Wed, 2010-07-28 04:55
ดร.
27 กรกฎาคม 2553
เมื่อเร็วๆ นี้ ผมเพิ่งได้เห็นเทปสัมภาษณ์ Prof. Young ของคุณสุทธิชัย หยุ่นในรายการชีพจรโลก ซึ่งสัมภาษณ์ตั้งแต่ปี 2552 ผมเห็นว่านี่เป็นการโฆษณาชวนเชื่อที่ไม่สัมฤทธิผล และส่งผลเสียต่อฝ่ายตรงข้ามทักษิณเอง ผมจึงตั้งใจจะวิเคราะห์เพื่อให้เกิดการใช้วิจารณญาณส่งเสริมสังคมอุดมปัญญา แต่ก็เกรงจะกลายเป็นการเชียร์ทักษิณ ดังนั้นก่อนอื่นผมจึงขอสาบานว่า ผมไม่ได้รับอามิส หรือมีสายสัมพันธ์ใดกับทักษิณ ว่ากันว่า คนโกหกชอบสาบาน แต่ผมไม่รู้จะเอาอะไรมาการันตี จึงต้องใช้วิธีโบราณนี่แหละครับ
ใน Youtube มีเทปสัมภาษณ์ Prof. Young แบ่งเป็น 4 ตอน ตอนที่ 1: www.youtube.com/watch?v=USQDL2j66m0 ตอนที่ 2: www.youtube.com/watch?v=ZQGhplOeuw4 ตอนที่ 3: www.youtube.com/watch?v=CPv1wdRwVYo และตอนที่ 4: www.youtube.com/watch?v=VPt-EfDsdqI ผมจึงขออนุญาตวิเคราะห์เป็นตอนๆ ตามที่ปรากฏในเทปดังนี้:
ตอน 1 นาทีที่ 3:27 บอกว่าฝรั่ง (หนังสือพิมพ์ชั้นนำของโลก) ไม่เข้าใจวิธีคิดของคนไทย
จุดอ่อน: เกาหลีเหนือ พม่า หรือประเทศเผด็จการอื่นที่มักพูดอย่างนี้ว่าประเทศตะวันตกไม่เข้าใจตน เพื่อแก้ต่างให้กับคณะผู้ปกครองเผด็จการในประเทศของตน ผู้เป็นศาสตราจารย์ใหญ่ไม่ควรยกตรรกะที่ไม่สมเหตุสมผลเช่นนี้
ตอนที่ 1 นาทีที่ 7:11 ว่าทักษิณได้สัมปทานจากรัฐบาลของพวก รสช.ที่มาจากรัฐประหาร ทักษิณจึงรวยขึ้นเพราะการผูกขาด
จุดอ่อน: ในเบื้องต้น ผมเห็นด้วยว่าคนที่รวยล้นฟ้า มักจะต้องอาศัยเส้นสายและการรับสัมปทานเช่นนี้ ถ้าทำธุรกิจตามปกติก็คงไม่สามารถรวยได้เช่นนี้ แต่ในอีกแง่หนึ่งสถาบันการเงินที่คนใหญ่คนโตฝ่ายตรงข้ามทักษิณไปนั่งเป็น ประธาน เป็นที่ปรึกษานั้น ก็เป็นกิจการกึ่งผูกขาดเช่นกัน ทั้งนี้ยังรวมถึงกิจการโทรคมนาคมอื่นที่ได้รับสัมปทานกันไม่กี่ราย ดังนั้นการยกเอาข้อนี้มาตีทักษิณ จึงดูมีน้ำหนักน้อยเกินไป
ตอนที่ 2 นาทีที่ 1:21 ว่าทักษิณวางตนเช่นจักรพรรดิจีนที่สั่งทุกคนได้ ซึ่งไม่ใช่การคิดอย่างชาวพุทธ และว่าทักษิณต้องการคุมทุกอย่างทั้งผู้พิพากษา หนังสือพิมพ์ ตำรวจ ทหาร ทำให้เกิดการแบ่งแยกในหมู่คนไทย
จุดอ่อน: กรณีนี้เป็นความพยายามให้ทักษิณชนกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งก็มีน้ำหนักไม่มาก ขาดการแจงเหตุผลเท่าที่ควร อาจทำให้อีกฝ่ายตอบโต้ว่าหลังรัฐประหาร คปค. (คมช.) ก็ตั้งศาลรัฐธรรมนูญใหม่เพื่อจัดการทักษิณ ตั้งฝ่ายตรงข้ามทักษิณมาตรวจสอบทรัพย์สินของทักษิณ ย้ายข้าราชการใหม่หมด ซึ่งถือเป็นการแทรกแซงที่ชัดเจนกว่า แต่ข้อนี้ Prof. Young ไม่ได้แก้ต่างถึง
ตอนที่ 2 นาทีที่ 4:14 ว่าคนต่างจังหวัดรักทักษิณ เพราะทักษิณให้เงินพวกเขา ผิดหลักการของอเมริกัน
จุดอ่อน: ข้อนี้ทำให้ Prof. Young ดูกลายเป็นคนไม่คงเส้นคงวา พอทีนี้กลับมาอ้างมาตรฐานตะวันตก ความจริงควรโต้แย้งเรื่องที่ฝ่ายทักษิณชูว่าทักษิณก็ทำประชาธิปไตยให้กินได้ ทุกคนได้รับสวัสดิการที่ดีขึ้น เอาเงินจากหวยออนไลน์ที่ “ปล้น” มาจากเจ้ามือหวยเถื่อน หรือเงินที่แต่เดิมส่วนราชการต่าง ๆ เอาไปกินกันเอง มาพัฒนาประเทศ แต่ทักษิณยังไม่เคยปล้นคนรวยมาให้คนจนแบบเปรองตามที่ Prof. Young อ้าง เพราะทักษิณก็เป็นคนรวยเหมือนกัน ข้อนี้ผมคงไม่พูดมาก เดี๋ยวจะกลายเป็นว่าผมไปเชียร์ทักษิณ
ตอนที่ 2 นาทีที่ 5:55 ว่าการเลือกตั้งพิสูจน์อะไรไม่ได้ คอมมิวนิสต์ สตาลิน ฮิตเลอร์ก็มีการเลือกตั้ง
จุดอ่อน: ในโลกนี้ระบอบประชาธิปไตยที่คนทั่วโลกยอมรับนั้น มาคู่กับการเลือกตั้งเสมอ Prof. Young ไม่ควรพูดถึงประเด็นนี้เพราะจะทำให้ตนเสี่ยภาพพจน์ ที่สำคัญฮิตเลอร์ไม่เคยชนะเสียงข้างมาก มาร่วมเป็นรัฐบาลผสม และยึดอำนาจการปกครองในที่สุด ดังนั้นเสียงส่วนใหญ่จึงไม่ได้หลงผิดเลือกฮิตเลอร์แต่แรก
ตอนที่ 2 นาทีที่ 8.16 พูดถึงการปฏิวัติรัฐประหารที่ทักษิณบอกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม
จุดอ่อน: Prof. Young ตอบโต้ผิดประเด็น คือไปโต้ว่าทักษิณยังมีเงินมากมายทั้งในและต่างประเทศ จะไม่ได้รับความเป็นธรรมได้อย่างไร ข้อนี้ชาวบ้านจบประถมศึกษาก็ยังตอบโต้ศาสตราจารย์ท่านนี้ได้ว่า ก่อนทักษิณเล่นการเมือง เขาก็มีเงินนับแสนล้านอยู่แล้ว ไม่ได้เพิ่งมารวย
ตอนที่ 2 นาทีที่ 9.32 บอกถ้าประชาชนไม่ต้องการคุณแล้ว คุณก็ต้องเกษียณ ถ้ามีรัฐประหารก็ต้องยอมรับเหมือนคนอื่นๆ
จุดอ่อน: ข้อนี้เปิดช่องโหว่มาก คนระดับศาสตราจารย์ไม่น่าจำผิด ปรีดีก็ยังเคยกลับมาก่อรัฐประหาร ถ้ามีโอกาสและมีคนนิยม แปลกและเผ่าก็คงกลับมาแล้วเช่นกัน แต่ทั้งสองด่วนตายเสียก่อน หลัง 14 ตุลาฯ เพียง 3 ปี “3 ทรราช” ก็ยังกลับมาอยู่ไทยได้อย่างหน้าตาเฉย ทรราชที่ยิงประชาชนในตอนพฤษภาทมิฬ ก็ยังรอดพ้นคุก
ตอนที่ 3 วินาทีที่ 1 ยอมรับรัฐประหารเพราะถือว่าทักษิณทำลายสถาบันต่าง ๆ
จุดอ่อน: การยอมรับรัฐประหารสำหรับคนระดับศาสตราจารย์เช่นนี้ ทำให้ภาพของตนเสียหายเอง นานาอารยประเทศต่างก็ใช้การเมืองแก้การเมือง ไม่ใช่ให้ทหารออกมารัฐประหารเช่นนี้ ข้ออ้างในการรัฐประหารในสมัยนี้ก็คล้ายกับสมัย รสช. ที่กล่าวหาว่ารัฐบาลชาติชายโกงกินนั่นเอง
ตอนที่ 3 วินาทีที่ 5:54 กล่าวถึง สฤษดิ์ และเปรม ซึ่งอยู่ในยุคเผด็จการหรือประชาธิปไตยครึ่งใบ มีข้อดีที่แต่งตั้งผู้รู้ที่จบมาจากต่างประเทศมาทำงานเช่น ดร.ป๋วยหรืออื่น ๆ
จุดอ่อน: ข้อนี้ไม่หนักแน่นนัก เพราะสถานการณ์พาไปต่างหาก ถ้าแปลกหรือปรีดียังอยู่ ก็คงทำเช่นเดียวกัน
ตอนที่ 3 วินาทีที่ 7:45 Prof. Young เคย ทำนายผิดว่าประเทศไทยจะล้มเป็นคอมมิวนิสต์ ตามหนังสือที่ท่านเขียนเรื่อง “
จุดอ่อน: ไม่น่าเปิดช่องโหว่นี้ แม้ภายหลัง Prof. Young จะแก้เกี้ยวว่า โชคดีที่ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ได้อ่านหนังสือฉบับแปลของท่านเล่มนี้ เลยหาทางแก้ไขไม่ให้ประเทศล้มดังที่เขาทำนาย แต่ก็ไม่ค่อยสมเหตุสมผล
ตอนที่ 4 วินาทีที่ 0:37 การขอพระราชทานอภัยโทษทักษิณ
จุดอ่อน: Prof. Young ให้เหตุผลไม่ชัด อาจทำให้เกิดข้อโต้แย้งในสายตาชาวบ้านทั่วไปว่า คณะรัฐประหารยังเขียนกฎหมายนิรโทษกรรมตนเองเลย Prof. Young ไม่สามารถตอบโต้ประเด็นเรื่องที่มีชาวบ้านหลายล้านคนร่วมลงชื่อขออภัยโทษ ส่วนผมไม่เคยลงชื่อขอพระราชทานอภัยโทษทักษิณนะครับ
ตอนที่ 4 วินาทีที่ 4:23 ทักษิณคนเดียวทำให้ชาติแตกแยก
จุดอ่อน: นี่เป็นแนวคิดที่เห็นทักษิณเป็นซาตาน คล้ายที่เขาเคยใช้วิเคราะห์ผิดพลาดเรื่องคอมมิวนิสต์ในอดีตว่าเป็นซาตานหรือ โรคร้ายที่จะทำให้ไทยล้มเป็นโดมิโน ทำให้รัฐบาลอเมริกันกำหนดท่าทีผิด จนพ่ายแพ้ในสงครามเวียดนามมาแล้ว ดังนั้นเราจึงต้องฟัง Prof. Young แบบ “ฟังหูไว้หู”
ตอนที่ 4 วินาทีที่ 8:33 เสนอว่าในเวลา 3 ปีนับจากนี้ ห้ามรัฐบาลและข้าราชการทุกระดับโกงเพื่อการเริ่มต้นใหม่
จุดอ่อน: แบบนี้เรียกว่าตายตอนจบ ตายน้ำตื้น ผู้เป็นถึงระดับศาสตราจารย์ ทำได้เพียงชี้ทางออกแบบกำปั้นทุบดิน เป็น If Clause ที่เป็นไปไม่ได้ นี่แสดงถึงความผุพังและชราภาพทางวิชาการของท่านอย่างชัดเจน นี่แสดงให้เห็นได้ว่าสิ่งที่ท่านพูดมาก่อนหน้านี้ทั้งหมด ขาดน้ำหนักเชื่อถือไม่ได้เลย รัฐบาลเลือกใช้คนผิดเสียแล้ว
โดยสรุปแล้ว Prof. Young พยายามใช้เครดิตส่วนตัวมาพูดให้คนเชื่อ ในฐานะผู้ค้นพบแหล่งโบราณคดีบ้านเชียง หรือผู้วิเคราะห์เรื่องทฤษฎีโดมิโน (ที่ผิดพลาดมหันต์) แต่เสียดายเป็นเครดิตที่ไม่เกี่ยวข้องกันเลย เขาเองก็ยอมรับว่าไม่รู้จักทักษิณนัก
การจะโจมตีใครต้องมีเหตุผลหนักแน่น ไม่ใช่เอาฝรั่งชราที่ตอนหนุ่ม ๆ ไปเจอโบราณวัตถุบ้านเชียงโดยบังเอิญ และตอนหลังคิดอะไรก็ผิดพลาดมาตลอด มาเป็นพรีเซนเตอร์อย่างนี้ คนจะกลับเห็นใจทักษิณมากขึ้นต่างหาก
ถ้าจะพิสูจน์ว่าโครงการของทักษิณไม่ดี ก็ต้องทำอย่างผม ผมชี้ไปตั้งแต่ปี 2546 ว่า บ้านมั่นคงหรือบ้านเอื้ออาทร ไม่ดี ซึ่งต่อมาก็พิสูจน์แล้วว่าล้มเหลว หรือความไม่เหมาะสมในการไปเช่าอาคารทำพลาซาที่นิวยอร์ก เพราะยังไม่ได้ประเมินค่าทรัพย์สินก่อน ไม่เช่นนั้นอาจเช่าแพงเกินเหตุ แต่ผมก็ไม่กล้าเป็นศัตรูกับทักษิณ ผมถือว่า “คนล้มอย่าข้าม” และที่เขาทำดีก็มีมาก
อย่าลืมนะครับ ผมแบ่งปันความคิดเห็นนี้ก็เพื่อให้เกิดการถกเถียงส่งเสริมสังคมอุดมปัญญา อาจดูคล้ายเข้าข้างทักษิณ เข้าทางถูกหมายหัวโดยฝ่ายตรงข้ามทักษิณ แต่ผมแสดงความเห็นโดยบริสุทธิ์ใจ โปรดเมตตาผมด้วยครับ และโปรด “อย่าเห็นขี้ฝรั่งหอม”
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น