รอง อธิบดีศาลอาญา แถลงยัน “ไอ้ตู่” เข้าร่วมชุมนุม นปช.เป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน ไม่ผิด หากไม่พูดเรื่องคดีความที่เป็นอุปสรรค เชื่อ ดีเอสไอจะไม่ยืนคำร้องเข้ามา ด้าน “ธาริต” เผย ผลการถอดเทปและพฤติการณ์ยังไม่เข้าข่ายที่จะยื่นถอนประกัน พร้อมสั่งติดตามความเคลื่อนไหวต่อไป
วันนี้(10 ม.ค.)เวลา 14.00 น.ที่ห้องประชุมชั้น 10 ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก นายมานิตย์ สุขอนันต์ รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา กล่าวชี้แจงและยืนยันว่า นายจตุพร พรหมพันธุ์ ส.ส.สัดส่วนพรรคเพื่อไทย และแกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) จำเลยที่ 2 คดีร่วมกับพวกแกนนำและแนวร่วม นปช.รวม 19 คน ร่วมกันกระทำผิดข้อหาก่อการร้าย ให้สัมภาษณ์อ้างมีรองอธิบดีผู้พิพากษาระบุว่าสามารถเข้าร่วมชุมนุมกับกลุ่ม เสื้อแดงเมื่อวันที่ 9 มกราคม ที่ผ่านมาได้นั้นเป็นข้อเท็จจริงที่ตนได้ชี้แจงกับทนายความนายจตุพร เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2553 หลังจากที่ตนได้มีคำสั่งยกคำร้องที่นายจตุพร ยื่นคำร้องขอให้ศาลอธิบายความ เกี่ยวกับข้อกำหนดเงื่อนไขประกันตัวในคดีก่อการร้าย เนื่องจากได้พิจารณาสำนวน คำร้อง และคำสั่งศาลแล้วเห็นว่า คำสั่งศาลมีความชัดเจนอยู่แล้ว โดยแบ่งเป็น 2 ข้อใหญ่ คือ “ห้ามจำเลยที่ 2 เข้าไปเกี่ยวข้องกับการชุมนุม หรือกิจกรรมที่มีผู้เข้าร่วมเกินกว่า 5 คน ซึ่งอาจเป็นอุปสรรคหรือก่อให้เกิดความเสียหายต่อการสอบสวนของเจ้าพนักงาน หรือการดำเนินคดีในศาล” และ “หรือทำการเผยแพร่ข่าวสารต่อบุคคล กลุ่มบุคคล หรือต่อสาธารณะในเรื่องที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายในทำนองเดียวกัน เว้นแต่เป็นการพูดหรืออภิปรายในรัฐสภาในฐานะเป็น ส.ส.”ซึ่งเมื่อตนอ่านแล้วได้อธิบายในฐานะนักกฎหมายกับทนายความนายจตุพร ที่รอฟังคำสั่งอยู่ว่า นายจตุพร สามารถเข้าร่วมชุมนุมได้ เพราะเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่รัฐธรรมนูญให้การรับรองไว้ แต่ห้ามให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับคดีก่อการร้ายที่นายจตุพร เป็นจำเลยที่ 2 อยู่ ส่วนเมื่อนายจตุพร ไปร่วมชุมนุมแล้วจะมีการให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับคดีหรือไม่เป็นเรื่องที่ผู้ เกี่ยวข้องจะไปพิจารณาเสนอศาล แต่ถึงแม้จะไม่มีใครยื่น ศาลก็จะพิจารณาเองได้
“ผม เข้าใจว่านายจตุพร ต้องการอธิบายให้เข้าใจว่าการร่วมชุมนุมไม่ผิดเงื่อนไขประกันตัว เพราะเป็นเป้าสายตาอยู่ ซึ่งการที่นายจตุพร นำตนไปกล่าวอ้างไม่ได้ทำให้ตนเสียหาย แต่มีผู้โทรศัพท์มาสอบถามจำนวนมาก และสื่อบางฉบับพาดหัวข่าวสั้นอาจทำให้สับสน” รองอธิบดีผู้พิพากษากล่าว
นายมานิตย์ กล่าวถึงเรื่องการประกันตัวว่า การพิจารณาของศาลเป็นไปโดยอิสระ ไม่มีหน่วยงานไหนเข้ามาแทรกแซงก้าวก่ายได้ ศาลทำงานด้วยความซื่อตรง สั่งคดีตามหลักเกณฑ์และกฎหมาย ที่มีการแถลงข่าวรัฐบาลประสานกับกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม ทำหนังสือรับรองยื่นศาลขอประกันตัวจำเลยคดีก่อการร้ายนั้น ไม่เกี่ยวข้องกับการใช้ดุลยพินิจของศาล ทุกอย่างเป็นไปตามกลไกกฎหมาย การที่ศาลจะพิจารณาอนุญาตให้ประกันหรือไม่ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับรัฐบาลหรือกระทรวงใด ไม่อย่างนั้นอาจทำให้ระบบศาลเสียหาย คดีนี้เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวจำเลย ต่อมาจำเลยยื่นอุทธรณ์แล้วศาลอุทธรณ์มีคำสั่งยืนให้ยกคำร้อง แล้วจำเลยมายื่นขอปล่อยตัวชั่วคราวกับศาลชั้นต้นใหม่ แต่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้องเนื่องจากยังไม่มีเหตุเปลี่ยนคำสั่งเดิม กรณีนี้เว้นแต่มีข้อเท็จจริงใหม่ เช่นคดีมีการสืบพยานไปส่วนหนึ่งแล้ว ก็เป็นเหตุที่ศาลอาจนำมาพิจารณาให้ประกันหรือไม่ให้ก็ได้ แต่ไม่ใช่จะให้ประกันตัวเพราะรัฐบาล
เขียนโดย Go6 TV
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น