Fri, 2010-08-06 03:22
http://www.prachatai3.info/journal/2010/08/30596
เสวนาที่ ม.เชียงใหม่ “ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี” ชวนทบทวนงานศึกษาชนบท “อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์” เสนอความเปลี่ยนแปลง 4 ประการในชนบทที่ “มีคนทำนา” แต่ “ไม่มีสังคมชาวนา” ด้าน “คำ ผกา” ชี้คนในชนบทเข้าใจประชาธิปไตยมากขึ้น แต่ที่น่าห่วงกลับเป็นชนชั้นกลางที่ไม่เปลี่ยนแปลง ด้าน “นปช.แดงเชียงใหม่” ชวนนักวิชาการลงพื้นที่สัมผัสชาวบ้าน
ช่วงบ่ายของวันที่ 4 ส.ค. ที่อาคารปฏิบัติการ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สาขาวิชาการพัฒนาสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จัดเสวนาวิชาการหัวข้อ “โฉมหน้าใหม่ของสังคมชนบทภาคเหนือ” มีวิทยากรอภิปรายประกอบด้วย ดร. ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ รศ.ดร. อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ สาขาวิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ลักขณา ปันวิชัย นักเขียนและคอลัมน์นิสต์ และ ศรีวรรณ จันทน์ผง โฆษกกลุ่ม “นปช.แดงเชียงใหม่” โดยรายละเอียดของการเสวนามีดังนี้
000
ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี
ทบทวนงานศึกษา “ชนบทไทย”
สิ่ง ที่น่าสนใจของชาวนาเสื้อแดงหรือชาวนาที่เข้ามาประท้วงเรื่อง “สองมาตรฐาน” คือ เพราะอะไรที่คิดว่าเรื่องสองมาตรฐานกลายเป็นปัญหาในชนบทไทยแล้วเกิดขึ้น ตั้งแต่เมื่อใด ทั้งที่ความเชื่อของสังคมไทยว่าสังคมที่มีลักษณะสูง-ต่ำและรัฐไทยไม่เคยมี มาตรฐานเดียวในการบริหารประเทศแต่ไหนแต่ไรมาแล้ว
ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี เริ่มต้นอภิปรายโดยกล่าวถึง ข่าวที่ได้อ่านในเว็บไซต์ประชาไทตอน เช้าก่อนมาสัมมนา ที่ว่านายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีมีนโยบายไปยังสถาบันอุดมศึกษาให้ช่วยแก้ปัญหาความบกพร่องใน ทักษะในการคิดและสังเคราะห์ข้อมูลของชาวบ้าน ซึ่งนายกรัฐมนตรีเชื่อว่าเป็นบ่อเกิดวิกฤต ความขัดแย้งทางการเมืองปัจจุบัน ซึ่งตนคิดว่าสัมมนาในวันนี้ สถาบันอุดมศึกษาอย่าง ม.เชียงใหม่ จะช่วยในการแก้ทักษะในการคิดและสังเคราะห์ข้อมูลของผู้ร่วมสัมมนาได้หรือไม่ เพราะตนอาจมีทักษะไม่พอ แต่อย่างไรก็ตามน่าตกใจที่นายกรัฐมนตรีมองประชาชนแบบนี้
เมื่อกลับไปดูงานวิจัยเรื่องชนบทกับการเมืองในสังคมไทยพบว่าไม่ค่อยมีงาน ที่เขียนเกี่ยวกับเรื่องนี้ แต่มีหนังสือชื่อ รัฐกับหมู่บ้านในไทยศึกษา (2533) เป็นการทำความเข้าใจชนบทในทศวรรษที่ 2530 ว่ามีการเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง ก็พบว่ามีข้อเท็จจริงที่น่าสนใจหลายประการคือ ชนบทไม่ได้เป็นเอกเทศจากรัฐและทุนนิยม โดย มีความพยายามที่จะผนึกชนบทเข้ากับรัฐราชการสมัยใหม่และเป็นส่วนหนึ่งของทุน นิยมมานานแล้วแต่มีกระบวนการที่ไม่สม่ำเสมอและเต็มไปด้วยความขัดแย้ง
หัวข้อใหญ่ของการศึกษาชนบทกับการเมืองในยุคนั้นมัน เต็มไปด้วยความขัดแย้งระหว่างรัฐกับชนบทไม่ว่าจะบริบทใดก็แล้วแต่ ปฏิกิริยาของชาวชนบทก็มีหลายรูปแบบ บริบทในยุคนั้นคือยุคของรัฐราชการ มีความเป็นทุนนิยมแล้วในชนบทแต่ไม่ซับซ้อน หมายความว่ามีการพยายามให้ชาวบ้านปลูกพืชพาณิชย์จำนวนมาก ชาวนายังคงผูกติดกับที่ดิน ที่เรียกว่า “Peasant” นักมาร์กซิสต์จำนวนมากบอกว่าเป็นจิตสำนึกทางชนชั้นนั่นก็คือชาวนามีฐานะเป็นผู้ผลิตที่ผูกติดตัวเองกับที่ดิน
นอกจากนี้แล้วยังมีการตั้งคำถามเกี่ยวกับชนชั้นว่ามีการแตกตัวของชนชั้น ใหม่ ๆ ในสังคมชาวนา เช่น ผู้ประกอบการรายย่อยที่มีผูกติดกับที่ดินแล้ว เพราะนั้นจิตสำนึกทางชนชั้นของชาวนาที่เกิดการแตกตัวหลากหลายรูปแบบก็ไม่ สามารถสรุปได้ว่านี่คือจิตสำนึกของชาวนา
ข้อสังเกตที่มีก็คือขั้วความสัมพันธ์ระหว่ารัฐกับชนบทมันจะถูกนำเสนอออก มาด้วยลักษณะที่เป็นคู่ของความขัดแย้ง ซึ่งต่างจากงานวิจัยก่อนหน้านี้ที่อธิบายว่าชนบทไม่มีความตื่นตัวทางการ เมืองหรือเฉื่อยชาทางการเมือง ซึ่งจะพบว่ากรณีศึกษาจำนวนไม่น้อยในภาคเหนือตั้งแต่ 2510 เป็นต้นมาได้เข้าร่วมกับขบวนการปฏิวัติชาวนาได้แย้งข้อเสนอดังกล่าว ดังนั้นจะพบว่างานวิจัยดังกล่าวให้คำอธิบายเรื่องชนบทที่มีลักษณะที่ไม่ซับ ซ้อนและมีคู่ตรงข้ามในความสัมพันธ์ที่ขัดแย้งระหว่างชนบทกับรัฐ
ปิ่นกล่าว ยังกล่าวถึง งานวิชาการอีกเล่มที่ได้อธิบายเรื่องการเมืองของคนชนบทคือ หนังสือของอเนก เหล่าธรรมทัศน์ “สอง นคราประชาธิปไตย” ที่เสนอทวิลักษณ์ทางวัฒนธรรมประชาธิปไตย พูดถึงเรื่องการเมืองและชนชั้นของชนบทหลังยุครัฐราชการ เกิดรอยแยกทางประชาธิปไตยสองแบบ ได้แก่ ประชาธิปไตยแบบเมืองที่ชนชั้นกลางดำเนินไปตามลักษณะการเมืองแบบตะวันตก ได้แก่ การยึดมั่นเรื่องนโยบายหรืออุดมการณ์ ไม่สำนึกเรื่องบุญคุณหรือความสัมพันธ์ส่วนบุคคล และตัดสินใจทางการเมืองแบบปัจเจกบุคคลที่มีเสรีภาพทางการเมือง ตรงข้ามกับประชาธิปไตยแบบชนบทที่มีความสัมพันธ์แบบอุปถัมภ์ ยึดตัวบุคคลมากกว่านโยบาย
โดยปิ่นแก้ว อภิปรายว่า งานเขียนทั้งสองชิ้นมีความแตกต่างทางสำนักคิดโดยสิ้นเชิงแต่มีจุดร่วมกันคือ การมีปัจจัยหรือเงื่อนไขบางประการที่ใช้ในการขีดแบ่งเมืองกับชนบทหรือเส้น แบ่งระหว่างชนชั้น ลักษณะคู่ตรงข่ามที่รัฐเป็นตัวแทนของความเป็นเมืองหมู่บ้านจะอยู่ตรงข้าม ในงานของอเนกจะบอกว่าชนบทมีวัฒนธรรมทางการเมืองต่างจากเมืองโดยสิ้นเชิง
การมองชาวนาในยุค 2530 นั้นมองชาวนาอยู่ในฐานะของผู้ผลิตหรือพลังขับเคลื่อนทางการผลิตในสังคมไทย เพียงอย่างเดียวจะไม่สามารถอธิบายหรือทำความเข้าใจได้ว่าชาวนาไทยทำไมมีความ ตื่นตัวทางการเมืองในปัจจุบัน เสนอว่ามโนทัศน์ที่จะช่วยลบเส้นแบ่งระหว่างเมืองกับชนบทคือการบริโภคซึ่งยัง ไม่ค่อยมีงานวิจัยในหัวข้อนี้ มีเพียงปรากฏการณ์หรือตัวอย่างการสัมภาษณ์ของชาวบ้านบางกลุ่ม
การมองว่าชนบทเป็นได้ทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภคเพราะปี 2530 กับ 2550 มีความแตกต่างกันอย่างมหาศาล ประการหนึ่งคือ แม้ ชาวนาจะมีขาหนึ่งที่ติดกับที่ดินแต่อีกขาหนึ่งก็อยู่ในการผลิตนอกภาคชนบทและ การผลิตนอกระบบ ขาที่ไม่ได้อยู่ติดกับที่ดินเป็นขาที่เปิดโลกของการบริโภคของชาวบ้านคือ การพาตัวเองเข้าไปดูโลกสมัยใหม่แล้วสมาทานความคิด วิถีชีวิต คุณค่า ของคนในเมือง ของชนชั้นกลาง หรืออาจเรียกว่าของสังคมไทย
ชาวนาในฐานะผู้บริโภคเป็นผู้เรียนรู้การปะทะกันทางวัฒนธรรมของตัวเองและ ของผู้อื่นที่ชาวนาเหล่านี้พาตัวเองไปสู่พื้นที่ใหม่ การบริโภคแบบใหม่ ข่าวสารแบบใหม่ ทำให้หาเส้นแบ่งระหว่างชนบทกับเมืองได้ยาก ต่างจากชาวนาที่มีจิตสำนึกทางชนชั้นจากการผูกติดกับที่ดินเพียงอย่างเดียว สิ่งที่น่าสนใจของชาวนาเสื้อแดงหรือชาวนาที่เข้ามาประท้วงเรื่อง “สอง มาตรฐาน” คือ เพราะอะไรที่คิดว่าเรื่องสองมาตรฐานกลายเป็นปัญหาในชนบทไทยแล้วเกิดขึ้น ตั้งแต่เมื่อใด ทั้งที่ความเชื่อของสังคมไทยว่าสังคมที่มีลักษณะสูง-ต่ำและรัฐไทยไม่เคยมี มาตรฐานเดียวในการบริหารประเทศแต่ไหนแต่ไรมาแล้ว
แนวคิดเรื่องการเรียกร้องในประเด็นเรื่อง “สองมาตรฐาน” ต่างจากเรียกร้องของชาวนาก่อนหน้านี้ซึ่งมักจะเกี่ยวข้องกับเรื่องการการ คุ้มครองหรือเรื่องการปกครอง ชาวนาในเมื่อก่อนไม่ได้มีปัญหาว่าทำไมคนกรุงเทพ ฯ ถึงสามารถทำสิ่งนั้นสิ่งนี้ได้แต่คนในชนบททำไม่ได้ การไม่ยอมรับความไม่เท่าเทียมกันหรือความไม่เสมอภาคทางวัฒนธรรมที่สะท้อนออก มาในเรื่องสองมาตรฐานกำลังบอกว่าคนในเมืองเกิดอาการอาการตามไม่ทันของ ศีลธรรมแบบประชาธิปไตย คิดไม่ได้หรือคิดไม่ทันว่าคนในชนบทก็มีความคิดเรื่องแบบนี้เกิดขึ้นแล้ว
นอกเหนือจากการเดินทางไปอยู่ในที่ต่างๆ มากมายของคนชนบทหลังรัฐราชการที่เกิดการคลี่คลายโครงสร้างทางการเมืองที่ส่ง ผลกระทบต่อชนบทด้วยคือสถาบันการเมืองในชนบทที่ช่วยเปลี่ยนจินตนาการของชนบท ในการมองความสัมพันธ์ของตัวเองกับอำนาจใหม่ๆ รวมถึงการรับข้อมูลข่าวสารที่พบว่าขณะนี้ในชนบทมีบ้านที่ติดจานดำเพิ่มขึ้น จำนวนมาก บางหมู่บ้านแทบจะเรียกว่าไม่มีบ้านไหนไม่ติดจานดำ ซึ่งตรงข้ามกับที่อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ บอกว่าบกพร่องทางการวิเคราะห์ ชนบทกลายเป็นชุมทางของสื่อหลากหลายชนิด จากจะเอาความถี่ของของการรับสื่อของสักหมู่บ้านหนึ่งมาเทียบกับหมู่บ้านจัด สรรในเมืองเราจะเห็นความแตกต่างอย่างชัดเจน
000
อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์
ความเปลี่ยนแปลง 4 ประการในชนบท
อยาก เรียกว่าเป็น “สังคมชายขอบของการผลิตสมัยใหม่ ที่ยังมีการผลิตภาคเกษตรอยู่” แม้จะมีกระเปาะของระบบทุนนิยม เช่น มีคนไปทำงานในโรงงานอยู่ในหมู่บ้าน มันมีกระเปาะหนึ่ง ซึ่งท้ายที่สุดแล้ว กระเปาะนั้นทำให้คนทั้งหมดกลายเป็นชายขอบของกระเปาะนั้น
อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ เริ่มต้นกล่าวว่า ผมคงพูดสองประเด็นหลักๆ หนึ่ง ความเปลี่ยนแปลงในชนบท สอง เราจะเรียกสังคมชนบทว่าอย่างไร ทันทีที่เราใช้คำว่าชนบท มันก็มีความหมายแบบหนึ่ง ข้อมูลทั้งหลายที่ผมได้มา ผมมีสองแหล่ง แหล่งหนึ่งคือ ผมไปช่วยอาจารย์ ผศ.เรณู อรรฐาเมศร์ ทำงานยุววิจัยประวัติศาสตร์ภาคเหนือ ได้ฟังชาวบ้าน ได้ฟังครู ฟังนักเรียนมหาศาล อ่านงานวิชาการร้อยกว่าเรื่อง พวกมานุษยวิทยาที่ว่าผมไม่มีข้อมูลกรุณารับรู้ด้วยว่าผมมี สอง อีกคนหนึ่งที่ต้องเครดิตคือนักศึกษาปริญญาโทประวัติศาสตร์ คุณฐิติยา ทำเรื่อง จุดจบของสังคมชาวนา ที่ ต.กู่กาสิงห์ (อ.เกษตรวิสัย จ.ร้อยเอ็ด)
ในเรื่องความเปลี่ยนแปลงในชนบทอยากพูดสี่เรื่อง หนึ่ง ความเปลี่ยนแปลงในระบบการผลิต สอง ความเปลี่ยนแปลงระบบการเมือง สาม ความเปลี่ยนแปลงความรู้สึกนึกคิด สี่ ความเปลี่ยนแปลงระบบความสัมพันธ์กับเมือง
เรื่องแรก ความเปลี่ยนแปลงในระบบการผลิต จากข้อมูลทั้งหลาย ผมคิดว่าสังคมชาวนาจบแล้วในประเทศไทย ฝรั่งเขียนมานานแล้วหลายปีแล้วผมจำปีไม่ได้ หลังปี 2530 มันมีกระแสความคิดบางอย่าง ตัวสังคมชาวนาจบแล้วเมื่อรถดำนาที่ออกทีวี มีคนทำนาแต่ไม่ได้ทำนาแบบสังคมชาวนาอีกแล้ว ในกระบวนการผลิตทั้งหมดใช้เครื่องจักรเป็นส่วนใหญ่ และใช้แรงงานจ้าง ไม่ว่าจะเป็นภาคเหนือตอนบน ตอนล่าง หรือภาคอีสาน ถ้าบอกว่าเรามีสังคมชาวนาอยู่ อาจจะมีแต่ไกลมากๆ ซึ่งคงจะน้อยมาก โดยภาพรวมสังคมชาวนาจบแล้ว ไม่มีอีกแล้ว รายได้จากภาคเกษตรเป็นรายได้เสริม นอกจากคนที่ขยายพื้นที่ ต.กู่กาสิงห์ เอารถเกี่ยวข้าวไปถึงลาว ในพื้นที่มีรถเกี่ยวข้าว 54-57 คัน ดังนั้นเราพบว่ามันไม่ใช่แล้ว พื้นที่นาจากคันนาเล็ก กลายเป็นคันนาใหญ่
สังคมชาวนาจบไปแล้วเกิดอะไร สิ่งที่น่าสนใจคือการผลิตของภาคการผลิตไม่เป็นทางการ หรือ Informal sector ตัว เลขล่าสุดคิดเป็น 50% ของ GDP ซึ่งไม่น้อย และภาคการผลิตไม่เป็นทางการคิดเป็น 67% ของกำลังแรงงานในไทย น้อยกว่าญี่ปุ่นนิดหน่อย ญี่ปุ่นอยู่ที่ 69% ของกำลังแรงงาน
ภาคการผลิตไม่เป็นทางการค้าขายอะไรค้าขายกับใคร เขาค้าขายในกลุ่มของเขาเอง ในเชียงใหม่ มี “กาด ก้อม” (ตลาดนัด) แต่ “กาดโก้งโค้ง” (ชื่อตลาดนัดในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่) คงไม่ใช่เพราะเขาเจาะคนในมหาวิทยาลัย จะเห็นว่า เส้นรอบนอก (รอบถนนวง แหวนใน จ.เชียงใหม่) มีตลาดนัด เขาค้าขายในกลุ่มเขาเองมาก เขาค้าขายกับชนชั้นกลาง ภาคการผลิตไม่เป็นทางการนี้น่าศึกษา แต่มีคนศึกษาน้อยมาก วิชาพัฒนาสังคม พัฒนาชุมชนต้องศึกษา ที่ผ่านมาเราไม่ได้ศึกษาความเปลี่ยนแปลงของสังคมชาวนา
สอง ความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง งานของนักศึกษาปริญญาโทดังกล่าวพบว่า การเลือกตั้ง อบต. เปลี่ยนไป สมาชิก อบต.เปลี่ยนจากผู้นำชาวบ้านในรุ่นแรก ช่วงหลัง อบต. รุ่นที่ 4 กลายเป็นคนที่ทำการผลิตแบบ Sub-contract (รับเหมาช่วง) มากขึ้นๆ
ตัว อบต. เปลี่ยนไม่พอ มันเปลี่ยนความสัมพันธ์ในชุมชนด้วย ระบบอุปถัมภ์เดิมยาวนาน รอบด้าน ตอนนี้สั้นลง ตัว อบต. เปลี่ยน ความสัมพันธ์กับตัว อบต. และตัวพื้นที่ในการเมืองเปลี่ยน จากการคุยนักศึกษา ฐานเสียงของคนเลือกตั้ง กลุ่มหัวคะแนน เป็นคนละกลุ่มเลย อย่าง ยุทธ ตู้เย็น (นายยงยุทธ ติยะไพรัช อดีต ส.ส.พรรคพลังประชาชน และประธานรัฐสภา) เคยถือกระเป๋าตามหลังฉัฐวัสส์ (มุตตามระ อดีต ส.ส.เชียงราย) ทั้งยุทธ ตู้เย็น กับ ฉัฐวัสส์ มีหัวคะแนนคนละกลุ่มเลย มีลักษณะการดำเนินชีวิตคนละเรื่องกัน ฉัฐวัสส์ถึงหลุดจากการเป็น ส.ส.เชียงราย เนื่องจากโครงสร้างสังคมเปลี่ยน คุณต้องเจาะคนกลุ่มใหม่ ความสัมพันธ์ทั้งหลายเปลี่ยนหมดเลย
สาม ดังนั้นในความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเปลี่ยนแล้ว ตัวระบบการเมืองเปลี่ยน เศรษฐกิจเปลี่ยน "ระบบอารมณ์" เปลี่ยนไหม? เปลี่ยน จากการขยายตัวของห้างต่างชาติ ถ้าใครเดินแมคโคร โลตัส ดูหน้าชาวบ้านที่ซื้อของ เราจะพบว่าที่มิวสิคเซ็นเตอร์ หน้าตาคือปู่เฒ่านี่เอง เป็นคนกลุ่มใหม่ที่ฐานในชนบท การเปิดแมคโครสมัยก่อนกับสมัยนี้หน้าตาชาวบ้านจึงคนละเรื่อง มีความผึ่งผายวีระอาจหาญในการบริโภคแบบชนชั้นกลางเลย ความสามารถในการบริโภค มันเปลี่ยนสำนึกของปัจเจกชน ทั้ง นี้ ก่อน 2475 ความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญคือ ความเปลี่ยนแปลงสามารถบริโภคของสามัญชนก่อนปี 2475 ในหลวงรัชกาลที่ 6 สร้างเสมาอันหนึ่ง ถัดมาก็มีคนสร้างเสมาตาม
สำนึกแบบในเมืองของศิลปินเพลงลูกทุ่งก็มีมากขึ้น เช่น เพลงอีสานสมัยใหม่ที่ท่อนฮุคจะเป็นหมอลำ และสั่งสอนจริยธรรมแบบเมืองขึ้นมา และมีเป้าหมายในชีวิตที่ไม่ใช่แบบเดิมเป็นต้น เริ่มเน้นสำนึกจิตสำนึกแบบ ปัจเจกที่สามารถสร้างสรรค์ ความเป็นตัวของตัวเองได้
ข้อสุดท้าย ความสัมพันธ์ระหว่างบ้านกับเมือง พบว่าตัวชนบทเองเป็นผู้รับเหมาช่วงของการผลิตในเมืองสูงขึ้น ถ้าหากใครอยู่ในพื้นที่ชายขอบที่ใช้เวลาเดินทางเข้าเมืองไม่เกิน 1 วันไปกลับ จะพบว่ามีผู้รับเหมาจำนวนมากอยู่แถวนั้น ผู้รับเหมาเหล่านี้สามารถ ใช้ฝีมือตัวเองในการก่อสร้างในหมู่บ้านใหญ่ๆ อย่างกุลพันธ์วิลล์ ได้อย่างสบาย คือผู้รับเหมาช่วงเองก็กล่าวได้ว่า ฉันก็มีฝีมือเหมือนกัน ไม่ใช่เป็นแรงงานรับจ้างภายใต้หัวหน้างานที่เป็นคนในเมืองแบบเมื่อก่อน มันเปลี่ยนไปแล้ว
นอกจากนั้นเองความสัมพันธ์ทางอำนาจกับเมืองที่เกิดบนฐานทางเศรษฐกิจทั้ง หลายเหล่านี้ มันเกิดความเปลี่ยนแปลงเรื่องพื้นที่สูงมาก ก็คือว่า เราพบว่า เดิม “ชุมชน, ชุมชน, ชุมชน” สร้างระบบร่วมกันเป็นชุดท้องถิ่นขึ้นมา แต่ “ชุมชน, ชุมชน, ชุมชน” ดังกล่าว มันเริ่มผลิตในความหมายใหม่ที่เรียกร้องความเป็นอิสระมากขึ้น ถ้าหากเราไปดูที่ อบต. สัดส่วนของการคิดนโยบายเพื่อพื้นที่ของตัวเองของ อบต.สูงขึ้น ซึ่งสอดคล้องกันตรงนี้
สี่ประเด็นนี้คือความเปลี่ยนแปลงประเด็นหลักๆ ในชนบท จึงมีคำถามว่า “แล้วจะ เรียกสังคมตรงนี้ว่าสังคมอะไร” เพราะถ้าเรียก “สังคมชนบท” เราจะจินตนาการว่าสังคมชาวนาอยู่ เพราะคำว่าสังคมชนบทเกิดตอนนั้น ผมคิดว่าเราต้องเปลี่ยนคำๆ นี้ด้วยซ้ำไป แล้วจะเปลี่ยนว่าอย่างไร
ก่อนจะถึงว่า เราจะเปลี่ยนว่าอะไร ในความเปลี่ยนแปลงที่ดำเนินมาตั้งแต่ปี 2530 น่า สนใจที่ว่าได้ดำเนินมาพร้อมกับการขยายตัวของ “สำนักคิดวัฒนธรรมชุมชน” ปี 2529 อาจารย์ฉลาดชาย (รมิตานนท์) เริ่มพูดถึงป่าชุมชน ปี 2530 เริ่มเกิดขึ้นมา และมีการขยายตัวของ “สำนักคิดวัฒนธรรมชุมชน” ผมเองก็เคยสมาทานตรงนั้น และคิดว่ามันน่าจะมีความหมายอะไรมากขึ้น ต่อมา ช่วงหนึ่งพบว่าสำนักวัฒนธรรมชุมชนตอบปัญหาไม่ได้ ผมพยายามเข้าไปคุยกับเพื่อนๆ เอ็นจีโอที่ทำงานร่วมกัน แต่ไม่มีใครรับแนวคิดผมสักคน
ตัว “สำนักวัฒนธรรมชุมชน” เคลื่อนชาวบ้านเป็นครั้งแรก เคลื่อนในอีกรูปแบบหนึ่ง และการเคลื่อนในวัฒนธรรมชุมชนมันจะไปกระตุกเอาพี่น้องอีกกลุ่มที่อยู่ตรงนี้ เคลื่อนตาม เผอิญพี่น้องกลุ่มข้างหลังเคลื่อนได้สูงกว่า กลุ่มตรงนี้เองท้ายสุดครึ่งหนึ่งไปอยู่กับฝั่งสีแดง แต่อีกด้านหนึ่ง สำนักวัฒนธรรมชุมชน ทำให้ความเข้าใจชนบทหยุดชะงักลง ทำให้เราไปหาบางอย่างที่เป็นสังคมชาวนา แล้วมาเชิดชูกลบภาพความเปลี่ยนแปลง ไม่ได้ด่าเขาเพราะผมด้วย ผมก็มีส่วนในนั้นด้วยอย่างมากด้วยซ้ำไป
สิ่งที่ทำให้สังคมเมืองเข้าใจชนบทได้น้อย นอกจากภาพการรับรู้ชนบทแบบ ส.ค.ส. ที่ถูกสร้างมาสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ที่มีบ้านชาวนาสมัยสมบูรณ์ และส่วนสำคัญคือจากสำนักวัฒนธรรมชุมชน คือพยายามสร้างภาพชนบทที่น่ารัก และฝังไว้ให้ชนชั้นกลาง จึงทำให้ชนชั้นกลางและสังคมไทยไม่เข้าใจความเปลี่ยนแปลงตรงนั้นได้ ไม่ได้แปลว่าเขาไม่มีความหมาย เขามีความหมายและมีค่าอย่างยิ่งในช่วงเวลาหนึ่ง แต่ถึงวันนี้ เราต้องสลัดออกไป เราต้องคิดกันใหม่ โดยส่วนตัวผมกับอาจารย์ฉัตรทิพย์ (นาถสุภา) เคารพกันมาก เพราะท่านเชื่ออย่างนั้นจริงๆ อย่างน้อยคนที่เชื่อและคิดอย่างนั้นจริงๆ เราก็ต้องเคารพกัน ท่าจะมาพูดที่เชียงใหม่ แต่หลังจากที่รัฐฆ่าประชาชนที่กรุงเทพฯ ท่านเศร้ามาก ท่านไม่สามารถพูดเรื่องนี้ได้ เราต้องเคารพท่านในความจริงใจที่ท่านมี
แต่ต้องบอกก่อนว่า ภาพนี้มันไปฝังชนชั้นกลาง ดังนั้น เราต้องนิยามสังคมชนบทกันใหม่ เพื่อที่จะทำความเข้าใจการเปลี่ยนแปลงจริงๆ ตรงนี้ และการเข้าใจการเปลี่ยนแปลงตรงนี้ ถ้าหากเราไม่นิยามกันใหม่ เราจะมะงุมมะงาหรากันต่อไป เหมือนกับความเหลื่อมล้ำ ครั้งหนึ่งพี่น้องเราทนกับความเหลื่อมล้ำได้ แต่วันนี้ทนไม่ได้อย่างที่อาจารย์ปิ่นแก้วเสนอ
ดังนั้น การเข้าใจสังคมอันนี้ จะทำให้เรามองเห็นว่าเราจะแก้ปัญหาอะไร เช่น ปรองดองก็ต้องปรองดองในมิติอื่นๆ นะ ไม่ใช่ปรองดองแบบรัฐบาลทำ ผมเสนอว่า อยากเรียกว่าเป็น “สังคมชายขอบของการผลิตสมัยใหม่ ที่ยังมีการผลิตภาคเกษตรอยู่” แม้ จะมีกระเปาะของระบบทุนนิยม เช่น มีคนไปทำงานในโรงงานอยู่ในหมู่บ้าน มันมีกระเปาะหนึ่ง ซึ่งท้ายที่สุดแล้ว กระเปาะนั้นทำให้คนทั้งหมดกลายเป็นชายขอบของกระเปาะนั้น
ถ้าหากเราเข้าใจตรงนี้ จะเห็นความแตกต่างกับละตินอเมริกา ที่นั่นเป็นสลัมในชนบท รอเวลาเคาะแล้ววิ่งเข้ามา ไม่เหมือนฟิลิปปินส์ที่เป็นสลัมต่อๆ กันไปเลย ไม่มีภาคเกษตรเลย เป็นสังคมอีกแบบที่ต้องเรียกใหม่ ถ้าหากเราเข้าใจตรงนี้ได้ ก็สามารถผลักดันนโยบายรัฐแก้ปัญหาได้
ในกระบวนการเปลี่ยนแปลงนี้ถามว่าทำไมเขาต้องไปเป็นเสื้อแดง ในความเปลี่ยนแปลงของภาคการผลิตแบบไม่เป็นทางการ สิ่งที่เขาเขาเผชิญคือความเสี่ยงที่เขาเผชิญด้วยตัวเขาเองทั้งหมด อะไรที่ช่วยให้เขาลดความเสี่ยงได้เป็นเรื่องที่เขาฉวยเสมอ การขยายตัวของรัฐในช่วงทักษิณหรือที่คนเรียกว่า “ประชา นิยม” เป็นขยายตัวบนฐานของการมองภาคการผลิตไม่เป็นทางการเป็นเป้าหมาย อย่าลืมว่า พันธุ์ศักดิ์ (วิญญรัตน์) ใช้หนังสือ “The Other Path” ของเดอโซโต้ (หมายถึง The Other Path: The Invisible Revolution in the Third World (1989) เขียนโดย Hernando de Soto Polar) ของเปรูเป็นหลัก ประชานิยมที่เจาะภาคการผลิตไม่เป็นทางการ ไมใช่ไอเดียทักษิณ แต่เป็นไอเดียพันธุ์ศักดิ์
พันธุ์ศักดิ์เป็นคนพูดถึงหนังสือเล่มนี้ แล้วทำให้คนในภาคการผลิตไม่เป็นทางการ สามารถเข้าถึงทรัพยากรของรัฐมากขึ้น สามารถมีความมั่นคงมากขึ้น เขาจะเจาะเลย ภาคการผลิตไม่เป็นทางการ Housing สำหรับ Informal Sector Trading สำหรับ Informal Sector และ Communication สำหรับ Informal Sector ทั้งสามตัวของภาคการผลิตไม่เป็นทางการถือเป็น 67% ของกำลังแรงงาน มันสวมกันพอดี ภาคการผลิตไม่เป็นทางการจึงสนใจทักษิณอย่างยิ่ง ทำให้เขาลดความเสี่ยงลงไป
การเปลี่ยนเป็นเสื้อแดง ถามว่าพ้นทักษิณได้ไหม คำตอบวันนี้ไม่พ้น แต่ถ้าอภิสิทธิ์ฉลาดกว่านี้สัก 200 เท่า คุณสามารถจะเจาะกลุ่มให้มันถูกได้ แต่คุณทำไม่เป็น คุณไปเล่นเรื่องที่ตลก เช่น หนี้นอกระบบ หนี้นอกระบบเป็นสัดส่วนเพียง 12% ของหนี้ที่ชาวบ้านหรือชาวนา หรือที่คนชนบทเป็น มันจิ๊บจ๊อย คุณเล่นแบบซื้อบื้อ ดังนั้น ถ้าคุณอภิสิทธิ์ฉลาด รู้ว่าสังคมไทยเปลี่ยน ถ้าเดินนโยบายแบบนี้ได้ พลังเสื้อแดงจะเปลี่ยนก็จะไม่เอาทักษิณ และไม่เอาอภิสิทธิ์ จะเปิดโอกาสให้อันใหม่ๆ ขึ้นมา
ดังนั้น ในความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่เกิดขึ้นนี้ จึงไม่ใช่รักไม่รักทักษิณ ทักษิณซื้อ ไม่ใช่ ผมว่ามันสลับซับซ้อนลึกซ้ำกว่านั้น และความรู้ทั้งหมดนี้ เพิ่งพูดหลังปีเร็วๆ นี้เองคือพูดในปี 2551-2553 เพิ่งพูดกัน ทั้งที่มีการเตือนตั้งแต่ปี 2547-2548 แล้วว่าชนบทเปลี่ยน แต่ไม่มีคนเชื่อ เราพูดตั้งแต่วง “ระบอบทักษิณ” (วงสัมมนาที่สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกันจัดเมื่อปี 2547) ว่าชนบทเปลี่ยน แต่ตอนนั้นไม่มีใครฟังเลย จนกระทั่งต้องฆ่ากันตายก่อน ความผิดพลาดของความไม่เข้าใจชนบทจนทำให้มีคนตายนี้เป็นความผิดพลาดของนัก วิชาการสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ทั้งประเทศไทย ที่ควรจะต้องลุกขึ้นยกมือไหว้ศพคนตาย และยกมือไหว้อื่นๆ เยอะแยะ นักวิชาการสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ไทย ทำให้ประเทศไทยก้าวเข้าสู่วิกฤตอย่างที่เราเห็นตอนนี้ ไม่ต้องพูดถึงสามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา จะเขยื้อนคุณหมอก่อน
ดังนั้น การฆ่ากันตายที่ผ่านมา จึงต้องมีคนรับผิดชอบมากมาย อภิสิทธิ์ รับผิดชอบคนแรก ทักษิณด้วย รับผิดชอบคนที่สอง แต่คนที่รับผิดชอบด้วยคือนักวิชาการทั้งหลายที่มองไม่เห็น แล้ววันนี้เอง อาจารย์ปิ่นแก้วอาจจะอึดอัดกับที่อภิสิทธิ์พูด ผมไม่เคยอึดอัดกับอภิสิทธิ์เลย เห็นหน้าเมื่อไหร่ก็ปิดเลย เวลาที่เขาพูดอะไรมันดีกว่าตดนิดหนึ่งตรงที่ไม่มีกลิ่น ผมคิดว่าสิ่งที่น่ากังวลมากกว่าคือเด็กที่เชียงรายถูกส่งไปบำบัดจิต ผมส่งบทความไปวันนี้ (กรุงเทพธุรกิจ) คือ “ใครกันแน่ที่ควรจะเข้ารับการบำบัดจิต” คนที่ควรจะเข้าคืออภิสิทธิ์ ขอบคุณครับ
000
ลักขณา ปันวิชัย
สังเกตชนบทจากระยะไกล
คน ที่น่าห่วงไม่ใช่ชาวบ้าน คนบ้านนอก แต่เป็นชนชั้นกลางที่ยึดติดกับเรื่องความดี ศีลธรรมผู้ปกครอง ไม่ศรัทธาการเลือกตั้ง ไม่ไว้ใจนักการเมือง หวังพึ่งอำนาจนอกระบบเลือกตั้ง หวังพึ่งคนดี และยังเชื่อเหมือนเดิมว่าชาวบ้านไม่ฉลาดพอที่จะมีประชาธิปไตย
ลักขณา ปันวิชัย หรือ “คำ ผกา” กล่าวว่า แม้จะถูกเชิญมาในฐานะนักเขียนที่เป็นคนชนบทที่ถูกคาดหวังว่าจะพุดถึงคนใน ชนบทกับชาวบ้านได้ดีแต่ปฏิสัมพันธ์ทางสังคมกลับเกิดขึ้นใน Cyber Space มากกว่า เช่น การเล่น Facebook MSN และโปรแกรม Chat ต่างๆ ดังนั้นดิฉันไม่ควรจะเป็นผู้ศึกษาชนบทแต่ควรจะเป็นวัตถุในชนบทที่นักวิชาการ ควรศึกษา หากจะให้พูดถึงเรื่องการเปลี่ยนแปลงในชนบทก็จะเป็นการมองของผู้สังเกตการณ์ ที่อยู่ไกลมากๆ
การเรียนประวัติศาสตร์ฝึกทักษะให้ดิฉันเป็นคนที่อ่านหนังสือที่ไม่ได้ถูก เขียน ฝึกให้ได้ยินเสียงที่ไม่ถูกพูดออกมา หากใช้ทักษะดังกล่าวในการพูดหัวข้อเสวนาในวันนี้จะสามารถอ่านได้อีกความหมาย หนึ่งว่า “ทำไมคนบ้านนอกด้อยการศึกษาในชนบทถึงได้เข้าใจประชาธิปไตยดีกว่าคนในเมืองที่มีการศึกษา” หรือได้อีกความหมายหนึ่งว่า “ถ้า คนชนบท เท่ากับ คนเสื้อแดง เท่ากับ คนที่สนับสนุนประชาธิปไตยและการเลือกตั้ง อยู่ตรงกันข้ามกับสิ่งที่สนับสนุนประชาธิปไตย ทำไมถึงเป็นอย่างนั้น” หรือจะเป็นอีกความหมายหนึ่งคือ “เราน่าจะสงสัยว่าทำไมคนที่มีการศึกษาในระบบของสังคมไทยไม่เชื่อในประชาธิปไตย”
ดิฉันคิดว่าแทนที่จะสงสัยคนชนบทอาจจะต้องสงสัยคนในเมืองแทน แม้จะนิยามเฉพาะเจาะจงไปไม่ได้ว่าใครเป็นคนชนบท ใครเป็นชนชั้นกลาง ใครเป็นผู้มีการศึกษา ที่ให้ความสำคัญกับประชาธิปไตย
เจ้าของนามปากกา “คำ ผกา” ได้ตัวอย่างการแสดงภาพศิลปะของ “วสันต์ สิทธิเขต” ล่าสุดที่แสดงในหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร โดยอภิปรายว่า มีการจัดแสดงสองภาพ ภาพหนึ่งเป็นภาพที่คนถูกฆ่าตายในเหตุการณ์พฤษภาฯ ทมิฬแล้วบอกว่า คนตายเพื่อประชาธิปไตย อีกภาพหนึ่งเป็นภาพคนเสื้อแดงที่ใส่เสื้อที่มีรูปหน้าของทักษิณ เขียน I Love แล้วเป็นหน้าทักษิณ และพาดหัวว่า “19 พ.ค.คนไทยตายเพื่อไอ้คนโกง”
ข้อความในภาพของวสันต์ สิทธิเขตบอกว่าเหตุการณ์วันที่ 19 พฤษภาคม คนไทยยอมตายเพื่อทักษิณ ถ้าจะถามว่าคนมีการศึกษาที่ดิฉันหมายความในที่นี้คือใครก็คือคนลักษณะนี้ คนที่เป็นศิลปินแนวหน้าของประเทศไทยจำนวนมาก อย่างเช่น วสันต์ สิทธิเขต เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ หรือคุณนภัส ณ ป้อมเพ็ชร์ที่เขียนจดหมายไปถึงสำนักข่าว CNN ว่า CNN ไม่เข้าใจการเมืองไทย บิดเบือนข้อเท็จจริง สร้างความเสียหายให้กับประเทศไทย คุณนาตยา แวววีรคุปต์ สถานีโทรทัศน์ทีวีไทยที่พยายามจะเป็นกลางทางการเมืองแต่ก็ยังเข้าใจว่าคนใน ชนบทยังไม่รู้เรื่องอะไรเกี่ยวกับการเมืองเลย และอีกหลายๆ คน เช่น คนที่ออกมากวาดถนนไล่เสนียดจัญไรของกรุงเทพฯ หลังจากเกิดเหตุการณ์รัฐฆ่าประชาชน คนที่ออกมาคร่ำครวญว่าทำไมคนไทยไม่รักกัน คนที่ทำโฆษณาให้รัฐแล้วบอกว่าขอให้มีพื้นที่ยืนสำหรับคนไทยที่คิดต่าง
ดิฉันคิดว่าคนที่ควรจะออกมาร้องไห้ว่าทำไมคนไทยไม่รักกันไม่ใช่ พวกคุณที่ออกมากวาดถนนหรืออยู่ในโทรทัศน์ แต่น่าจะเป็นคนเสื้อแดงที่ออกมาเรียกร้องความยุติธรรม และเป็นคนเสื้อแดงนั่นแหละที่ชอบธรรมที่สุดที่จะบอกว่าทำไมวันนี้ในสังคมถึง ไม่มีที่ยืนให้กับคนที่คิดต่างออกไป
ทีนี้กลายเป็นว่าโลกกลับตาลปัตรไปหมดเลย คนที่ถูกกระทำกลายเป็นอาชญากร กลายเป็นอันธพาล กลายเป็นคนทำลายความสันติสุขในบ้านเมือง ก้าวร้าว ใช้ความรุนแรง กลายเป็นคนที่ไม่รับฟังความคิดเห็นของพวกอื่น เป็นคนที่ไม่ฟังความคิดเห็นที่แตกต่าง พวกโรคจิตแห่ศพ อะไรแบบนี้ไปหมดเลย ดิฉันจึงต้องกลับมาตั้งคำถามว่าทำไมถึงเกิดความไม่ปกติในสามัญสำนึกของคน เหล่านี้และของเรา อย่างน้อยของดิฉันเองที่ทึกทักเอาว่าคนที่มีความรู้ คนที่มีการศึกษา หรือคนชนชั้นกลาง คือพลังบวกของประชาธิปไตย แต่คนบ้านนอก เกษตรกร คนแรงงานนั้น คือกลุ่มคนที่คิดแต่เรื่องทำมาหากิน เสียจนไม่มีความฟุ่มเฟือยในชีวิตมากพอที่จะคิดถึงเรื่องสิทธิเสรีภาพ ยิ่งไปกว่านั้นด้วยความยากจนของพวกเขาก็ยิ่งทำให้กลายเป็นเหยื่ออันโอชะของ นักการเมือง
หมายเหตุต่อไปด้วยอีกว่า ในสามัญสำนึกของคนไทยโดยทั่วไป ขั้นชื่อว่านักการเมืองย่อมเลว หาดีไม่ได้ ไม่มีใครเข้ามาเป็นนักการเมืองเพื่อทำประโยชน์ให้กับบ้านเมืองจริงๆ ขึ้นชื่อว่านักการเมือง พวกเขาอยากเข้ามาหาผลประโยชน์แก่ตัวเองและพวกพ้อง ครอบครัว พวกค้ายาบ้า พวกค้าน้ำมันเถื่อน อัปรีย์จัญไร
หมายเหตุให้คิดต่อไปอีกว่า แล้วใครที่พวกเราคิดว่าหวังดีต่อประเทศอย่างแท้จริง ไม่มีผลประโยชน์แอบแฝง จริงใจ ขอเสนอ 1 ชื่อ ในที่นี้ คนชั้นกลาง จะเชื่อว่าคนแบบหมอประเวศ วะสี เป็นต้น ที่ไม่เคยผ่านการเลือกตั้ง ไม่เคยอยากเป็นนักการเมือง เราจึงมั่นใจในความดีของพวกเขา เป็นตรรกะแบบไทยๆ ที่ดิฉันเรียนรู้และเติบโตมาในฐานะที่เป็นคนไทย เพราะฉะนั้นด้วยตรรกะแบบนี้ มันจึงทำให้เราไม่คิดว่าคนที่เล่นการเมืองไม่จำเป็นต้องเป็นนักการเมือง และด้วยอุดมการณ์เช่นนี้เองในสังคมไทย มันจึงเปิดโอกาสให้คนที่ไม่ใช่นักการเมืองลงมาเล่นการเมืองมากกว่านักการ เมืองเสียอีก
สิ่งเหล่านี้ทำให้ต้องย้อนกลับไปถึงหลังเหตุการณ์พฤษภาฯ ทมิฬ ปี 2535 ที่ เราปลื้มปิติกับชนชั้นกลางที่รักและต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย แต่เอาเข้าจริงๆ แล้ว ที่เราชื่อว่าคนกลุ่มนี้เป็นพลังต่อต้านเผด็จการ 20 ปีผ่านไปกลับกลายเป็นเมล็ดพันธุ์ที่สนับสนุนเผด็จการซ่อนรูป อย่างที่เราเผชิญหน้าอยู่ทุกวันนี้ เหตุผลที่ รัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุนหะวัณ ถูกรัฐประหาร คือเป็น Buffet Cabinet เป็นรัฐบาลที่เต็มไปด้วยคอรัปชั่น ดังนั้น แนวทางอธิบายเรื่องการเลือกตั้งที่มาพร้อมกับการซื้อเสียง มาพร้อมกับแนวคิดที่ว่าชาวบ้านโง่ ละโมบ หวังผลทางเศรษฐกิจในระยะสั้น มาจบที่นักการเมืองคอรัปชั่น วาทกรรมนี้เริ่มชัดและมีน้ำหนัก น่าเชื่อถือมากขึ้นเรื่อยๆ
ขอยอมรับว่าดิฉันเป็นนักประวัติศาสตร์ที่ไม่มีความทรงจำเลย จำไม่ได้ว่าปฏิกิริยาของคนในสังคมที่เกิดเหตุการณ์รัฐประหารในขณะนั้นเป็น อย่างไร แต่เข้าใจว่าไม่มีการต่อต้านอย่างรุนแรงสมัยที่คุณอานันท์ ปันยารชุนเป็นนายกรัฐมนตรีชั่วคราว ซึ่งจะสามารถตีความได้ว่าเราสามารถยอมรับคุณอานันท์ได้ แต่พอกรณี “สุไม่เอาก็ให้เต้” จึงเกิดเหตุการณ์พฤษภา ฯ ทมิฬขึ้น เกิดการต่อสู้ของม็อบมือถือ พวกเราตื่นเต้นกันใหญ่ว่าไม่เคยเห็นชนชั้นกลางตื่นตัวทางการเมืองเท่านี้มา ก่อน เหมือนตอนนี้ที่เราตื่นเต้นว่าไม่เคยเห็นคนชนบทตื่นตัวทางการเมืองเท่านี้มา ก่อนเช่นกัน
เพราะฉะนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นคือ คนที่ต่อสู้กับเด็จการไม่ว่าครั้งนั้นจำนวนมากไม่ว่าจะเป็นวินมอเตอร์ไซค์ พ่อค้าแม่ค้าในตลาด คนในสลัม และถ้ากลับไปสัมภาษณ์คนที่ต่อสู้กับขบวนการเสื้อแดง ซึ่งคนเสื้อแดงจำนวนมากถือตัวว่าเข้าร่วมต่อสู้กับเหตุการณ์พฤษภาฯ ทมิฬด้วย ในรายการวิทยุชุมชนที่เชียงใหม่มีแม่ค้าในตลาดเมืองใหม่โทรศัพท์เข้ามาเล่า ย้อนประสบการณ์ของตัวเองว่าร่วมในเหตุการณ์นั้นและมีความเป็นเจ้าของ เหตุการณ์การต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งประชาธิปไตยในปี 2535 จึงมีความชอบธรรมที่จะต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในเหตุการณ์ครั้งนี้ด้วย แต่ความเป็นจริงคนเหล่านี้ไม่ได้รับการจดจำในฐานะที่เป็นตัวละครที่สำคัญ เพราะพระเอกของงานนี้คือพวกยัปปี้ มือถือ และไม่ต้องแปลกใจว่าหนังสือพิมพ์ขวัญใจคนกลุ่มนี้ที่เกิดขึ้นจากเหตุการณ์ พฤษภา ฯ ทมิฬ จนเป็นหนังสือพิมพ์ที่ได้รับการยอมรับในเวลานั้นก็คือ หนังสือพิมพ์ผู้จัดการ
ที่นอกจากจะนำเสนอ Lifestyle ของคนรุ่นใหม่ คอลัมน์แบบ “พลอย จริยะเวช” ก็เกิดครั้งแรกในหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ หนังสือพิมพ์เริ่มนำเสนอข่าวเศรษฐกิจ ข่าวหุ้น ข่าวธุรกิจ ความทันสมัยแบบคนเมือง บวกเซ็คชั่นที่โยงศิลปวัฒนธรรมเข้ากับการเมืองเข้าไว้ด้วยกัน นิตยสารที่เกิดขึ้นในรุ่นนั้นอย่างเช่น GM Decade สารคดีกลับเป็นนิตยสารที่ไม่ค่อยมีคนอ่าน ก็ขยายตัวในวงกว้างขึ้น Hi Class, Trendy Man คือเริ่มมีการนำเสนออีกมิติหนึ่งของการนำเสนอข่าว และโยงเอามิติทางการเมือง วัฒนธรรม รสนิยมในการใช้ชีวิตกับจุดยืนทางการเมือง มันเริ่ม Merge (รวม) เข้าหากันแล้ว ยุคนั้นสื่อสารมวลชนที่นำโดยหนังสือพิมพ์ผู้จัดการเริ่มนำเสนอบรรยากาศแบบ หนังสือพิมพ์ปัญญาชน และเริ่มมีนักวิชาการที่เข้ามาเป็นคอลัมน์นิสต์ ไม่ว่าจะเป็น สุวินัย เกษียร ก็เขียนลงหนังสือพิมพ์ผู้จัดการหลังปี 2535 เพราะฉะนั้นหนังสือพิมพ์ผู้จัดการในยุคนั้นมันมีคุณค่าทางวัฒนธรรม ในฐานะของความเป็นปัญญาชนและความเป็นสมัยใหม่
มีสิ่งหนึ่งที่มีความผิดปกติอย่างยิ่ง ในชัยชนะของพฤษภาทมิฬฯ ซึ่งไม่แน่ใจว่าเราจงใจมองข้าม หรือมองข้ามจริงๆ หรือลืมที่จะตั้งคำถามคือ ภาพที่จำลอง ศรีเมือง พล.อ.สุจินดา คราประยูร และ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ถูกเรียกให้เข้าเฝ้าฯ เมื่อในหลวงทรงให้โอวาทแล้วทุกคนก็น้อมลงกราบสุดท้ายบ้านเมืองก็เข้าสู่ สภาวะปกติสุข ในสมัยที่ดิฉันเรียนและอาจารย์นำรูปนี้มาให้ดู มีเพื่อนคนหนึ่งแสดงความคิดเห็นว่าไม่ควรรบกวนให้ในหลวงลงมาในเรื่องนี้ พระองค์ท่านควรมีสถานะที่ศักดิ์สิทธิ์กว่านั้นดั่งเช่นพระพุทธรูปที่เรากราบ ไหว้บูชา โดยภาพรวมของสังคมทั้งสังคมไม่มีใครตั้งคำถาม แต่บอกว่าเป็นบุญเหลือเกินที่พวกเรามีท่านไม่เช่นนั้นคนไทยฆ่ากันตายยิ่ง กว่านี้
นอกจากรัฐบาลของ พล.อ.เปรม ที่ครองอำนาจ 8 ปีก็ไม่มีรัฐบาลในระบอบประชาธิปไตยเต็มใบรัฐบาลไหนที่เป็นที่ชื่นชมของคนไทย เหมือนอยู่กันมาจนหมดยุคป๋าเปรม เราได้ลิ้มรสสิ่งที่เรียกว่า ประชาธิปไตยเต็มใบ คือมีนายกรัฐมนตรีผ่านระบบการเลือกตั้ง เราเริ่มเห็นเชื้อของการรังเกียจชาวบ้านเริ่มแพร่ลาม จนเราไม่คิดว่ามันเป็นเชื้อโรค แต่กลับมองเห็นมันเป็นเรื่องปกติ จำได้ว่าสังคมไทยมีการรังเกียจบรรหาร ศิลปะอาชา ในฐานะนายกรัฐมนตรีอย่างรุนแรง ตั้งแต่จิกว่าเตี้ย เป็นอาเสี่ยบ้านนอก นุ่งเสื้อฮาวายประชุมเอเปกน่าอายมาก พูดภาษาอังกฤษไม่ได้ ควีนอลิธซาเบธมาเมืองไทยก็บอกเป็นอลิธซาเบธ เทเลอร์ ภาพของบรรหารคือเป็นพ่อค้าภูธร ดิฉันคิดว่าคนชั้นกลางที่รังเกียจบรรหารนั้นไม่ได้รังเกียจบทบาททางการเมือง หรือการคอรัปชั่นของบรรหาร มากเท่ากับรังเกียจอาการเร่อร่าบ้านนอกของบรรหาร เมื่อเราเปรียบเทียบ Reputation (ชื่อเสียง) ระหว่างอานันท์ ปันยารชุน กับบรรหาร ต้องบอกว่าคนไทยชื่นชมนายกฯ ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งอย่าง อานันท์ ปันยารชุน มากกว่าบรรหาร ศิลปอาชา
ถ้าเปรียบเทียบนายกฯ คนก่อนหน้านั้นคือ ชวน หลีกภัยซึ่งไม่ใช่ผู้ลากมากดีที่ไหน หากว่าภาพพจน์ของคุณชวน นอกจากไม่ถูกดูถูกเหมือนบรรหารแล้ว กลับได้รับการยกย่องเชิดชูในฐานะที่เป็นลูกชาวบ้านที่วิริยะ อุตสาหะ กตัญญู จะเห็นว่าภาพแม่ถ้วน อยู่ในสื่อเยอะมาก คุณชวนจะเป็นไอดอลของคนไทย เป็นต้นแบบของคนบ้านนอก ใช้ความซื้อสัตย์สุจริต อ่อนน้อมถ่อมตน น่ารักน่าเอ็นดู ขยันหมั่นเพียร สามารถไต่เต้าขึ้นมาจนได้เป็นนายกรัฐมนตรีได้ เพราะฉะนั้นบทบาทสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรมของคุณชวน ถ้าเคยอ่านนิยายของศรีบูรพา จะคล้ายกับ “มานะ รักสมาคม” พระเอกของศรีบูรพาเรื่อง “ลูกผู้ชาย” และถ้าเป็นคนรุ่นใหม่นิดหนึ่งจะเหมือนพวก “มานะ” พวก “ปิติ” (หมาย เหตุ – หมายถึง ตัวละครในชุดแบบเรียนภาษาไทยระดับประถมศึกษาชั้นประถมปีที่ 1-6 ซึ่งใช้ในการเรียนการสอนระหว่างปี พ.ศ. 2521 - พ.ศ. 2537 โดยรัชนี ศรีไพรวรรณ) มีความเป็นไทยแท้ มีจริยธรรม เป็นตัวแทนของวัฒนธรรมไทย มีความเป็นไทยแท้ที่พื้นเพกำเนิดในชนบท แต่มีคุณสมบัติ กริยาอย่างชนชั้นกลางที่ถือว่า Respectable ใช้การศึกษาเป็นเครื่องมือในการไต่เต้า แถมมีมุมกุ๊กกิ๊กด้วย น่าเอ็นดู เป็นศิลปินชอบสเก็ตรูปเล่น มีความ Sophisticate งานอดิเรกที่สเก็ตรูปก็บอกถึงความ Sophisticate ตรงข้ามบรรหารที่มีรหัสทางวัฒนธรรมผิดหมดทุกข้อ เป็นเจ๊กบ้านนอก ไม่ใช่บ้านนอกธรรมดา แต่บ้านนอกสุพรรณ ซึ่งแค่ไม่มีความเป็นไทยความเป็นสุพรรณ ก็ถูกดูถูกแล้ว
เอาเข้าจริงๆ ชนชั้นกลางไทยนั้นเพียงแต่สวมเสื้อผ้ายี่ห้อประชาธิปไตยเป็นแฟชั่น แต่ไม่ได้รัก และไม่เคยเชื่อมั่นในประชาธิปไตย หรือเอาเข้าจริงๆ ไม่เคยศึกษาเลยว่าความเป็นประชาธิปไตยหรือความหมายของประชาธิปไตยคืออะไรกัน แน่ เหมือนคนไทยจำนวนมากที่ทำผมเด๊ดร็อค แต่งตัวเป็นเรกเก้ แต่ไม่รู้เลยว่าเรกเก้มาจากไหน จะต่อต้านอะไร จะกบฏอะไร ทำไมต้องทำผม แต่ว่ารับแฟชั่นนั้นมา หรือนักร้องฮิปฮอปเมืองไทยที่ทำได้มากที่สุดก็แค่เอาคำหยาบมาแต่งเพลงแต่ เนื้อหาไม่ได้ขบถต่ออะไรเลย ไม่มีที่มาที่ไปว่ามีข้อคับข้องใจต่ออำนาจสถาปนาในสังคมอะไรบ้าง ถึงต้องกลายเป็นฮิปฮอป จึงไม่แปลกใจว่าทำไมศิลปินฮิปฮอป เรกเก้ในบ้านเราถึงได้ร้องเพลงโฆษณา Propaganda ให้รัฐบาลได้หน้าตาเฉย หรือว่าใส่ริสแบนด์โฆษณาอะไรก็ได้
ถึงที่สุดแล้ว คำว่าพลังของชนชั้นกลาง คำว่า "ม็อบมือถือ" นั้น ส่งผลลัพธ์มาถึงทุกวันนี้ ทำให้ชนชั้นกลางเข้าใจว่าตนเองเป็นเจ้าของประชาธิปไตย ชนชั้นกลางเข้าใจว่าประชาธิปไตยที่มีอยู่ทุกวันนี้เป็นผลของการต่อสู้ของพวก เขา จนเราได้มาซึ่งสิ่งนั้น ส่วนชาวบ้านกลุ่มคนที่รอรับการศึกษาที่ดีขึ้น รอการช่วยเหลืออย่างเต็มอิ่ม ชนชั้นกลางเชื่อว่าหากชีวิตของคนบ้านนอก พวกคนชนบทดีขึ้น ถ้าการศึกษาของเขาสูงขึ้น พวกเขาจะไม่ถูกนักการเมืองซื้ออีกต่อไป แล้วเมื่อไหร่ที่คนจน ชาวบ้าน ไม่ถูกซื้อ เมื่อนั้นแหละ ที่ถึงเวลาที่เมืองไทยจะมีประชาธิปไตยเสียที แต่ตอนนี้ยังไม่ถึงเวลา อย่าเพิ่งมี คนพวกนี้ยังไม่ได้รับการศึกษา ซึ่งเป็นคำอธิบายชุดเดียวกับที่ฝ่ายอนุรักษ์นิยมใช้อธิบายการปฏิวัติ 2475 ในภายหลังว่ามันเกิดขึ้นในขณะที่สังคมไทยยังไม่พร้อม
ตัวละครที่เข้ามามีบทบาทที่ทำให้วาทกรรมนี้อยู่กับชนชั้นกลางได้อย่าง เป็นจริงเป็นจังมากขึ้น ตัวละครนั้นมีชื่อว่าเอ็นจีโอ ซึ่งอาจารย์อรรถจักร์ได้พูดถึงไปก่อนหน้าแล้ว ก่อนหน้าที่จะมีเอ็นจีโอ ย้อนกลับไปมีกลุ่มศึกษาเศรษฐศาสตร์การเมืองสำนักของอาจารย์ฉัตรทิพย์ นาถสุภา เริ่มมีความคิดว่า “คำตอบอยู่ที่หมู่บ้าน” มีเอ็นจีโอสายวัฒนธรรมชุมชน “อภิชาต ทองอยู่” แล้วมี “ศัพท์” เข้ามาในภูมิศาสตร์ทางบรรยากาศในแวดวงปัญญาชนไทยเช่นคำว่า “ภูมิปัญญาชาวบ้าน” “ปราชญ์ชาวบ้าน”
และกระบวนการสร้างวัฒนธรรมชุมชน ในกระบวนการที่จะกลับไปรื้อฟื้นภูมิปัญญาชาวบ้าน ก็มีกระบวนการสร้างเซเลบของคนชนบทขึ้นมา เช่น พ่อใหญ่วิบูลย์ พ่อนั่นพ่อนี่ พะตีนู้น พะตีนี้ คำว่ากะเหรี่ยงก็พูดไม่ได้ ยางก็พูดไม่ได้ ต้อง “ปกา เกอะญอ” อย่างนี้เป็นต้น แล้วมีการผลิตงานงานวรรณกรรมที่เชิดชูวิถีชาวบ้านออกมามหาศาล ทั้งเพื่อผลในการต่อต้านการครอบงำของรัฐ การต่อต้านแนวทางพัฒนาเศรษฐกิจ ที่ไม่เห็นคุณค่า “คนตัวเล็กตัวน้อยทั้งหลาย” ซึ่งเป็นศัพท์ของคนกลุ่มนี้
พระเอกของเราตอนนั้นคือ ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง เป็นต้น ที่เอาปัญหาของชาวบ้านมาชูประเด็น ปัญหาของชาวบ้านผ่านรายการมองต่างมุม ชาวบ้านทุ่งยาว จ.ลำพูน ที่ต่อสู้เรื่องป่าชุมชนก็ได้ออกรายการของ ดร.เจิมศักดิ์
ผลของกระบวนการเหล่านี้ที่เกิดขึ้นอย่างไม่ตั้งใจจะเกิดขึ้นด้วยซ้ำ มันทำให้เกิดชาวบ้าน 2 แบบขึ้นมาคือคือ ชาวบ้านที่อยู่กับเอ็นจีโอหรือที่ดิฉันเรียกว่าชาวบ้าน “Enlightened” แล้ว “บรรลุ” แล้ว กับ “ชาวบ้านที่ยังโง่อยู่” จึงเป็นเหตุผลว่าเอ็นจีโอสายที่ไปปฏิรูปกับหมอประเวศ กับอานันท์ ถึงยังคิดว่าตัวเองต้องไปให้การศึกษากับชาวบ้านที่กำลังโง่อยู่ให้ “Enlightened” แล้วกลายเป็นมีแบบอย่างการดำเนินชีวิตเหมือนเซเลบชาวบ้าน พะตีอะไรทั้งหลาย หรือพ่อนู่นพ่อนี่ ปราชญ์ชาวบ้านทั้งหลาย
เพราะฉะนั้นบทบาทของเอ็นจีโอก็น่าสนใจ ในแง่ของการเคลื่อนไหวตรวจสอบรัฐบาลแต่กลับลืมตรวจสอบตัวเองสุดท้ายก็กลาย เป็นหน่วยงานหนึ่งของรัฐบาลที่องค์กรเริ่มสั่งสมวัฒนธรรมลำดับชั้นต่ำสูง มีเรื่องงบประมาณ มีการบริหารจัดการองค์กรที่คล่องตัวน้อยลง มีผลประโยชน์ทับซ้อน มีการคอรัปชั่น และในยุคที่แหล่งทุนต่างประเทศหดหายก็ต้องหาแหล่งทุนจากภาครัฐ ในขณะที่รัฐก็ดูดบุคลากรของเอ็นจีโอเข้าไปอยู่ในนั้น เอ็นจีโอนึกว่าตัวเองได้ร่วมมือกับรัฐจะผลักดันได้มากขึ้น แต่ดูเหมือนว่าท้ายที่สุดพลังการตรวจสอบอำนาจรัฐกลับอ่อนแรงลงเรื่อยๆ ในขณะที่ทัศนะคติ การ Romanticize ชาวบ้าน ยังคงอยู่ ยังทรงพลังเหมือนเดิม โดยที่ไม่ได้สนใจว่าชาวบ้านชนบทเปลี่ยนแปลงไปแล้วอย่างไร
พลังที่ Romanticize ชาวบ้านไม่เปลี่ยน พลังที่ Dramatize ทุน นักการเมือง และโลกาภิวันต์ ยังไม่เปลี่ยน เพราะมองว่าเป็นผู้ร้ายตลอดกาลยังคงเหมือนเดิม เพราะฉะนั้นเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เราเข้าใจว่าจึงมีเอ็นจีโอเข้าไปปั้น จิ้มปั้นเจ๋อกับรัฐบาลอภิสิทธิ์ ได้แบบไม่ได้คิดว่าตัวเองทำอะไรผิด ไอ้พวกไปช่วยเสื้อแดงสิ โง่ บ้า ไม่รู้หรือไงว่าทักษิณมันเลวแค่ไหน
ข้อพิสูจน์อันหนึ่งที่บอกว่าปัญญาชนและชนชั้นกลางไม่ได้รู้สึกรู้สากับ หลักการประชาธิปไตย นอกจากเห็นมันเป็นแฟชั่นผิวเผิน ก็คือในรัฐธรรมนูญปี 2540 พูดหนักหนาว่าดีมาก แต่มีอยู่ข้อหนึ่งบอกว่าผู้สมัคร ส.ส. ต้องจบ ป.ตรี เป็นอย่างน้อย ซึ่งเป็นหลักการพื้นฐานที่ขัดต่อหลักประชาธิปไตย แต่ชนชั้นกลางพบว่ามันธรรมดามาก สอดคล้องกับสามัญสำนึกของตัวเองมากที่ เออก็ให้นักการเมืองมีการศึกษานะ จะได้ไม่มีนักการเมืองเร่อร่าแบบบรรหาร เราจะได้ไม่มีบุคลิกเป็นเจ้าพ่อบ้านนอก เป็นกำนันเป๊าะอะไรแบบนั้น เพราะฉะนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่มีคนแบบ “ซู่โม้ตู้” “ว.วชิรเมธี” ออกมาสนับสนุนแนวคิดว่าสิทธิการมีสิทธิเลือกตั้งควรเป็นไปตามระดับการศึกษา ของผู้มีสิทธิในการออกเสียง ว.วชิรเมธี นอกจากใช้การศึกษาแล้วยังไม่พอ ยังขึ้นอยู่กับระดับความดีของคนที่มีสิทธิในการออกเสียงเลือกตั้งด้วย คงจะมีอะไรไปจิ้มแบบเทอร์โมมิเตอร์วัดระดับความดีของคน
ทุกคนแถวนี้ยังเชื่ออย่างบริสุทธิ์ใจว่าการเมืองไทยล่มสลาย ไม่ก้าวหน้า เพราะผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ไร้การศึกษาจึงไม่มีวิจารณญาณเลือกคนดีๆ ไปบริหารบ้านเมือง และแนวคิดอยู่ในรัฐธรรมนูญฉบับที่เราคิดว่าเป็นประชาธิปไตยมากๆ เหมือนกับที่เราเชื่อว่าการต่อสู้ของชนชั้นกลางในเดือนพฤษภาคม 2535 เป็น อะไรที่ประชาธิปไตยมากที่สุดเลย เพราะฉะนั้นแทนที่จะมองการเปลี่ยนแปลงของชนบท เลยมองตรงข้ามว่า ในขณะที่ชนบทอาจจะเปลี่ยนอย่างไรก็แล้วแต่ ซึ่งดิฉันไม่มีความรู้ แต่ดิฉันมองว่าสิ่งที่ไม่เปลี่ยนเลยหรือมันถอยหลังกลับไป คือพลังของชนชั้นกลางที่เป็นปฏิปักษ์ต่อแนวคิดประชาธิปไตยมาโดยตลอดต่างหาก
นี่ยังไม่นับ ชนชั้นกลางสายมนุษย์นิยม พวกที่ไม่เลือกข้าง มองว่าใครก็เลวไปหมด มองชาวบ้านว่าจะเป็นเหยื่อทั้งสองฝ่าย ใครจะแพ้ ชนะ ชาวบ้านแพ้อยู่ดี นี่หนักกว่าพวกเหลืองกว่าแดงอีกนะ มองชาวบ้านเลว ยังดีกว่ามองชาวบ้านเป็นเหยื่อของทั้งสองฝ่าย คือมองว่าเลว ยังมีความคิดน่ะ แต่มองว่าเลวทั้งสองฝ่ายนี่ไม่มีความคิดเลย พวกนี้น่าเหนื่อยกว่า คือพวกสายรักมนุษย์ สายเห็นใจทั้งสองฝ่าย สายที่ต้องเห็นความซับซ้อนของการต่อสู้ทั้งสองฝ่าย “ชลิดาพร ส่งสัมพันธ์” “พระไพศาล วิศาโล” เหนื่อยมากพวกสันติวิธี
ในเรื่องการเปลี่ยนแปลงของชาวบ้าน จากการสังเกตการแบบนั่งเล่น Facebook แล้ว มองชาวบ้านจากไกลๆ ถ้ามองจากเขตชนบทที่กลายเป็นเขตชานเมืองไปแล้ว อย่างบ้านสันคะยอมของตัวดิฉันเอง เศรษฐกิจขยายตัว ชาวบ้านขายที่ดินหมดแล้ว แล้วไม่ได้ขายแบบวรรณกรรมเพื่อชีวิตที่ขายแล้วยิ่งจนลงเรื่อยๆ ชาวบ้านลงทุน ชาวบ้านทำตึกแถว ชาวบ้านทำหอพัก ชาวบ้านเริ่มทำมินิมาร์ท ชาวบ้านลงทุนกับการศึกษาของลูก ลูกชาวบ้านกลับมาตั้งโรงเรียนสอนพิเศษ โรงเรียนติว และมีเพื่อนบ้านดิฉันเป็นคนในเมืองไปเปิดโรงเรียนสอนดนตรี สอนเปียโน ทำค่ายศิลปะ เข้าใจว่าไม่น่าจะมีลูกค้า แต่ปรากฏว่าลูกชาวบ้าน ไม่ใช่ลูกคนมาซื้อบ้านจัดสรร คนบ้านสันคะยอมเอาลูกมาเรียนเปียโน เต้นบัลเลย์แล้ว เรียนดนตรีไทยด้วย ชาวบ้านเปลี่ยนทั้งเศรษฐกิจ และเปลี่ยนทั้งรสนิยมแล้ว
การขยายตัวของเขตเมือง สิ่งที่จะเห็นคือ การผสมกลืนของวิถีชีวิต ของคนในเมืองกับชาวบ้าน ผ่านองค์กรอย่างชมรมผู้สูงอายุ คนในเมืองที่เกษียณแล้วมาซื้อบ้านจัดสรรชานเมือง ไม่มีอะไรทำ ขณะที่เทศบาลจัดกิจกรรมสำหรับผู้สูงอายุ เช่น เล่นเปตอง การรำมวยจีนตอนเช้า ปรากฏว่าคนแก่สองกลุ่มมาเจอกัน คือคนแก่แบบป้าทอง ป้าอุ้ย อุ้ยชุ่ม ไปเล่นเปตอง และมีครูเกษียณ ข้าราชการเกษียณ ได้เข้ามาปฏิสังสรรค์กัน ทำกิจกรรมด้วยกัน สิ่งที่เกิดขึ้นคือการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร การขยายตัวของเทคโนโลยี คนขับรถแดงเข้าอินเทอร์เน็ตได้หมดแล้วเพราะลูกสอน หรือลูกเข้าแล้วปริ้นให้ดู การเข้าถึงเทคโนโลยีการสื่อสารมวลชน วิทยุชุมชน ซึ่งอาจารย์อรรถจักร์ อาจารย์ปิ่นแก้ว พูดแล้ว ชาวบ้านมีจานเทียม ดูทีวีมากช่องกว่าพวกเรา อุดมการณ์ในชีวิตของพวกเขาใกล้กับคนชั้นกลางมาก ขึ้น มีความทะเยอทะยาน ใฝ่ฝันถึงชีวิตที่ดีกว่าคล้ายชนชั้นกลาง ซึ่งในแง่นี้มักจะถูกชนชั้นกลาง และนักวัฒนธรรมชุมชนทั้งหลายประณามว่าคนเหล่านี้ฟุ้งเฟ้อ ตกเป็นเหยื่อของทุนนิยม เป็นเหยื่อวัฒนธรรมตะวันตก บริโภคเกินฐานะ ไม่รักรากเหง้า ไม่รักท้องถิ่น ไม่หวงแหนมรดกทางวัฒนธรรม มึงจะไปเรียนเปียโนทำไม มึงไปตีกลองหลวงสิ ทำไมไม่ส่งลูกไปเรียนโรงเรียนสืบสานล้านนาของอาจารย์ชัชวาลย์
การกระจายอำนาจ การเกิดขึ้นของ อบต. ของเทศบาล ทำให้ชาวบ้านเข้าใจการเมืองมากขึ้น และการเมืองผ่านการเลือกตั้งใกล้กับเขามากขึ้น การปรับตัวของระบบราชการที่เป็นเจ้าเป็นนายคนไม่ได้มากขึ้นเหมือนเมื่อก่อน ชาวบ้านที่ลูกหลานตัวเองมีการศึกษามากขึ้น ลูกหลานของชาวบ้านก็ทำงานในอำเภอ ทำงานใน ธกส. เพราะฉะนั้นการดีลกับระบบราชการมันเป็นการดีลแบบที่มีเสมอภาคมากขึ้น เพราะฉะนั้นการ Exploit ทางอุดมการณ์โดยรัฐทำได้ยากขึ้น ผลก็คือชาวบ้านเข้าใจประชาธิปไตย การเลือกตั้ง เร็วและมากขึ้น
และผลที่เขาไม่ได้รับการศึกษาในระบบ ไม่ได้อ่านมานี มานะ มากอย่างพวกเรา มันทำให้เขาก้าวข้ามวาทกรรมที่รัฐพยายามปลูกฝังลงมาทางสังคม ได้ง่ายกว่าชนชั้นกลางในเมืองที่รับสื่อที่มีอุดมการณ์ของรัฐพ่วงมาด้วยโดย ตลอด เพราะฉะนั้นคนที่น่าห่วงไม่ใช่ชาวบ้าน คนบ้านนอก แต่เป็นชนชั้นกลางที่ยึดติดกับเรื่องความดี ศีลธรรมผู้ปกครอง ไม่ศรัทธาการเลือกตั้ง ไม่ไว้ใจนักการเมือง หวังพึ่งอำนาจนอกระบบเลือกตั้ง หวังพึ่งคนดี และยังเชื่อเหมือนเดิมว่าชาวบ้านไม่ฉลาดพอที่จะมีประชาธิปไตย
ดิฉันคิดว่า ถ้าเราจะศึกษา เราควรจะเปลี่ยนหัวข้อ ไม่ใช่ศึกษาความเปลี่ยนแปลงของชนบท แต่ศึกษาความไม่เปลี่ยนแปลงของชนชั้นกลางไทย
000
ศรีวรรณ จันทน์ผง
ลูกชาวนา ครูดอย เอ็นจีโอ นักธุรกิจ คนเสื้อแดง
ผมไม่ใช่แกนนำเสื้อแดง ประเทศนี้ไม่ควรแยกสีด้วยซ้ำ ด้วยเงื่อนไขหลายอย่างและมีคนที่กระทำซึ่งทำให้คนแยกสี
ศรีวรรณ จันทน์ผง กล่าวว่า ผมเป็นลูกชาวนา พ่อจบ ป.2 แม่จบ ป.3 โทษพ่อโทษแม่ไม่ได้ว่าไม่มีปัญญาส่งเรียน มันเป็นแบบนั้นจริงๆ เป็นหนทางหนึ่งของเด็กบ้านนอก ว่าเราจะมีวิถีชีวิตที่ดี ได้รับการบริการ สวัสดิการจากรัฐ เหมือนชนชั้นกลาง ชนชั้นสูงอย่างไร ถ้าเราอยู่ในวังวนของชาวนาชาวไร่ คงลำบาก ก็คิดแบบนี้ตลอด ถ้าใครผ่านชีวิตแบบนี้มาคงไม่ลืมกำพืดตัวเองว่าพี่น้องร่วมชาติเราอีกหลาย ล้านชีวิตต้องการแสงสว่างและองค์ความรู้ในการจัดการชีวิตของเขาด้วย เพราะฉะนั้นผมก็ดิ้นรน แม้เป็นข้ารับใช้ใครเรียนหนังสือบ้าง ก็เอา ก็เป็นอย่างนั้นจริงๆ ไปอยู่วัดบ้าง ทำงานรับจ้างช่วงเรียน เรียนจนจบ เราในฐานะมาจากคนจน ชีวิตลำบากมาก บางมื้อกับข้าวไม่มีจะกิน มันลำบากมากไม่รู้จะอธิบายยังไง ถ้าใครผ่านชีวิตช่วงนี้มาผมเชื่อว่าคงเข้าใจความรู้สึกนี้ ก็คิดว่าจะพ้นจุดนี้ได้อย่างไร ก็พยายามเรียนหนังสือให้ได้มากที่สุด ช่วงหนึ่งอยู่ในมหาวิทยาลัย 3-4 ปี
ขอย้อนก่อนนะ ผมไม่ใช่แกนนำเสื้อแดง ประเทศนี้ไม่ควรแยกสีด้วยซ้ำ ด้วยเงื่อนไขหลายอย่างและคนที่กระทำซึ่งทำให้คนแยกสี
เพราะฉะนั้นด้วยความยากลำบากก็ฝังอยู่ จบมาแล้วก็อยากใช้ชีวิตให้มีคุณค่ากับสังคมและโลก จบมาปุ๊บเป็นครูดอย 5 ปี ไม่มีถนนรถยนต์เข้า ไม่มีไฟฟ้า เทียนไม่มี ยุคนั้นค่อนข้างลำบาก พาหนะไปหมู่บ้านคือเท้าสองเท้าเท่านั้น เป้ใบหนึ่ง ข้างหน้าไปหาเอาเอง อาคารก็ต้องไปคุยกับชาวบ้านให้สร้างให้ สื่อการสอนก็ให้ชาวบ้านแบกเข้าไป ใช้ชีวิตเป็นครูที่อยู่ในป่าในเขา 5 ปี พอเราไม่อยู่ในสถานะที่จะเปลี่ยนแปลงสังคมและระบบราชการไทยได้
เพราะฉะนั้นอีกช่วงหนึ่งมาสัมผัสกับเอ็นจีโอ รู้สึกว่า มันได้ใช้ความคิดสมอง อุดมการณ์เต็มที่ ไม่มีขอบเขตจำกัด มีอิสรภาพเสรีภาพ ทำงานเพื่อสังคมค่อนข้างสูง ทั้งๆ ที่ครูไม่ได้เป็นแบบนี้ 100% นะ ทำงานให้ชาวเขารู้หนังสือ ทันสถานการณ์ในเมืองที่เอาเปรียบเขาตลอด ก็ลาออกจากครู ทำเอ็นจีโอ 4-5 ปี ทำประเด็นเกษตรทฤษฎีใหม่ เศรษฐกิจพอเพียง กองทุนชุมชน จัดงานออกาไนซ์เกือบทุกเรื่อง เกาะติดประเด็นปัญหาทุกเรื่อง ดีใจที่เจอพี่ๆ น้องๆ เอ็นจีโอ ณ วันนี้ ในแวดวงเอ็นจีโอ ดีใจที่ได้เจอ ทำได้ 4-5 ปี อย่าคิดว่าหลายใจนะ แต่ความมุ่งมั่น ไม่เป็นทาสรับใช้ใคร เราใช้ความรู้ความสามารถเต็มที่อิสระ เสรีภาพเต็มที่ อยู่ไปก็ คิดไปคิดมาก็ไม่ต่างจากครูดอยอีก ทำได้ 4-5 ปีก็พอแล้วนะ หยุด ก็มาทำธุรกิจ ได้ 8 ปีแล้วครับ ทีนี้ ก็มีคนถามว่าทำไมจากเรียนหนังสือ ทำงานทั้งครูทั้งเอ็นจีโอ ผมให้คำตอบชีวิตตัวเองนะ ว่าอยากพ้นจากความยากจน สังคมไทยยอมรับด็อกเตอร์หมด ไม่เห็นมีใครยอมรับชาวนา มีบ้าน มีรถ มีวิถีชีวิตที่ดีบ้าง ก็คิดแบบนี้ตลอด
มนุษย์เจอปัญหาอีกเรื่องคือต่อสู้ภายในตัวเอง เรื่องจิตใจ ต่อสู้ได้มาซึ่งทุกอย่างแล้ว ภาวะจิตใจตัวเอง หาความสุข ความสงบ ผมไม่ปิดกั้นตัวเองในการเรียนรู้โลกใบนี้ที่น่าสนใจและน่าศึกษาต่อไปอีก ก็ไปเรียนศึกษาทางธรรมะ ไปอยู่สันติอโศกปีหนึ่ง ราชาโยคะ มหาวิทยาลัยทางจิตของโลก โยเร เจ้าแม่กวนอิม เจ้าทรง สุดท้ายผมมาจบที่พระพุทธศาสนา รายละเอียดมันคงเยอะ เป็นชีวิตที่ทุกท่านคิดไม่ต่างจากผมว่าการดิ้นรนในสังคม ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีมีความสุข ไม่พลาดพลั้งต่อปัญหาและอุปสรรคใดๆ ถือว่าเป็นทุนหนึ่งที่ออกมาต่อสู้จนถึงทุกวันนี้
เข้ามาในเรื่องของการเมือง ผมไม่ได้เป็นแกนนำ บนเวทีไม่มีใครถือไมค์ ผมเลยถือบ่อย ในการเคลื่อนไหวทางการเมือง ทุกท่านทราบดีว่า ประเทศไทยประเทศเดียวในโลกที่แปลกประหลาด มีการปฏิวัติ 18 ครั้ง ฉีกรัฐธรรมนูญหลายฉบับ ทำไมต้องต่อสู้ ทำไมต้องอยู่ข้างประชาชนคนเสื้อแดง เพราะนโยบาย สิ่งหนึ่งที่รับไม่ได้เลย คือการปฏิวัติรัฐประหาร ทุกท่านถ้าเรียนสังคมศาสตร์มนุษยศาสตร์การเมืองการปกครอง ถ้าท่านเข้าใจประชาธิปไตยเฉกเช่นเดียวกัน ก็ย่อมเข้าใจว่าการรัฐประหารนั้นน่ารังเกียจ เงื่อนไขหนึ่งที่ออกมาต่อสู้คือ ผมไม่เห็นด้วยกับ 19 ก.ย. 49 ออกมาเคลื่อนไหวตอนนั้น ช่วงแรกๆ กลัวครับ ทุกคนกลัวตาย ผมก็กลัวตาย
คนช่วงแรกๆ ที่สนามหลวง จุดประกายให้เกิดคนที่อยากเรียนรู้ จนถึง 19 พ.ค. 53 มันเป็นการเรียนรู้ที่ทวีคูณเพิ่มมากขึ้น 1 ในนั้นที่ได้เรียนรู้ การต่อสู้ทางการเมือง ไม่เห็นด้วยกับการปฏิวัติ ไม่เห็นด้วยกับการใช้กฎหมาย 2 มาตรฐาน โดยเฉพาะถ้าผมวิพากษ์ โดยหมายเรียก 1 หมาย 8 ส.ค. ข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ กรณียื่นหนังสือเมื่อ 16 พ.ค. ที่สถานทูต 3 แห่ง และศูนย์ราชการ ใน จ.เชียงใหม่
เงื่อนไขที่สอง ไม่เห็นด้วยกับสองมาตรฐานของรัฐ ใช้กฎหมายไม่เป็นธรรมกับคนในประเทศ คนเสื้อเหลืองปิดสนามบิน ยึดทำเนียบ ยิงคนที่สถานีวิทยุ (คนเสื้อแดง) ของชินวัฒน์ หาบุญพาด โดยไม่ถูกจับแม้แต่คนเดียว กลับตาลปัตรกลับข้าง ชวน หลีกภัย มาลำปาง ลำพูน เจอคนเอาไข่ขว้าง ชาวบ้านถูกจับติดคุก แกนนำชาวนา 6 คนที่เชียงราย ปิดถนนเรียกร้องให้ขึ้นราคาข้าว ถูกจับติดคุก 6 เดือน ทำไมรัฐบาลใช้กฎหมาย สองมาตรฐาน มีกรณีการยุบพรรคไทยรักไทย ยุบพรรคพลังประชาชน ภายใต้เงื่อนไขที่ต้องเปิดพจนานุกรมตีความแล้วให้ยุบพรรค มันใช้ไม่ได้ นักการเมืองใช้ไม่ได้จริงหรือ
ส่วนกรณีพรรคประชาธิปัตย์ชัดเจน ชัดหมด พรรคประชาธิปัตย์ผิด แต่วันนี้ก็ยังไม่ยุบ มีการยื้อคดี นี่คือสองมาตรฐานหลายเรื่อง แต่สิ่งที่ประชาชนเจ็บปวดคือพี่น้องที่ถูกฆ่า เสธ.แดงที่ถูกฆ่า ไม่ได้ขึ้นหน้าสื่อรัฐว่าจะเยียวยาชีวิตและจิตใจเขาอย่างไร คนไทยในสังคมแตกแยกมากขึ้น ผลักเสื้อแดงให้เป็นผู้ก่อการร้าย ไม่หยุดคุกคามสิทธิเสรีภาพคนเสื้อแดง
สุดท้าย สองมาตรฐาน หลังการสลายการชุมนุม สื่อเสื้อแดงถูกปิดหมด สถานีวิทยุ 4 สถานีวิทยุรื้อทั้งเสาทั้งเครื่องส่งเอาไปหมด สื่อสิ่งพิมพ์ถูกสั่งปิด ภายใต้การปกครองแบบประชาธิปไตย นี่อีกเงื่อนไขหนึ่งที่ต้องต่อสู้ เสียดายในชีวิตคือรัฐธรรมนูญ 2540 ทุกท่านทราบว่ากว่าจะได้รัฐธรรมนูญ 2540 มีความเป็นมาอย่างไร พอนำมาใช้กับประชาชนกับประเทศ มันเป็นจังหวะของทักษิณ ชินวัตรเข้ามา ซึ่งทักษิณเองก็ไม่ได้ร่างรัฐธรรมนูญ 2540 เมื่อใช้แล้วปรากฏว่าขอโทษ ประชาชนกินได้ มันแดกได้ ในชนบทบ้านนอก บอกทุกท่านได้เลย วันนี้ถ้าใครจะมาเป็นผู้นำ ถ้าทำให้ หนึ่ง เขาลดค่าครองชีพได้ สอง กระจายโอกาสทางการศึกษา ให้เขาเต็มที่ สาม ความเป็นธรรมทางกฎหมายหรือทุกเรื่อง ผมคิดว่าวันนี้ไม่ต้องพูดเรื่องชนชั้นกลาง ชนชั้นนำ ศักดินา หรือชาวไร่ ชาวนาในชนบท วันนี้ถ้าคุณเป็นคนไทยด้วยกันรักกันนี้ โอกาสที่รัฐจะจัดสวัสดิการให้คนในชนบทได้รับบ้าง มันเสียหายตรงไหน เพราะฉะนั้นเงื่อนไขเช่นนี้เลยนำมาต่อสู้ทางการเมือง ผมไม่สังกัดพรรคการเมือง อยู่กับประชาชน ภาคประชาชนมาตลอด เพราะการ เมืองบ้านเรานี้หลายท่านวิพากษ์ไปแล้วว่า มีคนกล่าวหาว่าพรรคการเมืองเลว นักการเมืองซื้อเสียง ทั้งที่ปัญหาที่เกิดขึ้นทั้งหมด เป็นเรื่องโครงสร้างการปกครองทั้งหมด แต่ประเทศไทยพูดไม่ได้ ขืนพูดก็ติดคุก ผมก็พูดไม่ได้
เพราะฉะนั้นประเทศไทย สังคมไทย ถ้าอาจารย์นักศึกษาจะศึกษาวิจัย ในสลัม สี่ล้อแดง สามล้อ ตุ๊กตุ๊ก คนรับจ้าง แรงงาน ท่านจะได้คำตอบว่าสิ่งที่เขาออกมาต่อสู้เรียกร้อง เขาต้องการอะไร และด้วยเงื่อนไขเหล่านี้ทำให้ผมตัดสินใจออกมาต่อสู้
ช่วงหลังมีนักข่าวต่างประเทศมาสัมภาษณ์คนเสื้อแดงเยอะมากๆ คำถามส่วนใหญ่คือเสื้อแดงจะทำอะไรต่อ แต่ตอบยากเพราะมี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ คุม
ชนบทหลีกไม่พ้นต่อกลไกตลาด และการเชื่อมโยงกับโลก วันนี้ถ้าผู้ปกครองบอกว่าเราไม่สัมพันธ์กับตลาด ธุรกิจ กับโลก แบบนี้ต้องอยู่แบบพม่าหรือ สันติอโศกหรือ ที่จริงไม่ใช่ คนส่วนใหญ่ไม่ได้ต้องการแบบนั้น คนส่วนน้อยต้องการแบบนั้น แต่ทุกวันนี้สิ่งที่ผู้ปกครองคิดแทนประชาชน แต่ประชาชนไม่มีส่วนร่วม ไม่เห็นด้วยกับนโยบายรัฐหลายเรื่องวันนี้ที่เป็นสิ่งที่เสียหาย แต่สังคมไทยต้องบอกว่าการเรียนรู้ประวัติศาสตร์การเมืองแทบไม่มี เพราะฉะนั้นพื้นที่ต่อสู้ของประชาชนที่เกิดขึ้นต้องถือเป็นมหาวิทยาลัยชีวิต มหาวิทยาลัยนอกครัวเรือน นอกชุมชนตัวเอง นี่ถือเป็นเงื่อนไขและสิ่งต่างๆ ที่ทำให้ตัวเองเข้ามาเรียนรู้ และ เห็นว่าสังคมไทยคนที่เป็นคนชั้นนำ คนรวย คนชั้นกลาง หรือครูบาอาจารย์ ถ้าท่านอยากเห็นพี่น้องประชาชนคนยากคนจนอยู่ดีกินดีเหมือนท่าน ท่านลองไปสัมผัสดูว่าเขาคิดแบบท่านไหม ทำอย่างไรให้โอกาสปัจจัยเงื่อนไขเขา ได้ดิ้นรนต่อสู้และเรียนรู้มาเป็นเหมือนท่าน
.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น