Thu, 2010-11-04 13:37
องค์กร เกษตร-ชุมชน ร่วมเสนอแนวทางแก้ไขเยียวยาน้ำท่วมแก่รัฐบาล อาทิเช่น ให้เกษตรกรมีส่วนร่วมในการชดเชยความเสียหาย ปรับปรุงมาตรการรับมือและเตือนภัยน้ำท่วม แก้ปัญหาการบริหารจัดการน้ำโดยส่วเสริมบทบาทของชุมชนและองค์กรท้องถิ่น ทบทวนวิเคราะห์ผลกระทบจากการก่อสร้างที่กักเก็บน้ำ สนับสนุนการวิจัยพันธุ์ข้าวขึ้นน้ำ
เมื่อวันที่ 3 พ.ย. 2553 สำนักงานปฏิรูประบบเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตเกษตรกร ชุมชน และสังคม (สปกช.) ภายใต้คณะกรรมการเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนแห่งชาติ ร่วมกับ สมาคมชาวนาไทย, มูลนิธิชีววิถี (BIOTHAI) , ชุมชนธรรมเกษตร และมูลนิธิเพื่อบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการ (ประเทศไทย) ได้จัดประชุมวาระพิเศษ “น้ำท่วม: ทุกข์ซ้ำเกษตรกรรมไทย – ผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วมและข้อเสนอเพื่อหลุดพ้นจากวงจรวิกฤต” เพื่อประมวลความทุกข์ที่เกษตรกรประสบอยู่ และรัฐบาลอาจมองข้ามไป ตลอดจนเสนอแนะทางออกในการแก้และเยียวยาปัญหาน้ำท่วมอย่างยั่งยืน ณ โรงแรมรามาการ์เด้น โดยมีข้อเสนอดังต่อไปนี้
1. ขอเรียกร้องให้รัฐบาลทบทวนเกณฑ์และมาตรการในการช่วยเหลือเกษตรกรโดยยึดหลักความเป็นธรรม ความครอบคลุม และความโปร่งใส แม้ว่ารัฐบาลจะมีมาตรการชดเชยความเสียหายแก่เกษตรกรในกรณีนาข้าวเพิ่มขึ้น ซึ่งคิดเป็น 55 % ของต้นทุนเฉลี่ยการผลิตข้าวแล้วก็ตาม แต่ก็ไม่เพียงพอต่อการบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรได้ และยังไม่ครอบคลุมถึงกลุ่มเกษตรกรอื่นๆ เช่น ปศุสัตว์ เป็นต้น รวมถึงยังไม่ครอบคลุมต้นทุนความเสียหายที่แม้จริงของเกษตรกรกลุ่มต่างๆด้วย ดังนั้นจำเป็นต้องมีการกำหนดหลักเกณฑ์การคิดค่าชดเชยความเสียหายที่เป็นต่อ เกษตรกรยิ่งขึ้น โดยให้เกษตรกรมีส่วนร่วมในการกำหนดด้วย
2. การปรับปรุงมาตรการในการรับมือกับภัยน้ำท่วม ทั้งด้านการเพิ่มประสิทธิภาพการเฝ้าระวังและการเตือนภัย การแก้ปัญหาวิกฤติเฉพาะหน้าโดยการระดมความช่วยเหลือจากภาคส่วนต่างๆ รวมทั้งจากรัฐ ควรทำอย่างเป็นระบบและประสานงานกับพื้นที่เพื่อมิให้มีผู้ตกหล่นจากการช่วย เหลือ และต้องเร่งกำหนดแนวทางการฟื้นฟูหลังน้ำลดที่เป็นรูปธรรมและสามารถปฏิบัติ ได้จริง โดยให้สังคมมีส่วนร่วม
3. กลไกการบริหารจัดการน้ำ ควรมีการดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าเดิม เนื่องจากเป็นที่น่าสังเกตว่าภัยน้ำท่วมในครั้งนี้เกิดขึ้นอย่างเฉียบพลัน และกินบริเวณกว้างทั้งที่ปริมาณน้ำฝน และน้ำท่าไม่ได้มากกว่าปีที่มีน้ำมากมากนัก สะท้อนปัญหาความผิดพลาดในการบริหารจัดการน้ำอย่างชัดเจน ต้องมีการแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้าง และให้คณะกรรมการลุ่มน้ำเข้ามามีบทบาทในการบริหารจัดการอย่างจริงจัง
4. การป้องกันภัยระยะยาว ควรดำเนินการในหลายสิ่งหลายอย่างประกอบกันอย่างเป็นระบบ เช่น การเลือกพันธุ์พืช และระบบเกษตรกรรมที่เหมาะสม การส่งเสริมการจัดปรับสิ่งปลูกสร้างบ้านเรือนให้สอดคล้องกับระบบนิเวศน์ ตลอดจนการเพิ่มพื้นที่ป่าให้มากขึ้น การดำเนินนโยบายหรือมาตรการการประกันภัยพืชผลทางการเกษตร หรือการจัดการความเสี่ยงใดๆ เพื่อแก้ไขปัญหาระยะยาวอย่างเป็นระบบ และ รัฐควรสนับสนุนการวิจัยพันธุ์ข้าวขึ้นน้ำโดยการสนับสนุนงบ ประมาณการวิจัยแก่กรมการข้าว เครือข่ายเกษตรกรและชุมชนที่ได้ริเริ่มการอนุรักษ์และพัฒนาพันธุ์ข้าวพื้น เมืองซึ่งปัจจุบันมีจำนวนสมาชิกหลายพันคน มีพันธุ์ข้าวขึ้นน้ำต่างๆ ที่ได้รับการคัดเลือกและรับรองพันธุ์แล้ว เช่น ปิ่นแก้ว เล็บมือนาง นางฉลอง และตะเภาแก้ว เป็นต้น โดยทำควบคู่ไปกับการส่งเสริมให้เกิดศูนย์ขยายพันธุ์ข้าวชุมชน หรือ วิสาหกิจชุมชนผลิตเมล็ดพันธุ์ท้องถิ่น และธนาคารพันธุ์พืชระดับครอบครัวและชุมชน เพื่อป้องกันปัญหาการผูกขาดเมล็ดพันธุ์โดยบรรษัท นอกจากนี้ยังมีพันธุ์ข้าวทนน้ำลึกที่พัฒนาโดยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ที่ควรได้รับการสนับสนุนให้มีการดำเนินการต่อไป โดยต้องไม่นำไปสู่การโอนสิทธิในการใช้ประโยชน์จากพันธุ์ข้าวแก่ธุรกิจบางราย เท่านั้น
5. ส่งเสริมมาตรการกระจายความเสี่ยงในการผลิตโดยการประกันภัยพืชผล เนื่องจากในห่วงโซ่การผลิตทางการเกษตรนั้น ประกอบไปด้วย เกษตรกรผู้ผลิต ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับปัจจัยการผลิต การแปรรูป การตลาด ผู้ส่งออก รวมทั้งสถาบันการเงินที่มีส่วนได้เสียกับเกษตรกร แต่เมื่อเกิดภัยพิบัติกลับมีแต่เกษตรกรที่ต้องรับภาระโดยตรงแต่เพียงผู้ เดียว ผู้ที่เกี่ยวข้องในห่วงโซ่การผลิตทางการเกษตรและอาหาร ควรมีส่วนร่วมในการจ่ายค่าประกันภัยพืชผลด้วย รวมทั้งการสนับสนุนจากรัฐบาลในด้านการเฉลี่ยจ่ายเบี้ยประกันภัย อนึ่ง การคุ้มครองภัยควรครอบคลุมภัยน้ำท่วมด้วย และขยายชนิดพืชที่ทำประกันภัยให้มากกว่าเดิม
6. การเสนอมาตรการก่อสร้างที่กักเก็บน้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเขื่อนขนาดใหญ่ ต้องมีการทบทวนและวิเคราะห์ผลที่จะเกิดขึ้นอย่างเข้มงวด รวมทั้งผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับสังคม เนื่องจากมีปัญหาในการจัดการน้ำ ดังที่เห็นได้จากก่อนน้ำท่วมนั้น เขื่อนหลายเขื่อนเก็บกักน้ำไว้ถึง 90% โดยไม่ทยอยปล่อยน้ำในช่วงที่ระดับน้ำในพื้นที่ใต้เขื่อนมีไม่มาก แต่มาเร่งปล่อยน้ำช่วงที่มีปริมาณฝนหนาแน่นในทุกพื้นที่จนท่วมพื้นที่ใต้ เขื่อน ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมรุนแรงในหลายพื้นที่ นอกจากนี้การบรรเทาปัญหาน้ำท่วมอาจทำได้โดยการรื้อและปรับปรุงสิ่งก่อสร้าง โครงสร้างพื้นฐานที่ขวางทางน้ำหรือเป็นอุปสรรคต่อการระบายน้ำ รวมทั้งการขุดคลองผันน้ำ ตลอดจนแก้มลิง (ที่ถูกหลักวิชาการ) แต่ต้องทำภายหลังจากมีการศึกษาอย่างเพียงพอและผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการ ลุ่มน้ำซึ่งเป็นกลไกที่มีอยู่แล้วด้วย
7. การมีส่วนร่วมของภาคประชาชนและชุมชนท้องถิ่นในการจัดทำแผนรับมือภัยพิบัติระดับพื้นที่ โดย ภาครัฐควรส่งเสริมบทบาทของชุมชน และองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นในการบริหารจัดการน้ำ ทั้งเพื่อแก้ปัญหาภัยแล้ง และน้ำท่วมแบบบูรณาการ โดยควรให้ผู้นำของชุมชนมีส่วนร่วมพิจารณาการบริหารจัดการน้ำอย่างจริงจัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ที่มีแนวโน้มจะทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างชุมชน ต่างๆ
8. บทบาทของนักการเมืองในการใช้งบประมาณและการตัดสินใจทำโครงการพัฒนา ทั้ง ระดับท้องถิ่น และระดับชาติ ที่สามารถแก้ไขปัญหาน้ำท่วมได้อย่างยั่งยืนและมีประสิทธิภาพโดยอาศัยข้อมูล สถานการณ์ที่เป็นจริง หลักวิชาการ ในการตัดสินใจโครงการต่างๆ ภายใต้ผลประโยชน์ต่อประชาชน สังคมและประเทศชาติอย่างยั่งยืน มิใช่หวังประโยชน์เฉพาะด้านอื่นๆ เท่านั้น
9. สื่อมวลชนสามารถมีส่วนร่วมขับเคลื่อนสังคมในการแก้ไขและเยียวยาปัญหาน้ำท่วมอย่างยั่งยืน โดยเผยแพร่ข้อมูล ข่าวสาร ความรู้ จุดประเด็นความคิด ให้สังคมได้ทราบ และเปิดช่องทางให้ชุมชน ภาคประชาสังคม และนักวิชาการที่เป็นอิสระจากการครอบงำของรัฐและเอกชน เข้ามามีบทบาทในการร่วมมือแก้ไขวิกฤตน้ำท่วม (ฝนแล้ง) อย่างเป็นระบบ
คณะผู้แถลงตระหนักว่า น้ำใจและความช่วยเหลือของคนไทยด้วยกันเองต่อผู้ประสบภัยน้ำท่วมครั้งนี้เป็น ความงดงามและน่าซาบซึ้งใจ แต่หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง ภาคธุรกิจ ตลอดจนประชาชนทั่วไป ควรได้ร่วมกันสร้างระบบกลไกเพื่อป้องกันและเยียวยาปัญหาภัยพิบัติทาง ธรรมชาติอย่างยั่งยืนไปพร้อมๆ กันด้วย
3 พฤศจิกายน 2553
คณะผู้แถลง
นาย
ดร.
นาย
นางสาว
ผศ.ดร.
และสังคม (สปกช.)
http://prachatai.com/journal/2010/11/31756
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น