กอง บก. มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน: รวบรวม
บทความวิชาการนี้ สามารถ download ได้ในรูป word
บทความต่อไปนี้ ได้รับการรวบรวมโดยกอง บก.มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
เพื่อสะท้อนถึงเหตุการณ์วิกฤตทางการเมืองร่วมสมัย ภายหลังจาก
ที่รัฐบาลนายกฯ อภิสิทธิ์ ใช้กำลังกองทัพ พร้อมอาวุธสงครามเข้าปราบปราม
กลุ่มผู้ชุมนุม (เสื้อแดง) ซึ่งเรียกร้องประชาธิปไตย ที่ราชประสงค์ ทำให้เกิด
การจลาจลขึ้นทั่วกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดบางแห่ง และบทความอีกส่วนหนึ่ง
เป็นเรื่องที่พัวพันกับแผนผังการล้มเจ้า ที่เสนอขึ้นมาโดย ศอฉ. และมีการจับกุม
คุมขัง ดร.สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ โดยไม่มีการแสดงหลักฐานเป็นที่ชัดเจน
บทความที่ได้รับการรวบรวมขึ้นมา ประกอบด้วย ๑๐ ชิ้นด้วยกันดังนี้ ...
๑. "ในคืนวันอันมืดมิด"
๒. สัมภาษณ์พิเศษ ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ:
วิเคราะห์โฉมหน้า"พฤษภาอำมหิต-กาลียุค" และอนาคตที่มืดมนของ"เทพ-อสูร"
๓. "ชาญวิทย์"ชี้"พฤษภาคมอำมหิต เลวร้ายสุดรอบ 100 ปี"
สลาย ม็อบ"มาร์ค"ได้แค่ใจคนกรุงฯ - เผาทุน รัฐบาลเชื่อ"แม้ว"มีเอี่ยว
๔. สหประชาชาติมีอำนาจมากน้อยแค่ไหน ในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในไทย
๕. บทความ "การก่อการร้าย"
๖. "พี่ยิ้ม" (ดร. สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ)
๗. คณาจารย์จุฬา ออกแถลงการณ์
ค้าน ศอฉ. คุมตัว"สุธาชัย"ที่ค่ายทหารสระบุรี ชี้คุกคามเสรีภาพวิชาการ
๘. จดหมายเปิดผนึกถึงอธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
๙. จดหมายเปิดผนึกถึงประธานสภาคณาจารย์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
๑๐. หมายเปิดผนึกถึงประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
(บทความนี้จัดอยู่ในหมวด "สถานการณ์การเมืองไทยร่วมสมัย")
สนใจส่งบทความเผยแพร่ ติดต่อมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน:
midnightuniv@gmail.com
บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้ ได้รักษาเนื้อความตามต้นฉบับเดิมมากที่สุด
เพื่อนำเสนอเนื้อหาตามที่ผู้เขียนต้องการสื่อ กองบรรณาธิการเพียงตรวจสอบตัวสะกด
และปรับปรุงบางส่วนเพื่อความเหมาะสมสำหรับการเผยแพร่ รวมทั้งได้เว้นวรรค
ย่อหน้าใหม่ และจัดทำหัวข้อเพิ่มเติมสำหรับการค้นคว้าทางวิชาการ
บทความทุกชิ้นที่เผยแพร่บนเว็บไซต์แห่งนี้ ยินดีสละลิขสิทธิ์เพื่อมอบเป็นสมบัติ
ทางวิชาการแก่สังคมไทยและผู้ใช้ภาษาไทยทั่วโลก ภายใต้เงื่อนไข้ลิขซ้าย (copyleft)
บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ ๑๘๐๗
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๒๘ พฤษภาคม ๒๕๕๓
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ ๒๓ หน้ากระดาษ A4 โดยไม่นับภาพประกอบ)
แดงพ่าย: จาก”ในคืนวันอันมืดมิด” ถึง”พี่ยิ้ม”(ดร. สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ)
๑. “ในคืนวันอันมืดมิด”
โดย เกษียร เตชะพีระ
แถวรถเกราะขับเคลื่อนเกลื่อนถนน แถวทหารชุมพลเดินดาหน้า
กระบอกปืนยื่นยาวจ่อเข้ามา เสียงปืนแตกน้ำตาและความตาย
ตาคู่นี้ไหวหวั่นสั่นสะท้าน ตาคู่นั้นแดงฉานโฉดกระหาย
ตาคู่นี้ปวดร้าวและเสียดาย ตาคู่นั้นโหดร้ายและเลือดเย็น
ปากถูกปิดเอ่ยอ้อนเสียงวอนขอ ปากที่สั่งเมินต่อความทุกข์เข็ญ
ปากถูกปิดทวงถามตามประเด็น ปากที่สั่งกลับเห็นเป็นวุ่นวาย
มือหยาบกร้านอานทุกข์จึงลุกสู้ มือกุมปืนยื่นขู่ข้อกฎหมาย
มือหยาบกร้านแค้นข้นจนลืมตาย มือกุมปืนส่องส่ายจะเหนี่ยวไก.....
ไม่ว่าจะเรียกว่า “กบฏ”, “สงครามประชาชน” หรือ “การลุกขึ้นสู้” ความเป็นจริงพื้นฐานของสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นก็คือ พวกเขายอมตาย แต่ไม่ยอมให้คุณปกครอง ในภาวะเช่นนี้ คุณมีทางเลือกไม่มาก หากไม่ฆ่าพวกเขาให้ตายราบคาบไป ก็ต้องปรับการปกครองให้รองรับความเรียกร้องต้องการของพวกเขาบ้างตามแต่จะเจรจาต่อรองกันได้
รุ่นพี่ผู้ผ่านเหตุการณ์ทำนองนี้มาหลายครั้งเคยบอกว่า การเมืองไทยกล่าวให้ถึงที่สุดแล้วก็เป็นเรื่องแค่นี้ คือมีคนหมดความกลัว ลุกขึ้นและบอกว่ากูไม่ยอมให้มึงข่มเหงรังแกอีกต่อไป เอาไงก็เอากัน หากผู้ที่ลุกขึ้นมีจำนวนมากพอและเข้มแข็งพอจนงัดกันไม่ลงแล้ว ผู้มีอำนาจก็ค่อย ๆ เรียนรู้ที่จะปรับตัว
อดีตการฆ่าฟันที่ผ่านพ้น บรรจบผลเป็นการฆ่าฟันใหม่
แผ่นดินเคยฝังกลบศพปู่ใคร ลูกหลานยังคลั่งไคล้ใคร่ฆ่ากัน
คนเคยเชือดเลือดเขียนประวัติศาสตร์ พลิกหน้าใหม่ยังวาดด้วยเลือดนั่น
บทเรียนที่ใครใครรู้ไม่ทัน ก็คือชีวิตนั้นราคาแพง
จากต่อสู้สันติอหิงสา เมื่อแรงมาก็แรงไปไล่ยุทธแย่ง
จากเลือกตั้งยุบสภามาเปลี่ยนแปลง กลายเป็นความรุนแรงจลาจล
เลือดเข้าตาเร้ารุมจนคลุ้มคลั่ง สิ้นสติยับยั้งยึดเหตุผล
ผู้ปกครองท่องคำขวัญนำชน เกียรติแห่งการฆ่าคนก้องกำจาย.....
มีการเคลื่อนไหวก่อการร้ายต่อรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ก่อนเริ่มการชุมนุมของ นปช.รอบล่าสุดกรณีระเบิดป่วนเมืองและการยิงเอ็ม ๗๙ นับร้อยครั้งนับแต่เดือนกุมภาพันธ์ศกนี้เป็นต้นมา จนมีผู้บาดเจ็บล้มตายทรัพย์สินเสียหายมากมายทำให้มิอาจเข้าใจเป็นอื่นไปได้ โดยเฉพาะเมื่อการก่อการร้ายดังกล่าวเกิดขึ้นควบขนานไปกับการชุมนุมของ นปช. ก็ยิ่งทำให้แยกแยะกลุ่มก่อการร้ายออกจากการชุมนุมทางการเมืองโดยสงบยากขึ้น
การก่อการร้าย (Terrorism) หมายถึง [การใช้หรือข่มขู่ที่จะใช้ความรุนแรง (violence or threats of violence) + ต่อเป้าหมายพลเรือน (civilian targets) + ซึ่งก่อให้เกิดความหวาดกลัวสยองขวัญในหมู่สาธารณชนทั่วไป (fear) + เพื่อบรรลุเป้าหมายทางการเมือง (political ends)]
อาจสรุปย่อเพื่อความเข้าใจว่า [T = V+C+F+P]
การก่อการร้ายย่อมบ่อนทำลายหลักนิติธรรม (the rule of law) โดยตรง ไม่มีระบอบเสรีประชาธิปไตยใดดำเนินงานการเมืองภายใต้เงาคุกคามของการก่อการร้ายได้ นอกจากนี้มันยังก่อปัญหามากว่า เพื่อต่อสู้เอาชนะการก่อการร้าย รัฐจะสามารถผูกมัดจำกัดตัวเองอยู่ภายในกรอบของกฎหมายได้หรือไม่?
แน่นอนว่าในทางปฏิบัติ มันเป็นเรื่องยากและมักก่อให้เกิดปฏิกิริยาจากฝ่ายรัฐผู้รับผิดชอบด้านความมั่นคงในทำนอง “บ้ามาก็บ้าไป” อย่างเช่นการอุ้มหาย, ทรมานและยิงทิ้งผู้ต้องสงสัยก่อการร้ายจังหวัดชายแดนภาคใต้ในสมัยรัฐบาลทักษิณ หรือการที่รัฐบาลบุชผู้ลูกเปิดไฟเขียวให้ซีไอเอ และกองทัพอเมริกันใช้วิธีลักพาตัว, ทรมานและลอบสังหารผู้ต้องสงสัยก่อการร้ายในประเทศต่างๆ เป็นต้น
ทว่าในทางกลับกัน หากรัฐปกป้องหลักนิติธรรมจากการก่อการร้ายด้วยวิธีการที่ละเมิดกฎหมายเสียเองเช่นนี้ มันจะมิเป็นการบ่อนทำลายหลักนิติธรรมอันเป็นเป้าประสงค์แต่แรกของตนเองลงไปล่ะหรือ?
รัฐจะปกป้องหลักนิติธรรมด้วยการบ่อนทำลายหลักนิติธรรมได้อย่างไร?
หากรัฐต่อสู้ปราบปรามการก่อการร้ายโดยกลุ่ม (group terrorism) ด้วยการที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงของรัฐ [ใช้ความรุนแรงหรือข่มขู่ว่าจะใช้ความรุนแรง (violence or threats of violence) ต่อ พลเรือน (civilian targets) อันก่อให้เกิดความหวาดกลัวทั่วไปในหมู่มวลชน (fear) เพื่อบรรลุเป้าหมายการเมืองไม่ว่าจะเป็นการสลายการชุมนุมหรือ “ขอพื้นที่คืน” หรือ “กระชับพื้นที่” (political ends)] ซึ่งก็คือ [V+C+F+P] แล้ว
มันจะมิกลายเป็นการก่อการร้ายโดยรัฐ (state terrorism) ไปหรือ? และถ้ากระนั้น รัฐต่างอะไรในทางศีลธรรมจากกลุ่มก่อการร้ายเถื่อนเหล่านั้นเล่า?
การลอบสังหารเสธ.แดง และการที่ผู้บาดเจ็บล้มตายแทบทั้งหมดในปฏิบัติการกระชับพื้นที่ชุมนุมราชประสงค์ของ ศอฉ. หลายวันที่ผ่านมาล้วนเป็นพลเรือน ทำให้จำเป็นต้องตั้งคำถามเหล่านี้
อย่าลืมว่าข้อสรุปของการต่อสู้กับการก่อการร้ายในประเทศต่างๆ ทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทยเองในอดีตก็คือ ไม่สามารถเอาชนะการก่อการร้ายโดยมาตรการความมั่นคงอย่างเดียวได้ หากต้องใช้มาตรการทางการเมืองเป็นหลัก และประกอบด้วยมาตรการความมั่นคงเป็นรอง โดยขจัดเงื่อนไขทางทางการเมืองของการก่อการร้ายให้หมดสิ้นไป จนมวลชนที่เป็นฐานรองรับสนับสนุนการก่อการร้ายไม่เห็นประโยชน์หรือความจำเป็นของการก่อการร้ายอีก แล้วหันมาเดินหนทางต่อสู้ทางการเมืองแบบสันติวิธีแทน จากนี้จึงจะสามารถแยกปลา (กลุ่มก่อการร้าย) ออกจากน้ำ (มวลชน) และจัดการกับปลา (ยุติกลุ่มก่อการร้าย) ได้
ผมเห็นว่าปฏิบัติการกระชับพื้นที่/ขอพื้นที่คืนที่ราชประสงค์นับแต่ ๑๓ พ.ค. ศกนี้เป็นต้นมา ส่งผลตรงกันข้ามกับข้างต้น การส่งทหารติดอาวุธสงครามเบาประจำกาย และรถเกราะไปตั้งด่านประจัญหน้ากับผู้ชุมนุมเรือนร้อยเรือนพันที่ส่วนใหญ่อย่างมากก็มีแค่ก้อนหิน หนังสติ๊ก น็อตเหล็ก ลูกแก้ว ไม้ ยางรถยนต์ ระเบิดเพลิง บั้งไฟ ประทัดยักษ์ รถมอเตอร์ไซค์ รถแท็กซี่นั้น ยิ่งแปลกแยกผู้ชุมนุมจากฝ่ายเจ้าหน้าที่และรัฐบาลมากขึ้น ยิ่งเพิ่มความเกลียดกลัวหวาดระแวงไม่ไว้ใจกันระหว่างสองฝ่ายมากขึ้น
และในทางกลับกันก็ยิ่งผลักพวกเขาไปแสวงหาความคุ้มกันใต้ร่มกำลังไฟของปืนและระเบิดเอ็ม ๗๙ ในมือกลุ่มก่อการร้ายมากขึ้น ยิ่งทำให้ผู้ชุมนุมหันไปพึ่งพายกย่องกลุ่มก่อการร้ายเป็นอัศวินฮีโร่ผู้ปกป้องคุ้มครองพวกเขาจากเจ้าหน้าที่รัฐผู้ดูจะมุ่งร้ายหมายเอาชีวิตเขาเหนียวแน่นขึ้นอีก …นี่หรือที่รัฐบาลและศอฉ.ต้องการ?…
กัมปนาทเสียงปืนจึงครื้นครั่น คละคลุ้งควันฝุ่นตลบและศพหาม
ธารเลือดเฉกเชื้อไฟโชนไหม้ลาม เปลวสงครามแรงลุกทุกแผ่นดิน
คนที่ขูดขูดไปใจครึกครื้น คนที่แค้นจับปืนจำโหดหิน
คนต่อคนเข่นฆ่าเป็นอาจินต์ ความเป็นคนค่อยสิ้นจากหัวใจ
หยาดน้ำตา ทุกหยดถ้วนประมวลมาคงบ่าไหล
บนแผ่นดินดาลเดือดด้วยเลือดไฟ ย่อมใจใครใจใครไม่คงทน
เกลียดมึงเกลียดมันเกลียดกันเกลื่อน กระหายเลือดเชือดเฉือนกันปี้ป่น
กลัวศัตรูกลัวตายและกลัวตน สัตว์หรือคน คนหรือสัตว์อัศจรรย์…..
แล้วใครที่สวดอ้อนวอนพระเจ้า ถึงญาติมิตรของเขาด้วยเสียขวัญ
ใครท้องกิ่วหิวอดหดหู่ครัน ใครนอนกลัวตัวสั่นสุดข่มตา
ใครเฝ้าครุ่นคำนึงถึงลูกผัว ใครร้องไห้เมื่อเสียหัวทหารกล้า
ประชาชนประชาชนธรรมดา ผู้ไหล่บ่าแบกหาบบาปสงคราม.....
ในหลายปีที่ผ่านมา คนไทยฆ่ากันมากมายเกินไปแล้ว
หยุดฆ่าเถอะครับ ก่อนจะไม่มีประเทศไทยเหลือให้ลูกหลานเราได้อยู่กันต่อไป
๒. สัมภาษณ์พิเศษ ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ:
วิเคราะห์โฉมหน้า"พฤษภาอำมหิต-กาลียุค" และอนาคตที่มืดมนของ"เทพ-อสูร"
วันที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2553 ปีที่ 33 ฉบับที่ 4213 ประชาชาติธุรกิจ
วันที่ 20 พฤษภาคม 2553
หลังปฏิบัติการทางการทหารภายใต้ชื่อ "ราชประสงค์โอเปอเรชั่น" ผ่านไป 24 ชั่วโมง เมื่อสี่แยกราชประสงค์ กลางใจเมืองกรุงเทพฯ กลายเป็นทะเลเพลิง. เมื่อสิ้นเสียงปืน-ระเบิด มีภาพ "ศพนิรนาม" ปรากฏอยู่ในซอกซากตึกที่เคยระฟ้า มีผู้สื่อข่าวจากใน-ต่างประเทศติดต่อขอ "ความเห็น" จาก "ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ" หลายสำนัก
เพื่อนำเสนอข้อวิเคราะห์-ความรู้ และประสบการณ์ของ "อาจารย์ชาญวิทย์" ในปรากฏการณ์ "พฤษภาอำมหิต"
นี่คือบทสนทนา-สัมภาษณ์ท่ามกลางเปลวไฟ-กลิ่นควันของความขัดแย้งครั้งที่รุนแรงที่สุดในรอบ 100 ปี ที่ "ประชาชาติธุรกิจ" ปรารถนานำเสนอ
- ต้นทุนสำหรับการเปลี่ยนผ่านครั้งนี้ต้องจ่ายด้วยการเผาบ้านเผาเมือง
ผมคิดว่าเหตุการณ์ในเดือน "พฤษภาอำมหิต" น่าจะเป็นเหตุการณ์ที่ใช้ความรุนแรง ใช้อาวุธสงครามประหัตประหารกันกลางกรุงที่ร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ไทยสมัยใหม่ ผมคิดว่าร้ายแรงมากกว่าเหตุการณ์พฤษภา 2535 หรือ 6 ตุลา 2519 หรือ 14 ตุลา 2516 โดยเปรียบเทียบกันแล้ว ความรุนแรงและความเสียหายก็มีมากกว่า ในขณะเดียวกันการเยียวยา หรือสร้างความปรองดองในสังคมไทย หรือการตั้งต้นชีวิตกันใหม่น่าจะเป็นเรื่องที่ยากมากๆ
ตอนนี้เกิดการปรองดองยากมาก แม้ว่าฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดจะชนะไปในงานนี้ แต่ผมคิดว่ารอยแผล รอยร้าวในสังคมมันได้ลงลึกไปแล้ว เหมือนที่เคยให้สัมภาษณ์ "ประชาชาติธุรกิจ" แล้วว่า ด้านหนึ่งของผลลัพธ์ที่จะออกมานับแต่เดือนมีนาคม ด้านหนึ่งคือ เมื่อปราบปรามนองเลือด ก็คงจบด้วยส่วนหนึ่งมุดลงใต้ดิน กับอีกส่วนหนึ่งขึ้นไปอยู่ในไซเบอร์ อวกาศ โลกอินเทอร์เน็ต
แน่นอน ผู้นำจำนวนหนึ่งถูกจับไป ดำเนินการตามกระบวนการศาล แต่จะมีคนจำนวนไม่น้อยคงจะมุดใต้ดินและขึ้นไปในอวกาศ ซึ่งประเด็นหลังนี้ผมคิดว่าน่ากลัวมากๆ ในแง่ว่า ผู้กุมอำนาจรัฐอาจไม่มีความสามารถพอจะจัดการได้กับ "นักรบ ไซเบอร์" อันนี้เป็นปรากฏการณ์ใหม่ แม้กระทั่งรัฐที่แข็งแรงมากๆ อย่างจีน เวียดนาม ก็ยังทำอะไรได้ยาก
การไล่ปิดหรือบล็อกเว็บไซต์ก็ทำได้ แต่ผมคิดว่าเหมือนแมวไล่จับหนู ในกรณีนี้หนูคงจะเยอะมากๆ คือถ้ามองดูแล้ว โดยการวิเคราะห์เหตุการณ์ "พฤษภาอำมหิต" นี้ อาจจะเปลี่ยนโฉมหน้าเมืองไทยได้ไปโดยสิ้นเชิง ผมเคยพูดกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ผมจะได้เห็นอะไรที่ไม่เคยคิดจะได้เห็นมาก่อน และคงจะไม่ได้เห็นอะไรที่ได้เห็นมาตลอดชั่วชีวิต
ผมคิดว่าช่วงนี้เป็นหัวเลี้ยวหัวต่อที่หักมุมอย่างมากๆ ในแง่ที่ว่า ถ้าเราดูการประท้วงแบบที่ทำในถนนราชดำเนิน การก่อการจลาจล ทำลายสถานที่ราชการ อย่างใน 14 ตุลา 2516 หรือพฤษภาเลือด 2535 ผมว่าเป็นเรื่องอดีต เป็นเรื่องประวัติศาสตร์ไปแล้ว เพราะกรณีนี้ ปี 2553 "พฤษภาอำมหิต" มันย้ายไปสู่สี่แยกราชประสงค์ มันย้ายไปสู่การเผาทำลายศูนย์การค้า หน่วยงานของรัฐบาลบางหน่วย หรือการเผาศาลากลางจังหวัดในต่างจังหวัด
ผมคิดว่ากรณีราชประสงค์และกรณี เผาบ้านเผาเมืองแบบนี้เป็นสิ่งใหม่แล้วที่เกิดในสังคมไทย จากเป้าที่ถนนราชดำเนิน มีเป้าเป็นหน่วยงานของรัฐบาล มันอาจจะเป็นอดีตไปแล้ว ตอนนี้เป้าคือ ราชประสงค์ เป้าคือ ศูนย์การค้า ธุรกิจใหญ่ๆ ซึ่งถูกมองว่าเป็นผู้สนับสนุนอำนาจของรัฐและอำนาจของรัฐบาล อันนี้คือการเปลี่ยนแปลงที่ทำให้การเมืองไทยไม่เหมือนเก่า อันนี้เป็นสเต็ปใหม่ของการเมืองไทย พร้อมๆ กับการขึ้นไปในไซเบอร์ ไปในอวกาศ หาได้มุดดิน หรือเป็นเกมของ "ป่าล้อมเมือง" แต่อันนี้เป็นทั้งสงครามในเมืองและในอวกาศ
ผมมองว่าในกรณีราชประสงค์เป็นการรบที่ยังไม่ถึงขั้นสงคราม แต่ในอนาคตถ้าเรายังไม่สามารถจะสร้างความปรองดองได้ เราคงหนีสงครามกลางเมืองไม่พ้น เราคงหนี "กาลียุค" ไม่พ้น
- ตอนนี้ยังไม่ถึงขั้นเรียก”กาลียุค”หรือ”สงครามกลางเมือง?”
ผมว่ายังไม่ถึงนะ ตอนนี้มันเป็นการรบ (battle ยังไม่ใช่ war) ในเมือง ซึ่งขยายผลไป ยังไม่ถึงขนาดว่าแบ่งฝ่ายเป็นกองทัพสู้กัน แต่ตอนนี้แบ่งฝ่ายเป็นเสื้อสี และความคิดแตกต่างกัน แต่ยังไม่ถึงกับแบ่งฝ่ายเป็นกองทัพต่อกองทัพปะทะกัน แต่ก็เป็นสิ่งที่เป็นไปได้และน่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง
- แต่อย่างน้อยก็มีกลุ่มติดอาวุธที่แทรกอยู่ในเสื้อแดง โดยที่เราไม่รู้ว่าเขาทำงานให้ใครในสถานการณ์ชุลมุน
อันนั้นคือสิ่งที่ผมคิดว่า เราไม่มีความรู้เลยว่า ตกลงแล้ว กองกำลังติดอาวุธที่เราเหมารวมว่าเป็น "ผู้ก่อการร้าย" เอาเข้าจริงคือใครบ้าง ในแง่นี้ผมคิดว่านักวิชาการ นักรัฐศาสตร์ไทยก็ไม่มีความรู้ ผมคิดว่าผู้ที่จะรู้อาจจะเป็นฝ่ายทหารด้วยกันเอง แต่เราไม่รู้ว่าใครเป็นใคร ไอ้โม่งนั้นเป็นใคร มีฝ่ายไหนบ้าง
- ที่แน่นอนคือ ไอ้โม่งถูกมองว่าหนุนเสื้อแดง เป็นสิ่งที่ทำให้คนอื่นไม่สามารถให้อภัยได้ทั้งไอ้โม่งและมวลชนเสื้อแดง
ก็ใช่... ผมคิดว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมันร้ายแรงมากๆ มันมีผู้ร้ายทั้ง 2 ฝ่าย แต่ประเด็นปัญหาของบ้านเมืองอยู่ที่คนที่เชื่อและสนับสนุนทางฝ่ายแดงก็เชื่อและสนับสนุนทางฝ่ายแดง คนที่เชื่อและสนับสนุนฝ่ายตรงข้ามก็เชื่อและสนับสนุนฝ่ายตรงข้าม เราเห็นได้ชัดจากกรณีของสื่อวิทยุ โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ ที่โดยรวมๆ แล้วแยกความเชื่อไปแล้ว ฉะนั้นแปลว่า สังคมนี้แตกแยกกันในแง่ความคิดอย่างหนักหน่วงมากๆ กลายเป็นว่าใครเชื่ออะไร ฝ่ายไหน ก็เชื่ออย่างนั้น ฉะนั้นเรื่องนี้ต้องจบกันที่แพ้ชนะกันไปข้างหนึ่ง ในด้านหนึ่งแพ้ชนะกันใน "สนามเลือกตั้ง" ซึ่งก็คง เกิดขึ้นในไม่นานนี้ หรืออีกด้านหนึ่ง ถ้าไม่สามารถจะใช้กระบวนการประชาธิปไตยในการแก้ไขปัญหากันได้ ก็ไปแพ้ชนะกันใน "สงคราม" สงครามในทุกรูปแบบ มันไปถึงขนาดนั้นแล้ว
- ภาพที่เห็นประจักษ์ เช่น เสื้อแดงมีอาวุธ หรือลากถังแก๊สออกมาขู่ จะทำให้เกิดความเข้าใจหรือยอมรับได้อย่างไร
มันไปถึงจุดที่ว่า ถ้าคุณเชื่อและสนับสนุนฝ่ายไหน ก็เชื่อและสนับสนุนฝ่ายนั้นไปแล้ว ดังนั้นจะให้ผู้ที่เชื่อและสนับสนุนฝ่ายเหลืองมาเห็นใจฝ่ายแดง ก็เป็นไปไม่ได้ มันต้องไปพิสูจน์กันใน "สนามเลือกตั้ง"ถ้ายังไม่ยอมรับสนามเลือกตั้งก็ต้องพิสูจน์ที่ "สนามรบ" เพราะตอนนี้ยังไม่จบ งานนี้เพียงแต่จบยกอีกหนึ่งยกเท่านั้นเอง ย้อนกลับไปปี 2549-50-51-52-53 คาดการณ์ได้เลยว่า อนาคตมืดมน ในปี 2554-2555 หรือไปถึงปี 2558 ก็ได้ คือมันดูไม่มีอนาคต ใครจะเป็น "คนกลาง" เพราะตอนนี้บุคคล องค์กร สถาบันที่จะเป็นตัวกลาง ที่จะช่วยก็ดูแทบมองไม่เห็น ในวงการนักวิชาการก็ไม่มีใครฟังใครอีกต่อไปแล้ว บางคนก็เป็นสายเหยี่ยว สายพิราบ บางคนก็สามารถจะบอกว่า ฆ่ากันไม่บาป ก็ยังมีเลย
- แต่ในแง่ดีคือ ล้างความเชื่อเก่าๆ จากเดิม
ณ จุดนี้เรามาเห็นปรากฏการณ์ว่า แม้กระทั่งอดีตนายกรัฐมนตรีที่มีคนเคารพนับถือจำนวนมากออกมาพูดก็ไม่มีคนฟัง นักวิชาการ หรือราษฎรอาวุโส ออกมาพูดก็ไม่มีคนฟัง อันนี้คือปัญหาที่เรากำลังเจอ ฉะนั้นผมถึงว่า การปรองดองในชาติจะมีขึ้นได้อย่างไร อันนี้คือปัญหาใหญ่มาก เพราะความเห็นต่างนั้นมันต่างกันจนกระทั่ง ไม่สามารถนั่งคุยกันได้แล้ว
สมมติว่าเราจะดูกรณีนายกฯอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มีโรดแมปแห่งความปรองดอง ในเมื่อนายกฯอภิสิทธิ์และรัฐบาลก็เป็นคู่กรณีของความขัดแย้งแล้ว จะสร้างความปรองดองได้อย่างไร จะไปหาหน่วยองค์กรกลาง บุคคลที่เป็นกลาง เป็นที่ยอมรับมาช่วยงาน จะไปหาที่ไหน นึกไม่ออก
- หญ้าแพรกจะแหลกลาญเพราะช้างสารชนกัน
งานนี้ช้างสารชนกันครับ หญ้าแพรกก็แหลกลาญ คนตายก็เป็นคนตัวเล็กๆ เป็นโนบอดี้ ในทุกกรณีการเมืองมันจะเป็นอย่างนี้ เพราะฉะนั้นหนังเรื่อง "พระเจ้าช้างเผือก" ของอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ จึงจบลงด้วยว่า พระเจ้าจักราท้าพระเจ้าหงสามาชนช้างกันตัวต่อตัว คนไหนแพ้ก็แพ้ไป "ไพร่พล ราษฎร" จะได้ไม่เดือดร้อน อันนั้นเป็นหนัง เป็นนิยาย แต่ในความเป็นจริงมันไม่ใช่
- การเมืองระดับช้างสารกับการเมืองระหว่างหญ้าแพรกแยกกันลำบาก
มันก็เข้าใจยากนะ ถ้าเราไม่พยายามใช้หลักธรรมะ ปรัชญา และวิชาการเข้ามาช่วยอธิบาย เราก็มองไม่เห็น ฉะนั้นจึงมี คำว่า "เห็นกงจักรเป็นดอกบัว" ซึ่งเป็นเรื่องที่ง่ายมากๆ เพราะเราฟังมา เราได้ยินมา ถ้าเราไม่คิด เราก็คล้อยตามไป ปัญหาปัจจุบันที่เราเห็นคือ เราฟังแล้วคิดว่าใช่เลย เห็นกงจักรเป็นดอกบัว เอาเข้าจริงแล้วฝ่ายไหนเป็น "เทพ" ฝ่ายไหนเป็น "มาร" เป็นเรื่องที่เห็นได้ไม่ง่ายนัก
ในการ "กวนเกษียรสมุทร" ที่เป็น รูปจำหลักศิลาที่นครวัด ที่ปราสาทเขาพระวิหาร หรือแม้กระทั่งที่สนามบินสุวรรณภูมิ "อสูร" ก็ถูกหลอกถูกบอกให้ไปชักไปกวนอยู่ข้างหน้าตรงหัวนาค ส่วน "เทวดา" ก็หลบไปอยู่หางนาค แล้วก็ชักเย่อกัน พญานาคราชเกิดจั๊กจี้ที่สะดือก็เลยสำรอกพิษออกมา เทพเทวดาอยู่ด้านหลังด้านหางก็เลยไม่โดนพิษนาค อสูรอยู่ด้านหน้าก็โดนพิษของนาคไปเต็มๆ มีอาการเกิดหน้าหงิกงอ น่าเกลียด เลยกลายเป็นยักษ์เป็นมาร แต่นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า "เทพ" เขาฉลาดล้ำลึกกว่า เขาหลบไปอยู่ตรงหางนาค ส่วนอสูรถูกหลอกให้ไปอยู่ตรงหัวนาค ฉะนั้นเอาเข้าจริงๆ คนที่หน้าตาดูเหมือนเทพอาจจะไม่ใช่เทพก็ได้ ส่วนคนที่หน้าตาดูเหมือนมารอาจจะไม่ใช่มารก็ได้
- ตอนนี้ "คนดู" มองเห็นแต่ส่วนหัวของนาค มองไม่เห็นเทพที่อยู่ข้างหลัง
คือมนุษย์โดยทั่วๆ ไปก็ไม่ง่ายที่จะมองลึกไปกว่าที่ดวงตามองเห็น ต้องใช้การศึกษา เวลา สติปัญญา ไม่เช่นนั้นพระท่านไม่บอกว่า "แพ้เป็นพระ ชนะเป็นมาร" หรอก
- เราจะทำอย่างไรกับบรรยากาศที่ต่างฝ่ายต่างไม่สามารถให้อภัยกันได้แล้ว
เมื่อมีปัญหานี้เกิดตั้งแต่ปี 2548 ในยุคการเมืองเสื้อเหลือง จนกระทั่งขณะนี้จบลงด้วยการเมืองเสื้อแดง และเสื้อหลากสี สีต่างๆ ผมก็มองโลกค่อนข้างจะในแง่ร้ายเพราะผมก็เริ่มต้นด้วยการมองว่า อันนี้นำไปสู่ความเป็น "อนาธิปไตย" และบั้นปลายก็คือ "กาลียุค" หลายอย่างที่พอจะมีผู้คนมีสติ สัมปชัญญะ ตักเตือนกันบ้าง แต่ก็ไม่มีคนฟัง ผมว่าทั้ง "ผู้เล่น" และ "ผู้หนุน" อยู่เบื้องหลังทั้งสองฝ่ายก็ต้องการ "ความแตกหัก" มากกว่า ดังนั้นเมื่อเป็นอย่างนี้แล้ว เสียงที่พอจะมีสติสัมปชัญญะบ้าง มันก็ถูกกลบหมด
- การเมืองไทยกำลังจะเปลี่ยนไปหน้าใหม่ ไม่เหมือนเดิม อาจารย์จินตนาการไว้กี่แบบ
สิ่งที่น่าวิตกคือ การย้ายจากถนนราชดำเนินไปราชประสงค์ การย้ายเป้าจากสัญลักษณ์ของรัฐและอำนาจรัฐไปสู่ธุรกิจและตัวแทนของนักธุรกิจนายทุนใหญ่ ผมคิดว่าเป็นความเปลี่ยนแปลงอย่างมากๆ และการลุกขึ้นมาเผาสถานที่ราชการในต่างจังหวัด มันเหมือนกับการนำปรากฏการณ์ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ไปสู่บางจังหวัดในภาคอีสานและภาคเหนือ
มันมีปรากฏการณ์เล็กๆ ที่ผมสะดุดใจก็คือ คนจำนวนหนึ่ง มากเท่าไหร่ไม่ทราบที่จังหวัดกาฬสินธุ์ บอกว่า ขอคืนบัตรประจำตัวประชาชน เป็นการปฏิเสธรัฐ ปฏิเสธความเป็นพลเมืองของรัฐนี้ อันนี้เป็นโมเดลเดียวกับคนจำนวนหนึ่งใน 3 จังหวัดภาคใต้หรือเปล่า อันนี้น่ากลัว เป็นจุดเล็กๆ แต่ในทางรัฐศาสตร์ ในทางรัฐประศาสนศาสตร์เป็นเรื่องน่าตกใจมากๆ ผมมีเพื่อนในสมัยเรียนที่อเมริกา สมัยสงครามเวียดนาม เขาต่อต้านรัฐบาลนิกสัน เขาไม่ยอมไปเกณฑ์ทหาร และเขาก็เผาบัตรประจำตัว และในที่สุดเขาก็เปลี่ยนไปเป็นพลเมืองแคนาดาจนกระทั่งทุกวันนี้
- เลือกรัฐที่ตัวเองอยากไปอยู่
ผมก็ไม่เคยคิดว่าจะมีคนแบบไม่เอาละสัญชาติไทย มันน่าตกใจ แม้เรามีพลเมือง 60 กว่าล้าน ถ้าเปลี่ยนไปสัก 5 คน 10 คนก็ไม่มีปัญหาหรอก แต่ว่านัยของการแสดงออกอันนี้มันน่าตกใจ มันไม่ใช่เรื่องจำนวน แต่ผมคิดว่าเป็นนัย เป็นสัญลักษณ์ของการที่ไม่ยอมรับอำนาจรัฐไทย
- นอกจากฝ่ายต่อต้านรัฐบาลจะเปลี่ยนเป้าจากสถานที่ราชการไปย่านธุรกิจแล้ว ฝ่ายรัฐบาลเองก็ควบคุมท่อน้ำเลี้ยงหรือ นักธุรกิจของผู้ชุมนุมด้วย
ก็บล็อกได้ในระดับหนึ่งนะครับ แต่ช้า ไปแล้ว
- การปรองดองอาจจะยาก แต่อาจารย์หวังว่าจะได้เห็นหรือไม่
ผมคาดว่าจะมีมิราเคิล-miracle (ปาฏิหาริย์) แต่ว่ามิราเคิลก็ยังไม่เกิดขึ้น
- ทางออกทางลงไปสู่ชีวิตปกติของคนในเมืองไม่ต้องเจอเหตุจลาจลยังเป็นไปได้ไหม
สำหรับคนธรรมดาผมว่ายังไม่เท่าไหร่นะ แต่ผมว่าคนที่อยู่ระดับยอดของสังคมจะลำบาก คนซึ่งอยู่ในระดับเป็นอีลิต-elite (ชนชั้นนำ) มีตำแหน่งหน้าที่การงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางการเมืองนั่นแหละลำบาก เพราะพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ก็แคบลง พื้นที่ทางการเมืองก็แคบลง ผมคิดว่าคนที่เป็นนักการเมืองคงไปไหนมาไหนไม่สะดวกอีกต่อไปแล้ว คงไปไหนมาไหนโดยไม่ใส่เสื้อเกราะ ไม่มีรถหุ้มเกราะ ไม่มี รปภ.เป็นสิบๆ คงไม่มีแล้ว คนสุดท้ายอาจจะเป็นคุณสมัคร สุนทรเวช สมัยเป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งสามารถจะไปเดินตลาดได้อย่างสบายอกสบายใจ แม้กระทั่งตอนกำลังจะถูกไล่ออกจากตำแหน่ง ผมสงสัยว่าคนสุดท้ายจะเป็นคุณสมัคร สุนทรเวช นอกจากนั้นจะทำไม่ได้แล้ว
๓. "ชาญวิทย์"ชี้"พฤษภาคมอำมหิต เลวร้ายสุดรอบ 100 ปี” สลาย ม็อบ"มาร์ค"ได้แค่ใจคนกรุงฯ - เผาทุน รัฐบาลเชื่อ"แม้ว"มีเอี่ยว
วันที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2553 เวลา 11:22:50 น. มติชนออนไลน์
นายชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แกนนำเครือข่ายสันติประชาธรรม กล่าวว่า เหตุจลาจลทั้งใน กทม.และต่างจังหวัดเมื่อวันที่ 19 พ.ค.เป็นเหตุการณ์ครั้งร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ไทยในรอบ 100 ปีที่ผ่านมา เพราะไม่เพียงแต่สัญลักษณ์ทางอำนาจรัฐจะถูกเผา แต่สัญลักษณ์ทางเศรษฐกิจยังถูกทำลายย่อยยับ ทำให้เหตุการณ์ครั้งนี้แตกต่างไปจากเหตุการณ์ 14 ต.ค.2516 หรือ 17 พ.ค.2535 โดยเป้าหมายการเผาสถานที่เหล่านั้น เพราะต้องการทำลายกลุ่มนายทุนที่เป็นฐานอำนาจให้กับรัฐบาลชุดนี้ ซึ่งเหตุลุกฮือดังกล่าว มีทั้งการจัดตั้งและเป็นไปตามธรรมชาติ ทั้งนี้แม้รัฐบาลจะสามารถสลายการชุมนุมที่สี่แยกราชประสงค์สำเร็จ ส่วนตัวคิดว่าเกมการเมืองต่อไปอาจจะลงใต้ดิน หรือเข้าไปในไซเบอร์สเปซ ทั้งเว็บไซต์ อีเมล์ เฟซบุ๊ค มายสเปซ และยิ่งรัฐบาลไปปิดเว็บไซต์ต่างๆ ก็เหมือนกับเกมวิ่งไล่จับหนู แล้วหนูที่เกิดจะเป็นหนูรุ่นใหม่ๆ ทั้งสิ้น ซึ่งตนคิดว่าน่าเป็นห่วงมากๆ
นายชาญวิทย์ กล่าวว่า เหตุจลาจลวันที่ 19 พ.ค.ที่ผ่านมา ปฏิเสธไม่ได้ว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี มีส่วนเกี่ยวข้องอย่างแน่นอน เพราะนับแต่รัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณถูกรัฐประหาร เมื่อปี 2549 ก็เกิดวิกฤตการเมืองแบบ Non Stop (ไม่หยุดหย่อน) ทั้งปี 2550 ที่ได้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ปี 2551 หลังเลือกตั้งใหม่ ได้รัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช, นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ แต่ก็ถูกโค่นล้มจนได้รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ปี 2552 เกิดเหตุการณ์สงกรานต์เลือด จากนั้นนายสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำกลุ่มพันธมิตรฯถูกลอบสังหาร และปี 2553 เกิดเหตุการณ์พฤษภาอำมหิต ตนจึงยังมองไม่เห็นว่าวิกฤตครั้งนี้จะจบอย่างไร เพราะรัฐบาลอภิสิทธิ์ปรองดองกับอีกฝ่ายไม่ได้แล้ว มีทางเดียวคือต้องเอาชนะให้เด็ดขาด ซึ่งเป็นไปได้ว่ารัฐบาลอาจใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินต่อไป เหมือนที่นายเฟอร์ดินานด์ มาร์กอส อดีตประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ประกาศใช้กฎอัยการศึกเพื่อปกครองประเทศนับ 10 ปี
"การสลายการชุมนุมที่สี่แยกราชประสงค์ อาจทำให้ได้พื้นที่คืนมา แต่ถ้าเทียบกับพื้นที่ทางการเมืองของนายอภิสิทธิ์ จะถือว่าเป็นที่แคบมากๆ เพราะได้ใจมวลชนแค่ใน กทม. ภาคใต้และตามเมืองใหญ่ๆ เท่านั้น ไม่ได้ใจมวลชนในภาคเหนือและภาคอีสาน อย่าลืมว่าไม่ว่าจะมีการบิดเบือนระบอบประชาธิปไตยเพียงใด สุดท้ายก็ต้องมีการเลือกตั้งอยู่ดี ถึงเวลานั้น 1 คนเท่ากับ 1 เสียง ถึงเวลานั้นพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) จะตกที่นั่งลำบาก จึงอาจเป็นไปได้ว่ารัฐบาลอาจยุบสภาเร็วนี้ เพื่อจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ในช่วงเวลาที่คิดว่าตัวเองได้เปรียบทางการ เมืองอยู่ แม้ว่าผมจะคิดว่าการยุบสภาในเวลานี้ ไม่สามารถที่จะแก้ปัญหาอะไรได้แล้วก็ตาม" นายชาญวิทย์ กล่าว
ผู้สื่อข่าวถาม เป็นไปได้หรือไม่จะอาศัยพระบารมียุติปัญหาเช่นเหตุการณ์ พ.ค.2535 นายชาญวิทย์ กล่าวว่า ตนยังนึกไม่ออกว่าพระองค์ท่านจะออกมาอย่างไร เพราะไม่ว่าใครจะออกมาทำอะไรเวลานี้ ถึงจะได้ใจอีกฝ่ายแต่ก็จะทำให้อีกฝ่ายไม่พอใจ สถาบันจึงไม่อยู่ในฐานะที่จะทำอะไรได้ เนื่องจากวิกฤตตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา ทำให้คนกลางในสังคมไทย ทั้งสื่อ นักวิชาการ กระทั่งพระสงฆ์ เสียงดังน้อยลงเรื่อยๆ พูดอะไรออกไปคนก็ไม่ค่อยฟัง ถึงขนาดบิณฑบาตความรุนแรง ก็ยังไม่มีใครมาใส่บาตร เป็นเหตุให้ฝ่ายผู้ชุมนุมพยายามยกระดับความขัดแย้งไปสู่สากล ดึงองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) และสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) เข้ามาแก้ปัญหา
http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1274329841&grpid=&catid=01
๔. สหประชาชาติมีอำนาจมากน้อยแค่ไหน ในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในไทย
ชำนาญ จันทร์เรือง
ข้อถกเถียงถึงการตรวจสอบการใช้อำนาจของรัฐบาลในการเข้าขอพื้นที่คืนบริเวณผ่านฟ้าและราชประสงค์ว่าจะสามารถถูกตรวจสอบจากองค์กรนอกรัฐไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากองค์การสหประชาชาติว่า จะสามารถทำได้มากน้อยแค่ไหนเพียงใด บ้างก็ว่าทำไม่ได้หากรัฐบาลเจ้าของประเทศไม่อนุญาต บ้างก็ว่าเข้ามาได้เลยหากคณะมนตรีความมั่นคงอนุมัติ โดยไม่มีสมาชิกถาวรในห้าประเทศวีโต บ้างก็ว่าประเทศนั้นต้องอยู่ในสภาพรัฐล้มเหลว(failed state)เสียก่อน จึงจะเข้ามาได้
ข้อเรียกร้องต่างๆ ของเราที่ผ่านมานั้นสามารถสรุปได้เป็นประเด็นใหญ่ได้ 3 ประเด็นคือ
1) การส่งกองกำลังของสหประชาชาติเข้ามาในประเทศไทย
2) การฟ้องร้องต่อศาลอาญาระหว่างประเทศ
3) การใช้สิทธิ์ตามกระบวนการ 1503
ในเรื่องของการเรียกร้องให้สหประชาชาติส่งกองกำลังเข้ามาระงับศึกภายในประเทศนั้นมีความเป็นไปได้น้อยที่สุด เพราะขึ้นอยู่กับรัฐบาลเจ้าของประเทศจะยินยอมหรือไม่ ซึ่งปกติแล้วมักไม่ยินยอม ดังเช่น ในเนปาลเมื่อครั้งที่เกิดการประท้วงขับไล่ก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง ซึ่งกลุ่มเมาอิสต์ได้ร้องเรียนไปยังสหประชาชาติ แต่รัฐบาลเนปาลในสมัยนั้นไม่ยินยอม ก็เข้าไม่ได้ หรือสงครามกลางเมืองในศรีลังกาที่ฝ่ายรัฐบาลใช้ระเบิดโจมตีฝ่ายที่ต่อต้านตายเป็นเบือ สหประชาชาติก็ยังเข้าไปไม่ได้เพราะรัฐบาลไม่ยินยอม แม้กระทั่งติมอร์เลสเตตอนแรกๆ รัฐบาลอินโดนีเซียก็ไม่ยินยอม เพิ่งมายินยอมในตอนหลังแต่ก็ต้องสูญเสียอธิปไตยให้แก่ติมอร์เลสเตไปซึ่งเราจะเอาอย่างนั้นหรือ
อย่างไรก็ตาม หากเกิดสภาวะรัฐล้มเหลว(failed state) โดยรัฐบาลไม่สามารถบังคับใช้กฎหมายได้แล้ว หรือ ผลที่เกิดขึ้นกระทบต่อประเทศข้างเคียงหรือประเทศอื่นอย่างรุนแรง สหประชาชาติโดยมติของคณะมนตรีความมั่นคง ซึ่งจะต้องไม่ได้รับการคัดค้านหรือวีโตจากประเทศใดประเทศหนึ่งหรือหลายประเทศจากสมาชิกถาวรห้าประเทศ ซึ่งได้แก่ สหรัฐอเมริกา อังกฤษ ฝรั่งเศส จีน และรัสเซีย จึงจะสามารถนำกองกำลังเข้าประเทศได้ แม้ว่าประเทศนั้นจะไม่ยินยอมก็ตาม
แต่กระบวนการนี้เป็นสิ่งที่ผมไม่เห็นด้วย เพราะจากประสบการณ์ที่ผ่านมาของหลายๆ ประเทศที่มีกองกำลังสหประชาชาติเข้าไปนั้น สร้างความยุ่งยากมากว่าที่จะเป็นผลดี เพราะเป็นทหารที่มาจากร้อยพ่อพันแม่ จากหลากหลายวัฒนธรรม มีการละเมิดระเบียบวินัยอยู่เป็นประจำ และเราจะยิ่งช้ำมากขึ้นหากเราเห็นทหารต่างด้าวสวมหมวกสีฟ้าไล่ยิงหรือไล่ฆ่าประชาชนของเรา ที่ถึงแม้ว่าจะคิดต่างจากเราก็ตาม ขนาดทหารไทยด้วยกันเองพูดจาภาษาเดียวกันยังมีปัญหาขนาดนี้ แล้วยิ่งเป็นทหารต่างชาติเข้าแล้วจะยุ่งยากขนาดไหน
ส่วนกระบวนการฟ้องร้องต่อศาลอาญาระหว่างประเทศ หรือ ที่จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2545 โดยธรรมนูญกรุงโรม ว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศ หรือที่เรียกว่า "Rome Statute" ตั้งอยู่ที่กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพิจารณาคดีอาญาที่เกี่ยวกับการล้างเผ่าพันธุ์และคดีอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ อาชญากรรมต่อมวลมนุษยชาติ คดีอาชญากรรมสงคราม และอาชญากรรมที่เป็นการรุกราน นั้น
ศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC) แตกต่างจาก ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (International Court of Justice-ICJ) ก็คือ ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ICJ) มีอำนาจพิจารณาคดีที่เกี่ยวข้องกับรัฐ แต่ศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC) มีอำนาจพิจารณาคดีที่เกี่ยวข้องกับตัวบุคคล และมีอำนาจไต่สวน ดำเนินคดี และพิพากษาคดีบุคคล โดยเป็นการฟ้องบุคคลหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐให้รับผิดเป็นการส่วนตัวในการใช้อำนาจ
ที่น่าสนใจก็คือการใช้สิทธิตามข้อร้องเรียนตามกระบวนการ 1503 ของ Human Rights Council ซึ่งที่ประชุมใหญ่สมัชชาสหประชาชาติจัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2006 เพื่อแทนที่ Human Rights Commission ที่มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน (*) ได้ออกมาเรียกร้องไปยังสหประชาชาติ โดยให้เหตุผลว่าจากการที่รัฐบาลไทยได้ดำเนินการเพื่อสลายการชุมนุมของทางกลุ่มเสื้อแดง นับตั้งแต่เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2553 และดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องอีกหลายครั้ง เหตุการณ์ล่าสุดนับตั้งแต่วันที่ 13 พฤษภาคม 2553 เป็นต้นมา การดำเนินการของรัฐบาลภายใต้อำนาจของพระราชกำหนดสถานการณ์ฉุกเฉิน ได้มีการใช้กำลังทางทหารที่นำมาซึ่งความสูญเสียอย่างกว้างขวาง ทั้งชีวิตของผู้ร่วมชุมนุม ประชาชนทั่วไป ทรัพย์สิน รวมทั้งทหารซึ่งเป็นผู้ปฏิบัติการในเหตุการณ์คราวนี้
(*) คลิกดูแถลงการณ์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ได้จากที่นี่
ภายใต้ความสูญเสียอันใหญ่หลวงที่เกิดขึ้น มีภาพข่าวและข้อมูลเป็นจำนวนมากแสดงให้เห็นว่าได้มีการใช้กำลังของเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งมิได้เป็นไปอย่างระวังระวังโดยมีการคำนึงถึงชีวิตและความปลอดภัยของประชาชนอย่างเพียงพอ และอีกทั้งมีแนวโน้มว่า จะมีผู้สูญเสียเพิ่มมากขึ้นภายใต้สถานการณ์ที่เป็นอยู่
อย่างไรก็ตาม ทางฝ่ายรัฐบาลได้มีการใช้สื่อมวลชนเป็นเครื่องมือในการเผยแพร่ข้อมูลของตนแต่เพียงด้านเดียว เพื่อชี้แจงว่า การกระทำทั้งหมดของทางฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐเป็นไปตามกรอบของกฎหมาย โดยไม่เปิดให้มีการใช้สื่อจากฝ่ายอื่นๆ ในการโต้แย้ง ตรวจสอบข้อเท็จจริงตามที่ทางรัฐบาลได้กล่าวอ้างแต่อย่างใด ท่ามกลางสถานการณ์ปัจจุบัน ซึ่งมีประชาชนเป็นจำนวนมากที่ไม่ไว้วางใจและไม่เชื่อถือในข้อมูลข่าวสารด้านเดียวจากทางรัฐบาล การดำเนินการในลักษณะดังกล่าวจึงไม่อาจเป็นหนทางในการสร้างความสันติกลับคืนสู่สังคมไทยได้แม้แต่น้อย
เพื่อไม่ให้เกิดการใช้อำนาจรัฐอย่างไร้กฎเกณฑ์ปราศจากการตรวจสอบ และในสถานการณ์เช่นนี้ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจึงร้องเรียนต่อองค์การสหประชาชาติตามกระบวนการ 1503 อันเป็นกระบวนการที่เปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถร้องเรียนกับสหประชาชาติได้โดยตรง ในกรณีที่เห็นว่ามีสถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรงเกิดขึ้น
โดยให้มีการดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงในการใช้อำนาจของรัฐบาลในครั้งนี้ว่า ได้ดำเนินการไปในลักษณะดังที่ได้กล่าวอ้างมาอย่างต่อเนื่องหรือไม่ อันเป็นการดำเนินการจากองค์กรในระดับสากลซึ่งเป็นที่ยอมรับได้ว่ามิได้มีอคติหรือเอนเอียงเข้าหาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งในความขัดแย้งที่กำลังปะทุอยู่ในปัจจุบัน และทำให้เกิดการตรวจสอบการใช้อำนาจของรัฐว่า มิได้กระทำไปตามใจของผู้มีอำนาจและไม่ให้การสูญเสียชีวิตที่เกิดขึ้นเป็นความสูญเปล่าที่ปราศจากความรับผิดชอบใดๆ
ซึ่งการใช้สิทธิตามกระบวนการนี้ สหประชาชาติจะเป็นผู้พิจารณาเองว่า มีเหตุการณ์และข้อเท็จจริงใดเกิดขึ้นบ้าง ไม่ว่าจะเป็นส่วนความรุนแรง และส่วนของกระบวนการภายในว่า สามารถคุ้มครองสิทธิประชาชนในรัฐได้หรือไม่ คือ สหประชาชาติจะทำการสืบสวนในทางลับ คู่ขนานกับกระบวนการอื่นไปด้วย ซึ่งจะเป็นการกดดันรัฐไปในตัว ซึ่งจริงๆ ผมคาดว่าสหประชาชาติ ได้ดำเนินการไปแล้ว และ รัฐไทยเราเคยใช้ในช่วง “พฤษภาทมิฬ“ โดยศาสตราจารย์วิทิต มันตราภรณ์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นผู้ยื่น (ต่อ Human Rights Commission) หลังจากนั้นสหประชาชาติได้กดดันรัฐบาลนายอานันท์ ปันยารชุน ให้ไต่สวนข้อเท็จจริง พร้อมกับการกับตั้งกองทุนเยียวยา
ส่วนใครจะต้องรับผิดในศาลอาญาระหว่างประเทศหรือตามกระบวนการ 1503 นั้น ก็ต้องขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริง ซึ่งกรรมจะเป็นเครื่องชี้เจตนา ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายรัฐบาลอภิสิทธิ์ หรือฝ่ายแกนนำเสื้อแดงและผู้บงการ ตลอดจนสื่อมวลชนและผู้ที่มีส่วนยุยงให้เกิดการรบราฆ่าฟันก็ตาม จะต้องรับผิดชอบผลแห่งการกระทำตนในที่สุด ดังเช่น กรณีของรวันดา เขมรแดง หรืออดีตยูโกสลาเวีย ฯลฯ นั่นเอง
*ที่มา กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ 18 พ.ค.53
๕. บทความ "การก่อการร้าย"
โดย พนัส ทัศนียานนท์
การก่อการร้าย – สิทธิก่อการปฏิวัติ???
ในที่สุด ก็ชัดเจนจากถ้อยแถลงของนายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะว่า ปฏิบัติการกระชับพื้นที่สี่แยกราชประสงค์เพื่อสลายม็อบเสื้อแดง ก็จะต้องดำเนินการกันต่อไปจนกว่าภาระกิจจะเสร็จสิ้น เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง และทำให้ประเทศไทยเป็นนิติรัฐอย่างแท้จริง
จากท่าทีที่แสดงความแน่วแน่ว่าจะต้องจัดการกับปัญหาม็อบเสื้อแดงให้ลุล่วงไปให้จงได้ แสดงว่านายกฯ อภิสิทธิ์ได้ตัดสินใจอยู่ก่อนแล้วที่จะเลือกใช้ความรุนแรงเป็นวิธีการแก้ปัญหาโดยมองว่า เป็นทางเลือกเพียงอย่างเดียวเท่านั้นที่เหลืออยู่เพื่อธำรงความเป็นนิติรัฐของรัฐไทยภายใต้การปกครองของรัฐบาลนี้ โดยไม่คำนึงถึงว่า อาจจะต้องมีการเสียเลือดเสียเนื้อ หรือแม้แต่ชีวิตของคนไทยด้วยกันเพิ่มขึ้นอีกไม่ว่าจะมากมายแค่ไหนก็ตาม ทั้งๆ ที่การเจรจากันต่อไปยังพอมีช่องทางให้ตกลงกันได้ และทางเลือกอย่างอื่นที่ไม่ทำให้ต้องบาดเจ็บล้มตายเพิ่มขึ้นอีกก็มีอยู่ คือการลาออกหรือยุบสภาไปเสีย
โรดแมปเพื่อการปรองดองของเขา จึงน่าจะเป็นเพียงกลอุบายที่จะนำไปสู่การใช้แผนรุกฆาตตามที่ทำนายไว้เมื่อวันจันทร์ที่แล้ว(10 พ.ค.)เท่านั้นเอง (ดู แผนการปรองดอง --- แผนการรุกฆาต??? ในคอลัมน์ เส้นแบ่งความคิด)
การที่นายกฯอภิสิทธิ์ บอกว่าเสียใจที่ฝ่ายแกนนำเสื้อแดงไม่ยอมรับโรดแมปของตน จึงทำให้จำเป็นต้องลงมือปฏิบัติการเพื่อสลายการชุมนุม จึงเท่ากับเป็นการบอกว่าความตายของคนเสื้อแดงอีก 24 คน มีค่าน้อยกว่าการยอมให้รองนายกฯสุเทพ เทือกสุบรรณเข้ามอบตัวกับตำรวจตามข้อต่อรองของแกนนำ นปช.เพื่อเรียกร้องความยุติธรรมให้แก่วีระชนของพวกเขาที่ต้องพลีชีพไปเมื่อวันที่ 10 เมษายนกระนั้นหรือ
จนถึงวันนี้ (16 พ.ค. 53) ยังไม่มีใครบอกได้ว่าปฏิบัติการครั้งนี้จะจบลงเมื่อใด อย่างไร แต่ความสูญเสียที่เกิดขึ้นก็ดูจะไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าปฏิบัติการทำนองเดียวกันนี้ ในการขอพื้นที่คืนบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยและสะพานผ่านฟ้าเมื่อวันที่ 10 เมษายน เพราะจำนวนผู้ตายในขณะนี้ได้เพิ่มขึ้นเป็น 24 และบาดเจ็บ 198 แล้ว ดังนั้น เพื่อเป็นการสงวนชีวิตของผู้ชุมนุมซึ่งเป็นผู้บริสุทธิ์ จึงขอเรียกร้องให้แกนนำ นปช.ชิงสลายการชุมนุมเสียเองโดยเร็วที่สุด ก็น่าจะได้ชื่อว่าเป็นผู้เสียสละ และเป็นฝ่ายชนะในการต่อสู้ครั้งนี้แล้ว
จากการชี้แจงของ ศอฉ. ต่อสาธารณชนผ่านทางสถานีโทรทัศน์ในตอนค่ำของวันที่ 15 พฤษภาคม ก่อนการออกอากาศแถลงการณ์โดยนายกฯอภิสิทธิ์ ได้มีการยืนยันว่าความรุนแรงที่เกิดขึ้นเป็นการก่อการร้ายของบุคคลกลุ่มหนึ่งที่แฝงตัวอยู่ในหมู่ผู้ชุมนุม ส่วนจะเป็นกลุ่มเดียวกันกับกลุ่มคนชุดดำที่ลงมือปฏิบัติการเด็ดหัวผู้บัญชาการรบที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยหรือไม่ ไม่มีการยืนยันจาก ศอฉ. แต่ก็มีการยอมรับโดยผู้บัญชาการกองพลที่ 1 ว่าการดำเนินการกับกลุ่มผู้ก่อการร้ายที่แฝงตัวอยู่ในฝูงชนคนเสื้อแดง ไม่สามารถกระทำได้ เพราะเกรงว่าจะพลาดไปโดนผู้ชุมนุมที่ไม่ใช่ผู้ก่อการร้าย ส่วนสาเหตุที่ทำไมจึงมีผู้เสียชีวิตถึง 24 คนและบาดเจ็บเกือบ 200 คนเข้าไปแล้ว ก็มีคำชี้แจงว่า น่าจะเกิดจากการที่ผู้ชุมนุมยิงกันเองหรือมิฉะนั้นก็ถูกผู้ก่อการร้ายหรือชาวบ้านในชุมชนยิงเอา ไม่ใช่เป็นการยิงจากฝ่ายทหาร
ความรุนแรงที่เกิดขึ้นอีกในครั้งนี้จึงสืบเนื่องมาจากการใช้อาวุธสงครามร้ายแรงเข้ามายิงเข่นฆ่ากัน ซึ่งเป็นการกระทำของผู้ก่อการร้ายกลุ่มหนึ่ง ที่ยังไม่ทราบว่าเป็นใครและอยู่ฝ่ายใด แต่ก็พอจะอนุมานได้จากคำชี้แจงของ ศอฉ. ว่าน่าจะเป็นฝ่ายม็อบเสื้อแดงนั่นเองตามทฤษฎีการสมรู้ร่วมคิดกัน เพราะแฝงตัวอยู่ด้วยกัน ดังนั้น โดยจุดยืนของนายกฯอภิสิทธิ์ ศอฉ. และ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) บรรดาแกนนำเสื้อแดงรวม 9 คน จึงเข้าข่ายตกเป็นผู้ต้องหาฐานก่อการร้าย ซึ่งเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 135/1-4 ตามข้อกล่าวหาของ DSI ด้วย
อย่างไรก็ตาม ความผิดฐานก่อการร้ายดังกล่าวมีข้อยกเว้นในมาตรา 135/1 นั่นเองว่า
“การกระทำในการเดินขบวน ชุมนุม ประท้วง โต้แย้ง หรือเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องให้รัฐช่วยเหลือ หรือให้ได้รับความเป็นธรรมอันเป็นการใช้เสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ ไม่เป็นการกระทำความผิดฐานก่อการร้าย”
จากข้อเท็จจริงซึ่งเป็นที่ปรากฎและฝ่ายรัฐบาลก็ยอมรับ ก็คือ การชุมนุมของกลุ่ม นปช. คนเสื้อแดงตั้งแต่เริ่มต้น เป็นการชุมนุมเรียกร้องให้นายกฯอภิสิทธิ์ยุบสภาเพื่อให้มีการเลือกตั้งกันใหม่ ซึ่งเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ และชอบด้วยครรลองของระบอบประชาธิปไตย ดังนั้น กรณีจึงเป็นปัญหาน่าคิดว่าการใช้สิทธิชุมนุมโดยชอบด้วยรัฐธรรมนูญเช่นนี้ ได้กลายเป็นการก่อการร้ายไปตั้งแต่เมื่อใด เพราะหากจะอ้างว่าได้เริ่มกลายเป็นการก่อการร้าย ตั้งแต่เกิดเหตุการณ์สลายการชุมนุมเมื่อวันที่ 10 เมษายน ก็มีปัญหาว่าการสลายการชุมนุมครั้งนั้น เป็นการกระทำที่เกินสมควรแก่เหตุ หรือเกินกว่ากรณีจำเป็นหรือไม่ เพราะทำให้มีผู้ชุมนุมถูกยิงเสียชีวิตไปถึง 21 คนและบาดเจ็บกว่า 800 คน
ฉะนั้น ปฏิบัติการ “กระชับพื้นที่” ของ ศอฉ. ในครั้งนี้ซึ่งมีผู้คนล้มตายไปถึง 24 คนแล้ว จึงมีปัญหาว่าเป็นการกระทำที่เกินสมควรแก่เหตุหรือเกินกว่ากรณีจำเป็นหรือไม่เช่นเดียวกัน ซึ่งจะต้องพิสูจน์กันด้วยพยานหลักฐานต่อไป
ซึ่งหากการพิสูจน์ด้วยพยานหลักฐานทั้งปวงสามารถแสดงได้ว่า “การขอพื้นที่คืน” เมื่อ 10 เมษายน ก็ดี “การกระชับพื้นที่” ในครั้งนี้ก็ดี เป็นการกระทำที่เกินสมควรแก่เหตุหรือเกินกว่ากรณีจำเป็น ย่อมเป็นการแน่นอนว่าการกระทำดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย (พ.ร.ก. สถานการณ์ฉุกเฉิน มาตรา 17) ตามหลักนิติรัฐ เพราะต้องไม่ลืมว่าตามหลักนิติรัฐ ผู้ใช้อำนาจรัฐต้องใช้อำนาจภายในขอบเขตของกฎหมายเท่านั้น จะถือว่าตนเองอยู่เหนือกฎหมายและจะใช้อำนาจตามอำเภอใจของตนเองไม่ได้ เพราะหากใช้อำนาจเกินเลยไปจนขาดความชอบธรรม ผู้ใช้อำนาจรัฐในลักษณะเช่นนั้นก็อาจถูกประณามได้ว่าเป็น “ทรราชย์นิติรัฐ” ดังเช่น อดอร์ฟ ฮิตเลอร์
ยิ่งไปกว่านั้น หากจะยกวาทกรรมในเชิงทฤษฎีกฎหมายธรรมชาติมาว่ากล่าวกันต่อ ก็อาจกล่าวได้ว่า บุคคลทุกคนในฐานะเสรีชนย่อมมีสิทธิตามธรรมชาติที่จะร่วมกันก่อการปฏิวัติเพื่อโค่นล้มผู้ปกครอง(รัฐบาล)ที่ใช้อำนาจรัฐโดยไม่เป็นธรรม ทำร้ายเข่นฆ่าประชาชนเยี่ยงทรราชย์ได้
http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1274784631&grpid=00&catid=no
๖. “พี่ยิ้ม” (ดร. สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ)
โดย เกษียร เตชะพีระ
อิเมลดา มาร์คอสจุมพิตโลงแก้วเก็บศพฉีดดองของสามีก่อนเปิดฉากรณรงค์หาเสียงต้นปีนี้
เมื่อวันที่ ๙ พ.ค. ศกนี้ สำนักข่าวบีบีซีได้สัมภาษณ์นางอิเมลดา มาร์คอสภรรยาม่ายวัย ๘๐ ปีของอดีตประธานาธิบดี-จอมเผด็จการเฟอร์ดินานด์ มาร์คอสแห่งฟิลิปปินส์ (ผู้ชนะเลือกตั้ง ๒ ครั้งนับแต่ ค.ศ. ๑๙๖๕ แต่หันมาประกาศกฎอัยการศึก ระงับรัฐธรรมนูญ ยุบสภาและรวบอำนาจปกครองเบ็ดเสร็จจาก ค.ศ. ๑๙๗๒ – ๘๖ จนถูกการปฏิวัติโดยอำนาจประชาชน – People Power Revolution – โค่นขับออกนอกประเทศ) เธอลงสมัครและเพิ่งได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส. จังหวัด Ilocos Norte ซึ่งเป็นบ้านเกิดของตระกูลมาร์คอสในเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา
ตอนหนึ่งของคำสัมภาษณ์ อิเมลดาผู้ผ่านประสบการณ์การเมืองมาโชกโชนได้กล่าวสรุปแก่นแท้ของ “อำนาจ” ให้ฟังว่า: -“เมื่อมาร์คอสประกาศกฎอัยการศึกได้ ๓ ปีและยังไม่สั่งประหารชีวิตใครเลยสักคน ฉันเข้าไปหาเขาแล้วบอกว่า ‘เฟอร์ดินานด์ จะมีอำนาจไว้เพื่ออะไรเมื่อคุณไม่แม้แต่สั่งประหารชีวิตใครเลยสักคน?’
“เขาบอกกับฉันว่า: ‘อิเมลดา ศิลปะในการใช้อำนาจนั้นน่ะคือไม่มีวันที่จะใช้อำนาจ แต่ต้องให้มันเป็นที่รู้สึก มันก็เหมือนปืนที่มีกระสุนพันนัดน่ะแหละ พอเธอใช้ปืนเข้า เธอก็จะไม่มีกระสุนพันนัดอีกต่อไป เธอจะเหลือแค่ ๙๙๙ นัด ศิลปะในการใช้อำนาจก็คือไม่มีวันใช้อำนาจ แต่ต้องให้มันเป็นที่รู้สึก’”
(ดูวีดิโอสัมภาษณ์นางอิเมลดา มาร์คอสได้ที่ news.bbc.co.uk/2/hi/asia-pacific/8670594.stm โดยเฉพาะนาทีที่ ๑:๑๒ – ๑:๔๒)
รัฐบาลของนายกฯอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เพิ่งใช้ “อำนาจ” ภาวะฉุกเฉินที่ยังผลให้มีคนตายไปทั้งสิ้น ๘๘ คน บาดเจ็บ ๑,๘๘๕ คน น่าสงสัยว่าตอนนี้รัฐบาลเหลือ “อำนาจ” เท่าไหร่กัน? ไม่เพียงเฉพาะอำนาจยิงของปืนที่สิ้นเปลืองกระสุนไปเท่านั้น แต่ที่สำคัญคืออำนาจในการครองใจประชาชน ให้พวกเขายอมทำตามคำสั่งรัฐบาล เพราะเห็นว่านี่เป็นรัฐบาลของพวกเขาเอง
ถ้ามองแบบอิเมลดา “อำนาจ” นั้นก็ลดถอยน้อยลงไป ๘๘ ศพกับอีก ๑,๘๘๕ คน ยังไม่นับญาติมิตรและผู้เห็นอกเห็นใจคนเหล่านั้น อีกทั้งผู้เรียกร้องต้องการความจริงและความยุติธรรมในประเทศและทั่วโลก ดูเหมือนจำนวนผู้บาดเจ็บล้มตายร่วม ๒ พันคนจะเป็น “ความดีความชอบ” เพียงอย่างเดียวของรัฐบาลในการบริหารจัดการความขัดแย้งในบ้านเมืองรอบ ๒ เดือนที่ผ่านมา
และรัฐบาลที่มี “อำนาจ” เหลือแค่นี้และมี “ความดีความชอบ” ต่อประเทศและประชาชนไทยอย่างแสนสาหัสขนาดนี้ ก็ยังออกอาการลุแก่อำนาจ เที่ยวข่มเหงรังแกไล่ล่าจับกุมคุมขังฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองทั่วประเทศด้วยข้อกล่าวหาร้ายแรงอย่าง “ก่อการร้าย” และ “ล้มเจ้า” โดยที่ในหลายกรณีไม่ปรากฏหรือแสดงพยานหลักฐานอย่างชัดเจน ถามจริงๆ เถอะผู้บริหารรัฐบาลบ้าอำนาจหรือกลัวผลกรรมตามสนองจนสติแตกไปแล้วหรือไง? โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การโฆษณาสั่งการประณามถากถางทางทีวีอยู่ปาวๆ ข้างเดียว ดังมีวาจาสิทธิ์วันละหลายเพลานั้นนานๆ เข้าอาจส่งผลข้างเคียงให้เคลิบเคลิ้มจนพูดจาเลอะเทอะสมองเละเทะเป็นวุ้นเจเล่ได้!
ผู้เขียนกับ อ.สุธาชัย แถลงข่าวคัดค้านโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินบ่อนอก-บ้านกรูด (๒๕๔๕)
กรณี “พี่ยิ้ม” หรือผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ แห่งภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถูก ศอฉ.กล่าวหาจับกุมคุมขังเป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของอาการลุแก่อำนาจดังกล่าว
ผมรู้จักพี่ยิ้มมานานตั้งแต่ครั้งเรียนหนังสือและทำกิจกรรมร่วมกันที่ธรรมศาสตร์หลัง ๑๔ ตุลาฯ ๒๕๑๖ ได้ผ่านประสบการณ์สารพัดมาด้วยกัน ไม่ว่ารัฐประหารและฆ่าหมู่ ๖ ตุลาฯ ๒๕๑๙, เข้าป่าต่อสู้เผด็จการ, ออกจากป่ากลับมาเรียนหนังสือ, ทำงานฝ่ายข่าวต่างประเทศกอง บก.หนังสือพิมพ์เศรษฐกิจการเมืองที่มีพี่วิชัย บำรุงฤทธิ์เป็น บก.และพี่ปรีดี บุญซื่อเป็นหัวหน้าฝ่าย ฯลฯ ก่อนจะแยกย้ายไปสอนหนังสือและเรียนต่อคนละที่ละทาง โดยผมเข้าสอนที่รัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ และไปเรียนต่อมหาวิทยาลัยคอร์แนล สหรัฐอเมริกา ส่วนพี่ยิ้มเข้าสอนที่อักษรศาสตร์ จุฬาฯ และไปเรียนต่อมหาวิทยาลัยบริสทอล ประเทศอังกฤษ. ครั้นกลับมาเจอกันที่เมืองไทย ก็ยังได้ร่วมงานวิชาการและกิจกรรมกันเป็นระยะสืบมา
ในฐานะเพื่อนเก่าแก่ ผมมีเรื่องอยากบอกเล่าเกี่ยวกับพี่ยิ้ม ๒ – ๓ อย่างคือ: -
๑) พี่ยิ้มเป็นนักวิชาการทางประวัติศาสตร์ที่มีคุณภาพชั้นแนวหน้า และใส่ใจค้นคว้าวิจัยจริงจัง
ก่อนจะมาเป็นนักวิชาการ พี่ยิ้มเป็นนักหนังสือพิมพ์มาก่อน ผมเห็นว่าจุดเด่นคือ พี่ยิ้มได้ใช้ทักษะสืบสวนสอบสวนแกะรอยเส้นสายสัมพันธ์ในกองทัพแบบนักข่าวสายทหาร มาประยุกต์วิเคราะห์เครือข่ายสายสัมพันธ์ของกลุ่มทหารในประวัติศาสตร์การเมืองไทยสมัยใหม่ ตั้งแต่คณะราษฎร ๒๔๗๕ มาจนถึงคณะรัฐประหาร ๒๔๙๐ และคณะปฏิวัติ ๒๕๐๑ ว่าแบ่งกลุ่มแบ่งสายเชื่อมโยงกับนักการเมืองพรรคฝ่ายต่างๆ รวมทั้งนักหนังสือพิมพ์และนักเคลื่อนไหวมวลชนอย่างไร
ผลงานค้นคว้าวิจัยที่ว่านี้ ปรากฏเป็นวิทยานิพนธ์มหาบัณฑิตด้านประวัติศาสตร์ของพี่ยิ้มเรื่อง “การเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ต่อต้านรัฐ สมัยจอมพลแปลก พิบูลสงคราม (พ.ศ. ๒๔๙๑ – ๒๕๐๐)” ซึ่งเสนอต่อบัณฑิตวิทยาลัย จุฬาฯในปี พ.ศ. ๒๕๓๒ และต่อมาตีพิมพ์เป็นเล่มชื่อ แผนชิงชาติไทย: ว่าด้วยรัฐและการต่อต้านรัฐสมัยจอมพล ป.พิบูลสงครามครั้งที่สอง (พ.ศ. ๒๔๙๑ – ๒๕๐๐) (พิมพ์ ๒ ครั้งในปี พ.ศ. ๒๕๓๔ และล่าสุด ๒๕๕๐)
ในฐานะที่ผมเขียนวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกเกี่ยวกับขบวนการปัญญาชน-วัฒนธรรมฝ่ายซ้ายไทย ในช่วงดังกล่าวเช่นกัน (Commodifying Marxism: The Formation of Modern Thai Radical Culture, 1927 – 1958) ผมได้ใช้ประโยชน์จากงานของพี่ยิ้มในการค้นคว้าข้อมูล และเข้าใจการเมืองสมัยนั้นมาก และเห็นด้วยเต็มที่กับการประเมินของอาจารย์ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ในคำนำเสนอของหนังสือ “แผนชิงชาติไทย” ฉบับพิมพ์ครั้งหลังว่างานของพี่ยี้มเล่มนี้: “น่าจะเป็นหนังสือที่ดีที่สุด ละเอียดลออที่สุด เป็นวิชาการที่สุดที่เรามีอยู่ในภาษาไทยเกี่ยวกับ ‘รัฐประหาร ๒๔๙๐’ และ ‘ ระบอบทหาร/ระบอบพิบูลสงคราม’ กับการเมืองไทยในช่วง พ.ศ. ๒๔๙๑ – ๒๕๐๐ อันมีอำมาตยาธิปไตยทหารเป็นผู้นำ”
งานค้นคว้าวิจัยและเป็นที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ในชั้นหลังของพี่ยิ้ม ก็พยายามสืบสานต่อจากที่ทำไว้เดิมโดยเฉพาะเรื่องประวัติศาสตร์ขบวนการสังคมนิยม-คอมมิวนิสต์ในประเทศไทยและระดับโลก, ขบวนการนักศึกษาประชาชนช่วงก่อนและหลังเหตุการณ์ ๑๔ ตุลาฯ ๒๕๑๖, การรับข้อมูลและสืบพยานเหตุการณ์ ๖ ตุลาฯ ๒๕๑๙, การเข้าป่าของนักศึกษาปัญญาชน และความขัดแย้งแตกแยกในขบวนการคอมมิวนิสต์ไทยหลัง ๖ ตุลาฯ เป็นต้น (ดูรายละเอียดได้ที่ www.arts.chula.ac.th/~history/viewteacher.php?id=5)
และยังมีวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกของพี่เรื่อง “Portuguese Lançados in Asia in the sixteenth and seventeenth centuries” (ค.ศ. ๑๙๙๘) กล่าวได้ว่าพี่ยิ้มน่าจะเป็นนักประวัติศาสตร์ไทยรุ่นปัจจุบันคนเดียวที่เรียนรู้ภาษาโปรตุเกส และค้นคว้าวิจัยประวัติความสัมพันธ์สยาม-โปรตุเกสสมัยอยุธยามาโดยตรง
๒) พี่ยิ้มเป็นผู้รักความเป็นธรรมและสังคมประชาธิปไตยอย่างแน่วแน่มั่นคง
ส่วนหนึ่งคงเป็นเพราะประสบการณ์ครบเครื่องในอดีตในฐานะ “คนเดือนตุลาฯ”, ประกอบกับศรัทธามั่นคงต่ออุดมการณ์สังคมประชาธิปไตย (social democracy) และความรู้ความเข้าใจบทเรียนจากประวัติศาสตร์การเมืองไทยสมัยพุทธทศวรรษที่ ๒๔๙๐ อย่างลึกซึ้ง ดังนั้นนอกจากสอนหนังสือและทำงานวิชาการแล้ว พี่ยิ้มก็ยังสนับสนุนเข้าร่วมการเคลื่อนไหวประท้วงของชาวบ้าน-ชุมชน-คนงานผู้เสียเปรียบและลุกขึ้นเรียกร้องความเป็นธรรมเป็นนิจศีล ไม่ว่าสมัชชาคนจน, กลุ่มชาวบ้านอนุรักษ์บ่อนอก-บ้านกรูด , คนงานหญิงไทรอัมพ์, พรรคแนวร่วมสังคมประชาธิปไตย เป็นต้น
เดิมทีพี่ยิ้มก็คัดค้านนโยบายและการกระทำบางด้านของรัฐบาลทักษิณ เช่น การส่งทหารไทยไปอิรัก และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง กรณีฆ่าหมู่ที่ตากใบ เมื่อมีการเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลทักษิณระยะแรก พี่ยิ้มจึงเห็นด้วย แต่พอพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยและคุณสนธิ ลิ้มทองกุล หันไปเรียกร้องให้ถวายพระราชอำนาจคืนโดยอ้างมาตรา ๗ ในรัฐธรรมนูญ ๒๕๔๐ พี่ยิ้มก็รับไม่ได้และเปลี่ยนท่าที เพราะมันซ้ำรอยวิธีการที่พวกขวาจัด-อนุรักษ์นิยมในอดีตอ้างอิงสถาบันกษัตริย์สมัยรัชกาลที่ ๗ มาขัดขวางทำลายเค้าโครงเศรษฐกิจแนวสังคมนิยมของอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๖ และต่อมาก็ฉวยใช้กรณีสวรรคตของรัชกาลที่ ๘ มาใส่ร้ายป้ายสีอาจารย์ปรีดี และก่อรัฐประหารโค่นระบอบประชาธิปไตยลงเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๐ อันเป็นบทเรียนเลวร้ายทางประวัติศาสตร์ที่พี่ยิ้มค้นคว้าศึกษามาโดยตรง
รัฐประหารของ คปค. เมื่อ ๑๙ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๙ ที่อ้างเหตุประการหนึ่งว่า เพราะรัฐบาลทักษิณกระทำการ “หมิ่นเหม่ต่อการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพแห่งองค์พระมหากษัตริย์” จึงย่อมเหมือนตอกย้ำลงไปว่า ประวัติศาสตร์รัฐประหาร ๒๔๙๐ กำลังเกิดซ้ำรอยต่อหน้าต่อตาอีกครั้งหนึ่งแล้ว และทำให้พี่ยิ้มออกมาเคลื่อนไหวต่อต้านการรัฐประหารครั้งนั้น ร่วมกับขบวนการ นปก.-นปช. ในที่สุด
๓) พี่ยิ้มเป็นคนซื่อตรงจริงใจต่อความเชื่อของตัวและมีท่าทีการเมืองแบบเดินสายกลาง
พี่ยิ้มเป็นคนจริงใจ ซื่อๆ ตรงๆ การเคลื่อนไหวทางการเมืองของพี่ก็เริ่มจากความเชื่อดังกล่าวข้างต้นอย่างบริสุทธิ์ใจ ทำไปตามความเชื่อและสิทธิเสรีภาพตามกฎหมายที่พึงมี โดยไม่คำนึงถึงชื่อเสียง อำนาจและผลประโยชน์ส่วนตัว บ่อยครั้งจึงอาจถูกเข้าใจผิด มองไปทางร้ายและเข้าเนื้อเสียหายได้ แต่เอาเข้าจริงพี่ยิ้มเป็นคนที่เดินสายกลางหรือ moderate ทางการเมือง ไม่ได้ตั้งเป้าเรียกร้องอย่างสุดโต่งสุดขั้ว หรือถอนรากถอนโคนแต่อย่างใด พูดจาโต้เถียงออกจะนิ่มๆ ทื่อๆ ตะกุกตะกัก ติดๆ ขัดๆ บ้างด้วยซ้ำไป
การที่ชื่อพี่ยิ้มไปโผล่หราในแผนผังเครือข่ายล้มเจ้าของ ศอฉ. จึงเป็นเรื่องชวนฮาเหลวไหลสิ้นดี เพราะเอาเข้าจริง ยังมีนักวิชาการรายอื่นที่แสดงทรรศนะต่อต้านรัฐประหาร คปค. อย่างสุดโต่งสุดขั้วถอนรากถอนโคนดุเดือดเลือดพล่านเสียวไส้กว่าพี่ยิ้มมาก และต่อมาเมื่อเปลี่ยนรัฐบาล เขาก็ได้ลาภยศตำแหน่งตอบแทนตามสมควร จนถึงแก่ ส.ว. คำนูณ สิทธิสมาน เคยร้องทัก แต่เขากลับไม่ปรากฏชื่อในแผนผัง ศอฉ.
หรือจะเป็นเพราะว่าหนังสือต้านรัฐประหารเล่มโด่งดังของนักวิชาการท่านนั้น ตีพิมพ์เผยแพร่โดยสำนักพิมพ์ “อะอาอั๊ด” ซึ่งว่ากันว่าได้เม็ดเงินหนุนหลังทั้งที่ขาดทุนเดือนละเป็นแสนจากบิ๊กการเมืองชื่อ “เออิน” คนเดียวกับที่มีภาพถ่ายยืนโอบกอดเล้าโลมกับ ฯพณฯ ผู้นำรัฐบาลผสมชุดนี้เมื่อแรกตั้งรัฐบาลลงหราในหนังสือพิมพ์หลายฉบับนั่นแหละ? ใครจะไปรู้ว่าขืนใส่ชื่อนักวิชาการท่านนั้นลงแผนผังฯ ไปด้วย ก็อาจมีคนทะลึ่งลากเส้นเชื่อมโยงต่อจนเลยเถิดถึง ฯพณฯ ผู้นำรัฐบาลเข้าให้จนได้ มันก็จะ “อิ๊บอ๋าย” กันไปใหญ่เท่านั้นเอง!?!
การเล่นรังแกพี่ยิ้มด้วยการเอาชื่อแกใส่แผนผังฯ, จับกุมคุมขัง, และยึดหนังสือตำราวิชาการไม่ให้แกอ่านเตรียมสอนตามหน้าที่รับผิดชอบของอาจารย์ จึงสะท้อนลักษณะ “ เจเล่” ของมันสมอง ศอฉ. ยิ่งกว่าอื่น
ไม่อยากเชื่อเลยว่า นี่คือวิธีการใช้อำนาจของคนที่เคยเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยเดียวกับผม!
๗. คณาจารย์จุฬา ออกแถลงการณ์
ค้าน ศอฉ. คุมตัว"สุธาชัย"ที่ค่ายทหารสระบุรี ชี้คุกคามเสรีภาพวิชาการ
วันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2553 เวลา 17:45:12 น. มติชนออนไลน์
คณาจารย์จุฬา ออกแถลงการณ์ ให้รัฐบาล-ศอฉ. รีบยกเลิกการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ล่อแหลมต่อการละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนจนเกินขอบเขต ชี้คุกคามสิทธิเสรีภาพบุคคล-วิชาการ
เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม ว่า คณาจารย์จากคณะรัฐศาสตร์ และคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในนามคณาจารย์ผู้ห่วงใยในสิทธิเสรีภาพของปวงชนชาวไทย นำโดย นายฉลอง สุนทรวานิช หัวหน้าภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ และนายนายสุริชัย หวันแก้ว ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาสันติวิธีฯ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ออกแถลงการณ์เรียกร้องความเป็นธรรมและเสรีภาพทางวิชาการ ระบุว่า ตามที่เมื่อเช้าวันจันทร์ที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ.2553 เจ้าหน้าที่ตำรวจได้จับกุมตัว ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตามหมายจับในความผิดตาม พ.ร.ก. การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 มาตรา 11 (1) ประกาศให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจจับกุมและควบคุมตัวบุคคลที่สงสัยว่า จะเป็นผู้ร่วมกระทำการให้เกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือเป็นผู้ใช้ ผู้โฆษณา ผู้สนับสนุนการกระทำเช่นว่านั้น หรือปกปิดข้อมูลเกี่ยวกับการกระทำให้เกิดสถานการณ์ฉุกเฉินนั้น และต่อมาถูกนำตัวไปควบคุมไว้ที่ศูนย์การทหารม้าค่ายอดิศร จังหวัดสระบุรี ดังปรากฏเป็นข่าวที่รับทราบทั่วกันแล้วนั้น
คณาจารย์ผู้ห่วงใยในสิทธิเสรีภาพของปวงชนชาวไทย และนักวิชาการผู้เป็นเพื่อนร่วมวิชาชีพของอาจารย์สุธาชัย ขอแสดงความกังวลต่อการใช้ข้อหาดังกล่าว ในการออกหมายจับและควบคุมตัวอาจารย์สุธาชัยดังนี้
ประการแรก แม้เจ้าหน้าที่ตำรวจจะมีอำนาจดำเนินการดังกล่าวตาม พ.ร.ก. แต่ก็เป็นที่ปรากฏชัดเช่นกันว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจ ทั้งไม่มีและไม่เคยเปิดเผยหลักฐานชัดเจนหนักแน่นใดๆ อันเป็นองค์ประกอบของฐานความผิดดังกล่าว ที่เป็นเหตุของข้อกล่าวหารุนแรงข้างต้น ให้ผู้ถูกกล่าวหาและสาธารณชนได้รับรู้ การกระทำดังกล่าวนับเป็นการลิดรอนคุกคามเสรีภาพของบุคคล และโดยเฉพาะในกรณีของอาจารย์สุธาชัย ยังเป็นการคุกคามเสรีภาพทางวิชาการอีกด้วย
ประการที่สอง แม้การใช้อำนาจตามความใน พ.ร.ก.ดังกล่าว เป็นไปเพื่อการระงับสถานการณ์ฉุกเฉิน เกี่ยวข้องกับความมั่นคงของบ้านเมือง และนำสังคมไทยกลับสู่ภาวะปกติ แต่การใช้อำนาจดังกล่าวอย่างครอบคลุมไม่แยกแยะ ปราศจากหลักฐานความผิดที่หนักแน่นชัดเจน ทั้งในกรณีของอาจารย์สุธาชัย และกรณีอื่นๆ มิอาจสร้างสังคมแห่งการปรองดองสมานฉันท์ดังที่รัฐบาลและ ศอฉ. มุ่งหวัง และยังอาจนำไปสู่การเพิ่มความหวาดระแวง ความกลัว ความเกลียดชัง และความโกรธแค้น ในสังคมไทยให้ขยายตัว ทวีความเข้มข้นแหลมคมมากขึ้น อันยืนยันได้จากประสบการณ์ทางสังคมและการเมืองของไทยเองในช่วงทศวรรษ 2500-2520
ทั้งนี้ คณาจารย์ฯและนักวิชาการผู้เป็นเพื่อนร่วมวิชาชีพของอาจารย์สุธาชัย มีความเห็นว่า ทั้งในกรณีของอาจารย์สุธาชัยและกรณีอื่นๆ ที่ไม่ปรากฏหลักฐานชัดแจ้ง สมควรที่เจ้าหน้าที่ตำรวจปล่อยตัว คืนเสรีภาพให้แก่ผู้ถูกกล่าวหาโดยเร็ว
อนึ่ง คณาจารย์ฯและนักวิชาการผู้เป็นเพื่อนร่วมวิชาชีพของอาจารย์สุธาชัย ใคร่ขอเสนอไปยังรัฐบาลและ ศอฉ. ให้เร่งพิจารณายกเลิกการใช้ พ.ร.ก.ฉบับนี้ ซึ่งล่อแหลมต่อการละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนจนเกินขอบเขต เพื่อให้การจัดการต่อผู้กระทำผิดเป็นไปตามกระบวนการยุติธรรมดังที่ปรากฏใน รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
๘. จดหมายเปิดผนึกถึงอธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เรื่อง ขอความกรุณาตรวจสอบข้อเท็จจริงและทวงถามความเป็นธรรมต่อรัฐบาลในกรณีการจับกุมคุมขัง ผศ.ดร.สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ ภายใต้ พรก. บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548
เรียน ท่านอธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ข้าพเจ้าผู้มีรายนามต่อไปนี้ เป็นอดีตคณาจารย์ คณาจารย์ เจ้าหน้าที่ ศิษย์เก่า และนิสิตปัจจุบันของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้รู้สึกเศร้าสลดใจกับการกระทำของรัฐบาลและ ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.)ในการจับกุมคุมขัง ผศ.ดร. สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ภายใต้ พรก. บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 โดยปราศจากข้อหา
ข้าพเจ้าใคร่ขอความกรุณาจากท่านอธิการบดี ในฐานะผู้บังคับบัญชา และผู้บริหารสูงสุดของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โปรดติดตามตรวจสอบข้อเท็จจริงและทวงถามความเป็นธรรมต่อการจับกุมคุมขัง ผศ.ดร.สุธาชัยในครั้งนี้ด้วย ทั้งนี้เพื่อคงไว้ซึ่งเสรีภาพทางการเมืองของพลเมืองไทยในระบอบประชาธิปไตย โดยเฉพาะเสรีภาพในการแสดงออกซึ่งความคิดเห็นที่แตกต่างจากรัฐบาล ที่ไม่ได้หมายความว่าต้องเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐ และเสรีภาพทางวิชาการในฐานะที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นสถาบันการศึกษาที่มีชื่อเสียงในประเทศไทยและระดับนานาชาติ
ข้าพเจ้าหวังว่าคงได้รับความกรุณาจากท่านอธิการบดีในครั้งนี้
คณาจารย์และอดีตคณาจารย์
เจ้าหน้าที่และอดีตเจ้าหน้าที่
ศิษย์เก่าและนิสิตปัจจุบัน
๙. จดหมายเปิดผนึกถึงประธานสภาคณาจารย์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เรื่อง ขอความกรุณาตรวจสอบข้อเท็จจริงและทวงถามความเป็นธรรมต่อรัฐบาลในกรณีการจับกุมคุมขัง ผศ.ดร.สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ ภายใต้ พรก. บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548
เรียน ประธานสภาคณาจารย์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ข้าพเจ้าผู้มีรายนามต่อไปนี้ เป็นอดีตคณาจารย์ คณาจารย์ เจ้าหน้าที่ ศิษย์เก่า และนิสิตปัจจุบันของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้รู้สึกเศร้าสลดใจกับการกระทำของรัฐบาลและ ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ในการจับกุมคุมขัง ผศ.ดร. สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ภายใต้ พรก. บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 โดยปราศจากข้อหา
ข้าพเจ้าใคร่ขอความกรุณาจากท่านประธานสภาจารย์ ในฐานะผู้เป็นประธานแห่งชุมชนวิชาการแห่งนี้ โปรดติดตามตรวจสอบข้อเท็จจริงและทวงถามความเป็นธรรมต่อการจับกุมคุมขัง ผศ.ดร.สุธาชัยในครั้งนี้ด้วย ทั้งนี้เพื่อคงไว้ซึ่งเสรีภาพทางการเมืองของพลเมืองไทยในระบอบประชาธิปไตย โดยเฉพาะเสรีภาพในการแสดงออกซึ่งความคิดเห็นที่แตกต่างจากรัฐบาลที่ไม่ได้หมายความว่าต้องเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐ และเสรีภาพทางวิชาการในฐานะที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นสถาบันการศึกษาที่มีชื่อเสียงในประเทศไทยและระดับนานาชาติ
ข้าพเจ้าหวังว่าคงได้รับความกรุณาจากท่านประธานสภาคณาจารย์ในครั้งนี้
คณาจารย์และอดีตคณาจารย์
เจ้าหน้าที่และอดีตเจ้าหน้าที่
ศิษย์เก่าและนิสิตปัจจุบัน
เรื่อง ขอความกรุณาตรวจสอบข้อเท็จจริง และทวงถามความเป็นธรรมต่อรัฐบาลในกรณีการจับกุมคุมขัง ผศ.ดร.สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ ภายใต้ พรก. บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548
เรียน ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
ข้าพเจ้าผู้มีรายนามต่อไปนี้ เป็นอดีตคณาจารย์ คณาจารย์ เจ้าหน้าที่ ศิษย์เก่า และนิสิตปัจจุบันของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้รู้สึกเศร้าสลดใจกับการกระทำของรัฐบาลและศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ในการจับกุมคุมขัง ผศ.ดร. สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ภายใต้ พรก. บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 โดยปราศจากข้อหา
ข้าพเจ้าใคร่ขอความกรุณาจากท่านประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ในฐานะผู้เป็นประธานแห่งหน่วยงานที่ถูกจัดตั้งขึ้นตามเจตนารมย์ของรัฐธรรมนูญที่ยึดหลักประชาธิปไตย ได้โปรดติดตามตรวจสอบข้อเท็จจริงและทวงถามความเป็นธรรมต่อการจับกุมคุมขัง ผศ.ดร.สุธาชัยในครั้งนี้ด้วย ทั้งนี้เพื่อคงไว้ซึ่งเสรีภาพทางการเมืองของพลเมืองไทยในระบอบประชาธิปไตย โดยเฉพาะเสรีภาพในการแสดงออกซึ่งความคิดเห็นที่แตกต่างจากรัฐบาล ที่ไม่ได้หมายความว่าต้องเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐ และเสรีภาพทางวิชาการในฐานะที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นสถาบันการศึกษาที่มีชื่อเสียงในประเทศไทยและระดับนานาชาติ ซึ่งตัวท่านเองก็เคยเป็นทั้งคณาจารย์ และผู้บริหารระดับสูงของมหาวิทยาลัยแห่งนี้ ไม่ว่าจะในตำแหน่งคณบดีคณะรัฐศาสตร์ ผู้อำนายการสถาบันวิจัยสังคม ผู้อำนวยการศูนย์สันติวิธี และรองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ
ข้าพเจ้าหวังว่าคงได้รับความกรุณาจากท่านประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติในครั้งนี้
คณาจารย์และอดีตคณาจารย์
เจ้าหน้าที่และอดีตเจ้าหน้าที่
ศิษย์เก่าและนิสิตปัจจุบัน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น