Sat, 2010-09-25 20:04
สุรพศ ทวีศักดิ์
เท่าที่ผมลงพื้นที่เก็บข้อมูลวิจัย* เกี่ยว กับการเลือกฝ่ายทางการเมืองของพระสงฆ์ทุกภาคของประเทศ ข้อมูลที่พบคือ พระสงฆ์ส่วนใหญ่เลือกฝ่ายเสื้อแดง แม้ที่ไม่ได้แสดงตัวว่าเลือกฝ่ายไหน แต่เมื่อถามในรายละเอียดแล้วก็มักจะมีทัศนะหรือท่าทีที่เห็นด้วยกับการเรียก ร้องประชาธิปไตย และความเป็นธรรมของฝ่ายเสื้อแดง
ผมถาม (พระที่ท่านยืนยันว่าเลือกฝ่ายเสื้อแดง) ว่า ฝ่ายเสื้อเหลืองเขาชูวาทกรรมจะสู้เพื่อปกป้องสถาบัน “ชาติ ศาสน์ กษัตริย์” ไม่ใช่หรือ ทำไมพระสงฆ์ไม่เลือกฝ่ายที่ปกป้องสามสถาบันหลักนี้?
คำตอบที่ตรงกันเป็นส่วนใหญ่เลยคือ มันเป็นเพียงการอ้างสถาบันเป็นเครื่องมือต่อสู้ทางการเมือง พระสงฆ์ไม่เชื่อว่าคนเสื้อแดงส่วนใหญ่จะล้มล้างสถาบัน และเห็นว่าการใช้สถาบันมาเป็นเครื่องมือแบ่งแยกคนในประเทศออกเป็นฝักฝ่าย เป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้!
โดยเฉพาะเมื่อพูดถึง “ชาติ ศาสน์ กษัตริย์” พระสงฆ์โดยเฉพาะพระสงฆ์รุ่นใหม่ที่เป็นนิสิตนักศึกษาของมหาวิทยาลัยสงฆ์ จะตั้งคำถามมากขึ้นว่าในวาทกรรมดังกล่าวนั้น ประชาชนหายไปไหน ส่วนพระสงฆ์รากหญ้าที่มาชุมนุมกับชาวบ้านก็จะตั้งคำถามทำนองว่า ทำไมประชาชนฝ่ายเสื้อเหลืองกับเสื้อแดงจึงถูกประเมินค่าไม่เท่ากัน เป็นต้น
พระสงฆ์ที่เป็นพระผู้ใหญ่แม้ไม่ได้แสดงออกทางการเมือง แต่จากคำบอกเล่าของ “พระวงใน” ก็ดูเหมือนว่าบางท่านจะเห็นใจคนเสื้อแดง ส่วนพระหนุ่มที่ความคิดก้าวหน้าบางรูปกึงกับมองว่าหากพระสงฆ์ หรือสถาบันสงฆ์ไม่แสดงบทบาทที่ชัดเจน เมื่อสังคมเปลี่ยนแปลงไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ขึ้น พระสงฆ์หรือสถาบันสงฆ์เองอาจจะไม่มีที่ยืนในสังคม
แม้แต่พระที่เคยขึ้นเวทีเสื้อเหลือง หรือถูกมองว่าสนับสนุนฝ่ายเสื้อเหลืองบางรูป ก็ดูเหมือนความคิดจะเปลี่ยนไป มองฝ่ายเสื้อเหลืองอย่างวิพากษ์มากขึ้น เข้าใจประเด็นหลักในการต่อสู้ของฝ่ายเสื้อแดงมากขึ้น แม้ท่านเหล่านี้จะไม่ถึงกับเปลี่ยนขั้วมาสนับสนุนฝ่ายเสื้อแดง แต่ที่ค่อนข้างชัดคือมีการถอนตัวจากฟากเสื้อเหลือง หรือระมัดระวังมากขึ้นที่จะไม่ให้ถูกแอบอ้างเป็นเครื่องมือทางการเมือง เป็นต้น
หากลงไปในรายละเอียดจากการโฟกัสกรุ๊ปพระนักศึกษา พระสังฆาธิการ และนักวิชาการด้านพุทธศาสนา ข้อเท็จจริงที่พบคือพระสงฆ์จะเห็นว่าคำสอนของพุทธศาสนาให้ความสำคัญกับความ เป็นธรรมทางสังคม ปัญหาความเหลื่อมล้ำ และความเป็นประชาธิปไตยค่อนข้างมาก
เรื่องความเป็นธรรม พุทธศาสนายอมรับความเท่าเทียมในความเป็นคน เช่นที่พระพุทธองค์ปฏิเสธเรื่องวรรณะสี่ ผู้ปกครองตามความหมายที่พระพุทธเจ้าสอนในอัคคัญญสูตร (พระไตรปิฎก เล่มที่ 11) ในยุคแรกเริ่มที่เกิดสังคมการเมืองเป็นผู้ปกครองที่ประชาชนสมมติหรือแต่ง ตั้งขึ้นมา เรียกว่า “มหาชนสมมติ” เพราะความจำเป็นที่สังคมต้องมีผู้นำ
ต่อมาเมื่อผู้นำเช่นนั้นดำเนินการปกครองที่ก่อให้เกิดประโยชน์สุขแก่คน ส่วนใหญ่ ทำให้ประชาชนพึงพอใจจึงมีการเรียกผู้ปกครองเช่นนั้นว่า “ราชา” แปลว่า “ผู้ทำให้ประชาชนมีความยินดีหรือพึงพอใจ” โดยการมีคุณธรรมของราชา คือทศพิธราชธรรมเป็นต้น ซึ่งคุณธรรมดังกล่าวนี้ไม่ใช่สิ่งรองรับสถานะอันศักดิ์สิทธิ์หรืออำนาจที่ แตะต้องไม่ได้ของราชาแต่อย่างใด แต่เป็นเงื่อนไขหรือเป็นข้อเรียกร้องที่ผู้นำ (ไม่ว่าจะอยู่ในระบบราชาธิปไตยหรือไม่ก็ตาม) จำเป็นต้องมีหากผู้นำเช่นนั้นต้องมีบทบาทเพื่อ “ประโยชน์สุข” ของมหาชน
พระสงฆ์รุ่นใหม่บางส่วนมีการตั้งคำถามไปถึงว่า สถาบันสงฆ์ควรจะบทบทวนความผิดพลาดของตนเองหรือไม่ ที่ในอดีตมีการบิดเบือนคำสอนของพุทธศาสนาไปสนับสนุนสถานะอันศักดิ์สิทธิ์ของ ผู้มีอำนาจรัฐ ทั้งที่จริงแนวคิดที่สนับสนุนสถานะอันศักดิ์สิทธิ์ของกษัตริย์ตรงๆ เลย คือแนวคิดแบบพราหมณ์ หรือฮินดูที่ถือว่าพระพรหมสร้างโลก แล้วก็สร้างกษัตริย์ให้มาปกครองโลก พิธีกรรมสถาปนากษัตริย์ในสังคมไทยหลักๆ เลยที่รองรับสถานะศักดิ์สิทธิ์ของกษัตริย์คือพิธีพราหมณ์ พิธีพุทธเป็นเพียงส่วนประกอบ
แต่เนื่องจากในอดีตวัดกับวังคือแหล่งการศึกษาของสังคม ฉะนั้น วัดจึงถูกกำกับโดยวัง และถูกใช้เป็นเครื่องมือปลูกฝังความจงรักภักดีต่ออำนาจของวัง ซึ่งนั่นเป็นข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ ที่พระสงฆ์รุ่นใหม่มองว่าอาจเป็นความจำเป็นของสังคมการเมืองในยุคนั้นๆ
แต่เมื่อสังคมเปลี่ยนแปลงไปตามกฎอนิจจัง และการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ขึ้นก็สอดคล้องกับแนว คิดดั้งเดิม หรือคำสอนอันแท้จริงของพุทธศาสนา จึงไม่มีเหตุผลที่พระสงฆ์จะคัดค้านหรือไม่สนับสนุนการเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ โดยอ้างความจงรักภักดีต่อสถาบัน “ชาติ ศาสน์ กษัตริย์”
นี่คือความเห็นบางแง่มุมของพระสงฆ์ส่วนใหญ่ที่เลือกฝ่ายเสื้อแดง หรือที่ไม่เลือก (โดยการแสดงออก) แต่เข้าใจและเห็นใจฝ่ายแดง!
* งานวิจัยชื่อ “ความคิดทางจริยธรรมกับการเลือกฝ่ายทางการเมืองของพระสงฆ์ในสังคมไทย ปัจจุบัน” (ศูนย์พุทธศาสน์ศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สนับสนุนทุนวิจัย)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น