วันอังคารที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2553
ซีรีส์ยุทธการตอแหลแห่งชาติ : หลังรัฐประหาร
ตอน ที่ 46 : ศิลปะของคาลเดอร์
โดย : กาหลิบ
พิมพ์ครั้งแรก : กุมภาพันธ์ 2550 (หนังสือพิมพ์โลกวันนี้รายวัน)
*****************************************************************************
โม บายการเมืองไทยนั้นตั้งอยู่บนฐานของโมบายทุกๆ ชิ้นในโลกนี้คือ ทุกอย่างจะดำรงสภาพเดิมอยู่ได้ด้วยการถ่วงน้ำหนักที่ดี ด้านใดด้านหนึ่งหนักเกินไปแล้วก็จะเอียงกระเท่เร่
*****************************************************************************
ศิลปะของคาลเดอร์
หลังการ ยึดอำนาจเมื่อวันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ ผมไปทานข้าวกับเพื่อนชาวสวิสคนหนึ่งที่วิตกทุกข์ร้อนกับอนาคตของเมืองไทย เป็นอย่างยิ่ง ก็เลยต้องนั่งปลอบประโลมอยู่เป็นนาน แต่ไม่ค่อยได้ผลมากนัก เพราะสวิตเซอร์แลนด์เป็นประเทศที่ไม่คุ้นเคยเอาเสียเลยกับภาวะเผด็จการ พอไม่มีประชาธิปไตยก็รู้สึกเหมือนไม่มีอากาศจะหายใจ
ฟูมฟายไป สักพักหนึ่ง แกก็เงยหน้าขึ้นมาบอกผมเบาๆ อย่างคนที่ตกผลึกว่า “วัฒนธรรมการเมืองไทยเหมือนศิลปะของ อเล็กซานเดอร์ คาลเดอร์ ไม่มีผิด”
ผม ถามว่าเป็นยังไง
แกก็บอกว่าคาลเดอร์คนนี้เป็นชาวเยอรมัน และมีชื่อเสียงในงานฝีมือที่นำส่วนประกอบหลายชิ้นเข้ามาสร้างเป็นงานเดียว กัน ส่วนใหญ่จะเป็นโมบายแบบมีสมดุล คือชิ้นใหญ่บ้างเล็กบ้าง เกาะเกี่ยวกันด้วยแกนหรือก้านเล็กเรียว แบ่งซ้ายขวาหน้าหลังกันอย่างลงตัว ใช้หลักการถ่วงน้ำหนักตามธรรมชาติ ถ้าไปแตะชิ้นใดชิ้นหนึ่งเข้า ก็จะสั่นไหวไปทั้งโมบายด้วยแรงสัมผัส
คนที่รักงานของเขาจะบอก คล้ายๆ กันว่า ดูแล้วสบายใจดี ได้สาระสำคัญของการใช้ชีวิตคือ หลายสิ่งหลายอย่างเกาะเกี่ยวกันอยู่หลวมๆ และมีความสัมพันธ์กันหมด จะไปเพิกเฉยกับชิ้นใดชิ้นหนึ่งไม่ได้เลย
ฟังแล้วผมก็นึกถึง ท่านอาจารย์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ในการบรรยายเรื่อง การเสริมสร้างเสถียรภาพของประชาธิปไตยไทย ที่คณะรัฐศาสตร์จุฬาฯ นานมาแล้ว ท่านเปรียบกระทรวงมหาดไทยในขณะนั้นกับการพัฒนาประชาธิปไตยว่า เหมือนกำแพงผุและต้นโพธิ์ที่ขึ้นอยู่บนกำแพงนั้น
ไม่ดูตาม้า ตาเรือ ไปรื้อกำแพงเข้า ต้นโพธิ์ก็ตาย
หรือเห็นรกรุงรังไปแยก เอาต้นโพธิ์ออกมา กำแพงก็พัง
เป็นปรัชญาการแบบขาดๆ เกินๆ อุ้มค่อมกันอยู่อย่างนั้น
ผมเล่าเรื่องนี้ให้เพื่อนชาวสวิสคน นี้ฟัง เขาก็เห็นความเชื่อมโยงกันทันที “ผมสังเกตว่าในสังคมไทย ของห้าชิ้นต้องสัมพันธ์กันเสมอคือ สถาบันกษัตริย์ สถาบันพุทธศาสนา สถาบันการเมืองแบบประชาธิปไตย สถาบันทหาร และประชาชนที่เหลือ” เขาว่า
จริง ของเขา ทั้งห้าชิ้นนั้นถูกนำมารวมอยู่ด้วยกันในโมบายแบบที่คาลเดอร์สร้างชื่อเสียง มาแล้วมากมาย และมีธรรมชาติแบบนั้นทุกอย่าง
ผมได้อ่านเรื่อง ราวแบบนี้มาจากนักรัฐศาสตร์และคนที่สนใจวิเคราะห์การเมืองไทยมามากแล้ว แต่นึกเสมอว่าบางครั้งมุมมองจากคนนอกก็ให้ความแจ่มชัดได้มาก
มอง ตัวเองนั้นบางทีก็ ชัดเจน (clear) แต่ไม่ แจ่มแจ้ง (precise)
ต้อง ใส่ภาษาฝรั่งสักหน่อย เพราะหลังจากวันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ เป็นต้นมา รู้สึกว่าบางวันก็พูดภาษาไทยไม่ค่อยชัด
โมบายการเมืองไทยนั้น ตั้งอยู่บนฐานของโมบายทุกๆ ชิ้นในโลกนี้คือ ทุกอย่างจะดำรงสภาพเดิมอยู่ได้ด้วยการถ่วงน้ำหนักที่ดี ด้านใดด้านหนึ่งหนักเกินไปแล้วก็จะเอียงกระเท่เร่ จนถึงขั้นที่ไม่อาจคงสภาพเป็นโมบายได้อีกต่อไป
ผมถามเพื่อน ว่า แล้วการเมืองสวิตเซอร์แลนด์ไม่เล่นโมบายอย่างนี้บ้างหรือ
เขา บอกว่า ของเขาเน้นหนักที่ประชาชน ปัจจัยอื่นจะเล็กเรียวลงไปเองโดยธรรมชาติโดยไม่ต้องไประรานไล่ที่กัน
ผม ว่า ถ้าอย่างนั้นโมบายก็พังน่ะสิ
เขาก็ว่าพัง
อ้าว? ถ้าอย่างนั้นมันจะดีไปได้อย่างไรเล่า
เขาหัวเราะหึๆ แล้วตอบสั้นๆ ว่า “ที่สวิตเซอร์แลนด์เราเลิกเล่นโมบายกันแล้ว พอประชาชนเป็นใหญ่โมบายก็พัง ขณะนี้ประชาธิปไตยของเรากลายเป็นงานประติมากรรมชิ้นใหญ่ที่หนักมากและ วางอยู่กับพื้นดิน”
ผมถอนหายใจยาวแล้วชวนเขาเปลี่ยนเรื่อง คุย รู้สึกจะคุยกันเรื่องหมาบางแก้วที่เขาเพิ่งจะได้มา.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น