ฤทธิ์ วิษณุ
ผลจากการเข้าสู่วังวนแห่งอำนาจของตุลาการ ทำให้เราได้เห็นชัดเจนมากขึ้นว่า พวกเขาได้กลายเป็นผู้สมคบคิดกับอำนาจเผด็จการ ใช้โมหาคติแสดงพฤติกรรมอย่างชัดเจนต่างกรรมต่างวาระว่า นอกจากไม่ได้นำความรู้และปัญญามาทำให้ประเทศชาติรอดพ้นจากวิกฤตทางการเมืองชั่วขณะแล้ว พวกเขายังสมอ้างใช้อำนาจเข้าแย่งยึดอำนาจรัฐมาเป็นของตนเองอย่างน่าละอาย
นับแต่การเปลี่ยนแปลงพ.ศ.2475 โดยคณะราษฎร ซึ่งได้ตัดสินใจนำเอารูปแบบประชาธิปไตยแบบรัฐสภาที่มีพระมหากษัตริย์เป็นพระประมุขเข้ามาใช้ในการพัฒนาทางการเมืองของประเทศไทย แม้จะมีการแบ่งอำนาจอธิปไตยออกเป็น 3 อำนาจคือ บริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ แต่อำนาจหลังสุดนี้ ดูเหมือนจะทำหน้าที่เป็นเพียงแค่อำนาจในระบบตรวจสอบและรองรับอำนาจอื่นมาโดยตลอด ไม่มีอำนาจในการถ่วงดุลแต่อย่างใด
ผู้คนในวงการตุลาการต้องเคยชินกับการถูกเก็บกด ตกเป็นเบี้ยล่างทางอำนาจมาโดยตลอดหลายทศวรรษ เพราะมีบทบาทเป็นเพียงแค่ผู้ใช้ หรือ แสดงอำนาจภายใต้กรอบของกฎหมายที่ถูกกำหนดหรือขีดเส้นให้ตีความได้ตามตัวบทจากอีกสองอำนาจมาโดยตลอด ไม่สามารถเป็นตัวกระทำเพื่อสร้างความยุติธรรมทางสังคมขึ้นมาได้ สถาบันตุลาการกลายเป็นสถาบันที่คร่ำครึ แม้จะดูศักดิ์สิทธิ์จากภายนอกก็เป็นเพียงแค่พิธีการเท่านั้น
แล้ววันหนึ่ง ฟ้าก็เปิดให้ เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2549 ซึ่งอยู่ในจังหวะที่ประเทศไทยกำลังเข้าสู่วิกฤตทางการเมือง เพราะอำนาจบริหารและนิติบัญญัติไม่สามารถทำงานต่อไปได้ โดยพระราชดำรัสซึ่งพระราชทานให้แก่ศาลปกครองสูงสุดและศาลฎีกา เพื่อนำประเทศให้พ้นจากวิกฤต “....ที่จะทำให้บ้านเมืองล่มจม บ้านเมืองไม่สามารถที่จะรอดพ้นจากสถานการณ์ที่ไม่ถูกต้อง” ซึ่งถือว่า เป็นการใช้อำนาจตุลาการในฐานะอำนาจอธิปไตยโดยองค์พระประมุขเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญของไทย
ปรากฏการณ์ดังกล่าว มีคนพยายามให้คำอธิบายว่าเป็น ตุลาการภิวัฒน์ เพื่อขยายพื้นที่แห่งความยุติธรรมให้กว้างขวางขึ้นในระหว่างที่เกิดสุญญากาศทางอำนาจในห้วงระหว่างยุบสภาของรัฐบาลทักษิณ
ปรากฏการณ์ที่ติดตามมา ได้แก่ หัวขบวนกลุ่มหนึ่งของสถาบันตุลาการได้กระจายตัวกันเข้าสู่วังวนเกลือกกลั้วกับอำนาจทางการเมืองในหลายองค์กร เข้ายึดกุมหรือร่วมสมคบคิดในองคาพยพอย่างจริงจัง เสมือนหนึ่งปีศาจ 108 แห่งเขาเกาเล่งซัว(ในพงศาวดารจีนเรื่อง ซ้องกั๋ง)ที่หลุดออกจากที่คุมขังมาเป็นเวลานาน โดยไม่ใส่ใจหรือแยแสกับคำเตือนของผู้ที่ปรารถนาดีต่อวงการตุลาการว่า การกระทำนั้นอาจเปิดช่องให้นำไปสู่การล้ำเส้นของ “ตุลาการธิปไตย” หรือการปกครองโดยฝ่ายตุลาการ(Judicial Rule) ซึ่งล้ำเกินกรอบของการตรวจสอบเชิงหลักกฎหมายของฝ่ายตุลาการและสุ่มเสี่ยงต่อการที่บุคคลซึ่งไม่ได้มาจากการเลือกตั้งจะเข้าแทนที่เสียงข้างมากในฐานะกลไกตามระบอบประชาธิปไตย เพื่อใช้อำนาจแบบเลยเถิดตามกระแสอารมณ์วูบไหวชั่วครู่ชั่วยามของการต่อสู้ทางการเมือง
ผลจากการเข้าสู่วังวนแห่งอำนาจของตุลาการ ทำให้เราได้เห็นชัดเจนมากขึ้นว่า พวกเขาได้กลายเป็นผู้สมคบคิดกับอำนาจเผด็จการ ใช้โมหาคติแสดงพฤติกรรมอย่างชัดเจนต่างกรรมต่างวาระว่า นอกจากไม่ได้นำความรู้และปัญญามาทำให้ประเทศชาติรอดพ้นจากวิกฤตทางการเมืองชั่วขณะแล้ว พวกเขายังสมอ้างใช้อำนาจเข้าแย่งยึดอำนาจรัฐมาเป็นของตนเองอย่างน่าละอาย
หัวขบวนตุลาการเหล่านี้ที่เคยถูกจำกัดการมีส่วนร่วมใช้อำนาจอย่างขาดตกหกหล่น สมอ้างเอาหลักการเรื่อง ตุลาการตีความก้าวหน้า (Judicial Activism) เพื่อขยายอัตตาและอำนาจของกลุ่มตนเองอย่างเป็นระบบ ทั้งลงมือร่วมสร้างกฎหมายและตีความกฎหมายตามกรอบวิธีคิดของตนเองอย่างเกินเลยด้วยการก้าวข้ามหลักกฎหมายเพื่อการตรวจสอบมาสู่การใช้อำนาจรัฐโดยตรง
สิ่งที่คนเหล่านี้เคยกล่าวหาว่า รัฐบาลทักษิณได้กระทำการหลอมรวมอำนาจ(Fusion of powers) เพื่อสร้างอำนาจเผด็จการรูปแบบใหม่นั้น บัดนี้ กลับกลายเป็นสิ่งที่พวกเขากำลังลงมือกระทำเสียเองอย่างทุศีลและไร้นิติธรรมอย่างเต็มที่
กลุ่มตุลาการกระหายอำนาจที่เคยถูกกำหนดให้ใช้กฎหมายซึ่งคนอื่นเขียนให้เกิดกิเลสแห่งอำนาจตรวจสอบเกินพอดี มาสู่การกำหนดตัวรัฐฐาธิปัตย์เสียเอง และได้ลงมือร่วมกระทำ นับแต่กรณีหักดิบหลักกฎหมายในกรณีใช้กฎหมายย้อนหลังเป็นโทษในการยุบพรรคไทยรักไทย มาถึงการทำหูหนวกตาบอด มองไม่เห็นว่า วีซีดี.ของนายพลจากกองทัพที่สั่งกำลังพลใต้บังคับบัญชาไปลงคะแนนเลือกพรรคประชาธิปัตย์ หรือเอกสารลับคมช.เป็นความผิด ในขณะที่ตั้งหน้าตั้งตาเอาเป็นเอาตายกับการกระทำผิดเล็กๆ น้อยๆ ของนักการเมืองจากพรรคพลังประชาชนและพรรคอื่นๆ
จนท้ายที่สุด เมื่อพรรคดังกล่าว ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้ง ซึ่งถือเป็นการแสดงเจตนารมณ์ตามหลักประชาธิปไตยของปวงชน และตั้งรัฐบาลผสมขึ้นมาได้ พวกตุลาการก็ร่วมสมคมคิดหาสาเหตุยุบพรรคกันไปเลย
การแสดงพฤติกรรมในลักษณะของการตรากฎหมายประหนึ่งอำนาจนิติบัญญัติหรือมีลักษณะของการกำหนดนโยบายทางสังคม เศรษฐกิจ วัฒนธรรม ฯลฯ ประหนึ่งอำนาจบริหารของกลุ่มตุลาการกระหายอำนาจในยามที่บ้านเมืองกำลังเดินออกจากภาวะวิกฤต และสถานการณ์ทางการเมืองกลับเข้าสู่ปกติ ขณะที่ทหารในกองทัพได้ทิ้งอำนาจรัฐประหารเพื่อกลับเข้าสู่กรมกอง เพื่อให้กระบวนการประชาธิปไตยเดินหน้า แสดงตัวโดยเปิดเผยว่า บัดนี้พวกเขาได้เคลื่อนพลเข้ายึดกุมกลไกรัฐแทนที่กองทัพเป็นที่เรียบร้อย โดยการละเมิดหลักการเรื่อง จิตวิญญาณของกฎหมาย(Spirit of law)อย่างไร้ยางอาย
ตุลาการภิวัฒน์ ได้เปลี่ยนสีแปรธาตุเป็นการรัฐประหารรูปแบบใหม่ ซึ่งเป็นปรากฎการณ์ครั้งแรกของโลกไปเสียแล้ว นั่นหมายถึงพวกเขาได้สร้างวิกฤตทางการเมืองขึ้นมาใหม่ ไม่ใช่เพื่อแก้วิกฤตที่จบลงไปแล้ว
พฤติกรรมแหกคอกของตุลาการกระหายอำนาจจำนวนน้อยเหล่านี้ ไม่เพียงแต่ทำลายความศักดิ์สิทธิ์ของสถาบันตุลาการเท่านั้น พวกเขายังกระทำการละเมิดพระราชดำรัสที่พระราชทานมาเมื่อวันที่ 25 พ.ค.2549 อย่างไม่มีชิ้นดี ถือเป็นการจัดการงานนอกสั่งที่สุดบังอาจ
เราจะต้องเปิดโปงและหาทางหยุดยั้งพฤติกรรมกระหายอำนาจ และสมอ้างจัดการงานนอกสั่งของตุลาการเหล่านี้โดยเร็วที่สุด ก่อนที่ประชาธิปไตยจะถูกย่ำยีมากกว่านี้
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น