โดย จรรยา ยิ้มประเสริฐ กลุ่มแอ็คชั่นเพื่อประชาธิปไตยในประเทศไทย(Action for People’s Democracy in Thailand )
27 กันยายน 2553
หลังเหตุการณ์สลายคนเสื้อแดงเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา พร้อมกับการทำลายสถิติการยิง ประชาชนตายบนท้องถนนมากที่สุดถึง 88 คน และบาดเจ็บร่วม 2,000 คน รวมทั้งการทำให้กรุงเทพฯ คลุ้งไปด้วยควันไฟพวยพุ่งจากใจกลางเมืองหลวง ราวกับถูกละเบิดถล่มสัก 200 ตัน
ตามมาด้วยภาพทีวีฉายให้เห็นน้ำตาของคนเมืองที่หลั่งไหลให้กับ ตึกที่ถูกเผา การเรียกร้องความเชื่อมั่นประเทศไทยคืนมา การแต่งตั้งคณะกรรมการปฏิรูปการเมือง และข้อเสนอเพื่อการปรองดองแห่งชาติ
ทั้ง นี้บทความและบทวิจารณ์ส่วนใหญ่ต่างพุ่งเป้าไปที่อดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร และแกนนำคนเสื้อแดงต่อการนำการต่อสู้ของคนเสื้อแดง ‘แพ้’ และ ข้อถกเถียงเรื่อง ถ้ายอมลงในข้อเสนอเลือกตั้ง 14 พฤศจิกายน ก็อาจจะไม่เกิดการสูญเสียชีวิตและการเผาบ้านเผาเมือง
วิพากษ์การวิเคราะห์การเมืองแบบ ‘บนลงล่าง’
เมื่ออ่านการวิพากษ์วิจารณ์จากนักวิชาการฝ่ายขวา ของพรรคประชาธิปัตย์และของชนชั้นสูง คนเสื้อแดงเป็นกลุ่มชาวบ้านที่ถูกหลอกมา ที่เข้ามาสู่การต่อสู้กับแนวร่วมต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) พราะความหลงเชื่อ หลงผิดในทักษิณ หลงคารมโวหารของสามเกลอ ถูกปลุกระดมโดยสส. ของพรรคเพื่อไทย และที่ร้ายกว่านั้นถูกกล่าวหาว่า ‘ถูกจ้างมา’
ในขณะที่นักวิชาการที่พยายามทำความเข้าใจสีแดง หรือนักวิชาการสีแดง ตระหนักได้มากขึ้นเรื่อยๆ ว่าคนเสื้อแดง ‘ได้พัฒนาเติบโตมาไกลเกินกว่าทักษิณและต้องการเรียกร้องประชาธิปไตยอย่างแท้ จริง’ และ ‘ชาวบ้านเปลี่ยนไปแล้ว’ และถกเถียงว่าด้วยเรื่องคนเสื้อแดง ‘แพ้-ไม่แพ้’
รวมไปถึงการโจมตีเรื่องการจัดวางบทบาทของทักษิณ ที่ไม่ชัดเจนและไม่สอดคล้องกับอารมณ์ของมวลชนเสื้อแดง และบทบาทของสามเกลอที่ถูกกล่าวหาว่ารับคำสั่งทักษิณ และอ่อนด้อยประสบการณ์จัดการคลื่นมหาชนขนาดใหญ่ รวมทั้งไม่ฟังมติของที่ประชุมแกนนำ แม้จะปรับกระบวนยุทธชูธงต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยและ ‘ประชาชนมาไกลเกินทักษิณ’ ในช่วงหลังก็ตาม แต่มันก็ไม่ทันการณ์เสียแล้ว
ทั้งนี้และทั้งนั้น บทวิจารณ์ทั้งหลายตั้งอยู่บนวิถีการวิเคราะห์จาก ‘บนลงล่าง’ และเป็นการวิจารณ์ที่ไม่นำประวัติศาสตร์แห่งความสัมพันธ์อันแนบแน่นของ สี่-ห้ากลุ่มอำนาจหลักในสังคมไทย หรือที่คนเสื้อแดงเรียกว่าพวกอำมาตย์ (ทหาร ชนชั้นสูง ทุนบางกลุ่ม พรรคประชาธิปัตย์ และสถาบันระดับสูง) มาเป็นองค์ประกอบในการวิเคราะห์เจาะลึกถึงต้นต่อของความบิดเบี้ยวทางการ เมืองของไทย
อาจด้วยติดขัดในกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 การวิพากษ์วิจารณ์จึงสงวนท่าที่ที่จะพูดถึงบทบาทและท่่าทีของสถาบันพระมหา กษัตริย์ในการชี้นำทางการเมือง ซึ่งมีความชัดเจนอย่างมากในการเมืองช่วงสี่ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะตั้งแต่ปลายปี 2548 จนถึงการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 และต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน
จริงๆ แล้วถ้าจะสาวให้ลึกลงไปจะเห็นว่ากลุ่มอำมาตย์ มีบทบาทในสังคมไทยมาตลอด 60 ปี นับตั้งแต่รัฐประหารโค่นรัฐบาลฝ่ายปรีดี พนมยงค์ได้สำเร็จในปี 2490 และเป็นกลุ่มอำนาจที่เล่นเกมการเมืองอย่างชาญฉลาดและรอบคอบ และแม้จะเผชิญหน้ากับประชาชนที่ลุกขึ้นเรียกร้องประชาธิปไตยและขับไล่เผด็จ การมาหลายครั้ง รวมทั้งให้การรองรับคณะรัฐประหารถึง 7 คณะ ก็ยังสามารถเก็บเกี่ยวความดีความชอบมาได้อย่างต่อเนื่องและมั่นคงขึ้น เรื่อยๆ
จำต้องย้ำเตือนกันอีกครั้งว่า สถิติการเมืองไทย 78 ปีที่ผ่านมา นั้นมีหน้าตาที่ขี้ริ้วขี้เหร่เช่นไร ด้วยจำนวนนายกรัฐมนตรี 27 คน รัฐประหารและการปฏิวัติกว่า 20 ครั้ง การลุกขึ้นสู้ของประชาชนและถูกปราบปรามอย่างเหี้ยมโหดหลายครั้ง (2492 - 2495 – 2516 - 2519 - 2535 - 2552 - 2553) รัฐธรรมนูญ 18 ฉบับ และมีนายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้งเพียงคนเดียวที่อยู่ครบเทอม (ทักษิณ 1, 2544-2548)
ตลอด 60 ปีที่ผ่านมาอำมาตย์ประชาสัมพันธ์มอมเมาลัทธิประชาธิปไตยแบบไทยว่า การเลือกตั้งไม่สำคัญเพราะชาวบ้านเลือกแต่คนเลว คนโกงบ้านโกงเมือง รัฐประหารในนามปกป้องราชบัลลังก์กระทำได้ เพื่อช่วยจัดการนักการเมืองคอรัปชั่น และมอบอำนาจคืนให้พระมหากษัตริย์ช่วยคัดสรรคนดีเข้ามาบริหารบ้านเมือง แนวคิดเรื่อง ‘ประชาธิปไตยคนดี’ ‘แต่งตั้งโดยคนดี’ จึงได้ค่อยๆ กัดกร่อนทำลายความเชื่อเรื่องหลักการประชาธิปไตยตัวแทน และความสำคัญของการเลืิอกตั้งไปได้อย่างไม่น่าเชื่อ
มองกลับมุม วิเคราะห์จากล่างขึ้นบน
ทั้งนี้เมื่อลองวิเคราะห์จาก ‘ล่างขึ้นบน’ หรือในตรรกะประชาธิปไตยจากฐานล่าง ‘Democracy from Below’ สังคมจำต้องวิเคราะห์ถึงที่มาของกลุ่มคนหลายแสนคนที่มาอยู่บนท้องถนนในช่วง เดือนมีนาคม จนถึงพฤษภาคมที่ผ่านมา ซึ่งเป็นจำนวนมากที่สุดเท่าที่เคยปรากฎบนท้องถนนในกรุงเทพฯ
คำถาม คือ คลื่นคนทั้งสี่ห้าแสนคน และถ้ารวมกันทั้งประเทศก็นับล้านคน ออกมาประท้วงเพื่อทักษิณเพียงคนเดียวจริงหรือ? และถ้ามาเพราะรักทักษิณจริงๆ สังคมต้องตั้งคำถามว่า มันเกิดอะไรขึ้น ไม่ใช่พยายามไปยัดเยียดคำตอบให้ชาวบ้าน เช่นที่นักวิชาการหลายคนกำลังทำกันอยู่ เพราะไม่ยอมรับความจริง?
ประเด็นที่นักวิชาการและนักวิเคราะห์ไม่ควรจะหลงลืม คือประชาธิปไตยในประเทศไทย แม้จะไม่เคยสมบูรณ์ ถูกปล้นและถูกครอบงำอยู่บ่อยครั้ง แต่มันก็กินระยะเวลามาถึง 78 ปี ระยะเวลานี้ ถือว่ายาวนานพอสมควรที่จะทำให้ประชาชนตระหนักได้ถึงอำนาจของสิทธิและเสียง ของตัวเองอยู่บ้าง ไม่มากก็น้อย
และถึงแม้ว่าชาวบ้านจะเออออห่อหมก ไปกับระบบอุปถัมภ์และระบบเส้นสายในสังคมไทย พร้อมทั้งรับเงินซื้อเสียงในทุกระดับของการเลือกตั้ง แต่พวกเขาก็ยังคงต้องใช้เงินหลายหมื่นบาทไปกับการ ติดสินบนตำรวจเพื่อเอาลูกหรือเอาพ่อออกจากคุก จ่ายใต้โต๊ะเพื่อซื้อตำแหน่งงานให้ลูกสาว หรือเพื่อเป็นค่าติดสินบนโน่นนี่ที่เรียกกันว่า ‘ค่าอำนวยความสะดวก’ หรือ ‘ค่าน้ำร้อนน้ำชา’
พวกเขารู้ดีว่านั่นคือการคอรัปชั่น นั่นคือการเอาเปรียบคนจน สิ่งที่เห็นและเป็นอยู่ในหมู่บ้านไทย ในปัจจุบัน จึงไม่ใช่ว่าชาวบ้านไม่รู้ว่าการเมืองคืออะไร หรือคอรัปชั่นคืออะไร แต่ชาวบ้านไม่กล้าลุกขึ้นมาต่อกรตามลำพัง เพราะคิดว่าตัวเองไม่มีอำนาจ รักษาตัวรอด และเล่นไปตามกระแสจะปลอดภัยกว่า
ดังนั้นเมื่อเกิดปรากฎการณ์ ‘แตงทั้งแผ่นดิน’ ชาวบ้านในหลายจังหวัดโดยเฉพาะจากภาคเหนือ และภาคอีสานที่อยู่ไกลการพัฒนามากที่สุด จึงได้ระดมเงิน อาหาร และผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันมาร่วมประท้วงกับคนเสื้อแดงที่กรุงเทพฯ โดยแต่ละคนต้องควักกระเป๋าตัวเอง หรือใช้เงินที่เพื่อนบ้านช่วยกันรวบรวมให้มา
ปรากฎการณ์เสื้อแดง ครั้งนี้มันจึงมีนัยยะสำคัญที่มากกว่าแค่การอธิบายเหมารวมว่าชาวบ้านมาเพื่อ ทักษิณ (และทักษิณและพรรคเพื่อไทยก็ไม่ควรเหมารวมว่าตัวเองเป็นเจ้าของชาวบ้านด้วย) เพราะหนึ่งในแรงขับเคลื่อนของการเข้าร่วมสู้กับคนเสื้อแดงของชาวบ้านและคน เมือง คือความคับแค้นต่อความอยุติธรรมที่ต้องสยบยอมอยู่ใต้ฝ่าเท้ามาทั้งชีวิต และภาวะสุดทนต่อการถูกปล้นสิทธิและประชาธิปไตยซ้ำแล้วซ้ำเล่า
ดัง เราจะเห็นได้ว่าท้ายที่สุดเมื่อท่าทีแกนนำและทักษิณอ่อนลง ชาวบ้านต่างหากที่บอกว่า เราไม่ยอม และจะยืนหยัดสู้แม้ว่าแกนนำจะถูกจับไปแล้วก็ตาม
จากการที่ได้คุยกับชาวบ้านหลายคนทั้งที่มาประชุมและในหมู่บ้านที่อีสาน และในภาคเหนือ ในช่วงสี่ปีที่ผ่านมา ชาวบ้านจำนวนไม่น้อยทีเดียวที่อยู่ร่วมประวัติศาสตร์การต่อสู้เพื่อ ประชาธิปไตย ตั้งแต่ยุค 14 ตุลาฯ 6 ตุลาฯ เช่นเดียวกับเสกสรรค์ ประเสริฐกุลและธีรยุทธ บุญมี และร่วมในพฤษภาฯ 35 เช่นเดียวกับจำลอง ศรีเมืองและสมศักดิ์ โกศัยสุข
หลายคนยังคงเจ็บปวดจากการนำที่ผิด พลาด ของแกนนำมาหลายครั้งหลายครา กระนั้นก็ตามพวกเขาก็ยังคงเข้าร่วมในการขับเคลื่อนเพื่อประชาธิปไตย เกือบทุกครั้ง และมีส่วนสำคัญยิ่งในการมาช่วยเสริมจำนวนคนให้เป็นหมื่น เป็นแสน และเป็นล้านคน
แต่กระนั้นก็ตาม ชาวบ้านทั้งหลายไม่เคยมีน้ำหนักในการชี้นำการต่อสู้ หรือได้ขึ้นปราศรัยถึงความคิดความต้องการของตัวเอง เมื่อได้ฟังเสียงสะท้อนของคนเสื้อแดงที่ตอบสื่อเมื่อถูกถามว่าประชาธิปไตย คืออะไร มันเป็นคำถามย้อนกลับมายังหลายคนว่า ทำมันมันจึงเป็นเรื่องยากเหลือเกินสำหรับชาวบ้านที่เห็นการเลือกตั้งมาตลอด ชีวิต ทุกปี ปีละหลายรอบ จะสามารถทำความเข้าใจได้ว่า แค่การเรียกร้องให้ยุบสภา แล้วจัดเลือกตั้งใหม่ ทำไมรัฐบาลถึงกับต้องเข่นฆ่าสังหารพวกเขาอย่างเหี้ยมโหดด้วย?
พวก เขาไม่เข้าใจว่า ถ้าบอกว่าประชาธิปไตยไม่ใช่แค่การเลือกตั้ง แต่แค่การเลือกตั้งยังให้พวกเขาไม่ได้ แล้วประชาธิปไตยที่สูงกว่านั้นคืออะไร ใครตอบพวกเขาได้ไหม?
นักวิชาการและนักวิเคราะห์ที่ยังมองว่าชาวบ้านไร้เดียงสา ไม่รู้จักการเมือง ไม่รู้จักประชาธิปไตย หรือรู้จักเพียงผิวเผินแค่ประชาธิปไตยกินได้ อาจจำจะต้องทบทวนวิธีคิดและการวิเคราะห์กันครั้งใหญ่ต่อ เหตุการณ์การปราบปราบคนเสื้อแดง และความอยุติธรรมต่างๆ ที่คนเสื้อแดงได้รับ ทั้งนี้การสูญเสีย และการยืนหยัดลุกขึ้นสู้แทบจะทันทีหลังจากถูกปราบปรามอย่างเหี้ยมโหดเมื่อ เดือนพฤษภาคม ของคนเสื้อแดง ทำให้ผู้รักประชาธิปไตยจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ลุกขึ้นมาทำความเข้าใจการเปลี่ยนแปลงในสังคมชนบทและสังคมเมือง
ในขณะที่กลุ่มอำนาจเดิม (นักวิชาการเรียก ‘กลุ่มทหารและกลุ่มอนุรักษ์-กษัตริย์นิยม’) ทหารและยังใช้ยุทธวิธีรัฐประหารปี 2549 เช่นเดียวกับที่ใช้ประสบความสำเร็จเมื่อปี 2490
แต่ สิ่งที่เปลี่ยนไปครั้งนี้ที่อาจจะไม่ทำให้ประวัติศาสตร์่ซ้ำรอยเดิม คือ แม้อำมาตย์จะไม่เปลี่ยน ยุทธวิธี แต่ชาวบ้านเปลี่ยนไปแล้ว (มีการศึกษามากขึ้น มีบทเรียนแห่งความเจ็บปวดหลายครั้ง และมีช่องทางการเรียนรู้จากสื่ออื่นๆ ที่รัฐไม่ประสบความสำเร็จในการควบคุมได้มากขึ้น ฯลฯ)
โลกก็เปลี่ยนไปแล้วเช่นกัน วิถึการเมืองแบบอำมาตย์ ในทศวรรษที่ 2490-2520 ที่ได้รับการอุดหนุนจากรัฐบาลสหรัฐฯ และชาติตะวันตก ที่ต้องการไทยให้ช่วยในสงครามเกาหลีและสงครามเย็น อาจใช้ไม่ได้ในสถานการณ์ปัจจุบัน เพราะ
1) สหรัฐฯ ไม่จำเป็นต้องใช้ไทยเป็นฐานในภูมิภาค เพราะการเจรจาการค้าทำได้โดยตรงกับจีนอยู่แล้ว และฐานที่มั่นของสหรัฐฯ ในปัจจุบัน ในภูมิภาคอินโดจีนอยู่ที่เขมร ไม่ใช่ที่ประเทศไทย
2) สื่อทางเลือกและสื่ออิสระมีจำนวนมากขึ้น แม้รัฐบาลจะคุมสื่อกระแสหลักได้หมด แต่ก็ไม่สามารถคุมสื่ออินเตอร์เนตได้อย่างเบ็ดเสร็จ แม้จะบล๊อคเวบเพจกว่าแสนเวบก็ตาม
รวม ทั้งรัฐไม่สามารถคุมสื่อนอกและสื่ออิสระของไทยที่เกาะติดสถานการณ์ และได้ฉายภาพความจริงประเทศไทยต่อประชาคมโลก จึงเป็นไปไม่ได้ที่ประเทศไทย ถ้ายังอยากจะอยู่ในประชาคมโลก จะใช้ข้ออ้างการเมืองว่าเป็นเรื่องภายในประเทศ และเป็นการเมืองแบบไทยๆ ได้อีกต่อไป
3) ที่สำคัญผู้เสียหายและครอบครัวของผู้เสียชีวิตกล้าให้ปากคำข้อเท็จจริงกันเป็นจำนวนมาก ซึ่งตรงนี้จะส่งผลทางด้านการนำเสนอข้อมูลต่อสาธารณชน ทั้งระดับหมู่บ้าน จนถึงระดับโลก
4) ในสภาวะการเมืองที่ไม่สามารถสร้างมาตรฐานเดียวแห่งความเป็นธรรมและการดูแลประชาชน การ คอรัปชั่นจะเป็นปัญหาใหญ่ที่ทำให้ทั้งการเมือง เศรษฐกิจและสังคมของประเทศไม่มีเสถียรภาพ และไม่มั่นคง และท้ายที่สุดจะเกิดวิกฤติเศรษฐกิจซ้ำแล้วซ้ำเล่า แม้ว่ารัฐบาลจะโหมประชาสัมพันธ์สร้างภาพฟื้นความเชื่อมันประเทศไทย และแม้แต่มนต์เสน่ห์แห่ง ‘สยามเมืองยิ้ม’ ก็ไม่สามารถลบภาพความจริงแห่ง ‘กระบอกปืน ความตาย และควันไฟ’ ให้หายไปจากใจคนเสื้อแดงได้
5) การต่อสู้ของคนเสื้อแดงเป็นการต่อสู้ที่มีประชาชนเข้าร่วมมากที่สุดในประวัติศาตร์ และ เมื่อชาวบ้านเขียนจดหมายถึงฟ้า ท้ายที่สุดถ้าอำมาตย์ไม่ปรับตัว ประชาชนจะลุกขึ้นสู้มากขึ้น ซึ่งเป็นไปตามครรลองของการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองของทุกประเทศในโลก ที่ว่า “ที่ใดมีการกดขี่ที่นั่นย่อมมีการลุกขึ้นสู้’
หลังเหตุการณ์ปราบปรามประชาชนพฤษภาคม 2553 แม้แต่คนที่ไม่เคยยุ่งกับการเมืองมาก่อน ยังได้ลุกขึ้นมาสนับสนุนคนเสื้อแดง ด้วยประจักษ์กับความจริงและความเจ็บปวดของคนเสื้อแดงมาต่อเนื่อง หลายปี ภายใต้การเมืองสองมาตรฐาน และเอียงกระเท่เร่อย่างชัดเจนของรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ ตำรวจ เหล่าทัพ และ(เซ็นเซอร์) ที่ปฏิบัติต่อคนเสื้อเหลืองและเสื้อแดงแตกต่างกันจนเห็นได้อย่างชัดเจน อาทิ ภาพข่าวที่คนเสื้อเหลืองเสียชีวิตแล้วได้รับความอนุเคราะห์เป็นกรณีพิเศษจาก บุคคลระดับสูง แต่คนเสื้อแดง 91 คน ที่เสียชีวิต ไม่มีการให้ความอนุเคราะห์เป็นกรณีพิเศษแม้แต่คนเดียว (ยกเว้นเสธ.แดง แต่ก็ไม่ได้มีการอนุเคราะห์เป็นกรณีพิเศษอย่างยิ่งแบบกรณีงานศพเสื้อ เหลืองอยู่ดี)
เรื่องการดำเนินคดีกับแกนนำพันธมิตร 80 คน ที่อืดอาดเชื่องช้ายิ่งกว่าเรือเกลือ ผ่านมาแล้วร่วมสองปี ยังไม่มีแกนนำคนได้ถูกดำเนินคดีและได้รับหมายจับแม้แต่คนเดียว ต่างกับแกนนำ นปช ที่ถูกจับ และยังอยู่ในคุก ห้ามประกันตัว และหลายสิบคนมีหมายจับอยู่บนหัว ต้องหลบหนีกันหัวซุกหัวซุน
แม้แต่อดีตนายกรัฐมนตรีในฟากพรรคเพื่อไทยถึงสองคน จะขอเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเมื่อเดือนเมษายน เพื่อพระราชทานขอให้ทรงดับวิกฤตการณ์ แต่อดีตนายกฯทั้งสองคน กลับถูกสื่อและรัฐบาลออกมาโจมตีอย่างหนักว่ามีพฤติกรรมไม่เหมาะสม และไม่เคารพเบื้องสูง อาจเข้าข่ายเจอคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ
แม้แต่อดีตนายกรัฐมนตรีถึงสองท่านยังเข้าพบในหลวงไม่ได้ แล้วปัญหาของคนเสื้อแดงจะถูกนำเสนอถึงพระเนตรพระกรรณได้อย่างไร?
อดีตนายกรัฐมนตรีของฝากพรรคเพื่อไทย (พลังประชาชน, ไทยรักไทย) ถึงสามคนในช่วง 5 ปี ที่ผ่านมา ต้องหลุดจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จากการทำรัฐประหารและจากการตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ
การผ่าทางตันทางการเมืองไทยต้องมีวิสัยทัศน์เพื่อประชาธิปไตย ที่ก้าวหน้ากว่า ’14 ตุลาฯ และพฤษภาฯ ’35
เพียง 15 ปี หลังการปักหมุดประชาธิปไตยที่ลานพระบรมรูปทรงม้าเมื่อปี 2475 ประชาธิปไตยของไทยก็ถูกปล้นคืนสู่อำนาจของเครือข่ายอำมาตย์ และกองกำลังทหารบก ที่ทำการปฎิวัติ 2490 ส่งผลให้ผู้นำความคิดด้านประชาธิปไตยของไทยหลายท่านต้องลี้ภัยอยู่ต่าง ประเทศจนสิ้นชีวิต
การขับเคลื่อนเพื่อประชาธิปไตยถูกตีแตกพ่าย ครั้งแล้วครั้งเล่า จากกลุ่มอำนาจทางการเมืองกลุ่มเดิม ไม่เคยเปลี่ยนแปลง - กลุ่มคนเดียวกันที่โค่นอำนาจรัฐบาลฝ่ายปรีดี พนมยงค์ในปี 2490 และรัฐบาลทักษิณ ชินวัตรในปี 2549 - และภายใต้ข้อกล่าวหาที่ไม่ต่างกันเลยคือ ‘ไม่เคารพสถาบันพระมหากษัตริย์’
สถาบันพระมหากษัตริย์แม้จะไม่ได้มีอำนาจอันเบ็ดเสร็จในกลุ่มอำนาจในการเมือง ไทย แต่ก็เป็นสถาบันสูงสุดทางสัญญลักษณ์จนยากที่จะปฏิเสธได้ แม้แต่ตัวทักษิณเองก็ได้ใช้งบประมาณชาติจำนวนไม่น้อยไปกับการส่งเสริมและ สนับสนุนกิจกรรมของสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยเขาอาจหวังว่าจะได้เป็นที่รักและไว้ใจจากสถาบันแทนที่พรรคประชาธิปัตย แต่เขาประเมินผิดเพราะทั้งพรรคประชาธิปัตย์ นายทุนชาติ ทหารบก ชนชั้นสูง (เลือดสีน้ำเงิน) และ(เซ็นเซอร์)เกาะเกี่ยวกันอย่างเหนียวแน่นจนยากที่จะสั่นคลอนได้
มันจึงเป็นความผิดพลาดครั้งใหญ่ของทักษิณ ที่ประเมินสายสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มอำนาจเก่า ต่ำเกินไป ทำให้ในยามที่เรืองอำนาจเขาไม่ได้พยามใช้อำนาจในรัฐสภาจัดการสลายขั้วอำนาจ ทางการเมืองเก่าให้สำเร็จ โดยเฉพาะไม่ยกเลิกกฎหมายที่เป็นกฎเหล็กที่คุ้มครองขั้วอำนาจนี้มาอย่างยาว นาน ซึ่งก็ได้แก่กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ (ทักษิณก็ยังส่งเสริมการใช้กฎหมายตัวนี้กับประชาชน เสียด้วยซ้ำ)
เป็นเพราะแกนนำเสื้อแดงโดยเฉพาะทักษิณไม่ยอมรับและไม่ตระหนักถึงความแนบแน่น แห่งความสำพันธ์ของกลุ่มที่กุมอำนาจการเมืองไทยอยู่ในขณะนี้ ในขณะที่เขามีบทบาทสูงในการชี้นำการต่อสู้ของคนเสื้อแดง ‘คลื่นพลังแดงทั้งแผ่นดิน’ จึงดูราวกับไม่มีวาระแห่งขบวนการที่ชัดเจน มุ่งเพื่อการได้รับพระมหากรุณาธิคุณ ไร้ซึ่งวิสัยทัศน์ระยะยาวเพื่อสร้างความเข้มแข็งแห่งระบอบประชาธิปไตยของ ชาติ จนนำมาซึ่งการถูกวิจารณ์ว่า ‘พ่ายแพ้’ พร้อมกับโศกนาฎกรรมสยามครั้งร้ายแรงที่สุดในการต่อสู้บนท้องถนน - การสังหารประชาชนร่วม 90 คน - ยิ่งถ้านับรวมประชาชนที่เป็นเหยื่อของการดำเนินงานทางการเมืองที่ผิดพลาดของ ทั้งทักษิณ และอภิสิทธิ์นับตั้งแต่ปี 2544 เป็นต้นมา รวมกันก็คงร่วมแปดพันคน (ทั้งเหยื่อจากนโยบายการปราบปราบ ยาเสพติด เหยื่อความรุนแรงที่ภาคใต้ที่ยังไม่ยุติ และผู้เสียชีวิตทั้งเสื้อเหลืองและเสื้อแดง)
นับตั้งแต่รัฐประหาร 2549 ชาวบ้านที่ยอมรับและทนรับไม่ได้มากขึ้นเรื่อยๆ ถึงการไร้มาตรฐานในทุกสถาบันของประเทศไทย และลุกขึ้นมาวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างเปิดเผยอย่างที่ไม่เคยทำมาก่อน ถึงบทบาทที่ควรจะเป็นของ(เซ็นเซอร์)ในการเมืองไทย
ดังนั้นเมื่อทักษิณโฟนอินเมื่อวันที่ 19 กันยายน วันกิจกรรมรำลึกสี่ปีรัฐประหารว่ายินดีจะปรองดองเพื่อความสงบของบ้านเมือง คำพูดของทักษิณครั้งนี้ จึงไม่ใช่น้ำทิพย์ชโลมใจชาวบ้านอีกต่อไป แต่เป็นเช่นน้ำมันราดกองไฟ จนเกินกระแสไม่พอใจในหมู่่คนเสื้อแดงจำนวนมากต่อการโฟนอินของงทักษิณครั้ง นี้
และกระแสทิ้งทักษิณไว้เบื้องหลังก็เป็นที่พูดถึงมากขึ้นเรื่อยๆ
ก้าวต่อไปของการต่อสู้
คนเสื้อแดงจำต้องรู้ว่าการต่อสู้ครั้งนี้คือการต่อสู้กับขั้วอำนาจทางการ เมืองที่ทรงพลังยิ่งนัก กลุ่มอิทธิพลการเมืองไทยที่สั่งสมประสบการณ์ กองกำลัง อำนาจและบารมี มาอย่างยาวนาน จึงไม่ใช่ความผิดของแกนนำ หรือของคนเสื้อแดงที่ไม่สามารถแก้ปมการเมืองไทยที่มีมา 60 ปีได้
เพราะ มันไม่ใช่หน้าที่ของคนเสื้อแดงเท่านั้น แต่ประเทศชาติยามนี้ต้องการเสียสละและปรองดองอย่างยิ่ง ไม่ใช่จากประชาชนที่ได้เสียสละมามากเกินพอแล้ว แต่จากกลุ่มอำมาตย์ที่กุมอำนาจและกำกับทิศทางของประเทศมากว่า 60 ปีแล้ว
ถึง เวลาที่อำมาตย์จะต้องเสียสละและคืนความสงบสุขให้กับบ้านเมือง ยกเลิกหรือยุติการใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพกับคนที่คิดต่าง รับฟังเสียงประชาชนอย่างแท้จริง หยุดเล่นการเมือง จำกัดบทบาทของทหาร และปล่อยให้ประชาชนสร้างความเข้มแข็งของระบอบประชาธิปไตยจากล่างขึ้นบน แม้จะเป็นไปอย่างเชื่องช้า แต่ประชาธิปไตยทางลัดที่เห็นและเป็นอยู่มากว่า 70 ปี ก็เป็นข้อพิสูจน์แล้วว่า ‘ยิ่งลัด-ยิ่งหลงทาง’
แต่มันไม่ง่ายแน่นอน ดังนั้นยุทธศาสตร์การต่อสู้นับแต่นี้ต่อไป จะต้องเป็นยุทธศาสต์ที่หลากหลายรูปแบบไม่ใช่เฉพาะการอยู่บนท้องถนนเท่านั้น แต่ต้องกระจายไปทุกหัวเมืองสำคัญ มีการเชื่อมประสานกิจกรรมในหมู่คนไทย และกับกลุ่มผู้ร่วมต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยไทยในประเทศต่างๆ และองค์กรนานาชาติ ไม่ควรมีการรวมศูนย์อำนาจ และต้องช่วยกันจุดเทียนเล่มน้อยกระจายตัวทั่วทุกชุมชน และทั่วทุกประเทศในโลกนี้
ขณะเดียวกันต้องอ่อนไหวระหว่างกันในการ ประสานแนวร่วม-สงวนจุดต่างทางอุดมการณ์และยุทธวิธี บทบาทของทักษิณและพรรคเพื่อไทย ควรอยู่ในฐานะแนวร่วมหนึ่งของการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยไม่ใช่เจ้าของคน เสื้อแดง
การเคลื่อนขบวนของคนเสื้อแดงต่อไปนี้จำต้องเปิดพื้นที่เสรีภาพให้กับความคิด สร้างสรรค์ด้าน กิจกรรมของแต่ละกลุ่มมากขึ้น และหรือจะเข้าร่วมกับกลุ่มกิจกรรมที่ประกาศโดยแกนกลาง หรือแกนนอน หรือแกนนำก็ได้ไม่ว่ากัน และควรจะเป็นการต่อสู้แนวราบ ไม่ใช่แนวดิ่ง
แน่นอนว่ายังจำเป็นที่จะต้องมีส่วนกลาง (อาจจะหลายกลุ่มก็ได้) ที่ทำหน้าที่ประสานเครือข่ายและกลุ่มเคลื่อนไหวจากทุกส่วนไว้ให้ได้ในระดับ หนึ่ง ทั้งเรื่องการกำหนดวันกิจกรรม ประสานกิจกรรมร่วม สร้างชุดคู่มือคำแนะนำต่างๆ ในการเตรียมตัวเข้าร่วมประท้วงและการป้องกันตัว ผลิตเอกสารวิชาการเกี่ยวกับประชาธิปไตยอย่างง่ายๆ คู่มือกฎหมายสำหรับผู้เข้าร่วมชุมนุมเมื่อถูกตำรวจจับ สร้างทีมทนายอาสา ทีมแพทย์อาสา ทีมสาธารณูปโภค ที่เป็นส่วนกลาง เป็นต้น
การประสานงานต่อสู้ต่อไปนี้ต้องพยายามสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของผู้เข้า ร่วมประท้วงและส่งเสริมให้มีการเลืิอกตั้งตัวแทนของทุกกลุ่มที่เข้าประท้วง ให้เข้าร่วมมีส่วนกำหนดทิศทางการขับเคลื่อนการต่อสู้ให้มากขึ้น และส่งเสริมให้้มีสัดส่วนหญิงและชายที่เท่าเทียมกัน
ในสังคมที่มีความหลากหลาย จำเป็นจะต้องยอมรับซึ่งกันและกันให้ได้ว่า แต่ละกลุ่มที่ขับเคลื่อนเรื่องประชาธิปไตยของชาติ นั้นสามารถมีความหลากหลายทางยุทธศาสตร์ การต่างระดับของเป้าหมาย และยุทธวิธีขับเคลื่อนที่ไม่เหมือนกัน
ในขณะเดียวกันในทุกด้านที่ทำ ได้ จำต้องส่งเสริมให้เกิดความเชื่อมั่นให้กับคนเสื้อแดง และประชาชนชาวไทยว่ามีสิทธิ์ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย และส่งเสริมให้ชาวบ้านในพื้นที่ทำหน้าที่ควบคุม เจ้าหน้าที่รัฐในท้องถิ่นไม่ให้คอรัปชั่นและใช้อำนาจในทางมิชอบไปด้วย
ใน ขณะเดียวกัน ถ้าอยากได้ประชาธิปไตย ต้องช่วยกันสร้างให้เกิดวัฒนธรรมประชาธิปไตยในทุกระดับตั้งแต่ระดับครอบครัว ชุมชน จนถึงระดับชาติ
และเมื่อนั้นคนเสื้อแดงจะสามารถเปล่งเสียงได้อย่างภาคภูมิใจ จะปรองดองกัน ถามคนเสื้อแดงก่อนนะ!
*******
ข่าวเกี่ยวเนื่อง:ว่าด้วยการ"ปรับขบวนก้าวรุดไปสู่ชัยชนะ"
Posted by นักข่าวชาวรากหญ้า at 9/27/2010 03:04:00 หลังเที่ยง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น