Wed, 2011-01-26 22:11
เมื่อ วันที่ 25 ม.ค. ที่ผ่านมา พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าในการจัดตั้งกองพลทหารราบที่ 7 (พล.ร. 7) เพื่อรับผิดชอบในพื้นที่ภาคเหนือว่า ในปีนี้จะให้กำลังพลได้ฟื้นฟูกำลัง เพราะใช้งานกันมามาก เรามีความจำเป็นอย่างมากโดยเฉพาะกำลังพลในระดับกองร้อย ซึ่งเวลานี้เราได้รับการบรรจุกำลังในลักษณะ 1 กองพัน และ 2 กองพัน ตามโครงสร้างพระราชบัญญัติการจัดระเบียบกระทรวงกลาโหม ประจำปี 2551 และที่ผ่านมาทางพื้นที่ภาคเหนือได้ถูกยุบหน่วยไปจำนวน 5 กองพัน โดยสำหรับพื้นที่ภาคกลางที่มีอยู่ 3 กองพล
คือ กองพลที่ 1 รักษาพระองค์ (พล. 1 รอ.) กองพลทหารม้าที่ 2 รักษาพระองค์ (พล.ม. 2 รอ.) และกองพลทหารราบที่ 9 (พล.ร. 9) ส่วนพื้นที่กองทัพภาคที่ 2 ก็มี 2 กองพล คือ กองพลทหารราบที่ 3 (พล.ร. 3) และกองพลทหารราบที่ 6 (พล.ร. 6) ส่วนในพื้นที่ภาคใต้มีกองพลทหารราบที่ 15 (พล.ร. 15) และกองพลทหารราบที่ 5 (พล.ร. 5) ส่วนในพื้นที่ภาคเหนือมีอยู่เพียงกองพลเดียวคือกองพลทหารราบที่ 4 (พล.ร. 4) ดูแลตั้งแต่ จ.นครสวรรค์ ไปจนถึง จ.เชียงราย ซึ่งรับผิดชอบพื้นที่ยาวมากทำให้การบังคับบัญชาไม่ครอบคลุม เราอยากให้สายการบังคับบัญชาสั้นลงจึงได้มีแนวคิดที่จะตั้งกองพลดังกล่าว ขึ้น
“ผมอยากจะตั้งพล.ร. 7 ขึ้นมา 1 กองพล เพื่อรับผิดชอบในพื้นที่ภาคเหนือ ซึ่งการตั้งครั้งนี้ก็จะไปแทนกองพลรบพิเศษที่ 2 ที่ถูกยุบไปก่อนหน้านี้ โดยกระทรวงกลาโหม จะเสนอรัฐบาลในการจัดตั้งกองพลทหารราบที่ 7 โดยเราจะใช้งบประมาณของกองทัพบกในการปรับเกลี่ยเพื่อให้การจัดตั้งการบังคับ บัญชาให้แน่นแฟ้น นอกจากนี้จะมีการจัดตั้งกรมทหารราบที่ 14 ขึ้นมาอีก เนื่องจากกองพลทหารราบที่ 4 มีอยู่ 3 กรม คือ กรมทหารราบที่ 4 กรมทหารราบที่ 7 และ กรมทหารราบที่ 17 ทั้งนี้อยากจะให้กองพลทหารราบที่ 4 มี 2 กรม คือ กรมทหารราบที่ 4 กับกรมทหารราบที่ 14 ที่จะตั้งขึ้นใหม่ ส่วนกรมทหารราบที่ 7 และกรมทหารราบที่ 17 จะตั้งหัวไปอยู่ในกองพลทหารราบที่ 7 ส่วนในพื้นที่ตะวันออกเฉียงเหนือ จะเอากรมทหารราบที่ 6 ซึ่งฝากการบังคับบัญชาในพื้นที่กองทัพภาคที่ 2 มาขึ้นตรงกับกองพลทหารราบที่ 7 เพราะอำนาจกำลังรบเปรียบเทียบค่อนข้างเสียเปรียบ เพราะมีการเพิ่มกำลังตลอด” พล.อ.ประวิตร กล่าว
พ.อ.ธนาธิป สว่างแสง โฆษกกระทรวงกลาโหม แถลงผลการประชุมสภากลาโหมที่มีพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รมว.กลาโหม เป็นประธานในการประชุมว่า ในการตั้งกองพลทหารราบที่ 7 (พล.ร.7) ที่เรามีแนวความคิดมาตั้งแต่ปีที่ผ่านมาว่า เราต้องการให้จัดตั้งพล.ร.7 ขั้นในพื้นที่ภาคเหนือ เพราะหน่วยที่อยู่ในกองทัพภาคที่ 3 มีเฉพาะกองพลทหารราบที่ 4 (พล.ร.4) เพียงกองพลเดียว และขอบเขตรับผิดชอบมีประมาณกว่าพันกิโลเมตร ซึ่งที่ประชุมมีการพิจารณาหารือร่วมกัน และคงจะดำเนินการผ่านต่อไปยังคณะรัฐมนตรี (ครม.)
“ยืนยันว่า เป็นความจำเป็น เพราะปัจจัยองค์ประกอบของการปฏิบัติงานปัจจุบัน เรามีกำลังพลไม่เพียงพอจริงๆ ทั้งการดูแลแนวชายแดน ภัยคุกคามรูปแบบใหม่ โดยเฉพาะยาเสพติด แรงงานต่างด้าว ซึ่งคงจะต้องทำแผนกันประมาณ 2 สัปดาห์ โดยจะใช้งบประมาณในส่วนของกองทัพบกเอง และใช้แนวทางในเรื่องของพ.ร.บ.การจัดส่วนราชการของกระทรวงกลาโหมปี 2551 อย่างไรก็ตามเป็นเพียงแนวความคิด ที่จะต้องผ่านกระบวนการ รอมติของครม.อีกครั้ง ” พ.อ.ธนาธิป กล่าว
แหล่งข่าวในที่ประชุมกลาโหม เปิดเผยว่า การจัดตั้ง พล.ร.7 เนื่องจากกองทัพภาคที่ 3 มีขอบเขตการรับผิดชอบมาก ทำให้จำเป็นต้องเปิดหน่วยใหม่ขึ้นมา โดยมี กองร้อยกองบัญชาการกองพล กรมทหารราบ 1 กรม กองพันทหารราบ 3 กองพัน โดยลักษณะของกองพลจะเป็นทหารราบเบา เพราะพื้นที่ปฏิบัติการทางภาคเหนือเป็นพื้นที่ป่าภูเขา โดยลดยุทโธปกรณ์และใช้คนเป็นหลักดำเนินกลยุทธ์ โดยในส่วนบังคับบัญชา คือ ร้อย บก.พล เพื่อควบคุมอำนวยการในกรอบนโยบายจะจัดตั้งในพื้นที่ จ.เชียงใหม่หรือเชียงราย เพื่ออำนวยการในพื้นที่ด้านบนของกองทัพภาคที่ 3 ส่วนงบประมาณที่กระทรวงกลาโหมจะขอคณะรัฐมนตรีเพื่อจัดตั้ง พล.ร. 7 ประมาณ 8 - 9 พันล้านบาท โดยมีงบประมาณผูกพัน 3 ปี คือ 2554 - 2556 ส่วนกำลังพลของพล.ร. 7 จะนำกำลังมาจากกองทัพภาคที่ 3 จากหน่วยที่มีการปิดตัวจากเดิม 5 กองพันจากกรมทหารราบที่ 4,7,17 โดยจะเกลี่ยอัตราเหล่านี้กลับมาใช้ใน พล.ร. 7
ที่มาข่าว: คม ชัด ลึก
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น