Sat, 2011-05-07 21:17
(คลิกชม วิดีโอคลิป ด้านท้ายบทความ)
“ การประนีประนอมหาทางออกในวันนี้จะส่งผลดีต่อ (สถาบัน) พระมหากษัตริย์ในระยะยาว อันดับแรกสุดคือ ‘เปิดประตู’ เปิดช่องทางให้กับการประนีประนอม
หยุด ใช้มาตรา 112 ณ บัดนี้ ปลดปล่อยคนที่เดือดร้อนโดยเร็วที่สุด ปล่อยคุณสมยศ (พฤกษาเกษมสุข) ปล่อยคุณดา (ดารณี ชาญเชิงศิลปกุล) และคนอื่นๆ
ขจัด บรรยากาศความกลัวที่ปกคลุมประเทศไทยในขณะนี้ ยอมให้มีการอภิปรายถึงบทบาทสถานะทางการเมืองของ (สถาบัน) พระมหากษัตริย์อย่างเปิดเผย ปล่อยให้กระบวนการประชาธิปไตยดำเนินไปตามทางของมันไม่ว่าจะลุ่มๆดอนๆขนาดไหน ก็ตาม
หากน้อยกว่านี้ สายกว่านี้ หรือรังแกกันต่อไป ก็จะยิ่งเร่งให้ “สุก” โดยไม่จำเป็นเลย
พระ มหากษัตริย์ต้องอยู่พ้นจากการเมืองอย่างแท้จริง จึงจะไม่เกิดความขัดแย้งในเรื่องสถาบันหรือตัวบุคคลอีกต่อไป ฝ่ายเจ้าจึงจะไม่ต้องวิตก วิ่งเต้น สะสมกำลัง ชิงความได้เปรียบกันอีกต่อไป ไม่ต้องกลัวว่านักการเมืองรายใดจะมาเป็นคู่แข่ง เพราะไม่มีอำนาจการเมืองเป็นเดิมพันอีกต่อไป
ฝ่าย เจ้าของไทยในปัจจุบันจะมีสายตายาวไกลพอหรือไม่ เห็นแก่ประเทศชาติประชาชนขนาดไหน หรือพวกเขาอยู่สูงเหนือประชาชนจนไม่เข้าใจว่าความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นแล้วใน ระดับรากหญ้าและไม่สามารถหยุดยั้งหรือย้อนเวลากลับได้อีกแล้ว”
ธงชัย วินิจจะกูล
000000
เกริ่นนำ
เมื่อ 10 ปี ก่อนในรายการเพื่ออาจารย์ชาญวิทย์เช่นกัน ผมถือว่าเป็นโอกาสที่จะเสนอความคิดทางวิชาการครั้งสำคัญเพื่อให้งานสำหรับ อาจารย์ชาญวิทย์มีความหมายต่อไปอีกนานๆ คราวนั้นจึงประมวลความคิดความรู้เสนอเรื่อง “ประวัติศาสตร์แบบราชาชาตินิยม” เป็นหัวข้อที่จัดอยู่ในเรื่องประวัติศาสตร์นิพนธ์และปรัชญาประวัติศาสตร์ของ ไทยซึ่งเป็นแขนงความรู้หนึ่งที่อาจารย์ชาญวิทย์ให้ความสำคัญ
วันนี้ เป็นโอกาสสำคัญทำนองเดียวกันอีกครั้ง คราวนี้ขอเลือกหัวข้อที่จัดอยู่ในเรื่องประวัติศาสตร์การเมืองไทยสมัยใหม่ ซึ่งเป็นอีกเรื่องที่อาจารย์ชาญวิทย์ให้ความสำคัญจนเป็นที่รู้จักกันดี
การ ศึกษาประวัติศาสตร์มีหลายแบบ โดยมากจะสนใจลงรายละเอียดข้อเท็จจริงมากมายเพื่อต่อชิ้นส่วนของอดีตอีกชิ้น หนึ่ง แต่มีงานทางประวัติศาสตร์ การคิดทางประวัติศาสตร์อีกแบบคือ ทำความเข้าใจการเปลี่ยนแปลงในมุมกว้างครอบคลุมเวลานับร้อยปี เพราะการศึกษาในแบบแรกซึ่งทำกันอยู่ทั่วไป มักมองไม่เห็นแนวโน้มใหญ่ๆทางประวัติศาสตร์ของสังคม มองไม่เห็นทั้ง “ป่า” มองเห็นแต่ “ต้นไม้” เป็นต้นๆหย่อมๆ
ในวันนี้ผมอยากจะเพ่งมองลงไปที่ความเปลี่ยนแปลงทางสังคมการเมืองไทยใน 100 กว่าปีที่ผ่านมานับแต่เริ่มเกิด “สยามใหม่” ก็ว่าได้ พยายามมองในกรอบเวลากว้างไกล เราจะเห็นอะไร
แน่นอนว่ามีหลายแง่มุมให้เราเพ่งมอง เช่นฐานของระบบเศรษฐกิจ หรือประวัติศาสตร์ชนบทไทย แน่นอนว่าเราอาศัยความได้เปรียบที่เรามีชีวิต 100 ปีหลังจากสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ได้เห็นความคลี่คลายของสังคมไทย 100 ปีให้หลัง ถ้าเรามองจากปัจจุบัน มองภาพรวมของกระแสความเปลี่ยนแปลงในร้อยปี เราจะเห็นอะไรบ้าง
สิ่งที่เด่นชัดขึ้นมา คือ มรดกสมบูรณาญาสิทธิราชย์ยังอยู่กับทุกอณูของปัจจุบัน
สมบูรณาญาสิทธิราชย์ในความเข้าใจของเราและของบทความนี้
ความเข้าใจทั่วไปเกี่ยวกับสมบูรณาญาสิทธิราชย์มี 2 นัย คือ
หนึ่ง สมบูรณาญาสิทธิราชย์มีคุณูปการมหาศาลต่อปัจจุบัน ช่วยให้สยามอยู่รอดเป็นเอกราชและเข้าสู่ยุคสมัยใหม่ที่รุ่งเรืองเจริญสถาพร ทุกด้าน
สอง แต่ระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์รวบอำนาจในมือกลุ่มเจ้า ไม่เปิดโอกาสแก่สามัญชนที่มีความรู้ความสามารถในระบบราชการ จนกลายเป็นอุปสรรคต่อความเจริญ ดังนั้นจึงเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ 2475 ซึ่งถือว่าเป็น “อวสานสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในสยาม” เรามักเข้าใจกันว่าสมบูรณาญาสิทธิราชย์จบไปแล้ว หากนับจากปีที่พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 ทรงมีพระราชอำนาจอย่างเต็มที่ประมาณปี 2425 และเริ่มการปฎิรูปครั้งใหญ่ จนถึง 2475 สมบูรณาญาสิทธิราชย์มีอายุประมาณ 50 ปีเท่านั้น
ทุกวันนี้คนจำนวนมากเอาทั้งสองนัยมารวมกันคือ สรรเสริญทั้งสมบูรณาญาสิทธิราชย์และคณะราษฎร (โดยเฉพาะ 30 ปี หลังมานี้ที่คณะราษฎรและปรีดี พนมยงค์ได้รับการกอบกู้เกียรติภูมิขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง) แต่ประวัติศาสตร์มาตรฐานเน้นนัยแรก และโทษว่าปัญหาหนักหน่วงใดๆของสังคมการเมืองไทยหลังจากนั้นไม่เกี่ยวข้องกับ สมบูรณาญาสิทธิราชย์อีกต่อไปเพราะ สมบูรณาญาสิทธิราชย์จบไปแล้ว บาปเป็นของคณะทหารเริ่มจากจอมพล ป. พิบูลสงครามเป็นต้นมา
สิ่ง ที่ผมเห็นจากการมองประวัติศาสตร์แบบมุมกว้างกลับพบว่า สมบูรณาญาสิทธิราชย์ยังไม่จบอย่างที่คิด เพราะสมบูรณาญาสิทธิราชย์ได้สร้างฐานรากหลายๆด้านแก่สังคมการเมืองไทยมาจน ถึงปัจจุบัน เป็นฐานรากของปัญหาเรื้อรังหลายอย่างของปัจจุบันด้วย ปัญหาสำคัญหลายอย่างชัดเจนมากขึ้นเรื่อยๆ แต่แก้ยากเย็นเหลือหลายเพราะเรื้อรังมานาน แต่กลับนึกไม่ถึงว่าเป็นมรดกของสมบูรณาญาสิทธิราชย์เพราะเรานึกว่าจบไปแล้ว
คณะ ราษฎรยุติระบอบการเมืองอย่างเป็นทางการแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์แต่ไม่ตระหนัก รู้เพียงพอถึงรากฐานที่สมบูรณาญาสิทธิราชย์สร้างไว้ คณะราษฎรจัดการกับปัญหาสำคัญบางด้าน แต่กลับสืบทอดมรดกหลายอย่างของสมบูรณาญาสิทธิราชย์ต่อมาด้วยซ้ำ
ขอ ได้โปรดเข้าใจว่าการประเมินย้อนหลังเช่นนี้มิใช่กล่าวโทษหรือลดคุณูปการของ บรรพบุรุษในอดีต ทุกคนมีข้อจำกัดตามยุคสมัยด้วยกันทั้งนั้น และคุณูปการทุกอย่างย่อมมีด้านที่เป็นปัญหาซึ่งมักโผล่ตัวหลายสิบปีหลังจาก นั้น เราต้องทั้งเคารพอดีตยามที่เราศึกษาเหตุการณ์และมนุษย์ในอดีต แต่ต้องกล้ามองอดีตจากปัจจุบันยามที่เราแสวงหาบทเรียนหรือประเมินผลของอดีต ต่อปัจจุบัน
ทำไม สมบูรณาญาสิทธิราชย์ จึงมีมรดกลึกซึ้งกว้างไกลขนาดนั้น
เพราะ ว่า สมบูรณาญาสิทธิราชย์ คือ ระบอบอำนาจและยุคสมัยที่ให้กำเนิดและหล่อหลอมรัฐไทยสมัยใหม่ตั้งแต่ระยะ เริ่มแรก คือระบอบอำนาจที่ทั้งก่อให้เกิดและเป็นผลผลิตของการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่ง ใหญ่ในช่วงขณะที่สยามเคลื่อนตัวเข้าสู่ยุคสมัยใหม่ สมบูรณาญาสิทธิราชย์จึงเป็น Defining Period ของสยามยุคสมัยใหม่ หมายถึง เป็นช่วงเวลาที่รัฐไทยและสังคมไทยตัดสินเลือกทางเดินสำคัญๆที่มีผลกำหนด อนาคตของสยามประเทศต่อมาอีกนาน เป็นยุควางรากฐาน เสาเข็ม โครงสร้างของรัฐและภาวะสมัยใหม่ของไทย บ้านหลังนี้เปลี่ยนผนังกั้นห้อง ทาสีใหม่ไปแล้วหลายรอบ แต่ฐานราก เสา โครงสำคัญกลับยังไม่เคยเปลี่ยน
กล่าว อีกอย่างคือ สมบูรณาญาสิทธิราชย์ในที่นี้ไม่ใช่เพียงแค่ระบอบการเมืองทางการที่จบไปแล้ว แต่หมายถึงยุคสมัยหรือช่วงขณะที่เป็นรากฐานของไทยสมัยใหม่ที่ก่อรูปเกิดขึ้น ท่ามกลางการเคลื่อนตัวเข้าสู่ยุคสมัยใหม่ และกลายเป็นรากฐานของสังคมไทยสมัยใหม่ต่อมาอีกนาน ไม่ใช่แค่ช่วง 50 ปีนับจากปลายรัชกาลที่ 5 ถึงสิ้นรัชกาลที่ 7
ผลผลิตสำคัญที่สุดของสมบูรณาญาสิทธิราชย์คือประเทศไทยสมัยใหม่นั่นเอง
มรดกของสมบูรณาญาสิทธิราชย์
มรดกของสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่สืบทอดมาอย่างไม่หยุดนิ่งตายตัว แต่เป็นการเปลี่ยนแปลงอยู่ภายในกรอบที่วางไว้ตั้งแต่ 100 ปี ก่อน เอาเข้าจริงแทบทุกอย่างที่จะเสนออาจกล่าวได้ว่านักประวัติศาสตร์ก่อนหน้านี้ ก็พอมองเห็นมาก่อน แต่พวกเขามองเห็นว่าเป็นคุณูปการที่น่าเฉลิมฉลองขอให้อยู่ต่อไปอีกนานๆ นั่นเป็นจุดยืนและมุมมองแบบเจ้ากรุงเทพฯที่นักประวัติศาสตร์มักรับเอามาเป็น ของตน จนทำให้มองไม่เห็นอีกด้านของเหรียญเดียวกัน นั่นคือ คุณูปการที่น่าเฉลิมฉลองน่าภาคภูมิใจนั้น กลับเป็นกรอบกำแพงที่กักขังสังคมไทยไว้ จนไม่สามารถปรับตัวให้เหมาะสมกับเวลาที่เปลี่ยนไป หลายประเด็นเป็นข้อจำกัดทำให้เราไม่สามารถแม้แต่จะคิดออกนอกกรอบกำแพงดัง กล่าว หรือถึงกับรังเกียจ ลงโทษ ทำร้ายคนที่คิดออกนอกกรอบกำแพงดังกล่าว
อะไร บ้างคือมรดกเหล่านั้น ในที่นี้จะขออธิบายเริ่มจากบริบท แล้วจะกล่าวถึงมรดกเป็นเรื่องๆไป เริ่มจากรัฐ ระบบการปกครอง อำนาจอธิปไตย ต่อด้วยเรื่องวัฒนธรรมภูมิปัญญา ได้แก่พุทธศาสนา อุดมคติทางสังคม ความรู้ประวัติศาสตร์ และลงท้ายที่ (สถาบัน) พระมหากษัตริย์
ใน ตอนท้ายสุด จะกล่าวถึงทัศนะท่าทีต่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคมครั้งใหญ่ๆ ซึ่งก็เป็นมรดกของสมบูรณาญาสิทธิราชย์เช่นกันว่าเกี่ยวข้องกับปัจจุบันอย่าง ไร
บริบทของสมบูรณาญาสิทธิราชย์
ในที่นี้ขอย้ำบริบทสำคัญเพียงประการเดียว นั่นคือ สภาวะกึ่งอาณานิคมของสยาม
ความ เข้าใจที่ว่าสยามไม่เคยตกเป็นเมืองขึ้นนั้นไม่ผิดเสียทีเดียวแต่ก็ไม่ถูก ความเข้าใจนี้จำกัดปิดกั้นความคิดวิเคราะห์ทางประวัติศาสตร์อย่างมากจนหลง ทิศทางมาตลอด สภาวะกึ่งอาณานิคมกล่าวโดยสรุปหมายถึง
· สยาม ตระหนกต่อกำลังของมหาอำนาจยุโรป แม้แต่จีนซึ่งเป็นจักรวรรดิใหญ่ของอารยธรรมสมัยก่อนยังพ่ายแพ้ต่อจักรวรรดิ นิยมยุโรป แม้แต่พม่าซึ่งเป็นอริที่เข้มแข็งในโลกทัศน์ของสยามก็พ่ายแพ้ราบคาบ สยามตระหนักว่าต้องเปลี่ยนแปลงเพื่อรับมือกับโลกที่เปลี่ยนไปแล้ว
· แต่ ชนชั้นนำสยามให้ความร่วมมือกับมหาอำนาจยุโรปอย่างดี ทั้งเพราะเกรง เพราะเห็นการณ์ไกล และเพราะได้ประโยชน์มาก ความรู้และเทคโนโลยี่การปกครองแบบใหม่ เพิ่มกำลังอำนาจของชนชั้นนำสยาม การเข้าเป็นส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจอาณานิคมระดับโลกให้ผลประโยชน์แก่ชนชั้นนำ สยาม
· เป้า หมายสำคัญของการปรับตัวเพิ่มอำนาจ มิใช่แค่การทัดทานฝรั่ง แต่เพื่อรักษาสถานะเดิมที่เป็นอธิราชเหนืออาณาจักรหลายแห่งในภูมิภาค ในยามที่อธิราชคู่แข่งร่วงลงทีละแห่ง ความเป็น “เอกราช” ที่สยามต้องการมิได้แค่หมายถึงเป็นอิสระจากฝรั่ง แต่หมายถึงต้องการรักษาสถานะองค์ราชาที่เป็น “เอก” เหนือราชาทั้งหลาย
· สยามใหม่ภายใต้สมบูรณาญาสิทธิราชย์ จึงเป็นทั้งผู้ด้อยกว่าจักรวรรดิยุโรป และเป็นเจ้าจักรวรรดิ “พี่เบิ้ม” ของภูมิภาคในเวลาเดียวกัน
· ชน ชั้นนำสยามไม่ถูกโค่น พวกเขาเป็นอำนาจนำในการเลือกสร้าง เลือกรับปรับเปลี่ยนความรู้เทคโนโลยีของรัฐสยามใหม่ ที่กล่าวว่า สยามเลือกรับของดีทิ้งของเสียจากตะวันตก จึงหมายถึงเลือกสิ่งที่ชนชั้นนำเห็นว่าดีสอดคล้องผลประโยชน์ จริต รสนิยม อุดมคติของตน การเปลี่ยนแปลงจากบนลงล่างจึงเป็นไปได้เพราะพวกเขาเลือกทำตามผลประโยชน์ของ ตน ยังไม่มีพลังทางสังคมกลุ่มอื่นที่มีผลประโยชน์เป็นของตนเองต่างจากพวกเจ้าใน ยุคนั้น
· การ กระทำทั้งหลายทั้งปวงเพื่อ “รักษาเอกราช” จึงแยกไม่ออกจากการรักษาอำนาจ รักษาสถานะเดิมและผลประโยชน์ของชนชั้นนำสยามในขณะนั้น ทั้งสองอย่างเป็นอย่างเดียวกัน ประวัติศาสตร์ฉบับทางการสอนเราด้านเดียวว่าเป็นการรักษาเอกราช แต่ไม่ได้ชี้ให้เห็นอีกด้านที่แยกกันไม่ออก ซึ่งก่อมรดกมากมายมาสู่ปัจจุบัน
รัฐสยามแบบไทยๆ อธิปไตยแบบไทยๆ และลัทธิเสียดินแดน
เรา รู้กันดีว่าการสถาปนาระบบการปกครองหัวเมืองและระบบราชการสมัยใหม่ที่ กรุงเทพฯเป็นผลงานเอกและเป็นหลักหมายของสมบูรณาญาสิทธิราชย์ แต่ที่ยังมีศึกษากันไม่พอก็คือ รัฐที่ดูเหมือนสมัยใหม่นั้นอยู่บนฐานจารีตเดิมขนาดไหนอย่างไร ผลผลิตหรือรัฐแบบฝรั่งใส่ชฎาหรือนุ่งผ้าม่วงเขมรใส่เชิ้ตฝรั่งที่ตกทอดมาถึง เรานั้น แท้ที่จริงเป็นรัฐแบบไทยๆอย่างไร ก่อปัญหาแบบไทยๆในยุคต่อมาขนาดไหน
ใน ที่นี้จะขอกล่าวถึงเรื่องรัฐรวมศูนย์และเรื่องอฺธิปไตยเหนือดินแดน ซึ่งเป็นฐานของระบบบริหารที่ล้าหลังไม่ยอมปรับตัว ลัทธิรัฐเดี่ยวที่แข็งทื่อ และลัทธิเสียดินแดน
ก่อน มีอธิปไตยเหนือดินแดนแบบปัจจุบันนั้น สยามเป็นรัฐราชาธิราช องค์อธิราชอ้างความชอบธรรมจากบุญญาบารมีที่สูงส่งกว่ากษัตริย์อื่น ทำตัวเป็นเจ้าพ่อใหญ่ที่แผ่ร่มบรมโพธิสมภารเหนือกษัตริย์รายอื่นซึ่งเป็น เจ้าพ่อรายย่อยกว่า ดินแดนไม่ใช่ฐานของอำนาจแบบรัฐราชาธิราช
อธิปไตยเหนือดินแดนแบบปัจจุบันของสยามเป็นการแปร “ร่มบรมโพธิสมภาร” หรืออำนาจศักดิ์สิทธิ์ให้กลายเป็นปริมาณที่มีขอบเขตชัดเจนบนผิวโลก
การแปรเปลี่ยนนี้จึงต่างลิบลับตรงข้ามกับกำเนิดของอธิปไตยเหนือดินแดนของรัฐสมัยใหม่ในยุโรปเมื่อกลางศตวรรษที่ 17 พัฒนาการของ nation-state ในยุโรปในศตวรรษที่ 18-19 ก็เป็นคนละเรื่องกับกำเนิดชาติและสยามประเทศในยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์
รัฐชาติสยามคือการแปลงร่างรัฐราชาธิราชออกมาเป็นรัฐสมัยใหม่ที่มีฐานอยู่กับดินแดน
กระบวนการแปลงร่างนี้อาศัยกระบวนการ 2 ด้านควบคู่กัน กระบวนการแรกคือ ผนวกประเทศราชเดิมเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการปกครองแบบ “เทศาภิบาล”ที่ใช้ดินแดนเป็นฐาน เรารู้จักกระบวนการนี้ในนามของการปฎิรูปการปกครองหัวเมืองซึ่งเริ่มตั้งแต่ประมาณปลายทศวรรษ 2420 แต่ประกาศเป็นทางการเมื่อ ร.ศ.111 (2435)
กระบวนการที่สองคือ ใช้กำลังทหารเข้าครอบครองแย่งชิงดินแดนที่อธิปไตยเดิมกำกวมซ้อนทับกันระหว่างอธิราชหลายองค์ วิกฤตการณ์ ร.ศ.112 คือ ผลของการแย่งชิงประเภทนี้กับฝรั่งเศสแล้วสยามแพ้ สยามจึงไม่เคยพ่ายแพ้จนจะตกเป็นอาณานิคม แต่สยามแย่งดินแดนกับเขาแล้วแพ้ เอามาเป็นของสยามไม่ได้ เสียพระเกียรติยศของเจ้าพ่อรายใหญ่
การ แปลงร่างเกิดเป็นสยามขวานทอง จึงเป็นผลลัพธ์ของความพ่ายแพ้ชนิดนี้ ดินแดนถูกกำหนดขอบเขตโดยมหาอำนาจยุโรป ไม่ใช่เสียดินแดนแต่เพราะได้เพียงแค่นี้ และเป็นผลลัพธ์ของผนวกประเทศราชเดิมเข้าในบูรณภาพเหนือดินแดนซึ่งสยามเก่า ไม่เคยมีมาก่อน
มรดกสำคัญที่สมบูรณาญาสิทธิราชย์ส่งทอดต่อมาในเรื่องนี้ได้แก่
ประการ แรก ระบบการปกครองแบบรวมศูนย์เกิดขึ้นเพื่อบริหารบงการบูรณภาพเหนือดินแดนแบบ ใหม่ เป็นความจำเป็นเพื่อยึดผนวกหัวเมืองและประเทศราชเดิมไว้ในมือกรุงเทพฯอย่าง แข็งแกร่งในยามต้องการรักษาอำนาจแต่ตระหนกต่อจักรวรรดินิยมยุโรป
การ ปกครองดินแดนแบบใหม่เริ่มต้นโดยอธิราชเดิมแปลงร่างเป็นรัฐบาลกลางของรัฐแบบ ใหม่ เจ้าเมืองเดิม เจ้าครองนครประเทศราชเดิม ล้วนแต่อ่อนแอ ไม่มีอำนาจต่อรองสร้างระบบปกครองที่มีอิสระสักหน่อยจากศูนย์กลาง ครั้นเจ้าเมืองเดิมพยายามเช่นนั้นก็ถูกปราบรุนแรงราบคาบทุกแห่งทั้งในหัว เมืองล้านนา หัวเมืองลาว และหัวเมืองปัตตานีในปี 2445 (ร.ศ.121)
ระบบรวมศูนย์ที่แข็งทื่อไม่ยืดหยุ่นให้อำนาจล้นหลามเกินจำเป็นแก่ขุนนางที่กรุงเทพฯตลอด 100 กว่า ปีที่ผ่านมา ให้ผลประโยชน์มหาศาลแก่ขุนนางที่กรุงเทพฯเพราะดูดซับทรัพยการจากทั้งประเทศ มาเจือจุนกรุงเทพฯแม้ว่าจะเป็นระบอบหลังสมบูรณาญาสิทธิราชย์แล้วก็ตาม ระบบนี้ขัดขวางการกระจายอำนาจ ไม่ยอมให้อำนาจแก่ประชาชนท้องถิ่นตัดสินอนาคตของตัวเอง ระบบนี้ไม่เคยถูกทบทวนในยุคต่อมารวมทั้งหลัง 2475 แถมแข็งแกร่งขึ้นภายใต้รัฐทหารที่อ้างภัยต่อความมั่นคงของชาติในยุคสงครามเย็น
ประการที่สอง ระบบรวมศูนย์ถูกค้ำจุนด้วยลัทธิรัฐเดี่ยว (เอกรัฐ) แบบแข็งทื่อ นั่นคือ ความเชื่อ ว่า รัฐไทยต้องอยู่ใต้ระบบปกครองที่เหมือนๆกันทั้งประเทศ การกระจายอำนาจถูกหาว่าเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ เพราะถือว่าเป็นก้าวแรกของความแตกแยกไม่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของประเทศ ไทย เอกราชต้องหมายถึงดินแดนทุกส่วนต้องอยู่ใต้การปกครองจากกรุงเทพฯเหมือนๆกัน การต่อสู้เรื่องกระจายอำนาจจึงยากลำบากแสนเข็ญ เพราะถูกสงสัยเป็นประจำว่าจะทำให้ประเทศแตกแยกเป็นส่วนๆ แม้ว่าการกระจายอำนาจจะเป็นจริงมากขึ้นหลังสงครามเย็นในประเทศสิ้นสุดลง รัฐไทยยอมรับความหลากหลายของภูมิภาคและท้องถิ่นมากขึ้นนับจากกลางทศวรรษ 2520 เป็น ต้นมา แต่มรดกของสมบูรณาญาสิทธิราชย์ข้อนี้ยังแข็งแกร่งอยู่ ดูได้จากการจัดการวิกฤตชายแดนใต้ไม่ว่าโดยรัฐบาลไหนก็ตามนี่เป็นมรดกของ สมบูรณาญาสิทธิราชย์อีกอย่างที่เป็นปัญหาหนักหน่วงในปัจจุบัน
ความ เชื่อว่าประเทศไทยต้องอยู่ในมาตรฐานเดียวกัน เป็นแบบเดียวกัน ภาษาเดียวกัน วัฒนธรรมเดียวกัน เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันทั้งผืน เพื่อความมั่นคงรักษาเอกราชไว้ ยังเป็นฐานของลัทธิ “ความเป็นไทย” ที่คับแคบตายตัว ซึ่งก่อตัวเติบโตมากับสยามใหม่ที่มีจินตนาการผูกติดกับอธิปไตยเหนือดินแดน แบบไทยๆ มรดกของสมบูรณาญาสิทธิราชย์ข้อนี้เป็นเสาหลักประการหนึ่งของลัทธิชาตินิยม ไทยจนปัจจุบัน
ประการ ที่สามลัทธิเสียดินแดน แม้สยามไม่เคยตกเป็นอาณานิคม แต่กลับมีลัทธิความเชื่อทางประวัติศาสตร์ไม่ต่างกับประเทศอาณานิคม คือ เชื่อว่า เสียดินแดนให้นักล่าอาณานิคม ลัทธิเสียดินแดนเป็นมรดกความเชื่อทางประวัติศาสตร์ ที่รับเอามุมมองและความคิดของเจ้ากรุงเทพฯมาเป็นของเรา ถ้าเราคิดอย่างอิสระแบบคนไม่ใช่เจ้า หรือคิดจากมุมมองของเจ้าเวียงจันทน์ ยโสธร มุกดาหาร สุวรรณเขต พวน กัมพูชา ฯลฯ ก็จะไม่มีทางเข้าใจลัทธิเสียดินแดนของไทย
อานุภาพ ของลัทธิเสียดินแดนมีมากขนาดไหนคงไม่ต้องอธิบายกันอีก แต่อยากขอสรุปแต่เพียงว่า ลัทธิเสียดินแดนเป็นเสาหลักประการหนึ่งของลัทธิชาตินิยมของไทยมาจนถึง ปัจจุบัน
พุทธศาสนากับความเป็นไทย
พุทธศาสนาในสยามผ่านการปฎิรูปทางภูมิปัญญาครั้งใหญ่ในต้นศตวรรษที่ 19 โดยขบวนการธรรมยุตินิกายของวชิรญาณภิกษุ (เจ้าฟ้ามงกุฎ) ความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญคือความเข้าใจต่อ “ศาสนา” อย่างที่เรารู้จักในปัจจุบัน พุทธศาสนาต้องมิใช่ความเชื่อที่อธิบายโลกธรรมชาติทั้งปวงอีกต่อไป แต่ทำให้ศาสนาเป็นระบบความเชื่อทางศีลธรรมของปัจเจกบุคคล และเป็นความเชื่อที่เป็นเหตุเป็นผล การตีความปรัชญาความคิดพุทธศาสนามีต่อมาอีกมากมายในสังคมไทยแต่โดยมากอยู่ ภายในกรอบของพุทธศาสนาอย่างที่วางไว้แล้วแต่ครั้งนั้น
ความ เปลี่ยนแปลงสำคัญของพุทธศาสนาในยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มีสองประการ คือ ประการแรก สถาปนาคณะสงฆ์ที่รวมศูนย์ตามแบบการปกครองของรัฐ และแผ่ขยายความคิด การตีความและคัมภีร์ที่กรุงเทพฯถือเป็นมาตรฐานออกไปเพื่อตะล่อมให้พุทธศาสนา บนแผ่นดินสยามคล้ายคลึงตามมาตรฐานเดียวกัน ทั้งหมดนี้เริ่มขึ้นในครึ่งหลังของรัชสมัยรัชกาลที่ 5
ประการที่สอง ทำให้พุทธศาสนาเป็นส่วนหนึ่งของความเป็นไทยอย่างแยกขาดจากกันไม่ได้ กระบวนการนี้เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 6 ซึ่ง ทรงริเริ่มลัทธิชาตินิยมตามแบบของพระองค์ แม้คนที่อาศัยบนแผ่นดินสยามจะนับถือศาสนาพุทธเถรวาทเป็นส่วนใหญ่มานานหลาย ร้อยปีก่อนหน้าศตวรรษที่ 20 แต่ความคิดเรื่องความเป็นไทยเพิ่งถูกประมวลก่อรูปร่างขึ้นมาเป็นวาทกรรมทรงพลังในต้นศตวรรษที่ 20 นี้เอง วาทกรรม “ชาติ-ศาสน์-กษัตริย์” เพิ่งเกิดขึ้น พุทธศาสนาในฐานะที่เป็นการเมืองวัฒนธรรมประการสำคัญของไทย และกลายเป็นองค์ประกอบหนึ่งของชาตินิยมไทยสมัยใหม่ภายใต้สมบูรณาญาสิทธิ ราชย์นี่เอง
มรดก ของสมบูรณาญาสิทธิราชย์ข้อนี้ยังคงอยู่กับเราในปัจจุบันอย่างแข็งแกร่ง การวิพากษ์วิจารณ์พุทธศาสนาแทนที่จะเป็นเรื่องความเชื่อของปัจเจกบุคคลและ เสรีภาพที่จะเชื่อหรือไม่ของแต่ละคน กลับถูกถือเป็นเรื่องความมั่นคงของชาติ ความหลากหลายของความคิด ความเชื่อและวิถีปฎิบัติของแต่ละท้องถิ่นถูกจำกัดทำลายลงไปมากตั้งแต่ครึ่ง แรกของศตวรรษที่ 20 แม้ว่าอำนาจรัฐไม่มีทางขจัดความหลากหลายระดับท้องถิ่นให้หมดสิ้นก็ตาม
สังคมไทยปกติที่พึงปรารถนา: A Buddhist Organic Society
ความ สัมพันธ์ทางสังคมตามจารีตของไทยเป็นแบบสูงต่ำตามลำดับชั้นของบุญบารมี โดยผูกติดกับเครือข่ายระบบมูลนายอันแผ่กระจายอยู่ทั่วทั้งสังคม แต่แยกเป็นส่วนๆตามหัวเมืองตามกรมกองสังกัด สังคมไทยไม่เคยผ่านการเปลี่ยนแปลงที่โยกคลอนความสัมพันธ์ชนิดนี้อย่างถึงราก ความ เปลี่ยนแปลงเข้าสู่ยุคสมัยใหม่และรัฐสมัยใหม่ของสยามคือการปรับความสัมพันธ์ แบบคนสูงต่ำไม่เท่ากันนี้ให้เข้ากับสังคมกระฎุมพีและเข้ากับรัฐรวมศูนย์และ ระบบราชการใหม่ สำคัญที่สุดคือความสัมพันธ์ระหว่างพระมหากษัตริย์แห่งชาติกับราษฎรไทยทั้ง มวลทั่วไป
ประชากรไทยไม่เคยเป็น citizen ที่เท่าเทียมกันและมีความสัมพันธ์กันตามแนวนอน สังคมไทยสมัยใหม่ไม่เคยเป็นที่รวมของปัจเจกชน (individuals) ที่นับเป็นหน่วยทางสังคมในตัวเอง
การปรับตัวนี้เริ่มมาก่อนสมบูรณาญาสิทธิราชย์ คือมากับการเติบโตของการค้าและเศรษฐกิจเมืองตลอดศตวรรษที่ 19 หรือก่อนหน้านั้นด้วยซ้ำ แต่ความคิดหรือเราอาจเรียกว่าเป็นทฤษฎีหรือปรัชญาการเมืองของไทยเพิ่งจะประมวลขึ้นมาในปลายศตวรรษที่ 19 นี่เอง ผมขอเรียกว่าเป็นสังคมอินทรียภาพแบบพุทธ (Buddhist Organic Society)
สังคม อินทรียภาพแบบพุทธ คือแนวคิดที่เน้นว่าสังคมจะปกติสุขและจะเคลื่อนตัวพัฒนาไปได้ ก็ต่อเมื่อหน่วยต่างๆของสังคมจะต้องรู้จักหน้าที่ของตนและทำงานอย่างประสาน สอดคล้องกัน (harmony) เปรียบเสมือนอวัยวะต่างๆของร่างกายซึ่งมีหน้าที่ต่างๆกันความสำคัญไม่เท่ากัน แต่ต้องประสานสอดคล้องกันจึงจะไม่เจ็บป่วย
องค์ รวมที่เรียกว่าประเทศไทย จึงเต็มไปด้วยหน่วยย่อยๆที่มีบุญบารมีไม่เท่ากัน ไม่ว่าจะพิจารณาหน่วยสังคมใดๆ เช่นครอบครัว ที่ทำงาน หมู่บ้าน ตำบล จังหวัด กระทรวงกรม โรงเรียน บริษัท โรงงาน ฯลฯ ก็จะพบผู้คนที่มีบุญบารมีไม่เท่ากัน และต้องยอมรับความสูงต่ำในความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล แต่ทุกๆคนล้วนมีความสำคัญเพราะทุกอวัยวะทุกหน้าที่ล้วนมีความสำคัญ ความสามัคคีที่เป็นคาถาในอาร์มแผ่นดินมีรากมาจากพุทธศาสนา ได้รับการตีความให้เข้ากับปรัชญาสังคมอินทรียภาพแบบพุทธของไทยสมัยใหม่
สังคม ไทยจึงเรียกร้องและเน้นความสามัคคีและหน้าที่กันเหลือเกินตั้งแต่ออกจาก ครรภ์มารดาจนถึงเชิงตะกอน สังคมไทยกลัวความขัดแย้งและจัดการความขัดแย้งไม่ค่อยเป็น สังคมไทยจึงเน้นหน้าที่และความรับผิดชอบเพราะเป็นคุณสมบัติอันจำเป็นของ บุคคลที่สังกัดขึ้นต่อผู้อื่น มากกว่าสิทธิและเสรีภาพซึ่งเป็นคุณสมบัติอันจำเป็นของปัจเจกภาพ
(เรา ท่านคุ้นเคยกับความคิดสังคมอินทรียภาพแบบพุทธจนอาจคิดว่า เรื่องความสามัคคีเป็นสามัญสำนึกของคนทั้งโลกเหมือนๆกัน อาจนึกไม่ออกว่ามีทฤษฎีหรือปรัชญาสังคมแบบอื่นที่สร้างให้เกิดค่านิยม วัฒนธรรม ตลอดจนถึงบุคลิกภาพทั่วๆไปของคนในสังคมนั้นๆที่ต่างออกไป อันที่จริงปรัชญาสังคมอินทรียภาพมีหลายแบบทั้งในโลกตะวันตกและตะวันออก สังคมตะวันตกสมัยใหม่หลายแห่งถือว่าคนเท่ากัน สัมพันธ์ในแนวนอน ปัจเจกชนและสังคมขับเคลื่อนด้วยความขัดแย้งที่อยู่ในกรอบและแปรเป็นพลัง สร้างสรรค์)
ลัทธิประวัติศาสตร์แบบราชาชาตินิยม
แม่บทประวัติศาสตร์ไทยแบบราชาชาตินิยมที่ยังทรงอิทธิพลแข็งแกร่งถึงทุกวันนี้ก็เป็นมรดกของสมบูรณาญาสิทธิราชย์
ความเปลี่ยนแปลงของประวัติศาสตร์นิพนธ์ เป็นแบบสมัยใหม่เริ่มต้นราวกลางศตวรรษที่ 19 แต่ไม่มีข้อเสนอเรื่องเล่าประวัติของชาติที่กลายเป็นแม่บทของประวัติศาสตร์ไทย แม้จะมีความพยายามอยู่บ้างก็ตาม
แม่บทประวัติศาสตร์ไทยแบบราชาชาตินิยมก่อตัวขึ้นในทศวรรษแรกของศตวรรษที่ 20 ลงตัวประมาณประมาณปี 2460 เศษโดยเป็นผลของเรื่องเล่า 2 กระแสมาบรรจบผสมกัน
กระแส แรก คือกำเนิดสยามเป็นอารยธรรมเก่าแก่ศิวิไลซ์มาแต่โบราณ ไม่ใช่สืบมาจากพุทธทำนาย หรือวงศ์อวตารอีกต่อไป ประวัติศาสตร์สุโขทัยทำหน้าที่นี้อย่างสำคัญที่สุด แต่อิงอยู่กับจารึกพ่อขุนรามฯ แทบทั้งสิ้น และใช้การตีความแบบเป็นเหตุเป็นผลเข้าอธิบายตำนานปรัมปราเกี่ยวกับพระร่วง สร้างเป็นเรื่องเล่าแบบใหม่ขึ้นมา (ดังนั้นข้อสงสัยเกี่ยวกับจารึกพ่อขุนรามฯจึงกระทบกระเทือนความมั่นคงของ ชาติอย่างมาก)
กระแสสอง ว่าด้วยการต่อสู้เพื่อเอกราชของสยาม โครงเรื่องหลักคือการเสียกรุง 2 ครั้งและกู้อิสรภาพกลับมา 2 ครั้ง เรื่องเล่าชุดนี้ใช้ทัศนะชาตินิยมต่อต้านการรุกรานของต่างชาติอันเป็นผลของ ร.ศ.112 เข้า ตีความข้อมูลเหตุการณ์ในพระราชพงศาวดาร ผลคือประวัติศาสตร์ต่อต้านผู้รุกรานล่าอาณานิคมในระยะเดียวกับที่ประวัติ ศาสตร์ทำนองเดียวกันเริ่มเกิดขึ้นในประเทศเพื่อนบ้านเช่นกัน แต่ผู้รุกรานสยามกลับไม่ใช่ฝรั่งนักล่าอาณานิคม กลับเป็นพม่า - อริเก่าของยุคโบราณ เราอาจจะกล่าวกลับกันได้ว่า เอาเข้าจริงประวัติศาสตร์ไทยรบพม่าเป็น allegory ของประวัติศาสตร์ต่อต้านฝรั่งนักล่าอาณานิคม เรื่องเล่ากระแสนี้จึงเป็นผลผลิตของ ร.ศ.112 อย่างชัดเจน
แกนกลางของประวัติศาสตร์ทั้ง 2 กระแสคือ พระมหากษัตริย์ที่เป็นผู้นำของรัฐชาติ ดังนั้นจึงเรียกว่าประวัติศาสตร์แบบราชาชาตินิยม ซึ่งเคยเสนอไปเมื่อ 10 ปีก่อนแล้ว
(สถาบัน) พระมหากษัตริย์
เหล่า นี้คือ มรดกสำคัญของสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่ตกทอดมาถึงปัจจุบัน แม้มีความเปลี่ยนแปลงในทุกเรื่องเหล่านี้ แต่เป็นการเปลี่ยนแปลงภายในกรอบเดิมทั้งสิ้น คงเห็นแล้วว่าครอบคลุมมิติหลักๆของรัฐและสังคมไทยปัจจุบันขนาดไหน
มรดก สำคัญของสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่ขอกล่าวถึงเป็นอย่างสุดท้าย เป็นปัจจัยที่ยึดโยงรากฐานของรัฐสมัยใหม่ทุกประเด็นที่กล่าวมาทั้งหมดเข้า ด้วยกัน นั่นคือ (สถาบัน) พระมหากษัตริย์ [ทำไมต้องวงเล็บรอบคำว่า “สถาบัน” จะเข้าใจได้ต่อไป]
ระบบ การปกครองใหม่ของจักรวรรดิกรุงเทพฯ อธิปไตยเหนือดินแดนที่แปลงร่างมาจากพระบรมโพธิสมภารขององค์อธิราช ประวัติศาสตร์แบบราชาชาตินิยม พุทธศาสนาของไทย และ สังคมอินทรียภาพที่มีอำนาจทรงธรรมเป็นหัวใจขององคาพยพทั้งหมด รากฐานสำคัญๆในระบบการเมืองและวัฒนธรรมการเมืองของไทยสมัยใหม่ มีพระมหากษัตริย์เป็นปัจจัยร่วม
ภาวะ เช่นนี้ไม่น่าประหลาดใจเลย เพราะรากฐานดังกล่าวทั้งหมดถูกก่อร่างสร้างขึ้นโดยชนชั้นนำที่ถือเอาพระมหา กษัตริย์เป็นใจกลางของรัฐสังคมสมัยใหม่ของสยามเพื่อประโยชน์ของชนชั้นตน
แต่พระมหากษัตริย์สมัยใหม่ (modern monarchy) ของ ยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์มีบทบาทสถานะเปลี่ยนจากยุคสยามเก่าอย่างสำคัญ กล่าวคือนอกจากทรงเป็นสมมติเทพและผู้ทรงบุญบารมีสูงสุดในแผ่นดินตามคติฮินดู-พุทธ ที่ปรับเปลี่ยนเรื่อยมาจนถึงต้นรัตนโกสินทร์แล้ว ภารกิจของพระองค์กลับมิใช่เพียงแค่ทรงทศพิธราชธรรมเพื่อให้พระบรมโพธิสมภาร ของพระองค์แผ่ปกป้องคุ้มครองไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินให้พ้นทุพภิกขภยันตรายนานา ชนิดตามคติความเชื่อแต่โบราณ แต่ทรงเป็นผู้นำรัฐบาลผู้บริหารระบบราชการกระทรวงทบวงกรมแบบใหม่ที่มี หน้าที่ “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” ของราษฎร เช่น สร้างถนน คูคลอง น้ำประปาสาธารณูปโภคและการศึกษาแก่ประชาชน เป็นต้น ซึ่งล้วนเป็นภารกิจที่รัฐโบราณไม่เคยต้องรับผิดชอบ
ระบอบ สมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่พระมหากษัตริย์ทรงมีอำนาจเหนือกลไกรัฐทั่วทั้งแผ่น ดินนี่เองกลับมีความสัมพันธ์กับประชาชนอย่างที่พระมหากษัตริย์สมัยเก่าไม่ เคยต้องเผชิญคือ เป็นพระมหากษัตริย์แบบสาธารณะ (public) ถึงแม้จะยังไม่ถูกตรวจสอบจากสาธารณะและอำนาจอธิปไตยไม่ใช่ของประชาชน แต่พระมหากษัตริย์มาอยู่ในพื้นที่สาธารณะ (public sphere) สาธารณชนรับรู้และสื่อสารกันเกี่ยวกับพระองค์ จึงย่อมหนีไม่พ้นวาทกรรมในสังคมเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์
พระ มหากษัตริย์ของยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ จึงมีทั้งพระปิยมหาราชของสาธารณชนเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ไทย และพระมหากษัตริย์ที่โดนสาธารณชนโค่นล้มเป็นครั้งแรก
พระ มหากษัตริย์ที่ทรงยุ่งเกี่ยวกับการเมืองท่ามกลางมหาชนชาวสยาม ย่อมออกหัวก็ได้ ออกก้อยก็ได้ เป็นสองด้านของเหรียญเดียวกัน จะบังคับให้ประชาชนใช้เหรียญที่มีแต่หัวทั้งสองด้านย่อมไม่ได้เพราะประชาชน รู้ว่าเป็นของปลอมของเก๊
แม้ว่าความไม่พอใจของสาธารณชนคนเมืองจะมีมากจนมีส่วนหนุนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ 2475 แต่ทั้งคณะราษฎรและผู้ไม่นิยมสมบูรณาญาสิทธิราชย์อื่นๆ กลับแตะต้องมรดกของสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไม่มากเท่าไรนัก คณะราษฎรเห็นความล้มเหลวของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในรัชกาลที่ 6 และ 7 แต่พวกเขาไม่เห็นด้วยซ้ำไปว่ารัชกาลที่ 5 คือ จุดเริ่มต้นของสิ่งที่พวกเขาต้องการเปลี่ยนแปลงอย่างถอนรากถอนโคน ผู้นำคณะราษฎรแทบทุกคนถือเอาพระปิยมหาราชเป็นแบบอย่างกษัตริย์และผู้นำที่ พึงปรารถนา ซึ่งไม่ต่างจากความปรารถนาของพวกเจ้าทั้งในยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์และภาย หลัง
การ เปลี่ยนแปลงที่คณะราษฎรกระทำมีความสำคัญและมีผลกระทบมหาศาลในประวัติศาสตร์ การเมืองไทย ความกล้าหาญและคุณูปการของคณะราษฎรเป็นสิ่งที่ปฎิเสธไม่ได้ แต่มรดกของสมบูรณาญาสิทธิราชย์ระดับรากฐานยังสืบทอดต่อมา แม้แต่อำนาจฝ่ายเจ้าและบทบาทสถานะพิเศษทางการเมืองของ(สถาบัน)พระมหา กษัตริย์ก็ได้รับการรื้อฟื้นในเวลาต่อมา
เมื่อฝ่ายเจ้าฟื้นอำนาจหลังการรัฐประหาร 2490 นั้น พวกเขามีทุนอยู่แล้วในการเมืองวัฒนธรรมและภูมิปัญญา สิ่งที่ฝ่ายเจ้าทำคือ รื้อฟื้นฐานความชอบธรรมที่อิงอยู่กับคติฮินดู-พุทธแต่โบราณ รื้อฟื้นพระมหากษัตริย์อันศักดิ์สิทธิ์ กับสร้างพระมหากษัตริย์ของมหาชนชาวสยาม (popular monarchy) ขึ้นมาอีกครั้ง สิ่ง ที่ฝ่ายเจ้าสมัยนั้นพยายามแก้ไขคือ แทนที่จะกลับสู่ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่กษัตริย์เป็นหัวหน้ารัฐบาลเอง ต้องรับผิดรับชอบเอง ฝ่ายเจ้ากลับออกแบบระบบการเมืองที่มีพระมหากษัตริย์อยู่ เหนือ การ เมืองในความหมายที่ต่างตรงข้ามกับที่คณะราษฎรพยายามกำหนด นั่นคือ แทนที่จะหมายถึงหลุดพ้นออกไปจากระบบการเมืองอย่างสิ้นเชิง ฝ่ายเจ้ากลับทำให้พระมหากษัตริย์อยู่ข้างบนของระบบการเมืองปกติอีกทีหนึ่ง ฝ่ายเจ้าสมัยนั้นคงเชื่อว่านี่เป็นความสัมพันธ์ระหว่างพระมหากษัตริย์กับ ระบบการเมืองที่มีความเสี่ยงน้อยกว่าสมบูรณาญาสิทธิราชย์เสียอีกเพราะมี รัฐบาลเป็นผู้รับสนองความผิดแทน
สถานะ เหนือการเมืองชนิดนี้มีกลไกเสริมความมั่นคงไม่ให้ต้องเผชิญการตรวจสอบ วิพากษ์วิจารณ์ ที่สำคัญคือ ทำให้พระมหากษัตริย์อยู่ในสถานะละเมิดมิได้ ฟ้องเอาผิดไม่ได้ นี่เป็นการรับเอากลไกทางกฏหมายของฝรั่งมาใช้อย่างผิดฝาผิดตัวเพื่อประโยชน์ ของฝ่ายเจ้าเอง (“เลือกสิ่งดี”) กล่าวคือในบางประเทศที่มีกลไกนี้ ก็เพื่อคุ้มครองพระมหากษัตริย์ที่ไม่ทรงทำอะไรเลยทางการเมือง แต่ฝ่ายเจ้าของไทยเอามาใช้เป็นเกราะกำบังพวกกษัตริย์นิยมที่กำลังรื้อฟื้น บทบาทสถานะพิเศษทางการเมืองขึ้นมาอีกครั้ง นี่คือภูมิหลังทางประวัติศาสตร์ของ “มาตรา 112” ในปัจจุบัน และเป็นประด็นที่แทบไม่มีใครกล่าวถึงในการโต้แย้งกันเกี่ยวกับกฏหมายนี้
พระมหากษัตริย์สมัยใหม่แบบใหม่ (“Modern Monarchy 2.0”) นี้เริ่มต้นมากับยุคเผด็จการทหารขนานแท้ครั้งแรกในประวัติศาสตร์ไทยหลัง 2490 เติบโตเข้มแข็งขึ้นภายใต้เผด็จการทหารยุคพัฒนา และบรรลุจุดหมายโดยพื้นฐานเมื่อโค่นเผด็จการทหารลงในปี 2516 ใช้เวลาเสริมสร้างความมั่นคงในเวลา 15 ปีต่อ มา ในที่สุดฝ่ายเจ้าก็สามารถสถาปนาพระมหากษัตริย์ที่ศักดิ์สิทธิ์ เป็นที่รักของมหาชนและอยู่ข้างบนของระบบการเมืองได้สำเร็จ นี่คือมรดกของสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่ปรับตัวกลับมาแข็งแกร่งอีกครั้งในยุค ของเรา
ฝ่าย เจ้าคงคิดว่านี่เป็นบทบาทสถานะทางการเมืองที่มั่นคงปลอดภัยที่สุดได้ ประโยชน์ที่สุด พวกเขาต้องการให้เป็นแบบนี้ตลอดไป หรือกล่าวอีกอย่างคือ ต้องการให้เป็น “สถาบัน”
แต่ บทบาทสถานะทางการเมืองของ (สถาบัน) พระมหากษัตริย์แบบนี้กำลังเผชิญปัญหา ขอย้ำว่าไม่ใช่เพราะพวกล้มเจ้า ทักษิณ หรือนักวิชาการที่ออกมาเตือน แต่เป็นเพราะบทบาทสถานะแบบนี้มีปัญหาในตัวเองที่ไม่มีทางแก้ตกและไม่มี ทางอยู่ยั่งยืนได้ตลอดไปอย่างที่ฝ่ายเจ้าปรารถนา ปัญหาในตัวเองนี้เป็นปัญหาเดียวกันกับที่นำไปสู่ “อวสานของสมบูรณาญาสิทธิราชย์” เมื่อ 80-100 ปีก่อน ดังที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชบันทึกเมื่อปี 2469 ว่า ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เหมาะสมกับประเทศสยาม “ตราบเท่าที่เรามีพระเจ้าแผ่นดินที่ดี…ทว่าแนวความคิดนี้เป็นแต่เพียงทฤษฎี....ไม่แน่นอนว่าเราจะมีพระเจ้าแผ่นดินที่ดีอยู่เสมอ” คำกล่าวของพระองค์ ใช้ได้กับบทบาทของ (สถาบัน) พระมหากษัตริย์หลังสมบูรณาญาสิทธิราชย์เช่นกัน
ปัญหาในตัวเองของ (สถาบัน) พระมหากษัตริย์ทั้งในยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์และภายหลังมี 2 ประการ ได้แก่ หนึ่ง บทบาทสาธารณะกับความต้องการอยู่ในสถานะศักดิ์สิทธิ์แตะต้องไม่ได้และเป็นที่ รักของมหาชนอย่างสัมบูรณ์ ไปด้วยกันไม่ได้ ดังได้อธิบายไปแล้วถึงสมบูรณาญาสิทธิราชย์หลังรัชกาลที่ 5
จะ บังคับให้มหาชนชาวสยามใช้เหรียญที่ออกหัวทั้งสองด้าน ไม่มีก้อย จะไปได้นานสักเท่าไรกัน ไม่ช้าก็เร็วย่อมมีคนร้องเรียนว่าเป็นเหรียญเก๊
อำนาจ บุญบารมีแบบพระมหากษัตริย์โบราณไม่อาจกลบเกลื่อนความแตกต่างทางสังคมในการ เมืองสาธารณะได้อีกต่อไป จึงไม่มีใครหรือสถาบันใดที่สามารถมีบทบาททางการเมืองโดยไม่ต้องขัดแย้งในทาง สาธารณะ ถ้าจะคงสถานะศักดิ์สิทธิ์และเป็นที่รักของมหาชนได้ยาวนานก็ต้องไม่มีบทบาท ทางการเมืองอย่างสิ้นเชิง
สอง ความฝันของฝ่ายเจ้าที่อยากให้ตัวแบบพระปิยมหาราชกลายเป็นสถาบันไปนานๆโดยไม่ ขึ้นกับตัวบุคคล จึงขัดฝืนกับความเป็นจริงดังที่รัชกาลที่ 7 ทรงเล็งเห็น เมื่อ 100 ปี ก่อน ความสำเร็จของพระปิยมหาราชมิได้เป็นผลของแบบแผนหรือความเป็นสถาบันที่ดำรง อยู่ก่อนแต่อย่างใด แถมประวัติศาสตร์เป็นหลักฐานอยู่แล้วว่าพระมหากษัตริย์แบบพระองค์มิได้กลาย เป็นสถาบันพ้นรัชสมัยของพระองค์ พระปิยมหาราชเป็นความสำเร็จของพระองค์และฝ่ายเจ้าร่วมสมัยของพระองค์ ฝ่าย เจ้าสมัยนั้นคงปรารถนาให้พระเจ้าแผ่นดินทุกพระองค์สามารถทรงบทบาทสถานะดัง กล่าวได้ พระมหาธีรราชเจ้าทรงเป็นกษัตริย์นักปราชญ์ดังพระสมัญญานาม แต่ไม่ทรงเป็นอะไรอีกเลยนอกเหนือจากนั้น บรรดาเจ้านายแวดล้อมพระองค์ละทิ้งพระองค์ก่อนมหาชนเสียอีก
ซ้ำ ร้ายไปกว่านั้น ฝ่ายเจ้าเองบ่อนทำลายความพยายามของพวกเขาเองโดยไม่รู้ตัวอยู่ตลอดเวลาด้วย ความมักง่ายสายตาสั้น มองไม่เห็นว่าสิ่งที่พวกเขาทำมีผลข้างเคียงที่พวกเขาไม่ประสงค์เสมออย่าง หลีกเลี่ยงไม่ได้ เมื่อ 100 ปี ก่อน วี่แววว่าสมบูรณาญาสิทธิราชย์จะมีปัญหาเริ่มมาตั้งแต่เจ้าฟ้าวชิราวุธทรง เป็นพระบรมโอรสาธิราช กล่าวคือ ความสำเร็จล้นเหลือของพระราชบิดา (ไม่ว่าจะจริงหรือไม่ก็ตาม) นั่นเองเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้พระบรมโอรสาธิราชล้มเหลวตั้งแต่ยังไม่ขึ้น ครองราชย์ ยิ่งฝ่ายเจ้าประโคมแซ่ซร้องสรรเสริญพระ ราชบิดาในปลายรัชกาลว่ายิ่งใหญ่กว่ากษัตริย์ไทยที่มีมาก่อน ยิ่งพระราชบิดาเป็นที่เคารพรักเทิดทูนของมหาชน (แม้แต่คณะราษฎรก็เทิดทูน) หรือยิ่งดูเหมือนประสบความสำเร็จมหาศาลเท่าใด ก็ยิ่งทำให้พระราชโอรสมีโอกาสน้อยลงทุกทีที่จะเทียบเคียงความสำเร็จ และยิ่งทำให้ตัวแบบพระราชบิดาหมดหนทางกลายเป็นสถาบัน ผู้นิยมเจ้าจน “เว่อ” คือผู้ปิดประตูอนาคตของเจ้าเสียเอง
นี่เรายังไม่พูดถึงความจริงที่ว่าสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชเมื่อ 100 ปีก่อนมีคุณสมบัติส่วนพระองค์ที่เจ้านายสมัยนั้นรับไม่ได้ ยิ่งทำให้พระองค์ขาด moral authority และ ไม่เป็นที่นิยมทั้งในฝ่ายเจ้าเองและต่อสาธารณชน เรียกง่ายๆว่า นอกจากจะเทียบพระราชบิดาไม่ได้แล้ว ตัวพระองค์เองยังเริ่มต้นที่ติดลบอีกด้วย
ความ ขัดแย้งในตัวเองของบทบาททางการเมืองของ (สถาบัน) พระมหากษัตริย์ทั้งสองประการนี้เองที่นำไปสู่อวสานของระบอบการเมือง สมบูรณาญาสิทธิราชย์
ไม่ใช่พวกเก็กเหม็ง คณะราษฎร ปรีดี หรือพิบูล หรือขบวนการล้มเจ้า
ความไม่พอใจพระมหากษัตริย์ การวิพากษ์วิจารณ์พระองค์ในที่สาธารณะเมื่อ 80-90 ปี ก่อน เป็นผลสะท้อนปัญหาในตัวเองของสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่ต้องการมีพระราชอำนาจ ทางการเมือง แถมพยายามทำให้สถาวรเป็นสถาบัน แต่กลับเป็นบทบาทสถานะที่ขึ้นกับตัวบุคคล ทั้งหมดนี้ขัดแย้งกันเองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ในการเมืองแบบสาธารณะ
ฝ่ายเจ้าที่ฝันอยากสร้างพระปิยมหาราชขึ้นมาเป็นตัวแบบของ “สถาบัน”พระ มหากษัตริย์ยุคหลังสมบูรณาญาสิทธิราชย์ คงยังไม่ตระหนักว่าพวกเขากำลังสืบทอดมรดกของความขัดแย้งในตัวเอง จนถึงทำลายตัวเองของสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเต็มๆ พวกเขากำลังเผชิญปัญหาเดิมๆแบบเมื่อ 80-100 ปีก่อน แต่ยังไม่ตระหนัก ยังดิ้นขลุกขลักๆในกรอบเดิมๆ เอาแต่โทษคนอื่นเหมือนเดิม มีคนเสนอทางออกให้ก็เล่นงาน ด่าทอไล่ให้ออกไปอยู่นอกประเทศไทยซะ ข่มขู่ ยัดข้อหา จับกุมคุมขังพวกเขาเหล่านั้น
ถ้าเรียนรู้จากอดีตก็จะเห็นการณ์ไกลว่าพวก “รักพ่อ” มากจนต่อต้านการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้เองกำลังทำให้ปัญหาทับถมหนักหน่วงขึ้น ทุกที การทำร้ายด้วยอำนาจรัฐและกฎหมาย ทำใหัทุกอย่างเลวร้ายลง พวกเขากำลังสร้างปัญหาแก่อนาคตของ (สถาบัน) พระมหากษัตริย์
การเปลี่ยนแปลง: ชิงสุกก่อนห่าม VS น้อยเกินไปสายเกินการณ์
“... แผนการของข้าพเจ้าถูกคัดค้านโดยพวกอนุรักษ์นิยม รวมทั้งที่ปรึกษาชาวต่างประเทศด้วย .... ดังนั้นจึงเป็นธรรมดาที่ประชาชนจะรู้สึกหงุดหงิดและลุกขึ้นจัดการกันเอง...” (พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว 30 มิ.ย. 2475)
แม้ แต่ทัศนะคติและวาทกรรมต่อการเปลี่ยนแปลงสังคมไทยก็อยู่ในกรอบซ้ำๆซากๆ ที่เป็นมรดกจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ปฎิกิริยาของพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 ต่อ คำกราบบังคมทูลฯ ของกลุ่มเจ้านายให้แก้ไขระบบบริหารราชการแผ่นดิน และต่อพวกที่ต้องการปาลิเม็นต์คือ ทรงเห็นว่าเป็นการพยายามเอาข้าวสาลีมาปลูกในดินสยามที่เหมาะกับข้าวจ้าวเท่า นั้น พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 ทรงเห็นว่าพวกที่อยากเห็นสยามเปลี่ยนแปลงระบอบการเมืองหรือเป็นรีปับลิคเป็น เพราะลัทธิเอาอย่าง เมื่อกระแสเรียกร้องประชาธิปไตยสูงขึ้น ความไม่พอใจระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มีมากขึ้น ฝ่ายเจ้าและพวกอนุรักษ์นิยมเห็นว่าเป็นความคิดของพวกหัวนอกไม่กี่คน เป็นประชาธิปไตยแค่รูปแบบ ไม่ใช่ประชาธิปไตยแท้จริง ดังนั้นจึงเห็นว่าการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 เป็นการ “ชิงสุกก่อนห่าม” เพราะประชาชนยังไม่พร้อม
ปราก ฎการณ์ที่คนบางกลุ่มบางส่วนรับรู้ความเปลี่ยนแปลงทางสังคมได้ไวกว่าคนทั่วไป ไม่ว่าจะด้วยพลังปัญญาหรือเพราะมีประสบการณ์ก่อนคนอื่น นี่เป็นเรื่องปกติในสังคมทุกแห่งไม่ว่าที่ไหนในโลก คนพวกนี้หากไม่ก่อปัญหากับอำนาจเราเรียกว่าคนเห็นการณ์ไกลมีวิสัยทัศน์ ครั้นท้าทายอำนาจก็เรียกว่าพวกชิงสุกก่อนห่าม คำกล่าวหาดังกล่าวจึงมาจากผู้มีอำนาจที่ต่อต้านการเปลี่ยนแปลงเสมอ
คนที่ไม่พร้อมที่สุดคือคนมีอำนาจที่ไม่ต้องการเปลี่ยนแปลงซึ่งล้วนมีการศึกษาดีทั้งนั้น
ตรงข้ามกับการชิงสุกก่อนห่ามซึ่งประวัติศาสตร์ไทยแทบไม่กล่าวถึงหรือให้ความสำคัญน้อยมาก ก็คือ น้อยเกินไปสายเกินการณ์ (too little too late)
พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 7 เอง ทรงชี้ให้เห็นว่าฝ่ายเจ้าไม่เข้าใจไม่ตระหนักพอถึงความเปลี่ยนแปลงทางสังคม ที่กำลังเกิดขึ้น ไม่เข้าใจความรู้สึกของประชาชน ความพยายามของพระองค์ในการ “รีฟอร์ม” จึงถูกขัดขวางจากเจ้านายชั้นผู้ใหญ่และที่ปรึกษาของพระองค์จนในที่สุดก็สาย เกินการณ์ ทั้งๆที่การปฎิรูปที่พระองค์ตระเตรียมก็น้อยเกินไปกว่าที่กระแสเรียกร้อง ความเปลี่ยนแปลงต้องการอยู่ดี
ทั้งสมัยก่อนและสมัยนี้ ผู้ต้องการความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองถูกหาว่าเป็นคนเลวร้าย มีผู้ชักใย ล้างสมอง จ้างวานมา “ถูกชักจูงโดยนักปลุกระดมหรือพวกที่ฝันถึงยุคพระศรีอาริย์” ชนชั้นปกครองไม่เคยคิดว่ากระแสเรียกร้องความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองสะท้อน ความเปลี่ยนแปลงในสังคมไทย ประชาชนจึงต้องการระบบการเมืองที่เขามีส่วนตัดสินอนาคตของตนเอง
ทั้งสมัยก่อนและสมัยนี้ การเรียกร้องประชาธิปไตยถูกหาว่าเป็นเรื่องของฝรั่ง ไม่เหมาะกับสังคมไทย “เอาข้าวสาลีมาปลูกในดินของสยาม” เพราะประชาชนยังไม่พร้อม การศึกษายังไม่พอ เรายังคิดว่าประชาธิปไตยเป็นสมบัติหวงห้ามของคนมีการศึกษาเท่านั้น ความเชื่อผิดๆนี้ยังไม่เปลี่ยน ปัญญาชนผู้มีการศึกษายังเชื่ออย่างนี้กันมาก
ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 จน ถึงบัดนี้ ความคิดที่ว่าการเปลี่ยนแปลงจากเบื้องบนโดยพระราชอำนาจเป็นวิธีการที่ดีที่ สุดยังคงหนาแน่น ทั้งๆที่โดยปกติเบื้องบนไม่ยอมเปลี่ยนแปลง
สังคม ไทยปัจจุบันปัจจุบันยังวนเวียนอยู่กับทัศนะเหล่านี้ที่เริ่มต้นมาตั้งแต่ยุค สมบูรณาญาสิทธิราชย์ ทุกวันนี้ ดูเหมือนว่ามีความพยายามปรับตัวน้อยเสียยิ่งกว่า 80 ปีก่อน แต่กลับปราบปรามหนักยิ่งกว่า 80 ปีก่อนเสียอีก
ทางออก ที่สถาวรในระยะยาว ก็คือ เลิกพยายามสืบทอดมรดกที่มาจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เลิกพยายามสร้าง (สถาบัน)พระมหากษัตริย์ที่มีบทบาทสถานะและความสัมพันธ์การเมืองแบบ ศักดิ์สิทธิ์เหนือมนุษย์และอยู่ชั้นบนของระบบการเมือง ก็จะทำให้กษัตริย์ทุกพระองค์ ไม่ว่าจะปรีชาสามารถมากน้อยเพียงใดก็สามารถเป็นที่เคารพรักของมหาชนได้อย่าง สนิทใจ
ในด้านตรงข้าม ผู้ที่เห็นการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 เป็น การปฎิวัติอันน่าพิสมัย ก็ควรไตร่ตรองให้จงหนัก แทบไม่มีการปฎิวัติใดๆในโลกนี้ที่เปลี่ยนแปลงอย่างถึงรากโคนอย่างที่กล่าว อ้างกัน แถมการปฎิวัติของมวลชนไม่ได้รุ่งโรจน์อย่างที่คิด
Paradox ของการเปลี่ยนแปลงสังคมขนานใหญ่ คือ พวกก้าวหน้าที่เชื่อว่าตนมีอุดมการณ์ขุดรากถอนโคนมักจะไม่รู้ว่ารากโคนของ ปัญหาอยู่ตรงไหน ครั้นการปฏิวัติจืดจางลง ระบอบใหม่กับระบอบเก่ามักไม่ต่างกันมากนัก นักปฎิวัติมักจะโทษนั่นนี่ว่าทำไมการปฎิวัติจึงออกนอกลู่นอกทาง แต่ไม่มีการปฎิวัติใดเลยที่อยู่ในลู่ในทาง เพราะลู่ทางที่ปฎิวัติเป็นแค่ความฝันจินตนาการ นอกลู่ทางต่างหากคือความเป็นจริง แถมการปฎิวัติที่ ต้องอาศัยมวลชนกว้างขวาง มักต้องอาศัยแนวความคิดที่ไม่ซับซ้อน มิติเดียวหรือถูกทำให้ง่ายเป็นขาวดำ เพราะแนวคิดลักษณะนั้นจึงจะมีพลังในการเคลื่อนไหวมวลชน ผู้นำปฎิวัติที่เชิดชูกันมักเหมาะกับสถานการณ์ชั่วคราวเท่านั้น แต่ก็ยกย่องเชิดชูกันไม่ต่างกับยกย่องเจ้า หลายคนลงท้ายประกาศตนเป็นเจ้าเสียเลยจริงๆ เช่น การปฎิวัติฝรั่งเศสลงท้ายก็ได้จักรพรรดิองค์ใหม่เมื่อกระแสปฎิวัติจางหายไป
สังคม มนุษย์กว้างใหญ่ซับซ้อนเกินกว่าการปฎิวัติยกเดียวจะเปลี่ยนแปลงได้มากอย่าง ที่มักคิดฝัน มนุษย์ปุถุชนไม่ว่าเจ้าหรือนักคิดนักปฎิวัติต่างมีข้อจำกัดเกินกว่าจะแบกรับ ความเปลี่ยนแปลงที่ใหญ่เกินตัว คุณูปการที่น่าสรรเสริญใดๆลงท้ายไม่พลิกแผ่นดินมากอย่างที่คิดเมื่อมองจากมิติเวลาที่กว้างไกลทางประวัติศาสตร์
การ ชิงสุกก่อนห่ามสามารถหลีกเลี่ยงได้ หากชนชั้นนำผู้มีอำนาจยอมปรับตัวไม่น้อยเกินไปไม่สายเกินการณ์ สภาวะ “สุก” เร็วไปเป็นผลของการกดขี่ปราบปรามโดยชนชั้นนำผู้มีอำนาจ ไม่ใช่ผลของการปลุกปั่นจ้างวาน การใช้มาตรา 112 อย่างที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนี้ และการปราบปรามด้วยความรุนแรงนั่นแหละที่เร่งบ่มให้สถานการณ “สุก” เร็วยิ่งขึ้น
การ ประนีประนอมหาทางออกในวันนี้จะส่งผลดีต่อ (สถาบัน) พระมหากษัตริย์ในระยะยาว อันดับแรกสุดคือ “เปิดประตู” เปิดช่องทางให้กับการประนีประนอม
หยุดใช้มาตรา 112 ณ บัดนี้ ปลดปล่อยคนที่เดือดร้อนโดยเร็วที่สุด ขจัดบรรยากาศความกลัวที่ปกคลุมประเทศไทยในขณะนี้ ยอมให้มีการอภิปรายถึงบทบาทสถานะทางการเมืองของ (สถาบัน) พระมหากษัตริย์อย่างเปิดเผย ปล่อยให้กระบวนการประชาธิปไตยดำเนินไปตามทางของมันไม่ว่าจะลุ่มๆดอนๆขนาดไหน ก็ตาม
หากน้อยกว่านี้ สายกว่านี้ หรือรังแกกันต่อไป ก็จะยิ่งเร่งให้ “สุก” โดยไม่จำเป็นเลย
พระ มหากษัตริย์ต้องอยู่พ้นจากการเมืองอย่างแท้จริง จึงจะไม่เกิดความขัดแย้งในเรื่องสถาบันหรือตัวบุคคลอีกต่อไป ฝ่ายเจ้าจึงจะไม่ต้องวิตก วิ่งเต้น สะสมกำลัง ชิงความได้เปรียบกันอีกต่อไป ไม่ต้องกลัวว่านักการเมืองรายใดจะมาเป็นคู่แข่ง เพราะไม่มีอำนาจการเมืองเป็นเดิมพันอีกต่อไป
ฝ่าย เจ้าของไทยในปัจจุบันจะมีสายตายาวไกลพอหรือไม่ เห็นแก่ประเทศชาติประชาชนขนาดไหน หรือพวกเขาอยู่สูงเหนือประชาชนจนไม่เข้าใจว่าความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นแล้วใน ระดับรากหญ้าและไม่สามารถหยุดยั้งหรือย้อนเวลากลับได้อีกแล้ว
* ธงชัยกล่าวปาฐกถา ในงานแสดงมุทิตาจิต 'ชุมนุมปาฐกถา 70 ปี ชาญวิทย์ เกษตรศิริ' ที่หอประชุมศรีบูรพา ม.ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ วันที่ 7 พฤษภาคม 2554
เรื่องที่เกี่ยวข้อง:
[4] ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์: ยุคเปลี่ยนผ่านวรรณกรรมไทย วรรณกรรมไทยยุคเปลี่ยนผ่าน
[3] อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์: สิทธิเสรีภาพหลัง ‘ทักษิณ’ ภาพรวมสภาวะดิ่งเหวของไทย
[2] เกษียร เตชะพีระ: ธรรมาภิบาล VS ประชาธิปไตย สังคมไทยต้องเลือก ?
[1] ผาสุก พงษ์ไพจิตร: ภาษีที่ดิน-ทรัพย์สินไม่ไปไหน ไทยยากจะมีสวัสดิการที่ดี
http://prachatai3.info/journal/2011/05/34433
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น