นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ในฐานะโฆษกกระทรวงยุติธรรม บอกว่า นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้ส่งหนังสือประสานไปยังอัยการสูงสุด (อสส.) เพื่อขอความร่วมมือให้เร่งพิจารณาสั่งฟ้องคดีผู้ต้องหาก่อการร้ายทั้งหมดให้ เสร็จทันเวลาก่อนครบกำหนดฝากขังในผลัดสุดท้าย เพราะเกรงว่าหากอัยการพิจารณาฟ้องไม่ทัน ทำให้ต้องปล่อยตัวผู้ต้องหาตามกฎหมายกำหนด
โดยเฉพาะการพิจารณาฟ้องนายสุขเสก พลตือ และนายสมชาย ไพบูลย์ การ์ดระดับแกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) แดงทั้งแผ่นดิน ที่ครบกำหนดขังนัดสุดท้ายวันที่ 11 สิงหาคม เนื่องจากมีพยานหลักฐานที่ชัดเจนว่าทั้งสองร่วมอยู่ในกองกำลังติดอาวุธที่ ยิงระเบิดเอ็ม 79 ใส่ทหารและประชาชน
นอกจากนี้ยังสั่งฟ้อง ส.ส.พรรคเพื่อไทยและแกนนำ นปช. เพิ่มเติม ในฐานความผิดร่วมกันก่อความไม่สงบและก่อเหตุวุ่นวายขึ้นในราชอาณาจักร ซึ่งเป็นการแจ้งข้อหาเพิ่มเติมจากข้อหาก่อการร้าย ที่ขึ้นเวทีปราศรัยปลุกปั่น ยุยงให้ประชาชนบุกยึดศาลากลางและเผาเมือง รวมทั้งให้ไล่ล่าเพื่อเอาชีวิตนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี
แม้นายพีระพันธุ์จะออกมาปฏิเสธว่าไม่ได้เป็นการแทรกแซงการทำงานของอัยการ แต่เพื่อให้การทำงานเกิดความรอบคอบและทันเวลาที่กำหนดนั้น คงมีน้อยคนที่เชื่อ แม้แต่ฝ่ายอัยการเองก็บอกว่าไม่เคยมีรัฐมนตรีทำหนังสือส่งมาเช่นนี้ ซึ่งโดยหลักการแล้วฝ่ายการเมืองหรืรัฐบาลนั้นไม่มีสิทธิเข้าไปแทรกแซงการทำ งานของอัยการที่ถือเป็นองค์กรอิสระเช่นเดียวกับศาล
ขณะที่อัยการที่เป็นผู้พิจารณาคดีต่างๆก็ต้องพิจารณาตามขั้นตอนอย่างรอบคอบ ว่าจะฟ้องหรือไม่ฟ้อง โดยเฉพาะคดีสำคัญๆยิ่งต้องมีการพิจารณาอย่างรอบคอบและไม่เลือกปฏิบัติ
ดังนั้น การส่งหนังสือของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมจึงถือว่าเป็นการไม่เหมาะ สมอย่างยิ่ง ไม่ว่าจะอ้างเหตุผลใดก็ตามก็ไม่สามารถเร่งรัดคดีได้ เช่นเดียวกับพนักงานสอบสวน
ยิ่งฝ่ายการเมืองหรือพนักงานสอบสวนออกอาการลุกลี้ลุกลน ถือเป็นพฤติกรรมที่น่าตำหนิหรือน่าเกลียด และในทางปฏิบัติทางอัยการเองอาจถูกมองในแง่ลบและอาจทำให้ถูกลงโทษได้หากการ พิจารณาไม่มีความระมัดระวัง ซึ่งนายธาริตเองก็รู้เรื่องดี
แต่ก็มีข้อยกเว้นที่ฝ่ายรัฐบาลมีสิทธิที่จะให้ความเห็นถึงอัยการ แต่ต้องเป็นในแง่ผลดีกับผู้ต้องหาหรือผู้ถูกกล่าวหา เช่น การสั่งปล่อยหรือไม่ฟ้อง ซึ่งเป็นนโยบายของรัฐที่ต้องการความสงบหรือเพื่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
ขณะที่ดีเอสไอที่ถือเป็นพนักงานสอบสวน หลังจากส่งเรื่องให้อัยการแล้วก็ถือว่าการทำงานสิ้นสุด จะมาเกี่ยวข้องอีกครั้งต่อเมื่อฝ่ายอัยการต้องการให้สอบพยานเพิ่ม หรือเรียกมาเป็นพยานในการพิจารณาของศาลเท่านั้น
ยิ่งคดีแกนนำคนเสื้อแดงที่ถูกกล่าวหาเป็นผู้ก่อการร้ายและก่อความไม่สงบ ถือเป็นคดีร้ายแรงและมีโทษสูง ดังนั้น ไม่ว่าฝ่ายการเมืองจะโดยนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม หรือดีเอสไอเองไม่มีอำนาจใดๆที่จะเร่งให้อัยการส่งฟ้องศาล
เพราะในแง่ของผู้ถูกกล่าวหาหรือผู้ต้องหา หากส่งฟ้องศาลไม่ทันก็ต้องปล่อยตัวไปชั่วคราว แต่สามารถส่งฟ้องศาลภายหลังได้
ที่สำคัญคดีของแกนนำคนเสื้อแดงนั้นมีหลายคดีหรือหลายข้อกล่าวหา ในทางการเมืองจึงยากที่ผู้ถูกกล่าวหาจะถูกปล่อยเป็นอิสระได้ ยกเว้นแต่มีการยื่นขอประกันตัวต่อศาลเหมือนกรณีนายวีระ มุสิกพงศ์ แกนนำคนเสื้อแดงก่อนหน้านี้ ซึ่งพนักงานสอบสวนไม่ได้คัดค้าน
อย่างไรก็ตาม ในแง่อำนาจของพนักงานสอบสวนตามกระบวนการยุติธรรมนั้น ไม่ได้หมายความว่าจะมีเฉพาะดีเอสไอเท่านั้น แต่ยังมีตำรวจที่ถือเป็นพนักงานสอบสวนที่มีกลไกการทำงานด้านยุติธรรมโดยตรง
ทำให้มีคำถามว่า วันนี้ดีเอสไอควรจะยังให้ทำหน้าที่นี้ต่อไปหรือไม่ เพราะเสียงวิพากษ์วิจารณ์ดีเอสไอว่าถูกดึงไปเป็นเครื่องมือของฝ่ายการเมือง ไม่ใช่จะไม่มีน้ำหนัก เพราะวันนี้เห็นได้ชัดเจนว่าคดีของคนเสื้อแดงที่ดีเอสไอรับไปนั้นเกี่ยวข้อง โดยตรงกับการเมือง
ดังนั้น ดีเอสไอถือเป็นหนึ่งในกระบวนการยุติธรรม ก็อาจทำให้ประชาชนไม่เชื่อถือและไม่ศรัทธากระบวนการยุติธรรมมากยิ่งขึ้นได้ เพราะกรณีดีเอสไอที่ขึ้นอยู่กับกระทรวงยุติธรรมที่อยู่ภายใต้อำนาจของฝ่าย การเมืองถือว่าผิดตั้งแต่ต้นแล้ว
ยิ่งดูตามวัตถุประสงค์ของการตั้งดีเอสไอที่จะทำเฉพาะคดีสำคัญที่ระบุไว้ แต่เวลานี้ล้วนแต่เป็นคดีทางการเมือง ทั้งยังเป็นคดีที่ฝ่ายรัฐเป็นคู่ขัดแย้งเองอีกด้วย
ดังนั้น ยิ่งดีเอสไอมีอำนาจมากเท่าไรก็ยิ่งเป็นอันตรายและสั่นคลอนต่อกระบวนการ ยุติธรรม ซึ่งแตกต่างจากอำนาจของฝ่ายตุลาการที่มีความเป็นอิสระ
อย่างที่นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรีและอดีตปลัดกระทรวงยุติธรรม เตือนดีเอสไอที่ทำงานอิงกับฝ่ายการเมืองมากจนเกินไป จึงยากที่จะพ้นข้อครหาเรื่องความไม่เป็นธรรมหรือเลือกปฏิบัติ
เพราะถ้าไม่มีความยุติธรรมปัญหาก็ไม่จบ ดีเอสไอจึงต้องตั้งอยู่ในความเป็นธรรม ต้องสร้างความศักดิ์สิทธิ์ให้ประชาชนเห็น เหมือนกรณีที่ไม่สั่งฟ้องคดีไซฟ่อนเงินของบริษัท ทีพีไอ โพลีน จำกัด (มหาชน) ในความผิดตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งเชื่อมโยงถึงคดียุบพรรคประชาธิปัตย์ที่อยู่ในศาลรัฐธรรมนูญ มีการถกเถียงกันว่าเรื่องฟ้องหรือไม่ฟ้องเป็นดุลยพินิจของพนักงานสอบสวนก็ จริง แต่การที่ดีเอสไอสั่งไม่ฟ้องก็ยังไม่เป็นที่ยุติ ต้องส่งให้อัยการว่าเห็นตรงหรือเห็นแย้งหรือไม่
เพราะการที่ดีเอสไอสั่งไม่ฟ้องทำให้ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมาก ทั้งที่ก่อนหน้านี้ดีเอสไอเคยส่งเรื่องให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ซึ่ง กกต. ได้ดำเนินการจนส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญแล้ว แต่ดีเอสไอกลับสั่งไม่ฟ้องอีก ซึ่งดีเอสไอต้องตอบคำถามกับสังคมให้ได้
เพราะหากบ้านเมืองไม่มีความเป็นธรรมก็เป็นไปไม่ได้ที่จะเกิดการปรองดอง
โดยเฉพาะบทบาทของอธิบดีดีเอสไอที่เป็นกรรมการศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ด้วยแล้ว ยิ่งถูกจับตามองจากสังคม ไม่ใช่สวนกระแสสังคมที่กำลังพูดถึงความยุติธรรมและเป็นธรรม ซึ่งดีเอสไอค้องพิสูจน์เพื่อศักดิ์ศรีขององค์กรว่าไม่ได้รับใช้หรือเป็นขี้ ข้านักการเมือง !
ที่มา : นิตยสารโลกวันนี้วันสุข
คอลัมน์ สามแยกสามแพร่ง โดย คุณศรี สามแยก
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น