โมเดล นิคารากัว สำหรับผู้รักประชาธิปไตยไทย
ฤทธิ์ วิษณุ
รัฐบาลนิคารากัวปัจจุบันมีรากฐานในการต่อสู้กับรัฐเผด็จการในนามกลุ่มซานตินิสต้าที่เลื่องลือทั่วโลกมาแล้ว ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง หากจะประยุกต์เอาบทเรียนดังกล่าวมาปรับใช้กับสังคมไทย
นิคารากัว เป็นประเทศขนาดใหญ่ที่สองในอเมริกากลาง ทิศเหนือมีพรมแดนติดเม็กซิโก ทิศใต้ติดฮอนดูรัสและปานามา มีพลเมืองส่วนใหญ่จากประชากรแค่ 5.5 ล้านคน สองกลุ่มหลักคือ ลูกผสมสเปนอยู่ในเมือง และคนพื้นเมืองในชนบท มีเมืองหลวงชื่อมานากัว
อดีตของนิคารากัว ก็เหมือนชาติในละตินอเมริกาส่วนมากที่เป็นอาณานิคมเก่าของสเปนมาก่อน และเมื่อได้รับเอกราชจากสงครามอเมริกา/สเปนในคริสต์ศตวรรษที่ 19 ก็มีรัฐบาลสาธารณรัฐที่ลุ่มๆ ดอนๆ
ก่อนสงครามโลกครั้งแรก อเมริกาที่ถือว่าภูมิภาคอเมริกากลางและใต้เป็นเขตอิทธิพลของตนเอง ได้รุกคืบเข้ามาในนิคารากัว ยื่นข้อเสนอสำคัญ ขุดคลองข้ามประเทศแบบเดียววกับคลองปานามา แต่รัฐบาลท้องถิ่นไม่ยินยอม อเมริกาจึงสนับสนุนกองกำลังปฏิวัตินำโดยคนอเมริกันเข้าโค่นล้มรัฐบาล แต่เมื่อมีการปราบปรามจนคนอเมริกันเสียชีวิต รัฐบาลอเมริกาถือเป็นเหตุยกกองทัพเข้ายึดครองนิคารากัวเป็นเมืองขึ้นใน ค.ศ.1912 ต่อเนื่องมาจนถึง ค.ศ.1933
ระหว่างการยึดครองของอเมริกานั้น ออกุสโต้ ซานดิโน่ ได้นำชาวนิคารากัวทำสงครามกองโจรต่อต้านอเมริกา จนอเมริกาเริ่มสูญเสียจำนวนมาก ต้องตัดสินใจถอยกลับให้เอกราช โดยหวังเชิดประธานาธิบดีหุ่นตระกูลชาร์มอโร และ โซโมซ่า ขึ้นครองอำนาจต่อเนื่องแทน
เมื่อได้รับเอกราช ซานติโนตั้งพรรคการเมืองและได้รับชัยชนะในการเลือกตั้ง พร้อมกับใช้นโยบายปฏิรูปที่ดิน และนิรโทษกรรมนักโทษการเมือง แต่ซานติโน่ก็ถูกลอบสังหารโดยฝีมือของตระกูลโซโมซ่า หลังจากนั่งเก้าอี้ครองอำนาจมาได้ไม่ถึงปี
จากนั้น ยุคเผด็จการโซโมซ่า พยายามเปลี่ยนนิคารากัวให้เป็นชาติอุตสาหกรรมและการท่องเที่ยว มีการลงทุนจากกลุ่มทุนอเมริกันอย่างล้นหลามทำให้นิคารากัวมีการเติบโตทางเศรษฐกิจรวดเร็วมากที่สุดชาติหนึ่งในละติอเมริกา แต่ความเหลื่อมล้ำทางสังคมกลับทวีเพิ่มขึ้นรุนแรง
ความเหลื่อมล้ำดังกล่าว เปิดช่องให้ปัญญาชนที่รักความเป็นธรรม ไม่มีทางเลือกอื่น ต้องหันไปทำการต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธใต้ดิน
ค.ศ.1961 มีการก่อตั้งกลุ่มซานตินิสต้า(ชื่อย่อภาษาสเปนคือ FSLN - Frente Sandinista de Liberacio’n Nacional) ซึ่งมีเป้าหมายเดียวกันคือ “มุ่งให้เจตจำนงของซานดิโนบรรลุเป้าหมาย” แต่เนื่องจากความซับซ้อนของสังคมและมุมมองของแกนนำที่มีวิธีการจัดตั้งและต่อสู้แตกต่างกัน รวมทั้งมีอุดมการณ์ย่อยที่ขัดแย้งกันภายใน จึงตกลงกันให้มีรูปแบบการจัดตั้งตาม “ร่วมทางยุทธศาสตร์ แยกทางยุทธวิธี” ผสมเข้ากับการหาทางดึงเอาศาสนจักรโรมันคาธอลิกเป็นแนวร่วมให้ได้
ความหลากหลายของแซนดินิสต้าทำให้เกิดเป็นขบวนที่แตกต่างกัน 3 แนวดังนี้คือ
- แนวทาง “รบนอกแบบยาวนานในชนบท” (GPP - querra popular prolongada)หาการสนับสนุนและสร้างฐานที่มั่นจากชาวนาในชนบทเพื่อรบยืดเยื้อแบบลัทธิเหมา ผสมลัทธิ”เทววิทยาเพื่อการปลดปล่อย”ของนักบวชคาธิลิกนอกคอก นำโดยกลุ่มนักปฏิวัติที่มีเชื้อสายพื้นเมือง
แนวทาง เทววิทยาเพื่อการปลดปล่อย (Liberation Theology)เป็นแนวคิดของนักบวชละตินอเมริกานำโดย กุสตาโว่ กูเทียเรซ ที่พยายามประยุกต์คำสอนและวิถีชีวิตของพระเยซูเข้ากับลัทธิมาร์กซ โดยมีคำขวัญง่ายๆ คือ “พระเยซูคือมาร์กซิสท์ที่แท้จริงคนแรก” ถือว่าภารกิจของนักบวชคริสต์และศาสนจักร ไม่ใช่การยกระดับจิตวิญญาณหรือไถ่บาป แต่ต้องช่วยปลดปล่อยมวลชนผู้ถูกกดขี่ให้ได้รับความยุติธรรมทางสังคมพร้อมไปด้วย ผลของแนวคิดนี้ถือการปฏิวัติไม่ขัดแย้งกับศาสนจักรโรมันคาธิลิก แนวคิดนี้ได้แพร่หลายอย่างมากในอเมริกากลางและใต้ทุกประเทศมาจนถึงปัจจุบัน
- แนวทาง “สงครามในเมือง” (TP - tendencia proletaria) ยึดแนวทางทรอตสกี้และเลนินสร้างฐานมวลชนจากกรรมกรและปัญญาชนในเมืองหลัก นำโดย ไฮเม่ วัลล๊อก กลุ่มนี้เชื่อมโยงเข้ากับค่ายโซเวียต/ยุโรปตะวันออก
- แนวทาง “สร้างแนวร่วมหลากหลาย/ลุกฮือฉาบฉวยหากมีจังหวะ” หรือ “ทางสายที่สาม”(TI - tercerista/insurrecctionista) นำโดย 3 พี่น้องออร์เตก้า ประสานการต่อสู้ระหว่างกลุ่มกำลังในประเทศ แม้กระทั่งพวกที่แสวงหาแนวทางรัฐสภา รวมทั้งประสานข้ามชาติกับปัญญาชนเสรีนิยมและซ้ายสากล เน้นยุทธศาสตร์ประชาสัมพันธ์ผ่านปฏิบัติการครึกโครมเพื่อสะท้อนความเหลวแหลกของรัฐบาลโซโมซ่า กลุ่มนี้เชื่อมโยงและได้รับการฝึกอาวุธจากคิวบา
การต่อสู้ของทั้งสามแนวทางพร้อมกันนี้ ในระยะแรกไม่ประสบความสำเร็จมากนัก โดยเฉพาะศาสนจักรคาธิลิกกระแสหลักที่ขึ้นต่อวาติกัน ไม่ยอมรับแนวทางของกลุ่มเทววิทยาเพื่อการปลดปล่อย ยกเว้นกลุ่มที่สามที่สามารถสร้างผลสะเทือนจากการลักพาตัว ยึดสถานที่ราชการบางแห่ง และลอบสังหารคนของรัฐบาลบางคน เพื่อแลกกับการออกอากาศและตีพิมพ์โฆษณาอุดมการณ์ของตน แต่ก็ต้องเผชิญกับการปราบปรามอย่างรุนแรงของรัฐบาลโซโมซ่าเช่นกัน
จุดผกผันของซานดินิสต้า เกิดขึ้นหลังจากเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ ค.ศ.1972 ในเมืองหลวง มานากัว ทำให้มีคนตายและบาดเจ็บจำนวนมาก เงินและสิ่งของบรรเทาทุกข์จากนานาชาติถูกแปรเป็นความร่ำรวยของเจ้าหน้าที่และตระกูลโซโมซ่าอย่างเต็มที่ ทำให้ตระกูลชาร์มอโร่และศาสนจักรคาธิลิก หันมาโจมตีความฉ้อฉลของโซโมซ่า
โซโมซ่า ตอบโต้ด้วยการลอบสังหารคนของตระกูลชาร์มอโรที่เป็นเจ้าของหนังสือพิมพ์ขายดีของประเทศ และคุมขังนักบวชคาธิลิก ผลักดันให้ซานดินิสต้ามีพันธมิตรใหม่ที่สำคัญเพิ่มขึ้น และเพิ่มปฏิบัติการลักพาตัว และลอบสังหารในเขตเมืองรุนแรงมากขึ้น
ในปลายปี ค.ศ.1974 กลุ่มปฏิบัติการของซานดินิสต้าบุกเข้ายึดงานเลี้ยงของกระทรวงเกษตรและยึดตัวประกันรวมทั้งคนในตระกูลโซโมซ่าด้วย ยิงทิ้งรัฐมนตรีเกษตร และได้รับเงินค่าไถ่ตัวประกัน 2 ล้านดอลลาร์ ต่อรองให้ปล่อยตัวนักโทษการเมืองสำคัญของกลุ่ม 14 คน และได้ออกอากาศแถลงการณ์ของกลุ่มเต็มฉบับผ่านทางวิทยุ และตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ทั่วประเทศ แต่ที่สำคัญ ทำให้รัฐบาลโซโมซ่ารับปากว่าจะเพิ่มเงินเดือนให้ทหารชั้นผู้น้อยในกองทัพคนละอย่างต่ำ 500 คอร์โดบา(มาตราการเงินท้องถิ่น)
รัฐบาลโซโมซ่าไม่มีทางเลือกอื่นในการรักษาอำนาจ นอกจากใช้ความรุนแรงมากขึ้น ควบคุมสื่อเข้มงวด คุกคามนักธุรกิจและนักบวช ทรมานและสังหารฝ่ายตรงข้ามรัฐบาล ซึ่งยิ่งทำก็ยิ่งทำให้แนวร่วมซานดินิสต้าเพิ่มมากขึ้น สามารถปฏิบัติการเชิงรุกได้ในทุกพื้นที่ของประเทศ
ท้ายสุดโซโมซ่าก็ถูกโดดเดี่ยว จนต้องพาครอบครัวหนีไปลี้ภัยในปารากวัย ใน ค.ศ.1979 และถูกกลุ่มไล่ล่าตามไปวางระเบิดเสียชีวิตในรถยนต์ เปิดทางให้กลุ่มแนวร่วมต่อต้านโซโมซ่าขึ้นมายึดกุมอำนาจรัฐ โดยมีตัวแทนแนวร่วม 5 คน (มีตัวแทนซานดินิสต้า 2 คน) เป็นผู้กุมบังเหียนสูงสุด
เมื่อสิ้นรัฐบาลโซโมซ่า ซานดินิสต้าที่แตกกลุ่มทางยุทธวิธีได้กลับมาเจรจาเพื่อรวมตัวกัน เตรียมพร้อมสำหรับยุทธศาสตร์ใหม่มุ่งเข้าสู่การเมืองแบบประชาธิปไตยในเวทีรัฐสภาและการเลือกตั้งในทุกระดับ ในฐานะพรรคการเมืองแบบเปิด พร้อมกับยกเลิกรูปแบบการจัดตั้งที่มุ่งใช้ความรุนแรงอันเป็นยุทธวิธีเดิมที่เคยใช้ต่อสู้กับเผด็จการอย่างเบ็ดเสร็จ
การเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ยืนยันว่า การใช้ความรุนแรงของซานดินิสต้าในยุคโซโมซ่าเป็นเพียงเครื่องมือ มิใช่เป้าหมาย เพราะธาตุแท้พวกเขาคือ เป็นมากกว่านักปฏิวัติ แต่มุ่งเปลี่ยนแปลงสังคมที่ดีกว่า
หากไม่นับกองทัพแห่งชาติที่ผู้นำกองทัพคนสำคัญถูกปลดออกเพราะประวัติรับใช้เผด็จการ แล้วถูกปรับโครงสร้างใหม่ ด้วยโครงสร้างกองทัพประชาชนแบบซานดินิสต้าแล้ว ถือว่าซานดินิสต้าไม่ได้ครอบงำสังคมนิคารากัวอย่างเบ็ดเสร็จแต่อย่างใด
นิคารากัวประกาศรัฐธรรมนูญฉบับใหม่บนรากฐานความคิดของซานดิโน่แต่เดิม พร้อมกับประกาศเลือกตั้งทั่วไป ซึ่งผลลัพธ์ปรากฎว่า กลุ่มซานดินิสต้าได้รับคะแนนนิยมล้นหลามเข้ายึดกุมอำนาจรัฐเกือบเบ็ดเสร็จด้วยแรงสนับสนุนจากคนทุกกลุ่ม(ยกเว้นเจ้าที่ดิน) จากนโยบายสำคัญ 5 ด้านคือ
1) การศึกษาแบบฟรีในทุกระดับชั้นของโรงเรียน ยกระดับการศึกษา ถือเป็นตัวอย่างดีเลิศของสหประชาชาติเลยทีเดียว
2) ปฏิรูปที่ดินครั้งใหญ่ให้เกษตรกรเป็นเจ้าของที่ดิน
3) ยกเลิกกฎหมายละเมิดสิทธิมนุษยชนทุกด้าน
4) โอนกิจการผูกขาดเป็นของรัฐทั้งหมด
5) ถ่ายโอนอำนาจของกองทัพขวาจัดมาเป็นโครงสร้างแบบกองทัพปฏิวัติประชาชนของซานดินิสต้า
นโยบายของรัฐบาลซานดินิสต้า โดยประธานาธิบดี ดาเนียล ออร์เตก้า(น้องคนเล็กในตระกูลออร์เตก้า) ได้รับความสำเร็จอย่างดีในช่วงแรก จนกระทั่งอเมริกาประกาศคว่ำบาตรทางการค้ากับนิคารากัวทุกชนิด พร้อมสนับสนุนเจ้าที่ดินให้ก่อตั้งกองกำลังอาวุธ”คอนตร้า”ต่อสู้กับรัฐบาล ทำให้มีคนตายจำนวนหลายหมื่นคน ทำให้เศรษฐกิจประเทศเริ่มทรุดโทรมอย่างรุนแรง แต่นิคารากัวก็ไม่หวนคืนกลับไปสู่เส้นทางการรัฐประหารหรือยึดอำนาจเผด็จการอีก เพราะยังคงเปิดช่องทางเปลี่ยนอำนาจผ่านการเลือกตั้ง ที่แม้กลุ่มซานดินิสต้าจะแพ้เลือกตั้งหลายครั้งติดต่อกันในการเป็นรัฐบาล แต่ก็ยังคงใช้บทบาทในเวทีรัฐสภาผลักดันนโยบายสำคัญของตนเองต่อมาโดยไม่หวนกลับไปสู่เส้นทางใช้ความรุนแรงแบบเดิมอีก จนกระทั่งกลับมาครองอำนาจอีกครั้งผ่านกระบวนการเลือกตั้งในปัจจุบัน
การสนับสนุนอันแข็งขันของมวลชนต่อซานดินิสต้า และการสร้างพันธมิตรกับต่างชาติอย่างได้สมดุลของรัฐบาลนิคารากัว ทำให้อเมริกาถูกบังคับให้ลดปฏิบัติการต่อต้านนิคารากัวลงอย่างมากในปัจจุบัน
โมเดลความสำเร็จในการต่อสู้สร้างรัฐประชาธิปไตยของซานดินิสต้าในนิคารากัว เป็นบทเรียนสำคัญที่หากผู้รักประชาธิปไตยของไทยสามารถใช้เวลาและสมองเรียนรู้เพื่อทบทวนบทเรียน ก็คงจะช่วยให้กระบวนการต่อสู้กับเครือข่ายอภิสิทธิ์ชนในสังคมไทยสามารถทะลวงจุดอับทางความคิดไปได้
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น