"ดร คณิต วิพากษ์ ความเชื่อถือในองค์กรยุติธรรมถึงจุดศูนย์" ไม่ใช่ ‘Double Standard’แต่ไม่มีมาตรฐาน
คณะกรรมการชุดนี้มีภารกิจในการตรวจสอบและค้นหาความจริงโดย เฉพาะ อย่างยิ่งความรุนแรงทางการเมือง การละเมิดสิทธิมนุษยชน การสูญเสียชีวิต บาดเจ็บทาง ร่างกายและจิตใจ ความเสียหายทางทรัพย์สิน และความเสียหายอ่านๆ ตลอดถึงประเด็นที่เป็นรากเหง้าของปัญหาความขัดแย้งและเหตุการณ์ความรุนแรงในประเทศเพื่อให้ปรากฏเป็นที่ประจักษ์และสร้างความเข้าใจร่วมกัน
เมื่อไม่นานมานี้ "กองบรรณาธิการวารสารนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์" สัมภาษณ์พิเศษ ศาสตราจารย์ ดร.คณิต ณ นคร ประธาน คอป. เพื่อถ่ายทอดเรื่องราวการทำงานในคณะกรรมการชุดนี้ รวมทั้ง มุมมองของต่อกระบวนการยุติธรรมของ ประเทศไทย
"มติชนออนไลน์ " นำบทสัมภาษณ์ทางวิชาการ มานำเสนอดังนี้
ผู้สัมภาษณ์ : หน้าที่หนึ่งของ คอป. คือตรวจสอบความจริงของเหตุการณ์ความไม่สงบในช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553 อาจารย์มีวิธีตรวจสอบอย่างไรว่าข้อมูลที่ได้มานั้นถูกต้องและเชื่อถือได้
ศ.ดร.คณิต : ผมได้ตั้งอนุกรรมการเกี่ยวกับ คอป. ขึ้นสามชุด ชุดหนึ่งคือชุดตรวจสอบความจริงของเหตุการณ์เมษายน-พฤษภาคม 2553 โดยมีคุณสมชาย หอมลออ เป็นประธาน คุณมานิจ สุขสมจิตเป็นรองประธานและมีคณะกรรมการ อนุกรรมการอื่นๆ อีกหลายท่าน มีท่านหนึ่งเป็นอดีตอัยการ อดีตรองอัยการสูงสุด ผมก็ดึงเข้ามาช่วยคณะกรรมการชุดนี้ทำงานกันอย่างขะมักเขม้น และไปพบบุคคลต่างๆ เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูล
เราใช้วิธีการที่เรียกว่าไม่เป็นรูปแบบที่เป็นทางการมากนักคือใช้วิธีไปพบ ผมคิดว่าวิธีที่เป็นรูปแบบอาจทำให้ได้ข้อเท็จจริงที่ไม่ตรงเท่าไร วิธีนอกรูปแบบก็คิดว่าน่าจะดี และเนื่องจากเหตุการณ์ครั้งนี้เกิด หลายที่เช่น ที่ราชประสงค์ ที่บ่อนไก่ ที่ดินแดง ที่วัดปทุมวนาราม รวมทั้งบางคนที่เสียชีวิตในเหตุการณ์นี้คือเสธ.แดง และนักข่าวที่เป็นช่างภาพของญี่ปุ่นคนหนึ่งและอิตาลีคนหนึ่ง
เพราะฉะนั้นในอนุกรรมการชุดนี้ ยังแยกย่อยออกไปดูจุดต่างๆ ที่ผมเรียนมา แต่งานยังไม่เรียบร้อย เราจะไม่ผลีผลามสรุปว่าข้อเท็จจริงเป็นยังไง เราจะต้องตรวจกันละเอียด และทางรัฐบาลก็ให้เวลาทั้งหมดไม่เกินสองปี
เราก็อยากทำให้เร็ว เราเข้าใจดีว่าการทำงานนี้มันใช้ภาษีของราษฎร เราตระหนักใน เรื่องนี้เราก็จะพยายามทำให้ไม่สูญเสียค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นจริงๆ
นอกจากนั้นเราก็ได้รับความร่วมมือจากต่างประเทศหลายประเทศ ทั้งข้อมูลและการส่งผู้เชี่ยวชาญมาช่วยในเรื่องที่คณะกรรมการหรือคนไทยไม่มีความชำนาญ เราได้รับความร่วมมือจากทูตสวิสเซอแลนด์ประจำ ประเทศไทยและทูตอื่นๆ หลายแห่ง และการหาความจริงนี้เราไม่ได้ทำ คนเดียว เราทำโดยร่วมกับองค์กรอื่นทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ก็คงจะต้องใช้เวลาอีกพอสมควร แล้วเราก็จะพยายามไม่ทำให้ผิดพลาด
นี่ก็เป็นประเด็นสำคัญเพราะว่าทางประชาชนทั้งหลายก็ให้ความสนใจ เรื่องนี้ค่อนข้างมาก แต่เราตรวจสอบนี้ก็ไม่ได้หมายความรวมถึงว่าเราจะตรวจสอบไปถึงการที่จะลงโทษซึ่งกระบวนการยุติธรรมทำหน้าที่อยู่โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ศาล ฝ่ายตำรวจ หรือกรมสอบสวนคดีพิเศษ รวมทั้งอื่นๆ อีก เรามุ่งไปสู่การป้องกันมากกว่าคือ ถ้าความจริงปรากฏอย่างไรแล้ว เราก็จะตีแผ่ให้ประชาชนรับรู้
คือ เราถือว่า ‘Public Accountability’หรือความรับผิดชอบต่อประชาชนมาก่อน เราไม่ได้เป็นเครื่องมือให้ใคร คณะกรรมการเราก็จะทำงานอย่างที่ผมเรียนก็จะขอใช้เวลาอีกตามสมควร และเมื่อความจริงเกิดขึ้นแล้วเราก็จะมุ่งไปที่ว่าแล้วเราจะป้องกันอย่างไรไม่ให้เกิดขึ้น อีกในอนาคตคือ มองในด้าน ‘Prevention’ มากกว่า ส่วนการที่ข้อเท็จจริงจะไปลงเอย จะไปดำเนินคดีกับใครอย่างไรมัน ไม่ใช่ภาระของเรา
ผู้สัมภาษณ์ : ในอนุกรรมการสามชุดที่อาจารย์ตั้งมานั้น ชุดไหนที่เป็นชุดกลั่นกรองข้อมูลที่ได้มาว่าถูกต้องเพื่อใช้เป็นหลักฐานเวลาที่จะนำมาสรุปเวลาที่อาจารย์นำมาทำความเห็น
ศ.ดร.คณิต : ความจริงคนที่กรองจริงๆ ก็คือคณะกรรมการใหญ่ ก็คือเขาจะไปทำมาแล้วก็ต้องรายงานเข้ามา และมาปรึกษาหารือกันว่าฟังได้ไม่ได้ยังไง แล้วผมก็คิดว่าคงหาได้ มั่นใจว่าอย่างนั้น แล้วอีกสองชุดคือชุดเยียวยา เหยื่อที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ไม่สงบ ก็มีคุณหมอรณชัย คงสกนธ์ เป็นประธานอนุกรรมการ คณะนี้ก็ทำไปได้เยอะแล้ว การเยียวยานี่เรามุ่งไปที่การเยียวยาทางด้านจิตใจ ซึ่งเราคิดว่าในด้านทรัพย์สิน รัฐเขาก็เข้าไปดูแลแล้ว
เมื่อตอนที่ฟอร์มงานใหม่ๆ ผมก็ได้ไปที่เชียงใหม่ได้ไปฟังและเมื่อวันที่ 30 ที่ผ่านมาก็ได้ไปที่ขอนแก่น สำหรับอนุกรรมการชุดนี้ได้รับความร่วมมือจากทั้งภาคเอกชนและภาคราชการค่อนข้างดีทีเดียวโดยเฉพาะอย่างยิ่งกรมสุขภาพจิตที่ทุ่มเทลงไปทำงาน เนื่องจากกรมสุขภาพจิตมีเครือข่ายอยู่ทั่วประเทศก็ดำเนินการไปได้เยอะ
สิ่งที่เรา จะต้องสนับสนุนเขาก็คือ เราจะพยายามพูดกับรัฐบาลเพื่อที่จะให้งบประมาณในการดำเนินงาน วันที่ผมไปอธิบดีกรมสุขภาพจิตก็ไปด้วยเราก็ได้แบ่งสายไปเยี่ยมผู้ที่เป็นเหยื่อ บางคนถูกยิงกระสุนยังฝังในอยู่เลยยังไม่ได้ผ่าออก ได้ความว่าไม่กล้าไปพบเจ้าพนักงานเพราะกลัวว่าจะถูกกล่าวหาก็เป็นเรื่องที่เราจะต้องเข้าไปดูแล แล้วเราก็ได้ไปเยี่ยมผู้ต้องขังที่อยู่ในเรือนจำ อันนี้ผมไม่ได้ไปแต่เขามารายงานให้ฟัง ผมประมวลดูก็เห็นว่าคนที่ต้องขังอยู่ในเรือนจำบางคนไม่มีความจำเป็นต้องเอาไว้เลย อันนี้ก็เป็นจุดหนึ่งที่ผมนำมาเขียนบทความและเสนอแนะรัฐบาลว่าให้ลงไปตรวจสอบดูว่าถ้าคนไหนไม่จำเป็นต้องขังเราก็น่าจะปล่อยหรือปล่อยชั่วคราวก็ยังได้
จริงๆ ระเบียบอันนี้อยู่ในระเบียบสำนักงานอัยการสูงสุดที่ได้วางเอาไว้ตั้งแต่ตอนที่ผมอยู่ในตำแหน่ง แต่ดูเหมือนว่าทางอัยการไม่ค่อยจะขับเคลื่อนเท่าที่ควร คือเราประกาศว่าสำนักงานอัยการมีหน้าที่รักษาประโยชน์รัฐ คุ้มครองสิทธิ ทำให้เสมอภาคให้เกิดความเชื่อถือแก่ประชาชน แต่เราก็นั่งอยู่เฉยๆ คือ ระเบียบมีแล้วแล้วก็มีขั้นตอนทั้งหมดว่าเราจะรวบรวมข้อเท็จจริงอย่างไร แต่คนในกระบวนการยุติธรรมของเราชอบอยู่สบายๆ ไม่ลงไปดู
อันนี้มันก็เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับจริยธรรมของนักกฎหมาย คือนักกฎหมายที่มีภารกิจแล้วก็ทำเฉยๆ นี่มันก็ไม่ถูก คือผมมองว่าจริยธรรมนักกฎหมายก็คือหลักวิชาชีพไม่ใช่สิ่งล่องลอยแต่มันคือการปฏิบัติภารกิจให้ถูกต้องเหมาะสม ผมก็คงต้องใช้สิ่งที่เล่าเรียนมามาเสนอแนะ สิ่งที่เสนอไปทั้งหลายทั้งปวงไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นใหม่ทั้งสิ้น เป็นของที่มีอยู่แล้ว
แม้กระทั่งก่อนหน้านี้เราเสนอเรื่องการตีตรวจ ซึ่งถ้าเราดูกฎหมายราชทัณฑ์ของ เราเรื่องการจองจำอะไรต่างๆ กับ Minimum Standard Rules ของ UN มันไปด้วยกันเลย แสดงว่ากฎหมายของเรามันเกิดขึ้น ตั้งแต่ พ.ศ. 2479 มีความทันสมัยมาก แต่คนของเราไม่ทันสมัยตาม จริงๆ แล้วคือว่าเรายังไม่ค่อยเข้าใจในเรื่องนี้เท่าไร อย่าว่าแต่กฎหมายราชทัณฑ์เลย ซึ่งก็เพิ่งจะมีการศึกษากันเมื่อเร็วๆ นี้ และมหาวิทยาลัยที่ศึกษาเรื่องนี้เป็นที่แรกก็คือมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ซึ่งตอนนี้เราไปให้ความรู้ในชั้นปริญญาโทด้วย
จริงๆ แล้วคนที่เข้าไปอยู่ในคุก เขามองเป็นประธานของสิทธิ แต่เราก็มักจะมองว่าคนที่เข้าไปอ ยู่ในลักษณะนี้เป็นกรรม ซึ่งจริงๆ เป็นกรรมไม่ได้ ในสมัยก่อนอาจจะใช่ เช่น เรื่องเปาบุ้นจิ้น แต่จริงๆ แล้วเขาเป็นประธานของสิทธิ ในกฎหมายวิธีพิจารณา ความอาญาก็เช่นกันเขาเป็นประธานในกฎหมาย เขามีสิทธิมีอะไรต่างๆเยอะแยะ เราเรียนกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญายังไม่ถึงแก่น เราก็รู้กันคร่าวๆ
อย่างที่ผมชี้ออกไป อย่างการจับในปัจจุบันนี้สิ่งที่มันเป็นอยู่ก่อนหน้านี้แล้ว แต่ก่อนอาจไม่ดีพอเพราะว่าคนที่ออกหมายจับเป็นเจ้าพนักงานเอง แต่ปัจจุบันให้เป็นเรื่องของศาล ศาลเองก็ไม่ค่อยจะตรวจสอบ คือ กรณีไปยิงตู้เย็นชาวบ้านที่อยุธยาก็แสดงว่าการออกหมายนี่หละหลวม ซึ่งกฎหมายเราก็ให้มีการตรวจสอบทั้งก่อนออกหมายอย่างดีแล้วไปปฏิบัติแล้วก็ต้องรายงานศาล แต่เราก็เพียงแต่ทำเพื่อให้จบขั้นตอนไปอย่างนั้นไม่ได้ลงไปในเนื้อจริงๆ แล้วก็เหตุจับจริงๆ มันมีสี่เหตุหนึ่งก็คือความร้ายแรงของความผิด สองคือหลบหนี สามคือเข้าไปยุ่งเหยิงเกี่ยวกับพยานหลักฐาน สี่ก็คือการไปก่ออันตรายประการอื่น ความจริงเหตุจับสามประการหลังคือ หลบหนี ยุ่งเหยิงแล้วก็ก่อ อันตรายประการอื่นประกันไม่ได้ แต่เราก็ไม่ค่อยเข้าใจส่วนเหตุที่ว่าเป็นความผิด ร้ายแรงประกันได้
ผู้สัมภาษณ์ : อาจารย์ได้เสนอให้มีการปล่อยตัวชั่วคราวที่ได้ตีพิมพ์บนสื่อมวลชนทั่วไป
ศ.ดร.คณิต : คือปล่อยเลยยังได้ ถ้าไม่มีเหตุจำเป็นเราจะต้องไม่เอาคนไว้ในอำนาจรัฐได้เรียนไปแล้วว่าเหตุจำเป็นจริงๆ มีสามอย่างที่ต้องเอาไว้ หนึ่งหลบหนีต้องเอาไว้ สองไปยุ่งกับพยานหลักฐานก็ต้องเอาไว้ สามก่ออันตรายอื่นๆเช่นไปทำผิดซ้ำ อย่างผู้ต้องหาที่ทำผิดเกี่ยวกับเพศ ถ้าปล่อยออกไปก็จะไปทำผิดกับคนอื่นก็ต้องเอาไว้ และในบทความผมยังกล่าวเอาไว้ว่าการชักใยอยู่เบื้องหลังก็เป็นการก่ออันตรายประการอื่น แต่เราก็ให้ประกันไป พอประกันไปตอนนี้ไปอยู่ไหนก็ไม่รู้ คือของเรานี่ไม่ได้ปฏิบัติตามหลักกฎหมายเลย
จริงๆ แล้วปล่อยชั่วคราว ถ้าศึกษาวิธีพิจารณาความอาญาไม่ได้เรียกร้องหลักประกัน แต่เราก็ยังเรียกหลักประกันอยู่ พอเราเรียกคนจนๆ ก็ไม่มีปัญญาจะไปประกันเพราะไม่มีเงิน นอกจากนั้นเราก็ปล่อยให้กระบวนการยุติธรรมในทางอาญาผมว่า ปัจจุบันนี่เป็นช่องทางทำมาหากินของผู้ที่ไม่สุจริตเยอะเลย เช่น เรามีนายประกันอาชีพลองไปติดต่อดูที่ศาลวันหนึ่งๆ ที่ศาลใหญ่ๆ เงินที่มันสะพัดในศาลเยอะทีเดียว และนายประกันอาชีพนี่สร้างความเสื่อมเสียให้วงการยุติธรรมมานานมากแล้ว
ครั้งหนึ่งอาจารย์โสภณอยายามจะขจัดพวกเหล่านี้ก็โดนขู่จะวางระเบิด เพราะอิทธิพลมันเยอะ แล้วเมื่อ รัฐบาลคุณทักษิณยังให้บริษัทประกันภัยมาหากินด้วย แล้วบริษัทประกันภัยไม่ได้เสี่ยงอะไรเลย นี่เป็นนโยบายที่บอกว่าช่วยคนจนแต่ความจริงทำ ให้บริษัทมีรายได้มากขึ้น ในรัฐบาลปัจจุบันจะออกกฎหมายเกี่ยวกับการทวงหนี้ คือ การทวงหนี้นี่มีเสธ.เยอะ อันนี้ก็คือการกลับไปสู่ยุคมืด เพราะในสมัยก่อนในทางคดีแพ่งมุ่งบังคับเขา ไม่ได้มองว่านิติสัมพันธ์มีต่อกันจริงหรือไม่ เมื่อบังคับคดีไม่ได้ก็ใช้กำลัง มันก็เกิดเสธ. พวกเสธ.เหล่านี้เขากำลังจะให้จดทะเบียนเป็นบริษัททวงหนี้ซึ่งจริงๆ มันผิดกฎหมายแต่กระบวนการยุติธรรมเราไม่ลงไปจัดการแต่เอาพวกนี้ขึ้นมา เป็นนโยบายที่ผมคิดว่าแย่มากทำนองเดียวกับการ ประกันในบริษัทประกันภัย
ผู้สัมภาษณ์ : เรื่อง ‘Double Standard’ หรือสองมาตรฐานได้ถูกนำมาใช้ในการปลุกระดมในการชุมนุม อาจารย์คิดว่าเรื่องนี้มันมีอยู่จริงหรือไม่
ศ.ดร.คณิต : เรื่องนี้ชี้แจงมา คือมันไม่มีมาตรฐานเลย เพราะเรายังทำผิดกฎหมายเยอะจริงๆ แล้วสองมาตรฐานสามารถมีได้ในทุกองค์กร ทั้งตำรวจในฐานะที่ทำอะไรไม่ตรงไปตรงมา ทั้งอัยการและศาลยังเป็นไปอีก ทำให้ตอนนี้ความเชื่อถือในองค์กรยุติธรรมถึงจุดศูนย์อีกแล้ว คือไม่มีstandard เพราะเราไม่ยอมทำอะไรให้ถูกหลักกฎหมาย เราก็ยังไม่มีstandard ขณะนี้การสอบผู้พิพากษายังมีตั้งสามสนาม สนามใหญ่ทั่วถึงสนามเล็ก ปริญญาโท สนามจิ๋ว มันกระทบกับหลักเสมอภาค ผมไม่รู้ว่ามันดีหรือไม่เพราะมันกลายเป็นไม่มีหลักไม่มีเกณฑ์เมื่อก่อนสนามเล็ก จะข้างนอกข้างในก็สามารถแข่งกันได้ แต่ตอนนี้คนจากข้างในแข่งกับคนที่จบข้างนอกไม่ได้ เช่นนี้ไม่ใช่ ‘Double Standard’ มันเป็นเรื่องไม่มีความเสมอภาค ผมคิดเพราะเราปฏิบัติกันแบบนี้มามีเยอะ
ผู้สัมภาษณ์ : สืบเนื่องมาจากคำถามเรื่องสองมาตรฐานนั้น อาจารย์ได้แสดงทรรศนะว่า ไม่มีมาตรฐานเลยนั้น เรื่องนี้ในช่วงสามถึงสี่ปีที่ผ่านมาองค์กรตุลาการถูกพาดพิงว่าสองมาตรฐาน หรือถูกแทรกแซงจากแรงกดดันจากข้างนอก อาจารย์มีความเห็นในเรื่องนี้อย่างไร
ศ.ดร.คณิต : ตอนแรกนี้เรากำลังเห่อเรื่องตุลาการภิวัฒน์ ผมไม่เข้าใจว่าตุลาการภิวัฒน์หมายความว่าอะไร
ทีนี้ผมลองนึกเปรียบเทียบสมัยที่ผมเรียนอยู่ ประเทศเยอรมัน ในเยอรมัน การทำทำแท้งเข้มงวดมาก ไม่มี indication ที่เขียนไว้ในกฎหมายเลยและต่อมาประเทศเนเธอแลนด์ได้ยกเลิกการทำแท้งปล่อยให้เสรีสาวเยอรมันสามารถข้ามไปทำแท้งและกลับมาที่เยอรมันก็จะไม่ผิด
ศาลเยอรมันได้แสดงบทบาทผลักดันให้แก้ไขความผิดประเภทนี้ โดยการที่ลงโทษผู้ที่ถูกฟ้องความผิดฐานนี้เบามาก สมัยผม 20 มาร์ค สมัยเรียน 1 มาร์ค เท่ากับ 8 บาท ซึ่งถูกมาก แค่นักศึกษา ที่ไปทำงานเก็บแล้วโดยไม่ต้องล้างก็ได้ชั่วโมงละ 20 มาร์คแล้ว แสดงว่ากฎหมายของรัฐแย่มาก จนมีการให้แก้กฎหมายที่ทำโดยฝ่ายตุลาการเช่นนี้เรียกว่าตุลาการภิวัฒน์น่าจะถูก แต่ของประเทศไทยนี้ไม่ใช่เช่นนั้น ค่อนข้างทับซ้อนกัน เพราะฉะนั้นบ้านเราไม่ค่อยจะมีบทบาทในด้านที่จะทำให้เกิดความถูกต้องชอบธรรมหรือผลักดัน
ถ้าท่านเคยอ่านบทความของผมเรื่องหักดิบกฎหมาย อันนี้แสดงว่านักกฎหมายแย่ เรื่องคุณทักษิณถูกฟ้องเรื่องซุกหุ้นเราเข้าใจว่าคุณทักษิณชนะคดีด้วยคะแนน 8 ต่อ 7 แต่ความจริงแพ้ด้วยคะแนน 7 ต่อ 6 ตามคำวิเคราะห์ของผม ที่ว่าแพ้ เช่นนั้นเพราะเหตุว่าเวลาเราจะตัดสินคดีเราจะต้องตัดสินด้วยเรื่อง‘Pre-requisite’
เรื่องเงื่อนไขในอำนาจว่าคดีนี้อยู่ในอำนาจศาลหรือไม่ ศาลรัฐธรรมนูญลงมติว่าจะอยู่ในอำนาจ เมื่ออยู่ในอำนาจก็ต้องไปวินิจฉัยในเนื้อหาแห่งคดีว่าซุกหุ้นจริงหรือไม่ ในจำนวนตุลาการที่บอกว่าซุก 7 คนที่บอกว่าไม่ซุก 6 คน อีก 2 คนบอกว่าเมื่อคดีไม่อยู่ในอำนาจไม่วินิจฉัย แต่เอา 2 เสียงนี้มาบวกลงไปด้วย ผมเรียกว่า ‘หักดิบกฎหมาย’ คือทำไม่ตรงไปตรงมา
เปรียบเทียบให้เห็นสมัยฮิตเลอร์ ฮิตเลอร์เป็นคนออสเตรียแล้วมาเป็นทหารรับจ้างในกองทัพ บาวาเรียและได้เหรียญตราและต่อมาถูกฟ้องกบฏ ซึ่งสมัยนั้นกฎหมายจะต้องพิพากษาให้ลงโทษแล้วจะต้องเนรเทศด้วย แต่ศาลในคดีฮิตเลอร์ บอกว่าฮิตเลอร์ที่มีความรู้สึกเป็นเยอรมันและนอกจากนั้นแล้วยังเป็นผู้ทำคุณงาม ความดีให้แก่กองทัพเยอรมัน จึงไม่เป็นคนต่างด้าวในความหมายของกฎหมาย อันนี้คือหักดิบ และมี professor ท่านหนึ่งเขียนบทความว่า ถ้าตุลาการ ศาลหรือผู้พิพากษาใช้กฎหมายอย่างตรงไปตรงมา ฮิตเลอร์ก็จะไม่ได้ขึ้นสู่อำนาจ สงครามโลกครั้งที่สองอาจจะยังไม่เกิดเหตุการณ์ที่ชาวยิวต้องตายเป็นล้านๆ คนก็จะไม่เกิดขึ้น
เหมือนกับเหตุการณ์ ของบ้านเรา ถ้าศาลว่าตรงไปตรงมา คุณทักษิณก็จะไม่มีโอกาสเป็น นายก ที่ตายกันก็จะไม่เกิดขึ้นและในสังคมเราผมมีความรู้สึกว่าไม่ค่อยยึดหลัก เป็นความผิดของนักกฎหมายเราด้วย อันนี้คือรากเหง้าที่นำมาทำให้ผมต้องเข้าไปดูแล ถ้าตัดสินตรงไปตรงมาอย่างที่ผม ว่าแบบฮิตเลอร์ แต่แรกก็จบ ปัจจุบันก็กลายเป็นเรื่องใหญ่ เป็นเรื่องยากที่จะแก้ไข แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะหมดหวังนะ มันก็เป็นภาระหน้าที่สำคัญที่ผมจะต้องทำต่อ
ผู้สัมภาษณ์ : กรณีอย่างที่สถาบันตุลาการถูกกล่าวอ้างว่าสองมาตรฐานหรือไม่ ตรงไปตรงมาอย่างที่อาจารย์ได้เรียนไว้ ใน กรณีเช่นนี้ย่อมมีผลต่อความเชื่อมั่นศรัทธาในกระบวนการยุติธรรมของประเทศไทย อาจารย์ มีคำแนะนำอย่างไร
ศ.ดร.คณิต : ผมวิเคราะห์พฤติกรรมคนแล้วกัน ถ้าพูดว่าไปแนะนำเขาก็ไม่ดี คนในกระบวนการ ยุติธรรมเรามีพฤติกรรมที่น่ารังเกียจสามประการ หนึ่งคือทำงานสบายๆ ไม่ทำให้เป็นภาระวิสัย มีความถูกต้อง ผมกับอาจารย์อุดมเพิ่งสอนด้วยกันมา ก็บอกว่าพฤติกรรมแบบนี้คือ ขี้เกียจ สอง คือกลัว กลัวนั่นกลัวนี่ กลัวการเมือง อะไรสารพัด ซึ่งนักกฎหมายถ้าขี้กลัวก็จบเลย
และสุดท้ายก็คือพฤติกรรมที่เรียกว่า ประจบ คือทำ อะไรเอาหน้า พฤติกรรมนี้ผมคิดว่าไม่ควรมีในตัว นักกฎหมาย เราจะต้องทำให้ถูกต้องตามภาระหน้าที่ของเรา เราต้อง ไม่กลัว และก็ไม่ประจบด้วย ทำอย่างตรงไปตรงมา ผมเองก็พยายามรักษาสามสิ่งนี้อยู่ตลอดชีวิต สมัยที่ผมเป็นอัยการสูงสุด ก็มีการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องกับผมค่อนข้างมาก มาบีบนู่นบีบนี่แต่ผมก็ไม่เคยยอมให้ ผมก็ว่าไปตามเนื้อผ้า ผมก็แทบเอาตัวไม่รอด แต่ว่าถึงยังไงก็ตามถ้าเราทำอย่างนี้ เราก็เป็นที่เชื่อถือ และการที่ผมปฏิบัติอย่างนี้ผมก็เลยมีภาระ อยู่เรื่อย (หัวเราะ)
(อย่าพลาด พรุ่งนี้ อ่านต่อ ตอน 2 การเมือง กระบวนการยุติธรรม และรัฐธรรมนูญ )
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น