แดงเชียงใหม่

กราบสวัสดี พี่น้องทุกๆท่านที่เข้ามาเยี่ยมเยือน Blog นปช.แดงเชียงใหม่ ขอเรียนชี้แจงสักนิดว่า เรา ”แดงเจียงใหม่” เป็นกลุ่มคนชาวเจียงใหม่ที่เคารพรัก กติกาประชาธิปไตย ต่อสู้และต่อต้านเผด็จการทุกรูปแบบ อยากเห็นประเทศชาติภายภาคหน้า มีความเจริญ ประชาชน รุ่นลูกหลานของเราอยู่อาศัยอย่างร่มเย็นเป็นสุขในประเทศของพวกเราเอง ไม่มีกลุ่มอภิสิทธิ์ชนกลุ่มใดมาสูบเลือดเนื้อ แอบอ้างบุญคุณเฉกเช่นในยุคนี้ที่พวกเราเห็น การที่จะได้รับในสิ่งที่มุ่งหวังก็ต้องมีการต่อสู้แสดงกำลังให้สังคมได้รับรู้ และเพื่อที่จะให้กลุ่มบุคคลที่มีอำนาจในปัจจุบันได้เข้าใจในสังคมที่ก้าวหน้าเปลี่ยนแปลงไป ไม่อาจฝืนต่อกระแสการพัฒนาของโลก การต่อสู้ร่วมกับผองชนทั่วประเทศในครั้งนี้ เรา " แดงเจียงใหม่ " ได้ร่วมต่อสู้ทุกรูปแบบ และ ในรูปแบบที่ท่านได้เข้ามาร่วมอยู่นี้ คือการเผยแพร่ข่าวสารต่อสังคม

เรา " แดงเจียงใหม่ " ขอเชิญชวนร่วมกันสร้างขวัญ และกำลังใจให้เพื่อนพ้องน้องพี่ร่วมกัน


"อันประชาสามัคคีมีจัดตั้ง
เป็นพลังแกร่งกล้ามหาศาล
แสนอาวุธแสนศัตรูหมู่อันธพาล
ไม่อาจต้านมวลมหาประชาชน"

.

วันเสาร์ที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

โวยรัฐสกัดกั้นสื่อเห็นต่าง บุกจับ 12 วิทยุชุมชนเมืองคอน

เผย ตร.-กทช.บุกปิดวิทยุชุมชนกว่า 12 แห่งในนครศรีธรรมราช อ้างขัด พ.ร.บ.วิทยุคมนาคม-พ.ร.บ.ประกอบกิจการการจายเสียงฯ จี้รัฐหยุดปิดกั้นสื่อ แสวงกติกาการใช้สื่อที่ทุกฝ่ายยอมรับ เพื่อรักษาพื้นที่ความเห็นต่าง ลดทอนความขัดแย้งและความเกลียดชัง

เครือข่ายอาสาสมัครนักสื่อสารชุมชน ออกแถลงการณ์ระบุ วานนี้ (29 ก.ค. 53) เจ้าหน้าที่ตำรวจจากกองปราบปรามและเจ้าหน้าที่สำนักงาน กทช.นำกำลังเข้าปิดสถานีและจับกุมแกนนำในสถานีวิทยุชุมชน 12 แห่ง ในจังหวัดนครศรีธรรมราช โดยอ้างว่าขัดต่อ พ.ร.บ.วิทยุคมนาคม 2498 และ พ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ 2551

โดยเครือข่ายฯ ได้เรียกร้องให้รัฐบาลยุติการดำเนินการปิดกั้นสื่อ และยกเลิกคำสั่งสั่งปิดเว็บไซต์ สถานีโทรทัศน์ดาวเทียม และวิทยุชุมชนที่เกิดขึ้น และเปิดให้ทุกฝ่ายได้สื่อสารและแสดงความคิดเห็นได้อย่างอิสระ โดยคำนึงถึงสิทธิเสรีภาพของประชาชนเป็นที่ตั้ง รวมถึงระงับยับยั้งการใช้สื่อในเครือข่ายของรัฐเป็นเครื่องมือยั่วยุให้เกิด การใช้ความรุนแรง สร้างการดูหมิ่นเหยียดหยาม เกลียดชังกัน และร่วมกันแสวงหาหลักเกณฑ์กติกาการใช้สื่อที่ทุกฝ่ายยอมรับ เพื่อรักษาพื้นที่ความคิดเห็นที่แตกต่าง ลดทอนความขัดแย้งและความเกลียดชัง

ด้านโครงการเฝ้าระวังการแทรกแซงวิทยุชุมชน (Community Radio Watch) โดยคณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฎิรูปสื่อ (คปส.) รายงานว่า ตั้งแต่วันที่ 7 เม.ย.-7 ก.ค. 53 มีสถานีวิทยุชุมชนถูกปิดไปแล้ว 26 แห่งในพื้นที่ 9 จังหวัด ยุติการออกอากาศ 6 แห่ง ปรากฎรายชื่อในข่ายที่มีความผิด (แบล็กลิสต์) 84 แห่ง ในพื้นที่ 12 จังหวัด มีหัวหน้าสถานี กรรมการ และผู้จัดรายการ ถูกตั้งข้อหาและดำเนินคดี 35 ราย

แถลงการณ์ประณามรัฐบาลปิดวิทยุชุมชนที่นครศรีธรรมราช

หลังการประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 รัฐบาลได้อาศัยอำนาจของกฎหมายปิดกั้นช่องทางการสื่อสารของประชาชน ทั้งเว็บไซต์ สถานีโทรทัศน์ดาวเทียม ตลอดจนปิดสถานีวิทยุชุมชนที่เสนอเนื้อหาตรงข้ามกับรัฐบาล ล่าสุด เมื่อวานนี้ (29 ก.ค. 53) เจ้าหน้าที่ตำรวจจากกองปราบปราม เจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กทช.) กว่า 50 นาย ได้บุกจับวิทยุชุมชนและเคบิลทีวีชุมชนในจังหวัดนครศรีธรรมราชกว่า 12 สถานี โดยตั้งข้อหากระทำความผิดตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.2551 และ พ.ร.บ.วิทยุคมนาคม 2498 โดยตั้งข้อหาความผิด 3 ประการ คือ การประกอบกิจการวิทยุชุมชนโดยไม่ได้รับใบอนุญาต, การใช้เครื่องส่งโดยไม่ได้รับใบอนุญาต และการใช้คลื่นความถี่โดยไม่ได้รับใบอนุญาต หนึ่งในนั้นมีผู้สื่อข่าวอาวุโส ของนครศรีธรรมราช เช่น สุรโรจน์ นวลมังสอ จากนครโพสต์ สมพร รักหวาน จากสถานี CSTV เคเบิลท้องถิ่น

เครือข่ายอาสาสมัครนักสื่อสารชุมชน เห็นว่ามาตรการดังกล่าวของรัฐบาลเป็นการปิดกั้นสิทธิเสรีภาพการรับรู้ข้อมูล ข่าวสารของประชาชน และละเมิดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญที่ให้ความคุ้มครองเสรีภาพในการแสดง ความคิดเห็นของบุคคลและสื่อมวลชน ซึ่งการจำกัดเสรีภาพดังกล่าวจะกระทำได้ก็เฉพาะในภาวะสงครามและเพื่อความมั่น คงของรัฐเท่านั้น การที่รัฐบาลปิดกั้นสื่อในทุกระดับและทุกช่องทางเพียงหวังจะลดทอนเสียงของ กลุ่มผู้ที่มีความคิดเห็นแตกต่างจากรัฐบาล จะเป็นชนวนเหตุทำให้สถานการณ์ยิ่งลุกลามและขยายตัวไปสู่ความรุนแรงได้ ท่ามกลางสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง การเปิดให้สื่อของรัฐและสื่อเอกชนที่เห็นด้วยกับรัฐบาลทำหน้าที่แต่เพียง ฝ่ายเดียวจึงไม่เพียงพอต่อความต้องการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชน รัฐบาลจึงควรเปิดให้ทุกฝ่ายมีสิทธิในการสื่อสารอย่างเท่าเทียมกันเพื่อสร้าง สมดุลของข่าวสาร และไม่สนับสนุนการใช้สื่อเป็นเครื่องมือทางการเมือง เพื่อยั่วยุให้เกิดการใช้ความรุนแรง หรือสร้างการดูหมิ่นเหยียดหยาม เกลียดชังฝ่ายตรงข้ามกับตัวเอง เครือข่ายอาสาสมัครนักสื่อสารชุมชน จึงขอเสนอความเห็นต่อรัฐบาล ดังนี้

1. ขอให้รัฐบาลยุติการดำเนินการปิดกั้นสื่อ และยกเลิกคำสั่งสั่งปิดเว็บไซต์ สถานีโทรทัศน์ดาวเทียม และวิทยุชุมชนที่เกิดขึ้น และเปิดให้ทุกฝ่ายได้สื่อสารและแสดงความคิดเห็นได้อย่างอิสระ โดยคำนึงถึงสิทธิเสรีภาพของประชาชนเป็นที่ตั้ง

2. ขอให้รัฐบาลระงับยับยั้งการใช้สื่อในเครือข่ายของรัฐเป็นเครื่องมือยั่วยุ ให้เกิดการใช้ความรุนแรง สร้างการดูหมิ่นเหยียดหยาม เกลียดชังกัน และร่วมกันแสวงหาหลักเกณฑ์กติกาการใช้สื่อที่ทุกฝ่ายยอมรับ เพื่อรักษาพื้นที่ความคิดเห็นที่แตกต่าง ลดทอนความขัดแย้งและความเกลียดชัง

3. วิกฤตความขัดแย้งทางการเมืองในปัจจุบันที่นำมาซึ่งความสูญเสียในชีวิตและ ทรัพย์สินของประชาชนไทย ส่วนหนึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความล้มเหลวของรัฐในการปฏิรูปสื่อ ส่งผลให้สังคมไทยขาดกลไกที่เป็นอิสระกำกับดูแลสื่อวิทยุและโทรทัศน์เป็นเวลา ยาวนาน และรัฐมีการเลือกปฏิบัติหนุนสื่อที่เชียร์แต่ทำลายล้างสื่อที่คิดแตกต่าง ซึ่งมีแต่จะส่งผลเสียหายอย่างใหญ่หลวงต่อสังคมไทยโดยรวม

30 กรกฎาคม 2553
เครือข่ายอาสาสมัครนักสื่อสารชุมชน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ผู้ให้ข้อมูลร่วมกัน