Thu, 2010-11-25 22:13
ผู้สื่อข่าว "มติชนออนไลน์" รายงาน ว่า ที่ประชุมคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) วันที่ 25 พ.ย.2553 ได้มีมติส่งสำนวนคดีนายพสิษฐ์ ศักดาณรงค์ เลขานุการประธานศาลรัฐธรรมนูญ กรณีลักลอบบันทึกภาพและเสียง (คลิปวิดีโอ) การประชุมของคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ส่งคืนให้พนักงานสอบสวนโดยให้เหตุผลว่า ผู้ต้องหาเข้าข่ายกระทำความผิดฐานนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูล คอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ กล่าวคือ
ตามที่ นายเชาวนะ ไตรมาศ เลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ได้ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน กองบังคับการปราบปราม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ให้ดำเนินคดีอาญากับ นายพสิษฐ์ ศักดาณรงค์ เลขานุการประธานศาลรัฐธรรมนูญ กรณี ลักลอบบันทึกภาพและเสียง (คลิปวิดีโอ) การประชุมของคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นความลับของทางราชการ ออกเผยแพร่ให้บุคคลอื่นได้ล่วงรู้ความลับในการประชุมดังกล่าว ซึ่งเป็นความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด และฐานเป็นเจ้าพนักงาน รู้หรืออาจรู้ความลับในราชการ กระทำการโดยประการใด ๆ อันมิชอบด้วยหน้าที่ให้ผู้อื่นล่วงรู้ความลับ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และมาตรา 164 และจากการสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานในเบื้องต้นของพนักงานสอบสวน ปรากฏพยานหลักฐานตามสมควรเพิ่มเติมว่า นางสาวชุติมา หรือพิมพิจญ์ แสนสินรังษี เจ้าหน้าที่ศาลรัฐธรรมนูญ ๓ กลุ่มงานคดี 8 สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ น่าจะได้ร่วมกระทำความผิดในกรณีดังกล่าวกับนายพสิษฐ์ ศักดาณรงค์ และการกระทำของบุคคลทั้งสอง ยังเป็นความผิดฐานนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน ซึ่งพนักงานสอบสวนพิจารณาแล้วเห็นว่า บุคคลทั้งสองเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ อยู่ในอำนาจของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่จะดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริง ตามมาตรา ๘๙ แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 จึงได้ส่งคำร้องทุกข์และสำนวนการสอบสวนคดีอาญาดังกล่าวมาให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริงต่อไป ตามที่ปรากฏเป็นข่าวทางสื่อมวลชนก่อนหน้านี้แล้วนั้น
คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้พิจารณาคำร้องทุกข์และสำนวนการสอบสวนคดีอาญาของพนักงานสอบสวน แล้วเห็นว่า แม้สำนวนการสอบสวนคดีอาญาที่พนักงานสอบสวนส่งมา จะเป็นการกล่าวหาเจ้าหน้าที่ของรัฐ กระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ อยู่ในอำนาจของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่จะดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริงต่อไป ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 89 ประกอบมาตรา 88 ก็ตาม แต่เนื่องจากสำนวนการสอบสวนคดีอาญานี้ จากการสอบสวนของพนักงานสอบสวน ปรากฏว่า ผู้ถูกกล่าวหาทั้งสอง ได้กระทำความผิดฐานนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็น เท็จ โดยประการที่น่าจะทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน ซึ่งอยู่ในอำนาจของพนักงานสอบสวนที่จะต้องดำเนินคดีต่อไปรวมอยู่ด้วย ประกอบกับพนักงานสอบสวน ได้ขออนุมัติจับกุมบุคคลทั้งสองต่อศาลอาญา และศาลอาญาได้ออกหมายจับบุคคลทั้งสองไว้แล้ว
ดังนั้น เพื่อให้มีการสอบสวนและดำเนินคดีอาญากับผู้ถูกกล่าวหาทั้งสองในการกระทำความ ผิดเหล่านี้ในคราวเดียวกัน คณะกรรมการ ป.ป.ช. จึง มีมติให้ส่งเรื่องคืนให้พนักงานสอบสวน ดำเนินการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาต่อไป ทั้งนี้ ตามประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็น ประมุข ฉบับที่ 31 ลงวันที่ 30 กันยายน 2549 ข้อ 6
ทั้งนี้ ประกาศ คปค.ฉบับที่ 31 เรื่อง การดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ของ ป.ป.ช. ข้อ 6 ระบุว่ากรณีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เห็นสมควรอาจส่งเรื่องที่มีการกล่าวหาเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งไม่ใช่บุคคลตามมาตรา 66 ว่ากระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่กระทำความผิดต่อตำแหน่งราชการ หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรมที่อยู่ระหว่างดำเนินการให้ ผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอน ดำเนินการทางวินัย หรือดำเนินการตามอำนาจหน้าที่แล้วแต่กรณี หรือส่งเรื่องให้พนักงานสอบสวนดำเนินการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ต่อไปก็ได้
ที่มา - มติชนออนไลน์
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น