แดงเชียงใหม่

กราบสวัสดี พี่น้องทุกๆท่านที่เข้ามาเยี่ยมเยือน Blog นปช.แดงเชียงใหม่ ขอเรียนชี้แจงสักนิดว่า เรา ”แดงเจียงใหม่” เป็นกลุ่มคนชาวเจียงใหม่ที่เคารพรัก กติกาประชาธิปไตย ต่อสู้และต่อต้านเผด็จการทุกรูปแบบ อยากเห็นประเทศชาติภายภาคหน้า มีความเจริญ ประชาชน รุ่นลูกหลานของเราอยู่อาศัยอย่างร่มเย็นเป็นสุขในประเทศของพวกเราเอง ไม่มีกลุ่มอภิสิทธิ์ชนกลุ่มใดมาสูบเลือดเนื้อ แอบอ้างบุญคุณเฉกเช่นในยุคนี้ที่พวกเราเห็น การที่จะได้รับในสิ่งที่มุ่งหวังก็ต้องมีการต่อสู้แสดงกำลังให้สังคมได้รับรู้ และเพื่อที่จะให้กลุ่มบุคคลที่มีอำนาจในปัจจุบันได้เข้าใจในสังคมที่ก้าวหน้าเปลี่ยนแปลงไป ไม่อาจฝืนต่อกระแสการพัฒนาของโลก การต่อสู้ร่วมกับผองชนทั่วประเทศในครั้งนี้ เรา " แดงเจียงใหม่ " ได้ร่วมต่อสู้ทุกรูปแบบ และ ในรูปแบบที่ท่านได้เข้ามาร่วมอยู่นี้ คือการเผยแพร่ข่าวสารต่อสังคม

เรา " แดงเจียงใหม่ " ขอเชิญชวนร่วมกันสร้างขวัญ และกำลังใจให้เพื่อนพ้องน้องพี่ร่วมกัน


"อันประชาสามัคคีมีจัดตั้ง
เป็นพลังแกร่งกล้ามหาศาล
แสนอาวุธแสนศัตรูหมู่อันธพาล
ไม่อาจต้านมวลมหาประชาชน"

.

วันศุกร์ที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

ภัควดี แปล 'ชีวิตภายใต้เงา อำมหิตของอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ'

ภัควดี ไม่มีนามสกุล
แปลจาก
David Streckfuss*
“Life Under Abhisit’s Thumb: The Thai government cracks down on dissent in the restive northeast,” The Wall Street Journal ; July 11, 2010.

สัญญาณที่จับต้องได้ส่วนใหญ่ของ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน อาจไม่มีเหลือให้เห็นมากนักในภาคอีสานของประเทศไทย รั้วลวดหนามที่ล้อมรอบศาลากลางจังหวัดถูกรื้อออกไปแล้ว ทหารจากกองทัพที่เข้ามาคุมเชิงตามหมู่บ้านต่าง ๆ หลังจากการสลายการประท้วงต่อต้านรัฐบาลในกรุงเทพฯ เมื่อเดือนพฤษภาคม ก็ถอนตัวออกไปหมดแล้วเช่นกัน สภาพการณ์ทั่วไปดูเหมือนกลับมาเป็นปรกติ

กระนั้นก็ตาม หลังจากทยอยกลับมาบ้านจากกรุงเทพฯ ผู้สนับสนุนแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือที่เรียกกันว่าคนเสื้อแดงยังคงรู้สึกถูกคุกคาม ในบรรดาผู้คนจำนวน 417 คนที่ถูกจับตัวไว้ภายใต้ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน ด้วยข้อหาต่าง ๆ นับตั้งแต่การเข้าร่วมชุมนุมโดยผิดกฎหมาย มีอาวุธอยู่ในครอบครอง ไปจนถึงวางเพลิง มีถึง 134 คนที่มาจากภาคอีสาน หมายจับอีกกว่า 800 คนที่รัฐบาลออกคำสั่งหลังสลายการชุมนุม ผู้ต้องหาส่วนใหญ่ตามหมายจับนี้ก็เป็นคนในต่างจังหวัด ข่าวการสังหารผู้นำเสื้อแดงสองคน คนหนึ่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่งผลสะเทือนอย่างลึกซึ้งและทำให้เกิดข่าวลือต่าง ๆ นานาเกี่ยวกับผู้นำคนอื่น ๆ ที่หายไปอย่างไร้ร่องรอย

เป็นเรื่องยากที่จะหาข้อมูลว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง ด้วยความกลัวว่าจะถูกจับหรือประสบชะตากรรมเลวร้ายกว่านั้น ผู้นำจำนวนมากจึงหนีไปที่อื่น หลบไปกบดานหรือปิดปากเงียบ พวกเขาวิตกว่าตัวเองถูกจับตามองและถูกดักฟังโทรศัพท์ หลายคนไม่เต็มใจที่จะพบปะกับผู้สื่อข่าวหรือคณะทำงานด้านสิทธิมนุษยชน มีความรับรู้อย่างหนึ่งในหมู่คนเสื้อแดงว่า รัฐบาลสามารถทำได้ทุกอย่างตามอำเภอใจภายใต้พระราชกำหนดฉุกเฉิน ในส่วนรัฐบาลเองนั้น รัฐบาลก็ไม่เคยแสดงจุดยืนชัดเจนว่ามีแผนการจะจัดการกับคนเสื้อแดงอย่างไร หลังจากปล่อยผู้ต้องขังจำนวนหนึ่งออกมาเมื่อเดือนที่แล้ว นอกจากพูดว่า คนเสื้อแดงที่มีโทษสถานเบาอาจได้รับนิรโทษกรรม

ดูเหมือนรัฐบาลยังใช้ความพยายามอย่างต่อเนื่องเพื่อรื้อทำลายความสามารถ ในการจัดตั้งของคนเสื้อแดงตามท้องถิ่นต่าง ๆ จากปากคำของแหล่งข่าวเสื้อแดงคนหนึ่งในภาคอีสานที่ขอร้องไม่ให้ระบุชื่อ เพื่อเหตุผลด้านความปลอดภัย สถานีวิทยุชุมชนของคนเสื้อแดงเกือบทั้งหมดได้ส่งมอบเครื่องส่งสัญญาณวิทยุ ให้ทางราชการเมื่อเดือนที่ผ่านมา ตามคำบอกเล่าของแหล่งข่าวผู้นี้ สำนักผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่นได้อ้าง พ.ร.ก.ฉุกเฉินและภายใต้แรงกดดันของ ศอฉ. จากกรุงเทพฯ กำลังพิจารณาที่จะรื้อทิ้งเสาอากาศของสถานีวิทยุชุมชนของคนเสื้อแดงใน ขอนแก่น แต่เพราะคำยืนกรานของเจ้าของสถานีว่าจะฟ้องรัฐบาลหากทำเช่นนั้นจริง ๆ ทำให้เงื้อมมือของรัฐบาลชะงักไปก่อน อย่างน้อยก็ในตอนนี้

ในระยะสั้น ดูเหมือนการตัดสินใจของรัฐบาลไทยเมื่อสัปดาห์ที่แล้วให้ขยาย พ.ร.ก.ฉุกเฉินออกไปอีกในหลายจังหวัดของภาคอีสาน จะเป็นเครื่องมือที่ใช้ได้ผล มีความเงียบงันอย่างเด่นชัดครอบคลุมไปทั่วทั้งดินแดนแถบนี้ แม้กระทั่งตามบ้านเรือนของผู้คนจำนวนมากก็เงียบกริบ เมื่อไม่มีวิทยุหรือโทรทัศน์เสื้อแดงเหลือให้รับฟังรับชม หลาย ๆ ครอบครัวก็เลือกไม่ฟังอะไรเลย พวกเขาบอกว่า ถ้าต้องดูข่าวที่รัฐคุมเข้มหรือแม้แต่อ่านหนังสือพิมพ์ก็พาลให้โมโหเปล่า ๆ

เมื่อรัฐบาลของนายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะจัดโครงการเปิดรับสายโทรศัพท์จากประชาชน เพื่อรับฟังทัศนะเกี่ยวกับ การปรองดองแห่งชาติคำแนะนำจากคนเสื้อแดงที่โกรธแค้นจำนวนมากที่โทรเข้าไป เช่น บอกให้นายกฯ ยุบสภาและสอบสวนรองนายกรัฐมนตรี นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ในข้อหาการใช้กำลังปราบปรามเกินขอบเขต ฯลฯ แน่นอน รัฐบาลย่อมมองว่าคำพูดเหล่านี้เป็นคำแนะนำที่ไม่สร้างสรรค์ แต่อันที่จริง ก่อนที่รัฐบาลอภิสิทธิ์จะประกาศ โรดแม็ปแผนปรองดองเมื่อต้นเดือนพฤษภาคม ฝ่ายเสื้อแดงบอกว่าพวกเขาเสนอโรดแม็ปอันหนึ่งมาตั้งนานแล้ว นั่นคือ ยุบสภา ยกเลิกการสั่งปิดสื่อของเสื้อแดงและยุติปัญหาสองมาตรฐานในระบบยุติธรรม เพราะเหตุนี้เอง คนเสื้อแดงจำนวนมากจึงไม่อยากเสียเวลาโทรศัพท์เข้าไปในรายการ “6 วัน 63 ล้านความคิดพวกเขาเลือกความเงียบดีกว่า

แต่ความเงียบและสภาพที่ดูผิวเผินเหมือนปรกติในภาคอีสานเป็นแค่ภาพลวงตา มันคือหน้าฉากที่อำพรางความรู้สึกหวาดกลัว คับข้อง รังเกียจและเคียดแค้น

ถ้ามองในเชิงประวัติศาสตร์แล้ว อารมณ์ความรู้สึกแบบนี้ไม่เหมือนสภาพหลังการรัฐประหาร 2549 หรือแม้กระทั่งสภาพหลังการปราบปรามประชาชนของกองทัพเมื่อ พ.ศ. 2535 ทั้ง ๆ ที่ครั้งนั้นก็มีผู้ประท้วงถูกสังหารจำนวนมาก สภาพในตอนนี้มีบรรยากาศคล้ายประเทศไทยสมัยหลังการกวาดล้างนองเลือดนักศึกษา ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2519 มากกว่า เช่นเดียวกับผู้นำเสื้อแดงในตอนนี้ ผู้นำนักศึกษาในตอนนั้นก็ถูกกล่าวหาว่าก่อการร้าย ล้มเจ้าและปลุกปั่นก่อความไม่สงบเช่นกัน เหตุการณ์ตุลาคม 2519 เป็นจุดเริ่มต้นที่สังคมไทยเสื่อมถอยไปสู่ระบอบเผด็จการทหาร ความแตกแยกอย่างลึกซึ้งและการกดขี่ปราบปรามประชาชนเป็นระยะเวลายาวนาน

คนไทยจำนวนมาก และไม่ใช่เฉพาะคนเสื้อแดงเท่านั้น เริ่มตั้งข้อสงสัยว่า วิธีการของรัฐบาลอภิสิทธิ์กำลังนำพาประเทศไทยถอยหลังกลับไปสู่ระบอบเผด็จการ ด้วยการขยายภาวะฉุกเฉินไปอย่างไม่มีกำหนดหรือไม่ ตัวอย่างก่อนหน้านี้ก็มีให้เห็นใน พ.ศ. 2501 มีการประกาศงดใช้ระบบกฎหมายตามปรกติ และสั่งให้ยึดถือเอาประกาศของคณะปฏิวัติมีความสำคัญเหนือกว่ากฎหมายอาญาและ กฎหมายรัฐธรรมนูญ มองจากในแง่ของกฎหมายแล้ว ประเทศไทยอยู่ภายใต้สภาวะนี้ต่อมาอีกถึง 4 ทศวรรษ มีแต่รัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2540 เท่านั้นที่มีความก้าวหน้าในแง่ของการรื้อทิ้งเศษซากตกค้างของระบอบเผด็จการ แต่การรัฐประหารของกองทัพเมื่อ พ.ศ. 2549 เพื่อขับไล่นายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร ที่ได้รับการเลือกตั้งมาตามระบอบประชาธิปไตย ได้ผลักไสประเทศไทยจมลงสู่ความไร้เสถียรภาพอีกครั้ง

รัฐบาลอภิสิทธิ์บอกว่า การปราบปรามคนเสื้อแดงเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อรักษาหลักนิติรัฐ แต่การใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินกลับเป็นสิ่งที่สวนทางตรงกันข้าม มันจะกัดเซาะความเข้มแข็งและความมั่นคงระยะยาวของระบอบนิติรัฐ ถึงแม้มีการยกเลิก พ.ร.ก. ฉุกเฉินในห้าจังหวัด แต่การขยาย พ.ร.ก. ฉุกเฉินไปอีก 3 เดือนใน 18 จังหวัดและในกรุงเทพฯ เป็นแค่สัญญาณบ่งบอกครั้งล่าสุดถึงภาวะความไม่มั่นคงทางกฎหมายที่จะเพิ่ม ขึ้นในระยะยาว

เป็นเรื่องยากที่จะคิดว่า รัฐบาลที่มีพรรคประชาธิปัตย์เป็นแกนนำจะสามารถทลายกำแพงความเงียบหรือบรรเทา ความโกรธแค้นของคนจำนวนมากในภาคอีสาน แน่นอน การยกเลิก พ.ร.ก. ฉุกเฉินหรือการอนุญาตให้วิทยุโทรทัศน์เสื้อแดงกลับมาออกอากาศ อาจไม่ทำให้รัฐบาลชนะใจคนในภาคอีสานได้ง่าย ๆ ตราบใดที่รัฐบาลยังไม่สามารถคืนสิทธิที่ประชาชนรู้สึกว่าเป็นของเขาในระบอบประชาธิปไตย รวมทั้งผู้วางนโยบายในกรุงเทพฯ ก็ไม่ควรประหลาดใจด้วย หากการคืนสิทธินี้จะทำลายความเงียบในภาคอีสานและเปิดช่องให้การส่งเสียงที่ โกรธแค้นยิ่งกว่าเดิม

*David Streckfuss เป็นนักเขียนที่อาศัยอยู่ใน จ.ขอนแก่น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ผู้ให้ข้อมูลร่วมกัน