รายงาน 1 เดือนโศกนาฏกรรมวัดปทุมฯ: เมื่อ
'ลุงบัวศรี' เสื้อแดงชัยภูมิกลับมายืนที่เดิม
มุทิตา เชื้อชั่ง
วัดปทุมวนาราม ในวันที่ 19 มิถุนายน 2553
กลายสภาพเป็นอนุเสาวรีย์ผู้เสียชีวิตจากการสลายการชุมนุมเดือนพฤษภาคม 53
ชั่วคราว เนื่องจากเป็นวันครบรอบ 1 เดือนการสูญเสีย
อาจเพราะที่นี่เป็นเขตอภัยทานที่มีหลักฐานการตายอันสะเทือนใจปรากฏอยู่จำนวน มาก
มากกว่าที่อื่นๆ ที่เป็นความตายอันกระจัดกระจาย
เป็นความตายอันไร้ซึ่งสักขีพยานประชาชนหลายร้อยคนร่วมทำบุญ
รำลึกถึงผู้เสียชีวิตตั้งแต่เช้า หลายคนยังคงใส่เสื้อสีแดง
กระทั่งในช่วงบ่ายมีผู้บาดเจ็บภายในวัดปทุมฯ
เข้ามาร่วมรำลึกโศกนาฏกรรมครั้งนี้ด้วย จากนั้นจึงมี "การกระชับวงล้อม"
ของบรรดาประชาชนผู้สนใจพากันล้อมวงเข้าสอบถามเหตุการณ์-อาการกับผู้บาดเจ็บ
บ้างพยายามรวบรวมเงิน แบ้งค์ยี่สิบ แบ้งค์ร้อยกอบเป็นกำส่งให้ผู้บาดเจ็บ
เพื่อสบทบทุนค่ารักษาพยาบาล ค่ารถ พร้อมด้วยคำอวยพรสารพัน
ผู้รับบางคนถึงกับน้ำตาไหลด้วยความซาบซึ้งใจ
เก่ง ล้างแผลให้ลุงบัวศรี ข้างๆ คือภรรยาชื่อป้าจำนงค์
เก่ง หรือ วสันต์ สายรัศมี
อาสาสมัครกู้ชีพฯ ที่เดินสายป่าวประกาศ เป็นพยานปากสำคัญในเหตุการณ์ในวัดปทุมฯ
เมื่อเย็นวันที่ 19 พ.ค. เข้ามาสวัสดีลุงบัวศรี ทุมมา
ผู้ชุมนุมชาวชัยภูมิที่โดนยิงเข้าฝ่าเท้าด้านบนทะลุฝ่าเท้าด้านล่าง
พวกเขาทักทายกันอย่างสนิทสนม
เพราะเก่งคือผู้ที่ปฐมพยาบาลให้ลุงบัวศรีในวันนั้นนั่นเอง จากนั้นเก่งก็เปิดแผล
ล้างแผลให้ลุงบัวศรีเพื่อแสดงให้เห็นบาดแผล
ซึ่งกระสุนได้ทำลายกระดูกเท้าและเส้นเอ็นรวมทั้งสร้างบาดแผลใหญ่มากบริเวณ
ฝ่าเท้า ท่ามกลางเสียงฮือฮา ก่นด่า สาปแช่งรัฐบาลของผู้ที่ล้อมวงดู
ราวเสียงหึ่งกังวานของวูวูเซล่าในสนามแข่งขันฟุตบอลโลก
ลุงบัวศรี อายุ 67 ปี เป็นชาวไร่ชาวนาจากชัยภูมิ
ด้วยความที่แกอายุมากที่สุดในบ้านแต่ยังพอแข็งแรง ดูแลตัวเองได้
จึงได้รับสิทธิพิเศษให้เป็นตัวแทนของบ้านเดินทางร่วมชุมนุมกับกลุ่ม นปช.
ปล่อยให้การทำมาหากินเป็นหน้าที่ของลูกๆ 4 คน
และการอยู่บ้านเลี้ยงหลานเป็นหน้าที่ของภรรยา
แกเดินทางคนเดียวนั่งรถโดยสารออกจากพื้นที่มายังตัว จังหวัด ระยะทางกว่า 40 กม.
จากนั้นนั่งรถประจำทางลงมายังกรุงเทพฯ โดยลงมาตั้งแต่วันที่ 8 เม.ย.
วันที่ 10 เม.ย. ลุงบัวศรีก็ยังร่วมเดินขบวนเข้าไปกดดันทหารที่ทัพภาค 1
ซึ่งดูเหมือนการปะทะ ณ จุดนี้ จะเป็นจุดเริ่มต้นของความรุนแรงวันที่ 10 เม.ย.
ลุงบัวศรีวิ่งไปอยู่ด้านหน้าดันกับทหารและถูกตีจนปอดฉีกต้องนอนโรงพยาบาล
หลายวัน พอหายดีแกก็ยังไม่เข็ด เก็บสัมภาระออกเดินทางมาร่วมชุมนุมอีก
"ก่อนมาแกก็นึ่งข้าวเหนียว ตำปลาร้าใส่กระปุกมาด้วย
บอกว่าเที่ยวนี้ต้องมาหลายวัน คงไม่มีคนส่งอาหาร กระเป๋าเสื้อผ้าแกมีใบหนึ่ง
แกก็เอาใส่กระเป๋าแกมา" ป้าจำนงค์ เนียมขุนทด วัย 49 ปี
ภรรยาของลุงบัวศรีเล่าให้ฟัง พร้อมกับบอกว่าก่อนหน้านี้
เมื่อปีที่แล้วแกยังไม่ถึงกับลงมากรุงเทพฯ
เพียงแต่คอยตระเวนดูทีวีช่องเสื้อแดงตามบ้านเพื่อนในบางครั้ง
และขี่มอเตอร์ไซด์ไปนั่งฟังปราศรัยที่ตัวจังหวัดทุกครั้งที่มี
ในวันเกิดเหตุ 19 พ.ค.ลุงบัวศรีนั่งหมดอาลัยตายอยากอยู่บริเวณลานจอดรถหน้าวัด
ภายหลังแกนนำสั่งยุติการชุมนุมให้มวลชนกลับบ้าน
ระหว่างนั้นเวลาประมาณห้าโมงกว่าเห็นทหารเดินมาเป็นแถวบนรางรถไฟฟ้า
พร้อมทั้งมีเสียงปืนยิงไล่ดังใกล้เข้ามาเรื่อยๆ
ผู้ชุมนุมที่อยู่บริเวณนั้นจึงพากันหลบ ตัวลุงมุดไปอยู่ใต้ท้องรถกระบะคันหนึ่ง
มันเป็นเวลาที่พระอาทิตย์ยังไม่จากไปทำให้ลุงบัวศรีเห็นชัดเจนว่ากระสุนมา
จากกลุ่มทหารที่อยู่บนรางบีทีเอส
ลุงบอกว่าตอนนั้นนึกว่าหลบพ้นแล้วแต่ขาดันยื่นออกมานอกรถ
จึงโดนยิงที่เข้าที่เท้า รู้สึกเจ็บมากและเลือดไหลเป็นกอง
จากนั้นมีทหารตะโกนสั่งลงมาว่าให้คนที่อยู่ใต้ท้องรถออกมาให้หมดแล้วถอด
เสื้อออก มิฉะนั้นจะยิงให้ตาย ตอนนั้นมีชายคนหนึ่งที่หมอบอยู่ด้านข้าง
ลุกขึ้นแล้วยกมือชูเหนือหัว แต่ทหารก็ยิงลงมาอีก ถูกมือชายคนดังกล่าว
เมื่อล้มลงก็ถูกยิงซ้ำอีก ลุงจึงหมอบเอาหน้าแนบพื้นใต้ท้องรถไม่ยอมออกมา
ท่ามกลางเสียงกระสุนที่สาดเป็นระยะ และมีคนถูกยิงล้มลงอีกหลายคน
จนกระทั่งพักใหญ่เจ้าหน้าที่อาสาฯ จึงเข้ามาลากตัวช่วยเหลือลุงไว้ได้
ระหว่างปฐมพยาบาลเบื้องต้นลุงก็หมดสติไปก่อนถูกส่งโรงพยาบาลอย่างทุลักทุเล
ช่วงเวลาเดียวกันในอีกฝั่งหนึ่งที่จังหวัดชัยภูมิ ภรรยาและลูกๆ
ของลุงได้ยินเสียงทุกอย่างอย่างชัดเจนราวกับถ่ายทอดสด
มันทำให้หัวใจของผู้เป็นภรรยาแทบสลายเพราะเชื่อว่าสามีคงไม่รอดแน่
ป้าจำนงค์เล่าว่า ป้าติดต่อกับลุงทางโทรศัพท์ก่อนที่จะถูกยิงไม่นาน
และทำให้สามารถรับรู้ความเคลื่อนไหวระหว่างลุงหลบลูกกระสุนได้โดยตลอด
"ตาบอก มันยิงมาใกล้แล้วยายๆ หลบดีๆ นะตา ใครยิงตาๆ
พวกทหารมันยิงมาจากทางรถไฟยาย ซักพักนึง ปังๆ เงียบ พยายามกดโทรศัพท์อีก มันติด
แต่ไม่มีคนรับแล้ว ก็บอกลูก ลูกก็บอกทำใจนะแม่
เหลือมาเท่าไหร่เราก็เลี้ยงแค่นั้น"เธอย้อนเล่าเหตุการณ์ทั้งน้ำตา
และบอกว่าเมื่อเธอต้องเล่าเหตุการณ์นี้ทีไรก็อดร้องไห้ไม่ได้ทุกที
การถ่ายทอดสดวันนั้นดำเนินการผ่านลำโพงโทรศัพท์เครื่อง เก่าแก่ของป้าจำนงค์
มีลูกๆ 4 คน กับหลานเล็กๆ อีก 2 คน ล้อมวงนั่งฟัง ทุกคนคิดว่าพ่อ/สามี/ปู่/ตา
ของพวกเขาคงไม่รอดแน่
การตามหาลุงบัวศรีเป็นไปอย่างอยากลำบาก
อาศัยว่าได้ผู้ใหญ่บ้านที่คอยประสานส.ส.ในพื้นที่ให้คอยอำนวยความสะดวกให้
"ขอให้ผู้ใหญ่เจริญ ช่วยติดต่อส.ส.ให้ เพราะเราเคยเลือกตั้งส.ส.ไว้แล้ว ทางส.ส.
เขาก็มาดูแลให้ทันทีที่เราแจ้งไป แล้วพาตามารักษาที่รพ.ชัยภูมิอีก 3 อาทิตย์"
คู่ทุกข์คู่ยากของลุงว่า
แม้ลุงจะมีบาดแผลถูกยิงชัดเจน มีพยานยืนยันหลายคนว่าแกถูกยิงอย่างแน่แท้
แต่ใบรับรองแพทย์ รพ.ชัยภูมิเขียนเพียงว่า กระดูกเท้าแตก
บาดแผลลึกจากหลังเท้าถึงฝ่าเท้า
ขณะที่ใบรับรองแพทย์จากรามาระบุชัดเจนขึ้นมาอีกหน่อยว่า เป็นแผลขอบไม่เรียบ
กระดูเท้าซ้ายด้านนิ้วก้อยหัก มีเศษเหล็กในบาดแผล
พร้อมทั้งหมายเหตุว่าบาดแผลดังกล่าวอาจเกิดจากกระสุนปืนได้
เมื่อถามว่ารู้สึกเช่นไร หลังจากได้กลับมายืนที่เดิมอีกหลังจากผ่านเหตุการณ์มา
1 เดือน ลุงบัวศรีบอกว่า "ผมดีใจที่ได้กลับมายืนที่นี่อีก
มีความสุขในใจแล้วก็มีความเสียใจในเรื่องเบื้องหลัง มันไม่น่าจะสูญเสียแบบนี้
คนไทยทำไมมันฆ่ากันขนาดนี้"
นักข่าวคนหนึ่งถามลุงและป้าว่า ถ้ามีการชุมนุมอีกจะมาไหม
คำตอบของทั้งคู่ตรงกันคือ "มา" และ "ให้มา"
"อุทิศตาให้ นปช.แล้ว เราห่วง เรารัก แต่เรายอม เพราะเราอยากได้ความถูกต้อง
ความยุติธรรม" ป้าจำนงค์ผู้มีอาชีพทำไร่และเลี้ยงหลานกล่าว
ส่วนลุงบัวศรีบอกถึงเหตุผลที่เคยมาและยังจะมาร่วมชุมนุม ว่า
"ผมอยากช่วยให้ประชาธิปไตยกลับคืนมา ไม่อยากได้รัฐธรรมนูญ 50 มันร่างกันเอง
เออกันเอง แล้วมันก็สองมาตรฐาน คนผิดก็ผิดลูกเดียว คนถูกก็ถูกลูกเดียว
ไม่เป็นธรรมเลย"
การลงมากรุงเทพฯ
เพื่อเข้าร่วมรำลึกเหตุการณ์ครั้งนี้ได้รับความช่วยเหลือและอำนวยความสะดวก
จากผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่ นั่นคือ ผู้ใหญ่ เจริญ เจสันเที๊ยะ
ผู้ใหญ่เจริญเล่าว่า
สภาพบรรยากาศในพื้นที่หมู่บ้านในชัยภูมินั้นเต็มไปด้วยความโกรธแค้นของลูก บ้าน
ท่ามกลางแรงกดดันจากทางภาครัฐ ซึ่งเขาเองก็ไม่ค่อยเห็นด้วยนัก
"เขาโกรธมากเลยครับที่มาทำร้ายประชาชน เขามาเรียกร้อง เขาก็มามือเปล่า
เขาไม่ได้มาต่อสู้อะไร มาขอความเป็นธรรมเฉยๆ ไม่น่าจะทำกับเขาแบบนี้
เขาพูดกันเรื่อยๆ เลย ผมก็ได้แต่ฟังความคิดเห็น ไม่ห้ามเขา"
"ส่วนทางจังหวัดก็ไม่อยากให้เขาชุมนุม
ทางอำเภอได้ประชุมผู้ใหญ่บ้านว่าอย่าให้เขามั่วสุมกันเกิน 5 คน
ถ้าเขาจะเดินขบวนอะไรก็ให้บอกทางรัฐ
ที่จริงถ้าเขาชุมนุมก็น่าจะต้องฟังเขาว่าต้องการอะไร ต้องการให้ช่วยเหลือแบบไหน
ไม่ใช่ไม่ให้เขารวมกัน ไม่ให้ชุมนุม ทางการไม่บอกให้เราถามชาวบ้านเลย"
ผู้ใหญ่เจริญพยายามเล่าด้วยภาษากลางเหน่อๆ อย่างตรงไปตรงมา
เมื่อถามว่ามีทหารหน่วยงานความมั่นคงเข้าไปดูแลในหมู่ บ้านไหม
ผู้ใหญ่เจริญบอกว่า ไม่มี จะมีก็แต่เพียงทหาร 2
กองร้อยที่คอยคุ้มกันศาลากลางทุกวัน
"ผมพาเขามาเพราะอยากให้คนกรุงเทพฯ รู้ว่าคนที่ชัยภูมิเขาเป็นยังไงบ้างแล้ว
อยู่ยังไงบ้างแล้ว แล้วมันเกิดอะไรขึ้นกับเขา" ผู้ใหญ่เจริญว่า
พร้อมกับแนะนำให้รู้จักป้าค้าว เบอร์ขุนทด
แม่ของเหยื่อเหตุการณ์ความรุนแรงอีกหนึ่ง
ป้าค้าว
นิคม
ป้าค้าว อายุราว 65
ปีพูดภาษากลางไม่คล่องนักและขี้อายเกินกว่าจะไปนั่งให้นักข่าวสัมภาษณ์ดัง
เช่นลุงบัวศรี เมื่อค่อยๆ สอบถามเธอจึงได้ความว่า ลูกชายของเธอคือ นายนิคม
เบอร์ขุนทด อายุ 42 ปี มีอาชีพขี่รถมอเตอร์ไซด์รับจ้างในกรุงเทพฯ
ได้ขี่มอเตอร์ไซด์มาดูการชุมนุมเป็นประจำ
และในวันเกิดเหตุก็ขี่รถมาส่งผู้โดยสารในที่ชุมนุม ระหว่างทางกลับนั้น
เจอคนกลุ่มหนึ่ง คำสุดท้ายที่ลูกชายได้ยินคือ "ไอ้นี่มันเสื้อแดง"
จากนั้นก็ถูกรุมตีจนสลบ
เมื่อถามถึงรายละเอียดเวลา สถานที่ รวมถึงลักษณะของกลุ่มคนดังกล่าว
ผู้ใหญ่เจริญเล่าว่า นิคมจำอะไรไม่ได้มากนัก และมีอาการเบลอๆ
เนื่องจากถูกตีจนหัวแตก
และกระดูกคอต่อกระดูกสันหลังเคลื่อนจนต้องดามไว้จนถึงทุกวันนี้
และอาจต้องพักฟื้นอีกนาน
"ไม่รู้ว่าจะกลับมาเป็นปกติได้ไหม ตอนนี้เขาก็ยังช่วยเหลือตัวเองไม่ค่อยได้
ต้องนอนตลอด พอลุกนั่งก็เจ็บ" ผู้ใหญ่ว่า
นิคม มีภูมิลำเนาในชัยภูมิเช่นกันแต่อยู่คนละอำเภอกับลงบัวศรี
เขาถูกนำส่งมารักษาตัวในโรงพยาบาลเดียวกัน นอนเตียงข้างๆ กันจึงได้รู้จักกัน
ขณะนี้นิคมฯ ย้ายไปพักฟื้นที่บ้านแล้วหลังนอนโรงพยาบาลเกือบเดือน
โดยมีแม่และลูกสาววัย 14 ปีที่ต้องหยุดเรียนคอยดูแล
นอกเหนือจากนี้พ่อของเจริญก็มีขาพิการ ทำงานไม่ได้
ครอบครัวนี้จึงอยู่ในสภาพไร้เสาหลักโดยสิ้นเชิง และไม่ได้รับการช่วยเหลือใดๆ
จากรัฐ
ประชาไท <http://www.prachatai3.info/journal/2010/06/30043>
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น