้านเผด็จการทุกรูปแบบ อยากเห็นประเทศชาติภายภาคหน้า มีความเจริญ ประชาชน รุ่นลูกหลานของเราอยู่อาศัยอย่างร่มเย็นเป็นสุขในประเทศของพวกเราเอง ไม่มีกลุ่มอภิสิทธิ์ชนกลุ่มใดมาสูบเลือดเนื้อ แอบอ้างบุญคุณเฉกเช่นในยุคนี้ที่พวกเราเห็น การที่จะได้รับในสิ่งที่มุ่งหวังก็ต้องมีการต่อสู้แสดงกำลังให้สังคมได้รับรู้ และเพื่อที่จะให้กลุ่มบุคคลที่มีอำนาจในปัจจุบันได้เข้าใจในสังคมที่ก้าวหน้าเปลี่ยนแปลงไป ไม่อาจฝืนต่อกระแสการพัฒนาของโลก การต่อสู้ร่วมกับผองชนทั่วประเทศในครั้งนี้ เรา " แดงเจียงใหม่ " ได้ร่วมต่อสู้ทุกรูปแบบ และ ในรูปแบบที่ท่านได้เข้ามาร่วมอยู่นี้ คือการเผยแพร่ข่าวสารต่อสังคม

เรา " แดงเจียงใหม่ " ขอเชิญชวนร่วมกันสร้างขวัญ และกำลังใจให้เพื่อนพ้องน้องพี่ร่วมกัน


"อันประชาสามัคคีมีจัดตั้ง
เป็นพลังแกร่งกล้ามหาศาล
แสนอาวุธแสนศัตรูหมู่อันธพาล
ไม่อาจต้านมวลมหาประชาชน"

.

วันศุกร์ที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

“เสื้อ แดง” พลังทางการเมือง ของ“ชน ชั้นล่าง และ ชนชั้นกลางรุ่นใหม่”


Thu, 07/08/2010 - 23:05 | by lovethai | Vote to close topic


เสื้อแดงคือใคร ?

คอลัมน์ มองซ้ายมองขวา

โดย อภิชาติ สถิตนิรามัย apichat@econ.tu.ac.th

ประโยคทำนองว่า "เมื่อสิ่งใหม่กำลังจะเกิดขึ้น แต่สิ่งเก่าไม่ยอมที่จะตาย สิ่งที่จะปรากฏขึ้นก็คือ อสุรกาย" ของอันโตนีโอ กรัมชี่ นักคิดฝ่ายซ้ายลือนามของอิตาลี น่าจะเหมาะสมกับความขัดแย้งทางการเมืองในรอบห้าปีที่ผ่านมา และจะขัดแย้งกันต่อไปอีกหลายปีข้างหน้า ประเด็นหลักของสังคมก็คือ จะทำอย่างไรไม่ให้อสุรกายแห่งความรุนแรงปรากฏตัวขึ้นมากไปกว่าที่ได้เกิด ขึ้นแล้วในช่วงการเปลี่ยนผ่านของดุลกำลังทางชนชั้นนี้

สิ่งหนึ่งที่จะช่วยได้ในทรรศนะของผมคือ สังคมการเมืองจะต้องยอมรับความจริงว่า "คนเสื้อแดง" นั้นมีอยู่จริง และเขาเป็น "เสรีชน" มีความตื่นตัวทางการเมือง เฉกเช่นเดียวกับชนชั้นกลางรุ่นเก่าที่ยุคหนึ่งเป็นพลังแห่งการเปลี่ยนแปลง ของเดือนตุลาคม 2516 ไม่ว่าเราจะชอบ เห็นด้วย หรือไม่ชอบและต่อต้านความคิดของคนเสื้อแดงก็ตาม เราต้องเข้าใจและยอมรับว่า เขาเป็นกลุ่มพลังทางการเมืองที่ดำรงอยู่จริง และจะไม่ยอมอยู่เฉย ๆ โดยไม่ต่อสู้อีกต่อไป ก็เฉกเช่นเดียวกับเมื่อก่อนเดือนตุลาคม 2516 ที่รัฐบาลจอมพลถนอมปฏิเสธการมีอยู่จริงของพลังชนชั้นกลางในเวลานั้น ซึ่งมีขบวนการนักศึกษา-ปัญญาชนเป็นกองหน้า รัฐบาลสามทรราชและชนชั้นนำทางอำนาจในขณะนั้นไม่มองกลุ่มพลังชนชั้นกลางว่า เป็นเสรีชน มีความคิด มีผลประโยชน์และมีข้อเรียกร้องของชนชั้น แต่กลับมองว่าเป็นกลุ่มที่ถูกปั่นหัว ถูกหลอก ฯลฯ พูดอีกแบบคือ ชนชั้นนำในยุคนั้นก็ไม่ยอมรับความจริงว่า ชนชั้นกลางในขณะนั้นได้กลายเป็นเสรีชน ผู้มีความตื่นตัวทางการเมืองแล้ว และเรียกร้องต้องการส่วนแบ่งทางอำนาจ/การมีส่วนร่วมทางการเมืองจากชนชั้นนำ

เช่นเดียวกับการก่อตัวทางเศรษฐกิจและสังคมของชนชั้นกลางเก่า ซึ่งเติบโตขึ้นมากทั้งในทางปริมาณและเชิงคุณภาพ นับตั้งแต่การเร่งรัดพัฒนาเศรษฐกิจยุคจอมพลสฤษดิ์ ความเติบโตทางเศรษฐกิจและการเปลี่ยนผ่านของโครงสร้างเศรษฐกิจจากเกษตรกรรม เป็นอุตสาหกรรมในรอบยี่สิบปีที่ผ่านมา แม้ว่าจะช้าลง แต่ก็พอเพียงที่จะให้กำเนิดแก่ "ชนชั้นกลางใหม่" ซึ่งเป็นฐานพลังของคนเสื้อแดง ในแง่นี้ผมเห็นว่า คนเสื้อแดงนั้นไม่ใช่กลุ่มคนที่ยากจนที่สุดของสังคม ในภาษาเศรษฐศาสตร์ หากเราแบ่งคนทั้งประเทศออกเป็นห้าชนชั้นตามรายได้ และเรียงลำดับตั้งแต่จนที่สุดไปรวยที่สุดแล้ว คนเสื้อแดงน่าจะเป็นคนตั้งแต่บนสุดของชั้นที่หนึ่งไปจนกระทั่งด้านล่างสุด ของชั้นที่สาม ดังนั้นในแง่อาชีพส่วนใหญ่ของคนเสื้อแดงน่าจะเป็นผู้ประกอบการอิสระรายย่อย ตั้งแต่แม่ค้าแผงลอย-ตลาดนัด แท็กซี่ มอเตอร์ไซค์รับจ้าง (หรือ informal sector ทั้งหมด) เกษตรกรที่ผลิตเพื่อตลาด แรงงานในโรงงาน หรือแรงงานระดับคอปกน้ำเงิน ฯลฯ ลักษณะร่วมของคนกลุ่มนี้คือ มีเงินออมน้อย หรือไม่พอเพียง ดังนั้นความผันผวนของภาวะเศรษฐกิจมหภาคจะมีผลโดยตรง หรือเกือบจะทันทีต่อความอยู่ดีกินดีของเขา กล่าวอีกแบบคือ เป็นกลุ่มคนที่อ่อนไหวต่อความไม่แน่นอนของภาวะเศรษฐกิจ หรือพูดได้ว่าชีวิตขาดความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ดังนั้นจึงไม่แปลกเลยที่นโยบาย "ประชานิยม" ของรัฐบาลทักษิณโดยเฉพาะอย่างยิ่ง 30 บาทรักษาโรค เบี้ยคนชรา กองทุนหมู่บ้าน การรับจำนำพืชผล จะโดนใจคนเสื้อแดงเต็ม ๆ เนื่องจากมันสอดรับกับความต้องการทางเศรษฐกิจของเขา

อาจพูดได้ว่า เกษตกรหรือคนชนบทเป็นฐานกำลังหลักของคนเสื้อแดงในแง่จำนวนคน สิ่งนี้ทำให้คนชั้นกลางเก่า "หลงผิด" อยู่กับภาพเก่า ๆ ของชนบทว่า ไม่มีการเปลี่ยนแปลงไปจากยุคก่อนรัฐบาลชาติชายเลย แต่บทความหนึ่งของอัมมารชี้ว่า ครอบครัวในชนบทที่มีสัดส่วนของรายได้จากภาคเกษตรมากกว่า 50% ลดลงจาก 44.4% เหลือ 29.1% ของครอบครัวชนบททั้งหมดในช่วงปี 2533-2537 อย่าลืมว่าตัวเลข 29.1% หรือไม่ถึงหนึ่งในสามของครอบครัวชนบทนี้เป็นตัวเลขในปี 2537 ตัวเลขนี้ย่อมต้องน้อยลงไปอีกมากในปัจจุบัน

การที่มากกว่าสองในสามของครอบครัวชนบทมีแหล่งรายได้หลักอยู่นอกภาคเกษตร นั้นมีนัยว่า ความสัมพันธ์ทางสังคมที่รองรับวิถีชีวิตของชาวชนบทต้องเปลี่ยนตามไปด้วย สิ่งสำคัญคือสิ่งที่เรียกกันว่า "ระบบอุปภัมถ์" คำคำนี้นักเศรษฐศาสตร์ใช้ในความหมายว่า มันเป็นความสัมพันธ์ระยะยาวที่ผูกพันกันในหลายมิติของคนสองฝ่าย ตัวอย่างเช่น ความสัมพันธ์ระหว่างชาวไร่-ชาวนากับพ่อค้ารับซื้อผลผลิต พ่อค้านอกจากจะรับซื้อผลผลิตแล้ว ยังทำตัวเป็นผู้อุปถัมภ์ในแง่อื่นด้วย เช่น ให้ชาวไร่เอายา ปุ๋ย เมล็ดพันธุ์ไปใช้ก่อน แล้วจึงหักเงินคืนเมื่อตอนชาวไร่เอาผลผลิตมาขาย เมื่อชาวบ้านต้องใช้เงินสดก็มากู้ได้ หรือเมื่อถูกตำรวจจับไพ่ก็ให้ช่วยประกันตัว ฯลฯ หากฝ่ายใด "โกง" ก่อน ความสัมพันธ์นี้ก็จะยุติลงและทั้งสองฝ่ายก็จะเสียประโยชน์จากการแลกเปลี่ยน ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งมักจะไม่คุ้ม นักวิจัยมักจะแปลกใจมากเมื่อพบว่าชาวไร่ยอมเสียเปรียบในรูปของการขายผลผลิต ให้ในราคาต่ำกว่าตลาด หรือยอมรับอัตราดอกเบี้ยที่แพงโดยไม่โกงเงินกู้ โดยลืมไปว่า สิ่งที่ชาวไร่ต้องการจากพ่อค้านั้น รวมเอาบริการ "การประกันภัย (insurance)" ความไม่แน่นอนจากความผันผวนทางเศรษฐกิจไว้ด้วย เช่น เงินกู้ หรือความช่วยเหลืออื่น ๆ เมื่อเดือดร้อน เครือข่ายความสัมพันธ์ในรูปแบบนี้จึงถูกใช้ในการหาเสียงเลือกตั้งพ่วงไปด้วย หากพ่อค้า (หรือผู้อุปถัมภ์ในรูปแบบอื่น ๆ) ทำหน้าที่เป็นหัวคะแนน ไม่ว่าจะมีการแจกเงินด้วยหรือไม่ก็ตาม ในอดีตชาวบ้านอาจจะเลือกตามหัวคะแนนด้วยสองเหตุผลคือ หนึ่ง กลัวเสียการอุปถัมภ์ในภายหน้าจากหัวคะแนน สอง เลือกพรรคการเมืองไหน หรือ ส.ส.คนไหนก็ไม่มีผลต่อชีวิตของตนอยู่ดี เพราะไม่เคยมีรัฐบาลจากการเลือกตั้งก่อนหน้าพรรคไทยรักไทยที่ผลิตนโยบายรับ ใช้ชนบท

เมื่อเงินได้ส่วนใหญ่มาจากนอกภาคเกษตร สิ่งนี้อย่างน้อยก็หมายความว่า แหล่งเงินได้ของชาวชนบทมีหลายแหล่งมากขึ้น รวมทั้งแหล่งเงินกู้ในระบบ เช่น กองทุนหมู่บ้าน กลุ่มออมทรัพย์ ธ.ก.ส. ก็เพิ่มขึ้นด้วย ดังนั้นชาวชนบทจึงมีความจำเป็นที่จะต้องพึงพิงผู้อุปถัมภ์ในภาคการเกษตรน้อย ลงด้วย ในอีกด้านหนึ่ง นโยบายประชานิยมหลายแบบก็ทำให้ชาวชนบทไม่จำต้องพึ่งพิงผู้อุปถัมภ์ท้องถิ่น อีกต่อไป พูดอีกแบบคือ นโยบายประชานิยมทำหน้าที่แทนผู้อุปถัมภ์ดั้งเดิม ในแง่นี้ ชาวชนบทส่วนใหญ่จึงกลายเป็นเสรีชนที่หลุดออกจากเครือข่ายอุปถัมภ์แบบเดิม ๆ แล้ว เขาไม่มีความจำเป็นใด ๆ ที่จะต้องเชื่อฟังหัวคะแนนอีกต่อไป

ถ้าภาพข้างต้นเป็นจริง คำถามคือ คนเสื้อแดงเข้าร่วมการเคลื่อนไหวทางการเมืองด้วยเหตุผลใด ชนชั้นกลางเก่าและสื่อของเขามักไม่รอช้าที่จะประณามว่า คนเสื้อแดงเป็นแค่ม็อบเติมเงิน หรือถูกหลอกให้หลงผิดสู้เพื่อทักษิณเท่านั้น แต่อย่าลืมว่า รัฐบาลทักษิณเป็นรัฐบาลแรกที่สร้างนโยบายที่กินได้ให้แก่เขา เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การเลือกตั้งที่คะแนนเสียงของเขามีความหมายใน ทางการเมือง การรัฐประหาร 19 กันยายนและรัฐธรรมนูญ 2550 จึงเป็นการตัดสิทธิทางการเมืองของคนเสื้อแดงโดยตรง เมื่อถูกซ้ำเติมด้วยการเคลื่อนไหวของกลุ่มพันธมิตรตั้งแต่การชุมนุมยืดเยื้อ การยึดทำเนียบรัฐบาล การยึดสนามบิน นายกฯสมัครถูกปลดเพราะทำกับข้าวโชว์ พรรคทักษิณถูกยุบรอบสอง การปราบม็อบเสื้อแดงเมื่อเมษายนปีที่แล้ว ไม่แปลกเลยที่เหตุการณ์เหล่านี้จะทำให้คนเสื้อแดงสู้ไม่ถอย พูดให้ถึงที่สุดแล้ว การต่อสู้ของคนเสื้อแดงในปัจจุบันจึงเป็นการสู้เพื่อรักษาสิทธิ-เสียงทางการ เมืองของเขา แต่เผอิญว่าสิทธิ-เสียงของเขาผูกพันโดยตรงกับพรรคของทักษิณเท่านั้นเอง คงมีคนไม่มากนักที่จะยอมสู้ตายเพื่อคนอื่น โดยที่ตนไม่ได้รับประโยชน์อะไรเลย และแกนนำเสื้อแดงคงจะไม่เก่งพอที่จะชักจูง ซื้อ หรือหลอกคนจำนวนมหาศาลมาเสี่ยงชีวิตกับอาวุธสงครามได้จนทุกวันนี้ หากเขาไม่มีจิตใจที่พร้อมจะเข้าร่วมการต่อสู้เอง ในแง่นี้คนเสื้อแดงจึงเป็นเสรีชนในแบบเดียวกับคนชั้นกลางเก่านั่นเอง

ผมได้แต่หวังว่า คนชั้นกลางเก่าจะพยายามเข้าใจคนเสื้อแดงในด้านที่เขาเป็นเสรีชนเช่นเดียวกับ ชนชั้นกลางเก่าให้มากขึ้น การยอมรับวาทกรรมว่า คนเสื้อแดงถูกหลอก ถูกซื้อให้สู้เพื่อทักษิณเท่านั้น โดยไม่มีเจตจำนงที่เป็นอิสระของตัวเองเลย จะเป็นการทำลายความชอบธรรมทางการเมืองของคนเสื้อแดงมากขึ้น และอสุรกายแห่งความรุนแรงจะยิ่งมีอำนาจมากขึ้น

(ที่มา ประชาชาติธุรกิจ , 3 พฤษภาคม 2553)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ผู้ให้ข้อมูลร่วมกัน