แฟ้มภาพ ประชาไท
(17 ก.พ. 54) ธงชัย วินิจจะกูล นักวิชาการประวัติศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน เมดิสัน ร่วมเสวนา “ฝ่าวิกฤตชายแดนไทยเขมร” ที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุ ปัญหาความสัมพันธ์ไทยกัมพูชา เป็นปัญหาการเมืองไทยและเป็นปัญหาที่มาจาก “ฝ่ายเจ้า เปรียบเหมือนช้างอยู่ในห้อง แต่ไม่ยอมรับว่ามีช้างอยู่จึงแก้ปัญหาไม่ได้ ชี้ หาก “ฝ่ายเจ้า” ไม่สามารถแก้ปัญหาของตัวเองได้ และฉุดกระชากสังคมไทยให้เป็นปัญหาไปด้วย จะทำให้ฝ่ายเจ้าต้องเผชิญปัญหาในท้ายที่สุด ฉะกรรมการปฏิรูปแตะทุกเรื่องยกเว้นเรื่องที่ควรแตะ
“ทุกคนในโลกนี้รู้อยูว่าปัญหานี้เกิดขึ้นเพราะการเมืองไทย พูดง่ายๆ ว่าถ้าความสัมพันธ์ดี ก็จะเกิดการพัฒนาร่วม เช่นไทย-มาเลเซีย ซึ่งเป็นพรมแดนที่สั้นที่สุดซึ่งแก้ปัญหาแบ่งเขตแดนไม่ได้จบลงที่การพัฒนา ร่วม ถ้าย้อนกลับไปสมัยอยุธยา ถ้าพรมแดนเป็นมิตร เขาเรียกว่า ทางเงินทางทอง”
นักวิชาการประวัติศาสตร์ผู้นี้กล่าวต่อไปด้วยว่า รากของปัญหาที่ไทยขัดแย้งกับกัมพูชาคือเรื่องการเมืองไทยซึ่งเกิดจากปัจจัย ทางเศรษฐกิจการสังคมที่พัฒนาไปในขณะที่ปัจจัยทางการเมืองยังไม่ปรับตัว รายละเอียดของการเสวนาดังนี้
000
ผมคิดว่าถึงวันนี้เราน่าจะเข้าใจเหตุของวิกฤตการณ์ได้ดีกว่าเดิม ในความเห็นของผม ปัญหากัมพูชามันเป็นโรคหรืออาการของปัญหาอื่น ในที่นี้คือโรคที่เกิดกับการเมืองไทย โรคนี้เกิดจากสองปัจจัยขัดแย้งกัน ปัจจัยที่หนึ่งคือเศรษฐกิจสังคมไทยโดยเฉพาะภาคชนบทเปลี่ยนไปมากแล้ว แต่คนชั้นนำไทยไม่เข้าใจความเปลี่ยนแปลงนี้ นักเรียนทางรัฐศาสตร์เข้าใจง่ายๆ ว่าเมื่อระบบเศรษฐกิจสังคมเปลี่ยน ระบบการเมืองต้องปรับตัวให้สอดคล้องกับกลุ่มชนชั้นและกลุ่มผลประโยชน์ที่ เปลี่ยนแปลง ใน 2-3 ทศวรรษถ้าไม่ปรับตัวก็จะเกิดปัญหา
ในการเปลี่ยนแปลงนี้เขาได้รู้ว่าระบบการเลือกตั้งมันดีสำหรับเขา แน่นอนไม่มีระบบการเมืองที่ดีที่สุดสะอาดไปหมด คนที่แสวงหาระบบนั้นต่างหากที่โง่ มันเป็นไปไม่ได้ไม่ว่าที่ไหน ครั้งล่าสุดที่อเมริกามีการเลือกตั้ง ก็ยังมีมาเฟีย มีคอร์รัปชั่น มีนักการเมืองสามานย์ แต่ถ้าเรายอมรับว่าระบบเลือกตั้งไม่มีทางที่สมบูรณ์สุดขีด แต่เป็นระบบที่เอื้อประชาชน เป็นระบบที่สะท้อนผลประโยชน์ที่ต่างกันแล้วนำมาแลกกันได้อย่างสันติ ระบบการเมืองไทยต้องเปลี่ยนเพราะระบบเศรษฐกิจสังคมเปลี่ยนไปแล้ว แล้วเมื่อกำลังเคลื่อนไปก็ถูกขัดจังหวะอย่างแรง
เหตุที่ระบบการเมืองไม่ยอมเปลี่ยนตามอย่างดื้อดึงสาเหตุใหญ่ที่สุดคือการ กลัวว่านักการเมืองจะมาเป็น King Maker คำกล่าวอ้างว่าทักษิณจะมาเป็นประธานาธิบดี เป็นคำโกหก แต่คำกล่าวอ้างนี้แสดงความกลัวจาก “ฝ่ายเจ้า” ย้ำว่า “ฝ่ายเจ้า” ซึ่งเป็นพหูพจน์และรวมหลายคนที่ไม่ใช่เจ้า ไม่เชื่อไปถามคุณเปรม (ติณสูลานนท์) ว่าคิดว่าตัวเองเป็นฝ่ายเจ้าหรือไม่
ความหวาดกลัวนี้จะเหลวไหลแค่ไหน ก็ไปเถียงกัน แต่ปัญหาคอขาดบาดตายของฝ่ายเจ้า ฉุดกระชากลากถูกทั้งประทศลงไปได้ นี่คือช้างตัวเบ้อเริ่มที่อยู่ในห้อง นี่คือเหตุบาดหมางไทย-กัมพูชา แล้วเรื่องใหญ่คือเรื่องช้างที่อยู่ในห้องนี้ ยังไม่รู้จะเอากลับไปอยู่ในสวนสัตว์ตามปกติได้อย่างไร ปัญหาที่หมักหมมในขณะนี้ ไม่สามารถแก้ไขได้โดยย้อนเวลาหมุนนาฬิกากลับ หรือพูดอีกอย่างคือเศรษฐกิจสังคมชนบทไม่มีทางกลับไปเป็นอย่างสิบหรือยี่สิบ ปีก่อนหน้าแล้ว มีทางออกทางเดียวคือปรับระบบการเมือง
ถ้าหากปัญหาที่เป็นเรื่องคอขาดบาดตายในหมู่ฝ่ายเจ้ากระทบกระเทือนถึงขนาด ฉุดรั้งระบบการเมืองทั้งหมด ต้องจัดการให้ปัญหาฝ่ายเจ้าอยู่ในขอบเขตของตนเอง ความไม่รับผิดชอบจนกระเทือนคนอื่นทั้งหมด สุดท้ายแล้วอย่าว่าแต่จะเป็นปัญหาต่อระบบการเมืองเลย แต่จะเป็นปัญหาของระบบฝ่ายเจ้าด้วย
ส่วนการฝันหวานว่าจะมีอีกคนมาแทน คุณคิดดีๆ การเปลี่ยนคนไม่ใช่เรื่องง่ายๆ คุณกำลัง Open the Pandora Box คือจะมีปัญหาเรื่องการสืบราชสมบัติถ้าเปลี่ยนกฎเกณฑ์ เพราะถ้าคุณเปิดกล่องอันนี้ มันจะกลับย้อนไปปลายอยุธยา การที่ยืนยันว่าจะไม่เปลี่ยนมันมีเหตุผลอยู่ และมีเหตุผลที่ควรจะเข้าใจด้วย ไม่ใช่สักแต่ว่าจะวิพากษ์วิจารณ์ จะเที่ยวปรารถนาดีหรือปรารถนาร้ายต้องคิดดีๆ
แต่มีทางออกทางหนึ่ง ในเมื่อปัญหาที่เป็นปัญหาคอขาดบาดตายกลับเป็นปัญหาของระบบการเมืองทั้งหมด ต้องจัดการไม่ให้กระทบสังคมไทย ตราบใดที่ฝ่ายเจ้าไม่กระทำการให้กระทบกระเทือนกับสังคมไทย ท่านจะแก้ปัญหาอย่างไรก็เชิญ แต่หากยังทำอย่างหลายปีที่ผ่านมาที่กระทำต่อสังคมไทย การแก้ปัญหาอย่างไรก็กระเทือนทั้งนั้น
ทางออก...ผมเรียนว่าไม่มีทางออกนอกจากฝ่ายเจ้าต้องประนีประนอม ผมไม่ได้พูดในทางสุดกู่สุดขั้วเพราะสารภาพว่าผมไม่อยากเห็น มีนักเรียนคนหนึ่งพูดถึงกรณีปฏิวัติฝรั่งเศสอย่างชื่นชม ถ้าไม่อยากเห็นภาวะนั้น เสียงนี้ถึงฝ่ายเจ้ากรุณาประนีประนอม จะประนีประนอมไม่ง่ายแต่เงื่อนไขหนึ่งคือต้องไม่ “Too little, Too late” ข้อผิดพลาดของคณะกรรมปฏิรูปหกร้อยล้านคือการพยายามแตะปัญหาทุกปัญหายกเว้น ปัญหาที่ควรจะแตะ แค่เรื่องเดียว ปลดล็อกระบบการเมือง กรรมการปฏิรูปหกร้อยล้านหลีกเรื่องการเมืองอย่างถึงที่สุด สิ่งที่ท่านพูดจึงไม่ผิด แต่มันไม่มีทางผิด ในภาษาวิชาการเราจะมีคำอีกคำว่า “ไม่รู้ทำทำไม” เช่น รีเสิร์ชว่าคนไทยโตขึ้นทุกวัน คนไทยพูดโกหก ไม่รู้จะทำวิจัยไปทำไม
ต้องประนีประนอมเพื่อเปิดประตูให้ความอึดอัดให้ลงมาอยู่ในกรอบ ไม่อยู่ในจุดที่ Too little, Too late
ผมคิดว่ากุญแจที่จะไขไปสู่การประนีประนอม แต่ผมค่อนข้างเชื่อว่าเขาไม่ฟัง แต่ผมเชื่อว่าน้อยกว่านี้ไม่ได้ คือ การมาคุยกันอยู่ในกรอบที่ไม่เกิดปัญหา โดยยกเลิกกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ
หมายเหตุ
การเสวนา “ฝ่าวิกฤตชายแดนไทยเขมร” จัดขึ้นที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย รศ.สุรชาติ บำรุงสุข และศ.ธงชัย วินิจจะกูล ดำเนินการเสวนาโดย รศ.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์
เรื่องที่เกี่ยวข้อง:
รายงานเสวนา “ฝ่าวิกฤตชายแดนไทยเขมร”
http://www.prachatai3.info/journal/2011/02/33167
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น