ราเชล ฮาร์วีย์ ผู้สื่อข่าวบีบีซีประจำประเทศไทย ได้เดินทางไปทำรายงานข่าวที่มีชื่อเรื่องว่า "ไทย แลนด์′ส เร้ด-เชิร์ตส์ สติลล์ รีลลิ่ง อาฟเตอร์ โพรเทสต์" (กลุ่มคนเสื้อแดงในประเทศไทยยังคงเคว้งคว้างภายหลังการชุมนุมประท้วง) ที่จังหวัดอุดรธานี
รายงานดังกล่าวมีเนื้อหาโดยสังเขปว่า แม้ปัจจุบัน กรุงเทพมหานครจะได้รับการฟื้นฟูแล้วภายหลังการชุมนุมอันต่อเนื่องยาวนานของ กลุ่มคนเสื้อแดง แต่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย กลุ่มคนเสื้อแดงกลับยังคงดำรงอยู่อย่างเคว้งคว้าง
ชาวบ้านที่ฮาร์วีย์เดินทางไปสัมภาษณ์มีชื่อว่า "ทองศรี?" (Tongsri) และ "ประจบ?" (Prachob) เธอเจอพวกเขา ครั้งแรกเมื่อเดือนมีนาคม ขณะที่ทั้งคู่กำลังเตรียมตัวเดินทางมาร่วมชุมนุมที่กรุงเทพฯ จากนั้นฮาร์วีย์ได้พบกับทั้งสองคนอีกครั้งหนึ่งในสถานที่ชุมนุมบริเวณสี่แยก ราชประสงค์
ทองศรีและประจบอยู่ที่กทม.จนถึงช่วงยุติการชุมนุม พวกเขาได้เป็นประจักษ์พยานในเหตุการณ์สงครามกลางเมือง ซึ่งมีกระสุนปืนจากฝ่ายทหารถูกยิงไปยังกลุ่มคนเสื้อแดง
หลังจากเดินทางกลับถึงบ้านที่จังหวัดอุดรธานีด้วยความปลอดภัย ทั้งคู่ก็รู้สึกว่าตนเองต้องพยายามต่อสู้อย่างหนักที่จะให้คำอธิบายต่อ เหตุการณ์ทั้งหมดที่เพิ่งผ่านพ้นไป
ในขณะที่พายุฝนในหน้ามรสุมกำลังซัดกระหน่ำเข้าใส่หลังคาบ้านอัน ประกอบไปด้วยสองห้องของพวกเขา ทองศรีและประจบนั่งอยู่บนพื้นคอนกรีตด้านล่างที่รายล้อมไปด้วยเสื้อแดงจำนวน มาก ผ้าคาดหัวสีแดง และธงแดง ซึ่งเป็นเครื่องแบบที่กลุ่มเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลชุดปัจจุบันรักและหวงแหน เป็นอย่างยิ่ง
"ทำไมมันจึงยากเย็นนักกว่าจะได้ ประชาธิปไตยที่แท้จริง?" "อะไรเกิดขึ้นกับประเทศไทย?" ทองศรีถามฮาร์วีย์ ด้วยสีหน้าที่ผสมปนเปกันระหว่างความขมขื่นและ ความสับสนงุนงง ก่อนจะกล่าวว่า "ฉัน รับไม่ได้ที่พวกเขาใช้ทหารออกมาเข่นฆ่าประชาชน"
ในวันที่ 19 พฤษภาคม หลังจากข่าวการใช้กองกำลังทหารปฎิบัติการยึดพื้นที่ชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อ แดงที่ราชประสงค์แพร่กระจายออกไป กลุ่มคนเสื้อแดงในอุดรธานีก็ได้ระบายความไม่พอใจทั้งหมดลงไปที่สัญลักษณ์ของ อำนาจแห่งรัฐบาลซึ่งปรากฏอยู่อย่างเด่นชัดที่สุดในจังหวัดแห่งนี้ นั่นคือ ศาลากลางจังหวัด ที่ถูกเผาไหม้เสียหายในเวลาต่อมา
ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าความรุนแรง ณ ศาลากลางจังหวัดอุดรธานี เกิดขึ้นโดยไตร่ตรองเอาไว้ก่อน หรือเกิดขึ้นเองโดยสัญชาตญาณอย่างฉับพลันทันใด อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เกิดขึ้นได้แสดงให้เห็นถึงความเกลียดชังอย่างแท้จริงที่ดำรงอยู่ เบื้องหลังเหตุรุนแรงดังกล่าว
"พวกเขาเก็บกักอารมณ์ความรู้สึกเช่น นี้ไว้มาเนิ่นนานหลายปี" วิรัตน์ ลิ้มสุวัฒน์ รักษาการผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานีกล่าวกับผู้สื่อข่าวบีบีซีและว่า "จังหวัดแห่งนี้ได้ชื่อว่าเป็นเมืองหลวงของเสื้อแดง จึงต้องใช้เวลาอีกนานในการจัดการกับขบวนการดังกล่าว"
ย้อนหลังกลับไปในเดือนมีนาคม คนเสื้อแดงที่อุดรธานีต่างรู้สึกกระตือรือร้น และเต็มไปด้วยความคาดหวัง แต่ในปัจจุบัน แม้แต่ศูนย์กลางชุมชนที่ถูกใช้เป็นสถานที่เก็บรวบรวม ของบริจาคให้แก่คนเสื้อแดง รวมทั้งเป็นที่ประชุมวางแผนในการเคลื่อนไหว ก็แทบจะถูกทิ้งไว้ให้รกร้างว่างเปล่า
รูปภาพของฝูงชนเสื้อแดงที่เต็มไปด้วยรอยยิ้มยังคงถูกติดไว้ที่ฝาผนัง ห้องของศูนย์กลางชุมชนดังกล่าว หลายรูปเป็นภาพของประธานชมรมคนรักอุดรฯ "ขวัญชัย ไพรพนา" ที่กำลังถูกควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ ขณะเดียวกัน ประตูของสถานีวิทยุท้องถิ่นก็ถูกปิดตาย ด้วยคำสั่งของรัฐบาลภายใต้พ.ร.ก.ฉุกเฉิน
มีผู้หวาดกลัวว่าเมื่อปราศจากที่นัดพบปะกันอย่างเปิดเผยเป็นทางการ แล้ว กลุ่มคนเสื้อแดงจะตัดสินใจ "ลงใต้ดิน" และดำเนินการต่อสู้ทางการเมืองอย่าง "ถอน รากถอนโคน" มากยิ่งขึ้น
แม้รัฐบาลได้ประกาศว่าจะดำเนินคดีกับกลุ่มคนที่ตนเองนิยามว่าเป็น "ผู้ ก่อการร้าย" เพียงเท่านั้น และจะดำเนินการเจรจากับกลุ่มผู้ประท้วงที่รักสันติ ซึ่งมีเรื่องราวอึดอัดคับข้องใจอย่างแท้จริง ตามโรดแมปแผนปรองดองแห่งชาติ
ทว่าในความเห็นของฮาร์วีย์ หากหวังจะให้โรดแมปดังกล่าวเดินทางไปสู่ปลายทางแห่งความสำเร็จ รัฐบาลก็ต้องพยายามโน้มน้าวใจชาวบ้านอย่างทองศรีและประจบ ให้ได้เสียก่อน
ย้อนกลับไปยังที่ดินส่วนตัวขนาดเล็ก ๆ ของทองศรีและประจบ ประจบกำลังเล่นดนตรีพื้นบ้านให้ฮาร์วีย์ได้รับฟัง ด้วยพิณสองสายซึ่งเขาประดิษฐ์ขึ้นเอง
บางครั้ง ชาวกรุงเทพฯก็ดูถูกเยาะเย้ยเพลงชนิดนี้ว่าเป็น "ดนตรีของคนบ้านนอก" แน่นอนนี่ เป็นอีกหนึ่งความอึดอัดคับข้องใจที่ชาวบ้านแถวภาคอีสานรู้สึก
"ฉันพร้อมที่จะต่อสู้อีกครั้ง" ทองศรีกล่าวขณะกำลังกำจัดวัชพืชบนที่ดินของตนเอง "ถ้ามีการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงอีกครั้ง ฉันก็จะไปเข้าร่วม ฉันไม่สามารถหยุดยั้งการต่อสู้ของตนเองเอาไว้ได้ในตอนนี้"
ฮาร์วีย์สรุปปิดท้ายรายงานข่าวของเธอว่า ความแตกแยกร้าวลึก ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ซึ่งถูกเปิดเผยออกมาผ่านความโหดร้ายรุนแรงเมื่อไม่กี่สัปดาห์ก่อนโดยกลุ่ม ผู้ประท้วงที่มีความรู้สึกขมขื่นนั้น ยังคงดำรงอยู่อย่างห่างไกลจากสภาวะที่จะได้รับการรักษาเยียวยา
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น