http://www.youtube.com/watch?v=f7peomMFiFM&feature=player_embedded
แถลงการณ์ สหพันธ์นิสัตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.)
“ปฏิรูปกองทัพ - ทหารต้องจงรักภักดีต่อประชาชน”
นับ ตั้งแต่คำปฏิญาณต่อธงชัยเฉลิมพล ในอันที่จะรักษาไว้ซึ่งความศักดิ์สิทธิ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ถูกทำลายลงด้วยการรัฐประหารวันที่ ๑๙ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๙
คุณค่า และความศักดิ์สิทธิ์ของคำปฏิญาณจากเหล่าทหารในกองทัพไทย ก็ไม่อาจนับเป็นสิ่งที่น่าเชื่อถือได้อีกต่อไป หลักการคุณค่าเสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ, รัฐธรรมนูญที่ผ่านการลงมติของปวงชน, และระบอบประชาธิปไตยที่อนุญาตให้มีกษัตริย์เป็นประมุขอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ อาจเป็นสิ่งที่ทหารในกองทัพไม่อาจเข้าใจได้โดยแท้จริง
การให้คำ ปฏิญาณจึงล้วนแต่เป็นเรื่องเชิงพิธีการ ที่ปราศจากความหวงแหนที่จะพิทักษ์ไว้ซึ่งความจงรักภักดีต่อประชาชนทั้งหลาย ผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยโดยแท้จริงในประเทศนี้ ทั้งยังเป็นหนึ่งในสดมภ์หลักทั้ง ๔ ของกองทัพไทย ตามคำขวัญที่กล่าวว่า “เพื่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์ และประชาชน”
หรือแท้จริงแล้ว คำว่า “ประชาชน” และตัวตนของ “ประชาชน” จะไม่เคยมีพื้นที่อยู่จริง ในความทรงจำของเหล่าทหาร สิ่งที่พวกเขารู้จักอาจเป็นเพียงอริราชศัตรูที่ต้องทำลายล้างให้หมดสิ้น การเรียกร้องประชาธิปไตยของประชาชนเป็นสิ่งแปลกปลอมของระบอบจารีตนิยมอำนาจ นิยมที่มีเครือข่ายล้าหลังของอำมาตยาธิปไตยครอบงำอยู่ กองทัพเป็นเพียงเครื่องมือรักษาเสถียรภาพของผู้นำจารีตนิยมอำนาจนิยม ที่ไม่รู้จักคำว่าประชาธิปไตย และใช้มันเป็นเพียงเครื่องมือพ่วงท้าย หรือต่อไว้ข้างหน้า ปกปิดความเป็นเผด็จการแอบแฝงของตนเอาไว้
ด้วย เหตุผลดังกล่าวนี้ สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.), สหพันธ์นิสิตนักศึกษาอีสาน (สนนอ.) และองค์กรนิสิตนักศึกษาที่เป็นสมาชิกทั่วประเทศ จึงขอแสดงจุดยืนเพื่อการปฏิรูปกองทัพไทย จากการเป็นเครื่องมือของเครือข่ายจารีตนิยมอำนาจนิยม เพื่อใช้ในการปราบปรามประชาชน รวมทั้งเป็นเครื่องมือในการปลุกกระแสชาตินิยมอย่างล้าหลัง เพื่อสร้างปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศให้เกิดความร้าวฉาน
รวม ถึงทั้งอาจนำไปสู่การละเมิดคำปฏิญาณครั้งแล้วครั้งเล่า ด้วยการรัฐประหารเพื่อรักษาระบอบเผด็จการจารีตนิยมอำนาจนิยมแอบแฝง ที่มีกองทัพเป็นผู้คุ้มชูเสถียรภาพของมันเอาไว้, ดังนั้น, ท้ายที่สุด เราจึงขอยื่นข้อเสนอให้มีการปฏิรูปกองทัพดังต่อไปนี้
1.) กองทัพต้องมีจุดเกาะเกี่ยวเชื่อมโยงกับประชาชน การคัดสรรผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูงในกองทัพต้องมาจากการสรรหาของสภาผู้แทน ราษฎร และคณะรัฐมนตรี ไม่ใช่โดยคณะกรรมาธิการของกองทัพ หรือบุคคลผู้มีบารมีนอกกองทัพ ซึ่งมีอำนาจในการตัดสิน ปรับเปลี่ยนรายชื่อการโยกย้ายทหารได้ อย่างที่เคยเป็นมาในอดีต
2.) ระบบการศึกษาของทหารต้องปลูกฝังให้เห็นคุณค่าในการพิทักษ์สิทธิ เสรีภาพของประชาชนไว้เป็นอันดับหนึ่ง และส่งเสริมความเป็นประชาธิปไตยในกองทัพ ทหารสามารถขัดคำบังคับบัญชาได้ หากคำสั่งนั้นเป็นการละเมิดรัฐธรรมนูญ ละเมิดความเป็นมนุษย์ และละเมิดสามัญสำนึกของทหารผู้ใต้บังคับบัญชา
หากกองทัพไทยสามารถ ปฏิรูปตามแนวทางข้างต้นได้ ย่อมเป็นการออกห่างจากวงจรอุบาทว์ และก้าวสู่การเป็นทหารอาชีพที่จงรักภักดีต่อประชาชนในท้ายที่สุด
25 มกราคม 2554
เนื่องในอดีตวันกองทัพไทย
สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย(สนนท.) และองค์กรสมาชิก
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น