คดี ‘บูท’ ทำ ‘มาร์ค’มึนตึ๊บ
ต้องถือว่าขณะนี้รัฐบาลไทยตกอยู่ในสภาพระหว่างเขาควายที่สาหัสสากรรจ์ที่สุด
เพราะเป็นเขาควายของระดับมหาอำนาจโลก รัสเซีย และสหรัฐอเมริกา
จากเหตุเพียงแค่เรื่องของการส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดน กรณีของคดีนายวิคเตอร์ บูท
ที่ทางรัฐบาลสหรัฐต้องการให้ประเทศไทยส่งตัวไปให้ในฐานะผู้ร้ายข้ามแดน
ในขณะที่รัฐบาลรัสเซีย ไม่ต้องการให้มีการส่งตัวไปให้สหรัฐอเมริกา
แต่เพราะรัฐบาลไทยที่มีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี
และมีนายกษิต ภิรมย์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
ซึ่งตลอดระยะเวลาที่เป็นรัฐบาล ดูเหมือนว่ากระบวนการทางการทูต
และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของไทยกับมิตรประเทศต่างๆ นั้น
มีลักษณะขาดๆ เกินๆ มาโดยตลอด
จะเพราะความไม่ประสีประสา เพราะการทำงานไม่เป็น
หรือเพราะใครบางคนมุ่งแต่จะใช้อำนาจหน้าที่
เพื่อให้บรรลุ Hidden Agenda ของตนเองก็แล้วแต่
แต่ที่แน่ๆคือประเทศไทยตกอยู่ในสถานการณ์ Weak point อยู่เป็นประจำ อย่างเช่น
กรณีของนายวิคเตอร์ บูท ในขณะนี้นั่นเอง
วิคเตอร์ บูท ถูกเรียกขานว่า เป็น “พ่อค้าขายความตาย” หรือ Merchant of Death
ซึ่งเป็นชื่อหนังสือที่เขียนโดย ดักลาส ฟาราห์ และสตีเฟ่น บราวน์
บูทถูกกล่าวหาจากองค์การสหประชาชาติ สหรัฐอเมริกาและยุโรปว่า
เป็นผู้ขายอาวุธสงครามรายใหญ่ที่สุดของโลก ที่ขายอาวุธให้กับ “ลูกค้า”
ที่เป็นกลุ่มก่อการร้ายทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นอาฟกานิสถาน โคลัมเบียหรือเลบานอน
และขายอาวุธให้กับประเทศในอาฟริกาหลายประเทศ เช่น
เซียร่า ลีโอน ไลบีเรีย ซูดาน คองโก รวันดา ฯลฯ
ซึ่งอาวุธเหล่านี้ ถูกนำไปใช้ในลักษณะของความรุนแรงและการก่อการร้าย
และเพราะนายบูทเคยเป็นเคจีบี มาก่อน จึงทำให้มีการตั้งข้อสังเกตุว่า
นี่เป็นเหตุผลลึกๆเหตุผลหนึ่งที่ทำให้รัฐบาลสหรัฐต้องการตัวนายบูท มาเป็นพิเศษใช่หรือไม่?
แม้ว่านายบูทอาจจะไม่ได้เป็นเคจีบีแล้ว เพราะหลังสหภาพโซเวียตล่มสลาย
เขาซื้อเครื่องบินแอนโตนอฟ- 8 สี่ลำ จากกองทัพ
มาดัดแปลงเป็นเครื่องบินขนส่งสินค้าทางอากาศ และตั้งบริษัท Aircess ขึ้น
โดยมีสำนักงานใหญ่อยุ่ที่ สหรัฐอาหรับอามิเรสต์ หรือ ยู.เอ.อี.
แต่แน่นอนว่า ข้อมูลต่างๆที่นายบูทเคยมี ย่อมยังคงมีอยู่ในตัวของนายบูท
ที่สำคัญบริการขนส่งทางอากาศของบูทเหนือกว่า เฟดเดกซ์ ดีเอชแอล
หรือยูพีเอสตรงที่ต้นทุนต่ำกว่า ไม่มีข้อจำกัดว่าห้ามขนสินค้าประเภทไหน และส่งถึงทุกที่
ที่ลูกค้าต้องการ ไม่ว่าจะทุรกันดาร และเสี่ยงภัยแค่ไหน
และที่ไม่ธรรมดาก็คือ บริการของนายบูทไม่เลือกฝ่ายเลือกข้าง แม้แต่องค์กรสหประชาชาติ
แม้แต่รัฐบาลสหรัฐ หรือแม้แต่คนระดับรองประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกาบางคน
ก็เคยใช้บริการขนส่งทางอากาศของนายบูทมาแล้วทั้งนั้น
อย่างไรก็ตามสุดท้ายนายบูทก็ยังคงถูกกล่าวหาว่า นอกจากจะรับจ้างขนสินค้าแล้ว
ยังรับจัดหาสินค้าคือ อาวุธสงครามด้วย นั่นเป็นที่มาของสมญานาม พ่อค้าขายความตาย
และถูกล่าตัวจากรัฐบาลสหรัฐฯ และหลายประเทศในยุโรป
ถึงขนาดที่เรื่องราวของบูทถูกฮอลลีวู้ด นำไปสร้างเป็นภาพยนตร์ชื่อ Lord of War
ซึ่งนิโคลัส เคจ รับบทเป็นพ่อค้าอาวุธสงคราม ชื่อ ยูริ โอลอฟ ออกฉายเมื่อปี 2005
และฟาราห์ ผู้เขียนหนังสือพ่อค้าขายความตาย เคยให้สัมภาษณ์ว่า
การที่บูท สามารถขนอาวุธจำนวนมาก บินออกจากรัสเซียได้
น่าจะต้องมีการรู้เห็นเป็นใจจากผู้มีอำนาจหรือ กลไกของรัฐ
เพราะจะเป็นไปได้หรือที่ทางรัฐบาลรัสเซียจะไม่รู้เรื่องรู้ราวเกี่ยวกับนายบูท
ในเมื่อทั่วโลกรู้เรื่องของบูทขนาดเอาไปสร้างเป็นหนังฮอลีวูดฉายไปทั่วโลกขนาดนั้น
อย่างไรก็ตามในเว็บไซต์ victorbout.com บูทระบุว่า
เขาถูกใส่ร้ายจากคู่แข่งในธุรกิจขนส่งทางอากาศซึ่งไม่สามารถแข่งขันกับเขาได้
เขาบอกว่า ไม่ได้เป็นเคจีบี แต่รับราชการในกองทัพ ในฐานะล่าม
และการที่ธุรกิจส่วนใหญ่ของเขาอยู่ที่อาฟริกา
เพราะแองโกลา เป็นประเทศเดียว
ที่ยอมออกใบอนุญาตการบินพาณิชย์ให้กับเครื่องบินของเขา
ซึ่งเป็นเครื่องบินทหาร
ประเทศไทยเข้ามาเกี่ยวข้องกับเรื่องราวของนายบูท ก็เพราะว่านายบูทถูกจับ
ที่โรงแรมโซฟีเทล สีลม เมื่อวันที่ 6 มีนาคม ปีที่แล้ว
โดยถูกเจ้าหน้าที่หน่วยปราบปรามยาเสพย์ติดของ สหรัฐฯ หรือ DEA
ส่งสายลับ 2 คนอ้างตัวว่า เป็นสมาชิกขบวนการ ฟาร์กในโคลอมเบีย
ซึ่งหาเงินจากการขายโคเคน
แล้วเอาเงินไปซื้ออาวุธ ต่อสู้กับรัฐบาลโคลอมเบีย ไปล่อซื้ออาวุธจากบูท
การติดต่อล่อซื้อนี้ ทำกันมาตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2007 ผ่านทางโทรศัพท์
สายลับทั้งสอง พยายามล่อให้บูทออกจากมอสโคว์มาพบกัน
เพราะตั้งแต่สหประชาชาติเผยแพร่รายงานเมื่อเดือนธันวาคม ปี 2000 ที่ระบุว่า
เขาคือ ผู้ค้าอาวุธรายใหญ่ของโลก และขึ้นบัญชีเป็นผู้ต้องห้ามในการเดินทางข้ามประเทศ
บูทก็ระมัดระวังตัว ไม่เดินทางไปไหน จะใช้ชีวิตอยู่แต่ในรัสเซีย
แต่ครั้งนี้ เหมือนจะเป็นชะตาลิจขิต
เพราะบูทยอมมาพบสายลับทั้ง 2 คนที่กรุงเทพ จนถูกจับตัวในที่สุด
ในเอกสารที่อัยการสหรัฐฯยื่นฟ้องต่อ ศาล นิวยอร์ก หลังบูทถูกจับ ระบุว่า
ในระหว่างการพบกับสายลับ DEA ที่ปลอมตัวเป็นสมาชิกฟาร์ก เป็นเวลา 2 ชั่วโมง
บูทบอกกับสายลับทั้งสองว่า จะขาย
จรวดแซมให้ 700-800 ลูก
กระสุนปืนอีกนับล้านๆนัด
ปืน อาร์ก้า -47
เครื่องบินขนส่ง 2 ลำ และ
เครื่องบินที่บังคับด้วยคอมพิวเตอร์ โดยไม่ต้องใช้นักบิน
เพื่อทิ้งระเบิดทำลายสถานีเรดาร์ที่สหรัฐฯสร้างไว้ในโคลอมเบีย
ซึ่งบูทต่อสู้ว่า เขาเป็นนักธุรกิจ เดินทางเข้าไทยเพื่อเจรจาขายเครื่องบิน
และถูกเข้าหน้าที่สหรัฐฯและไทยหลายคนเข้าจับกุม
และแจ้งข้อหาก่อการร้าย
เขาถูกเกลี้ยกล่อมให้เดินทางไปขึ้นศาลที่สหรัฐฯ แต่ไม่ยอม
ส่วนข้อหาที่ว่า เขาขายอาวุธให้กับขบวนการ ฟาร์ก ก็ไม่เป็นความจริง
ในเว็บไซต์ของเขา บูทยังอ้างว่า ตอนที่เจ้าหน้าที่ DEA จับตัวเขานั้น
ไม่มีหมายจับมาด้วย หมายจับเพิ่งจะมาถึงหลังจากนั้น 4 วัน
ศาลชั้นต้นตัดสินเมื่อวันที่ 11 สิงหาคมปีที่แล้ว ว่า คดีนี้เป็นคดีการเมือง
เพราะขบวนการ ฟาร์ก เป็นขบวนการทางการเมือง
จึงต้องห้าม ตาม พรบ.ส่งผู้ร้ายข้ามแดน พ.ศ. 2472 นอกจากนี้
ฝ่ายโจทก์ไม่มีหลักฐานมายืนยันว่า
จำเลยร่วมมือกับขบวนการฟาร์ก มีแต่เพียงข้อกล่าวหาลอยๆ จึงยกคำร้อง
เมื่อสหรัฐฯไม่พอใจ แรงกดดันจึงเกิดขึ้นกับประเทศไทยทันที
โดยมีรายงานข่าวว่า
สหรัฐฯ ได้มีการส่งหนังสือถีงนายดอน ปรมัตถ์วินัย เอกกอัครราชทูตไทยประจำสหรัฐฯ
ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการนำตัวนายบูทไปดำเนินคดี
ขณะที่สมาชิกรัฐสภาสหรัฐ ฯกลุ่มหนึ่งเตือนนายดอนว่า ถ้าไทยไม่ส่งตัวนายบูทกลับไป
อาจจะกระทบกระเทือนความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศ
แน่นอนว่านั่นคือบุคลิกของสหรัฐฯที่ชอบแสดงท่าที่คุกคามชาติที่เล็กกว่า
เพื่อปกป้องประโยชน์ของตน แต่มักจะใช้การกระทำต่อฝ่ายบริหาร
โดยจะไม่ใช่การแทรกแซงกระบวนการยุติธรรมหรือกระบวนการศาลของประเทศนั้นๆโดยตรง
อย่างไรก็ตาม เมื่อขึ้นสู่ในชั้นของอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์มีคำวินิจฉัยเห็นว่า
ไม่ใช่คดีการเมือง แต่เป็นคดีอาญา
เพราะนายบุทไม่ใช่สมาชิกขบวนการฟาร์ค
ซึ่งเป็นกลุ่มการเมืองที่ติดอาวุธต่อสู้กับรัฐบาลโคลอมเบีย
แต่นายบูทถูกตั้งข้อหาว่า ขายอาวุธให้ขบวนการฟาร์ค
นอกจากนั้น
รัฐบาลโคลอมเบีย ซึ่งเป็นคู่ขัดแย้งกับขบวนการฟาร์ก ไม่ได้เป็นผู้ขอให้ส่งตัว
แต่เป็นรัฐบาลสหรัฐฯ ซึ่งไม่ใช่คู่กรณีของฟาร์ก
จึงไม่เข้าข่ายต้องห้ามตามกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดน
อารมณ์ของ 2 ประเทศพลิกกลับทันที
โดยครั้งนี้กลายเป็นฝ่ายรัสเซียที่ผิดหวังบ้าง และฝ่ายสหรัฐฯ กลับมาเป็นฝ่ายดีใจแทนบ้าง
แต่ประเทศไทยกลับซวย
เพราะก่อนหน้าเกิดกรณีนายศิริโชค โสภา ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์
มุดคุกไปหานายบูท จนกลายเป็นเรื่องอื้อฉาว
ซ้ำร้ายสหรัฐฯได้มีการส่งเครื่องบินมารอรับตัวนายบูทในวันที่จะมีการตัดสินคดี
จนถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า สหรัฐฯรู้ได้อย่างไร จึงมีการส่งเครื่องบินมารอ
ยิ่งเมื่อศาลอาญามีคำสั่งยกคำร้องสำนวนคดีที่ 2
ที่พนักงานอัยการขอให้ส่งตัวนายบูท พ่อค้าอาวุธชาวรัสเซีย
เป็นผู้ร้ายข้ามแดนไปดำเนินคดีที่สหรัฐอเมริกา
ส่งผลให้นายบูท ต้องถูกส่งตัวไปดำเนินคดีที่สหรัฐในฐานะผู้ร้ายข้ามแดน
ตามคำพิพากษาของศาลอาญาในสำนวนคดีที่ 1 นั้น
รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ ก็ยิ่งเข้าสู่สภาวะ Dilemma
หรือเขาควายของ 2 มหาอำนาจมากขึ้นไปอีก
เพราะสำนักข่าวเอเอฟพีรายงานเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม ว่า
นายเซรเกย์ ลาฟรอฟ รัฐมนตรีต่างประเทศรัสเซีย เปิดเผยว่า
รัสเซียไว้วางใจในฝ่ายตุลาการของประเทศไทยในการดูแลคดีของวิคเตอร์ บูท
และไม่ต้องการที่จะเข้าไปแทรกแซงกระบวนการยุติธรรมของไทย
และเชื่อว่า จะไม่มีใครพยายามที่จะเข้าไปโน้มน้าวเรื่องดังกล่าว
นอกจากนี้
นายลาฟรอฟ ยังหวังว่า ข้อความที่สหรัฐส่งถึงนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี
จะไม่ส่งผลต่อชะตากรรมของนายวิคเตอร์ บูท
และนายลาฟรอฟ ยังได้ปฏิเสธข่าวที่ว่า
มีการตกลงแลกเปลี่ยนกันระหว่างรัฐบาลสหรัฐกับรัสเซียกรณีที่
สหรัฐต้องการตัวนายวิคเตอร์ บูท ไปดำเนินคดีก่อการร้าย
โดยยืนยันว่า ความคิดที่ว่า รัสเซียและสหรัฐได้ตกลงกันบางอย่างเกี่ยวกับกรณีนี้นั้น
ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรมเลย
ส่วน นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ซึ่งอยู่ระหว่างการร่วมประชุมผู้นำเอเชีย-ยุโรป (อาเซม) ครั้งที่ 8
ที่กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยี่ยม กล่าวว่า ได้มีโอกาสพบกับ รัฐมนตรีต่างประเทศรัสเซีย
และได้แจ้งถึงกระบวนการพิจารณาคดีและข้อกฎหมายคดีที่สหรัฐฟ้องนายวิคเตอร์ บูท
ในสำนวนคดีที่ 2 ข้อหาฉ้อโกงและฟอกเงิน ซึ่งศาลได้ยกคำร้อง ดังนั้น
ต้องดูว่ากระบวนการอุทธรณ์จะใช้เวลานานแค่ไหน
หากเกินวันที่ 20 พฤศจิกายนนี้ ซึ่งครบกำหนด 3 เดือนที่จะต้องส่งตัวนายวิคเตอร์ บูท
ไปให้สหรัฐฯ ตามคำพิพากษาของศาลในคดีแรก ก็ต้องยื่นต่อศาล
เพื่อขอขยายเวลาในการส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดน
“รัสเซียไม่พอใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น และไม่เกี่ยวกับประเทศไทย
เพราะทราบถึงการตัดสินใจเรื่องนี้ว่า
ได้ดำเนินการบนพื้นฐานของข้อกฎหมายและคำนึงถึงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ยืนยันว่า
รัฐบาลไทยจะทำให้ดีที่สุด เพื่อไม่ให้กระทบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
และการที่มีหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบ ถ้าเลือกได้ ก็คงไม่มีใครอยากอยู่ในสถานการณ์แบบนี้"
นายอภิสิทธิ์ กล่าว
เรื่องของวิคเตอร์ บูท ที่ถูกศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ส่งตัวกลับไปให้ สหรัฐฯ
สุดท้ายจะจบลงอย่างไร เป็นเรื่องที่ต้องติดตามกันต่อไป
เพราะไม่ว่าอย่างไรข้อสังเกตที่ว่า
อาจะเป็นเรื่องการเมืองระหว่างประเทศ ที่ รัฐบาลไทยถูก รัฐบาลอเมริกันกดดัน
และทำให้รัฐบาลรัสเซียไม่พอใจ เป็นเรื่องที่ยากจะปฏิเสธ
งานนี้ที่เจ็บตัวก็คือประเทศไทย
http://www.bangkok-today.com/node/7460
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น