"ไม่มีอะไรสูญเปล่า ทุกประสบการณ์เป็นการเรียนรู้ "
นี่คือสิ่งที่ผมสรุปได้จากการใช้ชีวิตอยู่ที่นั่นในฐานะผู้ต้องสงสัยในคดี พรก. ฉุกเฉิน
ณ อาคารหลังเก่าภายในค่าย ตชด ถูกล้อมด้วยลวดหนามพิเศษที่หาซื้อไม่ได้ในท้องตลาด มันเป็นลวดหลามชนิดหีบเพลง ซึ่งใช้กันเฉพาะราชการทหารและตำรวจ และลวดหนามนั้นคือ สุดขอบอธิปไตยของผมในการอาศัยอยู่
ภายในอาคารปูนสองชั้น ข้างบนที่เรือนนอนเป็นหมู่ ส่วนด้านล่างเป็นลานสำหรับนั่งเล่นและห้องน้ำแบบอาบน้ำไม่มีประตูปิด แน่นอนว่า ผมแก้ผ้าอาบน้ำในที่กึ่งเปิดกึ่งปิด แต่เป็นที่รู้กันว่า หากมีเสียงน้ำ ก็จะไม่มีใครโผล่หน้าเข้ามาในห้องน้ำ เข้าใจว่าเพราะมันจะอุจาด ขันที่ใช้อาบเอามาจากในห้องส้วม ตัวขันเป็นรอยแตก แหม...มันช่างได้อารมณ์เสียจริง
เรื่องที่ท้าทายที่สุดที่นี่คือยุงป่า ที่อุดมเสียเหลือเกิน และไม่ว่าจะทายากันยุง ยืนเป่าพัดลม โดยเฉพาะตอนอาบน้ำ มันชอบมากัดจนเป็นเรื่องปกติ ดังนั้นตุ่มแดง ๆ จึงเต็มตัวผมไปหมด แต่ จนท ที่นั่นบอกว่า ยุงพวกนี้ไม่มีเชื้อไข้เลือดออก
อาหารการกินที่นี่มีครบ เขาเตรียมอาหารกล่องให้สามมื้อครบจำนวนคน ด้วยงบของ ศอฉ ซึ่งที่นี่ปฏิบัติงานรับมือมาแล้วสี่เดือน แต่เงินยังไม่ตกลงมาถึงผู้ปฏิบัติงาน คนทำอาหารชื่อป้าแดง เป็นภรรยาของตำรวจ ตชด. ในค่าย แกเป็นคนน่ารักและดูแลพวกเราเป็นอย่างดี ไม่น่าเชื่อว่างบประมาณค่าอาหารครั้งแรกคือมื้อละ 15 บาท ซึ่งต่อมาคนทำเจ๊งไปแล้ว แถมยังไม่ได้รับเงินแม้แต่บาทเดียว หลังจากนั้นผู้ใหญ่ในค่ายได้เพิ่มค่าหารเป็นมื้อละ 35 บาทเพื่อให้สมจริง เอาเป็นว่าโดยสรุปเรื่องอาหารไม่ใช่ปัญหาเพราะกินกันจนเหลือ เพราะเมื่อญาติหรือเพื่อนมาเยี่ยมก็จะมีของกินมาสมทบเลยได้โอกาสแบ่งปันให้กับ จนท. ตชด. ที่มาเฝ้ายามดูแลพวกเรา
ตชด. ต่างกับตำรวจโดยทั่วไป และยิ่งต่างจากทหารอย่างเห็นได้ชัด เพราะวัฒนธรรมของ ตชด. ทำงานคล้าย ๆ NGOs คือ ทำงานด้านชุมชนสัมพันธ์ ดังนั้นมุมมองของพวกเขามีความเข้าอกเข้าใจ และไม่วางตัวมาเบ่งใครทั้งนั้น เรียกว่า จนท. อัชฌาศัยเอาไปเต็ม 100 คะแนน ต่างแวะเวียนมาพูดุคุยกับพวกเราที่ถูกควบคุมตัว เพราะไม่ให้เราเครียด และบางส่วนก็อยากมาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับพวกเรา
ตั้งแต่ผมอยู่มาวันแรกจนถึงวันสุดท้าย มีคนถูกควบคุมตัวทั้งหมด 5 คน (รวมผมด้วย) ได้แก่
คุณพีระ พริ้งกลาง อดีต นักมวยแชมป์เวที่ราชดำเนิน ฉายา พยัคฆ์น้อย ส.ธนิกุล คนนี้ประวัติเยอะ เอาเป็นว่าผลงานในอดีต เคยเป็นแกนนำในการปกป้องคลื่นวิทยุร่วมด้วยช่วยกันจากการเรียกคือรายการของทางทหาร และยังเป็นคนที่จัดระเบียบที่จอดรถเท็กซี่ในสถานีขนส่งหมอชิด สู้กับมาเฟียรถผี ต่อมาเป็น สข ไทยรักไทย ตอนนี้เป็นหัวหน้าสถานีวิทยุชุมชนแถวสำโรง
ลุงบัง หรือ ผู้กองบัง คนเดินตามเสธแดง เป็นฝ่ายระวังหลังให้เสธแดง คนนี้คือลูกน้องของเสธแดงที่ได้คุยกับเสธฯ เพราะก่อนเกิดเหตุยิงเสธแดงเพียงห้านาที ลุงบังได้เดินไปบอกเสธแดงให้เดินเข้ามาในแนวป้องกัน "นายครับ เข้าด้านในครับที่นี่ไม่ปลอดภัย" แต่เสธแดงด่าแกว่า "ไอ้บังมึงมีหน้าที่อะไร" สุดท้ายเสธแดงก็โดนยิง ผมเก็บเรื่องราวแปลก ๆ ที่ลุงบังเล่าให้ฟังหลายเรื่อง ไว้มีโอกาสจะทะยอยเอามาเล่าให้ฟัง
คุณวินัย กรรมการวิทยุชุมชนแถวลำลูกกา และ คนสุดท้ายคือ ต๋อง บุรีรัมย์ หรือตลกค่ายเชิญยิ้มที่เข้ามาก่อนผมออกเพียงคืนเดียว
ทีนี่ไม่ซีเรียสเรื่องเวลากินเวลานอน มีทีวีให้ดูข่าวและฟุตบอล ขาดเหลืออะไรขอความช่วยเหลือให้ จนท. ไปซื้อของมาได้ โดยพวกเขายินที่ท่จะช่วยเหลืออย่างไม่มีอิดออด
ทุกวันจะมีตำรวจซึ่งทาง ศอฉ. เป็นคนแต่งตั้ง ชุดนี้เห็นเขาเล่าว่ามีประมาณยี่สิบกว่าคน ผลัดกันมาสอบทุกวัน ไม่ว่าคุณจะอยู่เพียง 7 วันหรือ 30 วัน เขาก็จะมาคุยด้วยทุกวัน โดยภาพรวมแล้วทีมนี้พูดจาดี มีท่าทีรับฟัง(คัดมาอย่างดี) แต่อาจมีบางคนอาจแข็งหน่อย แต่ไม่ได้ข่มขู่แต่ประการใด
การพิจารณาปล่อยตัวจะเกิดขึึ้นทุก 7 วัน ช่วงหลังผู้ทีถูกนำตัวมาควบคุมศาลจะอนุญาตให้ควบคุมเพียง 7 วัน จาก 30 วัน ส่วนผมได้รับเกียรติให้อยู่ 14 วัน
ผมขอบคุณมิตรสหายที่เคลื่อนไหวภายนอกและให้กำลังใจ และทีมงานทนายของกลุ่มทนายความด้านสิทธิมนุษยชน นี่เป็นครั้งแรกที่ชีวิตส่วนตัวได้ใช้บริการจาก NGOs พวกเขาทำให้ผมรู้สึกมีความหวังกับคนรุ่นใหม่ในแวดวง NGOs ที่ผมใช้ชีวิตมายี่สิบกว่าปี
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น