ที่เรือนจำคลองเปรม – บันทึก 2 วัน [ตอนที่ 1]
สัณหณัฐ นกเล็ก
เรื่องเล่าต่อจากนี้ เป็นบันทึก 2 วันในการเยี่ยมนักโทษการเมืองซึ่งไม่ค่อยจะราบรื่นเท่าไร เพราะมีปัญหาในการเยี่ยม เนื่องจากกฎระเบียบบางประการของเรือนจำ และความคิดทางการเมืองที่แตกต่างของเจ้าหน้าที่เรือนจำเอง
ผมไปในฐานะตัวแทนจากสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย(สนนท.) ที่กำลังมีโครงการช่วยเหลือนักโทษการเมืองที่เป็นนักศึกษา ตอนนี้เมื่ออยู่กับพร้อมหน้า ผมค่อนข้างมั่นใจว่าจะได้เยี่ยมนักโทษการเมืองอย่างที่ตั้งความประสงค์ไว้ แต่เมื่อเดินถึงห้องสำหรับให้ทนายยื่นเรื่องเข้าเยี่ยมนักโทษ ก็พบปัญหา
…………………………
วันแรกของการเข้าเยี่ยมนักโทษการเมือง คือวันที่ 6 กันยายน 2553 ผมนัดพบกับทนายอานนท์ นำภา จากศูนย์ข้อมูลผู้ได้รับผลกระทบเหตุสลายการชุมนุม เม.ย.-พ.ค. 53 (ศปช.) ในตอนเช้าราว 9 โมงครึ่ง ที่ “เรือนจำคลองเปรมฯ”
ความจริงวันนี้เป็นวันแรกที่ผมนัดกับทนายอานนท์ เพื่อเข้าไปเยี่ยมนักโทษการเมือง 2 คน ที่โดนคดีละเมิด พรก.ฉุกเฉิน พอถึงเรือนจำผมก็ได้เจอกับทนายอานนท์และคณะ รวมกับล่ามแปลภาษามือแล้ว เรามีทั้งหมด 7 คน
ผมไปในฐานะตัวแทนจากสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย(สนนท.) ที่กำลังมีโครงการช่วยเหลือนักโทษการเมืองที่เป็นนักศึกษา ตอนนี้เมื่ออยู่กับพร้อมหน้า ผมค่อนข้างมั่นใจว่าจะได้เยี่ยมนักโทษการเมืองอย่างที่ตั้งความประสงค์ไว้ แต่เมื่อเดินถึงห้องสำหรับให้ทนายยื่นเรื่องเข้าเยี่ยมนักโทษ ก็พบปัญหา คือหลังจากทนายอานนท์ยื่นเอกสารที่ได้เตรียมมาเรียบร้อยแล้ว ผู้ดูแลตอบปฏิเสธแล้วแจ้งว่า
“คุณต้องไปขออนุญาตจากผู้อำนวยการก่อน ว่าจะเอาล่ามเข้ามาในนี้”
หลังจากนั้นเพื่อให้เป็นไปตามระเบียบ พวกเราจึงไปติดต่อขอเข้าพบกับผู้อำนวยการเรือนจำ เมื่อพบ ทนายอานนท์ได้แจ้งต่อผู้อำนวยการเรือนจำว่า
“เจ้าหน้าที่ตรงห้องที่ให้ทนายเยี่ยมนักโทษ บอกให้ผมมาขออนุญาตท่านเพื่อเยี่ยมนักโทษการเมือง 2 คน มีหนึ่งคนในนี้เป็นใบ้ จำเป็นต้องใช้ภาษามือ เลยจะขออนุญาตนำล่ามเข้าไปด้วย”
“ใครเป็นล่ามบ้าง?” ผู้อำนวยการฯ ถาม
ทนายอานนท์ชี้ไปที่ล่ามสองคน “สองคนนี้ครับ สองคนนี้เป็นทนาย”
ผู้อำนวยการถามต่ออีกด้วยการชี้มาที่ผม แล้วถามคนนั้นเป็นใคร
“เสมียนทำหน้าที่บันทึกครับ”
ผู้อำนวยการพยักหน้าและบอกกับพวกเราว่า “ออกไปก่อนนะ เดี๋ยวผมจะแจ้งให้ทราบ เข้ามาอีกที”
…………………………
เราได้แต่รอข้างนอกสักประมาณ 30 นาทีได้ ระหว่างนี้ก็ได้พบปะพูดคุยกับคนที่มาเยี่ยมแกนนำเสื้อแดง จากนั้นจึงมีเจ้าหน้าที่มาเรียกให้เข้าไปพบผู้อำนวยการ ตอนนี้ผมก็รู้สึกตื่นเต้นเหมือนลุ้นหวยว่าจะได้เข้าไปเยี่ยมหรือไม่ แต่คำตอบก็คือ “เราอนุญาตให้ล่ามเข้าไปได้คนเดียว อีกคนหนึ่งต้องรอข้างนอก ส่วนเสมียนก็ต้องรอข้างนอกเช่นกัน เพราะทนายเข้าไปตั้ง 3 คนแล้ว”
“เราจำเป็นจะต้องเอาล่ามเข้าไป 2 คน เพราะอีกคนเป็นใบ้เหมือนกัน บางคำเขาจะเข้าใจมากกว่าอีกคนทีพูดได้ ซึ่งเข้าใจภาษาใบ้ดี แต่ไม่สามารถสื่อสารบางคำได้” (คือเราไม่สามารถขาดได้ทั้ง 2 คน) “นอกจากนี้การมีนักโทษ 2 คน จึงทำให้ต้องนำเสมียนเข้าไปจดบันทึกด้วย” ทนายอานนท์ตอบผู้อำนวยการฯ
คำตอบที่เราได้จากผู้อำนวยการฯ ก็คือ “ไม่ได้ เดี๋ยวมีการส่งเสียงดังแล้วจะไปรบกวนคนอื่น เข้าไปเยอะอย่างนี้คนอื่นเขามาขอบ้างอย่างนี้มันไม่ได้”
สรุปก็คือผมไม่สามารถเข้าไปเยี่ยมนักโทษการเมืองพร้อมกับทีมของ ศปช. ได้ จึงออกมาเดินข้างนอกด้วยความผิดหวัง ระหว่างนั้นก็พบกับกลุ่มคนเสื้อแดงซึ่งกำลังจะเข้าไปเยี่ยมแกนนำ ผมคิดว่า ไหนๆ ก็มาแล้วอย่าให้เสียเที่ยวเลย ก็เลยขอไปเยี่ยมแกนนำด้วยอีกหนึ่งคน ซึ่งการเยี่ยมแกนนำไม่ค่อยลำบากเท่าไร ปรากฎว่านักโทษการเมืองที่ไม่ใช่แกนนำดูจะลำบากกว่านักโทษทั่วไประดับเดียว กันเสียอีก เมื่อไปถึงห้องสำหรับขออนุญาตเข้าเยี่ยม เราก็ต้องกรอกรายละเอียดในเอกสารเพื่อยื่นคำร้อง จากนั้นเขาจะให้บัตรเยี่ยม นปช. มา รอสักพักตามเวลาเยี่ยมที่กำหนดไว้
…………………………
พอถึงเวลาที่เจ้าหน้าที่เรียกเข้าไปเยี่ยม ผมก็รู้สึกตื่นเต้นขึ้นอีกครั้ง เนื่องจากเป็นครั้งแรกของการเยี่ยมนักโทษการเมืองในชีวิตนี้ เมื่อเข้าไปถึงได้เห็นรอยยิ้มของแกนนำ และของคนเสื้อแดงที่โต้ตอบกัน นับว่าเป็นภาพที่สวยงามอันหนึ่ง เวลาที่เราเห็นคนเหล่านี้มีความสุข แม้ว่าพวกเขาจะอยู่ในสถานที่ซึ่งน่าจะทุกข์ที่สุดแห่งหนึ่งก็ตาม
นักโทษการเมืองคนแรกที่ผมเข้าเยี่ยมเป็นการ์ด นปช. ชื่อ อำนาจ อินตโชติ อายุ 54 ปี เป็นข้าราชการทหาร และคนที่แนะนำให้ผมรู้จักคุณอำนาจ คือ ดร.ประแสง มงคลศิริ หลังจากแนะนำตัวเอง แล้วก็ยิ้มตอบคุณอำนาจไป เขาก็เริ่มเกริ่นก่อนเลยว่า “ติดคุกมันไม่สบายหรอก โดนยัดข้อหาก่อการร้ายให้หมดทุกอย่าง เสียงานเสียงทุกอย่าง ความเป็นอยู่ก็ต้องเป็นแบบนักโทษ กฎหมายอะไร ใช้หมายเรียก ศอฉ. มาก่อน จากนั้นก็ออกหมายจับข้อหาผู้ก่อการร้ายให้ทีหลัง ผมรักชาติ ฝากบอกถึงทุกคนที่เป็นแนวร่วมประชาธิปไตย ต้องช่วยกันต่อสู้ ถ้าเผด็จการครองเมืองจะเป็นเรื่องใหญ่ ผมเรียกร้องประชาธิปไตยกลับโดนข้อหาก่อการร้าย เมียผมก็มาเยี่ยมบ่อยไม่ได้ เพราะวันธรรมดาต้องทำงานวันหยุด เขาก็ไม่ให้เยี่ยม ลูกผมเองอยู่ปีสี่ ต้องหาเงินส่งลูกเรียน และไม่นานผมก็จะถูกปลดแล้วด้วย เสียหายหมดทุกอย่างทั้งครอบครัว ถามว่ามันคุ้มไหม ถ้าได้ประชาธิปไตยมันก็คุ้ม”
ต่อมา ดร.ประแสงก็แนะนำให้ผมคุยกับ หมอเหวง โตจิราการ แกนนำ นปช. อีกหนึ่งคน พอ ดร. ประแสงแนะนำว่าผมเป็นตัวแทนมาจาก สนนท. สีหน้าหมอเหวงก็ยิ้มแย้มขึ้นมาก และคำแรกที่เขาพูดขึ้นก็คือ “ดีมาก ดีมาก คุณต้องให้นักศึกษาออกมาเยอะๆ นะคุณ คุณเป็นเยาวชน เป็นอนาคตของชาติ เรียกร้องประชาธิปไตย คุณต้องต่อสู้แบบสันติวิธีนะ ถ้าแบบอื่นเราแพ้เลย ดีมาก ดีมาก”
ผมถามหมอเหวงต่อว่า ความเป็นอยู่ในนี้เป็นอย่างไรบ้าง เขาก็ตอบกลับมาว่า
“สบายดี ข้างในเจ้าหน้าที่ดี พวกเราเองก็ผูกมิตรกับเพื่อนนักโทษด้วยกันได้ดี” หมอเหวงพูดต่ออีกว่า “เราไม่ควรทำลายอิสรภาพ ถ้าคุณได้ดูข่าวเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม DSI เป็นคนบอกเองว่า ไม่รู้เลยว่าใครเป็นคนทำ และจะมากล่าวหาว่าเราเป็นผู้ก่อการร้ายได้อย่างไร ต่อจากนั้นหมอเหวงก็ได้ร้องเพลงที่เขาแต่งไว้ ให้ผมฟัง 2 เพลง เพลงที่แต่งสมบูรณ์แล้วชื่อ “สู้ต่อไป” ซึ่งหมอเหวงบอกว่าเป็นเพลงมาร์ช หลังจากนั้นเวลาใกล้หมดแล้ว ผมก็เลยลุกออกมา เพื่อให้ อ.ธิดา เข้าไปคุยกับหมอเหวงต่อเพื่อล่ำลา หลังจากนั้นภาพอันน่าประทับใจอีกภาพหนึ่งก็เกิดขึ้น นั่นคือการรโบกมือลาด้วยความยิ้มแย้ม ระหว่างมวลชน และแกนนำของพวกเขา
[ตอนต่อไป จะมีรายละเอียดเกี่ยวกับนักโทษการเมืองอีกสองคน ที่ได้กล่าวไว้ในตอนแรก]
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น