ตั้งแต่ครั้งอดีตจนถึงปัจจุบัน มนุษย์อยู่ร่วมรวมกันเป็นก๊ก เป็นเหล่า เป็นสังคม และเป็นประเทศชาติ โดยการใช้ถิ่นที่อยู่ เผ่าพันธุ์ วัฒนธรรม และจิตใจ อาศัยพึ่งพาหลอมรวมกันสร้างความเจริญให้แก่สังคม โดยการใช้ระบบการปกครองหลากหลายรูปแบบ ผ่านการดัดแปลง การเปลี่ยนแปลง การพัฒนาเพื่อสร้างคุณค่าและคุณภาพชีวิตให้แก่สังคมให้มีความสุข นับได้ว่าสังคมใดที่มีผู้คนสมัครสมานสามัคคีและมีผู้นำที่ดี ย่อมนำความเจริญมาสู่สังคมนั้น หากสังคมใดที่ผู้ปกครองมีความรู้ความสามารถ และมองเห็นประโยชน์สุขของคนส่วนใหญ่อย่างแท้จริง ก็จะนำความเจริญรุ่งเรืองมาสู่สังคม แต่หากสังคมใดที่ได้ผู้ปกครองที่ไม่มีคุณธรรมไร้ความเมตตา ขาดความสามารถ มีจิตใจโหดเหี้ยมอำมหิต ก็ย่อมนำความทุกข์ความพินาศมาสู่สังคมนั้นเช่นกัน
เมื่อผ่านการอยู่ร่วมสังคมกันมานานนับหลายพันปี ผ่านการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ๆที่สำคัญทั้งการพัฒนาอุตสาหกรรม ทั้งการสู้รบขนาดใหญ่เป็นสงครามโลก จนถึงปัจจุบันมนุษย์ได้สู่วิวัฒนาการของโลกยุคใหม่ สื่อสารกันรอบโลกภายในเวลาไม่กี่วินาที แต่การพัฒนาระบอบการปกครองของโลก ก็ยังย่ำเท้าอยู่กับที่ มีการกดขี่ ควบคุม และต่อสู้กัน เพื่อเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองตลอดเวลา
เมื่อมนุษย์ยังต้องการการพัฒนาชีวิต เมื่อสังคมยังต้องการความเปลี่ยนแปลง มนุษย์ก็ต้องย่ำเท้าอยู่กับการปกครองเหล่านี้ตลอดไป
ระบอบการปกครองที่ใช้กันอยู่ในโลกนี้ที่สำคัญมีอยู่ 3 ระบอบ
1. การปกครองระบอบเก่าแก่ดั้งเดิม คือการปกครองแบบศักดินานิยม หรือการปกครองในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์
2. การปกครองระบอบสมัยใหม่ คือการปกครองแบบทุนนิยม ประชานิยม หรือการปกครองในระบอบประชาธิปไตย
3. การปกครองระบอบก้าวหน้า คือการปกครองแบบสังคมนิยม หรือการปกครองในระบอบคอมมิวนิสต์
หากจำแนกการเปลี่ยนแปลงการปกครองตามการพัฒนาของสังคมแล้ว สามารถแยกแยะเป็น 5 ขั้นตอน
1. การปกครองแบบศักดินานิยม
2. การปกครองแบบกึ่งศักดินานิยมกึ่งประชาธิปไตย
3. การปกครองในระบอบประชาธิปไตย
4. การปกครองในระบอบสังคมนิยม
5. การปกครองในระบอบกึ่งสังคมนิยมกึ่งประชาธิปไตย
1. การปกครองแบบศักดินานิยม
หรือการปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เป็นการปกครองประเทศที่ให้อำนาจในการตัดสินใจอยู่กับกลุ่มบุคคลกลุ่มเล็กๆของสังคม ในการใช้อำนาจทั้งหลายทั้งหมดทั้งมวลของประเทศชาติ ทั้งการบริหารงาน การออกกฎหมาย การตัดสินความยุติธรรม และควบคุมกองทัพ ควบคุมข้าราชการ ให้อยู่แต่ในกำมือของฝ่ายศักดินาฝ่ายเดียว ประชาชนส่วนใหญ่ไม่มีสิทธิ์มีเสียงและเสรีภาพ ดังนั้นการบริหารงานประเทศชาติจึงไม่เจริญก้าวหน้า เพราะศักดินาอำมาตย์และขุนศึกล้วนแล้วแต่ช่วยกันกอบโกยผลประโยชน์เข้าแต่พวกเดียวกัน จึงไม่มีความคิดในการพัฒนาบ้านเมือง ปล่อยประชาชนยากไร้และไม่มีการศึกษา เพื่ออำนาจการปกครองประเทศที่ไร้การต่อต้าน
2. การปกครองแบบกึ่งศักดินานิยมกึ่งประชาธิปไตย
หรือที่เรียกกันว่าระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ใหม่ มีการใช้ระบอบประชาธิปไตยที่ให้อำนาจแก่ประชาชนในการเลือกตัวแทนเข้ามาเป็นรัฐบาลบริหารงานประเทศชาติ และเลือกผู้แทนมาออกกฎหมาย แต่ทั้งหมดทั้งมวลต้องอยู่ภายใต้การดูแลและแต่งตั้งโดยฝ่ายศักดินา ซึ่งยังกุมอำนาจงานตัดสินความยุติธรรม และควบคุมกองทัพ และข้าราชการไว้เป็นอำนาจของฝ่ายตน พฤติกรรมของฝ่ายศักดินายังไม่เปลี่ยนแปลง ยังคงร่วมมือกับเหล่าอำมาตย์และขุนศึกกอบโกยผลประโยชน์ ซึ่งมีโอกาสมากกว่าตอนเป็นผู้ปกครองประเทศเสียเอง เพราะสามารถกอบโกยได้มากกว่าโดยไม่มีความผิดทุกกรณี อาศัยการบังคับใช้กฎหมาย เขียนรัฐธรรมนูญให้เป็นประโยชน์ต่อฝ่ายตน ทั้งการค้าขายโดยไม่ต้องเสียภาษี ทั้งมีกฎหมายปิดปากห้ามประชาชนกล่าววิพากษ์วิจารณ์ความประพฤติ ทั้งควบคุมเหล่าอำมาตย์และขุนศึกในการยึดอำนาจการบริหารงานของรัฐบาลที่ประชาชนเลือกเข้ามา แล้วปูนบำเหน็จความดีความชอบให้ ตอบแทนผลประโยชน์แก่กันและกัน แต่ประเทศชาติกลับล่มจมไม่มีการพัฒนา ประชาชนเป็นคนไร้ค่าไม่มีสิทธิ์มีเสียงอยู่เหมือนเดิม
3. การปกครองในระบอบประชาธิปไตย
หรือการปกครองของประชาชน อำนาจอธิปไตยใดๆในประเทศนี้เป็นของประชาชนทั้งมวล ประชาชนทุกๆคนที่เป็นประชากรของประเทศนี้ มีอิสรภาพและเสรีภาพ มีสิทธิ์ มีเสียงในทุกเรื่องเท่าๆกัน ในอันที่จะนำพาประเทศชาติไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีกว่า โดยการเลือกตัวแทนของประชาชนเข้าไปทำงานควบคุมดูแลอำนาจการบริหารประเทศชาติ ทั้งเป็นรัฐบาล เป็นฝ่ายค้าน อำนวยความยุติธรรม ควบคุมดูแลกองทัพและข้าราชการ ช่วยกันทำงานส่งเสริมคุณภาพชีวิต นำความผาสุกมาสู่สังคมและประเทศชาติ โดยต้องยึดถือประโยชน์ของประชาชนส่วนใหญ่เป็นที่ตั้ง ปัญหาทุกอย่างที่เกิดขึ้นและไม่สามารถดำเนินต่อไปได้ต้องให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินใจ และการเปลี่ยนแปลงใดๆนั้น อำนาจต้องกลับไปที่ประชาชน
4. การปกครองในระบอบสังคมนิยม
ที่เรียกว่าการปกครองแบบก้าวหน้า หรือการปกครองในระบอบคอมมิวนิสต์ ที่ไม่ยอมรับทั้งระบอบศักดินา และไม่เห็นว่าสิทธิเสรีภาพเป็นของประชาชนโดยตรง สิทธิและอำนาจการบริหารประเทศเป็นของรัฐ รัฐจะเป็นผู้จัดสรรอำนาจ หน้าที่ และผลประโยชน์ทุกอย่างในชีวิตให้แก่ประชาชนทุกๆคน โดยศูนย์กลางแกนนำของรัฐมาจากการเลือกของกลุ่มบุคคลที่เรียกว่าพรรคคอมมิวนิสต์ ที่มีสาขาของพรรคอยู่ทั่วประเทศ
5. การปกครองในระบอบกึ่งสังคมนิยมกึ่งประชาธิปไตย
หรือเป็นการปกครองแบบสังคมนิยมกึ่งทุนนิยม รูปแบบการปกครองยังคงเป็นระบอบคอมมิวนิสต์ แต่ให้สิทธิ์แก่ประชาชนในการดำเนินชีวิตอิสระมากขึ้น เพื่อสร้างคุณภาพชีวิตให้มีความสุขมากขึ้นในสังคม
จะเห็นว่าระบอบการปกครองจะมีการเปลี่ยนแปลงไปอยู่เสมอตามการพัฒนาของสังคม จากระบอบหนึ่งไปสู่ระบอบหนึ่ง เมื่อสังคมก้าวหน้าการปกครองตกยุค ก็จะนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ทั้งเป็นไปแบบก้าวหน้า และถอยหลัง การเปลี่ยนแปลงใดๆ ประกอบจากกลุ่มบุคคลสองกลุ่ม คือกลุ่มผู้ปกครอง และกลุ่มผู้ถูกปกครอง เมื่อผู้ปกครองมองไม่เห็นสิทธิ์ของผู้ถูกปกครองพยายามควบคุมสิทธิ์และกดขี่ เมื่อนั้นสังคมย่อมมีการเปลี่ยนแปลงเป็นนิรันดร์
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น