ระบอบประชาธิปไตยแบบหลัง 14 ตุลาฯ วิกฤตและการท้าทาย
โดย เกษียร เตชะพีระ
กล่าวโดยสรุป หัวใจของระบอบประชาธิปไตยแบบหลัง 14 ตุลาฯในความเห็นของผู้เขียนคือ พระราชอำนาจนำแห่งธรรมราชา (The Royal Hegemony of Dhammaraja) ซึ่งปกแผ่กำกับอำนาจอธิปไตยทางการตามกฎหมายที่เป็นลายลักษณ์อักษรอีกที (แนวคิดทำนองเดียวกันถูกนำเสนอโดยพิสดารในปาฐกถาปรีดี พนมยงค์ ประจำปี พ.ศ.2550 ของผู้ช่วยศาสตราจารย์สมชาย ปรีชาศิลปกุล แห่งคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เรื่อง อภิรัฐธรรมนูญไทย, 24 มิถุนายน พ.ศ.2550)
ระบอบประชาธิปไตยแบบหลัง 14 ตุลาฯถูกท้าทายครั้งใหญ่ที่สุดในช่วงรัฐบาลทักษิณ ซึ่งเป็นตัวแทนอำนาจนำอีกแบบต่างหากที่มีฐานที่มาจากการเลือกตั้งและอำนาจ ทุน
สัญญาณของการนี้แสดงออกผ่านการท้าทายลักษณะเด่นเฉพาะของระบอบดังกล่าวประการต่างๆ อาทิ: -
1) นายกฯทักษิณกล่าวหาโดยไม่ระบุนามต่อหน้าที่ประชุมหัวหน้าส่วนราชการระดับสูง ทุกกระทรวงทบวงกรมกว่า 500 คนที่ทำเนียบรัฐบาลเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน พ.ศ.2549 ว่า "บุคคลซึ่งดูเหมือนมีบารมีนอกรัฐธรรมนูญ" เข้ามาสั่งการวุ่นวายการบริหารราชการแผ่นดินทั้งที่ไม่มีอำนาจหน้าที่เพื่อ บ่อนทำลายรัฐบาล ("ทักษิณประกาศสู้ ไม่ถอยให้อำนาจนอก รธน.", มติชนรายวัน, 30 มิถุนายน 2549, น.2)
--> มุ่งต่อลักษณะไม่เป็นทางการของอำนาจเครือข่ายผู้จงรักภักดีในระบอบประชาธิปไตยแบบหลัง 14 ตุลาฯ
2) การใช้อำนาจในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ "คนอย่างทักษิณ" รวมทั้ง "นอมินี" อย่างนายกฯสมัคร สุนทรเวช และนายกฯสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ในเวลาต่อมา
--> กระทบต่อฐานะของนายกรัฐมนตรีซึ่งมีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ในระบอบประชาธิปไตยแบบหลัง 14 ตุลาฯ
3) การพากันถอนตัวลาออกของนักกฎหมายมหาชนจากรัฐบาลทักษิณ (ที่สำคัญได้แก่ เลขาธิการคณะรัฐมนตรี บวรศักดิ์ อุวรรณโณ, รองนายกฯ วิษณุ เครืองาม) และการเคลื่อนไหวตุลาการภิวัตน์ของ 3 ศาลในปี พ.ศ.2549
--> สะท้อนการแยกข้างแบ่งฝ่ายของฐานผู้อธิบายความชอบธรรมและหลักนิติธรรมในระบอบประชาธิปไตยแบบหลัง 14 ตุลาฯ
รัฐประหาร "กองทัพภิวัตน์" 19 กันยายน พ.ศ.2549 ของ คปค. และรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติ พ.ศ.2550 สะท้อนแบบวิถี "ใหม่" ทางการเมืองที่ชนชั้นนำเดิมในระบอบประชาธิปไตยแบบหลัง 14 ตุลาฯหมายจะใช้ปรองดองกับประชาธิปไตยในกระบวนการรับมือกับการท้าทายจากระบอบ ทักษิณ
ทว่า คำว่า "ใหม่" ในที่นี้มิได้หมายถึงใหม่เอี่ยมอ่อง เพียงแต่มันแตกต่างจากแบบวิถีที่เคยใช้เป็นหลักในระบอบประชาธิปไตยแบบหลัง 14 ตุลาฯ เพราะแบบวิถี "ใหม่" ของ คปค.นั้นเอาเข้าจริงกลับเก่าแก่มากจากที่อื่น
ดังที่ Michael Mann ศาสตราจารย์สังคมวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ณ ลอสแองเจลิส วิเคราะห์ไว้เกี่ยวกับความพยายามปรับตัวรับกระแสประชาธิปไตยของบรรดาชนชั้น นำเก่าในกลุ่มประเทศยุโรปกลาง, ยุโรปตะวันออกและยุโรปตะวันออกเฉียงใต้สมัยคริสต์ศตวรรษที่ 19 ถึงต้นสงครามโลกครั้งที่หนึ่งว่า:
"...ความทะยานอยากใฝ่หาประชาธิปไตยปรากฏขึ้นในบรรดาประเทศล้าหลังกว่าเหล่า นี้ทีหลัง (เมื่อเทียบกับประเทศทางตะวันตกเฉียงเหนือของยุโรป เช่น อังกฤษ) ฉะนั้นมันจึงอุบัติขึ้นในยุคสมัยที่ทฤษฎีการเมืองที่ ′ก้าวหน้า′ ที่สุด ได้แก่ ทฤษฎีประชาธิปไตยซึ่งสุกงอมแล้ว อันถือคติเป็นเจ้าเรือนว่าประชาชนทั้งมวลต้องได้ปกครอง - พูดอีกอย่างก็คือทั้ง ′ราษฎร′ และ ′ไพร่ราบ′ ชาวอังกฤษแห่งคริสต์ศตวรรษที่ 18 ต้องได้ปกครองนั่นเอง ในภูมิภาคตอนกลาง, ทางตะวันออกและใต้ของยุโรป การให้สิทธิเลือกตั้งอย่างจำกัดตามชนชั้นแบบอังกฤษ-อเมริกันนั้นมิช้านานก็ ถูกตีตกไปโดยหลักความชอบธรรมที่อิงประชาชนมากกว่า กระนั้นก็ตามชนชั้นนำในประเทศเหล่านี้ก็ยังพยายามกันท่ามวลชนโดยพัฒนาสังคม การเมืองขั้นกลางอย่างใหม่ขึ้นมา ซึ่งไม่ค่อยจำกัดสิทธิในการเลือกตั้งเท่ากับจำกัดอำนาจอธิปไตยของรัฐสภา ผู้ชายทั้งหมดอาจได้ออกเสียงเลือกตั้งแต่บรรดาผู้แทนของพวกเขาต้องแบ่งปัน อำนาจนิติบัญญัติกับฝ่ายบริหารที่เข้มแข็ง - ซึ่งมักจะเป็นสถาบันกษัตริย์ ราชอาณาจักรไกเซอร์เยอรมันนับเป็นต้นแบบ กล่าวคือ รัฐสภาไรช์สแต็กมาจากการเลือกตั้งโดยราษฎรเพศชายผู้ทรงสิทธิเลือกตั้งอย่าง เป็นสากล แต่ต้องแบ่งปันอำนาจกับพระเจ้าไกเซอร์และเสนาบดีของพระองค์
นี่หมายความว่าพวกชนชั้นนำสามารถใช้อำนาจของพวกเขาภายในรัฐคอยชักใยปลุกปั่น ′ราษฎร′ จากเบื้องบน สมรรถนะของพวกเขาที่จะทำเช่นนั้นถูกต่อเติมเพิ่มพูนโดยความล้าหลังทาง เศรษฐกิจของดินแดนส่วนใหญ่ในภูมิภาคดังกล่าว ที่นี่ ′ราษฎร′ ส่วนมากยังอยู่ชนบทหรือทำงานช่างฝีมือรายย่อยหรือรับจ้างเล็กๆ น้อยๆ จิปาถะตามตรอกซอกซอย ซึ่งองค์การจัดตั้งของชนชั้นคนงานเอื้อมไปไม่ถึง...
กรณีอย่างเดียวกันก็เกิดขึ้นทั่วไปหลายที่ในโลกในระยะใกล้ๆ นี้ด้วยเช่นกัน การจะมาจำกัดสิทธิเลือกตั้งในบรรดาประเทศ ′ซีกโลกใต้′ (หมายถึงประเทศที่พัฒนาล้าหลังกว่า - ผู้แปล) ดูแทบจะเป็นไปไม่ได้แล้วทุกวันนี้ ถ้าไม่ให้ทุกคนได้โหวต ก็ต้องไม่มีใครหน้าไหนได้โหวตเลย - ถึงแม้เสียงโหวตนั้นจะเป็นของเก๊ของปลอมบางส่วนหรือส่วนใหญ่ก็ตามที ด้วยการเพิ่มขยายอำนาจบริหาร ระบอบการเมืองขั้นกลางในยุโรปกลาง, ตะวันออกและตะวันออกเฉียงใต้จึงแตกต่างจากระบอบเสรีประชาธิปไตยของยุโรป ตะวันตกเฉียงเหนือในประการแรกตรงที่มันเพิ่มขยายคตินิยมอำนาจรัฐ (statism) จนพ้นเกินระดับเสรีนิยมออกไป"
(อ้างจาก Michael Mann, "The Dark Side of Democracy: The Modern Tradition of Ethnic and Political Cleansing", New Left Review, 235 (May/June 1999), 27-28)
ผมเกรงว่าภาวะความวุ่นวายไร้เสถียรภาพของการเมืองไทยในรอบ 3 ปีที่ผ่านมาบ่งชี้ว่าแบบวิถีปรองดองกับประชาธิปไตยของ คปค. ดังกล่าวข้างต้นจะใช้ไม่ได้ ดังจะเห็นได้ว่า: -
-การเปลี่ยนสถานะอำนาจที่ไม่เป็นทางการของเครือข่าย "คนดี" โดยเฉพาะในกองทัพและตุลาการให้กลายเป็นอำนาจทางการขึ้นมาด้วยบทบัญญัติที่ เป็นลายลักษณ์อักษรในรัฐธรรมนูญและกฎหมายความมั่นคงฉบับต่างๆ กลับส่งผลให้ความเป็นทางการของอำนาจนั้นถูกต่อต้านปฏิเสธอย่างเหนียวแน่นรุน แรงตั้งแต่ในที่ประชุมอภิปรายสัมมนาไปจนถึงบนท้องถนน
-การใช้อำนาจที่ไม่เป็นทางการล่วงล้ำก้ำเกินอำนาจที่เป็นทางการจากการเลือก ตั้งที่ผ่านมาก็ชักนำให้นับวันอำนาจที่ไม่เป็นทางการถูกสอดส่องตรวจสอบเปิด โปงโล่งโจ้งขึ้นเรื่อยๆ ไม่เว้นแม้แต่บนโต๊ะกินข้าวในคฤหาสน์หรูส่วนตัว, กลางห้องประชุมรโหฐานในค่ายทหาร, หรือที่ประชุมลับในออฟฟิศตุลาการ
-คงไม่มีนายกรัฐมนตรียุคไหนจะมีฐานะตกต่ำถูกคุกคามหมิ่นแคลนเหยียดหยามเท่า ระยะสองสามปีที่ผ่านมาอีกแล้วถึงแก่ถูกบุกยึดปิดล้อมทำเนียบต้องระเหเร่ ร่อนเข้าไปทำงานไม่ได้, ถูกให้พ้นจากตำแหน่งเพราะออกรายการทำกับข้าวทางทีวี, ถูกบุกประชิดตัวทำร้ายหมายเอาชีวิต ฯลฯ
-และแม้ในวงวิชาชีพแคบๆ ของนักกฎหมายมหาชนเองก็เกิดการแบ่งข้างแยกขั้ววิพากษ์วิจารณ์วิวาทะกันอย่าง ไม่เคยปรากฏมาก่อน (ดูตัวอย่างใน ธีรเดช เอียมสำราญ และราม อินทรวิจิตร, วิวาทะกูรู: สุดยอดแห่งทศวรรษ, 2551; และการเปิดตัวของเว็บไซต์นิติราษฎร์โดยนักวิชาการกฎหมายมหาชนผู้เห็นแย้ง ทรรศนะทางการของฝ่ายตุลาการ http://www.enlightened-jurists.com/ เป็นต้น)
ท้ายที่สุด หากเรานิยาม อำนาจนำ (hegemony) ว่าหมายถึงภาวะการนำโดยผู้ตามยินยอมพร้อมใจและยินดีกระทั่งกระตือรือร้นที่ จะตาม (leadership by consent) หรืออีกนัยหนึ่งการที่ผู้ตามยอมปฏิบัติตามการนำโดยไม่ต้องบังคับกะเกณฑ์ (non-coercive compliance) แล้ว พาดหัวข่าวในระยะหลังนี้อาทิ: -
"หยุดจาบจ้วงสถาบันกษัตริย์ ประยุทธ์ลั่น ขอให้เลิกเจ้าหน้าที่รู้หมด ยกพระองค์ท่านเหนือขัดแย้ง ต้องขจัดเว็บไซต์-ใบปลิว ฮึ่มทหารอยู่กับโจรไม่ได้ ศอฉ.สั่งติดรูปผู้ร้ายทุกด่าน" (มติชนรายวัน, 23 ตุลาคม 2553)
"ห้ามแดงชุมนุมรับเลขายูเอ็น ประยุทธ์สั่ง บี้กลุ่มจาบจ้วงสถาบันต่อ จี้ถามผู้ปกครอง-ปู่ย่าตาถึงพระมหากรุณาธิคุณ..." (มติชนรายวัน, 26 ตุลาคม 2553)
"Wichean takes it personally, Police chief vows to crack down on anti-monarchy campaigners as his top priority" (
ดูจะส่อว่าสถานการณ์กำลังโน้มไปในทางตรงกันข้ามอย่างน่าเป็นห่วง
(ที่มา มติชน ,12 พฤศจิกายน 2553)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น