ปรับขบวนก้าวรุดไปสู่ชัยชนะ-ไทย อีนิวส์เสนอรายงานข่าวชุด"ปรับขบวนก้าวรุดไปมุ่งสู่ชัยชนะ" ท่านผู้อ่านสามารถติดตามข่าวที่เกี่ยวเนื่องในซีรีส์ชุดนี้ได้ โดยคลิ้กอ่านเพิ่มเติมที่นี่
โดย รศ.ดร.พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์
ที่มา ประชาไท
24 กันยายน 2553
บทเรียนสำคัญประการหนึ่งจากการเคลื่อนไหวประชาธิปไตยในช่วงมีนาคม-พฤษภาคม 2553 คือปัญหาการจัดการองค์การนำของขบวน ได้แก่ ประเด็นว่าด้วยสถานะของทักษิณ ชินวัตร แกนนำ นปช. “แดงทั้งแผ่นดิน” และลักษณะการจัดตั้งของขบวนประชาธิปไตย
1. เกี่ยวกับทักษิณ ชินวัตร
ปัญหาที่โต้แย้งกันมายาวนานประการหนึ่งคือ สถานะของทักษิณ ชินวัตร ในขบวนการประชาธิปไตย
ข้อถกเถียงส่วนหนึ่งเห็นว่า ทักษิณเป็นเพียงนักการเมืองที่ถูกกระทำจากรัฐประหาร 19 กันยายน จึง จำเป็นต้องใช้ประโยชน์จากการเคลื่อนไหวมวลชนเพื่อประโยชน์ตน และมีแต่ขบวนประชาธิปไตยต้องถอยห่างจากทักษิณเท่านั้น จึงจะพัฒนาเติบใหญ่เป็น “พลังประชาธิปไตยบริสุทธิ์” ได้ ความเห็นนี้มักจะมาจากปีกปัญญาชนฝ่ายประชาธิปไตย
ในทางตรงข้าม ก็มีความเห็นว่า ทักษิณ ชินวัตรคือผู้นำหนึ่งเดียวของฝ่ายประชาธิปไตย เป็นผู้ปฏิวัติสังคมที่จะนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงเชิง “ระบอบ” มีสถานะเยี่ยงผู้เปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 เช่น นายปรีดี พนมยงค์
เราจะเข้าใจสถานะ บทบาท และขีดจำกัดของทักษิณได้ก็โดยดูจากประวัติศาสตร์ ดังเช่นที่นักปรัชญาเมธีผู้ยิ่งใหญ่ได้กล่าวไว้ว่า “
ผู้คนแต่ละรุ่นนั้นถูกสาปด้วยมรดกจากคนรุ่นก่อนและจากอดีตของตนเอง”
ทักษิณ ชินวัตรมีภูมิหลังเติบโตจากต่างจังหวัด และก็เช่นเดียวกับไพร่สามัญชนที่ไต่ระดับสู่ชนชั้นนำได้สำเร็จคือ อาศัยการศึกษาและเข้าสู่เครือข่ายของระบอบจารีตนิยม ผ่านโรงเรียนเตรียมทหารและเข้าสู่ราชการตำรวจ ถูกหล่อหลอมด้วยอุดมการณ์ของจารีตนิยมมาอย่างเหนียวแน่น แม้ภายหลังจะออกจากราชการมาทำธุรกิจจนประสบความสำเร็จ ก็ยังต้องพึ่งพาอาศัยเครือข่ายราชการ รัฐวิสาหกิจและธุรกิจของจารีตนิยม ทั้งร่วมมือแบ่งปันผลประโยชน์และแข่งขันกัน ฉะนั้น ในทางอุดมการณ์การเมือง เขาจึงมีความโน้มเอียงทางจารีตนิยมเช่นเดียวกับสมาชิกชนชั้นนำอื่น ๆ นี่คือด้านที่เป็นจารีตนิยมล้าหลังของทักษิณ
แต่ พื้นภูมิหลังต่างจังหวัดที่ดิ้นรนมาอย่างยากลำบาก ภายหลังมีประสบการณ์ทางธุรกิจและความสัมพันธ์กับระบอบโลกาภิวัฒน์ของโลก ทำให้ทักษิณมองเห็นจุดเปราะบางของระบบเศรษฐกิจไทย เมื่อเข้าสู่การเมือง ก็ต้องอาศัยกระบวนการเลือกตั้งในระบอบรัฐสภาเพื่อเข้าสู่อำนาจ ท้ายสุดยังถูกกระทำร้ายจากรัฐประหาร 19 กันยายน ทำให้เขาเห็นความสำคัญของประชาธิปไตย การเลือกตั้ง และการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน นี่คือด้านที่เป็นประชาธิปไตยก้าวหน้าของทักษิณ
ลักษณะ สองด้านของทักษิณเป็นผลให้อุดมการณ์ทางการเมืองของเขามีลักษณะขัดแย้งกันเอง คือด้านหนึ่งก็ไม่กล้าแตกหักกับอำมาตยาธิปไตย ยังคงไว้ซึ่งเยื่อใย ความหวังลม ๆ แล้ง ๆ เพ้อฝันที่จะเจรจาต่อรองเพื่อประนีประนอมอยู่ร่ำไป ไม่ยอมรับความจริงว่า ฝ่ายเผด็จการต้องการทำลายตัวเขาอย่างถึงที่สุด ไม่มีความเชื่อมั่นว่า ฝ่ายประชาธิปไตยจะสามารถเอาชนะฝ่ายเผด็จการอำมาตยาธิปไตยได้ แม้เขาจะมีวิสัยทัศน์อันยอดเยี่ยมชัดเจนในการปฏิรูประบบเศรษฐกิจไทยตามแนว ทางทุนนิยมโลกาภิวัฒน์และมีความเข้าใจเรื่องประชาธิปไตยในเชิงนามธรรม แต่กลับไม่เข้าใจถึงลักษณะปฏิวัติและลักษณะที่ไม่อาจประนีประนอมกันได้ของการต่อสู้ทางชนชั้นและการต่อสู้สองแนวทางในขั้นตอนปัจจุบัน ไม่มีความชัดเจนในเป้าหมายของการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย และไม่มีวิสัยทัศน์รูปธรรมถึงการก่อรูประบอบประชาธิปไตยของไทยในอนาคต
แต่ ในอีกด้านหนึ่ง ทักษิณก็เล็งเห็นความจำเป็นที่จะต้องต่อสู้กับระบอบอำมาตยาธิปไตยเพื่อช่วง ชิงประชาธิปไตย ได้เรียนรู้จากประสบการณ์ว่า ลำพังแต่เพียงกระบวนการเลือกตั้งและพรรคการเมืองในระบอบรัฐธรรมนูญ 2550 นั้นไม่เพียงพอที่จะต่อสู้เพื่อเอาชีวิตตนให้รอด และยิ่งไม่เพียงพอที่จะช่วงชิงประชาธิปไตย หากแต่ต้องอาศัยมวลชนก่อรูปเป็นขบวนประชาธิปไตยที่เข้มแข็ง จึงจะสามารถต่อกรกับอำมาตยาธิปไตยได้
ท่าทีและจังหวะก้าวทางการเมืองของทักษิณ ชินวัตรจึงมีลักษณะไม่ชัดเจนและขัดแย้งในตัวเองเสมอมา คือ ด้านหนึ่งเขาให้การสนับสนุนและเข้าร่วมขบวนประชาธิปไตยอย่างเอาการเอางาน แต่ในอีกด้านหนึ่ง เขาก็ต่อสู้เพื่อต่อรองประนีประนอมเป็นหลัก ทั้งร้องขอ อ้อนวอน โดยหวังว่า ฝ่ายจารีตนิยมจะ “มีเหตุผล” พอที่จะยอมอ่อนข้อให้ฝ่ายประชาธิปไตย จังหวะก้าวของเขาในหลายครั้งเป็นเสมือนเอามวลชนไปต่อรองกับจารีตนิยม ก่อให้เกิดการถดถอยของขบวนประชาธิปไตยและความสับสนในหมู่มวลชน
ทักษิณ ชินวัตร มีสถานะเป็นสัญลักษณ์ของประชาธิปไตยอย่างแน่นอน มวลชนนับล้านคนได้เรียนรู้จากประสบการณ์ตรงในช่วงการบริหารของเขาภายใต้รัฐ ธรรมนูญ 2540 ว่ามีแต่ระบอบประชาธิปไตยเท่านั้นที่จะนำมาซึ่งประโยชน์ของประชาชนส่วนข้าง มากของสังคม เปิดช่องให้ได้รับส่วนแบ่งอันชอบธรรมในโภคทรัพย์มวลรวมของประเทศเพื่อสิทธิ เสรีภาพ และความกินดีอยู่ดี ในแง่นี้ ทักษิณ ชินวัตรคือแรงบันดาลใจทางประชาธิปไตยของมวลชน
ทักษิณ ชินวัตร ยังมีสถานะเป็นผู้นำของขบวนประชาธิปไตยอีกด้วย แต่เขาไม่ใช่นักปฏิวัติสังคม เขาเป็นนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จจากการเจรจาต่อรอง เป็นนักการเมืองแนวทางปฏิรูปที่ยังขาดความชัดเจนเชิงรูปธรรมของแนวทาง ประชาธิปไตย ฉะนั้น สถานะ “ผู้นำประชาธิปไตย” ของทักษิณ ชินวัตรจึงมีขีดจำกัด ซึ่งฝ่ายประชาธิปไตยจะต้องจัดการให้ถูกต้อง
“สถานะผู้นำประชาธิปไตย” ของทักษิณ ชินวัตรนั้น เป็นเชิงสัญลักษณ์ ไม่ใช่สถานะของผู้ชี้นำหรือผู้ชี้ขาดในทางยุทธศาสตร์ยุทธวิธี อัน เนื่องมาจากขีดจำกัดข้างต้น อีกทั้งยังขาดประสบการณ์เคลื่อนไหวทางการเมืองในแนวทางมวลชน การที่เขาต้องอยู่ต่างประเทศเป็นเวลานาน ยิ่งทำให้ไม่สามารถกุมสภาพของการต่อสู้ทางการเมืองในประเทศไทยได้อย่างถูก ต้อง การตัดสินใจเชิงยุทธศาสตร์ยุทธวิธีรูปธรรมในสภาพการณ์เช่นนี้จึงมีแนวโน้ม ผิดพลาดได้ง่าย
สถานะที่ถูกต้องของทักษิณในขบวนประชาธิปไตยจึงเปรียบเสมือนการดำรงตนเป็น “ประธานคณะกรรมการของบริษัท” คือ เป็นสัญลักษณ์และแรงบันดาลใจ รับรู้ทิศทางของขบวนประชาธิปไตย เข้าใจปัญหาทางหลักการและนโยบาย หนุนช่วยทุกวิถีทาง แต่ไม่บริหาร ไม่ลงสู่ยุทธศาสตร์ยุทธวิธีรูปธรรม ไม่แทรกแซงและไม่ตัดสินใจแทนฝ่ายบริหาร
2. คณะแกนนำนปช. และกลุ่มสามเกลอ “ความจริงวันนี้”
ใน ช่วงหนึ่งปีหลังเหตุการณ์เมษายน 2552 แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) “แดงทั้งแผ่นดิน” ได้ก่อรูปเป็นคณะแกนนำขึ้น แต่แกนกลางหลักยังคงเป็นกลุ่มสามเกลอ “ความจริงวันนี้” แม้ นปช.จะพยายามพัฒนาการนำแบบรวมหมู่ขึ้น แต่ก็ยังไม่เข้มแข็ง และเมื่อกลับมาเคลื่อนไหวอีกครั้งในช่วงมีนาคม-พฤษภาคม 2553 ก็ไม่อาจต้านทานกระแสการต่อสู้ที่สลับซับซ้อนได้
สาเหตุสำคัญ คือ คณะแกนนำ นปช. มีเวลาในการสั่งสมประสบการณ์น้อยมาก มิได้ผ่านการต่อสู้ร่วมกันมายาวนานพอ ยังไม่สามารถหลอมรวมกันเป็นคณะนำที่เหนียวแน่น มีเอกภาพทางอุดมการณ์และแนวทางที่ชัดเจน เมื่อเผชิญกับสถานการณ์เสี่ยงอันตรายที่จะต้องตัดสินใจเพื่อกำหนดความเป็น ความตาย ก็ไม่สามารถเห็นพ้องกันในทางยุทธศาสตร์ยุทธวิธีได้ เกิดการแตกแยกภายใน สูญเสียการกุมสภาพมวลชนและสภาพการเคลื่อนไหวไปในที่สุด
ปัจจุบัน คณะแกนนำ นปช. “แดงทั้งแผ่นดิน” ได้หมดสภาพการเป็นแกนนำของขบวนประชาธิปไตย กลายเป็นนักโทษการเมือง พวกเขารวมทั้งมวลชนอีกจำนวนมากที่ถูกจับกุมคุมขังจะเป็นเป้าหมายที่ขบวนประชาธิปไตยจะต้องต่อสู้เพื่อให้ได้อิสรภาพ พร้อมกับการบรรลุประชาธิปไตยที่แท้จริงในที่สุด
บท เรียนสำคัญคือ ขบวนประชาธิปไตยยังอ่อนเล็กเกินกว่าจะเผชิญหน้ากับฝ่ายเผด็จการได้โดยตรง นปช. “แดงทั้งแผ่นดิน” ยังไม่สามารถพัฒนาเป็นองค์กรแบบแผนที่เป็นเอกภาพ มีแนวทางบริหารทรัพยากรและการทำงานมวลชนอย่างเป็นระบบ หากแต่เป็นเพียงการเชื่อมโยงกันอย่างหลวม ๆ ระหว่างกลุ่มมวลชนในพื้นที่แกนนำพื้นที่กับคณะแกนนำนปช.ระดับชาติเท่านั้น
บทเรียนจากกลุ่มสามเกลอ “ความจริงวันนี้” คือ การเคลื่อนไหวมวลชนขนานใหญ่เพื่อบรรลุประชาธิปไตยนั้น ไม่อาจประสบชัยชนะได้ด้วยเพียงโวหารและการแสดงบนเวที จุดอ่อนของพวกเขาคือ ความโน้มเอียงไปในทาง “นำโดยตัวบุคคล” ขาดความเชื่อมั่นในการนำรวมหมู่ จุดแข็งของพวกเขาในหมู่มวลชนก็คือ พวกเขามีสัมพันธ์แนบแน่นกับทักษิณ ชินวัตร แต่จุดแข็งดังกล่าวก็กลายเป็นผลเสียเมื่อมีการดึงเอาทักษิณเข้ามาพัวพันกับ การตัดสินใจทางยุทธศาสตร์ยุทธวิธีเฉพาะหน้า กระทั่งอ้างเอาทักษิณมาขัดแย้ง หรือปฏิเสธมติของคณะแกนนำรวมหมู่ดังที่เกิดขึ้นเมื่อพฤษภาคม 2553 เป็นการทำลายหลักการประชาธิปไตยภายในขบวนเสียเอง และสร้างความเสียหายแก่การเคลื่อนไหวมวลชนในที่สุด
แกนนำ นปช. บางคนที่มิได้ถูกจับกุมคุมขังและยังเคลื่อนไหวอย่างเปิดเผยต่อไปได้ จะต้องสรุปบทเรียนความสำเร็จและจุดอ่อนที่ผ่านมาทั้งหมด รับฟังความคิดเห็นที่แตกต่างจากรอบด้าน ต้องไม่ดำเนินการซ้ำรอยเดิม ไม่หันไปสู่การนำส่วนบุคคลแบบวีรชนเอกชน จัดระยะห่างกับทักษิณ ชินวัตรและพรรคเพื่อไทยให้เหมาะสม
และที่สำคัญคือ เปิดใจร่วมมือกับมิตรสหายทั้งหลายในขบวน เพื่อเร่งปรับลักษณะองค์การนำ และการจัดตั้งของขบวนประชาธิปไตยใหม่ เพื่อกลับมาต่อสู้ไปบรรลุประชาธิปไตยในที่สุด
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น