ตอนที่ 1
2549 - 2551 ลำดับความขัดแย้ง - แตกแยก - แตกหัก !!
รัฐประหาร 2549 เปลี่ยนความขัดแย้งเป็นความแตกแยก
ตุลาการรัฐประหาร 2551 ขยายความแตกแยกสู่จุดแตกหักที่มิอาจเยียวยา
สุพจน์ ด่านตระกูล นักต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมทางประวัติศาสตร์ในระบอบประชาธิปไตย เคยกล่าวไว้เมื่อปี พ.ศ. 2549 สรุปความดังนี้ว่า "การรัฐประหารในอดีตของประเทศไทยเป็นความขัดแย้งรอง คือเป็นความขัดแย้งในหมู่ชนชั้นสูง หรือชนชั้นอำนาจ โดยประชาชนมิได้รู้เห็น มิได้เกี่ยวข้องสนใจ แต่การรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 เป็นเรื่องของความขัดแย้งหลัก คือชนชั้นอำนาจได้แย่งชิงอธิปไตยไปจากปวงชนโดยตรง (หมายถึงการยึดอำนาจจากรัฐบาลที่มาจากตัวแทนประชาชน..ที่ยังมีประชาชนจำนวน มากมายสนับสนุน)รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 จึงเป็นความขัดแย้งหลัก - ความขัดแย้งระหว่างประชาชนกับชนชั้นที่ผูกขาดอำนาจในสังคมไว้เนิ่นนาน
การรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 เป็นเสมือนการทำลายอุดมการณ์ของ "คณะราษฎร" ลงอย่างเบ็ดเสร็จเป็นการกวาดล้างคนสำคัญกลุ่มสุดท้ายของ "การปฏิวัติ 2475" ออกไปจากการเมืองไทย และเป็นจุดเริ่มต้นของระบอบเก่าในรูปแบบใหม่ หรือ "ระบอบอำมาตยาธิปไตย" ที่เรารู้จักกันในปัจจุบัน และระบอบอำมาตยาธิปไตยก็สามารถกลับเข้าสู่อำนาจอย่างสมบูรณ์เมื่อ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ก่อรัฐประหาร ในคืนวันที่ 16 กันยายน 2500ระบอบอำมาตยาธิปไตยเข้าสู่ยุครุ่งเรืองสูงสุด ในสมัยที่พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี ในปี 2523ชนชั้นในระบอบอำมาตยาธิปไตย สามารถรักษาอำนาจไว้อย่างมั่นคงและแนบเนียนเสมอมาความขัดแย้งใดที่เกิดขึ้น ระหว่างปี 2490 ถึง 2549 ล้วนแต่เป็นความขัดแย้งรอง เป็นความขัดแย้งในหมู่ชนชั้นสูง
ความขัดแย้งในหมู่นายพลขุนศึก ไม่ว่าจะเป็นการรัฐประหาร หรือการนองเลือดในกรุงเทพฯ ซึ่งสามารถยุติอย่างง่ายดายเมื่อมีคนเข้ามาเจรจาไกล่เกลี่ย ต้นเหตุความขัดแย้ง และ / หรือคู่กรณีในความขัดแย้ง ล้วนแต่เป็นคนในชนชั้นปกครอง และยังไม่เคยขยายวงเป็น "ความขัดแย้งหลัก" หรือความขัดแย้งในระดับชนชั้น ที่มีประชาชนเป็นคู่กรณี (แม้แต่การสู้รบกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย..ในอดีต พรรคคอมมิวนิสต์ก็ยังไม่เคยมีฐานมวลชนมากเพียงพอที่จะทำให้ความขัดแย้งนั้น ลงสู่ระดับรากหญ้าของประเทศได้)
ชนชั้นอำมาตย์สร้างความขัดแย้งรองให้เป็นความขัดแย้งหลัก
การบริหารราชการของนายกรัฐมนตรี ดร. ทักษิณ ชินวัตร ระหว่างปี พ.ศ. 2544 - 2548 มิได้เป็นอุปสรรคต่อการดำรงอยู่ซึ่งอำนาจในระบอบอำมาตยาธิปไตย นโยบายเศรษฐกิจแบบเสรีทุนนิยม ก็แค่สร้างความมั่งคั่งให้กับการคลังของประเทศ ซึ่งชนชั้นสูงเองก็ได้รับประโยชน์จากเศรษฐกิจที่ดีขึ้นด้วย และการที่ประชาชนในภูมิภาคสามารถลืมตาอ้าปาก สามารถช่วยตัวเอง และมีชีวิตที่ดีขึ้นจากนโยบายเศรษฐกิจนี้ ก็มิได้สั่นคลอนอำนาจของอำมาตยาธิปไตยแต่อย่างใด ..นโยบายสวัสดิการสังคม ก็มีเพื่อคุณภาพชีวิตของประชาชน
ขณะที่นายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร ดำเนินนโยบายตามที่สัญญาไว้กับประชาชน ตัวของเขาเองก็ไม่เคยท้าทายอำนาจของระบอบอำมาตยาธิปไตย ตรงกันข้าม นายกฯ ทักษิณ เป็นคนที่ประนีประนอม..และโอนอ่อนตามระบอบอำมาตยาธิปไตยมากที่สุดคนหนึ่ง โดยเฉพาะในแง่มุมทางวัฒนธรรม ยกตัวอย่าง "การจัดระเบียบสังคม" ของปุระชัย เปี่ยมสมบูรณ์ รัฐมนตรีมหาดไทยขณะนั้น แม้มีเจตนาที่ดีงาม มีเนื้อหาที่ถูกต้องเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมแต่ทว่า ถ้อยคำ - ทัศนะคติ - วิธีการ ล้วนเป็นกระบวนคิดอำมาตยาธิปไตยนั่นคือ..ยัดเยียดค่านิยมทางวัฒนธรรม - ศีลธรรมของตนเอง แล้วบังคับใช้ด้วยอำนาจผลที่ได้เบื้องต้นคือความสงบเรียบร้อยของสังคม แต่สิ่งที่ปลูกฝังให้สังคมคือ "อำนาจ" สามารถบังคับให้ได้มาซึ่งทุกสิ่งที่ผู้มีอำนาจต้องการ
นอกจากนั้น นายกฯทักษิณ ยังปล่อยให้ "ผู้นิยมระบอบอำมาตยาธิปไตย" เข้าไปดำเนินนโยบายในกระทรวงวัฒนธรรมอย่างเต็มที่ เรียกได้ว่า ไม่มีการคานอำนาจจากผู้คนที่มีแนวคิดเสรีนิยมหรือแนวคิดแตกต่างอาจเป็นเพราะ นายกฯทักษิณกำลังเน้นไปที่ปัญหาเศรษฐกิจของประเทศและเห็นว่ากระทรวงวัฒนธรรม ไม่ใช่กระทรวงเศรษฐกิจ เป็นกระทรวงเล็ก..จึงอาจมองข้ามไปได้ว่า "วัฒนธรรมคืออาวุธ" แม้แต่สหรัฐอเมริกาในช่วงต้นสงครามเย็น ก็ยังก่อตั้งหน่วยงานใต้ดินทางวัฒนธรรมขึ้นมา ดำเนินการโดย CIA เพื่อใช้ศิลปะวัฒนธรรมเป็นอาวุธต่อต้านการแพร่ขยายของลัทธิคอมมิวนิสต์ ซึ่งอำมาตยาไทยบางส่วน จะเข้าใจเรื่องราวในมิติเช่นนี้ดี
กระทรวงวัฒนธรรมเกิดขึ้นจากรัฐธรรมนูญ 2540 ซึ่งฝ่ายอำมาตย์ก็มีส่วนร่วมร่างอยู่เกือบทั้งหมด พวกเขาจึงส่งคนของตนเองเข้าไปเต็มกระทรวงวัฒนธรรม ก่อตั้งหน่วยงานพิศดารเช่น "ศูนย์เฝ้าระวังทางวัฒนธรรม" แค่ชื่อก็บ่งบอกถึงลัทธิอำนาจนิยม เผด็จการในทุกรูปแบบ แต่เวลานั้นไม่มีใครออกมาคัดค้าน ที่ค้านก็ไม่มีคนฟัง เพราะทุกคนคิดว่าเป็นเรื่องดีงาม เพราะทุกคนก็อยู่ในกรอบแนวคิดอำมาตยาธิปไตยด้วยกันทั้งนั้น แล้วการเฝ้าระวังทางวัฒนธรรมคืออะไร ?? มันคือการเฝ้าดูให้แน่ใจ..ว่าทุกคนจะเป็นไปในกรอบคิดอนุรักษ์นิยม ไม่ต่างจากการ"จัดระเบียบสังคม"
นอกจากนั้น กฎหมายเซ็นเซ่อร์ภาพยนตร์ฉบับแรกจากกระทรวงวัฒนธรรม ยังถือได้ว่าเป็นกฎหมายพิศดาร ที่เป็นต้นแบบของรัฐธรรมนูญ 2550 - ต้นแบบวิธีการใช้กฎหมายหลังรัฐประหารของ คตส. ปปช. และอีกสารพัดองค์กรอิสระนั่นคือ กฎหมายที่ให้อำนาจหน่วยงานมากเกินไป ให้อำนาจตีความแบบครอบจักรวาล ทำแล้วก็ไม่ต้องรับผิดชอบต่อผลใดๆที่ตามมา นึกจะเปลี่ยนกติกาใหม่ตอนไหนก็ได้
เมื่อนายกฯทักษิณได้รับคำสั่งให้จัดการปัญหายาเสพติด เขาก็รับไปปฏิบัติอย่างรวดเร็วทันใจที่กล่าวมาเป็นเพียงตัวอย่างเล็กน้อย และแสดงให้เห็นว่า ดร. ทักษิณ ชินวัตร ไม่ได้มีท่าทีเป็นปฏิปักษ์ต่อระบอบและชนชั้นอำมาตยาธิปไตย ..เขาทำงานรับใช้ชนชั้นในระบอบนี้อย่างแข็งขัน ไม่ต่างไปจากนายกรัฐมนตรีคนอื่นๆ
ข้อแตกต่างมีเพียงแค่..นายกฯทักษิณทำงานรับใช้ประชาชนไปด้วยในเวลาเดียวกันและประชาชนผู้สนับสนุนพรรคไทยรักไทย หรือ ทักษิณ ชินวัตร ก็ไม่มีความเป็นปฏิปักษ์ต่ออำมาตยาธิปไตยแถมยังเป็นประชาชนที่รู้จักเพียงคำ ว่า "เห็นควรด้วย" เห็นดีงามไปกับค่านิยมอำมาตยาธิปไตยเสียทุกเรื่องทุกประเด็นมาถึงจุดนี้ แทบจะเป็นไปไม่ได้เลย ที่ระบอบอำมาตยาธิปไตยต้องเผชิญกับ"ความขัดแย้งหลัก"ในอนาคตอันใกล้
ความแตกต่างของนายกฯทักษิณ คือเขาไม่รับคำสั่งจากพลเอกเปรม ติณสูลานนท์
นอกจากนั้น ดร.ทักษิณ ชินวัตร ยังต้องการรักษาสัญญาที่ให้ไว้กับประชาชน การจะทำนโยบายให้ได้ผลรวดเร็ว จำเป็นต้องปฏิรูปเปลี่ยนแปลงระบบราชการหลายต่อหลายอย่างและโดยส่วนตัว เขาเป็นคนอ่านหนังสือมาก ..รู้มากพอๆกับนักวิชาการในมหาวิทยาลัยไทย ปัญหาหลายอย่างในระบบการศึกษาไทย เป็นเรื่องที่คนในสายงานต่างวิพากษ์วิจารณ์กันมานานพอสมควร โดยเฉพาะ "คุณภาพการศึกษาของมหาวิทยาลัยไทย" ที่ยังเป็นเรื่อง "น่าสงสัย" ..งานวิจัยที่ไม่เป็นชิ้นเป็นอัน อาจารย์มหาวิทยาลัยไทยจำนวนไม่น้อยที่เด็กเกินไป ประสบการณ์ในแขนงวิชาน้อยเกินไป ..และอีกมากมาย แต่เมื่อนายกฯทักษิณพูดถึงปัญหาเหล่านี้ในที่สาธารณะ สิ่งที่ตามมาคือความโกรธอาฆาตแค้นของนักวิชาการไทยจำนวนหนึ่ง โดยเฉพาะในมหาวิทยาลัยศักดินาทั้งหลายความหมั่นไส้ โกรธแค้น อิจฉาริษยาในเรื่องส่วนตัวบวกกับ ความกลัว ของกลุ่มอำนาจบางกลุ่ม ที่มองว่านายกฯคนนี้ กำลังเป็นที่โปรดปรานของชนชั้นสูงบางคน และอาจส่งผลให้นายกฯทักษิณก้าวขึ้นมามีอำนาจวาสนาในฐานะ "ผู้มีบารมี" แทนที่พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ก็เป็นได้
ดังนั้น ขบวนการโค่นทักษิณ จึงก่อตัวเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้นมาถึงตรงนี้ก็ยังเป็นเพียง "ความขัดแย้งรอง"
การโจมตีนายกฯทักษิณ ชินวัตรตลอดสี่ปีของการเป็นรัฐบาล..ไม่ได้ส่งผลกระทบอะไรเลยเพราะประชาชน จำนวนมากชื่นชมผลงานของรัฐบาล ประชาชนเริ่มมีความหวังกับอนาคตของตน ดังนั้น การเลือกตั้งในปี พ.ศ. 2548 พรรคไทยรักไทยจึงได้ที่นั่งเพิ่มขึ้นอีก 127 ที่นั่ง เป็น 375 ที่นั่งจากทั้งหมด 500 ที่นั่ง เท่ากับว่าพรรคไทยรักไทยครองเสียงข้างมากในรัฐสภา..แบบเบ็ดเสร็จพรรคเดียว เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ประเทศไทยปรากฏการณ์เช่นนี้ยิ่งสร้างความตื่น ตระหนกต่อชนชั้นอำมาตย์ พวกเขาจึงเร่งระดมสรรพกำลังทุกรูปแบบ ในการโค่นนายกฯทักษิณ ชนชั้นอำมาตย์สร้างแนวร่วมกับพวกปฏิกิริยาชนชั้นกลาง โฆษณาชวนเชื่อผ่านสื่อมวลชนกระแสหลักที่ผูกขาดโดยนายทุนไม่กี่กลุ่ม (เมื่อย้อนดูแหล่งที่มาของเงิน + อิทธิพล จะเห็นว่าสื่อไทย คือนายทุนไม่กี่คน) และในครั้งนี้..ชนชั้นอำมาตย์มีแนวร่วมสื่อมวลชนเพิ่มขึ้นอีก คือ สนธิ ลิ้มทองกุล
ความโอนอ่อนต่อชนชั้นอำมาตย์ ทำให้นายกฯทักษิณยอมยุบสภา ทั้งๆที่ไม่มีความจำเป็น.. และต้องมาเผชิญหมากกลง่ายๆ ไม่ซับซ้อน เช่นการไม่ยอมลงเลือกตั้งของพรรคประชาธิปัตย์ การใช้กระบวนการศาลทำให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะด้วยเหตุผลไม่เป็นสาระ แถมยังยอมเว้นวรรคทางการเมือง..โดยลาพักจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีซึ่งเพียงเท่านี้ก็น่าจะพอสมควรแก่เหตุ แต่ฝ่ายอำมาตย์ยังคงรุกไล่ ตามบี้อย่างไม่จบสิ้น .. สื่อมวลชนกระแสหลักซึ่งรับใช้กลุ่มทุนอำมาตย์ (ทุนนิยมสามานย์) ยังคงโหมกระพือให้ความขัดแย้งรุนแรงมากขึ้นคะแนนเสียงเดิมของพรรคไทยรักไทยโดยเฉลี่ยจะอยู่ระหว่าง 14 - 16 ล้านคะแนน บวกลบไปตามสถานการณ์การเลือกตั้ง
ผลการเลือกตั้งเมื่อปี 2548 พรรคไทยรักไทย ได้คะแนนรวม 14,077,711 คะแนน คิดเป็น 56.4% ของผู้มีสิทธิเลือกตั้งขณะที่พรรคประชาธิปัตย์มีคะแนนรวมคิดเป็น 16.1% ของผู้มีสิทธิเลือกตั้งพรรคไทยรักไทยมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ทั้งสัดส่วนและแบ่งเขต 375 คน จากทั้งหมด 500 ที่นั่ง ยังไม่นับรวมสมาชิกวุฒิสภาที่ไม่สามารถสังกัดพรรค แต่มีใจฝักใฝ่พรรคไทยรักไทยอีกจำนวนหนึ่ง (ซึ่งอาจเกือบครึ่งวุฒิสภา)ด้วยคะแนนนิยม หรือคะแนนเสียงมากมายเช่นนี้ย่อมบ่งบอกถึงฐานมวลชนของพรรค ที่มีมากที่สุดในประเทศ ..มากที่สุดในประวัติศาสตร์ การที่คนจะเทคะแนนให้ใครมากขนาดนี้ พรรคนั้น หรือตัวบุคคลในพรรคนั้นจะต้องทำอะไรไว้เป็นที่ถูกใจประชาชนมากพอสมควร - นี่น่าจะเป็นสามัญสำนึกทั่วไปแต่นี่คือสิ่งที่ชนชั้นอำมาตย์คิด..การที่พรรคไทยรักไทยได้คะแนนมากมายเช่นนี้ เพราะมีเงินซื้อเสียง (คือมองว่าประชาชนโง่เง่า และซื้อได้)มองว่าการมีรัฐบาลเข้มแข็ง มีเสียงเบ็ดเสร็จในสภาเป็น "เผด็จการรัฐสภา" อาจฟังดูโง่เง่ากับตรรกะเช่นนี้ แต่อำมาตย์และชนชั้นปฏิกิริยาในกรุงเทพสามารถคิดและเชื่อเช่นนี้จริงๆ ดังปรากฏอยู่ตามข้อเขียนในสื่อสิ่งพิมพ์ โทรทัศน์และงานวิชาการทั่วไปที่ผลิตออกมาตลอดช่วงเวลานั้น เป็นหลักฐานยืนยันว่าพวกเขาคิดและเชื่อเช่นนั้นจริงๆและเมื่อชนชั้นอำมาตย์ - ปฏิกิริยาชนชั้นกลางกรุงเทพฯ ออกมาไล่ชี้หน้าใครต่อใครว่า"นายกฯทักษิณและพรรคไทยรักไทยใช้วิธีซื้อเสียง" ชนชั้นอำมาตย์อาจต้องการผล..เพียงแค่ทำลายชื่อเสียงของพรรคไทยรักไทย และอาจมองข้ามไปว่า คำพูดเช่นนั้น ได้ก่อให้เกิดความเป็นปฏิปักษ์กับ "ประชาชนไม่ต่ำกว่า 14ล้านคนที่เลือกพรรคไทยรักไทย" - นี่เป็นการสะสมคะแนนความโกรธแค้นเบื้องต้น
แต่ชนชั้นอำมาตย์จะเข้าใจสิ่งนี้หรือไม่ ( ? )เพราะในระบอบอำมาตยาธิปไตย นับแต่จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ สถาปนาระบอบอำมาตยาธิปไตยยุคใหม่ขึ้นมา(ด้วยการรัฐประหาร ช่วงชิงอำนาจมาจากระบอบเผด็จการทหาร fascism) การก่นด่านักการเมืองเป็นวาทกรรมของพวกปฏิกิริยาชนชั้นกลาง วาทกรรมนี้ช่วยให้พวกเขาดูเหมือนผู้มีจิตสำนึกทางการเมือง ..ส่วนนักการเมืองในระบอบเผด็จการอำมาตยาธิปไตยนั้น "ไม่มีตัวตน" เป็นแค่ "นักเลือกตั้ง" ในเทศกาล "ปา...่ประชาธิปไตย" และนักการเมืองหรือนักเลือกตั้งเหล่านี้ มีบทบาทน้อยมากในการกำหนดทิศทางประเทศ เพราะทุกอย่างถูกกำหนดมาจากข้างบน แม้แต่นายกรัฐมนตรีก็ต้องเป็นคนที่ชนชั้นสูงส่งมาให้ นายกรัฐมนตรีที่ไม่เข้าตา หรือทำงานไม่ถูกใจชนชั้นสูง..ก็จะถูกเขี่ยออกไปในเวลารวดเร็ว นายกรัฐมนตรีที่ถูกใจชนชั้นสูง..แต่ไม่เคยมีผลงานเป็นชิ้นเป็นอัน ก็ยังสามารถอยู่ได้และได้รับการเยินยอจากสื่อมวลชนกระแสหลัก (ที่ผูกขาดโดยชนชั้นสูงไม่กี่คน)นายกรัฐมนตรีที่ถูกชนชั้นสูงที่เขี่ยทิ้ง แล้วยังไม่ยอมลาออก ..ก็จะถูกรัฐประหาร -แต่ทว่า "บทบาทนักเลือกตั้ง" เปลี่ยนไปหลังจาก 4 ปีของพรรคไทยรักไทย
ในการเลือกตั้งครั้งแรก พรรคไทยรักไทยอาจชนะมาด้วยเหตุหลากหลายประการ คือชนชั้นกลางส่วนหนึ่งอาจเบื่อพรรคประชาธิปัตย์ อยากลองของใหม่คือทักษิณ ชินวัตร อีกส่วนหนึ่งคือการรวมก๊กเหล่าทางการเมืองเข้าไว้ใต้ชายคาเดียวกัน (อันเป็นผลงานของเสนาะ เทียนทอง ในการรวมก๊กต่างๆ) - แต่นั่นก็เป็นการเลือกตั้งในครั้งแรกของพรรค ..
ต่อเมื่อปี 2548 นโยบายหลายอย่างเป็นรูปธรรม มีความสำเร็จพึงพอใจเกิดขึ้นในหมู่ประชาชน สิ่งเหล่านี้คือ "ความหวัง"ของผู้คนใต้สังคมอำมาตย์ ที่ถูกกดขี่มานาน ยกตัวอย่างเช่น ประกันสุขภาพ 30 บาทรักษาทุกโรค หมายถึงประชาชนซื้อบริการสุขภาพ..ด้วยราคาถูกแค่ 30 บาท แต่ก็เป็น "การซื้อ" ไม่ใช่ "การร้องขอ" และโรงพยาบาลต้องให้บริการอย่างเท่าเทียม เป็นหน้าที่..ไม่ใช่ทำด้วยเวทนา หรือเป็นบุญคุณ - นี่คือ "ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์" ที่ประชาชนต้องการจาก
นโยบายเหล่านี้ และรัฐบาลไทยรักไทยก็สามารถทำให้ได้จริง ดังนั้น การเลือกตั้ง ปี 2548 จึงเป็นการแสดงประชามติของประชาชน ที่ต้องการสานต่อความหวังและอนาคตของพวกเขาวาทกรรมก่นด่านักการเมืองหลังจาก ปี 2548 จึงไม่ใช่การด่านักการเมืองที่ไม่มีตัวตนแต่เป็นการด่า..ที่เจาะจงไปยัง ประชาชน ผู้เลือกนักการเมืองเหล่านั้นขึ้นมา นี่คือสิ่งที่ชนชั้นอำมาตย์ และปฏิกิริยาชนชั้นกลางกรุงเทพฯตามไม่ทันความเปลี่ยนแปลง (อย่างฉับพลัน)ของสังคมภายนอก และสิ่งเหล่านี้เริ่มสร้างรอยปริร้าวขึ้นทีละเล็กละน้อย
จากนั้นชนชั้นอำมาตย์ยังสร้าง กลุ่มพันธมิตรฯขึ้นมาเพื่อโค่นล้มรัฐบาลพรรคไทยรักไทย สนับสนุนด้วยบทความข้อเขียน ศิลปะ วิชาการจากพวกปฏิกิริยาชนชั้นกลางในกรุงเทพฯ เป็นการตอกย้ำว่า สิทธิพลเมืองของประชากร 16.1%
นั้นยิ่งใหญ่และเหนือกว่าสิทธิของประชาชน 56.4% - สิ่งเหล่านี้ช่วยขยายรอยแยกในสังคมให้รุนแรงมากขึ้น และที่ซ้ำร้ายไปกว่านั้น เมื่อกลุ่มพันธมิตรฯไม่สามารถโค่นรัฐบาลลงได้ ก็ต้องใช้กำลังทหารเข้ายึดอำนาจ เรียกว่าเป็นการหักดิบ และเป็นจุดแตกหักที่ไม่อาจเยียวยาได้อีกต่อไป
ความมุ่งมั่นของชนชั้นอำมาตยาธิปไตยที่จะกำจัดนายกฯทักษิณ..เป็นเพียงความขัดแย้งรอง คือความขัดแย้งในหมู่ชนชั้นสูงด้วยกันเอง
แต่ทว่า รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ได้เปลี่ยนความขัดแย้งรอง ให้กลายเป็นความหลักกลายเป็นความขัดแย้งระหว่างชนชั้น ระหว่างระบอบการปกครอง ระหว่างอำมาตยาธิปไตยกับประชาธิปไตยเป็นความขัดแย้งที่ "ประชาชน" กลายมาเป็นคู่กรณีโดยตรงกับชนชั้นอำมาตย์และพวกปฏิกิริยาชนชั้นกลาง
ตอนที่ 2
พ.ศ. 2549 - 2550 ชนชั้นอำมาตย์ยิ่งรุกไล่ ความแตกแยกยิ่งขยายวง
หลังจากการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ฝ่ายอำมาตยาธิปไตยสามารถยึดครองการใช้อำนาจรัฐ และอำนาจสื่อมวลชนได้อย่างเบ็ดเสร็จ แต่ก็ยังไม่สามารถบริหารราชการอย่างราบรื่น เรียกกันว่า "ยึดเมืองได้แต่ปกครองไม่ได้" ชนชั้นอำมาตย์ตั้งสมมุติฐานไว้ว่า หากกำจัด ดร.ทักษิณ ชินวัตร ไปแล้ว พวกตนก็จะกลับมามีอำนาจเต็มได้ดังเดิม เหมือนครั้งที่เคยกำจัดรัฐบาลของพลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ หรือเมื่อครั้งที่กวาดล้างผู้สนับสนุนนายปรีดี พนมยงค์
แต่ทว่ารัฐประหาร 19 กันยายน 2549 มิได้เป็นอย่างที่ชนชั้นอำมาตย์คาดคิดไว้
พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน หัวหน้าคณะรัฐประหาร เรียกปรากฏการณ์ "อารยะขัดขืน" นี้ว่า "คลื่นใต้น้ำ"นั่นคือ คณะรัฐประหาร (คมช.) รู้ว่ามีการต่อต้าน มีประชาชนไม่ให้ความร่วมมือกับพวกเขาเป็นจำนวนมาก แต่ไม่รู้ว่าประชาชนที่ต่อต้านพวกเขามีหน้าตาอย่างไร เป็นใคร และอยู่ที่ไหนกันบ้าง การแทรกซึมเข้าไปในองค์กรที่ต่อต้านการรัฐประหาร ก็เป็นแค่การแทรกซึมเข้าสู่องค์กรเล็กๆ และไม่สามารถโยงใยไปสู่การจับกุมองค์กรที่ใหญ่กว่านั้น ครั้นจะตามจับปลาเล็กปลาน้อย ก็เกรงว่าจะทำให้ปลาใหญ่ไหวตัวทัน..แล้วหลบหนีไปเสียก่อน ครั้นเมื่อแทรกซึมนานวันก็ยิ่งพบว่าปลาเล็กปลาน้อยมีอยู่มากมาย จะจับก็ง่ายดาย แต่คงไม่มีวันหมดและที่สำคัญคือพวกเขาไม่เคยเจอปลาใหญ่ที่ จินตนาการไว้เลย
บทสรุปง่ายๆของชนชั้นอำมาตย์ (และพวกปฏิกิริยาชนชั้นกลางกรุงเทพ) จึงชี้ไปที่ ดร. ทักษิณ ชินวัตร ว่าเป็นต้นเหตุเป็นหัวเรือใหญ่ เป็นปลาใหญ่ เป็นปัญหาของทุกอย่างในชีวิตชนชั้นอำมาตย์ ดังนั้น การตามล่าตามล้าง ตามรังควานอดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร จึงดำเนินต่อไปอย่างเข้มข้น ยกระดับความอำมหิตมากขึ้นอย่างไม่สนใจกฎกติกาซึ่งเป็นเรื่องตลกหักมุมใน ประวัติศาสตร์การเมืองไทย เพราะช่วงเวลานั้น ดร.ทักษิณได้ถอดใจ แพ้หมดรูปไปตั้งแต่วินาทีที่เขาตัดสินใจ "ไม่ยอมตั้งรัฐบาลพลัดถิ่น" ทั้งที่มีเสียงสนับสนุนจากนานาประเทศมากเพียงพอ มีประชาชนในประเทศที่พร้อมจะลุกขึ้นสู้อีกนับล้าน มีกองทหารที่รอฟังคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาให้ต่อสู้กับคณะรัฐประหาร แต่การเลือกที่จะไม่ต่อสู้ ไม่ตั้งรัฐบาลพลัดถิ่น ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม เท่ากับว่า ดร.ทักษิณประกาศยอมแพ้อย่างไม่มีเงื่อนไข แน่นอนว่า ยังมีเรื่องราวความรักความผูกพันที่ ดร. ทักษิณมีต่อผู้บงการรัฐประหารครั้งนี้ แต่นั่นก็เป็นอีกประเด็นหนึ่ง
จุดหักเหสำคัญ..อยู่ที่ประชาชนยังไม่ยอมแพ้
ประชาชนยังไม่ยอมแพ้ และทำการต่อต้านในรูปแบบต่างๆ ด้วยสันติวิธี ปราศจากความรุนแรง (เพราะไม่มีอาวุธ)เป็นการอารยะขัดขืนที่ประชาชนคิดและปฏิบัติกันเอง..โดยมิ ได้นัดหมาย แต่บังเอิญว่าพวกเขาคิดคล้ายๆกัน..เป็นจำนวนมาก เป็นสัดส่วนเกือบทั้งหมดของภาคเหนือ ภาคอีสาน และอีกเกือบครึ่งหนึ่งของประกรในกรุงเทพ จึงเกิดสื่งที่พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลินเรียกว่า "คลื่นใต้น้ำ" ปรากฏการณ์นี้จะเกิดขึ้นได้นั้น ประชาชนต้องมีสำนึกทางการเมืองประชาชนต้องรู้ว่าตนเองต้องการอะไร และกำลังได้อะไรที่ตนเองไม่ต้องการนี่คือสิ่งที่ชนชั้นในระบอบอำมาตยาธิปไตย ไม่เข้าใจ ชนชั้นอำมาตยาธิปไตยมองประชาชนเป็นไพร่ทาส ทั้งๆที่ระบบไพร่ถูกยกเลิกไปกว่าร้อยปี..ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 แล้ว แต่เมื่อชนชั้นอำมาตยาธิปไตยมองคนเป็นไพร่ พวกเขาจึงไม่เคยคิดว่า ประชาชนจะสามารถลุกขึ้นมาต่อสู้ด้วยตนเอง ..และเป็นเพราะชนชั้นอำมาตย์มองประชาชนเป็นไพร่ทาสในลักษณะนี้ชนชั้นอำมาตย์ จึงไม่เข้าใจว่า "นโยบายประชานิยม" ของรัฐบาลทักษิณจะนำไปสู่อะไร ..หรือประชาชนเหล่านี้กำลังต่อสู้เพื่ออะไร (ทั้งที่ภายหลังก็รู้ว่าสู้กับใคร) การประเมินสถานการณ์ของชนชั้นอำมาตย์จึงผิดพลาดมาตลอดปี 2549 - 2550
มักจะมีคำกล่าวในทำนองว่า..
"ดูเหมือน สิทธิพลเมือง ในความคิดของชนชั้นอำมาตย์ จะครอบคลุมแค่พวกปฏิกิริยาชนชั้นกลางในกรุงเทพ และ/หรือชนชั้นกลางในต่างจังหวัดที่ปรารถนาจะเป็นเช่นคนกรุงเทพ แม้แต่ชนชั้นต่ำที่ภักดีต่อระบอบอำมาตยาธิปไตยก็ยังไม่ได้รับสิทธิพลเมืองทางสังคมเช่นนี้"
ดังนั้น ชนชั้นอำมาตย์ยังมองความขัดแย้งนี้เป็นความขัดแย้งรอง
คือเป็นเรื่องระหว่างกลุ่มอำนาจของพวกตน..ต่อสู้กับกลุ่มอำนาจของทักษิณ ชินวัตร
ชนช้นอำมาตย์จึงพยายามมองหา "ท่อน้ำเลี้ยง" มองหา "องค์กรหลัก" หรือ ปลาตัวใหญ่ ด้วยคิดว่า ถ้ากำจัดสิ่งที่ว่าไปได้ ทุกอย่างก็จะจบลงอย่างสมบูรณ์ ด้วยดี แต่ชนชั้นอำมาตย์ก็ไม่เคยค้นพบและทำลายสิ่งที่กล่าวไว้ข้างต้นได้เลย นั่นเป็นเพราะ ตั้งแต่ กันยายน 2549 มาจนถึงมิถุนายน 2550 ไม่เคยมีปลาตัวใหญ่
ความจริงแล้ว "คลื่นใต้น้ำ" หรืออารยะขัดขืนด้วยสันติวิธีของประชาชนที่อยู่กระจัดกระจายทั่วประเทศนั้น ย่อมไม่สามารถสร้างแรงสั่นสะเทือนอะไรแก่คณะรัฐประหารได้เลย ไม่สามารถเป็นพลังปะทะกับระบอบอำมาตยาธิปไตยได้แม้แต่น้อยนิด ยิ่งไปกว่านั้น ประชาชนส่วนใหญ่ในปี 2549 - 2551 ยังไม่รู้จักคำว่า อำมาตยาธิปไตย เสียด้วยซ้ำ (!!) ทั้งๆที่ถูกครอบงำด้วยกระบวนคิดอำมาตยาธิปไตยกันมาตลอดชีวิต
แต่เป็นเพราะอาการฟาดงวงฟาดงาอาละวาดของชนชั้นอำมาตยาธิปไตยนี่เอง ที่สร้างขบวนการต่อต้านขึ้นมาและแน่นอน ชนชั้นอำมาตย์ยังมองว่า "ทักษิณสู้" จึงยิ่งรุกไล่ ..รุกไล่คนที่ถอดใจยอมแพ้ไปนานแล้วแต่กลับปล่อยให้ "ประชาาชน..ที่ยังไม่ยอมแพ้" มีโอกาสขยายวงกว้างออกไปเรื่อยๆ
ชนชั้นอำมาตย์มองหาปลาใหญ่ จึงมองไปที่"พรรคไทยรักไทย" นี่ก็เป็นข้อผิดพลาดของชนชั้นอำมาตย์เป็นความผิดพลาดใหญ่หลวงทีเดียว เพราะพรรคไทยรักไทย มิได้มีพลังอะไรหลงเหลือ ทั้งนักการเมืองหลายต่อหลายกลุ่มในพรรคก็เป็นพวกทรยศ เป็นไส้ศึกให้อำมาตย์ตั้งแต่ต้น หัวหน้าพรรคคนเก่าคือทักษิณ ชินวัตรก็ได้ถอดใจลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคไปตั้งแต่ต้นเช่นกัน จาตุรนต์ ฉายแสง รักษาการหัวหน้าพรรคก็ทำได้เพียงแค่ท่าทีและความมุ่งมั่นที่จะรักษาสภาพของพรรคเอาไว้เท่านั้น
พรรคไทยรักไทยจึงไม่ใช่ขุมกำลังที่เป็นอันตรายกับคณะรัฐประหาร หรือระบอบอำมาตยาธิปไตยในขณะนั้น อันที่จริงการก่อรัฐประหารคือการปล้นดังนั้น หากคณะรัฐประหารจะประกาศยุบพรรคการเมืองทุกพรรคในประเทศ ตั้งแต่คืนที่ปล้นสำเร็จก็สามารถทำได้และโจรรัฐประหารคณะอื่นๆในอดีต ก็เคยทำเช่นนี้มาแล้ว
แต่ทว่าชนชั้นอำมาตย์ในปี 2549 ปนเปื้อนไปด้วย "พวกปฏิกิริยาชนชั้นกลางกรุงเทพ" ที่เพิ่งเข้าสู่ระบอบอำมาตย์ได้ไม่นาน ชนชั้นอำมาตย์ใน พ.ศ. นี้จึงพกพา "จริตคนกรุงเทพ" หรือที่ชาวบ้านทั่วไปเรียกว่า "ตอแหล - ดัดจริต" และความตอแหล ดัดจริตนี้เอง ผู้บงการคณะรัฐประหารจึงละเว้นการยุบพรรคการเมืองต่างๆไว้ เพื่อนำขึ้นเวทีเชือดด้วยคณะตุลาการ เพื่อให้ดูเหมือนเป็นการกระทำที่ถูกต้องชอบธรรม คือพรรคไทยรักไทยจะถูกยุบด้วยกระบวนการทางกฎหมาย มิใช่โดยคณะรัฐประหาร ซึ่งเป็นตรรกะที่ซับซ้อนอย่างไม่มีสาระเท่าใดนัก เป็นการเล่นปาหี่่กันเองในหมู่คณะ เป็นโฆษณาชวนเชื่อให้กับกลุ่มประชากรของตนเอง ที่มีความเชื่อเช่นนั้นอยู่เดิมแล้ว
การนำคดียุบพรรคไทยรักไทย และ พรรคประชาธิปัตย์ขึ้นสู่กระบวนพิจารณาในปี 2550 แทนที่จะเป็นการสร้างความชอบธรรมให้แก่การรัฐประหาร กลับส่งผลให้ความขัดแย้งขยายวงกว้างยิ่งขึ้น สาเหตุก็คือ เมื่อมีการออกกฎหมายใหม่ แล้วนำมาใช้ย้อนหลัง เพื่อให้เป็นโทษแก่ผู้ถูกกล่าวหา ซึ่งผิดหลักกฎหมายในโลกสากลและผิดหลักกฎหมายไทย แต่คณะตุลาการรัฐธรรมนูญซึ่งแต่งตั้งโดยคณะรัฐประหาร ก็บอกว่าทำได้ (ตรงนี้ ควรอ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับข้ออ้างของตุลาการรัฐธรรมนูญ เรื่องการพิจารณาคดีแพ่ง คดีอาญา ซึ่งจะไม่นำมาขยายความ ณ ที่นี้เนื่องจากมีรายละเอียดมาก และเป็นข้ออ้างที่สับสน ฟังไม่ขึ้น และไม่มีใครใช้ข้ออ้างพิศดารเช่นนี้มาก่อน) ในคดีเดียวกัน พยาน ซึ่งให้การขัดแย้ง กลับไปกลับมา ย่อมไม่สามารถรับฟังได้ ไม่สามารถเชื่อถือได้แต่ในกรณีคดียุบพรรคไทยรักไทย พยานโจทก์กลับคำให้การ และยังร้องว่าตนถูกบังคับให้กล่าวโทษจำเลย ซึ่งโดยทั่วไปแล้วศาลต้องยกฟ้องทันที แต่กรณีนี้ คณะตุลาการรัฐธรรมนูญซึ่งแต่งตั้งโดยคณะรัฐประหาร เลือกที่จะเชื่อเฉพาะข้อความที่ให้ร้ายแก่พรรคไทยรักไทย
หลักฐานในคดียุบพรรคไทยรักไทย เป็นภาพถ่ายบางส่วนจากวิดีโอวงจรปิด ซึ่งมิได้บอกเล่าเรื่องราวใดๆ และเป็นเพียงการ "คาดเดา" ของผู้กล่าวหาเท่านั้น ว่าคนนั้นมาพบกับคนนี้ด้วยสาเหตุนี้ (???) ซึ่งจริงๆแล้วก็เป็นเพียงภาพของคนที่เดินผ่านกันเท่านั้น แต่ทว่า คณะตุลาการรัฐธรรมนูญซึ่งแต่งตั้งโดยคณะรัฐประหาร ก็เลือกที่จะเชื่อหลักฐานแบบนี้
ขณะเดียวกัน การพิจารณาคดียุบพรรคประชาธิปัตย์ ของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญซึ่งแต่งตั้งโดยคณะรัฐประหารชุดเดียวกันนี้ กลับมีอีกมาตราฐานหนึ่ง ซึ่งประชาชนจำนวนมาก ทั้งที่รู้กฎหมายและไม่รู้กฎหมาย ต่างมองว่าเป็นสิ่งที่ "ไม่ยุติธรรม" มองเห็นว่าเป็น "การใช้อำนาจกลั่นแกล้งฝ่ายหนึ่ง แล้วเอื้อประโยชน์ให้อีกฝ่ายหนึ่ง" การใช้อำนาจกลั่นแกล้งอย่างไร้ความยุติธรรมนั้น เป็นเสมือนเชื้อเพลิงที่จุดอารมณ์โกรธแค้นให้ผู้คนในทุกวัฒนธรรมได้อย่าง ร้ายกาจ รุนแรง และคาดเดาไม่ได้ แต่ชนชั้นอำมาตย์ และปฏิกิริยาชนชั้นกลางในกรุงเทพ ก็เลือกที่จะเล่นกับเชื้อเพลิงอันตรายเช่นนี้ พรรคไทยรักไทยถูกตุลาการคณะรัฐประหารยุบเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2550
วันนั้นไม่มีการจลาจลวุ่นวายใดๆเกิดขึ้น ผู้คนที่ไปให้กำลังใจพรรคไทยรักไทยก็ไปกันอย่างสงบกลุ่มต่อต้านรัฐประหาร หลายๆกลุ่มที่ยึดครองสนามหลวงอยู่ขณะนั้น ก็มิได้เคลื่อนไหวก่อเหตุใดๆ กลุ่ม PTV ก็มิได้เคลื่อนไหวอะไร ซ้ำยังย้ำเตือนให้ประชาชนอยู่ในความสงบ อย่างไรก็ตาม ปรากฏการณ์เหล่านี้คือลางบอกถึงความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์ ความสงบในวันที่ 30 พฤษภาคม 2550 มิได้หมายถึงการยอมจำนน
แต่ความสงบของคืนวันนั้น คือพลังที่คาดเดาไม่ได้ของมวลมหาประชาชนที่สะสมและเพิ่มทวีคูณในช่วงเวลาสั้นๆ ชนชั้นอำมาตย์อาจวางใจว่าการโค่นกลุ่มอำนาจของ ดร.ทักษิณ ชินวัตร น่าจะจบลงได้เพราะพรรคไทยรักไทยถูกยุบแล้ว ถูกตัดสิทธิทางการเมืองรวดเดียว 111 คน แล้วยังมีคดีประหลาดๆที่ คตส. เตรียมปั้นแต่งให้เป็นโทษแก่นายกฯทักษิณอีกเป็นจำนวนมาก (แต่ที่สุดก็สามารถส่งฟ้องได้แค่คดีเดียว) ส่วนการชุมนุมต่อต้านของประชาชนนั้น ชนชั้นอำมาตย์มองว่าเป็นแค่ "ม๊อบรับจ้าง" น่าจะหมดแรงไปในเวลาไม่นาน เนื่องจากชนชั้นอำมาตย์ได้กำจัดปลาใหญ่ กำจัดท่อนน้ำเลี้ยงไปแล้ว ดังนั้น เหล่าชนชั้นสูงจึงอาจจะคิดว่า ร่างรัฐธรรมนูญสืบทอดอำนาจของชนชั้นตนเองขึ้นมา จัดปาหี่เลือกตั้งเพื่อให้ดูคล้ายสังคมประชาธิปไตย จากนั้นพรรคประชาธิปัตย์ก็จะขึ้นเป็นรัฐบาลแน่นอน
ทุกอย่างที่กล่าวมา ไม่เคยเกิดขึ้นได้จริง
การใช้อำนาจกลั่นแกล้ง ความอยุติธรรม สองมาตราฐาน ก่อให้เกิดความไม่พอใจขึ้นอย่างมากมายในหมู่ประชาชนผู้คนที่เคยทำตัวไม่รู้ ร้อนรู้หนาวต่างออกมาร่วมชุมนุม แสดงความรู้สึกต่อต้านมากขึ้น"ความขัดแย้งรอง" ได้กลายเป็น "ความขัดแย้งหลัก" อย่างสมบูรณ์และเพิ่มอัตราความเข้มข้น ร้าวลึกมากขึ้นทุกขณะ ยิ่งสื่อมวลชนกระแสหลักพยายามบิดเบือนข่าว โกหกตอแหลมากขึ้นเท่าใด ความโกรธแค้นและจำนวนผู้คนที่เข้ามาร่วมกับ นปก. ก็ยิ่งมากขึ้นเท่านั้น ยิ่งชนชั้นอำมาตย์รุกไล่ดร.ทักษิณมากแค่ไหน จำนวนผู้คนในภูมิภาคยิ่งแสดงความสงสารเห็นใจดร.ทักษิณเป็นเท่าทวีคูณ
มาถึงจุดนี้ คำว่า "อำมาตยาธิปไตย" กลายเป็นสิ่งที่ผู้คนรู้จักกันมากขึ้น
การชุมนุมทางการเมืองนั้น ไม่ใช่การนั่งฟังบรรยายในห้องเรียน การปราศรัยบนเวทีเป็นแค่กิจกรรมหนึ่ง เป็นเพียงยอดของภูเขาน้ำแข็ง กิจกรรมความเคลื่อนไหวแท้จริงอยู่บนสนาม อยู่ระหว่างประชาชนผู้มาร่วมชุมนุมด้วยกันเอง พวกเขาแลกเปลี่ยนความคิดเห็น แลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร สร้างเครือข่ายของตนเอง และขับเคลื่อนเป็นกลุ่มย่อยๆตามทางถนัดการชุมนุมต่อเนื่องเป็นเวลากว่าสอง เดือนครึ่งของ นปก. ได้หล่อหลอมความคิดประชาชนจำนวนมาก
ยิ่งไปกว่านั้น การชุมนุมของ นปก. เป็นการชุมนุมที่ถูกขัดขวางจากภาครัฐในทุกวิถีทาง ถูกบิดเบือนเรื่องราวจากสื่อมวลชนกระแสหลัก ถูกเยาะเย้ยถากถางจากพวกปฏิกิริยาชนชั้นกลางในกรุงเทพฯสิ่งเหล่านี้ยิ่ง สร้างความสัมพันธ์แน่นแฟ้นในกลุ่มประชาชน พวกเขาสามารถปะติดปะต่อเรื่องราวที่เกิดขึ้นกับประเทศไทยในช่วงเวลาครึ่ง ศตวรรษที่ผ่านมา พวกเขาสามารถมองเห็นสิ่งที่ชนชั้นอำมาตย์กระทำกับผู้คน สิ่งเหล่านี้ผู้คนส่วนใหญ่ไม่เคยสนใจมาก่อน หรือมองเห็นแต่ไม่เคยฉุกคิด กระทั่งเกิดรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 มาถึงยุบพรรคไทยรักไทยปรากฏการณ์ที่ทำให้คนตาสว่างขึ้นมากมาย
เพียงแค่เดือนแรกของการชุมนุมในนาม นปก. (มิถุนายน 2550) เนื้อหาของการต่อต้านรัฐประหารก็เริ่มเปลี่ยนไปเริ่มมีพูดถึงการ "โค่นระบอบอำมาตยาธิปไตย" กันมากขึ้น นี่คือความคิดของประชาชนผู้มาร่วมชุมนุมที่ท้องสนามหลวงและยิ่งแนวคิดโค่นอำ มาตยาธิปไตยแพร่กระจายออกไป แบบปากต่อปาก จำนวนชนชั้นกลางในกรุงเทพก็ยิ่งเข้ามาร่วมมากขึ้น เริ่มเป็นขบวนการประชาชนที่ขยายวงออกไป
เริ่มมีการตั้งคำถามว่า ตลอดเวลาที่ผ่านมากว่าครึ่งศตวรรษนั้น ประเทศไทยเคยมีประชาธิปไตยที่แท้จริงบ้างหรือไม่เริ่มมีการพูดถึงการสถาปนา รัฐประชาธิปไตยที่แท้จริง และควรมีรัฐบาลของประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชนนี่คือแนวความคิดที่ขยายวงกันเองในหมู่ประชาชน ผู้มาร่วมชุมนุมที่สนามหลวงในช่วงกลางปี 2550
"ความขัดแย้งหลัก" เกิดขึ้นทั้งในกรุงเทพ ทั้งในภูมิภาค เหนือ อีสาน
ในขณะที่ชนชั้นอำมาตย์ยังมองว่านี่เป็นแค่"ความขัดแย้งรอง" ที่พวกเขายังคงจำเป็นต้องรุกไล่ดร.ทักษิณ ชินวัตรชนชั้นอำมาตย์ยังมองว่ามวลชน นปก. เป็นแค่"ม๊อบรับจ้าง"ของ ดร.ทักษิณ และน่าจะอ่อนแรงไปเอง การที่ชนชั้นอำมาตย์มีวิธีคิดเช่นนี้ กลับกลายผลดีต่อมวลชนฝ่ายประชาธิปไตยเพราะทำให้มวลชนมีเวลาหล่อหลอมความคิด ให้กันและกัน มีเวลาสะสมกำลังทรัพย์กำลังคน และอื่นๆ ในขณะที่ชนชั้นอำมาตย์ยังคงวิ่งไล่เงาของทักษิณ ชินวัตร
ตอนที่ 3
การเลือกตั้ง พ.ศ.2550 ภายใต้รัฐธรรมนูญอำมาตยาธิปไตย
แม้ว่าชนชั้นอำมาตย์จะระดมสรรพกำลังทุกชนิดที่มี จนสามารถทำให้ร่างรัฐธรรมนูญ 2550 ผ่านการประชามติแต่ก็เป็นชัยชนะที่น่าสงสัย ซ้ำยังแสดงให้เห็นภาพของความขัดแย้งที่เด่นชัดในสังคม เป็นภาพที่แสดงให้เห็นว่านี่คือ"ความขัดแย้งหลัก" ไม่ใช่"ความขัดแย้งรอง" ในภาคเหนือ ภาคอีสาน ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญนี้ด้วยเปอร์เซ็นต์ที่สูงลิ่วขณะที่ภาคใต้ - กรุงเทพฯแสดง"ความเห็นชอบต่อระบอบอำมาตยาธิปไตย"อย่างสูงสุดเช่นเดียวกัน
การลงประชามติ เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2550 ชนชั้นอำมาตย์ได้ใช้สื่อมวลชนกระแสหลักทุกชนิด ทั้งโทรทัศน์ วิทยุและหนังสือพิมพ์ รวมไปถึงนิตยสารที่ไม่เกี่ยวข้องการเมือง ในการโฆษณาชวนเชื่อให้ประชาชนตอบรับร่างรัฐธรรมนูญของอำมาตยาธิปไตย มีการใช้สื่อมวลชนกระแสรอง เช่นวิทยุชุมชน อินเตอร์เนต ใบปลิวแผ่นพับ เพื่อวัตถุประสงค์เดียวกันนี้มีการใช้กลไกของรัฐทุกหน่วยงาน ใช้กำลังพลของกองทัพ และสารพัดวิธีการ อีกทั้งยังกีดกันไม่ให้ "ผู้คัดค้านร่างรัฐธรรมนูญ 50" ได้มีโอกาสแสดงความเห็นของตน
ในภาคเหนือ อีสาน ทุกพื้นที่ ที่นปก.จะเข้าไปตั้งเวทีเพื่อแสดงข้อมูล ความเห็นเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญอำมาตย์ฉบับนี้ทุกพื้นที่จะมีการขัดขวางจาก หน่วยงานราชการอย่างเต็มกำลัง มีการใช้กำลังพลของกองทัพไปข่มขู่คุกคามประชาชน การจัดเวลาให้"ผู้คัดค้านร่างรัฐธรรมนูญ 50"ได้มีโอกาสชี้แจงมุมมองของตนตามรายการโทรทัศน์ ก็เป็นไปอย่างน้อยนิด เป็นแค่ไม้ประดับไม่กี่นาที เพียงเพื่อให้ดูเหมือนว่า อำมาตย์ได้เปิดโอกาสให้แล้ว ก็เท่านั้นระหว่าง ประชามติ หลายจังหวัดในภาคเหนือ ภาคอีสานยังคงอยู่ภายใต้กฎอัยการศึก แต่แล้วผลประชามติก็ออกมาตามที่เห็น จากจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งขณะนั้น 45,092,955 คน ออกมาใช้สิทธิ์เพียง 25,978,954 คน หรือคิดเป็น 57.61% และในจำนวนนี้ มีผู้เห็นชอบจำนวน 14,727,306 คน หรือ 57.81% ขณะที่มีผู้ไม่เห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ถึง 10,747,441 คน หรือ 42.19% และยังมีบัตรเสียถึง 504,207 ใบ (ข้อมูลจาก วิกิพีเดีย)
เมื่อร่างรัฐธรรมนูญ 2550 ผ่านประชามติ (อย่างเฉียดฉิว) และจะต้องประกาศใช้เป็นรัฐธรรมนูญในเวลาอันใกล้เท่ากับว่าชนชั้นอำมาตย์ได้ ผูกมัดตนเองเข้าสู่ "การเลือกตั้ง" ในเร็ววันเช่นกัน เมื่อดูคะแนนเสียงประชามติในพื้นที่ต่างๆแล้ว ฝ่ายประชาธิปไตยก็มีความมั่นใจมากขึ้น เพราะหลังจากการรัฐประหาร การยุบพรรคไทยรักไทย การรุกไล่ดร.ทักษิณ ชินวัตร อย่างรุนแรง การบิดเบือนข่าวให้ร้ายแก่ประชาชนฝ่ายประชาธิปไตย การโฆษณาชวนเชื่อที่ใช้สื่อมวลชนทุกแขนง การปิดกั้นข้อมูลข่าวสาร ทั้งหมดนี้ยังไม่สามารถสั่นคลอนฐานเสียงของพรรคไทยรักไทยได้มากนัก โดยเฉพาะภาคเหนือ ภาคอีสาน - พรรคไทยรักไทยซึ่งแปลงร่างมาสู่ "พรรคพลังประชาชน" จึงมั่นใจว่าสามารถเอาชนะการเลือกตั้งได้แน่นอนหรือถ้าจะแพ้ (ในกรณีที่ถูกโกงอย่างถล่มทลาย) ก็คงไม่แพ้มากมาย น่าจะเป็นพรรคที่มีคะแนนเป็นอันดับสอง
คืนวันที่ 19 สิงหาคม 2550 ไม่กี่ชั่วโมงหลังปิดหีบลงคะแนน นปก.ประกาศยุติการชุมนุมที่ท้องสนามหลวง เพื่อเตรียมปรับองค์กรสนับสนุนการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้น และยกระดับการต่อสู้ทางการเมืองไปสู่ระดับชาติ มีแผนการขยายสาขาไปทุกจังหวัดทั่วประเทศ และพวกเขามั่นใจว่าการเลือกตั้งมิใช่จุดจบของปัญหา แต่เป็นการต่อสู้ยกใหม่ ถึงแม้ว่าชนะการเลือกตั้งได้เป็นรัฐบาล ปัญหาก็ยังไม่อาจยุติลงได้
นปก. จึงต้องดำรงอยู่เพื่อรับกับสถานการณ์ที่มิอาจคาดเดาในอนาคต ขณะนั้น พวกเขามักใช้คำว่า ต่อต้านเผด็จการต่อต่านรัฐประหารทุกรูปแบบ แต่ในหมู่ประชาชนหลายต่อหลายกลุ่มบนท้องสนามหลวง จะพูดถึงการโค่นระบอบอำมาตยาธิปไตยให้สิ้นซากคืนวันที่ 19 สิงหาคม 2550 สุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ หนึ่งในแกนนำ นปก.รุ่นสอง ประกาศสลายการชุมนุมทุกคนแยกย้ายกันกลับบ้าน ไปเตรียมเครือข่ายเพื่อนพ้องของตน เตรียมช่องทางสื่อสาร และเตรียมความพร้อมในการต่อสู้ยกต่อไป ผู้ชุมนุม นปก. จำนวนมากหันมาเป็นผู้สนับสนุน"พรรคพลังประชาชน"
"แนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ" (นปก.)United Front of Democracy Against Dictatorship (UDD)
เปลี่ยนชื่อมาเป็น "แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ" (นปช.)National United Front of Democracy Against Dictatorship (NUDD)
ในช่วงหลังประชามติ และ ช่วงก่อนการเลือกตั้ง 2550 นปก. / นปช. ลดบทบาทในที่สาธารณะ แกนนำบางส่วนถูกส่งเข้าสังกัดพรรคพลังประชาชน เพื่อเป็นตัวแทนเข้าสู่สนามเลือกตั้ง ประชาชนผู้ร่วมชุมนุม เปลี่ยนบทบาทกลายเป็นสมาชิกพรรค และเป็นสมาชิกพรรคที่มีปากเสียงได้ตลอดเวลาเสียด้วย ส่วนหนึ่ง คงเป็นผลจากการที่พวกเขาเคยต่อสู้ภาคสนามติดต่อร่วมกันมาเป็นเวลาหลายเดือน เคยแม้กระทั่งเจ็บตัวร่วมกัน (จากการที่ตำรวจสลายการชุมนุมหน้าบ้านสี่เสา เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2550) ประสบการณ์เหล่านี้ น่าจะดึงดูดผู้คนเข้าไว้ด้วยกัน
เมื่อบ้านเมืองเข้าสู่กระบวนการเลือกตั้ง
กลุ่ม สส. กรุงเทพ (ส่วนมากคือกลุ่มของ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์) ที่เคยยิ่งใหญ่ในพรรคไทยรักไทยก็กลับมาแสดงบาบาทสำคัญอีกครั้งใน"พรรคพลัง ประชาชน" ซึ่งเป็นบ้านหลังใหม่ อย่างไรก็ตาม การเมืองหลังจากนี้ แตกต่างไปจากเดิม เมื่อกลุ่ม สส.กรุงเทพ(เก่า)เหล่านี้ แสดงอาการตั้งแง่ รังเกียจตัวแทนของ นปก. ที่ถูกส่งเข้าไปในพรรค
ทันใดนั้น ก็เกิดเสียงก่นด่าจากประชาชน ซึ่งเป็นผู้สนับสนุนพรรค เป็นสมาชิกพรรค และเป็น นปก.ในกรุงเทพ สมาชิกพรรค หรือมวลชน นปก.มองกลุ่มสส.เก่ากรุงเทพเหล่านี้ว่า ในยามถูกรัฐประหารก็หดหัว ในยามประชาชนออกมาต้านรัฐประหารที่สนามหลวง สส.เหล่านี้ก็ไม่เคยมาร่วม นอกจากไม่ร่วมแล้วยังออกแนวคัดค้าน หาทางสมสู่กับชนชั้นอำมาตย์อยู่เนืองๆ ซ้ำร้ายเมื่อบ้านเมืองเข้าสู่กระบวนการเลือกตั้ง พวกขี้ขลาดตาขาวเหล่านี้ยังออกมาพูดทำนองว่า ไม่ต้องการเกี่ยวข้องกับ นปก. เพราะมีภาพพจน์รุนแรง ไม่ต้องใจคนกรุงเทพฯ แน่นอนว่า นี่คือแนวคิดตอแหลดัดจริตของพวกปฏิกิริยาชนชั้นกลาง ที่พูดตามสื่อกระแสหลัก ซึ่งรับใช้อำมาตยาธิปไตย และเมื่อเป็นเช่นนี้กลุ่ม สส.เก่ากรุงเทพเหล่านี้ จึงเป็นคนในระบอบอำมาตยาธิปไตยมากกว่า ดังนั้น จึงไม่ควรมีสิทธิลงเลือกตั้งในนามพรรคพลังประชาชน ควรไปอยู่พรรคประชาธิปัตย์
นี่เป็นความคิดหนึ่งของมวลชนผู้สนับสนุนพรรคพลังประชาชนแน่นอนว่า สมาชิกพรรคพลังประชาชนไม่ได้เป็น นปก.ทั้งหมด แต่ นปก.ก็มีอยู่มากในพรรค เป็นปรากฎการณ์ที่ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในพรรคการเมืองของตน เป็นการเมืองภาคประชาชนจริงๆก็ว่าได้และการเมืองภาคประชาชนนั้น การประนีประนอม หรือถนอมน้ำใจเป็นเรื่องยาก ประชาชนด่าด้วยคำสั้นๆ รุนแรงและด่าซ้ำๆ เรียงหน้าผลัดเปลี่ยนกันเข้ามาไม่รู้จบสิ้น เวลาสองเดือนครึ่งบนท้องสนามหลวง ได้เปลี่ยนวัฒนธรรมการเมืองของไทยไปพอสมควรทีเดียว
ทางฝ่ายชนชั้นอำมาตย์ก็เตรียมการรับศึกเลือกตั้งไว้หลายซับหลายซ้อน
ชนชั้นอำมาตย์มี"พรรคประชาธิปัตย์"เป็นพรรคการเมืองหลัก แล้วยังสร้าง"พรรคเพื่อแผ่นดิน"เป็นพรรคสำรอง ใช้ในการดึงคะแนนเสียงจากภาคอีสาน ซึ่งเป็นฐานเดิมของพรรคไทยรักไทย ในพรรคเพื่อแผ่นดินนี้ ดำเนินการโดยคนเก่าแก่จากพรรคไทยรักไทย ที่เคยเป็นไส้ศึกให้อำมาตย์ ในการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 หรือคนที่ย้ายขั้วไปอยู่กับอำมาตย์หลังรัฐประหาร เรียกว่าเป็นแหล่งรวมคนที่ทรยศหักหลัง ดร. ทักษิณ ชินวัตร ชนชั้นอำมาตย์มีรัฐธรรมนูญที่เอื้อประโยชน์ให้ตนเองอย่างเต็มที่
ชนชั้นอำมาตย์มีองค์การอิสระ ที่ตั้งโดยคณะรัฐประหาร คมช.(ซึ่งอำมาตย์ก็บงการ คมช.อีกทีหนึ่ง) ชนชั้นอำมาตย์มีกองทัพไทยเป็นกำลังสนับสนุนในการเลือกตั้ง ดังจะเห็นได้จากเอกสารลับ คมช.ที่หลุดออกมาสู่สาธารณะ เช่น หนังสือเลขที่ คมช.0003.5/480 ลงวันที่ 14 กันยายน 2550 ซึ่งมีคำสั่งให้ทำลายพรรคพลังประชาชนในทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะด้วยการใส่ร้ายป้ายสี สร้างข่าวลือ และสารพัดความชั่วร้าย นอกจากนั้นยังมี หนังสือเลขที่ คมช.0002 /1492 ลงวันที่ 26 กันยายน 2550 เกี่ยวกับการลงคะแนนเลือกตั้ง หนังสือดังกล่าวได้ชี้แจงถึงการลงประชามติที่ผ่านมา เหตุที่พ่ายแพ้ หรือชนะบางพื้นที่ในหนังสือได้ชี้ให้เห็นถึงความสัมพันธ์ใกล้ชิดระหว่าง ทหาร - กลุ่มพันธมิตรฯ - ชนชั้นอำมาตย์ ตอนหนึ่งในเอกสารระบุ "๒.๒.๒ พื้นที่ ทภ.๓ ปัจจัยที่สนับสนุนที่สำคัญต่อการเห็นชอบ ได้แก่การรณรงค์ของวิทยากร มท. กลุ่มพันธมิตร และการประชาสัมพันธ์อย่างทั่วถึง"
แล้วยังมี เอกสาร "ลับมาก" ออกจากส่วนราชการ ยก.ทบ.(กองนโยบายและแผน)เลขที่หนังสือ กห0403/512 วันที่ 26 กันยายน 2550 เรื่อง สรุปการบรรยายพิเศษและการประชุมมอบโอวาทของผบ.ทบ. ให้กับ ผบ.หน่วยระดับกองพันขึ้นไป โดย พล.ต.อักษรา เกิดผล จก.ยก.ทบ. ทำถึง ผบ.ทบ. เพื่อขออนุญาตนำคำบรรยายของผบ.ทบ. แจกจ่ายแก่ นขต.ทบ.เพื่อนำไปยึดถือเป็นกรอบในการดำเนินการ และนำไปสู่การปฏิบัติให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน เนื้อหาออกแนวล้างสมอง ใส่ร้ายป้ายสี และนำสถาบันกษัตริย์เข้ามาเกี่ยวข้อง
ในช่วงต้นเดือนตุลาคม 2550 คณะกรรมการบริหารวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ (กบว.)สั่งห้ามมิให้มีการเผยแพร่โฆษณาพรรคพลังประชาชนทางโทรทัศน์ขณะที่ยินยอมให้พรรคการเมืองอื่นๆกระทำได้ โดยเฉพาะพรรคประชาธิปัตย์
วันที่ 22 ตุลาคม 2550 นพ.ชาญชัย ศิลปอวยชัย นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดแพร่ ถูกคนร้ายลอบสังหารหลังจากที่เขาหันมาสนับสนุนพรรคพลังประชาชน และมีแนวโน้มว่าอาจจะได้รับการเลือกตั้ง เนื่องจากมีเสียงสนับสนุนอยู่เป็นจำนวนมากระหว่างการเลือกตั้งล่วงหน้า 16 ธันวาคม 2550 มีการเผาบัตรเลือกตั้ง 2,500 ใบ ที่จังหวัดร้อยเอ็ด ซึ่ง กกต.อธิบายว่าเจ้าหน้าที่"เข้าใจผิด"(???) โดยบอกว่าบัตร 2,500 ใบที่ถูกเผานั้นเป็นบัตรเก่าที่ใช้ในการลงประชามติ (???)การเลือกตั้งครั้งนี้ มีผู้ใช้สิทธิลงคะแนนล่วงหน้าเป็นจำนวนมากผิดปกติ วิธีการเก็บหีบบัตรเลือกตั้ง วิธีการนับคะแนน ก็เป็นขั้นตอนที่ประชาชนไม่สามารถเข้าไปสอดส่องดูแลได้ ผิดจากการเลือกตั้งที่ผ่านมาในอดีต
ผลการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2550 การระดมสรรพกำลังอย่างมโหฬารของชนชั้นอำมาตย์ มิได้สูญเปล่าพวกเขาสามารถทำให้พรรคประชาธิปัตย์ได้รับเลือกมาถึง 165 ที่นั่ง (แบ่งเขต 132 คน สัดส่วน 33 คน)ขณะที่พรรคสำรองอย่าง พรรคเพื่อแผ่นดิน ชนชั้นอำมาตย์สามารถพาเข้ามาได้เพียง 24 ที่นั่งเท่านั้น
อย่างไรก็ตามปัญหาใหญ่ของชนชั้นอำมาตย์ อยู่ที่พรรคพลังประชาชน ที่ได้มาทั้งหมด 233 ที่นั้ง (แบ่งเขต 199 สัดส่วน 34)กลายเป็นพรรคที่มีเสียงข้างมากในสภา แม้จะไม่เบ็ดเสร็จเด็ดขาด และไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียวได้แต่ทว่าตัวเลขก้ำกึ่งเช่นนี้ ทำให้พรรคอื่นๆก็ไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้เช่นกัน หากไม่มีพรรคพลังประชาชนเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล
เรื่องหักมุมที่น่าขบขัน พรรคการเมืองสำรองของชนชั้นอำมาตย์ เช่น พรรคเพื่อแผ่นดิน หรือพรรคแยกย่อยเช่นพรรคมัชฌิมาธิปไตย เมื่อลงพื้นที่หาเสียงในภาคอีสานก็ยังต้องแอบอ้างชื่อ ดร. ทักษิณ ชินวัตร ในการขอคะแนนเสียงจากประชาชน สรุปแล้ว ทั้งรัฐประหาร ทั้งเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ เขียนกฎกติกาใหม่เพื่อใช้เป็นประโยชน์แก่ฝ่ายตน ชนชั้นอำมาตย์รุกไล่ ดร.ทักษิณในทุกวิถีทาง แต่พอลงสนามเลือกตั้ง ก็ยังอุตส่าห์เอาชื่อทักษิณมาแอบอ้าง จนต้องมีการประกาศชี้แจงกันบ่อยๆว่า "ทักษิณของแท้คือพรรคพลังประชาชน"
พรรคพลังประชาชน เป็นพรรคเสียงข้างมากอันดับหนึ่ง แต่ไม่มากพอที่จะตั้งรัฐบาลพรรคเดียวพรรคประชาธิปัตย์ มีคะแนนเป็นอันดับสอง และมีเสียงน้อยเกินไป แม้จะรวมกับพรรคการเมืองอื่นๆ ก็ยังไม่พอที่จะจัดตั้งรัฐบาลได้อย่างมั่นคง
ฝ่ายชนชั้นอำมาตย์อาจมีเล่ห์กล ที่จะอาศัยพรรคแยกย่อยต่างๆ พรรคที่มีเสียงไม่มาก กระจัดกระจายกันไปแต่เมื่อเข้ามารวมกันในสภาแล้ว ก็พอมีกำลังสนับสนุนชี้ขาดชัยชนะให้ฝ่ายตนเองได้ เป็นยุทธวิธีที่เรียกกันว่า "แยกกันเดิน รวมกันตี" อย่างไรก็ตาม แนวร่วมของทักษิณ ชินวัตร ก็เข้าใจวิธีการเช่นนี้ และพวกเขายังเป็นแนวร่วมตามธรรมชาติอยู่เดิม โดยเฉพาะ สส. ในเขตเลือตั้งที่ประชาชนยังนิยมชมชอบ ดร. ทักษิณ เมื่อเป็นเช่นนี้ ในปี 2550 โอกาสที่ พรรคประชาธิปัตย์ จะรวมพรรคแยกย่อยต่างๆจัดตั้งรัฐบาล จึงเป็นไปไม่ได้
พรรคพลังประชาชน จึงเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล
วันที่ 29 มกราคม 2551 ปีที่ 63 ในรัชกาลปัจจุบันมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯแต่งตั้งนายสมัคร สุนทรเวช เป็นนายกรัฐมนตรี โดยมีนายยงยุทธ ติยะไพรัช ประธานรัฐสภาเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
ขณะเดียวกัน ตัวแทนจาก นปก. จักรภพ เพ็ญแข รับตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ จตุพร พรหมพันธุ์ เป็น สส. กรุงเทพมหานคร (แบบสัดส่วน) ณัฐวุฒิ ไสยเกื้อ เป็นรองโฆษกรัฐบาลบุคคลเหล่านี้ ถือเป็นตัวแทนประชาชนผู้ร่วมอุดมการณ์ นปก. เพื่อเข้าไปต่อสู้ เป็นปากเสียงในรัฐบาลการต่อสู้ที่มีประชาชนเข้ามาร่วม เข้ามามีบทบาทสำคัญ ทำให้วัฒนธรรมการเมืองเปลี่ยนไป เพราะประชาชนในปี พ.ศ.นี้ "จะไม่ตีงูให้กากิน" ประชาชนจะไม่ปล่อยให้ "คนที่ไม่เคยออกมาร่วมต่อสู้ ฉกฉวยโอกาสเข้าไปมีอำนาจวาสนาเพียงฝ่ายเดียว" พวกอ้างความเป็นกลาง เพื่อจะไม่ต้องลงมือทำอะไร ก็คือ "กาฝาก" และพวกชนชั้นกาฝาก หรือ ชนชั้นปรสิต ควรจะต้องถูกกำจัด หรือต้องถูกลดบทบาทลงไปจากสังคมไทยในอนาคต
ตอนที่ 4
ชนชั้น และระบอบอำมาตยาธิปไตย
ผลการเลือกตั้ง 23 ธันวาคม พ.ศ. 2550 ทำให้ชนชั้นอำมาตย์บางส่วนเริ่มรู้สึกว่า ความขัดแย้งครั้งนี้ได้กลายสภาพจากความขัดแย้งรอง ไปเป็นความขัดแย้งหลักเสียแล้ว
พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นคนหนึ่งที่มีบทบาทสำคัญในการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549เขาเป็นบุคคลหนึ่งที่ร่วมประชุมที่บ้านของ ปีย์ มาลากุล ณ อยุธยา ในการวางแผนโค่นล้ม ดร.ทักษิณ ชินวัตร(ตามคำบอกเล่าของ พล.อ. พัลลภ ปิ่นมณี)และระหว่างกลุ่มพันธมิตรฯกำลังชุนุมขับไล่รัฐบาลทักษิณในปี 2549 พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ (ตามคำบอกเล่าของสนธิ ลิ้มทองกุล) ได้โทรศัพท์ไปให้กำลังใจ ให้นายสนธิอดทน และเมื่อเสร็จงานแล้ว เขาจะให้สถานีโทรทัศน์หนึ่งช่องเป็นรางวัล
หลังจากรัฐประหาร 19 กันยาเสร็จสิ้น พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีต่อมาในปี พ.ศ. 2552 พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน อดีตประธาน คมช / หัวหน้าคณะรัฐประหาร ได้กล่าวว่าตนเอง (พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน) มีหน้าที่แค่ยึดอำนาจ และต้องคืนอำนาจให้ (ผู้อยู่เบื้องหลัง) ภายในสิบวัน ดังนั้น หากสิ่งที่ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน กล่าวเป็นความจริง ก็เท่ากับว่าการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ล้วนถูกบงการ และขับเคลื่อนโดยชนชั้นอำมาตย์ หรือกลุ่มคณะที่ประชุมกันที่บ้าน ปีย์ มาลากุล ณ อยุธยา นั่นเอง
เป็นที่รู้กันว่าพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ คือผู้มีอำนาจอันดับสองรองจาก เปรม ติณสูลานนท์ แต่ในทางปฏิบัติ หลายคนเชื่อว่ากิจกรรมอำนาจในช่วงหลังนี้ อยู่ในมือของ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เกือบทั้งหมด จากบทสัมภาษณ์ของ พล.อ.วัฒนชัย ฉายเหมือนวงศ์ ในหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ แทปลอย (ประมาณปลายปี 2550 ตรวจสอบวันที่แน่นอนอีกครั้ง) พล.อ.วัฒนชัย ฉายเหมือนวงศ์ อดีตแม่ทัพภาคที่ 3 เป็นเพื่อนสนิทแต่วัยเยาว์ของ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ และยังคงทำงานใกล้ชิด พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เสมอมา ดังนั้น ความคิดบางอย่างของ พล อ.วัฒนชัย จึงพอที่จะทำให้มองเห็นบางมุมมองของ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ได้บ้าง (แต่มิได้หมายความว่าสิ่งที่คนหนึ่งพูดจะต้องเป็นสิ่งที่อีกคนหนึ่งคิด ไม่ใช่เช่นนั้น - แต่เป็นแค่ภาพสะท้อนบางอย่าง ในบางมุมมองเท่านั้น) ในบทสัมภาษณ์นั้น เขากล่าว ถึง "ความจำเป็นที่จะต้องถอย เพื่อปรับเปลี่ยนแผน" โดยยกตัวอย่างจากการลงประชามติ "ที่แดงพรึ่บเต็มไปหมด" สิ่งนี้บ่งบอกอะไรบ้าง ?
หนึ่งคือ บางส่วนของชนชั้นอำมาตย์รู้แล้วว่า ต้องเปลี่ยนวิธีการต่อสู้
สองคือ บางส่วนของชนชั้นอำมาตย์รู้แล้วว่า ตนกำลังเผชิญหน้ากับประชาชนเกือบครึ่งค่อนประเทศอย่างไรก็ตาม ชนชั้นอำมาตย์ หรือระบอบอำมาตยาธิปไตยมิได้มีความเป็นเอกภาพ และไม่เคยมีมาแต่ไหนแต่ไร
ดังนั้น การปรับเปลี่ยนแผนก็เป็นไปได้เพียงบางส่วน และหลายๆอย่างก็ยังคงใช้วิธีเดิมๆ ซึ่งยิ่งสร้างความแตกแยกสร้างศัตรูเพิ่ม เมื่อจนมุมด้วยเหตุผล ก็ยกสถาบันกษัตริย์มาเป็นเกราะกำบัง แล้วทำลายฝ่ายตรงข้ามด้วย ม.112
ระบอบอำมาตยาธิปไตยใหม่
ระบอบอำมาตยาธิปไตยเติบโตและเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา มีชนชั้นหลากหลายภายในชนชั้น และมีคนใหม่ๆเข้ามาร่วมระบอบอยู่เรื่อยๆ ในยุคก่อนนั้น จะมีชนชั้นอำมาตย์สายพลเรือน และสายทหาร ต่อมาโดยเฉพาะช่วงหลังจาก ดร.ทักษิณ ชินวัตร และพรรคไทยรักไทยเข้าสู่เวทีอำนาจการเมือง ความต่างระหว่างชนชั้นอำมาตย์สายพลเรือนและสายทหารก็เลือนลางไป บางกลุ่มเข้ามาผนึกกำลังเป็นหนึ่งเดียวมากขึ้น กลายเป็นสายชนชั้นอำมาตย์ปัจจุบัน
อำมาตยาธิปไตย แต่เดิมหมายถึงระบอบที่ อำมาตย์มีอำนาจสูงสุด หรืออธิปไตยเป็นของชนชั้นอำมาตย์คำว่า "อำมาตย์" โดยทั่วไปหมายถึง ขุนนาง ข้าราชการ แต่ทว่า "อำมาตย์ในระบอบอำมาตยาธิปไตย" มีความหมาย ครอบคลุมไกลกว่านั้น เมื่อประชาชนฝ่ายประชาธิปไตยกล่าวถึง "ระบอบอำมาตยาธิปไตย" คำว่า อำมาตย์ จะรวมไปถึง "ชนชั้นต่างๆที่มีประโยชน์ร่วมกันในระบอบนี้ และทำทุกวิธีทางที่จะรักษาผลประโบชน์แห่งตน ภายใต้ระบอบที่ว่านี้" ชนชั้นเหล่านี้มีทั้ง ข้าราชการ ทหาร ตำรวจ ชนชั้นกลาง และชนชั้นล่าง(ที่ไม่ได้ประโยชน์จากระบอบ แต่ก็ยังสนับสนุน)
แต่เดิมนั้นเมื่อกล่าวถึง"ระบอบอำมาตยาธิปไตย" เรามักเน้นไปที่การบริหารบ้านเมืองที่ข้าราชการเป็นใหญ่ ควบคุมอำนาจกลไกต่างๆไว้ และเป็นผู้กำหนดทิศทางประเทศแต่ฝ่ายเดียว ดังนั้นเมื่อกล่าวถึงระบอบอำมาตยาธิปไตย บางคนจึงใช้คำศัพท์ภาษาอังกฤษว่า bureaucratic polity ซึ่งลักษณะบ้านเมืองเช่นนี้ จะเห็นชัดเจนในช่วงตั้งแต่รัฐบาลของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ มาจนถึงพลเอกเปรม ติณสูลานนท์
อย่างไรก็ตาม ดังที่กล่าวไว้ข้างต้น ระบอบนี้มีชีวิต เติบโตและเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา
ดังนั้นคำว่า อำมาตยาธิปไตย ในปัจจุบันจึงมิใช่แค่ชนชั้นข้าราชการ แต่เป็นในลักษณะของ "อภิสิทธิ์ชน" ซึ่งเราสามารถ เรียกรวมๆในภาษาอังกฤษได้ว่า aristocracy หรือ aristocrats หรือ pseudo aristocrats (คือการเลียนแบบชนชั้นสูง)
เศรษฐกิจที่เติบโตขึ้น และการเติบโตอย่างก้าวกระโดดในสมัยรัฐบาลชาติชาย (2531 - 2534) ทำให้เกิดชนชั้นกลางใหม่ขึ้นมากมาย ขณะที่คนจีนอพยพในรุ่นแรกๆ เริ่มมีความมั่นคงทางเศรษฐกิจ และส่งลูกหลานเข้าโรงเรียนชนชั้นศักดินาเพื่อยกสถานะทางสังคม คบหากับลูกหลานชนชั้นศักดินาจากสังคมเก่า มีการแต่งงานกับลูกหลานศักดินา และชนชั้นสูง รวมไปถึงเชื้อพระวงศ์บางส่วน ลูกหลานคนอพยพเหล่านี้จึงเปลี่ยนสถานะทางสังคมมาเป็นชนชั้นสูงด้วย นอกจากนั้นยังมี สามัญชน ลูกชาวบ้านธรรมดา ที่ร่ำเรียนด้วยความพยายามจนจบการศึกษา ทั้งที่ได้ทุนจากรัฐ และที่พ่อแม่ส่งเสียให้เรียนหนังสืออย่างยากลำบาก คนเหล่านี้เมื่อมีหน้าที่การงาน รับราชการ บางส่วนเจริญก้าวหน้า จนสามารถยกสถานะจากลูกชาวบ้าน หลานชาวนา ไปเป็นชนชั้นสูงในสังคมได้เช่นกัน
แน่นอนว่า ในระบอบอำมาตยาธิปไตย ก็เปิดโอกาสให้ชนชั้นล่างยกระดับขึ้นมาเป็นชนชั้นสูง และแน่นอนอีกเช่นกันว่าจะต้องเป็นไปตามเงื่อนไขที่สังคมอำมาตยาธิปไตยกำหนด (ซึ่งก็เป็นเรื่องธรรมดาของสังคมทั่วไป ที่มีกติกาของตนเอง)
เปรม ติณสูลานนท์ และ ประเวศ วะสี ก็เป็นตัวอย่างหนึ่งของชนชั้นอำมาตย์ที่ก้าวขึ้นมาจากชนชั้นล่างระบอบอำมา ตยาธิปไตยปกครองอย่างแนบเนียน และอาศัยความเชื่อทางศาสนาในการรักษาความสงบ-มั่นคงของชนชั้น เช่น คนที่มีเงิน มีอำนาจ เป็นเพราะทำบุญไว้มากในชาติปางก่อน ส่วนคนที่ต่ำต้อยยากจน เพราะทำบุญไว้น้อย คติแบบนี้ช่วยลด หรือกลบเกลื่อนความหมายของการถูกกดขี่ ทางออกสำหรับคนนอกวงจรอำนาจ จึงไม่ใช่การลุกขึ้นต่อสู้เพื่อสิทธิพลเมืองของตน แต่วิธีแก้ปัญหากลับเป็น การทำบุญเข้าวัด เผื่อว่าชาติหน้าจะได้มีวาสนากับเขาบ้าง หรือความใฝ่ฝันของชนชั้นล่างในระบอบอำมาตยาธิปไตย คือดิ้นรนส่งเสียลูกหลาน เพื่อโตขึ้นจะได้เป็น "เจ้าคนนายคน" ซึ่งหมายความว่า การเป็นเจ้าเหนือคนอื่นนั้นเป็นสิ่งที่ดี และคนชั้นล่างควรขยันหมั่นเพียรต่อไป ความเชื่อนี้ คือการสร้างความชอบธรรมให้แก่การเป็น "เจ้าเหนือคนอื่น" แล้วยังช่วยสลายแนวคิด "ความเป็นประชาชนที่เสมอภาค" ให้ลบเลือนหายไปจากกระบวนคิดของคนในสังคมไทย เหล่านี้เป็นการสร้าง "วัฒนธรรมจำยอม" ให้หยั่งรากลึกชั่วลูกหลาน แน่นอนว่า ระบอบอำมาตยาธิปไตยไม่เคยปฏิเสธชนชั้นล่าง ที่จะไต่เต้าขึ้นมาสู่ชนชั้นอำนาจ และเงื่อนไขของการมีเส้นสาย มีผู้อุปถัมภ์เลี้ยงดู ก็เป็นเงื่อนไขของสังคมมนุษย์ทั่วไป ไม่ว่าจะในระบอบใด
อย่างไรก็ตาม ปัญหาของระบอบอำมาตยาธิปไตยไทย อยู่ที่การรวมศุนย์อำนาจไว้นานเกินไปและรวมศูนย์อำนาจไว้มากเกินไป โดยที่ตลอดเวลากว่าครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา ไม่มีผลงานเป็นชิ้นเป็นอัน มีแต่ข้อแก้ตัวแน่นอนว่า การที่ระบอบอำมาตยาธิปไตยครองอำนาจอยู่กว่าครึ่งศตวรรษ ดังนั้นจึงปฏิเสธไม่ได้ว่าการพัฒนาหลายอย่างเกิดภายใต้ระบอบอำมาตย์ แต่นั่นก็เป็นเพราะอำมาตย์ผูกขาดการบริหารอยู่ฝ่ายเดียว และยังเป็นผลงานที่เชื่องช้า ไม่ใช่การพัฒนาที่ประสบความสำเร็จเท่าใดนัก ไม่ว่าจะแง่เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม วัฒนธรรมในกลุ่มชนชั้นอำมาตย์เอง เคยมีการยกปัญหาทำนองนี้ขึ้นมาหลายต่อหลายครั้ง มีการเสนอให้กระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่นทั้งอำนาจการเมืองและเศรษฐกิจ เพื่อความเจริญก้าวหน้าของส่วนรวม และยังเป็นการรักษาอำนาจของชนชั้นอำมาตย์ไว้ได้อีกยาวนานด้วย แต่ในที่สุดก็ไม่เคยมีการแก้ไขปัญหาใด ความพยายามในการแก้ปัญหาบ้านเมืองกลายเป็นการแย่งชิงบทบาทอำนาจระหว่าง อำมาตย์สายพลเรือน กับอำมาตย์สายทหาร
จนกระทั่งอำมาตย์สายทหารขัดแย้งกันเอง จนเกิดเหตุการณ์นองเลือด พฤษภาคม พ.ศ. 2535 ที่แทบจะสลายขั้วอำนาจของอำมาตย์สายทหารลงไปเกือบสิ้น
ชนชั้นอำมาตย์สายพลเรือน เช่น ศาสตราจารย์นายแพทย์ประเวศ วะสี อานันท์ ปัญญารชุน เข้ามีบทบาท หรือให้แนวคิดในการร่างรัฐธรรมนูญ 2540 ซึ่งในตอนนั้น คนเหล่านี้ต้องการรัฐบาลพลเรือนที่เข้มแข็ง มั่นคง ครองเสียงข้างมากในรัฐสภาจึงออกแบบรัฐธรรมนูญที่เอื้อต่อปรากฏการณ์ดังกล่าว คนเหล่านี้ไม่ต้องการรัฐบาลทหารที่ไม่รู้เรื่องราว เพราะอย่างไรในสายตาชนชั้นอำมาตย์ อำมาตย์พลเรือนย่อมมีสติปัญญาเหนือกว่าอำมาตย์ทหารแน่นอน(คือในชนชั้นก็ยังการแบ่งชนชั้นแยกย่อยอีกด้วย)
การร่างรัฐธรรมนูญ 2540 เกิดขึ้นหลังเหตุการณ์นองเลือด พฤษภาคม พ.ศ. 2535
พรรคการเมืองที่เข้มแข็ง ที่สามารถขึ้นเป็นรัฐบาลเสียงข้างมากได้ขณะนั้น ก็มีเพียงพรรคประชาธิปัตย์และพรรคประชาธิปัตย์ก็เป็นพรรคเก่าแก่ของชนชั้นอำมาตย์มาเนิ่นนาน โดยเฉพาะอำมาตย์สายพลเรือน สิ่งที่ไม่คาดคิดไว้ก่อน ก็คือ ดร.ทักษิณ ชินวัตร เข้ามาสู่สนามการเมืองอย่างจริงจัง และตั้งพรรคไทยรักไทยในขณะที่ พรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเป็นรัฐบาลตอนนั้นไม่สามารถแก้ปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจของชาติได้ ทำให้สูญเสียฐานมวลชนชั้นกลาง รวมทั้งพวกปฏิกิริยาชนชั้นกลางไปมากพอสมควร พรรคไทยรักไทยจึงเป็นทางเลือกสดใหม่ และมีโอกาสชนะการเลือกตั้งในหลายพื้นที่ ชนชั้นอำมาตย์สายประชาธิปัตย์ จึงเริ่มโจมตี ดร.ทักษิณ อย่างหนัก มีการโยนคดีซุกหุ้นและอีกมากมาย ศัตรูเก่าของดร.ทักษิณ ส่วนหนึ่งมาจากพรรคพลังธรรม ที่ผูกใจเจ็บมาแต่สมัยที่ ดร.ทักษิณ
เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ ในสังกัดพรรคพลังธรรมนั่นเอง
ขณะนั้น ปีพ.ศ. 2544 ชนชั้นอำมาตย์ในระดับสูงขึ้นไปยังวางเฉยและเมื่อพรรคไทยรักไทยได้คะแนนเสียงจากประชาชนมากมายจนน่าตกใจ ชนชั้นอำมาตย์ระดับสูงก็ยังวางเฉย แต่ก็แอบสนับสนุนอยู่เบื้องหลัง ด้วยต้องการให้ดร.ทักษิณ ช่วยจัดการแก้ไขวิกฤติเศรษฐกิจ ที่เป็นปัญหาของชาติและเป็นปัญหาส่วนตัวของชนชั้นอำมาตย์ระดับสูง
ทักษิณ ชินวัตร แก้ปัญหาเศรษฐกิจได้สำเร็จ และยังทำตามนโยบายที่สัญญาไว้กับประชาชนช่วงขณะหนึ่ง ดูเหมือนเขาจะกลายเป็นคนโปรดของชนชั้นสูงหลายต่อหลายคน ประชาชนรากหญ้าก็เริ่มชื่นชมและอันที่จริง ปัญหาของระบอบอำมาตยาธิปไตยน่าจะยุติลงได้ด้วยดีแล้วตั้งแต่ตอนนั้น เพราะเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว ประเทศชาติก็มีอำนาจต่อรองกับนานาประเทศมากขึ้น ประชาชนในภูมิภาคก็เริ่มช่วยเหลือตัวเองได้ และมีแนวโน้มว่าจะไม่เป็นภาระของส่วนกลาง (หรือชนชั้นอำมาตย์)อีกต่อไป ในขณะที่ค่านิยมความเชื่อในระบอบอำมาตยาธิปไตยก็ยังอยู่ดี ไม่มีใครท้าทาย หรือคนที่ท้าทายก็มีน้อยจนไม่มีปากเสียง รัฐบาลทักษิณก็ไม่เคยออกนอกลู่นอกทางระบอบอำมาตยาธิปไตย โดยเฉพาะในด้านสังคม วัฒนธรรม ความเชื่อ
อย่างไรก็ตาม ดังที่กล่าวไว้ข้างต้นชนชั้น และระบอบอำมาตยาธิปไตย ประกอบด้วยผู้คนหลากหลายชนชั้นสูงก็มีความคิดที่คาดเดายาก เปลี่ยนข้างได้รวดเร็ว ชนชั้นล่างที่เพิ่งก้าวมาเป็นชนชั้นอำมาตย์ได้ไม่นานก็ยังไม่ลึกซึ้งกับ ศักดิ์ศรี และ ยุทธวิธีบางอย่างของชนชั้นศักดินาเดิม จึงเลือกที่จะเปิดแนวรบกับประชาชนโดยตรงอีกทั้งบางส่วนของชนชั้นอำมาตย์ใหม่ ชนชั้นกลางใหม่ ยังมีคนที่ไม่รู้จักที่ต่ำที่สูง ไปดึงเอาสิ่งที่ไม่ควรแตะต้องเอามาใช้เป็นเครื่องมือทำลายฝ่ายตรงข้าม พวกปฏิกิริยาก็เน้นการล่าล้างโคตร เอาสะใจเป็นหลัก
แน่นอนว่า ชนชั้นอำมาตย์ส่วนมาก (แต่ไม่ใช่ทุกคน) มีนิสัยดูถูกประชาชน โดยเฉพาะดูถูกคนเหนือ คนอีสานแต่ชนชั้นศักดินาในอดีต จะมีวิธีการดูถูกเหยียดหยามผู้คนอย่างเนียน และมีศิลปะ ชนชั้นอำมาตย์ในอดีตก็จะไม่เปิดแนวรบกับประชาชนโดยตรง แม้แต่ในสมัยสงครามต่อสู้กับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ซึ่งฝ่ายซ้ายก็ประกาศสงครามชนชั้นอย่างชัดเจน แต่ชนชั้นอำมาตย์ในอดีตก็ไม่เคยเปิดแนวรบกับประชาชน จึงทำให้ พคท.ขาดแนวร่วมประชาชน และไม่สามารถรุกคืบได้มากนัก ซึ่งคุณสมบัติเหล่านี้ แตกต่างไปจากชนชั้นอำมาตย์ในยุคปัจจุบัน (ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548 เรื่อยมา) และข้อผิดพลาดใหญ่หลวง คือการใช้พวกปฏิกิริยาชนชั้นกลาง เป็นกำลังหลักในการโค่นกลุ่มอำนาจของดร. ทักษิณ ชินวัตร
ที่เรียกกันว่า พวกปฏิกิริยาชนชั้นกลาง ก็เพราะเป็นกลุ่มคนที่มีปฏิกิริยา และไม่มีอะไรมากไปกว่านั้น "พวกปฏิกิริยาชนชั้นกลาง" ใช้สำหรับเป็นแนวหน้า เป็นตัวป่วน สร้างกระแสขัดแย้ง และมีประโยชน์เพียงเท่านั้น เมื่อจุดกระแสติดแล้ว สมควรเก็บกวาดคนเหล่านี้ออกไปจากสนามการต่อสู้ เพราะคนพวกนี้มักทำให้เสียเรื่องคือถ้าไม่ทำให้แพ้ ก็จะทำให้เหตุการณ์บานปลาย ในการปฏิวัติของประเทศลาว สิ่งแรกเมื่อฝ่ายสังคมนิยมชนะก็คือกวาดล้างพวกปฏิกิริยาชนชั้นกลาง ที่เคยเป็นแนวร่วมของตนเองในศึกโค่นอำนาจทักษิณ ชินวัตร ชนชั้นอำมาตย์กลับใช้ "พวกปฏิกิริยาชนชั้นกลาง" เป็นทั้งแนวหน้าและกำลังหลัก "พวกปฏิกิริยาชนชั้นกลางในกรุงเทพฯ"คือองค์ประกอบสำคัญที่ทำให้ชนชั้นอำมาตย์ต้องเปิดแนวรบกับประชาชน ซ้ำร้ายชนชั้นอำมาตย์บางคนก็ยังร่วมผสมโรง ทำให้สถานการณ์ความขัดแย้งรองกลายเป็นความขัดแย้งหลัก..วาทกรรมที่ไม่เคยมีใครตั้งคำถาม มาถึงตอนนี้ก็ใช้ไม่ได้อีกแล้ว
สิ่งที่พล.อ.วัฒนชัย ฉายเหมือนวงศ์ ให้สัมภาษณ์ (ไทยโพสต์) ถึงการถอยเพื่อปรับยุทธวิธี เอาเข้าจริงชนชั้นอำมาตย์ใหม่เหล่านี้ ก็ยังใช้วิธีเดิมๆ วิธีเดียวกับที่ล้มรัฐบาลทักษิณ เอามาล้มรัฐบาลสมัคร สุนทรเวช ผลที่ได้คือ ขยายแนวรบกับประชาชนกว้างออกไปอีก จากเดิมมีแค่ นปก.ไม่ถึงแสนคน ก็กลายเป็น นปช.คนเสื้อแดงที่มีมวลชนนับล้าน มีเครือข่ายทั่วประเทศแม้แต่ในภาคใต้ สิ่งเดียวที่ชนชั้นอำมาตย์ปรับยุทธวิธี คือไม่ครองอำนาจโดยตรง..แต่ครองอำนาจผ่านตัวแทน
ตอนที่ 5
ชนชั้นอำมาตย์เปิดฉากรุกแตกหัก
นปก. ประกาศจุดยืนชัดเจนตั้งแต่ต้นว่าไม่รับรัฐธรรมนูญ 2550 เพราะเป็นคัมภีร์สืบทอดอำนาจของคณะรัฐประหาร ที่เขียนขึ้นมาเพื่อปกป้องระบอบอำมาตยาธิปไตยเท่านั้น ระหว่างการลงประชามติ พรรคประธิปัตย์ สื่อมวลชนกระแสหลัก นักวิชาการ (ซึ่งส่วนมากรับใช้ระบอบอำมาตย์) ล้วนเรียงหน้ากันออกมาบอกประชาชน ให้รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไปก่อน ถ้าไม่พอใจก็สามารถมาแก้ไขภายหลังได้จึงมีประชาชนจำนวนไม่น้อย ที่หลงเชื่อและยอมรับร่างรัฐธรรมนูญ 50 ด้วยหวังให้มีการเลือกตั้งโดยเร็ว และคิดว่าจะสามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญหลังที่มีรัฐบาลใหม่แล้ว เป็นกระบวนคิดแบบสันติวิธีประนีประนอม ไม่ต้องเสียแรงต่อสู้
พรรคพลังประชาชน ระหว่างการหาเสียงเลือกตั้ง ก็ประกาศชัดเจนว่าจะต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญหลังจากพรรคพลังประชาชนได้รับเลือก เป็นเสียงข้างมาก และตั้งรัฐบาลแล้ว ก็เริ่มมีการพูดถึงการแก้รัฐธรรมนูญทางด้าน นปก. นำโดยนายแพทย์เหวง โตจิราการ ร่วมกับตัวแทนกลุ่มประชาชนอีกหลายฝ่าย ได้ประชุมปรึกษา และร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญใหม่ "ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ"ฉบับดังกล่าว มีประชาชนลงชื่อสนับสนุนกว่าแสนคน จากนั้นจึงส่งให้รัฐสภานำเข้าพิจารณา ซึ่งถูกบรรจุไว้เป็นวาระแรก ..แต่ก็ถูกอำนาจลึกลับถ่วงเอาไว้
ทางฝ่ายอำมาตย์ พรรคประชาธิปัตย์ สื่อมวลชนกระแสหลัก นักวิชาการ (ซึ่งส่วนมากรับใช้ระบอบอำมาตย์) ที่เคยบอกว่า ให้รับรัฐธรรมนูญไปก่อน แล้วมาแก้ไขทีหลัง แต่ถึงตอนนี้เปลี่ยนท่าทีมาเป็น ต่อต้าน - คัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
ดังนั้น ย่อมกล่าวได้ว่ากลุ่มประชาชนที่รับรัฐธรรมนูญ 50 เพราะคิดว่าจะมาแก้ไขภายหลังนั้น..ล้วนถูกหลอกอย่างน่าเวทนา..
โดยสามัญสำนึก การแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 ย่อมเป็นสิ่งที่ชนชั้นอำมาตย์ระดับสูง จะไม่มีวันยอมให้เกิดขึ้นได้เพราะนั่นหมายถึงการสูญเสียอำนาจครั้งใหญ่ ที่สำคัญ พรรคพลังประชาชน - นปก. ไม่ได้คิดแก้รัฐธรรมนูญเฉพาะประเด็นที่เป็นประโยชน์ต่อตนเองทางการเมือง แต่คิดแก้ไขหมดทั้งฉบับ ให้กลับไปเป็นรัฐธรรมนูญ 2540 ถึงแม้นชนชั้นอำมาตย์จะเป็นผู้ออกแบบรัฐธรรมนูญ 2540 แต่รัฐธรรมนูญ 2540 ก็เปิดโอกาสให้ประชาชนมากไปชนชั้นอำมาตย์จึงต้องก่อรัฐประหาร และเขียนรัฐธรรมนูญ 2550 ขึ้นมา
ชนชั้นอำมาตย์เริ่มเปิดฉากรุกครั้งใหม่
เริ่มจากส่งสมุนสื่อสารมวลชน ออกมาสร้างวาทกรรมซ้ำซาก เช่น แก้รัฐธรรมนูญเพื่อทักษิณ แก้รัฐธรรมนูญเพื่อให้พรรคพลังประชาชนพ้นผิดคดียุบพรรค วาทกรรมเหล่านี้ไม่ได้มีเพียงเพื่อโน้วน้าวสังคม แต่ในสังคม "ศรีธนนชัย"เช่นประเทศไทย วาทกรรมซ้ำซากของชนชั้นอำมาตย์ ยังมีเพื่อเบี่ยงเบนประเด็น ทำให้การถกเถียงโต้แย้งหลุดออกไปจาก "ใจความสำคัญ" เป็นยุทธวิธีที่ชนชั้นอำนาจใช้ได้ผลเสมอมา ตราบจนปัจจุบัน จากนั้น ชนชั้นอำมาตย์ก็ส่งกลุ่มพันธมิตรฯออกมาเคลื่อนไหวใช้วิธีเดิม วิธีเดียวที่เคยใช้โค่นล้มรัฐบาลทักษิณ (2548 - 49) ความแตกต่างคือกลุ่มพันธมิตรฯในปี 2551 มาพร้อมกองกำลังติดอาวุธเบา ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ชนชั้นอำมาตย์เริ่มมองเห็นแล้วว่า การต่อสู้ครั้งนี้ไม่ใช่แค่กลุ่มอำนาจหนึ่งปะทะกับอีกกลุ่มอำนาจหนึ่ง แต่มีมวลชนเข้ามาร่วมในการต่อสู้ ดังนั้น หากไม่มีกองกำลังติดอาวุธเบาเข้ามาเสริมมวลชนของพันธมิตรฯอาจถูกกระทืบตายคาถนนก็เป็นได้
ระบอบอำมาตยาธิปไตยนั้นก็มีมวลชนของตนเอง ซึ่งไม่ต่างไปจากฝ่ายประชาธิปไตย ทั้งสองฝ่ายล้วนประกอบด้วย ชนชั้นสูง ชนชั้นกลาง ชนชั้นล่าง ข้าราชการ ตำรวจ และทหาร รวมทั้งชนชั้นปฏิกิริยาซึ่งมีอยู่ในมวลชนทั้งสองฝ่าย ช่วงเวลานั้น นปก. / นปช. ลดบทบาทในพื้นที่สาธารณะเพื่อเปิดทางให้ พรรคพลังประชาชน ในฐานะรัฐบาล และเสียงข้างมากในรัฐสภา ได้ดำเนินกิจกรรมการเมืองอย่างเต็มที่ การชุมนุมของ นปช. หลังจากวันประชามติ 19 สิงหาคม 2550 เป็นเพียงการนัดพบ และไม่มีความเคลื่อนไหวสำคัญ
วันที่ 25 พฤษภาคม 2551 - ชนชั้นอำมาตย์เปิดศึกแตกหักกับพรรคพลังประชาชน
กลุ่มพันธมิตรฯชุมนุมใหญ่ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เพื่อเตรียมเดินไปยึดทำเนียบรัฐบาล ขณะเดียวกัน มวลชนกลุ่มต่อต้านพันธมิตรฯจำนวนหลายร้อยคน ไปรวมตัวขับไล่อยู่ใกล้ๆ ด้านถนนดินสอการประเมินของตำรวจกล่าวว่ากลุ่มพันธมิตรฯมีประมาณ 1500-2000 คน แต่ในความเป็นจริงแล้วมีมากกว่านั้น น่าจะอยู่ที่ประมาณ 3000 - 4000 คนขึ้นไป ส่วนฝ่ายต่อต้านพันธมิตรฯ ซึ่งมาอย่างปราศจากแกนนำ มีอยู่ประมาณ 700 คน และยังมีกลุ่มคนวันเสาร์อยู่ที่สนามหลวงอีกประมาณ 300 คน
เวลา 18:50 น. เริ่มมีการปะทะกันระหว่างมวลชนทั้งสองฝ่าย
เวลา 21.00 น. กลุ่มคนวันเสาร์ฯ นำโดยสุชาติ นาคบางไทร (วราวุธ ฐานังกรณ์) เคลื่อนกำลังออกจาสนามหลวง เพื่อมาสมทบกับกลุ่มต้านพันธมิตรฯ - ขณะเดียวกัน กลุ่มพันธมิตรฯ เคลื่อนขบวน เดินทางไปทำเนียบรัฐบาล โดยมีกำลังตำรวจคุ้มกัน และพยายามแยกมวลชนทั้งสองฝ่ายให้อยู่ระยะห่างจากกัน - ขบวนของกลุ่มพันธมิตรฯ ติดอยู่บริเวณเชิงสะพานมัฆวานฯ ไม่สามารถผ่านด่านตำรวจไปได้ ขณะเดียวกัน กลุ่มต่อต้านได้รวมพลอยู่ที่สะพานผ่านฟ้า กลุ่มแท๊กซี่และมอเตอร์ไซค์ เริ่มเดินทางมาเป็นกำลังสนับสนุนให้กับฝ่ายต่อต้านพันธมิตรฯขณะที่กลุ่ม พันธมิตรฯ ก็มีกองกำลังมอเตอร์ไซค์ของตนเองเช่นกัน (ไม่สามารถระบุที่มาของกองกำลังนี้ได้)
อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ที่สับสนอยู่แล้ว ก็ยิ่งสับสนมากขึ้นกว่าเดิม - ฝ่ายต่อต้านพันธมิตรฯ ไม่มีแกนนำ ไม่มีแผนต่างคนต่างมาและกระจัดกระจาย - ขณะที่กลุ่มพันธมิตรฯเตรียมพร้อมรับมือกับการถูกจู่โจม พวกเขามีกองระวังหลัง
เวลา 22.00 น.โดยประมาณ เกิดปะทะกันครั้งใหญ่ระหว่างฝ่ายต่อต้านพันธมิตรฯ กับกองระวังหลังของพันธมิตรฯ กองรักษาความปลอดภัยของกลุ่มพันธมิตรฯ รู้วิธีใช้อาวุธเบาในการสลายชุมชน พวกเขารู้วิธีการตีครั้งเดียวให้หมอบ ขณะที่มวลชนฝ่ายต่อต้านฯไม่รู้ยุทธวิธีอะไรเลย จึงบาดเจ็บสาหัสจำนวนมาก
เวลา 23.00 น. มวลชนกลุ่มพันธมิตรฯที่อาศัยในกรุงเทพฯ เริ่มทะยอยกลับบ้าน ทำให้มวลชนที่ติดอยู่เชิงสะพานมัฆวานฯ มีจำนวนลดลงไปมาก - ขณะที่ฝ่ายต่อต้านพันธมิตรฯ ยังคงปักหลักอยู่ที่สะพานผ่านฟ้า
ช่วงเที่ยงคืน รัฐบาลเตรียมสลายการชุมนุม ขณะที่ผู้ชุมนุมพันธมิตรฯ บริเวณเชิงสะพานมัฆวานฯเหลืออยู่ไม่มาก แต่ไม่สามารถทำได้ กล่าวกันว่ามี อำนาจบางอย่างสั่ง.."ห้ามทำร้ายประชาชนของพวกเขา"
1 มิถุนายน 2551
นายกรัฐมนตรี สมัคร สุนทรเวช กล่าวทางสถานีโทรทัศน์ NBT ว่าจะไม่มีการสลายการชุมนุมของกลุ่มพัธมิตรฯในลักษณะที่นักวิชาการ (ฝ่ายอำมาตย์) ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ แต่จะให้ตำรวจเจรจากับกลุ่มผู้ชุมนุมพันธมิตรฯ ให้รื้อเวทีไปจากการกีดขวางจราจร เส้นทางเสด็จพระราชดำเนิน โดยจะมีการถ่ายทอดสด เชิญสำนักข่าวต่างประเทศรวมทั้งสหประชาชาติ ซึ่งอยู่ตรงเชิงสะพานมัฆวานฯ มาร่วมชมการเจรจาและรื้อเวที และแน่นอนที่สุด ทุกอย่างเป็นแค่คำพูด.. ซึ่งไม่เคยมีการปฏิบัติจริง
19 มิถุนายน 2551
หลังการชุมนุมยืดเยื้อเป็นเวลาประมาณกว่า 20 วันของกลุ่มพันธมิตรฯ ที่เชิงสะพานมัฆวานฯ ยังไม่สามารถบรรลุผลสำเร็จใดตามวัตถุประสงค์ นอกจากนั้น การปราศรัยของแกนนำ เช่น สนธิ ลิ้มทองกุล ยังช่วยทำให้ประชาชนทั่วไปเข้าใจว่า "ใครคือผู้สนับสนุนคนสำคัญ" ของปฏิบัติการครั้งนี้ ซึ่งช่วยตอบคำถามประชาชน ว่าทำไมตำรวจจึงไม่กล้าสลายการชุมนุมเมื่อเช้ามืดของวันที่ 26 พฤษภาคม และตอบคำถามว่า ทำไมกลุ่มพันธมิตรฯจึงสามารถอยู่เหนือกฎหมาย และมีอภิสิทธิ์เหนือกว่าประชาชนทั่วไป ระหว่างนั้น มีรายงานว่ากลุ่มพันธมิตรฯ กำลังเตรียมรุกแตกหักอีกครั้ง โดยจะฝ่าด่านสะพานมัฆวานฯ และเข้ายึดทำเนียบรัฐบาลในวันที่ 20 มิถุนายน - รัฐบาลจึงเตรียมสลายกำลังของกลุ่มพันธมิตรฯ โดยอาศัยความร่วมมือจากมวลชนสนามหลวง
คืนวันที่ 19 มิถุนายน มวลชน นปช. กว่าหมื่นคนเคลื่อนกำลังจากสนามหลวง คราวนี้มีแกนนำมีการจัดทัพจัดระเบียบมาอย่างที่ควรจะเป็น เพื่อป้องกันไม่ให้กลายเป็นมวลชนเลอะเทอะกระจัดกระจาย ดังนั้น นายแพทย์เหวง โตจิราการ หนึ่งในแกนนำ นปช. จึงเป็นคนนำทัพ กล่าวกันว่า นปช.ไม่เกี่ยวข้องกับงานนี้ แต่"มวลชนสนามหลวง"ก็เป็นหนึ่งในกลุ่มที่ร่วมกับ นปช.ในคืนวันที่ 19 มิถุนายน กลุ่มพันธมิตรฯ ถูกกดอยู่ในวงล้อมด้านสะพานมัฆวานฯเป็นตำรวจ ด้านถนนราชดำเนินเป็นมวลชนสนามหลวง แต่เหตุการณ์ก็พลิกผันอีกครั้งช่วงเช้าของวันที่ 20 กำลังพันธมิตรฯ สามารถผ่านแนวรับของตำรวจอย่างง่ายดาย และไหลเข้าไปในทำเนียบทั้งด้านสะพานมัฆวานฯ และด้านสะพานชมัยมรุเชฐ (ที่มีรั้วเหล็กกั้นหลวมๆเพียงสองชั้น ซึ่งผิดปกติอย่างมาก)
ไม่มีใครทราบถึงเบื้องหลังแน่นอนของปรากฏการณ์นี้ แม้จะมีคำร่ำลือว่า เป็นการสมรู้ร่วมคิดของตำรวจระดับสูงที่ฝักใฝ่ฝ่ายอำมาตย์ ซึ่งได้รับคำสั่งมาจากผู้บงการกลุ่มพันธมิตรฯ จะอย่างไรก็ตาม กลุ่มพันธมิตรฯ ก็สามารถยึดทำเนียบรัฐบาลไว้ได้ตามที่ประกาศ และยึดอยู่เกือบครึ่งปี จนกระทั่งศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคพลังประชาชน ในเดือนธันวาคม
24 มิถุนายน 2551
นปช. จัดงานรำลึกการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ที่ท้องสนามหลวงและไม่มีท่าทีเคลื่อนไหวใดๆ ดูเหมือนว่า นปช.ต้องการให้รัฐบาลจัดการปัญหาต่างๆด้วยตนเองมากกว่า ขณะเดียวกัน วันที่ 27 มิถุนายน 2551 พรรคประชาธิปัตย์ยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลผลออกมาปรากฏว่า นายกรัฐมนตรีสมัคร สุนทรเวช ยังคงได้รับการไว้วางใจด้วยคะแนน 280 เสียงซึ่งการออกเสียง ประธานสภาฯ รองประธานรวมทั้งรัฐมนตรีทั้งคณะต่างไม่ร่วมลงคะแนน เพื่อแสดงความเป็นกลางและเป็นมารยาท (ส่วนนายกฯ - รัฐมนตรีที่ถูกอภิปรายไม่มีสิทธิ์ออกเสียงอยู่แล้วตามกฎหมาย) รัฐมนตรีที่เหลือทั้งหมดได้คะแนนลดหลั่นเพียงแค่หนึ่งเสียง คือระหว่าง 278 – 279 เป็นสัญญาณว่าพรรคร่วมรัฐบาลยังคงมั่นคงดี
อย่างไรก็ตาม แม้นผู้คนส่วนใหญ่คิดว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญล่าช้านั้น เป็นเพราะกระแสต่อต้านจากกลุ่มพันธมิตรฯ แต่เริ่มมีคำถามในหมู่ประชาชนฝ่ายประชาธิปไตยว่า เป็นไปได้หรือไม่ที่การแก้ไขรัฐธรรมนูญยังไม่เกิดขึ้น เพราะการเตะถ่วงของ "คนในพรรคพลังประชาชน" เพราะเริ่มมีข่าวลือว่า บางกลุ่มในพรรคพลังประชาชน กำลังเจรจาผลประโยชน์กับฝ่ายอำมาตย์ แต่ที่สุดก็กลายเป็นคำถามแผ่วเบา เพราะไม่มีใครสามารถระบุได้ว่า ใครเจรจากับใคร จนกระทั่งเรื่องมาเปิดเผยในเดือนธันวาคม ปีเดียวกัน เมื่อปรากฏว่ากลุ่มของ เนวิน ชิดชอบ ย้ายข้างไปสนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์ และ ชนชั้นอำมาตย์
ตอนที่ 6
การรุกแตกหักของชนชั้นอำมาตย์ กลับสร้างแนวร่วมให้ นปช.
ชนชั้นอำมาตย์คาดหวังให้กลุ่มพันธมิตรฯ นำมวลชนออกมาเป็นหัวหอกในการโค่นล้มรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวชเหมือนกับที่เคยกระทำต่อรัฐบาลดร.ทักษิณ ชินวัตร แต่กลุ่มพันธมิตรฯในปี 2549 ก็ไม่เคยทำสำเร็จ และมวลชนพันธมิตรฯก็ลดน้อยลงทุกวัน ทั้งที่ทุ่มทุนโฆษณาผ่านสื่อมวลชนกระแสหลักทุกแขนง ในที่สุด ชนชั้นอำมาตย์ก็ต้องใช้กองทัพไทยออกมาก่อรัฐประหาร ในความพยายามโค่นรัฐบาลสมัคร สุนทรเวชก็เช่นกัน ทั้งที่ชนชั้นอำมาตย์สนับสนุนกลุ่มพันธมิตรฯในทุกด้าน ทุกรูปแบบ แต่กลุ่มพันธมิตรฯก็ยังไม่สามารถสร้างผลกระทบแก่รัฐบาลได้เท่าใด เริ่มต้น ก็ไปติดอยู่ที่เชิงสะพานมัฆวานฯอยู่เกือบหนึ่งเดือน จนกระทั่งชนชั้นอำมาตย์ต้องเป็นฝ่ายใช้อำนาจพิเศษ ในการเปิดทางให้เข้าไปยึดทำเนียบรัฐบาล อยู่ในทำเนียบรัฐบาลหลายเดือน ก็ยังไม่เกิดผลคืบหน้าใดๆความพยายามปลุกกระแส ให้เกิดเป็นการปฏิวัติประชาชนก็ไม่เคยทำได้ ทั้งที่สื่อมวลชนกระแสหลักทุกแขนง ต่างช่วยโฆษณาชวนเชื่ออย่างสุดความสามารถ ว่าพันธมิตรฯมีคนมาร่วมเป็นแสนเป็นล้าน เป็นร้อยล้านมากกว่าจำนวนประชาชนในประเทศไทย แต่จากการประเมินของตำรวจ โดยประเมินจากพื้นที่ที่ใช้ในการชุมนุม กลุ่มพันธมิตรฯ ตั้งแต่ปี 2549 มาจนถึงปี 2551 ไม่เคยมีครั้งไหนที่มีคนมากกว่า "สามหมื่นคน"
ในขณะที่มวลชนสามหมื่นคน เป็นจำนวนปกติของมวลชนสนามหลวง ในวันชุมนุมธรรมดาๆ แน่นอนว่า จำนวนผู้คนที่ออกมาร่วมชุมนุมบนถนนมิได้มีผลชี้แพ้ชี้ชนะ บางวันมามาก บางวันมาน้อยเป็นเรื่องปกติ แต่การชุมนุมที่มคนมาร่วม ในจำนวนสม่ำเสมอ บ่งบอกถึงความมุ่งมั่นของกลุ่มมวลชน การชุมนุมที่มีคนมาร่วมสม่ำเสมอแล้วเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ ทุกวันเมื่อเวลาผ่านไป ยิ่งบ่งบอกถึงแนวร่วมที่ขยายขึ้น และมุ่งมั่นมากขึ้น มีอารมณ์ร่วมมากขึ้น ซึ่งมวลชนประเภทนี้ ผ่านไประยะหนึ่งก็จะมีพลังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนคำปราศรัยของแกนนำไม่มีความหมายมากไปกว่าการนัดแนะ ว่าจะทำอะไรกันต่อไป เพราะเมื่อถึงขั้นนั้น มวลชนจะรู้ดีว่าตนเองกำลังทำอะไร เพื่อจุดประสงค์ใด นี่คือสิ่งที่ทุกฝ่ายคาดหวัง ในการชุมนุมทางการเมืองกลุ่มพันธมิตรฯก็คาดหวังให้มวลชนของตนเป็นเช่นนี้ นปช. ก็คาดหวังเช่นเดียวกัน
สำหรับกลุ่มพันธมิตรฯ ค่อนข้างมีปัญหา มวลชนของพวกเขามีมากมาย โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นพื้นที่ชุมนุมแต่ทว่ามวลชนของพันธมิตรฯ ก็เลือกที่จะนอนดูโทรทัศน์อยู่กับบ้านมากกว่า และเมื่อเกิดการต่อต้าน "เสื้อเหลือง"(เพราะกลุ่มพันธมิตรฯใช้สีเหลือง - เสื้อเหลืองเป็นสัญลักษณ์) กลุ่มมวลชนพันธมิตรฯจำนวนไม่น้อย ก็พยายามปฏิเสธว่าตนเอง "ไม่ใช่พวกเสื้อเหลือง" บางคนก็อ้างว่าเป็นกลางบ้าง เป็นเสื้อขาวบ้าง นี่คือวิถีของพวกปฏิกิริยาชนชั้นกลาง คือเมื่อไม่สะดวกก็จะหลบหลีก เมื่อไม่เท่ ก็จะปฏิเสธว่าไม่ใช่พวกเดียวกัน เมื่อถึงเวลาต้องฆ่าฟันกัน ก็จะทิ้งเพื่อนทันที นี่เป็นเหตุหนึ่ง ที่ไม่ควรนำพวกปฏิกิริยาชนชั้นกลางมาร่วมขบวนการในระยะยาว
อีกประการหนึ่ง ประเทศไทยเป็นบ้านเมืองที่มีแนวคิดอนุรักษ์นิยม ครอบงำด้วยระบอบอำมาตยาธิปไตย เป็นวัฒนธรรมแห่งการยอมจำนน ดังนั้น การที่กลุ่มพันธมิตรฯ ซึ่งเป็นมวลชนอำมาตย์ ปลุกระดมมวลชนเพื่อให้ลุกขึ้นมาปกป้องวิถีอำมาตยาธิปไตย รักษาแนวคิดอนุรักษ์นิยมและการยอมจำนนต่ออำมาตย์ จึงค่อนข้างเป็นเรื่องที่ "ปลุกได้ยาก" เพราะไม่ว่าจะออกมาสู้เพื่อพันธมิตรฯหรือนอนเฉยๆอยู่บ้าน ไม่ว่าจะออกมาสู้เพื่ออำมาตย์หรือไม่ก็ตาม ทุกคนก็รู้ดีว่าบ้านเมืองจะยังคงเป็นเช่นเดิม คืออย่างไรคนก็คิดว่าอำมาตย์ชนะอยู่แล้ว และชนะแล้วก็ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง เหตุเหล่านี้ทำให้การปลุกมวลชนพันธมิตรฯ ให้ออกมาเป็นแสนเป็นล้าน เพื่อสร้างกระแสปฏิวัติประชาชน จึงไม่สามารถเกิดขึ้นการปลุกระดมของชนชั้นอำมาตย์ จึงทำได้แค่ "ปลุกอารมณ์คลั่งชาติ" "สร้างความเกลียดชังในหมู่ประชาชนด้วยกันเอง"
แต่อารมณ์เหล่านี้ก็เป็นแค่ของชั่วคราว ไม่ใช่อุดมการณ์การเมืองที่จะต่อสู้สืบทอดกันได้นานนอกจากนั้น ยังมีผลสะท้อนกลับอีกด้วย
การปลุกมวลชน "สร้างความเกลียดชังในหมู่ประชาชนด้วยกันเอง" ย่อมหมายถึงว่า ต้องมีคนที่ถูกเกลียดและคนที่ถูกตราให้เป็น เป้าหมายความเกลียดชัง ก็ย่อมต้องลุกขึ้นมาสู้ เพื่อปกป้องตนเอง
ดังนั้น การปลุกให้คนกลุ่มหนึ่งเกลียดคนอีกกลุ่มหนึ่ง ก็เท่ากับเป็นการสร้างมวลชนให้แก่คนอีกกลุ่มหนึ่งมากขึ้นเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อ"คนที่ถูกตราให้เป็นเป้าหมายความเกลียดชัง"นั้น มีมากกว่า และเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ และนี่เป็นเหตุผลหนึ่ง ที่ชนชั้นศักดินา มาถึงชนชั้นอำมาตย์ในอดีต ไม่เคยคิดเปิดแนวรบกับประชาชน
ด้วยเหตุต่างๆข้างต้น กลุ่มพันธมิตรฯจึงมิได้สร้างประโยชน์ให้ชนชั้นอำมาตย์ หรือระบอบอำมาตยาธิปไตยแม้แต่น้อย ถ้อยคำปราศรัยของแกนนำพันธมิตรฯ อาจสร้างกำลังใจให้แก่มวลชนของตนเอง เมื่อรู้ว่าพวกตนเป็นชนชั้นที่มีอภิสิทธิ์ แต่ขณะเดียวกันก็เป็นการเปิดโปงระบอบอำมาตยาธิปไตย และประเพณีหลายๆอย่างที่ชนชั้นอำมาตย์เก็บเงียบมานานในการปกครองที่แนบเนียน แต่อาวุธลับเหล่านี้ ก็ถูกเปิดออกมาจนหมดโดยแกนนำพันธมิตรฯ ที่อำมาตย์สร้างขึ้นมา
ความหวังที่จะให้เกิดรัฐประหาร ก็ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ในปี 2551 แม้กองกำลังติดอาวุธเบาของพันธมิตรฯ จะช่วยให้เกิดเหตุจลาจลขึ้นหลายครั้ง เช่นตอนเช้าของวันที่ 26 สิงหาคม (พ.ศ. 2551) กองกำลังติดอาวุธพันธมิตรฯ บุกยึดสถานีโทรทัศน์แห่งประเทศไทยและสถานที่ราชการอีกหลายแห่ง แต่ในที่สุดก็ต้องล่าถอยไปหมด ..เพราะไม่มีกองทัพไทยออกมาช่วยก่อรัฐประหาร
ในกองทัพไทย มีความแตกแยกเป็นหลายฝ่าย จึงเป็นไปได้ว่า กลุ่มที่ลงมือทำรัฐประหารก่อน อาจถูกอีกกลุ่มออกมาปราบ หรือตลบหลัง ทำรัฐประหารซ้ำ ทำให้ไม่มีใครเสี่ยงออกมาเป็นกลุ่มแรก การรุกแตกหักของชนชั้นอำมาตย์ ดูเหมือนรุนแรงและได้เปรียบในทุกด้าน แต่กลับผิดพลาดไปทุกด้านเช่นกัน ตรงกันข้ามกับฝ่าย นปช. ที่ในช่วงนั้นลดบทบาทตนเองลง และตั้งเป็นฝ่ายรับเท่านั้น แต่ นปช.กลับมีมวลชนเพิ่มมากขึ้นทุกวัน โดยไม่ต้องลงทุนอะไรเลย แค่รอผลสะท้อนกลับจากการกระทำของกลุ่มพันธมิตรฯ
อย่างไรก็ตาม ชนชั้นอำมาตย์ในยุคนี้ มีมุมมองที่เหนือสามัญสำนึกอย่างเหลือเชื่อและยังคงออกอาวุธ รุกคืบต่อไปอย่างไม่สนใจความเสียหายต่อชนชั้นของตนเอง
ตอนที่ 7
ตุลาการรัฐประหาร ก่อให้เกิด "คนเสื้อแดง"
การยัดคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพให้กับจักรภพ เพ็ญแข รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ / แกนนำ นปช.
การตัดสินคดีทุจริตเลือกตั้งของยงยุทธ ติยะไพรัช ประธานรัฐสภา / สส.พรรคพลังประชาชน
การใช้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญปลด สมัคร สุนทรเวช จากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
และมาจนถึงศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคพลังประชาชน เหล่านี้มิได้แตกต่างไปจากคดียุบพรรคไทยรักไทย ในความเห็นของแนวร่วมชนชั้นอำมาตย์ สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องน่ายินดีและสะใจ
แต่ในมุมมองของประชาชนอีกจำนวนมาก เห็นต่างออกไป และเห็นว่าเป็นการใช้อำนาจเพื่อกลั่นแกล้ง อยุติธรรม คำบรรยายเชิงวิชาการของนายจักรภพ เพ็ญแข ที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศ เมื่อปี 2550 ไม่มีถ้อยคำใดที่กล่าวหมิ่นสถาบันกษัตริย์ แต่ฝ่ายอำมาตย์ยกเอาคำว่า "ระบบอุปถัมภ์" ว่าเป็นการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ (?) ทั้งที่คำว่า patronage ในภาษาอังกฤษ หรือ แปลว่า "ระบบอุปถัมภ์" ในภาษาไทย ล้วนเป็นคำที่ใช้กันทั่วไป และในเนื้อหาก็มิได้กล่าวถึงสถาบันกษัตริย์ด้วยซ้ำ อย่างไรก็ตาม วิธีการกำจัดศัตรูทางการเมืองของชนชั้นอำมาตย์ คือยัดข้อหาในทำนองนี้ โดยมี "สื่อมวลชนกระแสหลัก" เป็นผู้รับใช้ขยายความ
ในคดีทุจริตเลือกตั้ง ข้อกล่าวหาคือนายยงยุทธ ติยะไพรัช แจกเงินให้หัวคะแนนในจังหวัดเชียงราย แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น จากปากคำของพยานโจทก์เอง กลายเป็นว่าพวกเขาพบกับนายยงยุทธ ติยะไพรัช ก่อนจะมีการเลือกตั้ง และยังไม่มีการประกาศ พ.ร.ฎ.เลือกตั้ง การพบปะกันนั้น นายยงยุทธมิได้เป็นคนนัดหมาย และยังไม่ได้ต้องการจะพบคนเหล่านี้ด้วยซ้ำ จากนั้นพยานโจทก์เกือบทุกคนยืนยันว่าจำเลยคือนายยงยุทธ ติยะไพรัช ไม่เคยแจกเงินให้พวกตน มีพยานโจทก์เพียงคนเดียวที่ยืนยันตามคำฟ้อง ทุกฝ่ายยอมรับว่า การพบปะระหว่างนายยงยุทธ ติยะไพรัช และบุคคลเหล่านี้เกิดขึ้นก่อน พ.ร.ฎ.เลือกตั้ง นั่นหมายถึงว่าเรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง ไม่ว่าจะพบหรือไม่พบ จะให้เงินหรือไม่ให้เงิน อย่างไรก็ตาม ศาลการเมือง บอกว่าผิด ..และนำคดีเดียวกันไปสู่การยุบพรรคพลังประชาชนอีกด้วย
วันที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2551
นายชัช ชลวร ประธานตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ พร้อมคณะ ได้ออกนั่งบัลลังก์อ่านคำวินิจฉัยในกรณีที่ประธานวุฒิสภาส่งความเห็นของสมาชิกวุฒิสภาและคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยความสิ้นสุดการเป็นนายกรัฐมนตรีของนายสมัคร ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 มาตรา 267 ประกอบมาตรา 182 (7) เนื่องจากรับเป็น"พิธีกรกิตติมศักดิ์" ของรายการ “ชิมไปบ่นไป” และ “ยกโขยง 6 โมงเช้า” ซึ่งคณะตุลาการฯ มีมติเป็นเอกฉันท์ 9 ต่อ 0 เสียง เห็นว่านายสมัครกระทำต้องห้ามขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 267 เรื่องคุณสมบัติของนายกรัฐมนตรี จึงทำให้นายสมัครสิ้นสุดความเป็นนายกรัฐมนตรีลง แต่ให้คณะรัฐมนตรีรักษาการไปจนกว่าจะมีนายกรัฐมนตรีคนใหม่
ตรงนี้เป็นจุดพลิกผันสำคัญ..อีกครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์
นปช. มีแนวร่วมประชาชนเพิ่มขึ้นอีก เป็นเท่าทวีคูณเพียงชั่วข้ามคืน
สิ่งที่ นปช. กล่าวถึงชนชั้นอำมาตย์ อำนาจอันไม่ชอบธรรม ความอยุติธรรมของระบอบอำมาตยาธิปไตย สิ่งเหล่านี้ชนชั้นอำมาตย์ ได้ช่วยพิสูจน์ตนเองด้วยการกระทำ ครั้งแล้วครั้งเล่า ว่าทุกอย่างที่ นปช. พูดถึงนั้นได้เกิดขึ้นจริงทั้งสิ้น
วันที่ 7 ตุลาคม 2550
กลุ่มพันธมิตรฯ และกองกำลังติดอาวุธเบา พยายามยับยั้งการแถลงนโยบายของนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรีคนใหม่จากพรรคพลังประชาชน กลุ่มพันธมิตรฯพยายามบุกเข้าไปในรัฐสภา และปะทะกับเจ้าหน้าที่ตำรวจตลอดทั้งวันมีผู้ชุมนุมและเจ้าหน้าที่ตำรวจบาดเจ็บจำนวนมาก คนของกลุ่มพันธมิตรฯเสียชีวิตสองคนจากระเบิดของกลุ่มพันธมิตรฯด้วยกันเอง อย่างไรก็ตามมวลชนพันธมิตรฯมีความเชื่อตรงกันข้าม และสื่อมวลชนกระแสหลัก ก็โหมข่าวเข้าข้างกลุ่มพันธมิตรฯอย่างเต็มที่
อย่างไรก็ตาม การระดมสรรพกำลังมากมายทุกแขนง ชนชั้นอำมาตย์ก็ยังไม่สามารถทำลายฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองของตนลงไปได้ ชนชั้นอำมาตย์ไม่ได้เพิ่มมวลชนของฝ่ายตน (ดูจากการออกมาร่วมชุมนุม) และไม่ได้ลดมวลชนของฝ่ายตรงข้าม ปรากฏการณ์นี้ แสดงให้เห็นว่าความขัดแย้งได้ร้าวลึกจนกลายเป็นสองขั้วชัดเจน..และยากจะคุยกันได้อีกต่อไป
แน่นอนว่า ในจำนวนนี้ย่อมมีคนที่อ้างว่า "เป็นกลาง" หรือ "ไม่ฝักใฝ่ใด" หรือสารพัดข้ออ้างที่จะไม่ต้องร่วมรับผิดชอบต่อความเปลี่ยนแปลงในสังคม คนเหล่านี้ นายสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำพันธมิตรฯ เรียกว่า "พวกชิงหมาเกิด" และในความเป็นจริง คนเหล่านี้ก็คือบางส่วนของ พวกปฏิกิริยาชนชั้นกลาง ที่สนับสนุนกลุ่มพันธมิตรฯมาแต่ต้นนั่นเอง แต่เมื่อเหตุการณ์ไม่ราบรื่น ก็เป็นธรรมชาติของคนประเภทนี้ ที่จะหนีเอาตัวรอด โดยอ้าง วาทกรรมความเป็นกลาง - นี่เป็นปัญหาใหญ่ของกลุ่มพันธมิตรฯมาตั้งแต่ต้น ที่นำพวกปฏิกิริยาชนชั้นกลางเข้ามาร่วมขบวนการ
ขณะเดียวกันมวลชนของ นปช. ยิ่งมีเพิ่มมากขึ้นไปอีกคราวนี้มีมวลชนตำรวจชั้นผู้น้อยเข้ามาร่วมกับ นปช. อีกเป็นจำนวนมาก เพราะ
ตำรวจชั้นผู้น้อยมองว่าตนเองก็กลายเป็น "เหยื่อความอยุติธรรมของอำมาตยาธิปไตย" เช่นกัน
วันที่ 11 ตุลาคม 2551 ผู้จัดรายการ"ความจริงวันนี้" และแกนนำ นปช. ได้นัดพบประชาชนที่เมืองทองธานี โดยนัดแนะกันใส่เสื้อแดงเป็นสัญลักษณ์ นับเป็นการปรากฏตัวอย่างเป็นทางการครั้งแรก ในฐานะ "คนเสื้อแดง" แน่นอนว่า เสื้อแดง หรือการใช้สีแดงเป็นสัญลักษณ์ มีมาตั้งแต่การรณรงค์คัดค้านร่างรัฐธรรมนูญ 2550 และการชุมนุมที่ม้องสนามหลวง เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2550 ถือเป็นการชุมนุมครั้งแรกที่มีคนใส่เสื้อแดงมารวมกันมากมาย อย่างไรก็ตาม หากกล่าวถึง "ความเป็นคนเสื้อแดง" จุดเริ่มต้นเป็นทางการคือ 11 ตุลาคม 2551
วันที่ 1 พฤศจิกายน 2551
รายการ"ความจริงวันนี้"นัดพบประชาชนอีกครั้ง ที่ราชมังคลากีฬาสถานแห่งชาติ ซึ่งมีประชาชนเสื้อแดงมาร่วมประมาณหนึ่งแสนคน โดยคำนวณจากที่นั่งในสนามกีฬา พื้นที่บนสนาม พื้นที่บริเวณใกล้เคียงทั้งหมด
วันที่ 26 พฤศจิกายน 2551
กลุ่มพันธมิตรฯขยายขอบเขตความรุนแรงมากขึ้นโดยยกกำลังเข้ายึดสนามบินนานาชาติสุวรรณภูมิ สนามบินนานาชาติดอนเมือง
และยังมีการบุกเข้ายึดหอบังคับการบินที่สนามบินสุวรรณภูมิอีกด้วยทำให้เครื่องบินทั้งหมดไม่สามารถขึ้นลงได้สักลำเดียว มีสินค้าและผู้โดยสารตกค้างติดอยู่ในสนามบินอีกเป็นจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม การรัฐประหารที่ก็ยังไม่เกิดขึ้น ส่วนการปราบปรามผู้ก่อการร้ายพันธมิตรฯที่ยึดสนามบินอยู่..ก็ไม่มีเช่นกัน
กล่าวกันว่ากองทัพไทย โดยเฉพาะพลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา เลือกที่จะขัดคำสั่งรัฐบาล (ถึงสองครั้ง) ในการไม่ปราบกลุ่มพันธมิตรฯ ไม่ว่าเมื่อยึดทำเนียบรัฐบาล หรือยึดสนามบิน ขณะเดียวกัน พลเอกอนุพงษ์ ก็ขัดคำสั่งชนชั้นอำมาตย์โดยไม่นำกำลังทหารออกมาก่อรัฐประหาร (ครั้งแรก 26 สิงหาคม 2551 เมื่อกลุ่มพันธมิตรฯมายึดสถานีโทรทัศน์แห่งประเทศไทย NBT เปิดทางไว้ให้ แต่ทหารก็ไม่กล้าออกมาสานต่อผลงาน)
เมื่อเป็นเช่นนี้ ชนชั้นอำมาตย์ก็ต้องลงมือเองอีกครั้ง
วันที่ 2 ธันวาคม 2551 ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคพลังประชาชนอย่างรวดเร็ว และลัดขั้นตอนทุกอย่าง เป็นการปิดฉากรัฐบาลพรรคพลังประชาชน เท่านั้นยังไม่พอ ชนชั้นอำมาตย์ยังใช้พลังพิเศษในการบังคับให้พรรคร่วมรัฐบาลหันมาร่วมมือกับพรรคประชาธิปัตย์ในการตั้งรัฐบาลใหม่ แล้วดึงกลุ่ม ส.ส.ทรยศจากพรรคพลังประชาชนมาร่วมอีกสามสิบกว่าคน (ส่วนมากเป็นกลุ่ม เนวิน ชิดชอบ) ในวันที่ศาลรัฐธรรมนูญสั่งบังคับยุบพรรพลังประชาชน กองทัพไทยได้นำกำลังทหาร พร้อมอาวุธสงครามออกมาแสดงอาการข่มขู่ประชาชนผู้สนับสนุนพรรคพลังประชาชน ที่ชุมนุมกันอยู่ใกล้สถานที่ตัดสินคดีและในวินาทีเดียวกันนั้น กลุ่มพันธมิตรฯยังคงยึดสนามบินนานาชาติสุวรรณภูมิ สนามบินดอนเมือง ทำเนียบรัฐบาล รวมทั้งทำเนียบรัฐบาลชั่วคราวที่สนามบินดอนเมือง (ซึ่งอยู่ติดกับกองทัพอากาศ) โดยที่กองทัพไทยไม่เคยแสดงอาการเดือดร้อนใดๆ ไม่เคยแตะต้องกลุ่มพันธมิตรฯ ซ้ำยังส่งกำลังไปคุ้มครองป้องกันเสียอีกด้วย..
นี่คือการก่อรัฐประหารในรูปแบบใหม่ และนี่กลายเป็นจุดแตกหักครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย ที่ประเทศแบ่งออกเป็นสองขั้ว เกลียดชังกันอย่างชัดเจน
เป็นครั้งแรกที่ชนชั้นอำมาตย์เปิดสงครามกับประชาชน
เป็นครั้งแรกที่แนวร่วมประชาชนนับล้าน ประกาศเป็นศัตรูกับชนชั้นอำมาตยาธิปไตย
ที่มา : newskythailand.com
รักประชาธิปไตยไม่เอาเผด็จการ ต่อต้านการรัฐประหารทุกรูปแบบ สร้างขวัญกำลังใจและความสุขเพื่อปวงชน
แดงเชียงใหม่
กราบสวัสดี พี่น้องทุกๆท่านที่เข้ามาเยี่ยมเยือน Blog นปช.แดงเชียงใหม่ ขอเรียนชี้แจงสักนิดว่า เรา ”แดงเจียงใหม่” เป็นกลุ่มคนชาวเจียงใหม่ที่เคารพรัก กติกาประชาธิปไตย ต่อสู้และต่อต้านเผด็จการทุกรูปแบบ อยากเห็นประเทศชาติภายภาคหน้า มีความเจริญ ประชาชน รุ่นลูกหลานของเราอยู่อาศัยอย่างร่มเย็นเป็นสุขในประเทศของพวกเราเอง ไม่มีกลุ่มอภิสิทธิ์ชนกลุ่มใดมาสูบเลือดเนื้อ แอบอ้างบุญคุณเฉกเช่นในยุคนี้ที่พวกเราเห็น การที่จะได้รับในสิ่งที่มุ่งหวังก็ต้องมีการต่อสู้แสดงกำลังให้สังคมได้รับรู้ และเพื่อที่จะให้กลุ่มบุคคลที่มีอำนาจในปัจจุบันได้เข้าใจในสังคมที่ก้าวหน้าเปลี่ยนแปลงไป ไม่อาจฝืนต่อกระแสการพัฒนาของโลก การต่อสู้ร่วมกับผองชนทั่วประเทศในครั้งนี้ เรา " แดงเจียงใหม่ " ได้ร่วมต่อสู้ทุกรูปแบบ และ ในรูปแบบที่ท่านได้เข้ามาร่วมอยู่นี้ คือการเผยแพร่ข่าวสารต่อสังคม
เรา " แดงเจียงใหม่ " ขอเชิญชวนร่วมกันสร้างขวัญ และกำลังใจให้เพื่อนพ้องน้องพี่ร่วมกัน
"อันประชาสามัคคีมีจัดตั้ง
เป็นพลังแกร่งกล้ามหาศาล
แสนอาวุธแสนศัตรูหมู่อันธพาล
ไม่อาจต้านมวลมหาประชาชน"
.
เป็นพลังแกร่งกล้ามหาศาล
แสนอาวุธแสนศัตรูหมู่อันธพาล
ไม่อาจต้านมวลมหาประชาชน"
.
คิดกันเอ๊ง... ว่าตัวเองถูก
ตอบลบทั้งเหลือง ทั้งแดง
เลิกเล่นกีฬาสีเหอะ
เบื่อแล้ว
(ประเทศไทยมันไม่ไปไหนก็เพราะพวกคุณนี่แหละ)