คปส.ร่วมกับวิทยุชุมชนและกลุ่มผู้ ใช้อินเทอร์เน็ต เรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และหยุดคุกคามและแทรกแซงสื่อ
23 มิ.ย. 2553 มีการจัดแถลงข่าว “สื่อภายใต้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน” โดยมีตัวแทนเข้าร่วมแถลงจาก คณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ สหพันธ์วิทยุชุมชนแห่งชาติ และ เครือข่ายพลเมืองเน็ต โดยระบุว่า ภายใต้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินของรัฐบาล นับแต่ 7 เม.ย. เป็นต้นมา รัฐบาลได้ใช้อำนาจตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ตาม พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 เข้าปิดกั้น ควบคุม ข้อมูลข่าวสารในพื้นที่สื่อ ทั้งวิทยุชุมชน และอินเทอร์เน็ต และมีการจับกุมดำเนินคดีโดยหลายกรณีเป็นไปโดยไม่เปิดเผย
พิสิต ศรีปราสาททอง ผู้ประสานงานเครือข่ายพลเมืองเน็ต กล่าวว่า ก่อนมี พ.ร.ก.ฉุกเฉินมีการสั่งปิดเว็บไซต์กว่า 9,000 แห่งอยู่แล้ว แต่หลังจากประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินเมื่อ 7 เม.ย. ได้มีคำสั่งปิดเว็บไซต์ที่ปรากฏรายชื่ออีก 36 แห่ง โดยให้เหตุผลว่าเป็นเว็บไซต์ที่อาจกระทบต่อความมั่นคง และต่อมาสั่งปิดเพิ่มอีก 1,570 แห่งโดยที่ไม่เปิดเผยข้อมูลแต่อย่างใด และกระบวนการดังกล่าวเกิดขึ้นโดยไม่ต้องอาศัยอำนาจศาล เนื่องจากมีการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ดังนั้น ศอฉ.จึงสั่งให้กระทรวงยุติธรรมดำเนินการปิดเว็บโดยไม่มีขั้นตอนใดๆ พร้อมตั้งข้อสังเกตว่าภายใต้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินทำให้กระทรวงยุติธรรมเป็นกลไกรัฐที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จในการปิด กั้นการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารผ่านเว็บไซต์
ด้านวิชาญ อุ่นอก เลขาธิการสหพันธ์วิทยุชุมชนแห่งชาติ (สวชช.) กล่าวถึงผลกระทบที่วิทยุชุมชนได้รับว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉินทำให้วิทยุขนาดเล็กที่เรียกตัวเองว่าวิทยุชุมชนที่มีกว่า 7,000 แห่งทั่วประเทศ ต้องหลีกเลี่ยงการนำเสนอเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับการเมือง เพราะภายใต้กระบวนการออกใบอนุญาตที่มีการลงทะเบียนกับ กทช. ไว้มีเงื่อนไขเรื่องการนำเสนอเนื้อหาเกี่ยวกับความมั่นคง และมีการส่งหนังสือแนบคำสั่ง ศอฉ.ให้ระงับการเผยแพร่ข่าวสารที่จะกระทบต่อความมั่นคงให้กับทุกสถานีทั่ว ประเทศ ทำให้ทุกสถานียิ่งเกิดความหวาดกลัวไม่กล้าพูดคุยเกี่ยวกับการเมือง ซ้ำตนเองยังได้หมายเรียกจาก ศอฉ.เข้าฟังชี้แจงสถานการณ์และถูกร้องขอให้เครือข่ายวิทยุชุมชนไม่นำเสนอ เนื้อหาดังกล่าว
ต่อเรื่องการให้ใบอนุญาตวิทยุชุมชน วิชาญ ชี้แจงว่า เมื่อวาน (22มิ.ย.) กทช.ได้แถลงข่าวโดยระบุว่าให้วิทยุชุมชนกลุ่มแรก 5,874 สถานี ได้รับการขยายเวลาการคุ้มครองสิทธิออกอากาศไปอีก 300 วัน ส่วนกลุ่มที่สองอีก 743 สถานี ให้ชะลอสิทธิการออกอากาศ และกลุ่มสามให้เพิกถอนสิทธิออกอากาศ 14 สถานี พร้อมตั้งข้อสังเกตว่ากระบวนการออกใบอนุญาตที่ยืดเยื้อได้กลายเป็นเครื่อง มือในการควบคุมเนื้อหาของวิทยุชุมชน ส่วนสถานีวิทยุชุมชนที่ถูกปิดไปมีมากกว่าที่ กทช.ระบุ เนื่องจากยังมีกลุ่มที่ไม่ได้ลงทะเบียนไว้ ซึ่งส่วนตัวตั้งข้อสังเกตว่าสถานีส่วนใหญ่ที่ถูกปิดเป็นสถานีวิทยุชมชนของ กลุ่มคนเสื้อแดง
ส่วนสุเทพ วิไลเลิศ เลขาธิการ คปส. เห็นว่า นอกเหนือจากปฏิบัติการของรัฐภายใต้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินจะเป็นไปในทิศทางของการควบคุมปิดกั้นข่าวสารและความคิดเห็นที่ แตกต่างและวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลแล้ว ยังมีความพยายามเปลี่ยนแปลงในเชิงนโยบาย โดยการแก้ไขกฎหมายองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ ซึ่งในชั้นวุฒิสภาได้แก้ไขให้ฝ่ายความมั่นคงสามารถเข้ามาเป็น กสทช.ได้ และกำหนดให้ต้องจัดสรรคลื่นความถี่ให้ฝ่ายความมั่นคงได้ใช้อย่างเพียงพอ ซึ่งเป็นหลักการที่ขัดต่อการปฏิรูปสื่อโดยสิ้นเชิง
เลขาธิการ คปส. กล่าวอีกว่า ในขณะนี้ความเคลื่อนไหวในเรื่องสื่อของรัฐบาล นอกจากการปิดกั้นช่องทางข่าวสารที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลทั้งอินเทอร์เน็ตและ วิทยุชุมชนแล้ว ยังมีฝ่ายกองทัพที่พยายามที่จะแก้ไขนโยบายสื่อให้เอื้อประโยชน์แก่ตนเอง จึงควรจับตาว่ารัฐบาลจะยอมรับหรือยอมอย่างมีเงื่อนไขในการเข้าปกป้องผล ประโยชน์ให้กับทหารหรือไม่ เพราะหากเป็นเช่นนั้นจริง สิ่งที่เรียกว่าการปฏิรูปสื่อตามเจตนารมณ์ที่ต้องการให้เกิดการกระจายความ เป็นเจ้าของสื่อ และทุกภาคส่วนได้รับสิทธิการเข้าถึงคลื่นความถี่จากเดิมที่รัฐยึดกุมอยู่ ทั้งหมด นับตั้งแต่รัฐธรรมนูญ 2540 ก็จะถูกบิดเบือนไปจากเจตนารมณ์ดั้งเดิม
สำหรับสุภิญญา กลางณรงค์ รองประธาน คปส. และ กรรมการเครือข่ายพลเมืองเน็ต ได้ฝากประเด็นไปยังรัฐบาลและ กทช. ว่า ตนเองอยากให้รัฐบาลส่งเรื่องให้ กทช.เป็นเจ้าภาพในการกำกับดูแลสื่อวิทยุโทรทัศน์ เพราะตามกฎหมายเองก็ให้อำนาจบางส่วนไว้กับ กทช. เพื่อให้เกิดเกณฑ์กติกาที่สื่อของทุกฝ่ายสามารถอยู่ร่วมกันได้ในภาวะที่ยัง ไม่มีองค์กรอิสระตัวจริงมาทำหน้าที่ และยังเห็นว่า กทช.ควรเชิญทุกกลุ่มเปิดเวทีพูดคุยกันอย่างเปิดอกเพื่อสร้างกติกาที่ทุกฝ่าย ยอมรับและมีแนวทางบังคับใช้อย่างเป็นมาตรฐานเดียว
สุภิญญาแสดงความเห็นว่า ตอนนี้กองทัพน่าจะมีสื่อพอเพียงแล้ว โดยมีวิทยุถึง 200 กว่าสถานีและมีทีวีถึง 2 ช่อง มากกว่าใครเพื่อน จึงตั้งคำถามว่าน่าจะพอเพียงในการทำเพื่อความมั่นคงแล้วหรือไม่ และหากต้องจัดสรรคลื่นความถี่ให้กองทัพมากกว่านี้จะมีหลักประกันเรื่องการ ปฎิรูปสื่อที่มีความเป็นอิสระ แข่งขันเสรี ให้เสรีภาพกับประชาชนอย่างเสมอภาคได้จริงหรือไม่
นอกจากนี้ สุภิญญายังตั้งคำถามกับการไล่ปิดเว็บไซต์ของรัฐบาลว่า ข้อมูลในปี 2551 รัฐบาลประกาศปิดเว็บ 1,893 เว็บ ซึ่งมีเว็บที่ถูกตั้งข้อหาหมิ่นเพียง 26 แห่ง และต่อมาในปี 2553 รัฐบาลยังประกาศปิดเว็บอีก 43,000 แห่ง โดนระบุว่าเป็นเว็บหมิ่นทั้งหมด ต้องถามว่ารัฐบาลมาถูกทางหรือไม่ หรือในปีหน้าจะประกาศปิดเว็บหมิ่นอีกเป็นหมื่นแห่งแล้วถือเป็นความสำเร็จของ รัฐบาล
ทั้งนี้ ทั้งสามองค์กรได้เรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพื่อให้ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพในการสื่อสารและเข้าถึงข้อมูลข่าวสารในช่อง ทางสื่อต่างๆ ทั้งวิทยุชุมชนและอินเทอร์เน็ต และเปิดเผยรายชื่อสถานีวิทยุชุมชนและจำนวนเว็บไซต์ที่ถูกสั่งปิด ตลอดจนคดีจับกุมและข้อกล่าวหาที่ถูกระบุว่าเป็นความผิดให้สาธารณะได้รับรู้
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น