Wed, 2010-09-29 04:36
28 ก.ย.53 นายคารม พลกลาง ทนายความ นปช. ให้สัมภาษณ์ว่า ในการตรวจพยานหลักฐานคดีก่อการร้ายของแกนนำ 19 คนเมื่อวานนี้ (27 ก.ย.) นั้น ทนาย 19 คนของจำเลยทั้งหมดไม่ลงนามรับรองรายงานกระบวนพิจารณาของศาล เนื่องจากไม่เห็นด้วยในหลายประการ และจะทำยื่นคำร้องของเพิกถอนรายงานกระบวนพิจารณาดังกล่าวภายในสัปดาห์นี้
นาย คารม กล่าวถึงรายละเอียดว่าสาเหตุที่กลุ่มทนายไม่ยอมลงนามในรายงานกระบวนพิจารณา นั้น กรณีแรกตั้งแต่เริ่มต้นกระบวนการทนายได้ขอให้ศาลเปลี่ยนจากห้องพิจารณาคดี 908 เป็นห้องขนาดใหญ่ขึ้น เนื่องจากผู้เกี่ยวข้องมีจำนวนมาก มีจำเลย 19 คน ทนาย 19 คน ไม่รวมอัยการและญาติของจำเลยบางส่วน แม้ว่าคนเสื้อแดงหลายสิบคนที่มาให้กำลังใจออกไปอยู่หน้าห้องพิจารณาคดีแล้ว ก็ตาม แต่ศาลเห็นว่าไม่จำเป็นต้องเปลี่ยน ทำให้ดำเนินการอย่างอึดอัด ทนายไม่มีที่นั่ง ต้องพากันนั่งพื้น
นอกจากนี้ยังมีการตัดพยานจำเลยออกเป็นจำนวนมาก แม้ว่าพยานฝ่ายอัยการจะมีกว่า 300 ปาก ฝ่ายจำเลยกว่า 200 ปาก แต่ก็ถือเป็นสิทธิของจำเลยที่จะได้สืบพยานเพื่อต่อสู้กันในศาล อีกทั้งยังมีการระบุในรายงานว่าหากภายใน 2 เดือนไม่ส่งพยานหลักฐานเอกสารต่างๆ ให้โจทก์ตรวจ ให้ถือว่าฝ่ายจำเลยไม่ติดใจสืบพยานอีก ซึ่งทนายความต้องการให้ชี้ชัดว่าเป็นคำสั่งของศาล ไม่ใช่ความต้องการของฝ่ายจำเลย
สำหรับกรณีคำร้องของจำเลยบางส่วนรวมถึงกลุ่มญาติผู้เสียชีวิต 10 เม.ย. ที่ยื่นคำร้องต่อศาลอาญา เพื่อขอให้มีการไต่สวนเรื่องชันสูตรพลิกศพ 9 ผู้เสียชีวิตที่ยังไม่ได้ฌาปนกิจนั้น นายคารมระบุว่า ในช่วงเย็นวันเดียวกัน (27 ก.ย.) ศาลได้มีคำสั่งยกคำร้อง เนื่องจากผู้ที่มีอำนาจยื่นขอไต่สวนชันสูตรพลิกศพคือพนักงานอัยการเท่านั้น ทำให้ญาติผู้เสียชีวิตทั้ง 9 รายซึ่งมารอตั้งแต่ช่วงเช้าแสดงความผิดหวังก่อนแยกย้ายกันกลับ
"ตอน แรกเราคิดว่าไม่น่ามีปัญหา เพราะนี่เป็นลูกของเรา เราอยากจะให้ชันสูตรให้ถูกต้อง จะได้นำข้อมูลไปเพื่อพิสูจน์ความจริง เรียกร้องความเป็นธรรมได้ แล้วจะได้เผาให้จบไป สงสารลูก" นางสุวิมล ฟุ้งกลิ่นจันทร์ มารดาของเทิดศักดิ์ ฟุ้งกลิ่นจันทร์ วัย 29 ปี หนึ่งในผู้เสียชีวิตจากการสลายการชุมนุมวันที่ 10 เม.ย.53
นาย ปรีดา นาคผิว ทนายความจากคณะกรรมการรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน ซึ่งเป็นทนายของจำเลยคนหนึ่งในนั้น กล่าวถึงการไม่ลงชื่อในรายงานกระบวนพิจารณาของศาลว่า เนื่องจากมีการตัดพยานที่จะนำสืบออกไปจำนวนมากเพื่อให้รวบรัด และในวันนั้นไม่ได้ดำเนินการพิจารณาโดยให้จำเลยมาต่อหน้าศาลในช่วงบ่าย อีกทั้งนัดหน้า (27 ธ.ค.) ศาลก็ระบุว่าจะไม่ให้นำจำเลยมาศาลด้วย โดยอ้างว่าเป็นเพียงการตรวจพยานหลักฐาน ห้องพิจารณาคดีก็คับแคบ ไม่ต้องการให้ผู้ไม่เกี่ยวข้องเข้าร่วมฟัง ทั้งที่ความจริงประชาชนมีสิทธิเข้าร่วมฟังการพิจารณาและการพิจารณาต้องเป็น ไปโดยเปิดเผย
นอกจากนี้นายปรีดายังกล่าวว่า ขณะนี้มีผู้ประกอบการกว่า 30 รายขอเป็นโจทก์ร่วมกับอัยการเนื่องจากได้รับความเสียหายจากเหตุการณ์ความวุ่นวายและต้องการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายด้วย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น