แดงเชียงใหม่

กราบสวัสดี พี่น้องทุกๆท่านที่เข้ามาเยี่ยมเยือน Blog นปช.แดงเชียงใหม่ ขอเรียนชี้แจงสักนิดว่า เรา ”แดงเจียงใหม่” เป็นกลุ่มคนชาวเจียงใหม่ที่เคารพรัก กติกาประชาธิปไตย ต่อสู้และต่อต้านเผด็จการทุกรูปแบบ อยากเห็นประเทศชาติภายภาคหน้า มีความเจริญ ประชาชน รุ่นลูกหลานของเราอยู่อาศัยอย่างร่มเย็นเป็นสุขในประเทศของพวกเราเอง ไม่มีกลุ่มอภิสิทธิ์ชนกลุ่มใดมาสูบเลือดเนื้อ แอบอ้างบุญคุณเฉกเช่นในยุคนี้ที่พวกเราเห็น การที่จะได้รับในสิ่งที่มุ่งหวังก็ต้องมีการต่อสู้แสดงกำลังให้สังคมได้รับรู้ และเพื่อที่จะให้กลุ่มบุคคลที่มีอำนาจในปัจจุบันได้เข้าใจในสังคมที่ก้าวหน้าเปลี่ยนแปลงไป ไม่อาจฝืนต่อกระแสการพัฒนาของโลก การต่อสู้ร่วมกับผองชนทั่วประเทศในครั้งนี้ เรา " แดงเจียงใหม่ " ได้ร่วมต่อสู้ทุกรูปแบบ และ ในรูปแบบที่ท่านได้เข้ามาร่วมอยู่นี้ คือการเผยแพร่ข่าวสารต่อสังคม

เรา " แดงเจียงใหม่ " ขอเชิญชวนร่วมกันสร้างขวัญ และกำลังใจให้เพื่อนพ้องน้องพี่ร่วมกัน


"อันประชาสามัคคีมีจัดตั้ง
เป็นพลังแกร่งกล้ามหาศาล
แสนอาวุธแสนศัตรูหมู่อันธพาล
ไม่อาจต้านมวลมหาประชาชน"

.

วันพฤหัสบดีที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2553

แปรความเร่าร้อนและพลังให้กลายเป็นภูมิปัญญาครั้งใหม่

แปรความเร่าร้อนและพลังให้กลายเป็นภูมิปัญญาครั้งใหม่
: ภารกิจของผู้รักประชาธิปไตยไทย
ศิวะ รณยุทธ์

9 มีนาคม 2553

ท่ามกลางกระแสสงครามชิงพื้นที่ข่าว(หรือสงครามจิตวิทยา)ที่ปลุกเร้ามวลชนจาก ทั้งฟากของรัฐบาลที่ต้องการปราบปราม และแกนนำของฝ่ายที่จะมีการชุมนุมใหญ่”เคลื่อนพลทั้งแผ่นดิน”ในไม่กี่วันข้าง หน้าอย่างไม่ลดราวาศอก จำเป็นอย่างยิ่งที่บรรดาผู้รักประชาธิปไตยทุกคนในสังคมไทยจะต้องทำความเข้า ใจกับสถานการณ์และกำหนดภาระหน้าที่ของตนเองให้เหมาะสม
_________________________________________________________________
ข้อพิจารณาสถานการณ์และภาระหน้าที่ในยามนี้ มีอยู่ 3 ประเด็นด้วยกันคือ

- สถานการณ์ขณะนี้คือขั้นตอนหนึ่งของสงครามทางชนชั้นที่ปรากฏชัดเจนมากยิ่ง ขึ้น ระหว่างฝ่ายอำมาตย์ กับ ฝ่ายผู้รักประชาธิปไตยและรักความยุติธรรม จนยากจะประนีประนอมด้วยข้อความ”รู้รักสามัคคี”อันซ้ำซากอีกต่อไป

- การแยกให้ชัดเจนระหว่างยุทธศาสตร์ของสงคราม กับยุทธวิธีการศึก เป็นความจำเป็นอย่างยิ่ง

- ความเข้าใจต่อยุทธศาสตร์และธรรมชาติของการชุมนุมทางการเมืองบนท้องถนน
สงครามทางชนชั้น สงครามแย่งชิงความเป็นธรรม
__________________________________________________________________
4 ปีของการต่อสู้ทางการเมืองที่ดำเนินมา ได้แบ่งแยกอย่างชัดเจนว่า ความขัดแย้งหลักของสังคมไทยในปัจจุบัน คือ ความขัดแย้งทางผลประโยชน์และอำนาจที่ไม่อาจประนีประนอมกันได้ ระหว่างกลุ่มอำมาตย์ (พันธมิตรข้าราชการ + ทุนอภิสิทธิ์ ที่หนุนหลังโดยราชสำนัก) ยังคงดื้อรั้นที่จะอยู่ภายใต้โครงสร้างรัฐซ้อนรัฐอันซับซ้อนในนาม "ประชาธิปไตยรู้รักสามัคคี" ที่ลวงโลกฝ่ายหนึ่ง กับมวลชนผู้รักความยุติธรรมและประชาธิปไตยอีกฝ่ายหนึ่ง

ข้อเท็จจริงที่ปรากฏ ยืนยันชัดเจนว่า ขั้นตอนนับแต่การเคลื่อนไหวเพื่อโค่นล้มรัฐบาลจากการเลือกตั้งที่นำโดย ทักษิณ ชินวัตร จนนำไปสู่การรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 การเข้ามากระชับอำนาจการเมืองของกองทัพและกลุ่มตุลาการ รัฐธรรมนูญฉบับ 2550 และการไล่ล่าทักษิณ ชินวัตรและพวกอย่างเอาเป็นเอาตายชนิด “ตัดไผ่ ไม่ไว้กอ” โดยไม่คำนึงถึงต้นทุน ได้ถูกวางแผนขึ้นมาอย่างแยบยลโดยใช้ข้ออ้างการเมืองเรื่องคุณธรรมเป็นเกราะ กำบัง เพื่อหวังยึดกุมอำนาจเผด็จการซ่อนรูปแบบ "โต๊ะแชร์" เพื่อแบ่งปันผลประโยชน์ต่างตอบแทนกันในคนจำนวนน้อยนิดเอาไว้ในกำมือต่อไป นับวันจะถูกเปิดโปงให้มวลชนผู้รักความเป็นธรรมและประชาธิปไตยทั้งในและต่าง ประเทศตระหนักอย่างมากว่า ไม่สามารถแก้ปัญหาคอร์รับชั่นตามที่กล่าวอ้าง และยังนำไปสู่การทำลายความชอบธรรมทั้งปวงของระบอบอำมาตย์ที่กลไกต่างๆถูกลาก เข้าสู่เกมแห่งอำนาจทางการเมือง

สถานการณ์ดังกล่าว ทำให้ผู้รักความเป็นธรรมและประชาธิปไตยที่ตื่นจากหลับไหลแล้ว ไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากลุกขึ้นมาร่วมการเคลื่อนไหวต่อสู้เพื่อแย่งชิงความ เป็นธรรมและประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมกลับคืน เพื่อสร้างระบอบการเมืองแบบประชาธิปไตยมีส่วนร่วมในเชิงโครงสร้างและสถาบัน ที่พ้นจากข้อจำกัดของการเมืองคุณธรรม ทำให้เกิดเป็นสภาพของสงครามแย่งชิงความเป็นธรรมภายใต้ความชอบธรรม 2 ระดับ(สิทธิธรรมที่จะเข้าร่วมในสงคราม และ ปฏิบัติการที่ชอบธรรมในการทำสงคราม)ที่พัฒนาจากปริมาณสู่คุณภาพ และนับวันจะยิ่งเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งสังคมเกิดปรากฏการณ์แยกขั้วทางการเมืองที่ชัดเจนในปัจจุบัน

กรณีไล่ล่าทักษิณและพวก และการปล้นอำนาจด้วยกระบอกปืน(อย่างครึกโครมในปี 2549 และอย่างเงียบๆในปี 2551)เป็นรูปธรรมในหลายๆตัวอย่างที่เปิดโปงความชั่วร้ายของระบอบรัฐซ้อนรัฐ ของกลุ่มอำมาตย์ที่ตีหลายหน้าแบบทศกัณฑ์ ทั้งครอบงำจิตสำนึก ผูกขาดอำนาจ หลอกลวง และปราบปราม ตอกย้ำว่า มีแต่การโค่นล้มกลุ่มอำมาตย์ (พันธมิตรข้าราชการ + ทุนอภิสิทธิ์ ที่หนุนหลังโดยราชสำนัก)อันเป็นศัตรูหมายเลขหนึ่งผ่านการปฏิวัติประชาธิปไตย ลงไปได้แล้วเท่านั้น มวลชนจึงจะสามารถสถาปนาสังคมที่”ยุติธรรมเสมอหน้า ประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม”อย่างแท้จริง

คำถามก็เหลืออยู่ของกลุ่มคนในแนวร่วมปฏิวัติประชาธิปไตย เพียงแค่ ประเด็นว่าด้วยยุทธศาสตร์ และยุทธวิธีที่เหมาะสมในการต่อสู้ในสงครามแย่งชิงความเป็นธรรม เพื่อบรรลุเป้าหมายเอาชนะศัตรูของประชาธิปไตยให้ได้คืออะไร

สำหรับผู้รักความยุติธรรมและประชาธิปไตยแล้ว ตราบใดที่สงครามนี้ยังไม่เสร็จสิ้น ภาษิตเก่าที่ว่า สงครามยังไม่จบ อย่าเพิ่งนับศพทหาร ก็ยังคงใช้การได้ และช่วยเตือนสติว่าจะต้องไม่หลงติดในกับดักของความเชื่อแบบสูตรสำเร็จที่ว่า “ศัตรูอ่อนแอลงทุกวัน ฝ่ายประชาธิปไตยเข้มแข็งขึ้นทุกวัน”เป็นอันขาด

ยุทธศาสตร์ของสงคราม/ยุทธวิธีการศึก

คำคมเก่าแก่ของบรรดาทหารที่ว่า “ชนะศึก แต่แพ้สงคราม” หรือ “ชนะสงคราม แต่แพ้ศึก” เป็นประสบการณ์ที่เตือนใจให้ผู้ที่เข้าร่วมต่อสู้ในสงครามที่เป็นธรรม ตระหนักแก่ใจว่า ต้องทุ่มเทสติปัญญาและประสบการณ์ทั้งปวงที่มีอยู่ไปศึกษาเพื่อบรรลุเป้าหมาย ของการต่อสู้ให้ได้อย่างศึกษาเป็นใช้เป็น

การสมรู้ร่วมคิดของพวกอำมาตย์ ที่ประกอบด้วยแกนหลักคือกลุ่มทุนผูกขาดเก่าที่เกาะติดอำนาจเผด็จการมายาวนาน และหวาดกลัวกระแสโลกาภิวัตน์ที่ตนเองไม่เข้าใจ และกลุ่มทหารผู้นำกองทัพที่เชื่อว่าการเมืองไทยต้องมีทหารและกองทัพกำกับและ แทรกแซง และรัฐบาลต้องรักษาสัมพันธ์ที่ดีกับกองทัพซึ่งเป็นเสาหลักพิทักษ์ราชบัลลัง ค์ และความมั่นคงของชาติ ผสมเข้ากับกลุ่มคณะตุลาการ และ เจ้าหน้าที่รัฐที่รวมศูนย์ผูกขาดอำนาจเอาไว้ในมือ โดยมีราชสำนักหนุนหลัง ทำให้กลุ่มนี้มีฐานะเป็นศัตรูหลักที่ผู้รักความยุติธรรมและประชาธิปไตยต้อง ไปโค่นล้มให้ได้ จึงจะถือว่าบรรลุเป้าหมายทางยุทธศาสตร์คือเปลี่ยนโครงสร้างทางสังคม

ยุทธศาสตร์ระยะยาวของการต่อสู้ ก็คือ ผู้รักความยุติธรรมและประชาธิปไตย จะต้องดำเนินการรุกทางการเมือง เพื่อไปเอาชนะทางการเมือง แสวงหาโอกาสในการต่อสู้ในทุกปริมณฑล ทั้งถูกกฎหมาย กึ่งถูกกฎหมาย ผิดกฎหมาย และทางสากล ไม่ปฏิเสธรูปแบบที่เป็นไปได้ที่จะแสวงหาความยืดหยุ่นในการต่อสู้โดยไม่หลง เข้าสู่กับดักความโน้มเอียง”เป้าหมายกำหนดวิธีการ”(เช่นต้องการประชาธิปไตย ต้องเรียกร้องให้ได้มาด้วยสันติวิธีเท่านั้น เป็นต้น) อย่างเถรตรง

ภายใต้สถานการณ์ที่ กลุ่มอำมาตย์ยังกุมอำนาจนำเหนือสังคมอยู่ชั่วคราวนี้ การจัดตั้งกลุ่มผู้รักประชาธิปไตยที่กระจัดกระจายกันในที่ต่าง ๆ แล้วค่อยๆหลอมรวมกันยกระดับ สามารถก้าวข้ามอุปสรรคต่างๆเพื่อสร้างฉันทามติร่วมเพื่อกำหนดเข็มมุ่ง และนำไปปฏิบัติผ่านยุทธวิธีเพื่อรุกทางการเมืองที่แต่ละกลุ่มจัดตั้งมีความ ถนัดบนสถานการณ์ที่เป็นจริง ด้วย "ยุทธศาสตร์ที่เป็นเอกภาพ ยุทธวิธีที่หลากหลาย"

ทุกๆรูปแบบทางยุทธวิธี (ไม่ว่าจะเป็นการปลุกระดมมวลชน สร้างความปั่นป่วนให้ศัตรู การโฆษณาจูงใจ การล้มล้างความน่าเชื่อถือและความชอบธรรมของอำนาจรัฐ การกัดกร่อนความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจ การลุกฮือและประท้วง การเจรจาเพื่อหาทางออก และปฏิบัติการนอกแบบอื่น ๆ)ต้องสามารถสร้างแรงเหวี่ยงเพื่อเอาชนะทางการเมืองให้ได้ทางใดทางหนึ่ง นับแต่ ลดขวัญกำลังใจ ทำให้ศัตรูไม่กล้าปราบปรามกลุ่มคนที่เคลื่อนไหวทั้งที่อย่างถูกกฎหมายและ กึ่งถูกกฎหมาย ทำให้ศัตรูจำต้องเปลี่ยนเกมเล่นที่ไม่ถนัด บีบให้ศัตรูต้องยอมรับเงื่อนไขบางประการที่เราเสนอ และเปลี่ยนฐานะจากการตั้งรับทางการเมืองเป็นการรุกทางการเมืองต่อศัตรู

มีแต่การจำแนกยุทธศาสตร์ของสงครามออกจากยุทธวิธีของการศึกเท่านั้น จึงจะทำให้ความสับสนในกระบวนการต่อสู้ของสงครามที่เป็นธรรมลดน้อยลงไป ที่สำคัญ จะต้องกำหนดเป้าหมายทางยุทธศาสตร์ในด้านหลัก/รอง ก่อน/หลัง เพื่อจะได้กำหนดจังหวะก้าวทางยุทธวิธีที่เหมาะสม

ตัวอย่างเช่น ชัยชนะในการเลือกตั้งของพรรคการเมืองใดพรรคหนึ่ง ไม่ได้หมายความถึงชัยชนะของผู้รักความยุติธรรมและประชาธิปไตยอย่างเบ็ดเสร็จ แต่อย่างใด เพียงแต่เป็นการเปิดช่องให้กับการต่อสู้ในสถานการณ์ใหม่ที่เปลี่ยนแปลงตาม พลวัตภายใต้โครงสร้างเดิมเท่านั้นเอง ถ้าหากคิดว่า ชนะเลือกตั้ง คือชนะสงคราม ก็ผิดแล้ว เพราะชัยชนะที่แท้จริงของผู้รักความยุติธรรมและประชาธิปไตย อยู่ที่การสร้าง”ยุติธรรมเสมอหน้า ประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม”เท่านั้น

หากไม่สามารถจำแนกยุทธศาสตร์ออกจากยุทธวิธีได้แล้ว โอกาสที่จะหลงทางและนำมวลชนไปสู่การพ่ายแพ้ซ้ำซาก ย่อมมีความเป็นไปได้สูง

ยุทธศาสตร์และธรรมชาติของการชุมนุมทางการเมือง

ทันทีที่แกนนำมวลชนประกาศจัดชุมนุมทางการเมือง ซึ่งหมายถึงการเมืองบนท้องถนนครั้งใหม่เกิดขึ้น สิ่งที่ต้องพิจารณาก็คือว่า ยุทธวิธีดังกล่าว เหมาะสมหรือไม่กับยุทธศาสตร์การต่อสู้

การชุมนุม “เคลื่อนพลทั้งแผ่นดิน” โดยที่แกนนำระบุว่า จะเดินแนวทางสันติวิธี โดยมีเป้าหมายโค่นล้มรัฐบาลผสมที่มีพรรคประชาธิปัตย์เป็นแกนนำ และมีกลุ่มอำมาตย์อยู่เบื้องหลังลงไป เพื่อจะให้มีการยุบสภาแล้วเลือกตั้งใหม่ โดยชูคำขวัญว่า รัฐบาลมีทางเลือก 2 ทางเท่านั้นคือ หากไม่ยุบสภา ก็ต้องปราบประชาชน
ในขณะเดียวกัน รัฐบาลและกลุ่มอำมาตย์ก็ตอกย้ำเช่นกันว่าจะเดินแนวทางสันติวิธีรับมือการ ชุมนุมดังกล่าว แต่ก็ลงมือทำสงครามชิงพื้นที่ข่าวอย่างเอาเป็นเอาตาย พร้อมกับส่งสัญญาณเตรียมการปราบปรามล่วงหน้าเพื่อทำลายล้างเต็มรูป นับแต่มาตรการยับยั้ง ควบคุมสื่อ หรือ ใช้กองกำลังกดดันและปราบปรามด้วยกฎหมายเผด็จการหลายชุด

คำถามก็คือว่า การชุมนุมเคลื่อนพลทั้งแผ่นดินนี้ เป็นยุทธวิธีที่สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เป็นจริงหรือไม่ และสอดคล้องกับยุทธศาสตร์หรือไม่

หากประเมินจากหลักการต่อสู้แล้ว ยุทธวิธีในการศึกที่ถูกต้องสำหรับฝ่ายที่ตกเป็นรองก็คือ อ่อนสู้แข็ง น้อยสู้มาก ต้องกระทำด้วยการ “แยกกันเดิน รวมกันตี” และ ต้องไม่จำกัดเวลา คำขวัญของการต่อสู้ที่ว่า หากรัฐบาลไม่ยุบสภา ก็ต้องปราบประชาชน จึงมีลักษณะสุ่มเสี่ยงไม่น้อย เพราะอาจถูกนำไปขยายความป้ายสีว่า การชุมนุมมีเจตนาสร้างความรุนแรงขึ้น

อีกด้านหนึ่ง ธรรมชาติของการชุมนุมทางการเมืองทุกชนิด ล้วนมีเป้าหมายเพื่อสำแดงกำลังของมวลชนเพื่อกดดันให้ฝ่ายตรงกันข้ามยอมรับ เงื่อนไขในข้อเสนอให้เจรจาต่อรองกันในระดับแกนนำ ในขณะที่จะช่วยยกระดับมวลชนจากปริมาณสู่คุณภาพความรับรู้ และประสบการณ์ เพื่อดัดแปลงตนเอง และพิสูจน์ตัวเองว่าเป็นของแท้หรือของปลอม เพื่อทำลายความสามารถความชอบธรรมที่จะปกครองของรัฏฐาธิปัตย์ในขณะนั้น ไม่ได้มีจุดมุ่งหมายโดยตรงเพื่อเอาชัยชนะอย่างแตกหัก เพื่อโค่นล้ม เพื่อเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง หรือ เพื่อการเลือกตั้งใหม่

โดยสรุปแล้ว การชุมนุมเคลื่อนพลที่ถูกต้องในเชิงยุทธวิธี จึงเป็นการสะสมกำลัง รอคอยโอกาส มิใช่การทุ่มกำลัง แต่ทำลายโอกาสในการต่อสู้ อันเป็นการกระทำที่สุ่มเสี่ยงไม่สมเหตุสมผล

ในประวัติศาสตร์ของการต่อสู้ทางการเมืองของทุกประเทศบนโลกใบนี้ การชุมนุมทางการเมืองที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างขนาดใหญ่ทุก ครั้ง ผู้นำหรือแกนนำทางการเมืองล้วนไม่เคยตั้งเป้าหมายนำมวลชนไปให้ถูกปราบแต่ อย่างใด หากแต่ผู้มีอำนาจรัฐในขณะนั้นเป็นฝ่ายลงมือกระทำการปราบเสียเองก่อนเสมอ และส่งผลสู่การเปลี่ยนแปลง

การวางแผนระดมมวลชนเข้าสู่ที่ชุมนุมจำนวนมาก โดยหวังว่าหากถูกปราบปรามจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง เป็นชุดความคิดที่สุ่มเสี่ยงแบบนักการพนันที่อันตรายอย่างยิ่ง ถือเป็นการประเมินคุณค่าของมวลชนที่ต่ำมาก
โดยข้อเท็จจริงแล้ว มวลชนทุกคนเป็นอิสรชนที่มีคุณค่า และเป็นเป้าหมายหลักของการต่อสู้เพื่อสังคมที่ดีกว่า มิใช่แค่เครื่องมือหรือโล่มนุษย์ของแกนนำบางคน โดยเฉพาะคนที่(ไม่ว่าจะอยู่ทั้งใน หรือนอกวงการต่อสู้) อ้างภาวะผู้นำของตนเองอย่างพร่ำเพรื่อ

ศึกษาบทเรียนจากการต่อสู้เมษายนเลือด 2552

เจตนารมณ์ของการชุมนุมทางการเมืองบนท้องถนนทุกครั้งมีความชัดเจนในตัวเอง การระดมมวลชนเข้าร่วมการชุมนุมโดยสันติก็เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของ ประชาธิปไตย ดังนั้น จึงมีเหตุผลเพียงพอที่ผู้รักความยุติธรรมและประชาธิปไตยทุกคนจะต้องเข้าร่วม หรือสนับสนุนการต่อสู้อย่างปราศจากเงื่อนไขใดๆ

กุญแจสำคัญที่ผู้รักความยุติธรรมและประชาธิปไตยที่ต้องการเข้าร่วมการต่อสู้ ไม่ว่าจะในกรณี”เคลื่อนพลทั้งแผ่นดิน”ในเดือนมีนาคมนี้ หรือ อื่นๆในอนาคต ต้องจำเอาไว้ให้มั่นก็คือ การเข้าร่วมต่อสู้ทุกครั้ง จะต้องกระทำอย่างเอาการเอางาน และร่วมมือกับผู้ร่วมชุมนุมคนอื่นๆปฏิบัติการภายใต้สภาพการชี้นำของแกนนำใน การจัดชุมนุมอย่างเต็มที่ แต่จะต้องไม่คาดหวังสูงเกินไปว่าการต่อสู้จะบรรลุเป้าหมายหรือได้รับชัยชนะ อย่างเบ็ดเสร็จ ตามที่แกนนำกล่าวอ้าง

ที่สำคัญ ความไม่แน่นอนจากสถานการณ์ที่มีคนจำนวนมากมาอยู่ในที่เดียวกัน อาจนำไปสู่สถานการณ์ที่ควบคุมไม่ได้ และตามมาด้วยความเสียหายที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้ ดังนั้น การเตรียมรับมือความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้ความรุนแรงของอำนาจรัฐก็ เป็นมาตรการเตรียมพร้อมล่วงหน้าที่ไม่ประมาทเอาไว้

บทเรียนจากกรณีเมษายนเลือด 2552 คือกรณีศึกษาที่ต้องนำกลับมาทบทวนกันใหม่ครั้งแล้วครั้งเล่าสำหรับผู้ที่ เข้าร่วมการชุมนุม เพื่อป้องกันไม่ให้มีความผิดพลาดซ้ำรอยเดิมอีก ดังที่นักปราชญ์ที่เข้าร่วมการต่อสู้ในอดีตเคยกล่าวเอาไว้ว่า “ความผิดพลาดครั้งแรก ถือเป็นโศกนาฏกรรม แต่ความผิดพลาดครั้งที่สองเป็นอาชญากรรม”

หากยังจำกันได้ ในเดือนมีนาคมปีก่อน มีการนัดชุมนุมหลายครั้ง โดยครั้งหนึ่งพ.ต.ท.ทักษิณ ได้ถ่ายทอดภาพมายังกลุ่มผู้สนับสนุน และกล่าวอ้างว่า ประธานองคมนตรี พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี เป็นผู้อยู่เบื้องหลังรัฐประหาร พ.ศ. 2549 และองคมนตรีบางคน คือ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ และ นายชาญชัย ลิขิตจิตถะ ได้ร่วมมือกับอำนาจทหารค้ำตำแหน่งของนายอภิสิทธิ์ ทำให้กลุ่มผู้ร่วมชุมนุมเสื้อแดง สร้างข้อเรียกร้องให้บุคคลดังกล่าวลาออกทั้งหมด

ทักษิณยังกล่าวปลุกเร้าเมื่อวันที่ 30 มีนาคมว่า “...บอกได้เลย ถ้าเมื่อไหร่เสียงปืนแตก ทหารยิงประชาชนผมจะเดินเข้าไปนำพี่น้องเดินเข้ากรุงเทพฯ ทันที ผมจะไม่ยอมอีกแล้วให้กับเผด็จการ..."
เป็นการโหมโรงของการชุมนุมใหญ่ที่เริ่มตั้งแต่วันที่ 8 เมษายน แต่ก่อนหน้านั้น 1 วัน รถประจำตำแหน่งของนายอภิสิทธิ์ถูกกลุ่มผู้สนับสนุน พ.ต.ท.ทักษิณ ทุบจนกระจกแตก แต่นายอภิสิทธิ์สามารถหลบหนีไปได้
คืนวันที่ 7 เมษายน พ.ต.ท. ทักษิณ ได้พูดผ่านการถ่ายทอดภาพมายังกลุ่มผู้ชุมนุมว่า “...วันนี้ กำลังมาเจอกันอีกครั้งหนึ่ง เพื่อบอกว่าเราจะรวมพลังกัน เพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยที่แท้จริงให้กับประเทศไทย ให้กับลูกหลานในอนาคต....มีคนถามผมขึ้นมาว่า ถ้าได้กลับบ้านจะเลิกต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยไหม คือเขาเป็นห่วงว่าทั้งหมด คือที่ผมออกมาต่อสู้ คงเพื่อตัวเองเท่านั้น อย่างที่ผมเรียนไปว่าผมปรับตัวได้แล้ว ไม่ใช่เรื่องของผมแล้ว แต่มันเป็นเรื่องของชาติบ้านเมือง...ขอเชิญชวนว่าวันที่ 8 เม.ย.ต้องมา พี่น้องที่รักความยุติธรรม ที่ตกงาน ที่มองไม่เห็นอนาคต หรือที่เห็นว่าการค้ามืดมนชีวิตมืดมน เพื่อข้าราชการ ครู ทหาร ตำรวจ พลเรือน ที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม ไม่มีเส้น ขอเชิญที่ถนนราชดำเนิน ที่บอกว่าเชิญกันมาเยอะจะไปอยู่ที่ไหน อยู่ตรงไหนก็ได้ เพื่อแสดงให้เห็นว่าพลังครั้งนี้มากกว่า 14 ตุลา 17 พฤษภา ในส่วนที่มาไม่ได้ ก็ขอให้ไปชุมนุมที่ศาลากลางจังหวัด...ได้ข่าวว่าบางคนจะหยุดงาน หรือลาพัก 8-10 เม.ย.ให้เตรียมมาเลย ขอให้มาร่วมกับพวกเรา แม้ว่าจะไม่ได้อยู่หน้าเวที จะอยู่ถนนราชดำเนิน หรือลานพระบรมรูปทรงม้า ก็จะมีคนไปดูแล…ขอขอบคุณพี่น้องอีกครั้งที่เป็นห่วง หลายคนไปทำบุญสะเดาะเคราะห์ให้ตนก็มี ข่าวคราวต่างๆ ตนได้รับตลอดเวลาไม่รู้จะขอบใจอย่างไร ได้แต่เพียงบอกว่า บุญคุณครั้งนี้ใหญ่หลวงนัก ทำให้ตนรู้สึกว่า ตนต้องตอบแทนบุญคุณพี่น้อง ด้วยการรับใช้ชาติที่พี่น้องต้องการตลอดไป...”

วันที่ 8 เมย. เริ่มการชุมนุมครั้งใหญ่ โดยมีผู้เข้าร่วมกว่า 100,000 คน วันเดียวกันมีข่าวว่าลูกๆของทักษิณขึ้นเครื่องบินออกไปยังต่างประเทศเพื่อ ความปลอดภัย

วันที่ 9 เม.ย. การชุมนุนมกระจายตัวกันไปด้วยยุทธวิธี“ดาวกระจาย”ไปตามสถานที่สำคัญ เช่น ศาลรัฐธรรมนูญ พรรคประชาธิปัตย์ กระทรวงต่างประเทศ ไปจนถึงนำแท๊กซี่ไปปิดถนนรอบๆ อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิการจราจรอัมพาตไปทั้งเมือง

วันที่ 10 เมษายน ทักษิณพูดกับผู้ร่วมชุมนุมว่า "…ช่วยทำความไม่เป็นธรรม ทำระบบ 2 มาตรฐานให้ชัดๆ กว่านี้อีกจะได้ตอกย้ำสังคมไทย ให้มันรู้ไปเลย สุดๆ ไปเลยพี่ ..พี่น้องครับผมแพ้ไม่ได้ เพราะถ้าแพ้คือประชาชนแพ้ อนาคตลูกหลานแพ้ ประเทศไทยแพ้ มันไม่ใช่เพื่อผม บังเอิญว่าผมเป็นคนซึ่งนำการต่อสู้… ผมยอมตอนนี้ก็แสดงว่าประชาชนไม่มีทางต่อสู้แล้ว...พี่น้องครับอดทนอีกนิด เดียว ไม่เป็นไรวันนี้ทำมาหากินไม่คล่อง แท็กซี่ก็อุตส่าห์ไม่หากิน รอให้ผมกลับไปผมจะแก้เอง...”

การชุมนุมได้ขยายตัวไปยังพัทยา ซึ่งเป็นสถานที่จัดการประชุมสุดยอดผู้นำเอเชียตะวันออกครั้งที่สี่ แล้วสามารถบุกเข้าสถานที่ประชุม และทำให้การประชุมถูกยกเลิก จนรัฐบาลอภิสิทธิ์ต้องประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในจังหวัดชลบุรี ในที่ 11 เมษา

การประท้วงเริ่มลุกลามในเขตกรุงเทพมหานคร จนเกิดเหตุปะทะกันเป็นเหตุให้ ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในกรุงเทพมหานครและพื้นที่โดยรอบอีก และออกพระราชกฤษฎีกาให้อำนาจแก่รัฐบาลในการเซ็นเซอร์การแพร่ภาพทางโทรทัศน์ รวมทั้งกล่าวหากลุ่มผู้ชุมนุมเป็น "ศัตรูของชาติ"

รัฐบาลสั่งกองทหารออกทำการปราบปรามผู้ชุมนุม ตั้งแต่วันที่ 12 เมษายน และจับกุมแกนนำซึ่งบุกสถานที่ประชุมการประชุมสุดยอด มีการออกหมายจับ พ.ต.ท.ทักษิณ และแกนนำนปช. อีก 13 คน มีคำสั่งปิดสถานีโทรทัศน์ดีสเตชันและสถานีวิทยุชุมชนอีกหลายแห่ง มีความพยายามจากฝั่งของทักษิณที่จะเปิดการเจรจากับรัฐบาลแต่ไม่เป็นผลจนถึง วันที่ 13 เมษายน ซึ่งทหารได้ใช้กำลังสลายการชุมนุมบริเวณแยกสามเหลี่ยมดินแดง จนมีคนได้รับบาดเจ็บถึง 66 คน โดยคืนวันที่ 13 นั้นเอง ทักษิณให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวซีเอ็นเอ็นของอเมริกา โดยหนึ่งในคำถามคือ จะกลับประเทศไทยเมื่อไร และพร้อมจะมาเผชิญกับการถูกจำคุกหรือไม่ ก็มีคำตอบกล่าวว่า "ผมพร้อมจะไปเมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม แต่ขณะนี้ต้องการเห็นการประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยด้วยสันติ…”

เวลา 8.00 น. ของวันที่ 14 เมษายน ทักษิณยังคงติดต่อเพื่อหวังจะมีการเจรจากับทางรัฐบาล แต่ไม่เป็นผล จนกระทั่งเวลา 10.00 น. บรรดาแกนนำนปช. ที่นำการชุมนุมหลายคนจึงยอมมอบตัว ทำให้การชุมนุมสงบลง ตัวของทักษิณก็เงียบหายไปนานหลายวัน หลังจากที่พยายามฟอกตัวเองให้ผุดผ่องด้วยการปฏิเสธว่า ไม่เกี่ยวกับการชุมนุมแต่อย่างใด แต่ต่อมา นายสุชาติ ลายน้ำเงิน ส.ส.ลพบุรี พรรคเพื่อไทย ออกมาแก้ต่างแทนว่า ทักษิณ ได้ตัดสินใจเดินทางกลับเข้าประเทศไทยในวันที่ 14 เมษายน โดยได้ขึ้นเครื่องบินส่วนตัว มาลงยังประเทศเพื่อนบ้าน จากนั้นวางแผนที่จะเดินทางเข้าประเทศไทยทางภาคอีสาน เพื่อรวบรวมประชาชนในภาคอีสาน เดินทางเข้ากรุงเทพฯ เพื่อสมทบกับคนเสื้อแดงที่กำลังถูกสลายการชุมนุม แต่ถูก นางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ น้องสาว และ ส.ส.ช่วยกันห้าม

บทเรียนจากกรณีเมษายนเลือดดังกล่าว ถือเป็นความผิดพลาดของการนำอย่างชัดเจน นับตั้งแต่การที่ผู้มีบทบาทสูงไม่ได้อยู่ในการชุมนุม และแกนนำบางคนแสดงบทบาทที่ไร้เดียงสาจนกระทั่งกลายเป็นแนวร่วมมุมกลับของ ฝ่ายอำนาจรัฐ และเมื่อการชุมนุมสิ้นสุดลง ผู้นำการชุมนุมก็แสดงภาวะไร้ความเป็นผู้นำด้วยการปฏิเสธความรับผิดใดๆ

หากการชุมนุม”เคลื่อนพลทั้งแผ่นดิน”ที่กำลังจะเกิดขึ้นนี้ มีเหตุซ้ำรอยกรณีเมษายนเลือดอีก ก็ต้องถือว่า ความผิดของผู้นำในการชุมนุม คือ อาชญากรรม ที่ต้องจารึกเอาไว้อีกนานแสนนาน

ท่าทีต่อการชุมนุมของผู้รักประชาธิปไตยควรเป็นอย่างไร

สิ่งที่เราต้องยึดถือให้มั่นก็คือ การต่อสู้เพื่อปฏิวัติประชาธิปไตย ถือเป็นสงครามที่เป็นธรรม และสงครามที่เป็นธรรม ย่อมนำชัยชนะเป็นผลตอบแทนในท้ายที่สุดเสมอ ขอเพียงแต่ผู้ที่เข้าร่วมขบวนการมุ่งมั่นเอาจริงเอาจังกับการสั่งสม ประสบการณ์เพื่อยกระดับตนเองไม่หยุดยั้งท่ามกลางการต่อสู้ที่เป็นจริง การต่อสู้ในสงครามที่เป็นธรรมในทุกรูปแบบ ควรต้องได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่ เราไม่สามารถกล่าวได้ว่า การเข้าร่วมชุมนุมทุกครั้งเหมาะสมหรือมีความพร้อมเพียงพอหรือไม่ หรือการนำเหมาะสมเพียงใด แต่ต้องทำความเข้าใจว่า บนเส้นทางของสงครามทางชนชั้นมีความขรุขระยากลำบากแฝงอยู่ทุกย่างก้าว ผู้รักความยุติธรรมและประชาธิปไตยที่แท้จริงจะต้องเข้าถึงสัจจธรรมข้อนี้ และเรียนรู้ที่จะแปรความเร่าร้อน กำลัง และ ทรัพยากรที่มีในการต่อสู้ ให้กลายเป็นภูมิปัญญาครั้งใหม่ ไม่ว่าผลลัพธ์ของการต่อสู้จะออกมาในรูปใด (ชนะมาก ชนะน้อย แพ้มาก หรือแพ้น้อย) โดยยึดหลักศึกษาเป็น ใช้เป็น จากประสบการณ์ในครั้งนี้ เพื่อยกระดับการต่อสู้ในอนาคต

การเข้าร่วมชุมนุม”เคลื่อนพลทั้งแผ่นดิน”นี้ นอกเหนือจากการเตรียมความพร้อมตามคู่มือสำหรับผู้ชุมนุมทางกายภาพแล้ว สิ่งที่สำคัญมากกว่าคือการเตรียมชุดความคิดเพื่อรับประสบการณ์ใหม่ และยกระดับคุณภาพของตนเองในการต่อสู้ในอนาคตด้วยการประเมินและค้นหาความ พร้อมและความสามารถของตนเองและสมาชิกในเครือข่าย ชุมชน หรือองค์กรจัดตั้ง เพื่อจะร่วมพลังตามความถนัดในการต่อสู้แบบเครือข่ายในอนาคต รวมทั้งแสวงหาและพัฒนาแนวทางใหม่ที่จะนำไปบรรลุยุทธศาสตร์หลักของการปฏิวัติ ประชาธิปไตยของมวลชนในทุกปริมณฑลของการต่อสู้ เพื่อเป้าหมายสุดยอดทางยุทธศาสตร์นั่นคือ สถาปนา “ยุติธรรมเสมอหน้า ประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม”

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ผู้ให้ข้อมูลร่วมกัน