แดงเชียงใหม่

กราบสวัสดี พี่น้องทุกๆท่านที่เข้ามาเยี่ยมเยือน Blog นปช.แดงเชียงใหม่ ขอเรียนชี้แจงสักนิดว่า เรา ”แดงเจียงใหม่” เป็นกลุ่มคนชาวเจียงใหม่ที่เคารพรัก กติกาประชาธิปไตย ต่อสู้และต่อต้านเผด็จการทุกรูปแบบ อยากเห็นประเทศชาติภายภาคหน้า มีความเจริญ ประชาชน รุ่นลูกหลานของเราอยู่อาศัยอย่างร่มเย็นเป็นสุขในประเทศของพวกเราเอง ไม่มีกลุ่มอภิสิทธิ์ชนกลุ่มใดมาสูบเลือดเนื้อ แอบอ้างบุญคุณเฉกเช่นในยุคนี้ที่พวกเราเห็น การที่จะได้รับในสิ่งที่มุ่งหวังก็ต้องมีการต่อสู้แสดงกำลังให้สังคมได้รับรู้ และเพื่อที่จะให้กลุ่มบุคคลที่มีอำนาจในปัจจุบันได้เข้าใจในสังคมที่ก้าวหน้าเปลี่ยนแปลงไป ไม่อาจฝืนต่อกระแสการพัฒนาของโลก การต่อสู้ร่วมกับผองชนทั่วประเทศในครั้งนี้ เรา " แดงเจียงใหม่ " ได้ร่วมต่อสู้ทุกรูปแบบ และ ในรูปแบบที่ท่านได้เข้ามาร่วมอยู่นี้ คือการเผยแพร่ข่าวสารต่อสังคม

เรา " แดงเจียงใหม่ " ขอเชิญชวนร่วมกันสร้างขวัญ และกำลังใจให้เพื่อนพ้องน้องพี่ร่วมกัน


"อันประชาสามัคคีมีจัดตั้ง
เป็นพลังแกร่งกล้ามหาศาล
แสนอาวุธแสนศัตรูหมู่อันธพาล
ไม่อาจต้านมวลมหาประชาชน"

.

วันเสาร์ที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2553

พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ : บทเรียนจากการเคลื่อนไหวพฤษภาคม 2553

พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ : บทเรียนจากการเคลื่อนไหวพฤษภาคม 2553

รศ.ดร.พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์
28 กรกฎาคม 2553


http://www.prachatai3.info/journal/2010/07/30492

http://www.prachatai3.info/journal/2010/08/30591


การเคลื่อนไหวของขบวนการประชาธิปไตยในช่วงมีนาคม-พฤษภาคม 2553 เป็นการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยยิ่งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งของประเทศไทย แม้จะยุติลงด้วยการสังหารหมู่ประชาชนอย่างโหดเหี้ยม เป็นความเสียหายครั้งใหญ่ของฝ่ายประชาธิปไตยก็ตาม แต่ในวันข้างหน้า เมื่อประเทศไทยบรรลุถึงประชาธิปไตยที่แท้จริงแล้ว ผู้คนก็จะหันกลับมามองและเห็นว่า การต่อสู้ในครั้งนี้มิได้สูญเปล่า หากแต่เป็นก้าวเปลี่ยนผ่านครั้งสำคัญที่นำไปสู่ชัยชนะของประชาธิปไตยในที่ สุด

ขบวนการประชาธิปไตยได้เรียนรู้จากการเพลี่ยงพล้ำเมื่อ 12-14 เมษายน 2552 สรุปบทเรียน ศึกษาเรียนรู้ ขยายการรวมกลุ่มจัดตั้ง สามารถฟื้นตัวกลายเป็นพลังทางการเมืองที่เข้มแข็ง การเคลื่อนไหวที่ยืดเยื้อและยากลำบากเมื่อมีนาคม-พฤษภาคม 2553 แสดงให้เห็นว่า ในเวลาเพียงหนึ่งปี มวลชนได้ยกระดับขึ้นอย่างมากทั้งในด้านขวัญกำลังใจ ความรับรู้ ความทุ่มเทเด็ดเดี่ยว เสียสละ สามารถเคลื่อนไหวได้อย่างพลิกแพลง

แต่ในระหว่างนี้ ได้มีข้อถกเถียงอย่างต่อเนื่องในประเด็นแนวทางยุทธศาสตร์และยุทธวิธีของแนว ร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) “แดงทั้งแผ่นดิน” การสังหารหมู่ 19 พฤษภาคม 2553 ยิ่งทำให้มีข้อโต้แย้งที่แหลมคมมากขึ้น จึงจำเป็นที่จะต้องมีการศึกษาจากผลสำเร็จและจุดอ่อนของการเคลื่อนไหวครั้ง นี้ เพื่อเป็นบทเรียนแก่การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในขั้นต่อไป



1. ท่าทีของการวิจารณ์

ในเบื้องแรกต้องขีดเส้นแบ่งระหว่างฝ่ายเผด็จการอำมาตยาธิปไตยกับฝ่าย ประชาธิปไตย แกนนำ นปช. “แดงทั้งแผ่นดิน” เป็นฝ่ายประชาธิปไตย มีประวัติการต่อสู้ที่เสียสละและเสี่ยงอันตรายมายาวนาน ความผิดพลาดใดที่เกิดขึ้นยังคงเป็นความผิดพลาดของนักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย และเป็นความผิดพลาดอันเกิดจากความจำกัดในความรับรู้ ประสบการณ์ ลักษณะเฉพาะบุคคล จากความไม่ชัดเจนของสถานการณ์เฉพาะหน้าและขีดจำกัดของภววิสัย

ท่าทีในการวิพากษ์วิจารณ์จึงควรกระทำอย่างมิตร แลกเปลี่ยนข้อมูลความคิดเห็นเพื่อให้ความรับรู้ตรงกัน วิจารณ์จุดอ่อนเพื่อสรุปบทเรียนอย่างถูกต้อง ไม่เอาความขัดแย้งส่วนบุคคลมาปะปน ยิ่งไม่ควรโจมตีกัน โยนความผิดทั้งหมดไปให้แกนนำโดยไม่จำแนก กระทั่งเอาข้อมูลเท็จและข่าวลือมาไส้ไคล้กัน แต่ต้องถือเอาประโยชน์ของขบวนการประชาธิปไตยโดยรวมเป็นที่ตั้ง เพื่อให้การเคลื่อนไหวได้พัฒนายกระดับ ไปบรรลุประชาธิปไตยที่แท้จริง

การสังหารหมู่ประชาชนครั้งใหญ่ในช่วงเมษายน-พฤษภาคม 2553 เป็นอาชญากรรมนองเลือดอีกครั้งหนึ่งที่เผด็จการอำมาตยาธิปไตยได้กระทำต่อ ประชาชนไทย แม้ว่าแกนนำและมวลชนอาจกระทำผิดพลาดทางการเมืองและยุทธศาสตร์ยุทธวิธีบาง ประการ แต่ประชาชนมาชุมนุมด้วยมือเปล่า อย่างสันติ เพียงเรียกร้องการยุบสภาภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญ 2550 ฝ่ายเผด็จการไม่มีความชอบธรรมใดๆ ทั้งสิ้นในการใช้กำลังรุนแรงเข่นฆ่าประชาชน และไม่มีความผิดพลาดใด ๆ ของแกนนำ นปช.ที่จะใช้เป็นข้ออ้างเพื่อลบล้างความจริงข้อนี้ได้

2. แนวทาง “สันติวิธี” กับเป้าหมายเฉพาะหน้า “ให้ยุบสภา”

นปช.แดงทั้งแผ่นดิน ได้ประกาศยึดแนวทาง “สันติอหิงสา” มีเป้าหมายเฉพาะหน้าในการเคลื่อนไหวครั้งนี้คือ “ให้ยุบสภา” ทั้งหมดนี้ได้ถูกบางฝ่ายวิจารณ์ว่า “เป็นแนวทางปฏิรูป” และเสนอแย้งว่า “หนทางที่ถูกต้องคือ ต้องปฏิวัติ เปลี่ยนระบอบ” ข้อวิพากษ์นี้ผิดและสับสน โดยนำเอาลักษณะทั้งหมดของขบวนการประชาธิปไตยโดยรวม มาปะปนกับยุทธศาสตร์ยุทธวิธีของขบวนการในแต่ละขั้นตอน เป็นการจับคู่ขัดแย้งแบบผิดฝาผิดตัว เอาสิ่งที่พวกเขาเสนอว่าเป็น “แนวทางปฏิวัติ” มาเป็นคู่ขัดแย้งกับแนวทางของ นปช.ที่พวกเขาตีตราว่าเป็น “แนวทางปฏิรูป”

ภายหลังรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ฝ่ายประชาธิปไตยเริ่มต้นเป็นเพียงขบวนการต่อต้านรัฐประหารและเรียกร้องเอา รัฐธรรมนูญ 2540 กลับคืนมา แต่จากการเรียนรู้สั่งสมประสบการณ์ ทำให้ขบวนการประชาธิปไตยพัฒนาขยายเติบใหญ่ ยกระดับความรับรู้ถึงขั้นเข้าใจในรากเหง้าอุปสรรคที่แท้จริงของประชาธิปไตย ในประเทศไทย กลายเป็นขบวนการที่มีการจัดตั้งและมีการนำในระดับหนึ่ง มีเป้าหมายที่มุ่งช่วงชิงประชาธิปไตยแท้จริงที่ “อำนาจสูงสุดเป็นของราษฎรทั้งหลาย” ทำให้การเคลื่อนไหวได้ยกระดับคุณภาพขึ้น จนมี “ลักษณะปฏิวัติประชาธิปไตย”

แต่การต่อสู้เพื่อให้ได้ประชาธิปไตยนั้นมีหนทางยาวไกล ยืดเยื้อยาวนาน และยากลำบาก ต้องผ่านการต่อสู้หลายขั้นตอน แต่ละขั้นมีลักษณะ วิธีการ เป้าหมายเฉพาะหน้าและคำขวัญที่ต่างกัน โดยขึ้นอยู่กับดุลกำลังเปรียบเทียบระหว่างฝ่ายเผด็จการกับฝ่ายประชาธิปไตย ในปริบทนี้ “แนวทางสันติ” ของ นปช. แดงทั้งแผ่นดิน เป็นมิติหนึ่งของการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย และถูกกำหนดจากเงื่อนไขเฉพาะคือ ฝ่ายเผด็จการเข้มแข็งอย่างยิ่ง เพียบพร้อมไปด้วยสรรพกำลังทางกฎหมาย อาวุธ และอุดมการณ์ ควบคุมพื้นที่ทางการเมืองและภูมิศาสตร์ไว้ทั้งหมด โดยยอมเปิดพื้นที่ทางการเมืองผ่านรัฐธรรมนูญ 2550 แต่ในทางตรงข้าม ฝ่ายประชาธิปไตยยังอ่อนเล็กและถูกปิดล้อมทางการเมือง ในสภาพการณ์เช่นนี้ หนทางการพัฒนาและเคลื่อนไหวของฝ่ายประชาธิปไตยคือ ใช้ช่องทางกฎหมายและรัฐธรรมนูญ 2550 ที่เปิดอยู่ให้เป็นประโยชน์ เดิน “แนวทางสันติ” เคลื่อนไหวตามสภาพและโอกาส เพื่อสะสมกำลังและขยายตัว การเดินหนทางอื่นที่มิใช่สันติในสภาพการณ์เช่นนี้ มีแต่จะสร้างความเสียหายให้กับฝ่ายประชาธิปไตย

ข้อเรียกร้องเฉพาะหน้าให้ยุบสภาจึงมีความเหมาะสมกับดุลกำลังเปรียบเทียบ ในขณะนั้นที่เผด็จการยึดกุมกลไกรัฐ รัฐบาลและรัฐสภาไว้ได้อย่างเด็ดขาด เป็นข้อเรียกร้องขั้นต่ำสุดที่มิใช่ “แตกหักเผชิญหน้า” ไม่ใช่การขับไล่รัฐบาลหรือให้นายกรัฐมนตรีลาออก เพียงแต่ให้มีการเลือกตั้งภายในกรอบรัฐธรรมนูญ 2550 จึงเป็นข้อเรียกร้องที่สมเหตุผลและมีความชอบธรรม สามารถโน้มน้าวประชาชนจำนวนมากที่แม้จะลังเลแต่ยังมีจิตใจรักความเป็นธรรม ให้หันมาสนับสนุนฝ่ายประชาธิปไตยได้

ผู้วิจารณ์บางคนกล่าวหาว่า แนวทางสันติและให้ยุบสภาเป็น “แนวทางปฏิรูป” คำถามคือ แล้วสิ่งที่พวกเขาอ้างว่าเป็น “แนวทางปฏิวัติ” คืออะไร? คำตอบหนึ่งที่ได้คือ “การเปลี่ยนจากระบอบเผด็จการอำมาตยาธิปไตยมาเป็นระบอบประชาธิปไตย” แต่ปัญหาคือ นิยาม “แนวทางปฏิวัติ” ที่ว่านี้ต่างจากเป้าหมายของ นปช. อย่างไร? นปช.แดงทั้งแผ่นดินมิได้กำลังต่อสู้เพื่อโค่นล้มระบอบอำมาตยาธิปไตยอยู่หรอก หรือ? ถ้าผู้วิจารณ์เหล่านี้ปฏิเสธการเรียกร้องให้ยุบสภา เลือกตั้งใหม่ เพื่อแก้รัฐธรรมนูญหรือนำรัฐธรรมนูญ 2540 มาปรับปรุงใช้ใหม่ โดยกล่าวหาว่า เป็น “แนวทางปฏิรูป” แล้วพวกเขาจะให้ประชาชนต่อสู้อย่างไร?

บางคนอ้างถึง “แก้วสามประการ” ว่าเป็น “แนวทางปฏิวัติ” ทฤษฎี “แก้วสามประการ” เป็นบทเรียนที่สรุปมาจากประสบการณ์ในการปฏิวัติของจีน ประกอบด้วยพรรคปฏิวัติ กองกำลังติดอาวุธ และแนวร่วมทางการเมือง ทฤษฎีดังกล่าวเกิดขึ้นในปริบทเฉพาะของประเทศจีนยุค ค.ศ.1930-1949 ที่ตกอยู่ในสงครามกลางเมืองและการรุกรานจากต่างชาติ ผู้ปกครองดำเนินระบอบเผด็จการเต็มรูป ไม่มีช่องว่างทางรัฐธรรมนูญและกฎหมายให้ฝ่ายต่อต้านได้เคลื่อนไหว ทั้งดำเนินนโยบายเข่นฆ่าจับกุมคุมขังประชาชนอย่างต่อเนื่องยาวนาน ผู้ที่อ้าง “แก้วสามประการ” ไม่มีความเข้าใจถึงรากฐานที่มาและปริบทดังกล่าว ไม่เข้าใจว่า สภาพการณ์ของประเทศไทยและลักษณะเฉพาะของขบวนการประชาธิปไตยของไทยในปัจจุบัน นั้นแตกต่างอย่างสิ้นเชิง

แท้ที่จริง ผู้ที่เสนอทฤษฎี “แก้วสามประการ” กำลังใช้ทฤษฎีดังกล่าวเป็นเครื่องอำพรางความโน้มเอียงในทาง “การทหาร” ของตน ด้วยการประเมินอย่างผิดๆ ว่า การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของไทยในขั้นปัจจุบัน “สุกงอม” แล้ว มองไม่เห็นความเป็นจริงเฉพาะหน้าที่ดุลกำลังทั้งทางการเมืองและการทหารของ ฝ่ายเผด็จการนั้นเหนือกว่าฝ่ายประชาธิปไตยอย่างที่ไม่มีทางเทียบกันได้ ความโน้มเอียงในทางทหารดังกล่าวอาจนำไปสู่การเคลื่อนไหวอย่าง “สุ่มเสี่ยง” เพ้อฝันที่จะใช้ยุทธวิธี “เผชิญหน้าแตกหัก” ในขั้นตอนปัจจุบันไปบรรลุเป้าหมายอย่างรวดเร็ว ซึ่งมีแต่จะก่อความเสียหายให้แก่ฝ่ายประชาธิปไตยเอง


3. ประเมินความโหดร้ายของฝ่ายเผด็จการต่ำเกินไป

แกนนำ นปช. แดงทั้งแผ่นดิน มีจุดอ่อนสำคัญคือ ประเมินความโหดร้ายของฝ่ายเผด็จการต่ำเกินไป แม้จะมีสัญญาณเตือนอย่างชัดเจนตั้งแต่ต้นปี 2553 แล้วว่า ฝ่ายเผด็จการได้ตระเตรียมแผนการและกำลังเพื่อการปราบปรามประชาชน

แกนนำบางส่วนเชื่ออย่างไร้เดียงสาว่า ฝ่ายเผด็จการจะไม่ใช้กำลังปราบปรามประชาชนอย่างแน่นอนเนื่องจากได้เรียนรู้ บทเรียนอดีตหลายครั้งแล้วว่า การใช้กำลังรุนแรงมีแต่จะทำให้ประชาชนยิ่งโกรธแค้น การต่อสู้ยิ่งลุกลามขยายออกไป ฉะนั้น หากฝ่ายประชาธิปไตยเคลื่อนไหวกดดันอย่างเหนียวแน่น ฝ่ายเผด็จการก็จะไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากต้องหันมาประนีประนอมอ่อนข้อ (เช่น ด้วยการยุบสภา)

แกนนำอีกส่วนยอมรับว่า มีความเป็นไปได้ที่ฝ่ายเผด็จการจะใช้กำลังปราบปรามประชาชน แต่พวกเขายังคงยึดติดอยู่กับประสบการณ์จากกรณีนองเลือดพฤษภาคม 2535 โดยเชื่ออย่างลมๆ แล้งๆ ว่า หากฝ่ายเผด็จการลงมือปราบปรามประชาชน ความพยายามดังกล่าวจะล้มเหลว และในเมื่อไม่สามารถเอาชนะฝ่ายประชาชนในทางทหารได้อย่างเด็ดขาด เหตุการณ์ก็จะต้องคลี่คลายไปในรูปของ “พฤษภาคม 2535” ด้วยการประนีประนอมและถอยให้กับฝ่ายประชาธิปไตย (เช่น นายกรัฐมนตรีลาออก แล้วยุบสภาเลือกตั้งใหม่) แกนนำส่วนนี้ไม่เข้าใจว่า สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างประชาธิปไตยกับเผด็จการในวันนี้แตกต่างอย่าง สิ้นเชิงกับเมื่อพฤษภาคม 2535 เพราะในวันนี้เป็นการต่อสู้ครั้งประวัติศาสตร์ที่ชี้ขาดความอยู่รอดของฝ่าย เผด็จการอำมาตยาธิปไตยภายใต้กระแสโลกาภิวัฒน์และกระแสประชาธิปไตยทั้งใน ประเทศและทั่วโลก เป็นการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยครั้งที่ยิ่งใหญ่และมีลักษณะถึงที่สุดนับแต่ ปี 2475 เป็นต้นมา จึงเป็นความขัดแย้งที่แหลมคมและไม่อาจประนีประนอมกันได้

ความล้มเหลวของฝ่ายเผด็จการในการใช้กำลังปราบปรามประชาชนเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2553 กลับยิ่งไปตอกย้ำการประเมินที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงดังกล่าวทั้งใน หมู่แกนนำและในหมู่มวลชนมากยิ่งขึ้น

กรณี 10 เมษายน 2553 ก่อให้เกิดความโกรธแค้นและมุ่งมั่นในหมู่มวลชนที่จะยืนหยัดต่อสู้ให้ถึงที่ สุด และมีผลทางลบที่สำคัญคือ ทั้งแกนนำและมวลชนจำนวนมากประเมินภัยอันตรายจากฝ่ายเผด็จการต่ำลงไปอย่างมาก เกิดความเชื่อโดยทั่วไปว่า ฝ่ายเผด็จการได้ประสบความพ่ายแพ้ทางทหารและสูญเสียขวัญกำลังใจอย่างมาก จนไม่มีทางที่จะใช้กำลังเข้าปราบปรามประชาชนได้อีก พวกเขาประเมินดุลกำลังทางการเมืองและการทหารของฝ่ายประชาธิปไตยอย่างไม่เป็น จริง เกิดกระแส “ความโน้มเอียงทางการทหาร” ขึ้นสูงทั้งในหมู่แกนนำและมวลชนบางส่วน และเมื่อฝ่ายรัฐบาลรุกกลับทางการเมืองด้วยการเสนอ “แผนปรองดองห้าข้อ” แกนนำ นปช. แดงทั้งแผ่นดิน ก็ต้องเผชิญกับคู่ความขัดแย้งใหญ่ทางยุทธศาสตร์ที่พวกเขาไม่สามารถแก้ให้ตก ได้คือ ความขัดแย้งระหว่างการยึดแนวทางสันติและให้ยุบสภาในด้านหนึ่ง กับความต้องการของแกนนำบางส่วนและมวลชนที่มุ่งเผชิญหน้ากับเผด็จการโดยตรง และทันทีในอีกด้านหนึ่ง

4. การสังหารหมู่ 19 พฤษภาคม 2553

การเสนอ “แผนปรองดอง” และให้เลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายน 2553 โดยรัฐบาลเป็นการรุกกลับทางการเมืองที่ทำให้แกนนำ นปช.ต้องเผชิญความขัดแย้งระหว่างการต่อสู้ทางการเมืองกับฝ่ายเผด็จการด้าน หนึ่ง กับการเมืองของมวลชนในอีกด้านหนึ่ง

รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์เป็นเพียงเครื่องมือของเผด็จการอำมาตยาธิปไตย ไม่มีอำนาจและความเป็นเอกเทศที่จะตัดสินใจยุบสภาได้ด้วยตนเอง ความจริงคือ ฝ่ายเผด็จการไม่ต้องการให้มีการเลือกตั้งในระยะเวลาอันใกล้ เพื่อหลีกเลี่ยงที่จะซ้ำรอยความผิดพลาดในอดีตของพวกเขาที่ยอมให้มีการเลือก ตั้งเมื่อ 23 ธันวาคม 2550

ทั้งแกนนำและมวลชนต่างรู้ว่า “แผนปรองดอง” ดังกล่าวเป็นเพียงมาตรการหลอกลวง และจะต้องถูกฝ่ายเผด็จการบิดพลิ้วไม่ช้าก็เร็ว แต่ถ้าแกนนำนปช.ปฏิเสธข้อเสนอของรัฐบาลในทันที ฝ่ายเผด็จการก็จะฉวยใช้เป็นข้ออ้างทางการเมืองเพื่อใช้กำลังปราบปรามประชาชน ฉะนั้น หนทางที่สอดคล้องในขณะนั้นคือ การรับข้อเสนอของรัฐบาล ยุติการชุมนุม เพื่อรักษากำลัง ฐานมวลชนและเครือข่ายสื่อสารของตนไว้ให้พร้อม เพื่อรณรงค์เปิดโปงและเรียกร้องความเป็นธรรมจากกรณี 10 เมษายน 2553 ต่อไป รอเวลากลับมาเคลื่อนไหวใหญ่อีกครั้งเมื่อฝ่ายเผด็จการบิดพริ้วไม่ยุบสภาให้ มีการเลือกตั้งตามกำหนดในวันข้างหน้า

แต่แกนนำก็ไม่สามารถกระทำเช่นนั้นได้ เพราะหากตอบรับข้อเสนอของรัฐบาลโดยทันที พวกเขาก็จะเผชิญความขัดแย้งกับมวลชนที่ไม่ต้องการ “ปรองดอง” กับเผด็จการ

แกนนำพื้นที่และมวลชนที่ออกมาเคลื่อนไหวในครั้งนี้ได้สั่งสมความโกรธแค้น มาหลายปีอันเกิดจากการข่มเหงและความอยุติธรรม นับแต่รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 การยุบพรรคไทยรักไทย การปฏิเสธผลการเลือกตั้ง 23 ธันวาคม 2550 ด้วยการอุ้มชูอันธพาลการเมืองเสื้อเหลืองให้ยึดทำเนียบรัฐบาลและสนามบิน ยุบพรรคพลังประชาชน ล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง จัดตั้งรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ และการปราบปรามประชาชนเมื่อ 12-14 เมษายน 2552 มวลชนเหล่านี้จึงออกมาร่วมเคลื่อนไหวด้วยจิตใจที่พร้อมจะเผชิญกับความยาก ลำบากและอันตราย

กรณีนองเลือด 10 เมษายน 2553 ที่มีผู้คนบาดเจ็บล้มตายรวมเกือบหนึ่งพันคนยิ่งสร้างความโกรธให้กับประชาชน มากยิ่งขึ้น พวกเขามิได้เพียงต้องการยุบสภาอีกต่อไป แต่ต้องการท้าทายระบอบเผด็จการอำมาตยาธิปไตยโดยตรง แกนนำพื้นที่และมวลชนจึงปฏิเสธข้อเสนอของรัฐบาล และปฏิเสธแกนนำนปช.ในประเด็นดังกล่าว ผลที่อาจเกิดขึ้นคือ แกนนำบางส่วนและมวลชนจะยังคงชุมนุมยืดเยื้อต่อไปโดยลำพัง นำมาซึ่งการเข่นฆ่าประชาชนครั้งใหญ่อยู่ดี

ในขณะเดียวกัน แรงกดดันจากมวลชนยังส่งผลให้ความแตกต่างทางความคิดที่มีอยู่เดิมภายในหมู่ แกนนำนปช. ขยายตัวเป็นความแตกแยกทางความคิดและยุทธวิธี แกนนำส่วนหนึ่งมี “ความโน้มเอียงทางการทหาร” ประเมินดุลกำลังของตนอย่างเพ้อฝันเกินจริง และประเมินฝ่ายเผด็จการต่ำเกินไป โดยเชื่อว่า จะยังคงไม่มีการใช้กำลังเข้าปราบปรามประชาชน หรือหากมีการใช้กำลัง ก็จะล้มเหลวดังเช่นกรณี 10 เมษายน และการยืนหยัดชุมนุมต่อไปจะทำให้รัฐบาลไม่มีทางอื่นใดอีกนอกจากต้องยอมยุบ สภาโดยทันทีหรือลาออก

ในที่สุด ได้มีการเพิ่มข้อเรียกร้องของการชุมนุมจาก “ยุบสภา” เป็น “เอาผิดผู้รับผิดชอบกรณี 10 เมษายน” แต่การยกระดับข้อเรียกร้องดังกล่าวได้กลายเป็นสัญญาณว่า การต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตยในครั้งนี้มิอาจมีผลเป็นอย่างอื่นไปได้นอกจาก การเข่นฆ่าประชาชนครั้งใหญ่เนื่องจากฝ่ายเผด็จการนั้นได้เตรียมแผนการมายาว นานและมีกำลังมาพร้อมสรรพ ในขณะที่ฝ่ายมวลชนประชาธิปไตยก็เต็มไปด้วยความโกรธที่สั่งสมมายาวนาน และพร้อมจะเผชิญหน้ากับฝ่ายอำมาตยาธิปไตย

ผู้วิจารณ์บางคนมีข้อแย้งว่า แกนนำนปช.ยังอาจยุติการชุมนุมได้ทันท่วงทีหากไม่มีการแตกแยกกัน และสามัคคีกันลงไปชี้แจงทำความเข้าใจกับแกนนำพื้นที่และมวลชน ข้อแย้งดังกล่าวอยู่บนสมมติฐานที่ว่า แกนนำยังคงสามารถกุมสภาพมวลชนได้ทั้งหมดตราบจนช่วงสุดท้ายของการชุมนุม แต่ความจริงคือ แกนนำนปช.ได้ค่อย ๆ สูญเสียการกุมสภาพมวลชนไปตั้งแต่เหตุการณ์ 10 เมษายน จนกระทั่งแทบจะกุมสภาพไม่ได้เลยในช่วงสุดท้าย กลายเป็นการเคลื่อนไหวอย่างเป็นเอกเทศของแกนนำพื้นที่และแกนนำจากภายนอก รวมทั้งการเคลื่อนไหวที่เป็นไปเองของมวลชน

นัยหนึ่ง การชุมนุมของประชาชนในนาม “คนเสื้อแดง” ที่เรียกร้องการยุบสภาในช่วงเดือนมีนาคมนั้น หลังจากการปราบปรามในวันที่ 10 เมษายน ก็ได้พัฒนาไปเป็นการชุมนุมเพื่อท้าทายเผด็จการอำมาตยาธิปไตย และท้ายสุดเมื่อฝ่ายเผด็จการทำการปิดล้อมทางทหารเพื่อเตรียมการล้อมปราบ ครั้งที่สองในต้นเดือนพฤษภาคม การชุมนุมก็ขยายตัวกลายเป็นการลุกขึ้นสู้ของมวลชนครั้งใหญ่ โดยที่แกนนำนปช. แดงทั้งแผ่นดินไม่สามารถควบคุมได้ในที่สุด

แกนนำนปช. จำนวนหนึ่งไม่เห็นด้วยกับการยกระดับการชุมนุม และได้ตัดสินใจ “ยุติบทบาท” ไปก่อน แกนนำส่วนนี้แม้จะมองเห็นอย่างถูกต้องถึงอันตรายข้างหน้า แต่การที่พวกเขาตัดสินใจ “หยุด” ในขณะที่การเคลื่อนไหวของมวลชนยังคงดำเนินต่อไปนั้น มิได้เป็นผลดีต่อการเคลื่อนไหวของมวลชนแต่อย่างใด ทั้งไม่ได้ช่วยให้สามารถหลีกเลี่ยงการเข่นฆ่าประชาชนอย่างขนานใหญ่อยู่ดี ความรับผิดชอบของพวกเขาในฐานะผู้นำการเคลื่อนไหวจะต้องได้รับการประเมิน อย่างเข้มงวดโดยมวลชนประชาธิปไตยต่อไป

แกนนำนปช. อีกส่วนหนึ่งมีความเห็นว่า ควรรับข้อเสนอของรัฐบาลและไม่เห็นด้วยกับการชุมนุมยืดเยื้อออกไป แต่ด้วยความรับผิดชอบของการเป็นแกนนำ จึงยังคงยืนหยัดอยู่กับมวลชนไปจนถึงที่สุดแม้จะรู้ว่า บั้นปลายเป็นอย่างไร พวกเขาเหล่านี้สมควรได้รับการสดุดีอย่างสูง


5. การต่อสู้ที่มาก่อนกาลเวลา

อาจกล่าวได้ว่า แกนนำพื้นที่และมวลชนคนเสื้อแดงที่เรียกร้องเกินกว่าการยุบสภาในสถานการณ์ ขณะนั้น กระทำผิดพลาดทางยุทธศาสตร์อย่างสำคัญ ในสภาพการณ์ที่ขบวนการประชาธิปไตยเพิ่งจะก่อตัว แม้จะมีจำนวนนับล้านคนทั่วประเทศแล้ว แต่ก็ยังอ่อนแอในการจัดตั้งและระเบียบวินัย ขาดประสบการณ์ในการเคลื่อนไหวรูปธรรม ขาดแกนนำที่เข้มแข็งและเป็นเอกภาพ จึงย่อมไม่มีทางที่จะเข้าเผชิญหน้าโดยตรงกับเผด็จการอำมาตยาธิปไตยในทันที

การคลี่คลายของมวลชนจากการชุมนุมไปเป็นการลุกขึ้นสู้ในครั้งนี้ มีลักษณะเป็นไปเองและหลีกเลี่ยงได้ยาก ในประวัติศาสตร์ มีกรณีที่ประชาชนลุกขึ้นสู้ต่อต้านการกดขี่ข่มเหงอยู่ทุกหนแห่งทั่วโลก ส่วนใหญ่ต้องประสบความพ่ายแพ้เนื่องจากเป็นการเข้าต่อสู้ก่อนเวลาอันควรใน ยามที่ประชาชนยังอ่อนเล็ก ขาดการนำและการจัดตั้ง อย่างไรก็ตาม แม้เราอาจวิจารณ์ว่า การต่อสู้เหล่านี้มีความผิดพลาดทางยุทธศาสตร์ แต่เราก็ต้องมีความเข้าใจในสัญชาตญาณและจิตใจของมวลชนว่า การลุกขึ้นสู้ที่พ่ายแพ้เหล่านี้ จำนวนมากเป็นสิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้เนื่องจากประชาชนได้ถูกกดขี่ข่ม เหงอย่างสาหัสมาเป็นเวลานาน จนถึงกาลที่พวกเขาไม่อาจทนต่อไปได้ และระเบิดขึ้นเป็นความโกรธ แม้พวกเขาจะรู้ว่า ในท้ายสุดจะยุติลงเป็นความสูญเสียและพ่ายแพ้ก็ตาม

ท่าทีที่ถูกต้องของนักประชาธิปไตยต่อการต่อสู้ที่พ่ายแพ้เหล่านี้ รวมทั้งต่อการเคลื่อนไหวพฤษภาคม 2553 คือ ต้องเข้าใจและสดุดีความกล้าหาญของพวกเขา คารวะจิตใจต่อสู้ที่กล้าเสียสละไม่กลัวตาย สนับสนุนและร่วมกับพวกเขาให้เรียนรู้จากความผิดพลาดและพ่ายแพ้เหล่านี้ นำมากลับมาถ่ายทอด เพื่อยกระดับการต่อสู้ในครั้งต่อไป

การโจมตีแกนนำนปช.อย่างสาดเสียเทเสียว่า เป็นสาเหตุหลักของการเสียหายจำนวนมากของมวลชน ไม่ใช่ท่าทีของนักประชาธิปไตย แม้ว่าแกนนำที่มีความโน้มเอียงทางการทหารจะกระทำผิดพลาดและมีส่วนสำคัญต่อ ผลลัพธ์ แต่พวกเขาก็ยังคงเป็นผู้ต่อสู้เพื่อเสรีภาพประชาธิปไตยที่ยืนหยัดอยู่กับมวล ชน

การโยนความรับผิดชอบทั้งหมดไปให้แกนนำนปช.ยังเป็นการปฏิเสธความจริงสำคัญ อีกประการหนึ่งคือ ประชาชนหลายแสนคนที่ออกมาเคลื่อนไหวทั่วประเทศและชุมนุมใหญ่ในกรุงเทพนั้น มาโดยสมัครใจ ด้วยความรับรู้ทางการเมืองในระดับสูงและการตัดสินใจที่ชัดเจนว่า พร้อมจะเผชิญหน้ากับความยากลำบาก อันตราย และการเสียสละ เพื่อให้สังคมไทยและชนชั้นปกครองไทยได้รู้สักครั้งว่า พวกเขาโกรธแค้นและจะไม่ยอมทนต่อการกดขี่และความอยุติธรรมอีกต่อไป ประชาชนเหล่านี้ไม่ใช่มวลชนว่านอนสอนง่ายที่แกนนำจะนำพาไปทางไหนก็ได้ พวกเขามีความมุ่งมั่นและความรับรู้สูงพอที่จะตัดสินใจสนับสนุนหรือปฏิเสธทิศ ทางการตัดสินใจของแกนนำของพวกเขาด้วยตัวเอง

6. ฝ่ายเผด็จการชนะทางทหาร แต่แพ้ทางการเมือ

การเคลื่อนไหวพฤษภาคม 2553 เป็นการเคลื่อนไหวที่มีการจัดตั้งในระดับหนึ่ง แต่ก็ยังมีลักษณะเป็นไปเองอยู่สูง ขบวนการประชาธิปไตยจะต้องเรียนรู้จากจุดอ่อนและความผิดพลาดของตนเอง เพื่อยกระดับการเคลื่อนไหวในอนาคตฃ

จุดอ่อนสำคัญคือ แกนนำนปช. แดงทั้งแผ่นดินยังขาดเอกภาพในแนวทางยุทธศาสตร์ยุทธวิธี เนื่องจากพื้นภูมิหลังที่แตกต่าง มีประสบการณ์ร่วมและเวลาไม่มากพอที่จะหล่อหลอมขึ้นเป็นแกนนำที่เข้มแข็งเป็น เอกภาพ จึงไม่อาจประสานสามัคคีกันเพื่อแก้ปัญหาทางยุทธศาสตร์ยุทธวิธีได้ในยามวิกฤต อีกทั้งไม่สามารถประสานเป็นหนึ่งเดียวกับแกนนำพื้นที่ ไม่อาจสื่อสารและเรียนรู้จากกันและกัน เป็นผลให้แกนนำนปช.ไม่สามารถกุมสภาพมวลชนได้ กระทั่งสูญเสียการกุมสภาพของการเคลื่อนไหวไปในขั้นตอนวิกฤต

การทำงานทางความคิดของแกนนำในหมู่มวลชนยังไม่เพียงพอ แม้แต่การทำความเข้าใจกับมวลชนในประเด็นยุทธศาสตร์ยุทธวิธีรูปธรรมก็ยัง สับสน ก่อให้เกิดการคาดหวังที่ไม่เป็นจริง เช่น การประเมินกำลังของตนสูงเกินจริงอย่างต่อเนื่อง การกระพือความหวังลม ๆ แล้ง ๆ เรื่องสหประชาชาติ เรื่องกองกำลังในประเทศหรือจากต่างประเทศ เรื่องศาลอาญาระหว่างประเทศ เรื่องการแทรกแซงของมหาอำนาจ ซึ่งล้วนเป็นความเพ้อเจ้อที่สะท้อนถึงความอ่อนแอของฝ่ายประชาธิปไตยอย่างแท้ จริง ละเลยที่จะเน้นย้ำบทเรียนจากการต่อสู้ของประชาชนทั่วโลก คือต้องพึ่งตนเองเท่านั้น

มวลชนที่เข้าร่วมการเคลื่อนไหวพฤษภาคม 2553 แม้จะพัฒนายกระดับความรับรู้ทางการเมือง มีการจัดตั้งรวมตัวในระดับหนึ่ง ก็ยังอ่อนแอ กระจัดกระจาย และขาดวินัยที่จำเป็น แต่พวกเขาก็จะเรียนรู้จากความพ่ายแพ้ครั้งนี้ เช่นเดียวกับที่ได้เรียนรู้บทเรียนจากการต่อสู้ตลอดหลายปีมานี้ ประสบการณ์นองเลือดครั้งนี้จะนำไปสู่การยกระดับครั้งใหญ่ในทางจิตสำนึก ความเรียกร้องต้องการ การรวมตัวจัดตั้งและวินัยของขบวนการประชาธิปไตย

ในครั้งนี้ ฝ่ายเผด็จการอำมาตยาธิปไตยได้ชัยชนะในทางทหารเท่านั้น แต่กำลังพ่ายแพ้ทางการเมืองอย่างสำคัญ การบดขยี้ขบวนการประชาธิปไตยด้วยการสังหารหมู่ประชาชนครั้งใหญ่และคุกคามจับ กุมคุมขังไปทั่วประเทศคราวนี้ แลกมาด้วยการฉีกหน้ากากนักบุญผู้ทรงคุณธรรมและความเมตตาของฝ่ายเผด็จการจน หมดสิ้น ในวันนี้ พวกเขาไม่สามารถปกครองด้วยศรัทธาและการครอบงำทางจิตใจเป็นด้านหลักได้อีกต่อ ไป และจำต้องหันมาใช้การกดขี่ ปราบปรามและกำลังรุนแรงเพื่อรักษาอำนาจไว้

ระบอบการเมืองใดก็ตามที่สูญเสียการครอบงำทางจิตใจและอุดมการณ์ แล้วหันมาใช้กำลังรุนแรงอย่างเปิดเผยเพื่อปกครองประชาชน ระบอบนั้นก็ไม่อาจอยู่ได้นาน


.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ผู้ให้ข้อมูลร่วมกัน