แดงเชียงใหม่

กราบสวัสดี พี่น้องทุกๆท่านที่เข้ามาเยี่ยมเยือน Blog นปช.แดงเชียงใหม่ ขอเรียนชี้แจงสักนิดว่า เรา ”แดงเจียงใหม่” เป็นกลุ่มคนชาวเจียงใหม่ที่เคารพรัก กติกาประชาธิปไตย ต่อสู้และต่อต้านเผด็จการทุกรูปแบบ อยากเห็นประเทศชาติภายภาคหน้า มีความเจริญ ประชาชน รุ่นลูกหลานของเราอยู่อาศัยอย่างร่มเย็นเป็นสุขในประเทศของพวกเราเอง ไม่มีกลุ่มอภิสิทธิ์ชนกลุ่มใดมาสูบเลือดเนื้อ แอบอ้างบุญคุณเฉกเช่นในยุคนี้ที่พวกเราเห็น การที่จะได้รับในสิ่งที่มุ่งหวังก็ต้องมีการต่อสู้แสดงกำลังให้สังคมได้รับรู้ และเพื่อที่จะให้กลุ่มบุคคลที่มีอำนาจในปัจจุบันได้เข้าใจในสังคมที่ก้าวหน้าเปลี่ยนแปลงไป ไม่อาจฝืนต่อกระแสการพัฒนาของโลก การต่อสู้ร่วมกับผองชนทั่วประเทศในครั้งนี้ เรา " แดงเจียงใหม่ " ได้ร่วมต่อสู้ทุกรูปแบบ และ ในรูปแบบที่ท่านได้เข้ามาร่วมอยู่นี้ คือการเผยแพร่ข่าวสารต่อสังคม

เรา " แดงเจียงใหม่ " ขอเชิญชวนร่วมกันสร้างขวัญ และกำลังใจให้เพื่อนพ้องน้องพี่ร่วมกัน


"อันประชาสามัคคีมีจัดตั้ง
เป็นพลังแกร่งกล้ามหาศาล
แสนอาวุธแสนศัตรูหมู่อันธพาล
ไม่อาจต้านมวลมหาประชาชน"

.

วันศุกร์ที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2556

ความคิดขัดแย้งในประชาธิปัตย์



สุชา จุลเพชร

     เบื้องหน้าสถานการณ์ร้อนก่อนเปิดสภาพิจารณา พ.ร.บ.นิรโทษกรรมของนายวรชัย  เหมะ ส.ส.พรรคเพื่อไทย ได้ขยายความขัดแย้งลุกลามไปถึงพรรคประชาธิปัตย์เมื่อนายอลงกรณ์ พลบุตร ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์จะเสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับของตนโดยอ้างว่ามีหลักการและเนื้อหาใกล้เคียงกับ ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับของประชาชนมากที่สุด ปรากฏว่าถูกพรรคประชาธิปัตย์ขัดขวางไม่ให้ดำเนินการดังกล่าว ความขัดแย้งได้เกิดขึ้นภายในพรรคประชาธิปัตย์แล้ว นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และกลุ่มแกนนำพรรคไม่เห็นด้วยกับความคิดเสนอร่าง พ.ร.บ.เข้าไปสมทบกับร่างฉบับต่างๆ ในสภา เพราะจะทำให้ประชาชนเข้าใจผิดคิดว่า พรรคประชาธิปัตย์ ร่วมมือผลักดันการออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรมด้วย ซึ่งขัดแย้งกับจุดยืนของพรรคอย่างรุนแรง

     ทั้งนี้พรรคประชาธิปัตย์ คัดค้านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ทั้งหมดที่อยู่ในสภา และเรียกร้องให้พรรคร่วมรัฐบาลถอนร่างทั้งหมดออกเสียก่อน หลังจากนั้นเริ่มนับหนึ่งใหม่ โดยฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านกำหนดหลักการของร่าง พ.ร.บ.ร่วมกัน ทางด้าน นายอลงกรณ์ ได้กล่าวถึงเหตุผลการเสนอร่าง พ.ร.บ.ของตนในทำนองว่า ถึงเวลาแล้วที่ พรรคประชาธิปัตย์ ควรคำนึงถึงการเมืองในทัศนะกว้างกว่า ติดอยู่กับความคิดเล็กคิดน้อยอย่างอดีต พรรคประชาธิปัตย์ เป็นพรรคใหญ่ควรมีส่วนร่วมในการคลี่คลายวิกฤติการเมือง

     กล่าวอย่างรวบรัดแล้วคำพูดของ นายอลงกรณ์ เตือนสติกลุ่มทรงอิทธิพลในพรรคประชาธิปัตย์ว่า เลิกฝังใจกับความพ่ายแพ้อันขมขื่นในอดีต หยุดนิสัยใจแคบสายตาสั้น มองไปในอนาคตข้างหน้าดีกว่า ความคิดต่างระหว่าง นายอลงกรณ์ กับกลุ่มนำในพรรคประชาธิปัตย์ จากเรื่องการเสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ดูเหมือนเป็นเรื่องเล็กๆ และปกติธรรมดาของพรรคการเมืองในระบอบประชาธิปไตย แต่มองให้ลึกลงไปแล้วจะเห็นถึงความขัดแย้งทางความคิดรุนแรงถึงรากฐานความ เชื่อของพรรคประชาธิปัตย์เลยทีเดียว

     หากนำความคิดเสนอปฏิรูปพรรคฯ ของ นายอลงกรณ์ ก่อนหน้านี้ร่วมพิจารณาด้วยจะพบว่า ความขัดแย้งทางความคิดระหว่าง 2 ฝ่าย ในประชาธิปัตย์ มิใช่เรื่องล้อเล่นเสียแล้ว ความคิดหลักซึ่งชี้นำ และครอบงำพรรคประชาธิปัตย์นับตั้งแต่พ่ายแพ้การเลือกตั้งต่อพรรคไทยรักไทยปี 2544 เป็นต้นมา พรรคประชาธิปัตย์ปลูกฝังความคิดชี้นำพรรคฯ และประชาชนว่า พรรคไทยรักไทย ชนะเพราะใช้เงินซื้อเสียง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ไม่ใช่นักการเมือง แต่เป็นแค่นักธุรกิจเข้ามาใช้อำนาจการเมืองเป็นเครื่องมือยึดครองประเทศ อย่างเบ็ดเสร็จ ทำลายพรรคการเมืองอื่นและทำลายระบอบราชการ เปลี่ยนประเทศไทยเป็น บริษัท ชินวัตร
  
     พรรคประชาธิปัตย์ได้เรียกขานปรากฏการณ์ทางการเมืองนั้นว่า ระบอบทักษิณ เป็นศัตรูต่อชาติ และประชาชนจะต้องโค่นล้มให้หมดสิ้นไป ยุทธการทำลายไล่ล่า พ.ต.ท.ทักษิณ จึงยืดเยื้อมาจนถึงปัจจุบัน พร้อมคำประณามไม่ขาดปากว่า ทักษิณ คือตัวการสร้างปัญหา และทำร้ายประเทศชาติ วิกฤติการณ์การเมืองทั้งหมดเกิดจาก ทักษิณ แต่เพียงผู้เดียว การปล่อยความเชื่อชุดนี้ซึมซับลงในสมองพลพรรคประชาธิปัตย์ และประชาชนบางส่วนติดต่อกันมาเกือบ 10 ปี จนกระทั่งคนในแวดวงของพรรคประชาธิปัตย์เชื่อตามๆ กันว่า ความคิดนั้นอธิบายปรากฏการณ์การเมืองไทยถูกต้องที่สุดแล้ว พ.ต.ท.ทักษิณ ต้องรับบาปทั้งหมด ต้องได้รับโทษสถานหนัก และควรยุติบทบาททางการเมืองอย่างสิ้นเชิง ไม่ว่าการเกี่ยวข้องกับการเมืองทั้งทางตรงและทางอ้อม ความคิดนี้ซึมซาบไปถึง คณะกรรมการอิสระค้นหาความจริงฯ ด้วย
  
     ท่ามกลางความเชื่ออย่างดื่มด่ำของชาวประชาธิปัตย์ เช่นนี้ คาดไม่ถึงว่า อลงกรณ์ พลบุตร ตื่นจากภวังค์คนแรก มองเห็นแตกต่างออกไป โดยเห็นว่าพรรคประชาธิปัตย์ พ่ายแพ้การเลือกตั้งมาถึง 21 ปี เพราะไม่ปรับตัว ไม่เปลี่ยนแปลงความคิด และโครงสร้างของพรรคฯ มัวยึดความคิดอนุรักษ์ล้าหลังจึงสู้พรรคคู่แข่งไม่ได้ วิธีการต่อสู้แบบเก่าๆ กล่าวหาพรรคฯ ชนะ ซื้อเสียงอยู่ร่ำไป ก็พบแต่ล้มเหลวไม่มีอนาคต นี่เท่ากับยอมรับว่า พรรคประชาธิปัตย์ คือ ตัวการสร้างปัญหาให้เกิดวิกฤติการเมือง อย่างน้อยก็มีส่วนร่วมอย่างสำคัญในการก่อวิกฤติ เพียงแต่ นายอลงกรณ์ ไม่พูดตรงไปตรงมาเกรงว่า จะตบหน้ากลุ่มนำพรรคฯ มากเกินไปว่า ปมเหตุของวิกฤติการณ์เมืองเกิดจากพรรคประชาธิปัตย์พ่ายแพ้การเลือกตั้ง แล้วไม่ยอมรับกติกา

     พยายามหาเหตุผลข้ออ้าง เข้าข้างตัวเอง กล่าวหา ฝ่ายชนะ ได้อำนาจโดยไม่ชอบธรรม เพราะใช้เงินซื้อเสียงจึงไม่ยอมรับ กล่าวหาว่า พรรคการเมืองอื่นอยากเป็นรัฐบาลเพราะตั้งใจเข้ามาทุจริต กล่าวโดยสรุปแล้วคือ กล่าวหาว่าประชาชนขายเสียง นักการเมืองทุจริต เมื่อพรรคประชาธิปัตย์ไม่ยอมรับกติกาประชาธิปไตย ไม่มีความอดทนรอคอยวาระตามกฎเกณฑ์ ซึ่งต้องมีการเลือกตั้งทุก 4 ปี เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนได้เปลี่ยนแปลงรัฐบาล ทว่า การรอคอยอย่างอดทนนั้นมิใช่นั่งรอนอน รออยู่เฉยๆ พรรคฯ ต้องทำงานหนัก ปรับตัวเองให้ก้าวหน้าทัดเทียมกับพรรคคู่แข่ง แต่ปรากฏว่าพรรคประชาธิปัตย์ ไม่สนใจปฏิรูปพรรค หากใช้วิธีการเก่าๆ หาทางโค่นล้มรัฐบาล โดยไม่คำนึงถึงมารยาทของพรรคการเมืองในระบอบประชาธิปไตย เช่น เสนอให้มีนายกรัฐมนตรีพระราชทานเป็นต้น
  
     ต่อมา เอาใจช่วยฝ่ายโค่นล้มรัฐบาลด้วยวิธีรัฐประหาร รู้เห็นเป็นใจกับการจัดทำรัฐธรรมนูญ 2550 ฉบับตัดตอน อำนาจอธิปไตย รวมถึงการแสดงท่าทีพร้อมรับการแผ่กุศลของรัฐประหาร ซึ่งอุทิศตำแหน่ง นายกรัฐมนตรี ไปยังพรรคประชาธิปัตย์ จนกระทั่ง นายอภิสิทธิ์ ได้รับผลดังกล่าวในปลายปี 2551 การกระทำของ พรรคประชาธิปัตย์ ทั้งหมดนี้ คือ การสร้างวิกฤติการเมืองในชาติ ดังนั้น ความเห็นของ นายอลงกรณ์ พลบุตร ก็เหมือนกับการชี้นิ้วกลับไปที่ พรรคประชาธิปัตย์ ต่างหากเป็นคนทำร้ายประเทศ มิใช่อดีต นายกฯ ทักษิณ ส่วนการตำริของ นายอลงกรณ์ พร้อมกับความคิดเห็นต่อการเสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ก็เหมือนกับการกล่าวยืนยันอีกครั้งหนึ่งว่า พรรคประชาธิปัตย์ ต้องรับผิดชอบต่อวิกฤติการเมืองที่พรรคฯ เป็นตัวการก่อขึ้นด้วย

     นับได้ว่า เป็นการเตือนให้ พรรคประชาธิปัตย์ ตระหนักถึงผลการกระทำ ซึ่งประเทศชาติและสังคมต้องรับกรรมอยู่ในขณะนี้ ความคิด นายอลงกรณ์จึงสวนทางกับความเชื่อหลัก อันเป็นรากฐานความคิดของพรรคฯ อย่างสิ้นเชิง พรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งถนัดโยนความผิดให้คนอื่นตลอดมา ครั้นถูกคนในพรรคลุกขึ้นประกาศว่า พรรคฯ ต่างหากเป็นผู้ผิดในเหตุการณ์ทั้งหมด ใครเล่าจะยอมรับความคิดแย้งชนิดอันตรายร้ายแรงนี้ได้เล่า ไม่ต้องถึงนายชวน หลีกภัย หรอก ขนาด ส.ส.ปลายแถวก็คงรับไม่ไหว
  
     นายอลงกรณ์ เสนอปฏิรูปพรรคฯ เป็นเรื่องให้พรรคฯ แก้ไขปัญหาภายใน แต่การเสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม เป็นการแนะนำพรรคฯ ให้สร้างภาพลักษณ์ต่อภายนอก ถึงแม้ว่า ข้อเสนอเหล่านี้เป็นประโยชน์และตรงประเด็น แต่อย่าลืมว่า ยาขม นั้นไม่มีใครอยากกิน โดยเฉพาะขมจัดเสียวถึงสมองนั้น กลืนไม่ลงจริงๆ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ผู้ให้ข้อมูลร่วมกัน