แดงเชียงใหม่

กราบสวัสดี พี่น้องทุกๆท่านที่เข้ามาเยี่ยมเยือน Blog นปช.แดงเชียงใหม่ ขอเรียนชี้แจงสักนิดว่า เรา ”แดงเจียงใหม่” เป็นกลุ่มคนชาวเจียงใหม่ที่เคารพรัก กติกาประชาธิปไตย ต่อสู้และต่อต้านเผด็จการทุกรูปแบบ อยากเห็นประเทศชาติภายภาคหน้า มีความเจริญ ประชาชน รุ่นลูกหลานของเราอยู่อาศัยอย่างร่มเย็นเป็นสุขในประเทศของพวกเราเอง ไม่มีกลุ่มอภิสิทธิ์ชนกลุ่มใดมาสูบเลือดเนื้อ แอบอ้างบุญคุณเฉกเช่นในยุคนี้ที่พวกเราเห็น การที่จะได้รับในสิ่งที่มุ่งหวังก็ต้องมีการต่อสู้แสดงกำลังให้สังคมได้รับรู้ และเพื่อที่จะให้กลุ่มบุคคลที่มีอำนาจในปัจจุบันได้เข้าใจในสังคมที่ก้าวหน้าเปลี่ยนแปลงไป ไม่อาจฝืนต่อกระแสการพัฒนาของโลก การต่อสู้ร่วมกับผองชนทั่วประเทศในครั้งนี้ เรา " แดงเจียงใหม่ " ได้ร่วมต่อสู้ทุกรูปแบบ และ ในรูปแบบที่ท่านได้เข้ามาร่วมอยู่นี้ คือการเผยแพร่ข่าวสารต่อสังคม

เรา " แดงเจียงใหม่ " ขอเชิญชวนร่วมกันสร้างขวัญ และกำลังใจให้เพื่อนพ้องน้องพี่ร่วมกัน


"อันประชาสามัคคีมีจัดตั้ง
เป็นพลังแกร่งกล้ามหาศาล
แสนอาวุธแสนศัตรูหมู่อันธพาล
ไม่อาจต้านมวลมหาประชาชน"

.

วันอาทิตย์ที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2556

สำรวจ 7 ประเด็นร้อน รัฐชง"ไอซีซี"สางคดีสลายม็อบแดง




        

 คำแถลงของอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ที่เตรียมแจ้งข้อหา "ร่วมกันก่อให้ผู้อื่นฆ่าคนตายโดยเจตนาเล็งเห็นผล" ต่อ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกฯ จากปฏิบัติการสลายการชุมนุมเมื่อปี 2553 นั้น แม้จะเป็นเรื่องใหญ่ที่คนระดับอดีตนายกฯกำลังโดนข้อหา "สั่งฆ่าประชาชน" แต่ในทางการเมืองนั่นยังเป็นเพียง "ดาบแรก" เท่านั้น

          เพราะดาบ 2 คือการยื่นให้ ศาลอาญาระหว่างประเทศ หรือ ไอซีซี (International Criminal Court : ICC) ไต่สวนดำเนินคดี เพื่อให้เป็นอาชญากรระดับโลกกันเลยทีเดียว

          อย่างไรก็ดี ประเด็นการยื่นเรื่องให้ "ไอซีซี" ไต่สวน ยังมีข้อมูลที่แตกต่างและข้อถกเถียงจากหลายฝ่าย โดยเฉพาะการที่รัฐบาลไทยยังไม่ได้ให้สัตยาบันธรรมนูญกรุงโรมว่าด้วยศาลอาญา ระหว่างประเทศ "กรุงเทพธุรกิจ"จึงได้รวบรวมประเด็นที่เห็นต่างมาค้นหาคำตอบดังนี้

          1.ประเทศไทยยังไม่ได้ให้สัตยาบันธรรมนูญกรุงโรมฯจริง เป็นแต่เพียงร่วมลงนามในธรรมนูญเมื่อปี 2543 แม้ธรรมนูญนี้ซึ่งมีสาระจัดตั้งและจัดเขตอำนาจศาลอาญาระหว่างประเทศจะมีผล บังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.2545 แล้วก็ตาม

          2.แม้ไทยจะยังไม่ได้ให้สัตยาบันธรรมนูญกรุงโรมฯ ซึ่งเท่ากับเป็นการรับอำนาจของศาลแบบถาวร แต่ธรรมนูญข้อที่ 12(3) ก็เปิดช่องให้รัฐที่มิได้เป็นภาคี (หรือยังไม่ได้ให้สัตยาบัน) สามารถทำ "คำประกาศยอมรับเขตอำนาจศาล" ซึ่งเป็นคำร้องฝ่ายเดียว เพื่อยอมรับเขตอำนาจศาลเฉพาะคดีหรือเฉพาะช่วงเวลาได้

          3.หลักทั่วไปของ ไอซีซี คือเป็นกลไกเสริมกลไกหลักของรัฐภาคี โดยคดีที่จะนำมาพิจารณาได้มี 4 ประเภทเท่านั้น ได้แก่ อาชญากรรมที่เป็นการทำลายล้างเผ่าพันธุ์ อาชญากรรมต่อมนุษยชาติ อาชญากรรมสงคราม และอาชญากรรมอันเป็นการรุกราน

          4.หลักการของการยอมรับเขตอำนาจศาลอาญาระหว่างประเทศ คือ แต่ละรัฐมีระบบยุติธรรมหลักอยู่แล้ว แต่ต้องการใช้กลไกของ ไอซีซี เป็นกลไกเสริม เพื่อให้มีหลักประกันแก่ประชาชนในรัฐนั้นๆ โดยเฉพาะหากมีอาชญากรรมร้ายแรง 4 ประเภทดังกล่าวเกิดขึ้น ก็เท่ากับมีกลไกระดับโลกเพื่อคุ้มครองสิทธิพลเมือง เพราะเชื่อได้ว่าหากมีอาชญากรรมร้ายแรง 4 ประเภทเกิดขึ้นจริง กระบวนการยุติธรรมในประเทศนั้นๆ น่าจะล้มเหลว

          จากหลักการดังกล่าว นำมาสู่ประเด็นที่เป็นข้อพิจารณาหากไทยต้องการทำ "คำประกาศยอมรับเขตอำนาจศาล" เฉพาะคดีสลายการชุมนุมเมื่อปี 2553 โดยความเห็นจากนักกฎหมายหลายรายที่เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชนระบุตรงกันว่า มีข้อพิจารณาสำคัญๆ อยู่ 3 ประการ กล่าวคือ

          1.สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศไทยที่จะทำ "คำประกาศยอมรับเขตอำนาจศาล" เข้าข่ายหรือใกล้เคียงกับอาชญากรรม 4 ประเภทที่อยู่ในเขตอำนาจของไอซีซีหรือยัง

          2.ประสิทธิภาพและความเป็นมาตรฐานสากลของกระบวนการยุติธรรมอาญาภายในของ ประเทศไทยอยู่ในระดับต้องให้กลไกภายนอกเข้ามาคุ้มครองหรือเสริมกระบวนการ หรือไม่

          3.มีกฎหมายภายในรองรับกระบวนการทำงานของ ไอซีซี แล้วหรือยัง เช่น การที่มีผู้พิพากษาหรือคณะอัยการพิเศษเข้ามาทำงาน ไทยมีกฎหมายคุ้มครองการปฏิบัติหน้าที่ของบุคคลเหล่านั้นหรือไม่

          ทั้ง 3 ข้อเป็นข้อพิจารณาของฝ่ายไทย ซึ่งปัจจุบัน นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้ฟื้น "คณะกรรมการพิจารณาธรรมนูญศาลอาญาระหว่างประเทศ" ซึ่งแต่งตั้งเอาไว้ตั้งแต่ปี 2542 เป็นผู้พิจารณา โดยองค์ประกอบของคณะกรรมการฯ มีผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกระทรวงการต่างประเทศ ฝ่ายความมั่นคง และศาลยุติธรรม รวมอยู่ด้วย

          อย่างไรก็ดี ยังมีข้อพิจารณาของฝ่าย ไอซีซี หากประเทศไทยตัดสินใจทำ "คำประกาศยอมรับเขตอำนาจศาล" จริง โดยมีประเด็นสำคัญๆ ได้แก่

          1.พิจารณารูปแบบของ "คำประกาศยอมรับเขตอำนาจศาล" ว่าถูกต้องตามธรรมนูญและข้อกำหนดที่เกี่ยวข้องหรือไม่

          2.พิจารณาข้อเท็จจริงของสถานการณ์ในประเทศไทยว่าเข้าข่ายฐานความผิด 4 ประเภทที่อยู่ในเขตอำนาจศาลหรือไม่

          3.พิจารณาว่ามีกฎหมายภายในรองรับกระบวนการของ ไอซีซี หรือไม่

          4.กระบวนการสอบสวนและพิจารณาคดีของประเทศไทย ไม่ได้เป็นไปเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม หรือ Interest of justice หรือไม่ พูดง่ายๆ คือกระบวนการยุติธรรมภายในล้มเหลวหรือเปล่า

          ส่วนเรื่องการตีความถ้อยคำในธรรมนูญข้อ 27 เกี่ยวกับ "ประมุขของรัฐ" ที่จะไม่ได้รับการยกเว้นให้อยู่เหนืออำนาจศาลอาญาระหว่างประเทศนั้น นักกฎหมายผู้เชี่ยวชาญ ชี้ว่า ถ้อยคำในภาษาอังกฤษใช้คำว่า "Head of state or government" จึงเป็นประเด็นที่ทุกฝ่ายต้องพิจารณาร่วมกัน เพราะหากตีความว่าประมุขของรัฐ หมายถึงรวมถึงพระมหากษัตริย์ ก็อาจขัดมาตรา 8 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

          อีกขั้นตอนหนึ่งที่ไม่อาจมองข้ามได้ ก็คือ หากรัฐบาลตัดสินใจทำ "คำประกาศยอมรับเขตอำนาจศาล" จะต้องขอความเห็นชอบจากรัฐสภา ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 190 หรือไม่ ประเด็นนี้ นักกฎหมายหลายรายเห็นตรงกันว่า แม้รัฐธรรมนูญจะใช้คำว่า "หนังสือสัญญา" ขณะที่ช่องทางการทำคำประกาศยอมรับเขตอำนาจศาล เป็น "คำขอฝ่ายเดียว" ก็ตาม แต่เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญต้องดูทั้งกระบวนการ และพิจารณาผลผูกพันที่จะเกิดขึ้น หากมีการแก้ไขกฎหมายภายใน หรือมีผลต่ออำนาจอธิปไตย ก็ต้องผ่านกระบวนการทางรัฐสภา

          แหล่งข่าวซึ่งเป็นข้าราชการระดับสูงในกระทรวงที่ เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้โดยตรง ให้ทัศนะว่า การพิจารณาขอรับเขตอำนาจศาล ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบทุกมิติ และมองผลกระทบอย่างรอบด้าน ตลอดจนผลกระทบต่อสังคม การเมือง ไม่ใช่มองเฉพาะเรื่องคดีอย่างเดียว แต่ต้องมองไปข้างหน้าด้วย โดยเฉพาะผลกระทบต่อกระบวนการยุติธรรมไทย

          "กระบวนการยุติธรรมบ้านเรา ผมมองว่ายังมีประสิทธิภาพ และเป็นไปตามมาตรฐานสากลอยู่ คดีสลายการชุมนุมก็ยังอยู่ในชั้นศาล และมีการทำคำสั่งไต่สวนการตายอย่างต่อเนื่อง ส่วนตัวมองว่าเรื่องนี้ไม่มีประเด็นในเชิงกฎหมาย แต่เป็นประเด็นในทางการเมือง หากพิจารณาไม่ดีอาจได้ไม่คุ้มเสีย โดยเฉพาะเครดิตความเชื่อมั่นที่มีต่อกลไกภายในประเทศ เพราะชาติต่างๆ ที่เคยขอใช้กลไกของ ไอซีซี ซึ่งมีอยู่ 30 กว่ากรณี ส่วนใหญ่มีปัญหาความรุนแรงในวงกว้างและกระบวนการรยุติธรรมล้มเหลวทั้งสิ้น" แหล่งข่าว ระบุ 

          คำถามทิ้งท้ายก็คือ การตัดสินใจเลือกใช้ "ยาแรง" ในสายตานานาชาติขนาดนี้ เป้าหมายที่แท้จริงเพียงเพื่อต้องการหวังผลทางการเมือง หรือต้องการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนกันแน่?

//////////////////////////////////////////////////////

นิยาม 4 ประเภทความผิด
          จากเอกสารของกระทรวงการต่างประเทศที่แจกจ่ายให้กับคณะกรรมการพิจารณาธรรมนูญ ศาลอาญาระหว่างประเทศเพื่อพิจารณาการให้สัตยาบันเป็นภาคีธรรมนูญกรุงโรมฯ นั้น ได้แปล "นิยาม" ของฐานความผิด 4 ประเภทที่อยู่ในเขตอำนาจศาลอาญาระหว่างประเทศไว้ดังนี้

          1.อาชญากรรมที่เป็นการทำลายล้างเผ่าพันธุ์ หมายถึง การกระทำใดๆ ซึ่งกระทำโดยเจตนาที่จะทำลายกลุ่มชาติ กลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มเชื้อชาติ หรือกลุ่มทางศาสนาทั้งหมดหรือแต่บางส่วน

          2.อาชญากรรมต่อมนุษยชาติ หมายถึง การกระทำใดๆ ที่ได้กระทำในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของการโจมตีอย่างกว้างขวาง หรืออย่างเป็นระบบ โดยมีเป้าหมายต่อประชากร พลเรือนใด โดยรู้ถึงการโจมตีนั้น ได้แก่ การทำลายล้าง การรังควานกลุ่มหรือหมู่คณะใดโดยเฉพาะอันเนื่องมาจากสาเหตุทางการเมือง การบังคับให้บุคคลหายสาบสูญ เป็นต้น

          3.อาชญากรรมสงคราม หมายถึง การละเมิดอย่างร้ายแรงต่ออนุสัญญาเจนีวา (12 ส.ค.1949) และการละเมิดอย่างร้ายแรงอื่นๆ ต่อกฎหมายและจารีตประเพณีที่ใช้กับความขัดแย้งทางกำลังทหารระหว่างประเทศใน กรอบของกฎหมายระหว่างประเทศ เช่น การโจมตีหรือทิ้งระเบิดในหมู่บ้านที่มิได้มีการป้องกันและมิใช่จุดมุ่งหมาย ในทางทหาร

          4.อาชญากรรมอันเป็นการรุกราน ยังไม่มีการให้คำนิยามความหมายของอาชญากรรมนี้


-------------------------------------------------------------------------------------------------------------
ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ หน้าการเมือง ฉบับวันศุกร์ที่ 7 ธ.ค.2555
ขอบคุณ : ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ผู้ให้ข้อมูลร่วมกัน