ตอบคำถามเพื่อนร่วมทางที่คิดต่าง
โดย ศรีสองเมือง
ทำไม ผมจึงไม่ค่อยจะเห็นด้วยกับการแก้ปัญหาประชาธิปไตยในประเทศไทยโดยใช้แนวทาง สันติวิธี สงบ อหิงสา ปราศจากอาวุธ แต่เพียงหนทางเดียว โดยไม่เปิดแนวรบในด้านอื่นๆควบคู่กันไป มิตรสหายโปรดพิจารณาข้อความข้างล่างประกอบด้วย
“เรา...ไม่เคยมี ทัศนะต่อสงครามแบบใช้อารมณ์ เราไม่เคยลังเลที่จะประณามการใช้ความรุนแรงทุกรูปแบบกับประชาชนผู้ไฝ่หา เสรีภาพและความเป็นธรรม เราไม่เคยลังเลที่จะประณามการใช้ความโหดร้ายป่าเถื่อนในการแก้ปัญหาความขัด แย้งในสังคม แต่ตราบใดที่ชนชั้นยังดำรงอยู่และเปิดโอกาสให้ชนชั้นหนึ่งที่มีเพียงหยิบมือ เดียวทำการข่มเห่ง กดขี่ เอารัดเอาเปรียบคนอีกชนชั้นหนึ่งอยู่ และภาวะดังกล่าวยังไม่อาจถูกขจัดให้น้อยลงไป ตราบนั้น....เราก็ยังเห็นว่า ”สงครามปลดปล่อย” ยังมีความจำเป็น เพราะมันเป็นสงครามที่ชอบธรรมเพียงหนึ่งเดียวเท่านั้นในสังคมทุนนิยม มันคือสงครามที่ต่อต้านคนหยิบมือเดียวที่กดขี่และไล่ล่าเอาประชาชนลงไปเป็น ทาส มีแต่นักอุดมคติที่เพ้อฝัน และบุคคลที่ขายวิญญานของเสรีชนเท่านั้นที่จะประณามสงครามเช่นนี้ได้ใน”หลัก การ” ( “ว่าด้วยสงครามที่เป็นธรรม...” วี ไอ. เลนิน)
จากคำกล่าว ที่ยกมานี้....ไม่ใช่ต้องการเสนอรูปแบบของความรุนแรงในการปฎิวัติสังคมไทย เนื่องจากสภาพภววิสัยของรัสเซียสมัยที่เลนินมีชีวิตอยู่ย่อมไม่เหมือนกับของ ประเทศไทยใน พศ.นี้ เพียงแต่ต้องการสะท้อนให้เห็นความจริงร่วมกันประการหนึ่งคือ ผลประโยชน์ของรัฐหรือผู้ที่ใช้อำนาจรัฐในประเทศทุนนิยมล้าหลังเช่นไทยเรา นี้หรือที่ไหนๆก็ตาม ย่อมไม่สอดคล้องกับผลประโยชน์ของประชาชนส่วนใหญ่อย่างแน่นอน ไม่เช่นนั้นประชาชนคงไม่ต้องออกมาบอกกล่าวความทุกข์ยากของตนบนท้องถนนแล้ว
การที่ชนชั้นปกครองออกมาเอ่ยปากเรียกร้องความสมานฉันท์ ในขณะที่พวกเขาแทรกแซงทุกองค์กรหลักของชาติเพื่อกระทำการลิดรอน คุกคามสิทธิเสรีภาพของประชาชนอยู่ทุกวัน ทำไมเราจะต้องไปคล้อยตาม ในเมื่อสิ่งที่เราเห็นและรับรู้อยู่อย่างชัดเจนและเกิดขึ้นจริงในเวลานี้ เป็นเรื่องที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อ การหลอกลวงทั้งสิ้น เราจะต้องช่วยกันเปิดโปงสภาพที่ปากไม่ตรงกับใจของพวกเขา ที่กล้าเสนอแนวทางสมานฉันท์ที่ไร้น้ำยาแบบนี้ เพราะอย่างไรเสียพวกที่ออกมาป่าวประกาศนั้น ก็คือผลผลิตของระบอบอำมาตย์ ที่ทำตัวเป็นป้อมค่ายของกลุ่มทุนอนุรักษ์ล้าหลังอย่างไม่อาจปฏิเสธได้เลย
แต่ เมื่อพูดกันถึงแนวทางการต่อสู้ของประชาชนเรา เหมือนกับว่าจะพูดกันคนละภาษา เพราะแต่ละคนมักมีทัศนะที่แตกต่างกันออกไป ท่าทีต่อการมองปัญหาการก็แตกต่างกัน สำหรับผู้ที่สนับสนุนแนวคิดสันติวิธีอย่างสุดขั้วมีความเชื่อว่า หากใครก็ตามเสนอสิ่งที่ผิดแผกออกไปจากคำว่าสันติวิธี ในความเข้าใจของพวกเขาแล้ว ก็ต้องหมายถึงการต่อสู้ด้วยความรุนแรงหรือโดยการใช้กำลังอาวุธไปเสียทั้ง หมด บ้างถึงกับมีจินตนาการไปไกลว่า เป็นการเรียกร้องให้เอาอาวุธมายัดใส่มือประชาชน ที่ไม่เคยผ่านการฝึกปรือแม้แต่วิธียิงปืน ให้ไปต่อสู้กับกลไกรัฐที่เข้มแข็งกว่า มีวินัยกว่าและมีการจัดตั้งที่ดีกว่านั้น คือการสุ่มเสี่ยงไร้มนุษยธรรมและไม่มีความรับผิดชอบเป็นอย่างยิ่ง มันเป็นการมองปัญหาแบบแข็งทื่อและตายตัว( solid) เกินไป
จึงอยากจะ ทำความเข้าใจว่า ไม่มีนักยุทธวิธีคนใดในโลกจะกระทำเช่นนั้นโดยไม่มีการตระเตรียมความพร้อมของ ฝ่ายตนในทุกๆด้านก่อนจะลงมือสู้รบ ไม่ว่าจะเป็นเชิงรุกหรือรับ การคิดแบบหยุดนิ่งตายตัวเช่นนี้เหมือนโจทย์คณิตศาสตร์ที่ว่า
ถ้า (๑+๑ ) = ๒ แล้ว ดังนั้น (-๑) +( -๑) ก็ต้อง = ๒ ด้วยเช่นนั้นหรือ?
เมื่อ มีทัศนะเช่นนี้ จึงทำให้ไม่อาจมองเห็นองค์ประกอบของปัญหาอย่างรอบด้านเท่าที่ควรจะเป็น ไม่เห็นและไม่เข้าใจต่อความเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กันของ”สิ่ง”ต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความต่อเนื่องสัมพันธ์กันอย่างแยกไม่ออกระหว่างสงครามกับ การเมือง
ดังคำจำกัดความที่มีชื่อเสียงก้องโลกของ ฟอน เคล้าสวิทซ์ ที่ว่า
“สงครามคือสิ่งต่อเนื่องจากการเมืองโดยวิธีการอื่นๆ”
และ เหมา เจ๋อ ตุง ให้คำสรุปว่า
“สงครามคือการเมืองที่หลั่งเลือด การเมืองคือสงครามที่ไม่หลั่งเลือด ”
ข้อกล่าวหาอีกอย่างหนึ่งที่นักสันติวิธีสุดขั้วชอบที่จะยกมาอ้างอยู่เสมอๆว่า ผู้ไม่เห็นด้วยกับแนวทางสันติ(แต่เพียงแนวทางเดียว)ของพวกเขานั้น เป็นผู้ที่ไม่มีความรับผิดชอบต่อความเป็นความตายของประชาชน นั่นเป็นความเข้าใจที่ผิดพลาดและเป็นการกล่าวหาที่รุนแรงอย่างยิ่ง ที่กล่าวกันเช่นนี้น่าจะเกิดจากปัญหาของความรับรู้มากกว่า คนที่พูดไม่ได้มีความเข้าใจการเคลื่อนไหวต่อสู้แม้แต่ในระดับปฏิบัติการเลย แม้แต่น้อย มิพักต้องกล่าวถึงการต่อสู้ในหลากหลายรูปแบบ หลายแนวรบ ทั้งๆที่ชอบกล่าวอ้างถึงแต่เรื่องของยุทธศาสตร์-ยุทธวิธีบ่อยครั้งเหลือ เกิน เหมือนกับว่ามันเป็นเครื่องมือที่ใช้สำหรับโอ่อวดความรู้ ที่งัดออกมาใช้ข่มขวัญในยามสนทนาแลกเปลี่ยนกับผู้อื่นอย่างไรอย่างนั้น
การเชื่อมั่นและติดตาม ”ผู้นำ” ก็เช่นกัน อยากจะเรียนว่าการติดตามนั้นมีอยู่สองลักษณะ อย่างแรกคือตามด้วยสัญชาติญาณเหมือนฝูงกวางที่ติดตามจ่าฝูง เพราะสัญชาติญานบอกมันว่าถ้าตามไปจะมีอาหารกิน มีน้ำดื่ม และมีความปลอดภัย แต่สำหรับมนุษย์แล้วย่อมแตกต่างออกไป นอกจากจะเกิดจากสัญชาติญาณในการตามแล้ว มนุษย์ยังมีระบบคิดเพื่อที่จะตัดสินใจอย่างเป็นอิสระ ว่าจะเดินตามใคร? จะไปในแนวทางไหน....หรือไม่ก็ได้อีกด้วย
หากจะฉุกคิดสักนิดหนึ่ง ว่า การที่ประชาชนจะเชื่อและยอมรับการนำนั้น อย่างน้อยที่สุดการตัดสินใจของพวกเขาก็ต้องผ่านกระบวนการขบคิดมาแล้ว จะถูกหรือผิดอย่างไรไม่มีใครจะมาตัดสินแทนได้ โดยเฉพาะขบวนการที่มีการจัดตั้งอย่างหลวมๆเช่นนี้ ดังนั้นจึงไม่ควรคิดว่าตนเองอยู่ในฐานะผู้สั่งการใดๆ ใครก็ตามที่มีพฤติกรรมเช่นนี้มันสะท้อนให้เห็นว่า พวกเขาพร้อมที่จะประนีประนอมกับพวกเผด็จการศักดินาที่ยกเอา”ความสงบเรียบ ร้อย” มาอ้าง อย่างเป็นฝ่ายที่ถูกกระทำอยู่ทุกเวลา
ต่อความหมายของคำว่า”ยุทธศาสตร์” ในการต่อสู้ทางการเมืองนั้นนั้น กล่าวโดยสรุปก็คือเป็นการกำหนดแนวทางตลอดระยะเวลาหนึ่งๆ(period of time) ที่จะไปเอาชนะศัตรู ซึ่งอาจจะเป็นขั้นตอนเดียวหรือแบ่งเป็นหลายขั้นตอนก็สุดแล้วแต่ มีองค์ประกอบ สำคัญได้แก่ เป้าหมาย ทิศทาง จะต้องกำหนดมาจากลักษณะสังคมอย่างที่เป็นจริงในช่วงเวลานั้นๆด้วยการ วิเคราะห์สังคมที่ต้องการเปลึ่ยนแปลงทั้งระบบ
ไม่เพียงเท่านั้น ยังต้องวิเคราะห์ศัตรูคู่ต่อสู้ วิเคราะห์ตัวเอง และวิเคราะห์ปัจจัยต่างๆที่เอื้อและไม่เอื้อประโยชน์ต่อขบวนการให้รอบคอบ เท่าที่จะทำได้อีกด้วย ที่สำคัญก็คือ....จะใช้แนวทางทฤษฎีชนิดใดไปวิเคราะห์ ดังนั้นยุทธศาสตร์จึงไม่ใช่กำหนดขึ้นจากการนั่งหลับตาคิดเอาเอง หรือคิดแก้ไขปัญหาไปวันๆอย่างเด็ดขาด หากยุทธศาสตร์ผิด สิ่งที่ติดตามมาก็จะผิดไปด้วย และนั่นคือความพ่ายแพ้ที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้
การต่อสู้เพื่อช่วงชิง อำนาจรัฐนั้น เป็นการต่อสู้ชนิดเอาเป็นเอาตายมีชีวิตเป็นเดิมพัน ไม่ใช่การยกพวกตีกันด้วยการโห่ร้องกวัดแกว่งอาวุธ มีด ไม้ วิ่งดาหน้าเข้าหาศัตรูที่ถือปืน (ความสูญเสียที่สะพานมัฆวานคือบทเรียนที่แสนแพง) จินตภาพเช่นนี้เป็นจินตภาพของผู้ที่ยังติดอยู่กับความคิดแบบศักดินาที่ดูถูก มวล จนมองไม่เห็นศักยภาพของพวกเขา เชื่อว่าหลังจากผ่านวิกฤตในกรณีสงกรานต์เลือดแล้ว มวลชนย่อมมีความจัดเจนมากพอที่จะต่อสู้อย่างมียุทธวิธีเมื่อถึงคราวจำเป็น หากเรื่องนี้ยังไม่ชัดเจนก็ป่วยการที่จะไปพูดถึงลักษณะของการต่อสู้ในรูปแบบ อื่นๆ
อีกเรื่องหนึ่งที่นักสันติวิธีแบบสุดขั้วเกิดความวิตกกังวลกัน มาก ได้แก่การตั้งคำถามที่ไม่ต้องการคำตอบว่า จะเอาอาวุธมาจากไหน? จะตอบให้ก็ได้ว่าอาวุธที่สำคัญที่สุดของประชาชนนั้นคือ ”การจัดตั้ง” ที่เป็นระบบ มีวินัย ปิดลับ หรือกึ่งปิดลับ ที่ทำการเคลื่อนไหวทั้งแนวทางที่ถูกกฎหมายและผิดกฎหมาย(ของพวกเผด็จการ) คู่ขนานกันไป ผู้ที่ตั้งคำถามนี้หากไม่เกิดจากปัญหาทางความรับรู้ ก็ต้องเกิดจากปัญหาทางความคิดที่ยังแก้ไม่ตกไม่รู้จะเลือกแนวทางไหนดี?
อีก ด้านหนึ่ง....ถ้าได้ศึกษาประวัติศาสตร์การต่อสู้เพื่อปลดปล่อยตนเองของประชา ชาติต่างๆมาบ้าง ปัญหานี้จะได้รับการแก้ไขให้ตกไปได้ นายพล โว เหวียน ย๊าป อาจารย์สอนประวัติศาสตร์สร้างกองทัพเวียดมินต์จากคนเพียงไม่กี่คน โดยตั้งเป้าหมายไว้เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการเคลื่อนไหวปกป้องการโฆษณาแนว ทางการต่อสู้เพื่อเอกราชของชาติ จนกระทั่งพัฒนาเป็นกองทัพประชาชน จนสามารถพิชิตนักล่าอาณานิคมฝรั่งเศสที่ยิ่งใหญ่ในยุทธภูมิเดียนเบียนฟูได้ ในเวลาต่อมา และจากนั้นไม่นานก็ปลดปล่อยประเทศเวียดนามจากผู้รุกรานที่มีศักยภาพทาง อาวุธเป็นอันดับหนึ่งของโลกให้ได้เห็นเป็นที่ประจักษ์
ดร.ฟิเดล คัสโตร และ นายแพทย์ เออร์เนสโต “เช” เกอวาร่า นั่งเรือหาปลารอนแรมในทะเลร่วมกับพลพรรคสามสิบกว่าคนมาขึ้นฝั่งประเทศคิวบา มีปืนลูกซอง ปืนพก ดาบ ปืนไรเฟิลขึ้นสนิมไม่กี่กระบอก ยังมีคนป่วยในขณะเดินทางอีก สามารถต่อสู้ โค่นล้มเผด็จการ บาติสต้า ปลดปล่อยประเทศคิวบาได้ในที่สุด และก็เช่นเดียวกับนักปลดปล่อยทั้งหลาย ล่าสุด นาย พุชปา ฮามาล ดาฮาล หรือสหาย”ประจันดา”อดีตครูที่หลบหนีการไล่ล่า(เพราะคิดต่าง)จนต้องหลบไป ต่อสู้ในเขตชนบท สามารถปลดปล่อยเนปาลจากชนชั้นปกครองได้ ถ้าปัญหานี้ยังไม่สามารถไปบรรลุได้ก็คงไม่ต้องมาเสียเวลาอธิบายกันอีกแล้ว
การ เรียกร้องที่มีลักษณะเย้ยหยันเช่น ให้เปิดเผยแผนการต่อสู้ หรือให้นำเอายุทธวิธีที่เป็นรูปธรรมมาแบต่อหน้า หรือประกาศต่อสาธารณะนั้น ไม่น่าจะเรียกว่าเป็นความกล้าหาญและป็นการกระทำที่เฉลียวฉลาดอย่างแน่นอน ใครที่กระทำเช่นนี้หากมิใช่ใสซื่อเอามากๆก็ต้องสติฟั่นเฟือนเป็นแน่ ดูแต่พวกทรราชย์เถิด เวลาที่มันจะ ปราบปรามประชาชนมันเคยบอกให้รู้ล่วงหน้าเสียที่ไหน
การที่แนว คิดหนึ่งๆจะเป็นที่ยอมรับหรือไม่นั้น มันขึ้นอยู่กับว่า มันมีความชัดเจนแค่ไหน มีเหตุมีผลมีที่มาที่ไปอย่างไร มีความอ่อนตัวยืดหยุ่นในทางปฏิบัติได้อย่างหลากหลายแค่ไหน มีแบบอย่างที่เป็นรูปธรรมจากการสังเคราะห์ถึงความสำเร็จและล้มเหลวทาง ประวัติศาสตร์มาเป็นบทเรียนได้มากน้อยเพียงใด ที่สำคัญก็คือมันจะสนองประโยชน์ต่อประชาชนส่วนข้างมากได้ตามต้องการหรือไม่ ไม่ใช่การพยายามจะชี้นำด้วยความคิดและรูปแบบที่ตายตัวอย่างไร้ยุทธศาสตร์ และยุทธวิธี ที่คำนึงถึงแต่รูปแบบโดยไม่สนใจในเนื้อหา เพราะการต่อสู้ใดๆนั้นไม่เคยมีสูตรสำเร็จที่จะนำไปสู่ชัยชนะได้เลย
แม้ ว่าเราไม่สามารถควบคุมภววิสัยให้เป็นไปอย่างที่ตนต้องการได้ แต่สามารถสร้างเงื่อนไขไปปั้นแต่งสถานการณ์ได้ การใช้แต่รูปแบบการต่อสู้ที่ซ้ำซากเพียงอย่างเดียวนั้น อย่านึกว่าจะกดดันพวกผด็จการอำมาตย์ได้ตลอดไป เพราะพวกเขาไม่ได้โง่เขลาอย่างที่คิด ในทางกลับกันหากจะมองว่าการประกาศ พรก.ฉุกเฉินนั้นมันเป็นการรุกกลับชนิดหนึ่ง เป็นการชลอเวลาเพื่อหวังจะบ่อนทำลายรูปแบบการต่อสู้ของพวกเรานั้น มีความเป็นไปได้หรือไม่ ? คงไม่ใช่เพราะพวกเขากลัวจนลนลานอย่างที่นักเล็งผลเลิศคิด
ต่อความเป็นความตายและผลประโยชน์ของชาติ เป็นสิ่งที่รอไม่ได้แม้แต่วันเดียว ที่จะปล่อยให้พังพินาศลงไปต่อหน้าต่อตาด้วยฝีมือของพวกทรราชย์ ไม่อาจใช้รูปแบบการต่อสู้คัดค้านพวกมันด้วยการชุมนุมขับไล่และก่นด่า หรือรอคอยให้พวกมันค่อยๆ ล้มหายตายจากไปทีละคนตามกาลเวลา โดยคิดว่ามันไม่มีผู้สืบทอดเลยหรือไร? นั่นไม่ใช่อะไรเลย มันเป็นความคิดของลัทธิยอมจำนนโดยแท้ ช่างเป็นความหวังที่เลื่อนลอยอะไรอย่างนั้น มันมองไม่เห็นแม้แต่สะเก็ดไฟเล็กๆที่จะวาบขึ้นที่ปลายอุโมงค์อันมืดมิด
เมื่อเราตัดสินใจที่จะบุกเดินฝ่าไปบนเส้นทางแห่งเสรีภาพและความ เป็นธรรม ที่อุดมไปด้วยสัตว์ร้ายนานาชนิดซึ่งคอยจ้องทำอันตรายอยู่รอบกาย หากจะถือไม้สักท่อนหนึ่งไว้ในมือเพื่อป้องกันตัวบ้างนั้นเป็นความรุนแรงที่ รับกันไม่ได้เลยหรือ ผมกลับเห็นว่านั่นคือพลังต่อรองที่มีประสิทธิภาพและมีความจำเป็นอย่างยิ่ง เลยทีเดียว
การที่มีคนไม่เห็นด้วยกับรูปแบบการเคลื่อนไหวแบบที่ เป็นอยู่นี้ ไม่ได้หมายความว่า การเสนอแนวทางอย่างอื่นนั้นผิดและเสนอไม่ได้ อาจเป็นเพราะว่าเขามองไม่เห็นความสำเร็จในสายตาและสติปัญญาของพวกเขา การลองผิดลองถูกนั้นไม่พึงนำมาใช้ในการต่อสู้ที่เอาเป็นเอาตายเช่นนี้ การที่เราล่วงรู้จุดอ่อนข้อบกพร่องของตนเอง และสามารถแก้ไขได้อย่างทันท่วงทีนั้นถือได้ว่า...ได้สร้างความเป็นปึกแผ่น ให้กับขบวนการ
ไม่ควรย่อเป้าให้เล็กลงด้วยการต่อสู้ที่จำกัดแต่ เพียงแนวทางเดียว มันเป็นการทำให้ตัวเองที่มีแต่จะเล็กลง ในขณะที่ศัตรูก็ยิ่งเติบใหญ่ขึ้น แล้วเราจะไปชนะมันได้อย่างไร
รักประชาธิปไตยไม่เอาเผด็จการ ต่อต้านการรัฐประหารทุกรูปแบบ สร้างขวัญกำลังใจและความสุขเพื่อปวงชน
แดงเชียงใหม่
กราบสวัสดี พี่น้องทุกๆท่านที่เข้ามาเยี่ยมเยือน Blog นปช.แดงเชียงใหม่ ขอเรียนชี้แจงสักนิดว่า เรา ”แดงเจียงใหม่” เป็นกลุ่มคนชาวเจียงใหม่ที่เคารพรัก กติกาประชาธิปไตย ต่อสู้และต่อต้านเผด็จการทุกรูปแบบ อยากเห็นประเทศชาติภายภาคหน้า มีความเจริญ ประชาชน รุ่นลูกหลานของเราอยู่อาศัยอย่างร่มเย็นเป็นสุขในประเทศของพวกเราเอง ไม่มีกลุ่มอภิสิทธิ์ชนกลุ่มใดมาสูบเลือดเนื้อ แอบอ้างบุญคุณเฉกเช่นในยุคนี้ที่พวกเราเห็น การที่จะได้รับในสิ่งที่มุ่งหวังก็ต้องมีการต่อสู้แสดงกำลังให้สังคมได้รับรู้ และเพื่อที่จะให้กลุ่มบุคคลที่มีอำนาจในปัจจุบันได้เข้าใจในสังคมที่ก้าวหน้าเปลี่ยนแปลงไป ไม่อาจฝืนต่อกระแสการพัฒนาของโลก การต่อสู้ร่วมกับผองชนทั่วประเทศในครั้งนี้ เรา " แดงเจียงใหม่ " ได้ร่วมต่อสู้ทุกรูปแบบ และ ในรูปแบบที่ท่านได้เข้ามาร่วมอยู่นี้ คือการเผยแพร่ข่าวสารต่อสังคม
เรา " แดงเจียงใหม่ " ขอเชิญชวนร่วมกันสร้างขวัญ และกำลังใจให้เพื่อนพ้องน้องพี่ร่วมกัน
"อันประชาสามัคคีมีจัดตั้ง
เป็นพลังแกร่งกล้ามหาศาล
แสนอาวุธแสนศัตรูหมู่อันธพาล
ไม่อาจต้านมวลมหาประชาชน"
.
เป็นพลังแกร่งกล้ามหาศาล
แสนอาวุธแสนศัตรูหมู่อันธพาล
ไม่อาจต้านมวลมหาประชาชน"
.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น