"หนี: บทความจากหนึ่งวันในเวทีราชประสงค์" โดย วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล
หมายเหตุ "วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล" นักเขียนและนักดนตรีรุ่นใหม่ ได้เขียนบทความชื่อ "หนี: บทความจากหนึ่งวันในเวทีราชประสงค์" และนำไปเผยแพร่ใน www.facebook.com/wannasingh ทางมติชนออนไลน์เห็นว่าบทความดังกล่าวมีเนื้อหาน่าสนใจ จึงขออนุญาตนำมาเผยแพร่ต่อดังนี้
หนี: บทความจากหนึ่งวันในเวทีราชประสงค์
หนี
"เพราะความเกลียดชังไม่จำเป็นต้องมีความเข้าใจ..."
วันนี้วันที่ 17 เมษายน 2553
ผมนั่งอยู่กลางสี่แยกราชประสงค์ กลางที่ชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง
...ผมมาที่นี่เพื่อเขียนหนังสือ
เหตุการณ์ความรุนแรงที่สี่แยกคอกวัวผ่านมาได้ครบหนึ่งอาทิตย์ กรุงเทพฯเพิ่งผ่านพ้นสงกรานต์แห่งความมัวหมองมาเป็นปีที่สองติดต่อกัน ผู้ชุมนุมยังคงหลับนอนอยู่ริมถนนทางเดิน ความจริงยังคงไม่ปรากฎ และทางออกของประเทศไทยก็ยังไม่ก่อเป็นตัวเป็นตนมาให้ผู้ใดได้พบเห็น
และสีผิวของผมเองก็ยังคงเป็นสีแทนเข้ม ...ผลพวงจากการไปดำน้ำดูปะการังที่หมู่เกาะสุรินทร์มาเมื่อช่วงสงกรานต์
เมื่อคืนวันที่ 10 เมษายน ระหว่างที่เกิดเหตุชุลมุน ตัวผมอยู่ที่กองถ่ายหนังเรื่องอินทรีแดง กำลังแกล้งทำเป็นขับรถไปส่งอนันดา เอเวอริ่งแฮมผู้ซึ่งกำลังแกล้งทำเป็นเมาอยู่หน้ากล้องถ่ายภาพยนต์ คืนนั้นเป็นวันปิดกล้อง และพวกเราถ่ายกันจนถึงเช้า วันต่อมา ผมก็บินไปที่ภูเก็ตทันที เพื่อการลาพักร้อนช่วงสงกรานต์ที่ได้วางแผนล่วงหน้าไว้หลายเดือน
ระหว่างที่คนไทยเป็นล้านกำลังก่อสงครามกันทั้งในเชิงความคิดและการกระทำ ผมได้ไปนอนรีสอร์ทห้าดาวที่อำเภอเขาหลัก จังหวัดพังงา โดยที่ไม่ต้องออกตังค์สักบาท
ระหว่างที่ผู้ชุมนุมกำลังเข้าแถวรอรับอาหารที่แจกจ่ายกันในเวทีราชประสงค์ และทหารกำลังตั้งแถวเพื่อเตรียมพร้อมรับจลาจล ตัวผมซึ่งเดินทางต่อไปเยี่ยมคุณยายที่จังหวัดตรังก็ได้รับเงินอั่งเปาผิดฤดู มาสองหมื่นบาทโดยที่ไม่ต้องเปิดปากขอสักคำ
และระหว่างที่ประเทศไทยกำลังอยู่ในช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลง
...ตัวผมเอง ก็ได้เปลี่ยนผิวตัวเองเป็นสีแทน
ชนชั้นกลางมีบทบาทอะไร?
ผมมั่นใจว่าผมเองไม่ใช่คนเดียวที่กำลังมีคำถามนี้อยู่ในใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อความโกลาหลวุ่นวายได้แผ่ออกไปปกคลุมทุกหย่อมหญ้าของ ประเทศไทยเฉกเช่นในนาทีนี้
เหล่าคนหนุ่มสาวผู้ใส่ใจสังคมที่อยู่รอบๆตัวผมก็ต่างเริ่มมีความร้อนรนมา สุมอยู่ในอก ต่างเริ่มกังขาถึงความหมายที่ตัวเองมีต่อยุคสมัย และต่างก็เริ่มมีความกระหายในสันติภาพในแบบที่ไม่เคยรู้สึกกันมาก่อน
"เราจะทำอะไรได้บ้าง" ดูเหมือนว่าจะเป็นคำถามที่เริ่มได้ยินกันบ่อยครั้ง
"ไม่รู้สิ" วลีนี้ก็เป็นคำตอบที่ได้ยินบ่อยพอๆกัน
และในขณะที่ความห่วงใยที่ไม่มีผลลัพธ์เริ่มเป็นสิ่งที่พบเห็นได้มากขึ้น ความเกลียดชังก็กลายเป็นความรู้สึกที่ลิ้มรสได้ในทุกวินาทีเฉกเช่นเดียวกัน
ในขณะที่บางคนกำลังร้อนรนที่จะหาทางแก้ไข บางคนก็เลือกที่จะด่าทอว่าร้าย ไม่ว่าจะมาจากฝ่ายตรงกันข้ามกัน หรือว่าจากผู้มีอันจะกินที่ดูเหมือนว่าจะอยู่ "เหนือ" ความขัดแย้งในสังคมครั้งนี้
ในขณะที่บางคนกำลังเลือกที่จะเปิดตาที่เคยปิดไว้หนึ่งข้าง บางคนก็เลือกที่จะหลบหนีออกไปจากวงเวียนแห่งความขัดแย้งนี้ ...หลบไปอยู่ในโลกใบที่สวยงามของตัวเอง
หลบหนี... ดั่งเช่นที่ผมได้ทำเมื่อช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมา
ในความเป็นจริง ผมเชื่อว่าการหลบหนีไม่ใช่เรื่องที่ "ผิด" เพราะว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดที่ทำให้สังคมดำรงอยู่และเจริญรุ่งเรืองได้นั้น ไม่ได้มาจากการต่อสู้หรือดิ้นรน หากแต่มาจากการสร้างสรรค์และผลพวงของการทำงานหนัก หรือหากพูดอีกแง่หนึ่ง ผมเชื่อว่าการที่คนคนหนึ่งเลือกที่จะไม่สนใจการเมืองเลย แล้วก็ตั้งหน้าตั้งตาทำงานของตัวเองไปให้ดีที่สุดนั้นไม่ใช่เรื่องผิดเลย ในทางตรงกันข้าม นั่นอาจจะเป็นสิ่งที่ดีต่อสังคมที่สุดที่เราพึงจะทำได้ก็เป็นได้
แต่สำหรับตัวผมเอง ถ้าหากว่าไม่มีเหตุการณ์วุ่นวายในครั้งนี้แล้วละก็ ผมเองก็อาจจะลืมไปแล้วก็ได้ ว่าผมเองอยู่ในกลุ่มคนที่มี "สิทธิ์" ที่จะหลบหนีจากเรื่องเหล่านี้ได้ทุกเมื่อ สิทธิ์ที่ผมได้มาตั้งแต่กำเนิดจากการเกิดมาในครอบครัวที่มีอันจะกิน
ในขณะที่ผู้ชุมนุมที่อยู่ที่ราชประสงค์นี้ แม้ว่าอาจจะไม่ใช่ทุกคน แต่แลดูแล้วเหมือนว่าเกิดมาจะไม่เคยได้รับสิทธิ์นี้เลย
และสภาพของสังคมไทยที่เริ่มผุพังลงเรื่อยๆอย่างรวดเร็ว ทำให้ผมเริ่มตั้งคำถามอย่างจริงจังว่า "ทำไม"
ผมยอมรับว่าเมื่อช่วงแรกๆที่ความขัดแย้งทางความคิดนี้เริ่มบานปลายกลาย เป็นความโกลาหลในหลายๆรูปแบบ ผมเองก็เป็นหนึ่งในคนที่รู้สึกหงุดหงิดกับมัน บางครั้งวิพากษ์วิจารณ์ฝ่ายต่างๆอย่างรุนแรง และไม่ว่ากลุ่มไหนจะเป็นต้นเหตุ ผมก็มักจะมองว่าตัวเองไม่ได้อยู่ในความขัดแย้งนั้น โดยมีทั้งอัตตาและสิ่งแวดล้อมที่คอยย้ำบอกตัวผมเสมอๆว่าผมนั้นมี "ปัญญา" และ "การศึกษา" มากเกินกว่าที่จะมาทะเลาะเบาะแว้งกับใคร
และเมื่อความคิดเช่นนั้นบังเกิด โดยที่ไม่รู้ตัว ผมก็ได้สร้างมุมมองที่เหมือนว่าจะเข้าใจแรงจูงใจของผู้คนแต่ละกลุ่ม แต่ละชนชั้นอย่างทะลุปรุโปร่ง โดยที่ไม่จำเป็นต้องมีส่วนร่วมจริงๆในการเคลื่อนไหวนั้นๆ
โดยที่ไม่เคยมีความพยายามในการพิสูจน์ว่าความคิดเหล่านั้นเป็นเรื่องจริง หรือไม่
การหลบหนี อาจจะไม่ใช่เรื่องที่ "ผิด" แต่สำหรับตัวผม มันได้กลายเป็นเรื่องที่ "น่าละอาย" ไปเสียแล้ว
น่าละอาย ที่ตัวเองไม่มีความพยายามมากกว่านี้ที่จะ "เข้าใจ"
และด้วยเหตุนี้ ผมจึงมาที่นี่ในวันนี้
ผมไม่ได้มาเพื่อแสดงตัวว่าผมเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับใคร ไม่ใช่เพื่อใช้ดวงตายืนยันความป่าเถื่อนหรือความรุนแรงที่ได้รับฟังมาตลอด และผมก็ไม่ได้เขียนบทความนี้เพื่อแสดงให้เห็นถึงข้อบกพร่องของรัฐธรรมนูญ หรือการทำงานของทหาร ไม่ได้เพื่อบอกว่าให้ยุบสภาหรือไม่ยุบ ไม่ได้เขียนเพื่อวิจารณ์คุณอภิสิทธิ์หรือว่าคุณทักษิณ และในขณะเดียวกันก็ไม่ใช่เสนอทางออกของประเทศหรือว่าวิธีการแก้ไขความ เหลื่อมล้ำในสังคม
ผมมาที่นี่ เพื่อตามหาพวกเขา
ผมมาที่นี่ เพื่อให้ "เข้าใจ"
และผมเขียนบทความนี้ เพราะหวังว่าจะช่วยกระตุ้นให้ผู้คนเริ่มรู้สึกกระหายในความเข้าใจ เฉกเช่นเดียวกับที่ผมรู้สึก
ณ เวลานี้
การทำความเข้าใจ... คือบทบาทเดียวที่พวกเราทุกคน จำเป็นต้องทำ
"เพราะความเกลียดชังไม่จำเป็นต้องมีความเข้าใจ
...แต่ความเข้าใจ จะทำให้ความเกลียดชังไม่จำเป็น"
ณ เวทีราชประสงค์... (to be continued...)
http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1271859213&grpid=01&catid=
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น