ความเห็นและข้อเสนอจากกรรมการสิทธิฯ ในรายงานสลายชุมนุมปี 53
ตามที่ในวันนี้ (8 ส.ค. 56) เว็บไซต์คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้เผยแพร่ "รายงานผลการตรวจสอบเพื่อมีข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย กรณีเหตุการณ์การชุมนุมของกลุ่ม นปช. ระหว่างวันที่ 12 มีนาคม 2553 ถึงวันที่ 19 พฤษภาคม 2553" หนา 92 หน้า นั้น
โดยที่ก่อนหน้านี้ เมื่อเดือนกรกฎาคมปี 2554 หนังสือพิมพ์ข่าวสด เคยนำรายงานผลการตรวจสอบฯ ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติมาเผยแพร่ และ ต่อมา นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิฯ และประธานอนุกรรมการสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ระบุว่ารายงานฉบับดังกล่าวเป็นเพียงร่างรายงานของ “คณะทำงาน” ซึ่งได้สำรวจ เก็บข้อมูล เบื้องต้นและยังต้องผ่านการพิจารณาของอนุกรรมการเฉพาะกิจอีก 3 ชุด และกรรมการสิทธิชุดใหญ่อีกจึงจะเป็นรายงานที่พร้อมเผยแพร่ และอีก 2 ปีต่อมาจึงมีการเผยแพร่รายงานฉบับทางการดังกล่าว
สำหรับรายงานของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนฉบับดังกล่าว ในส่วนข้อ “4.การดำเนินการตรวจสอบ” และ “5.บทสรุป” ตามที่ปรากฏอยู่ในรายงาน มีเนื้อหาโดยสังเขปตามที่ปรากฏท้ายนี้
000
4. การดำเนินการตรวจสอบ
ในรายงานของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แบ่งการดำเนินการตรวจสอบออกเป็น 8 กรณี ได้แก่
4.1 กรณีสถานการณ์ก่อนวันที่ 7 เมษายน 2553
4.2 กรณีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
(นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น) ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน
และสั่งจัดตั้งศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) เมื่อวันที่ 7
เมษายน 2553 และกรณีที่ ศอฉ. สั่งระงับการออกอากาศสถานีโทรทัศน์พีเพิลชาแนล
และสั่งระงับการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารผ่านสื่อสิ่งพิมพ์และสื่ออินเทอร์เน็ต
บางสื่อ
4.3 กรณีการชุมนุมและปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่ของรัฐกับกลุ่ม นปช. เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2553
4.4 กรณีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตจากระเบิดเอ็ม 79 บริเวณแยกศาลาแดงเมื่อวันที่ 22 เมษายน 2553
4.5 กรณีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตบริเวณอนุสรณ์สถานแห่งชาติ เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2553
4.6 กรณีการชุมนุมของกลุ่ม นปช.
บริเวณรอบโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย
และการเข้าไปตรวจค้นโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2553
4.7 กรณีการเกิดเหตุจลาจล ปะทะ และทำลายทรัพย์สินของราชการและเอกชนระหว่างวันที่ 13-19 พฤษภาคม 2553
4.8 กรณีมีผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บ
บริเวณวัดปทุมวนารามราชวรวิหาร ภายหลังจากแกนนำกลุ่ม นปช.
ประกาศยุติการชุมนุม เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2553
โดยใน 8 กรณีดังกล่าว มีผลการดำเนินการตรวจสอบ ตามที่ปรากฏในรายงานของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติดังนี้
4.1 กรณีสถานการณ์ก่อนวันที่ 7 เมษายน 2553
“ก่อนที่รัฐบาลจะประกาศใช้พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราช อาณาจักร พ.ศ. 2551 เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2553 และนายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีจะประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มี ความร้ายแรง เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2553 นั้น กลุ่ม นปช. ได้นัดชุมนุมใหญ่บริเวณสะพานผ่านฟ้าลีลาศ โดยเริ่มจัดตั้งเวทีตั้งแต่วันที่ 12 มีนาคม 2553 เพื่อเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรียุบสภา โดยในช่วงต้นการชุมนุมของกลุ่ม นปช. ได้ดำเนินไปด้วยความสงบและปราศจากอาวุธ แม้ว่าจะมีการปิดกั้นเส้นทางการจราจรบางส่วน แต่ก็ยังไม่สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนมากเกินสมควร และยังเป็นการชุมนุมที่อยู่ในกรอบและได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ
เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2553 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้เข้าพบและหารือกับแกนนำกลุ่ม นปช. โดยเสนอแนวทางปฏิบัติของกลุ่มผู้ชุมนุมและมีข้อตกลงร่วมกันว่า การชุมนุมจะต้องเป็นไปโดยสันติวิธีและไม่กระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของบุคคล อื่น แต่ภายหลังจากที่ได้มีการเจรจาหาทางออกร่วมกันดังกล่าวแล้ว กลับปรากฏข้อเท็จจริงว่า การชุมนุมของกลุ่ม นปช. ได้ขยายพื้นที่จากเวทีสะพาน ผ่านฟ้าลีลาศ โดยปรากฏว่ามีกลุ่มผู้ชุมนุมบางส่วนเริ่มเคลื่อนขบวนไปยังสถานที่ต่างๆ มีการขยายการปิดเส้นทางการจราจรจนส่งผลกระทบต่อการสัญจรของประชาชนทั่วไป และมีการกระทำที่เป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพเกินขอบเขตที่รัฐธรรมนูญให้การ รับรองและคุ้มครองไว้ในมาตรา 63 อันไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 28 และเข้าข่ายเป็นการละเมิดสิทธิของผู้อื่น ตลอดจนการไปเทเลือดที่หน้าพรรคประชาธิปัตย์ ทำเนียบรัฐบาล และบ้านพักนายกรัฐมนตรี เป็นการสร้างความเดือดร้อนให้แก่เจ้าของและผู้ครอบครองสถานที่ และเป็นสัญลักษณ์ที่ก่อให้เกิดความรุนแรง
จนกระทั่งวันที่ 3 เมษายน 2553 ผู้ร่วมชุมนุมส่วนหนึ่งได้เคลื่อนย้ายไปชุมนุมบริเวณสี่แยกราชประสงค์ อันเป็นแหล่งธุรกิจที่สำคัญ เป็นการชุมนุมที่มุ่งปิดกั้นกีดขวางเส้นทางคมนาคม และการใช้ยานพาหนะของประชาชนทั่วไป เพราะเส้นทางดังกล่าวเป็นเส้นทางสำคัญในใจกลางกรุงเทพมหานคร ทั้งเป็นการชุมนุมที่ใช้ระยะเวลานานต่อเนื่องกันหลายวัน และไม่มีกำหนดระยะเวลาสิ้นสุดที่แน่นอน ส่งผลกระทบต่อธุรกิจสำคัญ รวมทั้งก่อให้เกิดความเดือดร้อนต่อการประกอบอาชีพและการดำรงชีวิตตามปกติสุข ของประชาชนโดยทั่วไป อันเป็นการใช้เสรีภาพที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่น อีกทั้งยังปรากฏข้อเท็จจริงว่า มีกลุ่มผู้ชุมนุมเข้าไปในอาคารสถานที่ราชการ อาทิศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ ถนนแจ้งวัฒนะ เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2553 และอาคารรัฐสภาเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2553 เป็นเหตุให้รัฐสภาไม่อาจดำเนินการได้ และเจ้าหน้าที่ภายในรัฐสภาไม่สามารถใช้ทางเข้าออกรัฐสภาได้ตามปกติ โดยรัฐมนตรีและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรฝ่ายรัฐบาลบางส่วนต้องข้ามกำแพงรัฐสภา เพื่อออกไปทางพระที่นั่งวิมานเมฆ อีกทั้งยังปรากฏภาพเหตุการณ์ที่มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรบางคน และผู้ชุมนุมบางส่วนกลุ้มรุมเจ้าหน้าที่สารวัตรทหาร (สห.) ของรัฐสภา ซึ่งการกระทำดังกล่าวมีลักษณะเป็นการข่มขู่คุกคามเจ้าหน้าที่ของรัฐ โดยเหตุการณ์นี้นำมาซึ่งการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในเวลาต่อมา”
“พิจารณาแล้วจึงเห็นว่า การชุมนุมของกลุ่ม นปช. ตั้งแต่วันที่ 12 มีนาคม 2553 ถึงวันที่ 16 มีนาคม 2553 เป็นการชุมนุมที่สงบและอยู่ในกรอบที่รัฐธรรมนูญให้การรับรองและคุ้มครองไว้ แต่เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่า กลุ่มผู้ชุมนุมเริ่มขยายพื้นที่การชุมนุมจากเวทีสะพานผ่านฟ้าลีลาศ โดยเคลื่อนขบวนไปยังสถานที่ต่างๆ ขยายการปิดเส้นทางการจราจรจนส่งผลกระทบต่อการสัญจรของประชาชนทั่วไป และมีการไปเทเลือดที่หน้าพรรคประชาธิปัตย์ ทำเนียบรัฐบาล และบ้านพักนายกรัฐมนตรี สร้างความเดือดร้อนให้แก่เจ้าของและผู้ครอบครองสถานที่ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ที่ ก่อให้เกิดความรุนแรง จนกระทั่งวันที่ 3 เมษายน 2553 ผู้ร่วมชุมนุมส่วนหนึ่งได้เคลื่อนย้ายไปชุมนุมบริเวณสี่แยกราชประสงค์อัน เป็นแหล่งธุรกิจที่สำคัญของประเทศ ทั้งยังปิดกั้นกีดขวางเส้นทางคมนาคม แสดงให้เห็นถึงแนวโน้มที่สร้างความเดือดร้อนรำคาญให้กับประชาชนทั่วไป ไม่มีกำหนดระยะเวลาสิ้นสุด และโดยที่ความเดือดร้อนปรากฏอยู่โดยทั่วไปเป็นเวลาเนิ่นนานเกินความจำเป็น ส่งผลกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชนทั่วไป สิทธิและเสรีภาพในการประกอบอาชีพและกระทบต่อประโยชน์สาธารณะ อีกทั้งยังมีแนวโน้มจะนำไปสู่การใช้กำลังและความรุนแรงเพื่อให้รัฐบาลดำเนิน การตามข้อเรียกร้อง ซึ่งการชุมนุมลักษณะดังกล่าวถือได้ว่า เป็นการชุมนุมที่อยู่นอกเหนือขอบเขตที่รัฐธรรมนูญให้การรับรองและคุ้มครอง ไว้”
4.2 กรณีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น) ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน และสั่งจัดตั้งศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2553 และกรณีที่ ศอฉ. สั่งระงับการออกอากาศสถานีโทรทัศน์พีเพิลชาแนล และสั่งระงับการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารผ่านสื่อสิ่งพิมพ์และสื่ออินเทอร์เน็ต บางสื่อ
4.2.1 การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในเขตกรุงเทพมหานครและเขตปริมณฑล และจัดตั้งศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.)
“ข้อเท็จจริงปรากฏต่อมาว่าภายหลังจากการประกาศใช้พระราชบัญญัติการรักษา ความมั่นคงฯ ได้เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบขึ้นหลายครั้ง โดยเฉพาะเหตุการณ์ระเบิดสถานที่สำคัญหลายแห่ง ตลอดเดือนมีนาคมไปจนถึงต้นเดือนเมษายน 2553 อาทิกระทรวงกลาโหม กระทรวงสาธารณสุข ศาลากลางจังหวัดนนทบุรี สำนักงานอัยการสูงสุด กรมศุลกากร ทำเนียบรัฐบาล ที่ทำการพรรคประชาธิปัตย์ เป็นต้น เป็นเหตุให้รัฐบาลต้องขยายระยะเวลาการประกาศใช้พระราชบัญญัติดังกล่าวออกไป อีกสองช่วง ได้แก่ ระหว่างวันที่ 24 - 30 มีนาคม 2553 และระหว่างวันที่ 31 มีนาคม – 7 เมษายน 2553 ประกอบกับในช่วงเวลาดังกล่าว กลุ่ม นปช. ก็ยังคงดำเนินการชุมนุมโดยได้ขยายพื้นที่และเริ่มเคลื่อนย้ายไปชุมนุมบริเวณ สี่แยกราชประสงค์ ในวันที่ 3 เมษายน 2553 อันเป็นแหล่งธุรกิจที่สำคัญ และเคลื่อนขบวนไปยังสถานที่ต่างๆ ซึ่งเป็นการชุมนุมที่ไม่สงบและกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่นตามที่ ได้วิเคราะห์ไว้ในประเด็นที่ 1
ทั้งนี้ เหตุการณ์ดังกล่าวได้เกิดขึ้นในช่วงระยะเวลาที่รัฐบาลได้ประกาศใช้พระราช บัญญัติการรักษาความมั่นคงฯ ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและบางอำเภอของจังหวัดปริมณฑล และจัดตั้งศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (ศอ.รส.) เพื่อรองรับสถานการณ์ดังกล่าว โดย ศอ.รส. ได้มีการจัดกำลังเจ้าหน้าที่เพื่อปฏิบัติภารกิจในพื้นที่ประกาศใช้พระราช บัญญัติดังกล่าว แต่สถานการณ์ในช่วงระยะเวลานั้นแทนที่จะเบาบางลง กลับทวีความรุนแรงมากขึ้นดังกล่าวแล้วข้างต้น กรณีจึงแสดงให้เห็นว่า ได้มีสถานการณ์อันกระทบหรืออาจกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชนหรือเป็น ภัยต่อความมั่นคงของรัฐ ซึ่งจำเป็นต้องมีมาตรการเร่งด่วนเพื่อรักษาไว้ซึ่งผลประโยชน์ของชาติ การปฏิบัติตามกฎหมาย ความปลอดภัยของประชาชน การดำรงชีวิตโดยปกติสุขของประชาชน การคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ความสงบเรียบร้อยหรือประโยชน์ส่วนรวม หรือการป้องปัดความเสียหายจากภัยสาธารณะอันมีมาอย่างฉุกเฉินและร้ายแรงแล้ว
ดังนั้น การที่นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 5 มาตรา 7 มาตรา 9 และมาตรา 11 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 อันเป็นกฎหมายที่มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของ บุคคล ซึ่งมาตรา 29 ประกอบกับมาตรา 32 มาตรา 33 มาตรา 34 มาตรา 36 มาตรา 38 มาตรา 41 มาตรา 43 มาตรา 45 และ มาตรา63 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 บัญญัติให้กระทำได้ โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพมหานครและ จังหวัดใกล้เคียง รวมทั้งออกประกาศ คำสั่ง และข้อกำหนดของรัฐบาล เพื่อให้การดำเนินการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินเป็นไปโดยเรียบร้อย จึงเป็นการกระทำภายใต้ขอบเขตที่กฎหมายให้อำนาจไว้ ประกอบกับเมื่อพิจารณาจากเจตนารมณ์ในการใช้มาตรการดังกล่าวแล้ว ก่อให้เกิดผลต่อประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าผลกระทบที่มีต่อกลุ่มบุคคลที่ถูก จำกัดสิทธิและเสรีภาพ กรณีจึงเป็นการจำเป็นเหมาะสมกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นแล้ว”
"พิจารณาจากข้อเท็จจริงและเหตุผลข้างต้นแล้วจึงเห็นว่าการใช้อำนาจตามพระ ราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ในการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลที่มีความร้ายแรง และจัดตั้งศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2553 ของนายกรัฐมนตรีมีผลเป็นการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลตามที่รัฐธรรมนูญ รับรองและคุ้มครองไว้ อย่างไรก็ตามมาตรการที่มีผลเป็นการจำกัดสิทธิและเสรีภาพดังกล่าวอยู่ภายใต้ ขอบเขตที่กฎหมายให้อำนาจไว้และเป็นการจำกัดเพื่อคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของ ประชาชนส่วนรวมในระหว่างที่สถานการณ์บ้านเมืองเกิดความไม่สงบ อันมีเหตุความจำเป็นและเหมาะสมกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นแล้ว กรณีจึงเป็นการใช้อำนาจตามกฎหมายภายใต้ขอบเขตที่รัฐธรรมนูญบัญญัติให้สามารถ กระทำได้"
4.2.2 การสั่งระงับการออกอากาศสถานีโทรทัศน์พีเพิลชาแนล (พีทีวี) และสั่งระงับการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารผ่านสื่อสิ่งพิมพ์และสื่ออินเทอร์เน็ต บางสื่อ
"โดยที่ปรากฏถ้อยคำจากการปราศรัยของแกนนำ นปช. หลายครั้ง ที่มีลักษณะเป็นทำนองยั่วยุ ปลุกระดมผู้ชุมนุมให้ก่อความรุนแรงและความไม่สงบในบ้านเมืองอันเป็นภัยต่อ ความมั่นคง ในขณะที่สถานการณ์บ้านเมืองเกิดความวุ่นวายและเหตุการณ์ไม่สงบอย่างต่อ เนื่อง อันเข้าข่ายเป็นการกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนซึ่งมิใช่เป็นการกระทำภายในความ มุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ เพื่อให้เกิดความปั่นป่วน หรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในบ้าน เมือง หรือเพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน ซึ่งเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116
จนกระทั่งวันที่ 7 เมษายน 2553 นายกรัฐมนตรีได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง สถานีโทรทัศน์พีทีวีก็ยังคงเผยแพร่สัญญาณภาพและเสียงเหตุการณ์การชุมนุมของ กลุ่ม นปช. ตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งเข้าข่ายต้องห้ามมิให้มีการเผยแพร่ตามข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 แม้ว่าการชุมนุมที่เวทีปราศรัยของกลุ่ม นปช. ที่สถานีโทรทัศน์พีทีวีดำเนินการเผยแพร่ จะมีรูปแบบที่หลากหลาย นอกเหนือจากการปราศรัยของแกนนำก็ตาม เช่น มีการแสดงดนตรี นำเสนอข่าว เป็นต้น แต่รูปแบบที่หลากหลายดังกล่าวก็มิได้กำหนดเป็นผังรายการที่แน่นอน ทั้งยังมีเนื้อหาที่สอดประสานและมีความมุ่งหมายอย่างเดียวกันกับการปราศรัย ของแกนนำบนเวที
นอกจากนี้ การนำเสนอส่วนใหญ่จะเป็นในรูปแบบของการปราศรัยของแกนนำกลุ่ม นปช. มากกว่ารูปแบบอื่น การเผยแพร่ภาพและเสียงของสถานีโทรทัศน์พีทีวีดังกล่าว จึงเป็นการกระทำที่เป็นการฝ่าฝืนกฎหมายอาญา รวมทั้งข้อกำหนดที่ออกตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 อันเป็นเหตุที่รัฐบาลสามารถใช้มาตรการในการระงับ ป้องกันหรือแก้ไขเพื่อมิให้มีการดำเนินการดังกล่าวต่อไปได้"
"ดังนั้น การที่รัฐบาลมีความจำเป็นต้องใช้มาตรการที่มีผลเป็นการระงับการเผยแพร่ สัญญาณภาพและเสียงของสถานีดังกล่าว โดย ศอฉ. ได้ใช้อำนาจสั่งการตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 มาตรา 11 ประกอบกับประกาศตามมาตรา 11 แห่งพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าว และคำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ พิเศษ 2/2553 ข้อ 2 ข้อ 3 และข้อ 4 ให้กองทัพภาค ที่ 1 กองกำลังรักษาความสงบ กองทัพภาคที่ 1 โดยหน่วยบัญชาการป้องกันภัยทางอากาศ กองทัพบก จัดกำลังเข้ารักษาความปลอดภัยและควบคุมพื้นที่บริเวณสถานีดาวเทียมไทยคม 2 และได้มีการมอบให้เจ้าหน้าที่ กทช. และเจ้าหน้าที่สื่อสารเข้าดำเนินการ จนกระทั่งสัญญาณภาพและเสียงของสถานีโทรทัศน์ช่องพีทีวีหายไป ในวันที่ 7 เมษายน 2553 จึงเป็นการกระทำภายใต้ขอบเขตที่กฎหมายให้อำนาจไว้แล้ว และเป็นการกระทำเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยในระหว่างที่สถานการณ์บ้านเมือง เกิดความไม่สงบประกอบกับเมื่อพิจารณาจากเจตนารมณ์ในการใช้มาตรการดังกล่าว แล้ว ก่อให้เกิดผลต่อประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าผลกระทบที่มีต่อกลุ่มบุคคลที่ถูก จำกัดสิทธิและเสรีภาพ กรณีจึงเป็นการจำเป็นเหมาะสมกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นแล้ว"
"พิจารณาจากข้อเท็จจริงและเหตุผลข้างต้นแล้วจึงเห็นว่า มาตรการของรัฐที่มีผลเป็นการระงับการเผยแพร่สัญญาณภาพและเสียงของสถานี โทรทัศน์พีทีวี มีผลเป็นการจำกัดเสรีภาพในการเสนอข่าวสารหรือแสดงความคิดเห็นของสื่อ ตามที่รัฐธรรมนูญให้การรับรองและคุ้มครองไว้ และทำให้ประชาชนไม่สามารถรับทราบและเข้าถึงข้อมูลของสื่อที่ถูกระงับได้ตาม ปกติ อย่างไรก็ตาม การจำกัดเสรีภาพดังกล่าวอยู่ภายใต้ขอบเขตที่กฎหมายให้อำนาจไว้ และเป็นการจำกัดเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยในระหว่างที่สถานการณ์บ้านเมือง เกิดความไม่สงบอันมีเหตุความจำเป็นและเหมาะสมกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นแล้ว กรณีจึงเป็นการใช้อำนาจตามกฎหมายภายใต้ขอบเขตที่รัฐธรรมนูญบัญญัติให้สามารถ กระทำได้"
"ทั้งนี้ มีข้อสังเกตว่า สถานีโทรทัศน์พีทีวีได้เผยแพร่สัญญาณภาพ และเสียงเหตุการณ์การชุมนุมของกลุ่ม นปช. มาตั้งแต่ก่อนที่นายกรัฐมนตรีจะประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2553 แล้ว โดยที่มีการถ่ายทอดภาพและเสียงการปราศรัยของแกนนำที่มีลักษณะเป็นทำนองยั่ว ยุ ปลุกระดมผู้ชุมนุม ให้ก่อความไม่สงบในบ้านเมืองอย่างต่อเนื่อง แต่รัฐบาลก็มิได้ใช้มาตรการใดๆ เพื่อระงับเหตุการณ์ หรือแก้ไขให้สถานการณ์ดังกล่าวคลี่คลายหรือยุติลง ด้วยการบังคับใช้กฎหมายภายใต้สถานการณ์ปกติ กลับปล่อยให้สถานการณ์ล่วงเลยมาจนเกิดเหตุการณ์ไม่สงบขึ้นหลายครั้ง
จนกระทั่งรัฐบาลต้องอาศัยอำนาจตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุก เฉิน พ.ศ. 2548 ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง จึงจะออกมาตรการที่มีผลเป็นการระงับการเผยแพร่สัญญาณภาพและเสียงของสถานี โทรทัศน์พีทีวี กรณีดังกล่าวจึงชี้ให้เห็นถึงความบกพร่องของรัฐบาลในการควบคุมสถานการณ์ที่ เกิดขึ้น ขาดการวางแผนที่ดีพอในการป้องกันและแก้ไขสถานการณ์ ละเลยต่อหน้าที่ มิได้ใช้บังคับกฎหมายอย่างเคร่งครัดเพื่อให้เกิดความสงบสุขในบ้านเมือง"
"การที่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ในฐานะผู้อำนวยการ ศอ.รส. และ ผู้อำนวยการ ศอฉ. มีหนังสือแจ้งให้กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร รวมถึงผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคม ปิดกั้นเว็บไซต์ที่เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่อาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคง และมีข้อความที่มีเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสาร จึงเป็นการใช้อำนาจในขอบเขตที่กฎหมายให้อำนาจไว้แล้ว ส่วนกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารนั้น เมื่อคณะรัฐมนตรีเห็นชอบในประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินแล้ว บรรดาอำนาจหน้าที่ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการอนุญาต อนุมัติ สั่งการ บังคับบัญชา หรือช่วยในการป้องกัน แก้ไข ปราบปราม ยับยั้งในสถานการณ์ฉุกเฉิน ย่อมโอนมาเป็นอำนาจหน้าที่ของนายกรัฐมนตรีเป็นการชั่วคราว ตามมาตรา 7 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารจึงเป็นผู้ดำเนินการ ตามคำสั่งของนายสุเทพฯ ในการปิดกั้นเว็บไซต์ โดยอาศัยอำนาจของนายสุเทพฯ ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้ให้อำนาจไว้ตามประกาศ มาตรา 11 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 การดำเนินการของกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารจึงอยู่ในขอบเขตที่ กฎหมายให้อำนาจไว้แล้วเช่นกัน"
"ในช่วงระยะเวลาที่รัฐบาลประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน มีเว็บไซต์จำนวนมากเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่อาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคง การที่รัฐบาลใช้มาตรการที่มีผลเป็นการระงับการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารผ่านสื่อ อินเทอร์เน็ตดังกล่าว จึงเป็นการจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักร ไทยพุทธศักราช 2550 มาตรา 45 วรรคสอง ยกเว้นให้กระทำได้ โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติของกฎหมายเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐหรือเพื่อ รักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนแล้ว
ประกอบกับมาตรการ ของรัฐในการระงับการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารผ่านสื่ออินเทอร์เน็ตนั้น รัฐได้ใช้วิธีการปิดกั้นมิให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลเว็บไซต์ที่ถูกจำกัด มิได้ถึง ขั้นเป็นการปิดกิจการสื่อมวลชน ตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ มาตรา 45 วรรค สาม ที่ไม่อนุญาตให้กระทำได้แต่อย่างใด แต่เนื่องจากการปิดกั้นเว็บไซต์ดังกล่าว ปรากฏข้อเท็จจริงว่า มีเว็บไซต์ที่ถูกปิดกั้นหลายเว็บไซต์ นอกจากมีเนื้อหาที่เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่อาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคงแล้ว ก็ยังมีเนื้อหาสาระอื่นที่หลากหลายซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับข้อมูลข่าวสารที่ ต้องห้ามตามประกาศรวมอยู่ในเว็บไซต์เดียวกันกับที่ถูกปิดกั้น การปิดกั้นข้อมูลข่าวสารทั้งเว็บไซต์โดยที่ไม่มีการแยกแยะเนื้อหาสาระว่า เนื้อหาใดที่กระทบหรือไม่กระทบต่อความมั่นคง เป็นเหตุให้เนื้อหาและข้อมูลข่าวสารบางส่วนที่ไม่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง ถูกปิดกั้นไปด้วย อีกทั้งภายหลังจากที่มีการยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินแล้ว เว็บไซต์บางเว็บไซต์ยังคงถูกปิดกั้นอยู่ โดยมีการอ้างคำสั่ง ศอฉ. ปรากฏที่หน้าเว็บไซต์ดังกล่าว ทั้งที่ขณะนั้นไม่มี ศอฉ. แล้ว กรณีดังกล่าวแม้ผู้มีอำนาจจะสั่งการโดยอาศัยอำนาจตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 แต่ การดำเนินการตามอำนาจดังกล่าวถือเป็นการจำกัดเสรีภาพในการเสนอข่าวสารหรือ แสดงความคิดเห็นโดยสิ้นเชิง ไม่มีขอบเขต และไม่มีการกำหนดระยะเวลา อันเป็นการลิดรอนและเป็นการจำกัดสิทธิและเสรีภาพที่เกินกว่ากรณีแห่งความจำ เป็น"
"พิจารณาจากข้อเท็จจริงและเหตุผลข้างต้นแล้วจึงเห็นว่า มาตรการของรัฐที่มีผลเป็นการระงับการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารผ่านสื่ออิน เทอร์เน็ต เป็นการใช้อำนาจภายใต้ขอบเขตที่กฎหมายให้อำนาจไว้ อย่างไรก็ตาม การดำเนินการตามอำนาจดังกล่าวของรัฐเป็นการจำกัดเสรีภาพในการเสนอข่าวสาร หรือแสดงความคิดเห็นของบุคคลและสื่อมวลชนที่เกินความเหมาะสมและเกินกว่ากรณี แห่งความจำเป็น กรณีจึงเป็นการกระทำอันเป็นการละเมิดเสรีภาพในการเสนอข่าวสารหรือแสดงความ คิดเห็นของบุคคลและสื่อมวลชน"
4.3 กรณีการชุมนุมและปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่ของรัฐกับกลุ่ม นปช. เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2553
"ผู้ใช้สิทธิและเสรีภาพการชุมนุมในที่สาธารณะจึงมีหน้าที่โดยปริยายที่ ต้องชุมนุมในลักษณะที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อบุคคลอื่นน้อยที่สุด แต่จากหลักฐานที่ปรากฏทางสื่อมวลชน และจากการให้ปากคำของผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ สรุปได้ว่า การชุมนุมของกลุ่ม นปช. เป็นการชุมนุมที่เกินขอบเขต และการแสดงออกซึ่งพฤติกรรมอันไม่ใช่วิธีปฏิบัติปกติ เช่น การโต้ตอบต่อฝ่ายรัฐบาล การบุกยึดรัฐสภา การปิดกั้นถนน การตรวจค้นรถประชาชน การสกัดกั้นรถขนส่งเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ การยึดรถไฟไม่ให้เดินทางเข้ามาสมทบในส่วนกลาง การขู่จะบุกยึดหรือเผาศาลากลางจังหวัด
นอกจากนี้ มีการปรากฏตัวของบุคคลไม่ทราบฝ่าย (ชายชุดดำ) ฉวยโอกาสสร้างสถานการณ์ให้เกิดความวุ่นวาย ด้วยการใช้อาวุธสงคราม เครื่องยิงระเบิด ยิงใส่เจ้าหน้าที่ของรัฐ จนเกิดการปะทะ มีการบาดเจ็บ ล้มตาย และทรัพย์สินทางราชการเสียหายสิ่งเหล่านี้ถือเป็นพฤติกรรมอันไม่ใช่วิธี ปฏิบัติปกติ ซึ่งแกนนำผู้ชุมนุมต้องมีหน้าที่ในการระมัดระวังและรับผิดชอบป้องกันไม่ให้ ผู้ไม่ประสงค์ดีเข้ามาแทรกแซงและใช้ความรุนแรงเพื่อให้การชุมนุมกลายเป็นการ ชุมนุมที่ไม่สงบลุกลามเป็นความรุนแรง มีการใช้อาวุธสงครามที่ร้ายแรง
และจากเหตุการณ์ดังกล่าวเห็นว่ามีเจตนาฝ่าฝืนพระราชบัญญัติการรักษาความมั่น คงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 รวมถึงการใช้และปิดกั้นพื้นที่ที่เกิดขึ้นเป็นการกระทำที่เกินกว่าจำเป็น อีกทั้งการกระทำดังกล่าวก่อความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนโดยทั่วไป การกระทำดังกล่าวจึงเป็นการกระทำอันเกินส่วน จนกระทบต่อสิทธิของบุคคลอื่นในการใช้ชีวิตโดยปกติทั่วไป และเป็นการใช้สิทธิเกินกว่าที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ได้บัญญัติรับรองคุ้มครองไว้
และการที่ผู้ชุมนุมได้ปิดถนนราชดำเนินและบริเวณใกล้เคียง ยังถือเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 พระราชบัญญัติทางหลวง พ.ศ. 2535 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2549 ซึ่งบัญญัติห้ามไม่ให้ชุมนุมหรือใช้พื้นที่ถนนหลวง รวมทั้ง ไหล่ทางในการชุมนุมหรือเดินขบวนก่อนได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจากเจ้า หน้าที่ หรือพระราชบัญญัติรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. 2535 และพระราชบัญญัติควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียง พ.ศ. 2493 เป็นต้น
อีกทั้งยังพบว่า ระหว่างการเผชิญหน้าระหว่างกลุ่มผู้ชุมนุมและเจ้าหน้าที่ทหาร ในบางโอกาส บางสถานที่ กลุ่มผู้ชุมนุมมีการใช้เด็กและสตรีอยู่แถวหน้าในลักษณะโล่มนุษย์ เป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสมและขาดความระมัดระวังภยันตรายที่อาจเกิดขึ้นกับ เด็ก สตรี จึงเห็นว่า เป็นการกระทำที่นอกเหนือจากที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้"
"ในการสลายการชุมนุม หรือการสั่งยุติการชุมนุม หรือการขอคืนพื้นที่ของรัฐบาลเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายและกติการะหว่าง ประเทศหรือไม่ นั้น จากการชุมนุมอันเกินส่วนและกระทบต่อสิทธิของบุคคลอื่น รวมถึง ผู้ที่ไม่ได้ร่วมในการชุมนุมกับกลุ่ม นปช. รัฐบาลโดยการสั่งการของผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินจึงมี คำสั่งให้เจ้าหน้าที่ทหารขอคืนพื้นที่ที่กลุ่มผู้ชุมนุมใช้ชุมนุมเกินส่วน เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2553 การปฏิบัติดังกล่าวเป็นการปฏิบัติหน้าที่เพื่อคุ้มครองสิทธิของประชาชนทั่ว ไป ตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ได้บัญญัติรับรองและคุ้มครองไว้ โดยมีการขอคืนพื้นผิวการจราจรบริเวณถนนราชดำเนินกลาง จากแยกอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยไปยังสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า ถนนราชดำเนินนอก จากแยกมิสกวันถึงแยก จปร. และบริเวณถนนพิษณุโลก จากสะพานชมัยมรุเชฐถึงแยกวังแดง
การขอคืนพื้นที่ดังกล่าวเห็นได้ว่า ในเบื้องต้นรัฐบาลได้ดำเนินการไปตามมาตรการที่ได้ประกาศไว้ก่อนที่จะมีการ รุกคืบเข้าปิดล้อมพื้นที่ โดยใช้การเจรจา ประกาศเตือน และใช้มาตรการตามที่ประกาศไว้ คือ การใช้โล่ กระบอง น้ำแรงดันสูง แก๊สน้ำตา กระสุนยาง เป็นต้น ซึ่งการกระทำของรัฐบาลเป็นการกระทำภายใต้กฎหมายที่ให้อำนาจไว้ แต่เมื่อพิจารณาถึงเหตุการณ์และความรุนแรงที่เกิดขึ้นจากการที่ผู้ชุมนุมใช้ เด็กและสตรีเป็นโล่มนุษย์ ใช้ไม้ปลายแหลม ก้อนอิฐตัวหนอน หนังสติ๊กที่ใช้น๊อตเป็นลูกกระสุน รวมทั้งมีพยานบุคคลยืนยันว่า ผู้ชุมนุมบางรายมีอาวุธปืนทำการต่อต้านการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ของรัฐ และยังมีกลุ่มชายชุดดำมีอาวุธที่พร้อมจะใช้ความรุนแรงได้ตลอดเวลาปะปนอยู่ กับกลุ่มผู้ชุมนุม อันอาจก่อให้เกิดความสูญเสียต่อชีวิตร่างกายและทรัพย์สินของเจ้าหน้าที่ทหาร และประชาชนทั่วไปได้ เจ้าหน้าที่ทหารจึงมีความจำเป็นต้องป้องกันตนเองและผู้อื่นให้พ้นจาก ภยันตรายที่ใกล้จะถึงตัว ที่รุนแรงอาจทำให้ถึงแก่ชีวิต หรือได้รับบาดเจ็บได้โดยไม่สามารถใช้วิธีป้องกันอย่างอื่นได้"
"อย่างไรก็ตาม การรุกคืบเข้าปิดล้อมพื้นที่ของรัฐบาล ในวันที่ 10 เมษายน 2553 ขาดการวางแผนที่ดีทั้งการดำเนินการในเชิงรุกและการป้องกัน ส่งผลให้มีการใช้วิธีการรุกคืบเข้าปิดล้อมพื้นที่ที่ไม่เหมาะสม เช่น การใช้เฮลิคอปเตอร์ทิ้งแก๊สน้ำใส่ผู้ชุมนุม การรุกคืบเข้าปิดล้อมในเวลากลางคืน ซึ่งเป็นวิธีการที่สุ่มเสี่ยงต่อการแทรกแซงจากกลุ่มบุคคลที่ไม่หวังดีที่ฉวย โอกาสสร้างความวุ่นวายต่อสถานการณ์ดังกล่าว จนเกิดการปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานและกลุ่มผู้ชุมนุม เป็นเหตุให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนมาก การกระทำของรัฐบาล แม้รับฟังได้ว่าเป็นการป้องกันตนเองและบุคคลอื่นให้พ้นจากภยันตรายต่อชีวิต และร่างกาย หรือเพื่อป้องกันมิให้เกิดการกระทำผิดอาญาร้ายแรงหรือเพื่อกระทำการจับกุม ผู้ที่กระทำอันตรายหรือต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานก็ตาม แต่ต้องไม่ทำเกินกว่าเหตุ นอกเสียจากไม่สามารถใช้มาตรการอื่นแทนได้
แต่การกระทำที่เป็นเหตุให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนมาก การ กระทำของรัฐจึงเป็นการกระทำโดยประมาทและประเมินสถานการณ์ที่ผิดพลาด จึงเป็นเรื่องที่รัฐบาลไม่อาจปฏิเสธความรับผิดชอบได้ อีกทั้งรัฐบาลมีหน้าที่ดูแลทุกข์สุขของประชาชนตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราช อาณาจักรไทยและกฎหมายอื่นได้กำหนดไว้ รัฐบาลจึงต้องรับผิดชอบในความเสียหายที่เกิดจากความประมาทนั้น ตลอดจนดำเนินการให้ความช่วยเหลือและเยียวยาตามสมควรแก่ผู้ที่ได้รับความสูญ เสียจากเหตุการณ์ดังกล่าวให้ครบถ้วนและทั่วถึงอย่างแท้จริงทั้งในส่วนของผู้ ชุมนุม เจ้าหน้าที่ของรัฐ และประชาชนที่ได้รับความเสียหาย ตลอดจนการบาดเจ็บและเสียชีวิตจากเหตุการณ์นี้ เป็นผลมาจากการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งรัฐต้องมีหน้าที่ในการดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรมต่อไป”
“นอกจากนี้ เหตุระเบิดในที่ประชุมนายทหารในพื้นที่ โดยปรากฏข้อเท็จจริงเป็นภาพหรือถ้อยคำของพยานว่ามีการใช้แสงเลเซอร์ชี้เป้า ก่อนนั้น แสดงให้เห็นได้ว่า มีการวางแผนเพื่อฆาตกรรมเจ้าหน้าที่ทหารที่อยู่ในที่ประชุมในวันนั้น ซึ่งเป็นผลให้พันเอก ร่มเกล้าธุวธรรม และสิบโท ภูริวัฒน์ ประพันธ์ ถึงแก่ความตาย อันเป็นการกระทำผิดอาญาฐานฆ่าคนตายโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ซึ่งรัฐโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวข้องต้องสืบสวนหาผู้ กระทำผิดมาลงโทษ รวมทั้งสอบสวนหาที่มาของอาวุธร้ายแรงชนิดต่างๆ ที่ใช้ในการชุมนุมเพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อไป”
“สำหรับกรณีการเสียชีวิตของนายฮิโรยูกิ มูราโมโต ผู้สื่อข่าวชาวญี่ปุ่น สำนักข่าวรอยเตอร์ กรณีดังกล่าวกรมสอบสวนคดีพิเศษได้รับเป็นคดีพิเศษและดำเนินการตามขั้น ตอนกระบวนการยุติธรรมแล้ว เมื่อหน่วยงานที่มีอำนาจโดยตรงได้ดำเนินการตามกฎหมายแล้ว คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ จึงไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยในประเด็นนี้”
"ส่วนกรณีการเสียชีวิตของกลุ่ม นปช. ขณะนี้ กรณีดังกล่าวอยู่ในขั้นตอนตามกระบวนการยุติธรรมแล้ว จึงไม่จำต้องวินิจฉัยในประเด็นนี้เช่นกัน"
"กล่าวโดยสรุป สำหรับกรณีของชายชุดดำ กรณีการเสียชีวิตของผู้ชุมนุม เจ้าหน้าที่ของรัฐ ผู้สื่อข่าว และประชาชนจากเหตุการณ์ครั้งนี้ทุกราย รวมถึง ผู้ได้รับบาดเจ็บ และทรัพย์สินได้รับความเสียหายด้วย รัฐบาลโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ต้องใช้หลักวิชา ตามกำลังความรู้ความสามารถในการอำนวยความยุติธรรมอย่างเต็มที่ และไม่มีการเลือกปฏิบัติ โดยควรดำเนินการสืบสวนสอบสวนและคลี่คลายให้สังคมได้รับรู้ พร้อมทั้งลงโทษผู้กระทำความผิดตามกระบวนการยุติธรรมด้วย ทั้งนี้ เพื่อทำความจริงให้ปรากฏ และนำมาซึ่งความเป็นธรรมให้เกิดขึ้นในสังคม"
4.4 กรณีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตจากระเบิดเอ็ม 79 บริเวณแยกศาลาแดงเมื่อวันที่ 22 เมษายน 2553
"เหตุการณ์การเผชิญหน้าและตอบโต้กันของกลุ่มผู้ชุมนุมสองฝ่ายดังกล่าว รัฐบาลได้มอบให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นผู้เข้ามาแก้ไขสถานการณ์ แต่จากพยานหลักฐาน นอกจากเจ้าหน้าที่ตำรวจจะนำรถควบคุมผู้ต้องขังมากั้นบริเวณสี่แยกศาลาแดง แล้ว ก็มิได้พยายามดำเนินการอื่นใดให้เหตุการณ์สงบลง จนต้องมีผู้ติดต่อขอให้เจ้าหน้าที่ตำรวจมาตั้งแนวป้องกัน แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจก็ไม่ได้เข้ามาตั้งแนวป้องกันในทันที และเมื่อมาตั้งแถวป้องกันไม่นานก็สลายตัวไป โดยอ้างเหตุผลว่าเป็นการยั่วยุอารมณ์ผู้ชุมนุมฝั่งถนนสีลมมากขึ้น จนกระทั่งเมื่อมีเหตุระเบิดเกิดขึ้น ในวันที่ 22 เมษายน 2553 มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต
ขณะเกิดเหตุเจ้าหน้าที่ตำรวจได้หลบออกไปไม่ให้การช่วยเหลือประชาชน แต่ปล่อยให้ประชาชนต้องช่วยเหลือกันเอง และมีเจ้าหน้าที่ทหารเข้ามาช่วยเหลือด้วย การกระทำของเจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งปฏิบัติหน้าที่ในเหตุการณ์ดังกล่าว เห็นได้ว่าเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยที่รัฐบาลและเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติ หน้าที่ไม่มีการวางแผนที่ดีพอในการปกป้องรักษาความปลอดภัยให้แก่ประชาชน และมีลักษณะที่อาจทำให้ถูกมองได้ว่าเป็นการเลือกปฏิบัติ จึงถือได้ว่ารัฐบาลและเจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งปฏิบัติหน้าที่ในเหตุการณ์ดัง กล่าวละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน ซึ่งรัฐบาลควรดำเนินการปกป้องสิทธิของประชาชนที่ไม่เกี่ยวข้องกับการชุมนุม ให้มากกว่านี้"
"...ในคืนวันที่ 22 เมษายน 2553 มีพยานบุคคลที่เห็นว่า ลูกระเบิดเอ็ม 79 ถูกยิงมาจากทิศทางและบริเวณที่กลุ่ม นปช. ใช้เป็นที่ชุมนุม และยังมีพยานบุคคลที่ได้ยินแกนนำของกลุ่ม นปช. ประกาศผ่านทางเครื่องขยายเสียง ในทำนองที่ทำให้เข้าใจได้ว่า แกนนำของกลุ่ม นปช. รับรู้ล่วงหน้าแล้วว่าจะมีเหตุการณ์อันตรายที่อาจถึงแก่ชีวิตเกิดขึ้นใน บริเวณดังกล่าวและในช่วงระยะเวลาอันใกล้ ซึ่งภายหลังก็ปรากฏว่าเจ้าหน้าที่ของกรมสอบสวนคดีพิเศษได้ติดตามจับกุมนาย เจ็มส์ สิงห์สิทธิ์ ซึ่งเป็นคนสนิทของ พลตรี ขัตติยะ สวัสดิผล หรือ เสธ. แดง อดีตผู้ทรงคุณวุฒิกองทัพบก หนึ่งในแกนนำของกลุ่ม นปช. โดยที่คดีดังกล่าวนายเจ็มส์ สิงห์สิทธิ์ ไม่ได้รับสารภาพ และปัจจุบันคดียังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลอาญา"
"นอกจากนี้ การที่กลุ่ม นปช. มีการจุดพลุ ตะไล และประทัด ย่อมทำให้เห็นได้ว่า เป็นการกระทำเพื่อประโยชน์ในการอำพรางหรือบิดเบือนเสียงการยิงลูกระเบิดเอ็ม 79 จนมีผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บดังกล่าว ทั้งนี้ การจุดพลุ ตะไล และประทัด เพื่อข่มขู่กลุ่มผู้ชุมนุมเสื้อหลากสี และประชาชนทั่วไปนั้น ย่อมถือเป็นการกระทำที่ก่อให้เกิดความวุ่นวาย เกิดเสียงดังสร้างความเดือดร้อนแก่ผู้อื่น ทั้งที่บริเวณดังกล่าวอยู่ติดกับโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ควรให้ความเคารพต่อสิทธิและเสรีภาพของบุคคลในชีวิตและ ร่างกายของผู้ป่วยที่พักรักษาตัวอยู่รวมทั้งคำนึงถึงหลักมนุษยธรรม โดยไม่ขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของบุคลากรทางการแพทย์ในการรักษาพยาบาล ดูแล และการนำส่งหรือเคลื่อนย้ายผู้ป่วย"
"ดังนั้น จึงเห็นได้ว่าในเหตุการณ์นี้ การชุมนุมของกลุ่ม นปช. บริเวณแยกศาลาแดง มีการกระทำหรือร่วมมือ หรือให้การสนับสนุนให้มีการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลใน ชีวิต ร่างกาย และสิทธิในทรัพย์สินของผู้อื่น ซึ่งเป็นการกระทำที่ไม่เคารพต่อสิทธิและเสรีภาพของบุคคลที่ได้รับการรับรอง ไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2550 มาตรา 32 ที่บัญญัติว่า “บุคคลย่อมมีสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย...” การชุมนุมของกลุ่ม นปช. ในเหตุการณ์นี้ จึงเป็นการชุมนุมที่เกินกว่าสิทธิและเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญให้การรับรองไว้ ถือไม่ได้ว่าเป็นการชุมนุมที่สงบและปราศจากอาวุธตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราช อาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 63 ได้บัญญัติไว้ ทั้งยังเป็นการชุมนุมที่มีการกระทำอันเป็นความผิดกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องหลายประการ ตลอดจนผลของความเดือดร้อนเสียหายที่เกิดขึ้นจากการชุมนุมในเหตุการณ์นี้ ทำให้ถือได้ว่าการชุมนุมของกลุ่ม นปช. มีการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนของบุคคลอื่นที่มิได้เกี่ยวข้องกับ การชุมนุม"
4.5 กรณีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตบริเวณอนุสรณ์สถานแห่งชาติ เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2553
"จากข้อเท็จจริงปรากฏว่า รัฐบาลได้ใช้อำนาจในการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินตามพระราชกำหนดการบริหาร ราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ตั้งแต่วันที่ 7 เมษายน 2553 ซึ่งหลังจากนั้น นายกรัฐมนตรีได้ออกข้อกำหนดตามกฎหมายดังกล่าวมีผลทำให้การใช้เสรีภาพในการ ชุมนุมถูกกระทบและจำกัดขอบเขตลง เนื่องจากข้อบัญญัติตามข้อกำหนดมีผลเป็นการห้ามบุคคลในการใช้สิทธิและ เสรีภาพบางประการ เช่น ห้ามมิให้มีการชุมนุม ห้ามการใช้เส้นทางคมนาคม ห้ามออกนอกเคหสถาน เป็นต้น การดำเนินการดังกล่าวจึงเป็นการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลที่รัฐธรรมนูญ รับรองไว้ แต่เนื่องจากการกระทำของรัฐบาลได้ใช้ดุลยพินิจเพื่อคุ้มครองความสะดวกของ ประชาชนที่จะใช้ที่สาธารณะ และเพื่อรักษาความเรียบร้อยในระหว่างที่มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน อันเป็นข้อยกเว้นที่จะจำกัดการใช้สิทธิและเสรีภาพตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้"
"สำหรับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวันที่ 28 เมษายน 2553 การที่รัฐบาลโดย ศอฉ. ได้มีการสั่งการให้เจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจเข้าคลี่คลายสถานการณ์ เพื่อป้องกันมิให้เกิดการกระทำที่เป็นการจงใจละเมิดกฎหมาย และสร้างความเดือดร้อนแก่ประชาชนทั่วไปในการใช้พื้นที่สาธารณะและเส้นทาง คมนาคม เช่นเดียวกับเหตุการณ์ในวันที่ 26 เมษายน 2553 โดยเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจได้วางกำลังสกัดกั้นขบวนของกลุ่ม นปช. บนถนนวิภาวดีรังสิตขาออก บริเวณด้านข้างอนุสรณ์สถานแห่งชาติ และวางกำลังควบคุมการคมนาคมโดยรอบพื้นที่ เพื่อป้องกันการเพิ่มเติมกำลังของกลุ่ม นปช. รวมทั้งควบคุมบริเวณทางขึ้น-ลง และบนทางยกระดับดอนเมืองโทล์เวย์ เพื่อป้องกันไม่ให้กองกำลังติดอาวุธใช้ทางยกระดับฯ ยิงอาวุธ หรือใช้ระเบิดโจมตีเจ้าหน้าที่ซึ่งปฏิบัติงานบนถนนวิภาวดีฯ นั้น"
"แม้ ศอฉ. จะชี้แจงว่า เป็นการกระทำที่มีกฎหมายให้อำนาจไว้ โดยมีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 และได้มีการออกข้อกำหนดตามกฎหมายดังกล่าว อันมีผลทำให้การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ของรัฐในการตั้งด่านสกัดกั้น การเคลื่อนขบวนของกลุ่ม นปช. ในเหตุการณ์นี้ เป็นไปตามหลักการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้แล้ว โดยในการดำเนินการบังคับใช้กฎหมายหรือการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ของ รัฐในเหตุการณ์นี้ เจ้าหน้าที่ได้ปฏิบัติตามขั้นตอนจากเบาไปหาหนัก และใช้เครื่องขยายเสียงแจ้งให้กลุ่ม นปช. ทราบถึงการปฏิบัติในทุกขั้นตอนแล้ว จนกระทั่งในที่สุด เจ้าหน้าที่มีความจำเป็นต้องใช้อาวุธเพื่อป้องกันตนเองและปกป้องประชาชนผู้ บริสุทธิ์ แต่อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเห็นว่าผลจากการปะทะกันระหว่างกลุ่ม นปช. กับเจ้าหน้าที่ทหารในเหตุการณ์ดังกล่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่มีเจ้าหน้าที่ทหารเสียชีวิต 1 นาย จากอาวุธปืน และประชาชนตลอดจนเจ้าหน้าที่ทหารจำนวนหนึ่งได้รับบาดเจ็บ จึงถือได้ว่า มีการกระทำอันเป็นการกระทบต่อสิทธิมนุษยชนต่อประชาชนทั่วไป เจ้าหน้าที่ทหารซึ่งได้รับบาดเจ็บ และผู้เสียชีวิต"
"สำหรับการเสียชีวิตของ พลทหาร ณรงค์ฤทธิ์ สาละ นั้น แม้จะปรากฏว่ามีภาพเคลื่อนไหวจากสื่อมวลชนที่บันทึกภาพไว้ได้ แต่ก็เป็นการบันทึกภาพจากระยะไกลและมีความละเอียดภาพไม่ชัดเจนว่า เจ้าหน้าที่ทหารที่เสียชีวิตถูกยิงขณะหันหน้าไปในทิศทางใด ประกอบกับเจ้าหน้าที่ผู้ชันสูตรพลิกศพได้ให้ข้อมูลไว้ว่า ได้มีการชันสูตรพลิกศพโดยนำหมวกของเจ้าหน้าที่ทหารที่เสียชีวิตมาตรวจด้วย พบว่า กระสุนปืนทะลุหมวกเข้าขมับและฝังใน สาเหตุของการเสียชีวิตมาจากกะโหลกแตก สมองถูกทำลาย ตะกั่วกับทองแดงฝังอยู่ในกะโหลก หมวกมีรอยทะลุ ไม่พบเขม่า แสดงว่าเป็นการยิงจากระยะไกล รอยทะลุของหมวกอยู่ด้านซ้ายขนาด 0.5 เซ็นติเมตร (5 มิลลิเมตร) ทิศทางมาจากซ้ายไปขวา แต่ไม่จำเป็นว่า กระสุนจะถูกยิงมาจากทางซ้ายมือของผู้ตาย ขึ้นอยู่กับว่าขณะถูกยิง เจ้าหน้าที่ทหารผู้ตายกำลังหันหน้าไปในทิศทางใด ฉะนั้น การระบุทิศทางที่กระสุนถูกยิงมาจึงเป็นไปได้จากทุกทิศทาง
สิ่งที่บอกได้ชัดเจนจากสภาพศพนี้ คือ ถูกยิงมาในแนวระนาบเท่านั้น ซึ่งต่อมา ศาลอาญาได้มีคำสั่งในคดีหมายเลขดำ ที่ อช.4/2555 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 5 เป็นโจทก์ยื่นคำร้องให้ไต่สวนชันสูตรการตายของพลทหาร ณรงค์ฤทธิ์ สาละ สังกัดกองพันทหารราบที่ 2 กองพลทหารราบที่ 9 จังหวัดกาญจนบุรี ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 150 โดยศาลพิเคราะห์แล้วมีคำสั่งว่าผู้ตาย คือ พลทหาร ณรงค์ฤทธิ์ สาละ เสียชีวิตที่บริเวณถนนวิภาวดีรังสิตหน้าอนุสรณ์สถานแห่งชาติ เขตดอนเมือง เมื่อเวลา 15.00 น. ของวันที่ 28 เมษายน 2553 ถูกยิงด้วยกระสุนปืนความเร็วสูง ที่ยิงจากอาวุธของเจ้าหน้าที่ทหาร ที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ในขณะนั้นโดยกระสุนปืนถูกที่หางคิ้วด้านซ้าย ทะลุกะโหลกศีรษะ ทำลายเนื้อเยื่อสมองเป็นเหตุให้ถึงแก่ความตาย ดังนั้น เมื่อกรณีเป็นการไต่สวนในชั้นศาลแล้ว คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติจึงไม่อาจก้าวล่วงมีคำวินิจฉัยในประเด็นนี้"
4.6 กรณีการชุมนุมของกลุ่ม นปช. บริเวณรอบโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และการเข้าไปตรวจค้นโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2553
"การที่กลุ่ม นปช. ได้ขยายพื้นที่การชุมนุมจากสี่แยกราชประสงค์มาจนถึงถนนราชดำริ บริเวณสวนลุมพินี และข้างโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ทำให้ทางโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ บุคลากรทางการแพทย์ ผู้ป่วยและญาติของผู้ป่วยได้รับผลกระทบจากการชุมนุมของกลุ่ม นปช. ด้านถนนราชดำริมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ช่วงต้นเดือนเมษายน 2553 เป็นต้นมา ทั้งเรื่องมลภาวะทางเสียงที่รบกวนผู้ป่วยที่รักษาตัวในอาคารต่างๆ ที่อยู่ติดกับถนนราชดำริ การตั้งด่านปิดกั้นกีดขวางทางเข้า - ออกโรงพยาบาล การตรวจค้นกระเป๋าของผู้ที่จะเดินทางเข้า - ออกโรงพยาบาล การเข้าไปใช้พื้นที่ด้านหน้าตึก ภปร. เพื่อชุมนุมในยามค่ำคืน การขอเข้าไปตรวจค้นอาคารของโรงพยาบาล การจุดประทัดที่มีเสียงคล้ายปืน การตั้งถังแก๊สจำนวน 5 ถัง บริเวณติดกับโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ฝั่งถนนราชดำริ หากเกิดระเบิดขึ้นจะมีรัศมีการทำลายเป็นบริเวณกว้าง เป็นเหตุให้โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ต้องย้ายผู้ป่วยออกจากอาคาร ภปร. และอาคาร สก. ซึ่งเป็นอาคารอยู่ใกล้กับการชุมนุมของกลุ่ม นปช. ฝั่งถนนราชดำริ เพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วย เหตุการณ์ทั้งหมดนี้ได้ส่งผลกระทบต่อสิทธิของผู้ป่วย ตลอดจนแพทย์พยาบาล และเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลอย่างรุนแรง"
"โดยที่เสรีภาพของบุคคลในการชุมนุมซึ่งจะได้รับการรับรองตามรัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 63 นั้น จะต้องเป็นการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ นอกจากนี้ การใช้เสรีภาพดังกล่าวยังต้องกระทำภายใต้หลักของการใช้สิทธิและเสรีภาพโดย ไม่ก้าวล่วงในสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่นด้วย"
"ดังนั้น การชุมนุมของกลุ่ม นปช. ในบริเวณติดกับโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย จึงเป็นการใช้เสรีภาพในการชุมนุมที่มีขอบข่ายที่กว้างขวางเกินจำเป็น รวมทั้งย่อมเล็งเห็นได้อยู่แล้วว่าจะเป็นการรบกวนความเป็นอยู่และอาจเกิด อันตรายกับผู้ป่วย อันเป็นการละเมิดต่อสิทธิและเสรีภาพของบุคคลในชีวิตและร่างกายและสิทธิในการ ได้รับบริการสาธารณสุขอีกทั้งยังเป็นการสร้างความหวาดกลัวและความรู้สึกไม่ ปลอดภัยในการเดินทางและการปฏิบัติหน้าที่ของแพทย์ พยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์ในการทำหน้าที่ช่วยเหลือชีวิตบุคคลอื่น อันเป็นการละเมิดหลักมนุษยธรรมด้วย ดังนั้น การชุมนุมดังกล่าวจึงไม่ได้รับการรับรองและคุ้มครอง ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550"
"ทั้งนี้ เมื่อการชุมนุมของกลุ่ม นปช. ในบริเวณติดกับโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์สภากาชาดไทย และมีผู้ชุมนุมบางส่วนบุกเข้าไปในโรงพยาบาล จึงเป็นการใช้เสรีภาพในลักษณะก้าวล่วงสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่น รัฐย่อมมีหน้าที่ดำเนินการให้เกิดความสงบเรียบร้อย โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายภายใต้เงื่อนไขที่รัฐธรรมนูญกำหนด อันได้แก่ เพื่อคุ้มครองความสะดวกของประชาชนที่จะใช้ที่สาธารณะ หรือเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยในระหว่างเวลาที่มีการประกาศสถานการณ์ฉุก เฉิน หรือประกาศใช้กฎอัยการศึก ซึ่งสอดคล้องกับกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ข้อ 21 ที่กำหนดว่า “สิทธิในการชุมนุมโดยสงบย่อมได้รับการรับรอง การจำกัดการใช้สิทธินี้จะกระทำมิได้ นอกจากจะกำหนดโดยกฎหมายและเพียงเท่าที่จำเป็นสำหรับสังคมประชาธิปไตย เพื่อประโยชน์แห่งความมั่นคงของชาติ หรือความปลอดภัย ความสงบเรียบร้อยการสาธารณสุข หรือศีลธรรมของประชาชน หรือการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่น"
"ดังนั้น การที่รัฐปล่อยให้มีการชุมนุมถึงขั้นก่อให้เกิดความเดือดร้อนทั้งเรื่องมล ภาวะทางเสียงที่รบกวนผู้ป่วยที่รักษาตัวในโรงพยาบาลด้านที่อยู่ติดกับถนนราช ดำริ การตั้งด่านด้วยยางรถยนต์และไม้ไผ่ปิดกั้นกีดขวางทางเข้า - ออกโรงพยาบาล การตรวจค้นกระเป๋าของผู้ที่จะเดินทางเข้าออกโรงพยาบาล ตลอดจนการเข้าไปใช้พื้นที่ด้านหน้าตึก ภปร. เพื่อชุมนุมในเวลากลางคืนนั้น จึงถือได้ว่า รัฐปล่อยปละละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนด้วย"
"ประเด็นที่ต้องพิจารณาต่อไปมีว่า การเข้าไปตรวจค้นโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2553 เป็นการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือไม่ เห็นว่า สำหรับเหตุการณ์ในวันที่ 29 เมษายน 2553 เวลาประมาณ 18.00 น. การที่กลุ่ม นปช. ภายใต้การนำของนายพายัพ ปั้นเกตุ และภายใต้การรับรู้ของแกนนำ นปช. อีกสองคน คือ นายจตุพร พรหมพันธุ์ และนายแพทย์เหวง โตจิราการ ได้ขอเข้าตรวจสอบภายในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เนื่องจากอ้างว่า จะมีกลุ่มเจ้าหน้าที่ทหารซ่อนตัวอยู่ภายในอาคาร ภปร. ซึ่งเจ้าหน้าที่ด้านการรักษาความปลอดภัย ผู้ช่วยผู้อำนวยการโรงพยาบาล ตลอดจนผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ได้พยายามชี้แจงและยืนยันแล้วว่า ไม่มีกลุ่มเจ้าหน้าที่ทหารซ่อนตัวอยู่ในโรงพยาบาลแต่อย่างใด
และในที่สุดจึงมีการเจรจายอมให้กลุ่ม นปช. เข้าไปตรวจสอบภายในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ได้ โดยจำกัดจำนวนคนที่จะเข้าไปตรวจค้นได้ ไม่เกิน 30 คน โดยแบ่งเป็นกลุ่มๆ ละ 15 คน เพื่อนำไปตรวจค้นที่อาคาร ภปร. และจะต้องกระทำภายในขอบเขตตามที่ตกลงกันไว้ แต่กลับปรากฏว่าการตรวจค้นดังกล่าว กลุ่ม นปช. ไม่ปฏิบัติตามที่ตกลง เนื่องจากกลุ่ม นปช. จำนวนประมาณ 100 คน ได้ร่วมกันบุกเข้าไปภายในบริเวณพื้นที่ของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โดยแกนนำไม่สามารถควบคุมได้ และเข้าไปตรวจค้นที่อาคาร สก. รวมทั้งมีการงัดทำลายประตูกระจกของอาคาร สก. จนได้รับความเสียหาย จึงถือได้ว่าการกระทำดังกล่าวของกลุ่ม นปช. มีลักษณะเป็นการร่วมกันบุกรุกสถานที่ราชการในยามวิกาล และงัดทำลายประตูกระจกของอาคาร สก. จึงเป็นการละเมิดสิทธิในทรัพย์สินของบุคคลอื่น ซึ่งเป็นทรัพย์สินของทางราชการที่ใช้และมีไว้เพื่อประโยชน์สาธารณะ"
"เหตุการณ์ดังกล่าวส่งผลให้ผู้ป่วย ญาติ และบุคลากรทางการแพทย์ไม่มั่นใจในความปลอดภัยของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์อีกต่อ ไป จนทำให้โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ตัดสินใจ ย้ายผู้ป่วยในทั้งหมดไปที่โรงพยาบาลอื่น จึงเห็นได้ว่า การกระทำดังกล่าวของกลุ่ม นปช. เป็นการกระทำที่ไม่เคารพและละเมิดต่อสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่น ทำให้บุคลากรทางการแพทย์เกิดความหวาดกลัวและเกิดความรู้สึกไม่ปลอดภัย จนไม่สามารถช่วยเหลือ ดูแล รักษาผู้ป่วย และปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างเต็มที่ ขณะเดียวกันยังเป็นการละเมิดสิทธิของประชาชนที่จะได้รับการรักษาพยาบาล ทั้งเป็นการกระทำที่ละเมิดต่อหลักมนุษยธรรม ซึ่งเป็นกติกาสากลที่สังคมอารยะพึงยึดถือ ที่แม้ในยามสงครามหรือความขัดแย้งสู้รบระหว่างประเทศ โรงพยาบาล รถพยาบาลเครื่องมือทางการแพทย์ บุคลากรทางการแพทย์ ต้องได้รับการคุ้มครองจากทุกฝ่ายให้มีความปลอดภัยและสามารถปฏิบัติหน้าที่ ตามหลักมนุษยธรรมได้อย่างเต็มที่
นอกจากนี้ทุกฝ่ายยังต้องเคารพเครื่องหมายกาชาด ซึ่งเป็นสัญลักษณ์สากลอันหมายถึง การให้ความช่วยเหลือด้านการแพทย์และมนุษยธรรมอย่างเป็นกลางโดยไม่เลือก ปฏิบัติ ดังนั้น การกระทำของกลุ่ม นปช.ในกรณีนี้ จึงถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน และยังเป็นการกระทำที่ควรมีการสืบสวนสอบสวนผู้มีส่วนร่วมในการกระทำดังกล่าว ตามกระบวนการยุติธรรมทางอาญาต่อไป"
4.7 กรณีการเกิดเหตุจลาจล ปะทะ และทำลายทรัพย์สินของราชการและเอกชนระหว่างวันที่ 13-19 พฤษภาคม 2553
"การใช้เสรีภาพในการชุมนุมของกลุ่ม นปช. บางส่วน ระหว่างวันที่ 13 - 19 พฤษภาคม 2553 เป็นเหตุที่สามารถส่งผลโดยตรงหรือโดยอ้อม ให้เกิดกรณีการสูญเสียชีวิต บาดเจ็บ และทรัพย์สินของราชการและเอกชนได้รับความเสียหาย เห็นได้ชัดว่าเป็นการชุมนุมที่ไม่สงบและใช้อาวุธ โดยข้อเท็จจริงปรากฏว่ามีบุคคลใช้อาวุธยิงปะทะกับเจ้าหน้าที่ทหารอยู่เป็น ระยะ แม้ในปัจจุบันจะยังไม่อาจพิสูจน์ได้อย่างแน่ชัดว่า กลุ่มบุคคลดังกล่าวนั้นเป็นผู้ใดหรือฝ่ายใด แต่ลักษณะของการใช้อาวุธนั้นเป็นการกระทำต่อเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ของการ ชุมนุมนอกจากนี้ ผลของการชุมนุมในช่วงระยะเวลาดังกล่าวข้างต้นได้เกิดผลกระทบต่อชีวิตร่างกาย และการประกอบอาชีพ ตลอดจนทรัพย์สินของบุคคลอื่น ดังนั้น การใช้เสรีภาพในการชุมนุมของกลุ่ม นปช. จึงยังไม่สอดคล้องและเป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 27 ที่บัญญัติว่า “สิทธิและเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญนี้รับรองไว้โดยชัดแจ้ง โดยปริยาย หรือโดยคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญย่อมได้รับความคุ้มครอง และผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล รวมทั้งองค์กรตามรัฐธรรมนูญและหน่วยงานของรัฐโดยตรงในการตรากฎหมาย การใช้บังคับกฎหมาย และการตีความกฎหมายทั้งปวง” และมาตรา 63 ที่บัญญัติว่า"
“บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ การจำกัดเสรีภาพตามวรรคหนึ่งจะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เฉพาะในกรณีการชุมนุมสาธารณะ และเพื่อคุ้มครองความสะดวกของประชาชนที่จะใช้ที่สาธารณะ หรือเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยในระหว่างเวลาที่ประเทศอยู่ในภาวะสงครามหรือ ในระหว่างเวลาที่มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินหรือประกาศใช้กฎอัยการศึก”
"ตามข้อเท็จจริง รัฐบาลโดย ศอฉ. ได้กำหนดมาตรการเพื่อให้เกิดความสงบเรียบร้อยในพื้นที่บริเวณสี่แยกราชประสงค์ ซึ่งเป็นพื้นที่ชุมนุมและบริเวณโดยรอบ ตั้งแต่วันที่ 13 - 19 พฤษภาคม 2553 โดย ศอฉ. ได้ ประกาศแจ้งให้ผู้ชุมนุมออกจากพื้นที่และใช้มาตรการตัดการบริการสาธารณูปโภค ไฟฟ้า ประปา โทรศัพท์ ระบบขนส่งมวลชน รวมทั้งปิดล้อมเส้นทางโดยรอบสี่แยกราชประสงค์ และกำหนดให้เจ้าหน้าที่ทหารสามารถใช้อาวุธปืนเพื่อป้องกันตนเองได้ ซึ่งกำหนดให้ใช้กระสุนจริงใน 3 กรณี คือ ยิงขึ้นฟ้าเพื่อสกัดกั้นและแจ้งเตือน รักษาระยะห่างจากกลุ่มผู้ชุมนุม ตลอดจนยิงป้องกันตนเองหรือประชาชนผู้บริสุทธิ์ที่กำลังถูกคุกคามต่อชีวิต และตอบโต้กับกลุ่มติดอาวุธสงคราม ซึ่งเป็นเป้าหมายชัดเจน โดยคำนึงถึงประชาชนผู้บริสุทธิ์"
"พิจารณาแล้วเห็นว่า มาตรการต่างๆ ของรัฐบาลที่ใช้ในกระชับพื้นที่บริเวณสี่แยกราชประสงค์ ซึ่งเป็นพื้นที่ชุมนุมและบริเวณโดยรอบ ตั้งแต่วันที่ 13 - 19 พฤษภาคม 2553 ซึ่ง ศอฉ. อ้างว่า มีความมุ่งหมายเพื่อจำกัดพื้นที่การชุมนุมและปกป้องประชาชนผู้บริสุทธิ์ที่ อาจถูกคุกคามต่อชีวิต อันเป็นการใช้อำนาจตามบทบัญญัติของพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 กรณีดังกล่าวเห็นว่า การที่รัฐใช้อำนาจจำกัดเสรีภาพในการชุมนุมเป็นการใช้อำนาจตามบทบัญญัติแห่ง กฎหมาย เฉพาะในกรณีการชุมนุมสาธารณะ และเพื่อคุ้มครองความสะดวกของประชาชนที่จะใช้ที่สาธารณะ หรือเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย ในระหว่างเวลาที่ประเทศอยู่ในภาวะสงคราม หรือในระหว่างเวลาที่มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือประกาศใช้กฎอัยการศึก ตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 63 บัญญัติให้กระทำได้"
"อย่างไรก็ตาม การปฏิบัติของรัฐบาลระหว่าง วันที่ 13 - 19 พฤษภาคม 2553 ได้ ปรากฏเหตุการณ์ยิงปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่ของรัฐกับกลุ่มบุคคลผู้ติดอาวุธ ที่แฝงตัวอยู่ในกลุ่มผู้ชุมนุม จนเป็นเหตุให้เกิดผลกระทบไปถึงประชาชนผู้บริสุทธิ์ และเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งศูนย์บริการการแพทย์ฉุกเฉินกรุงเทพมหานคร (ศูนย์เอราวัณ) ได้รวบรวมข้อมูลผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจากสถานการณ์การชุมนุมของกลุ่ม นปช. ระหว่างวันที่ 13 - 19 พฤษภาคม 2553 มีผู้บาดเจ็บจำนวน 404 คน เสียชีวิต จำนวน 51 คน รวมผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต ทั้งหมด 455 คน จากเหตุการณ์ดังกล่าว แม้รัฐบาลจะดำเนินการโดยอาศัยอำนาจตามกฎหมาย แม้จะยังไม่มีพยานหลักฐานยืนยันได้ว่า ผู้ใดฝ่ายใดเป็นผู้ยิงผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บดังกล่าว และกลุ่มบุคคลผู้ติดอาวุธที่แฝงตัวในกลุ่มผู้ชุมนุมคือใครก็ตาม แต่เมื่อปรากฏความเสียหายต่อชีวิตร่างกายของบุคคลเกิดขึ้นจากการใช้มาตรการ นี้ ผลที่เกิดขึ้นส่วนหนึ่งย่อมเป็นไปได้ว่า อาจเกิดจากการกระทำของฝ่ายเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ใช้อาวุธด้วย รัฐบาลจึงมีหน้าที่รับผิดชอบในการเยียวยาช่วยเหลือแก่ครอบครัวของผู้เสีย ชีวิตและผู้ได้รับบาดเจ็บดังกล่าว รวมทั้งครอบครัวผู้ได้รับบาดเจ็บดังกล่าวด้วยเหตุที่ผู้ได้รับบาดเจ็บนั้นตก อยู่ในสภาพพิการจากเหตุการณ์ความไม่สงบนั้น"
"นอกจากนี้ รัฐบาลยังมีหน้าที่ต้องดำเนินการสืบสวนสอบสวนหาผู้กระทำผิดมาเข้าสู่กระบวน การยุติธรรมต่อไป รวมทั้งการตรวจสอบการกระทำของเจ้าหน้าที่ของรัฐว่าผู้ใดได้กระทำการที่เกิน มาตรการตามกฎหมายที่รัฐบาลโดย ศอฉ. กำหนดไว้หรือไม่ อย่างไร"
"สำหรับประเด็นสิทธิในทรัพย์สินนั้น ตามข้อเท็จจริง เหตุการณ์เมื่อวันที่ 13 – 19 พฤษภาคม 2553 มีการเผาอาคารสถานที่ต่างๆ บริเวณถนนพระราม 4 ย่านบ่อนไก่ ได้แก่ ร้านค้า และอาคารธนาคาร และโดยเฉพาะ วันที่ 19 พฤษภาคม 2553 หลังจากแกนนำประกาศยุติการชุมนุม ได้เกิดเพลิงไหม้อาคารห้างสรรพสินค้าหลายแห่ง ได้แก่ ห้างสรรพสินค้า เซ็นทรัลเวิลด์ สยามสแควร์ และห้างสรรพสินค้าเซ็นเตอร์วัน ซึ่งบริเวณห้างสรรพสินค้า เซ็นทรัลเวิลด์ มีพยานยืนยันว่า เกิดการปะทะกันระหว่างพนักงานรักษาความปลอดภัยของห้างกับการ์ดของกลุ่ม นปช. และกลุ่มชายชุดดำ แล้วจึงเกิดการเผาอาคารห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล เวิลด์ ในเวลาต่อมา
อีกทั้งมีการเข้าไปลักทรัพย์ในศูนย์การค้าดังกล่าวด้วย นอกจากนี้ จากพยานหลักฐานที่เป็นภาพเคลื่อนไหว ซึ่งผู้สื่อข่าวของสำนักข่าวแห่งหนึ่งได้มอบให้ไว้ในขั้นการตรวจสอบข้อเท็จ จริง ปรากฏภาพเหตุการณ์ยืนยันว่า การเผาอาคารในบริเวณสี่แยกราชประสงค์และบริเวณใกล้เคียงนั้น มีผู้กระทำบางคนอยู่ภายในพื้นที่การชุมนุมของกลุ่ม นปช. และสาเหตุที่กระทำนั้น ส่วนหนึ่ง อาจเป็นเพราะบุคคลเหล่านั้น เกิดความไม่พอใจจากการที่แกนนำกลุ่ม นปช. ที่เวทีราชประสงค์ได้ประกาศยุติการชุมนุม แล้วเข้ามอบตัวที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งการเผาและทำลายทรัพย์สินในครั้งนี้ เป็นลักษณะการกระทำที่แกนนำของกลุ่ม นปช. ได้เคยปราศรัยยั่วยุแก่กลุ่มผู้ชุมนุมไว้ก่อนหน้านี้แล้ว"
"พฤติการณ์ของการกระทำในการเผาอาคารทรัพย์สินนั้น ได้แผ่ขยายไปถึงการเผาศาลากลางในหลายจังหวัดในเวลาต่อมา จนกระทั่งมีการจับกุมผู้ก่อเหตุและดำเนินคดีตามกฎหมาย ข้อเท็จจริงดังกล่าวข้างต้นนี้ แสดงให้เห็นว่า การชุมนุมของกลุ่ม นปช. เป็นการชุมนุมที่มีลักษณะเป็นกระบวนการที่ก่อให้เกิดความวุ่นวายและไม่สงบ เรียบร้อยในบ้านเมืองและเผาทำลายทรัพย์สินของบุคคลอื่น รวมทั้งทรัพย์สินของทางราชการได้รับความเสียหายจำนวนมาก จึงเป็นการกระทำละเมิดสิทธิในทรัพย์สินผู้อื่น ซึ่งรัฐธรรมนูญให้การคุ้มครองไว้ ตามมาตรา 41 และเป็นการกระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญาฐานวางเพลิงเผาทรัพย์ผู้อื่น วางเพลิงเผาทรัพย์ อันเป็นสถานที่ราชการ ทำลายทรัพย์สินราชการและทรัพย์สินเอกชน รวมทั้งลักทรัพย์ของผู้อื่น การกระทำดังกล่าวจึงเป็นการกระทำที่กระทบต่อสิทธิในทรัพย์สินของบุคคลอื่น อันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน"
"สำหรับประเด็นด้านประสิทธิภาพ การบริหารจัดการของรัฐบาลในการปฏิบัติการที่ใช้มาตรการของรัฐบาลที่ใช้ใน พื้นที่บริเวณสี่แยกราชประสงค์และบริเวณใกล้เคียง เมื่อวันที่ 13 – 19 พฤษภาคม 2553 เห็นว่า แม้รัฐบาลจะใช้อำนาจตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ด้วยเหตุจำเป็นสมควร แต่การดำเนินการของเจ้าหน้าที่ทหารดังกล่าวที่ปรากฏการยิงปะทะกับกลุ่มผู้ ติดอาวุธที่แฝงตัวในฝ่ายผู้ชุมนุม ย่อมเป็นส่วนหนึ่งให้เกิดผลกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกายและ ทรัพย์สินของบุคคล ซึ่งรัฐต้องเยียวยาและหาตัวผู้กระทำผิดมาดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรมต่อไป
สำหรับกรณีการเสียชีวิตของพลตรี ขัตติยะ สวัสดิผล ปรากฏข้อเท็จจริงว่ากรมสอบสวนคดีพิเศษได้พิจารณากรณีนี้ไปตามอำนาจหน้าที่ แล้ว รวมทั้งกรณีของ นายฟาบิโอ โปเลงกี (Mr.Fabio Polenghi) ผู้สื่อข่าวชาวอิตาเลียนที่เสียชีวิตในเหตุการณ์นี้ ได้มีการดำเนินการตามขั้นตอนกระบวนการยุติธรรม โดยพนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ 4 ได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลไต่สวนการตาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 150 เป็นคดี ที่ ช. 10/2555 ซึ่งศาลอาญากรุงเทพใต้ได้ไต่สวนคำร้องดังกล่าวแล้ว เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2556 ดังนั้น เมื่อหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่โดยตรงได้ดำเนินการกับทั้งสองกรณีแล้ว คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติจึงไม่ต้องดำเนินการตรวจสอบซ้ำอีก
แต่อย่างไรก็ตามรัฐบาลโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ต้องใช้หลักวิชาตามกำลังความรู้ความสามารถในการอำนวยความยุติธรรมอย่างเต็ม ที่ และไม่มีการเลือกปฏิบัติ โดยควรดำเนินการสืบสวนสอบสวนและคลี่คลายให้สังคมได้รับรู้ พร้อมทั้งลงโทษผู้กระทำความผิดตามกระบวนการยุติธรรมด้วย ทั้งนี้ เพื่อทำความจริงให้ปรากฏ และนำมาซึ่งความเป็นธรรมให้เกิดขึ้นในสังคม"
4.8 กรณีมีผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บ บริเวณวัดปทุมวนารามราชวรวิหาร ภายหลังจากแกนนำกลุ่ม นปช. ประกาศยุติการชุมนุม เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2553
"ในระหว่าง วันที่ 13-18 พฤษภาคม 2553 ปรากฏว่ามีการยิงปะทะกันระหว่างกลุ่มบุคคลติดอาวุธที่ปะปนอยู่ในกลุ่มผู้ ชุมนุมและเจ้าหน้าที่ของรัฐตามจุดต่างๆ บริเวณใกล้เคียงโดยรอบพื้นที่ชุมนุม รวมทั้งสถานการณ์บ้านเมืองในช่วงเวลานั้นตกอยู่ในสภาพไม่สงบและไม่ปลอดภัย มั่นคง โดยเกิดเหตุการณ์เผาร้านค้าและธนาคาร มีการลักทรัพย์ตามร้านค้าใกล้เคียงที่ชุมนุม มีการขนยางรถยนต์ทำแนวป้องกันตามถนนรอบบริเวณที่ชุมนุม และเผายางรถยนต์ตามท้องถนน ปะทะต่อสู้ ต่อมา เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 เวลาประมาณ 06.00 น. รัฐบาลโดย ศอฉ. ได้ปฏิบัติการที่เข้มข้นขึ้น จนถึงเวลาประมาณ 13.30 น. แกนนำกลุ่ม นปช. ได้ประกาศยุติการชุมนุม แล้วจากนั้น ได้มีการเผาอาคารศูนย์การค้า ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเวิลด์ต่อเนื่องไปถึงศูนย์การค้าบิ๊กซี และเหตุการณ์การยิงปะทะกันทั้ง 2 ฝ่าย ระหว่างเจ้าหน้าที่ทหารและกลุ่มบุคคลติดอาวุธก็ยังมีการยิงต่อเนื่องถึงเวลา 18.30 น. โดยมีการยิงปะทะกันโดยรอบนอกบริเวณวัดปทุมวนารามฯ และเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการได้ทำการปฏิบัติการควบคุมสถานการณ์บริเวณราง รถไฟฟ้าหน้าวัดปทุมวนารามฯ ซึ่งมีกลุ่มบุคคลติดอาวุธวิ่งหลบหนีไปมาและหลบเข้าไปในวัดปทุมวนารามฯ แล้วยิงอาวุธใส่เจ้าหน้าที่ เจ้าหน้าที่จึงมีความจำเป็นต้องป้องกันตนเอง"
"จากสถานการณ์การยิงปะทะกันในบริเวณพื้นที่ชุมนุม และพื้นที่โดยรอบในสภาพการบ้านเมืองที่ยังวุ่นวายไม่สงบดังกล่าว ปรากฏว่ามีผู้เสียชีวิต 6 ศพ และบาดเจ็บ 7 คนบริเวณวัดปทุมวนารามฯ ซึ่งการสูญเสียชีวิตดังกล่าวทั้ง 6 ศพ ปรากฏจากการรวบรวมหลักฐานในชั้นนี้ ทั้งพยานเอกสาร พยานวัตถุ และพยานบุคคลที่มีความสอดคล้องกันว่า ในช่วงเวลาบ่ายถึงค่ำของวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 มีเจ้าหน้าที่ทหารประจำการบนรางรถไฟฟ้าบีทีเอสตลอดเวลา และในช่วงเวลาดังกล่าวมีเสียงปืนจากการยิงปะทะ จนในเวลาต่อมาปรากฏว่ามีผู้เสียชีวิต 6 ศพ แม้จะไม่มีพยานยืนยันที่ปรากฏชัดว่า ศพของผู้เสียชีวิตบางศพได้เสียชีวิตนอกวัด บางศพเสียชีวิตหน้าวัด และบางศพไม่รู้ว่าเสียชีวิตบริเวณใด แต่ศพทั้ง 6 ศพได้ถูกเคลื่อนย้ายเข้าไปในวัดภายหลังที่ถูกยิงเสียชีวิตแล้ว
โดยไม่มีการตรวจสอบรวบรวมหลักฐานให้ทราบถึงลักษณะพฤติการณ์แห่งการตาย (Manner of death) ว่ามีการยิงมาจากที่ใด คงมีเพียงหลักฐานรายงานการชันสูตรศพ ทั้ง 6 ศพ ของสถาบันนิติเวชวิทยา สำนักงานตำรวจแห่งชาติ แสดงให้ทราบเพียงสาเหตุแห่งการตาย (Cause of death) ว่า ผู้ตายเสียชีวิตเพราะถูกกระสุนปืนยิงเข้าที่อวัยวะสำคัญส่วนใดเท่านั้น ซึ่งสภาพศพต่างก็มีผลทิศทางกระสุนปืนและบาดแผลที่แตกต่างกัน คงสรุปได้ว่า ถูกยิงในระยะเกินมือเอื้อม ไม่อาจรู้ถึงระยะใดเพียงใด ดังที่พยานแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางนิติเวชได้ให้ความเห็นไว้
แต่อย่างไรก็ตาม จากลักษณะทิศทางของกระสุนที่ปรากฏบนศพบางศพ มีลักษณะถูกยิงจากบนลงล่าง ซึ่งน่าจะสันนิษฐานได้ว่า ผู้ยิงอยู่ในตำแหน่งที่สูงกว่า และเมื่อประกอบกับข้อเท็จจริงที่ปรากฏว่า มีเจ้าหน้าที่ทหารปฏิบัติหน้าที่อยู่บนรางรถไฟฟ้าหน้าวัดปทุมวนารามฯ รวมถึงภาพถ่ายร่องรอยกระสุนปืนบนรถยนต์และพื้นถนนภายในวัดปทุมวนารามฯ จึงน่าเชื่อได้ว่าความเสียหายกรณีการเสียชีวิตและบาดเจ็บนั้น ส่วนหนึ่งย่อมเกิดขึ้นจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ปฏิบัติการกระชับ พื้นที่ในที่เกิดเหตุบริเวณวัดปทุมวนารามฯ ในวันดังกล่าว"
"อนึ่ง เมื่อมาตรการที่รัฐบาลกำหนดปฏิบัติการนั้นเป็นกรณีจำเป็นสมควรตามกฎหมาย แต่ในทางปฏิบัติได้เกิดความเสียหายขึ้นแล้ว และความเสียหายนั้นเกิดจากสถานการณ์ยิงปะทะที่วุ่นวายระหว่างเจ้าหน้าที่ของ รัฐกับผู้ติดอาวุธที่แฝงตัวในที่ชุมนุม ความเสียหายส่วนหนึ่งย่อมอาจเกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ของรัฐด้วย การดำเนินการดังกล่าวของรัฐบาลจึงส่งผลกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและ ร่างกาย ซึ่งรัฐมีหน้าที่ในการประกันและคุ้มครองดูแล แต่กลับไม่สามารถมีมาตรการหรือใช้วิธีการในการประกันความปลอดภัยในชีวิตและ ทรัพย์สินของบุคคลได้
รัฐบาลจึงไม่อาจปฏิเสธการที่จะต้องเยียวยาชดใช้ความเสียหายที่เกิดขึ้นดัง กล่าวแก่ผู้บาดเจ็บและครอบครัวของผู้บาดเจ็บที่พิการและครอบครัวของผู้เสีย ชีวิตจากเหตุการณ์ดังกล่าวไม่ว่าความเสียหายนั้นจะเกิดแก่ผู้ชุมนุม ประชาชนผู้บริสุทธิ์ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ เพราะรัฐบาลมีหน้าที่ในการให้หลักประกันในการคุ้มครองชีวิตร่างกายบุคคลใน รัฐ เพื่อให้อยู่ได้อย่างปลอดภัยมั่นคง ไม่ว่าความเสียหายนั้นจะได้เกิดขึ้นจากการปฏิบัติหน้าที่โดยชอบของผู้ ปฏิบัติหน้าที่ก็ตาม เพราะเป็นสิทธิพื้นฐานของมนุษย์ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดในมาตรา 32 วรรคหนึ่ง และตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ข้อ 2 (3) (ก) ที่กำหนดว่า “รัฐภาคีแต่ละรัฐแห่งกติกานี้รับที่จะ (ก) ประกันว่าบุคคลใดที่สิทธิหรือเสรีภาพของตน ซึ่งรับรองไว้ในกติกานี้ถูกละเมิดต้องได้รับการเยียวยาอย่างเป็นผลจริงจัง โดยไม่ต้องคำนึงว่าการละเมิดนั้น จะถูกกระทำโดยบุคคลผู้ปฏิบัติการตามหน้าที่”
ซึ่งนอกจากรัฐบาลมีหน้าที่ต้องเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นในครั้งนี้แล้ว รัฐบาลยังมีหน้าที่ในการที่จะต้องสอบสวนหาข้อเท็จจริงและหาผู้กระทำผิดมา ดำเนินคดีตามกระบวนการยุติธรรม รวมทั้งตรวจสอบว่ามีเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้หนึ่งผู้ใดหรือไม่ที่ได้กระทำการ เกินขอบเขตของมาตรการที่รัฐบาลโดย ศอฉ. ได้กำหนดไว้หรือไม่อย่างไรด้วย ซึ่งในประเด็นการเสียชีวิตและบาดเจ็บในเหตุการณ์การชุมนุมทั้งหมดนั้น รัฐบาล ได้มีมาตรการชดใช้เยียวยาแล้วบางส่วนตามมติคณะรัฐมนตรี”
"ส่วนกรณีการดำเนินคดี กรณี เสียชีวิต 6 ศพในวัดปทุมวนารามฯ นั้น เป็นหน้าที่ของรัฐที่ต้องดำเนินการตามกระบวนการของกฎหมายต่อไป ซึ่งกรณีนี้กรมสอบสวนคดีพิเศษได้รับคดีดังกล่าวเป็นคดีพิเศษและตั้งเป็น สำนวนคดีอาญา คดีอยู่ในขั้นตอนการไต่สวนของศาลอาญากรุงเทพใต้ โดยมีการนัดไต่สวนเริ่มตั้งแต่ 13 ธันวาคม 2555 – 18 กรกฎาคม 2556 เห็นว่า เมื่อกรณีเป็นการไต่สวนในชั้นศาลแล้ว คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติจึงไม่อาจก้าวล่วงมีคำวินิจฉัยในประเด็นนี้"
000
5.บทสรุป
ในรายงานของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติดังกล่าว แบ่งเนื้อหาช่วงบทสรุปออกเป็น 2 ส่วน คือ 5.1 บทเรียน และ 5.2 ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย โดยมีรายละเอียดดังนี้5.1 บทเรียน
แบ่งออกเป็น 5.1.1 บทเรียนภาคประชาชน แล 5.1.2 บทเรียนภาครัฐ โดยมีรายละเอียดดังนี้
5.1.1 บทเรียนภาคประชาชน
1. ผู้จัดการชุมนุมต้องสร้างเจตจำนงร่วมกันในการชุมนุมโดยสงบและสันติ ตลอดจนดูแลให้มีอุดมการณ์ที่ถูกต้องในการรักษาระบอบการปกครองในระบอบ ประชาธิปไตย
2. ผู้จัดการชุมนุมและผู้ร่วมชุมนุมต้องมีหน้าที่ร่วมกัน ทำให้การชุมนุมเป็นไปโดยสงบและปราศจากอาวุธ ยึดแนวทางสันติวิธีและเจรจาไกล่เกลี่ย ไม่ปลุกระดม อีกทั้งการชุมนุมนั้นต้องปราศจากอาวุธหรือสิ่งเทียมอาวุธทุกชนิดในพื้นที่ การชุมนุม รวมถึงไม่แสดงออกเชิงสัญลักษณ์หรือยั่วยุให้เกิดความรุนแรงทุกประเภท
3. ผู้จัดการชุมนุมและผู้ร่วมชุมนุมต้องชุมนุมในลักษณะที่ไม่ก่อให้เกิดผลกระทบ ต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชนทั่วไป หรือให้น้อยที่สุดเท่าที่จำเป็น และต้องรับผิดชอบต่อผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการชุมนุมด้วย
5.1.2 บทเรียนภาครัฐ
1. รัฐต้องดูแลการชุมนุมให้เป็นไปอย่างสงบเรียบร้อย เพื่อป้องกันมิให้กระทบต่อสาระสำคัญแห่งสิทธิและเสรีภาพของประชาชนทุกฝ่าย โดยคำนึงถึงกรอบแห่งกฎหมาย มาตรฐานสากล รวมถึงหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องอย่างรอบคอบ
2. ควรหลีกเลี่ยงการประกาศใช้กฎหมายพิเศษเพื่อดูแลความสงบเรียบร้อยในการชุมนุม เพราะไม่สามารถใช้เป็นเครื่องมือในการดูแลสถานการณ์การชุมนุมได้อย่างมีประ สทิธิภาพ รัฐจึงจำเป็นต้องมีมาตรการกฎหมายที่เหมาะสมหรือกลไกเฉพาะเพื่อดูแลและรักษา ความสงบเรียบร้อยในการชุมนุม
3. การดูแลสถานการณ์การชุมนุมโดยรัฐ ต้องมีหน่วยงานรับผิดชอบเป็นการเฉพาะ ซึ่งหน่วยงานดังกล่าวต้องมีแผนปฏิบัติการและขั้นตอนที่ชัดเจน มีเจ้าหน้าที่ที่มีทักษะในการทำงานด้านมวลชน รวมถึงเครื่องมือที่เหมาะสม
5.2 ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย
มีทั้งหมด 7 ข้อ มีรายละเอียดดังนี้
1) คณะรัฐมนตรีควรหลีกเลี่ยงการประกาศใช้กฎหมายพิเศษ ได้แก่ พระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พุทธศักราช 2457 พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 และพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 เว้นแต่การชุมนุมแปรเปลี่ยนไปสู่สถานการณ์วิกฤติ หรือการจลาจลที่จะกระทบต่อความมั่นคง หรือก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยอย่างร้ายแรง ทั้งนี้ ควรต้องมีการกำหนดกรอบการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่ที่ชัดเจน และมีการปฏิบัติที่ไม่เป็นการกระทำต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชน
2) คณะรัฐมนตรีโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องทบทวนถึงแนวทางปฏิบัติให้สอดคล้อง กับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 63 ที่ต้องส่งเสริมและคุ้มครองเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ นอกจากนี้ รัฐควรสร้างกลไกให้มีหน่วยงานเฉพาะเพื่อทำหน้าที่ในการรับปัญหาและพิจารณา แก้ไขเบื้องต้น เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้ปัญหาขยายตัวมากขึ้น จนต้องมีการชุมนุม
3) คณะรัฐมนตรีต้องดำเนินการเผยแพร่ เพื่อสร้างความเข้าใจต่อสาธารณชนว่าสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นตามรายงานฉบับนี้ มีข้อค้นพบที่เป็นปัญหาความขัดแย้งในเชิงโครงสร้างที่รุนแรงจากการแสดงความ คิดเห็นที่แตกต่างกัน จึงเป็นหน้าที่ที่ทั้งภาครัฐและภาคสังคมจะต้องร่วมกันหาทางออก โดยยึดหลักสิทธิมนุษยชนตามแนวทางสันติวิธี หลักนิติธรรม หลักการมีส่วนร่วม และหลักขันติธรรม ทั้งต้องคำนึงถึงผลประโยชน์สูงสุดของประเทศ ในการแสวงหาทางออก ทุกฝ่ายต้องมีความจริงใจและร่วมมือกันบนพื้นฐานการรับฟังความคิดเห็นของทุก ฝ่ายและเปิดใจกว้าง โดยลดการเอาชนะคะคานกันของพรรค ของกลุ่ม ของครอบครัวของบุคคล มาเป็นผลประโยชน์โดยรวม
4) คณะรัฐมนตรีโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องดำเนินการสืบสวน สอบสวนหาข้อเท็จจริงและติดตามผู้กระทำความผิด ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ผู้ชุมนุมหรือบุคคลใดก็ตามมาดำเนินคดีตามกระบวนการยุติธรรม ในเหตุการณ์ที่มีผู้เสียชีวิต และมีผู้ได้รับบาดเจ็บทุกเหตุการณ์ เช่น เหตุการณ์เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2553 และเหตุการณ์ที่มีผู้เสียชีวิตบริเวณวัดปทุมวนารามราชวรวิหาร ตลอดจนการวางเพลิงเผาทรัพย์และเหตุการณ์อื่นๆ ที่มีการกระทำผิดกฎหมาย
5) คณะรัฐมนตรีควรตระหนักและหาทางแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง เพื่อสร้างความเป็นธรรมและลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม อันจะนำไปสู่การเคารพสิทธิและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์อย่างกว้างขวาง
6) คณะรัฐมนตรีต้องดำเนินการสร้างความเป็นธรรมในระยะการเปลี่ยนผ่านของสังคม โดยต้องทำความจริงในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นให้ปรากฏ และมีมาตรการในการลงโทษผู้กระทำความผิดโดยยึดหลักกระบวนการยุติธรรม ตลอดจนสร้างระบบในการชดเชย เยียวยาและฟื้นฟูผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
7) คณะรัฐมนตรีต้องไม่กระทำและละเลยการกระทำทั้งทางตรงและทางอ้อมที่เป็นการ สกัดกั้นการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารตามสิทธิในกฎหมาย หรือเป็นการแทรกแซงหรือละเมิดสิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของ ประชาชนและสื่อมวลชน นอกจากนี้ รัฐบาลต้องดำเนินการให้เกิดการปฏิรูปสื่อตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราช อาณาจักรไทยอย่างไม่ชักช้า โดยคำนึงถึงประโยชน์ของประชาชนโดยรวมเป็นสำคัญ เพราะสภาพความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในวิกฤติการณ์ความรุนแรงนี้ เกิดลักษณะอนาธิปไตยของสื่อ กล่าวคือ มีทั้งสื่อเลือกข้าง สื่อทางการเมืองที่เน้นเนื้อหาในการปลุกระดมมวลชน เกิดการยั่วยุ สร้างอารมณ์เกลียดชัง ก่อให้เกิดการแบ่งแยกเป็นฝักฝ่าย นำไปสู่สถานการณ์การใช้ความรุนแรง การแสดงความคิดเห็นต่าง และสิทธิและเสรีภาพของสื่อมวลชนต้องเป็นสิ่งที่รัฐและสังคมให้การยอมรับ เพียงแต่จะต้องไม่ใช้สิทธิและเสรีภาพของสื่อมวลชน และเสรีภาพของการแสดงความคิดเห็นที่เกินขอบเขต
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น