Thu, 2010-07-01 10:15
นักปรัชญาชายขอบ
ต่อให้ผมรังเกียจทักษิณขนาดไหน แต่เพียงเปรียบเทียบแค่สองกรณีคือ 1) ตำนานเซ็นชื่อให้เมียซื้อที่ดิน กับตำนานเขายายเที่ยง และ 2) ตำนานถูกยึดทรัพย์ และตำนาน “รอด” ทุจริตกล้ายาง มโนธรรมของผมก็ย่อมสัมผัสได้ถึง “ความอยุติธรรม” ที่เขา (ทักษิณ) ได้รับ และนั่นย่อมเป็นความอยุติธรรมของสังคมนี้ด้วย
และต่อให้ผมโกรธ “แกนนำเสื้อแดง” ขนาดไหนที่ (ในความรู้สึกของผม) พวกเขาขาดจิตสำนึกปกป้องชีวิตของมวลชน (และหรือ “อาจจะ” คิดใช้ชีวิตของมวลชนเป็นเครื่องมือเพื่อล้มรัฐบาลตั้งแต่แรก) แต่ผมก็ไม่มืดบอดพอที่จะมองไม่เห็นความอยุติธรรมที่พวกเขาไม่ได้รับการ ประกันตัว
ในขณะที่แกนนำพันธมิตรที่โดนข้อหา “ก่อการร้าย” เช่นกัน ยังลอยนวล และตวัดลิ้นห้าแฉกสร้าง “วัฒนธรรมความเกลียดชัง” ต่อไปและต่อไป (ไม่ใช่อยากให้จับแกนนำพันธมิตร แต่ไม่อยากให้จับใครทั้งสิ้นด้วยข้อหาที่คลุมเครือแบบนี้)
จะด้วยเหตุที่ผมพลัดหลงมาอยู่ใน “ดงคนชั้นกลางในเมือง” หรืออย่างไรไม่รู้ ที่ทำให้ผมมองเห็นความอยุติธรรมของสังคมนี้ช้ากว่าคนรากหญ้าอีสาน ซึ่งเป็นมนุษย์สายพันธุ์เดียวกับผม สำหรับพวกเขาแล้ว ความอยุติธรรมที่รับไม่ได้เลยคือ การที่สัญญาประชาคมแห่งสังคมประชาธิปไตยถูกฉีกทิ้งโดยอำนาจนอกเจตจำนงทั่วไป ของประชาชน หรือ “อำนาจเถื่อน”
เจตจำนงทั่งไปของประชาชนคือ ความต้องการมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง รัฐประหารล้มรัฐบาลที่ประชาชนเลือกคือการทำลายเจตจำนงทั่วไปของประชาชน ซึ่งเท่ากับฉีกสัญญาประชาคมแห่งสังคมประชาธิปไตยทิ้ง
ฉะนั้น รัฐบาลที่มาจากรัฐประหาร หรือที่ถูกสนับสนุนโดยกระบวนการรัฐประหาร จึงไม่ใช่รัฐบาลที่อาจแทนที่เจตจำนงทั่วไปของประชาชนได้ ด้วยเหตุนี้ “อำนาจรัฐที่ชอบธรรม” จึงไม่มีอยู่จริง!
ประชาชนจึงมีสิทธิโดยชอบที่จะต่อต้าน “อำนาจเถื่อน” ที่ผุดขึ้นมาจากการฉีกสัญญาประชาคม เพราะในเมื่อสัญญา (รัฐธรรมนูญ 2540) ถูกฉีกทิ้งแล้ว ประชาชนย่อมไม่มีพันธะที่จะปฏิบัติตามสัญญานั้นอีกต่อไป
นั่นคือไม่จำเป็นต้องเชื่อฟัง “อำนาจเถื่อน” ที่ไม่ได้มีที่มาจากเจตจำนงทั่วไปของประชาชน (เช่น การเลือกตั้ง)
ในขณะที่อำนาจเถื่อนเคลื่อนขบวนรถถังออกมาฉีกสัญญาประชาคม และแสดงอำนาจที่ไร้ความชอบธรรมนั้นสร้างความอยุติธรรม หรือ “ตำนานสอง มาตรฐาน” จนนับไม่ถ้วน คนเสื้อแดงพยายามต่อต้านอำนาจเถื่อนนั้นบนจุดยืนของการทวงคืนสัญญาประชาคม อย่างตรงไปตรงมา คือ “ขอคืนรัฐธรรมนูญ
และแล้ว จากความโกรธต่ออำนาจเถื่อน เกลียดชังความอยุติธรรม จลาจลนองเลือด เผาบ้านเผาเมือง ท่ามกลางการรักษาความสงบ “เรียบร้อย” อย่างสุภาพอ่อนโยนของ ศอฉ.(ที่ทุ่มทุนสร้างถึง 5,000 ล้านบาท จากเงินภาษีของประชาชนแห่งประชาคมประชาธิปไตย) บทสรุปก็คือ คนเสื้อแดงไม่รู้ประชาธิปไตย นิยมความรุนแรงและก่อการร้าย สมควรตาย พร้อมกับเสียงเสแสร้งของอำนาจเถื่อน (หมายเลข 2) ขอให้ลืมปัญหาในอดีตกันเถอะ เรามาร่วมปรองดอง ร่วมปฏิรูปประเทศไทย (อีกสัก 600 ล้าน!)
แล้วความยุติธรรมอยู่ที่ไหน? ไม่มีความยุติธรรมก็ไม่มีเจตจำนงทั่วไปของประชาชน ไม่มีจุดร่วมของการปรองดอง และไม่มีอุดมการณ์ร่วมในการปฏิรูปประเทศ!
ความยุติธรรมยึดโยงอยู่กับอำนาจรัฐที่ชอบธรรม และอำนาจรัฐที่ชอบธรรมย่อมมาจากเจตจำนงทั่วไปของประชาชน อำนาจเถื่อนไม่ได้ยึดโยงอยู่กับเจตจำนงทั่วไปของประชาชน จึงไม่อาจให้ความยุติธรรมได้
ให้ได้แต่ความหวาดกลัว เพราะคนที่เสวยอำนาจเช่นนั้นมีชีวิตอยู่ด้วยความหวาดกลัว กลับไปนอนบ้านตัวเองไม่ได้ ไม่อาจลดตัวลงไปสัมผัสมือประชาชนส่วนใหญ่ที่ปฏิเสธเขา และไม่อาจ “สบ ตา” กับมโนธรรมของตนเอง
ฉะนั้น เมื่อเขาถูกพันธนาการด้วยความหวาดกลัว เขาจึงสร้างพันธนาการมัดตรึงสังคมให้คงอยู่กับความหวาดกลัว (คง พรก.ฉุกเฉิน ปิดสื่อ โฆษณาชวนเชื่อข้างเดียว ไล่ล่า ฯลฯ)
และเมื่อเขาไม่อาจหยั่งรู้อนาคตอันยาวนานของความเกลียดชังที่ประชาชนมี ต่อเขา อนาคตความปรองดอง และการปฏิรูปประเทศที่เขา “คิดแทน” ประชาชน เขาก็ไม่มีทางหยั่งรู้ความสำเร็จของมันด้วยเช่นกัน!
เราจะอยู่กับความกลัวที่อำนาจเถื่อนหยิบยื่นให้ต่อไปได้อย่างไร! ทั้งที่มันไม่มีสิทธิ์จะทำให้เรากลัวเกรง เพราะมันเป็นอำนาจที่ไม่ได้มาจากการยินยอมของเรา หรือไม่ใช่อำนาจแห่งเจตจำนงทั่วไปของประชาชน
ยิ่งเรากลัวยิ่งเพิ่มความแข็งแกร่งให้กับ มัน ฉะนั้น เราต้องต่อต้านมันทุกโอกาสที่เป็นไปได้ ด้วยมโนสำนึกที่ปฏิเสธ “ความอยุติธรรม” และการสร้าง “วัฒนธรรมหลอกตัวเอง!”
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น